MAZDA BT-50 MC PARKER RACING TEAM

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : พิสิษฐ์ ธนะสารเจริญ    

MAZDA BT-50 MC PARKER RACING TEAM

ตัวแข่งเซอร์กิต แรงบิดกว่า 100 โล !!! ฝรั่งทำ ไทยควบ

         สำหรับรถกระบะ ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างสูง ด้วยประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย โดยเฉพาะในด้านเครื่องยนต์รุ่นใหม่ ที่ใช้ระบบ Common Rail ซึ่งเป็นการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ของเครื่องดีเซลยุคไฮเทค แถมด้วยระบบกล่องควบคุมที่แสนฉลาด ทำให้เครื่องดีเซลยุคใหม่ ทั้งแรงและประหยัด” (ขับแรงก็กิน ขับเบาก็ประหยัด อย่าเข้าใจผิดคิดว่าขับแรงแล้วต้องประหยัด) เกินหน้าเกินตารถเก๋ง ไม่แปลกที่คนจะหันกลับมาเล่นกับดีเซลเยอะขึ้น ตอนนี้รถกระบะแข่งในลักษณะต่าง เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และในครั้งนี้ เราขอเสนอกระบะตัวแข่งเซอร์กิต จากทีม  MC PARKER RACING TEAM มีรถแข่ง 3 คัน นักขับ 3 คน คือ “Michael Freeman” ชาวออสเตรเลีย เป็นเจ้าของบริษัท  MAZDA CITY ที่เป็นทั้งศูนย์จำหน่ายรถ MAZDA และของโมดิฟายแบรนด์ AutoExe ของ MAZDA โดยเฉพาะ คันต่อมาคือพีท ทองเจือนักแสดงและนักแข่งที่รู้จักกันดี อีกคนน้าหลง กาหลง เนตรเดชาขาเก๋าในวงการดีเซล ทีมนี้น่าจะน่ากลัวทั้งในด้านรถที่พร้อม และคนขับที่พร้อมเช่นกัน แต่ตอนนี้เราลองมาดูว่า รถกระบะที่ฝรั่งทำ ไทยควบจะมีอะไรที่น่าชม ผมบอกไว้ก่อนว่า มี Trick มากมายที่สอดแทรกไว้ รับรองว่าได้ความรู้แน่นอนครับ

Develop by AVO TURBOWORLD & RMA AUTOMOTIVE   

          สำหรับรถคันนี้ก็เป็นการผนวกกำลังกันระหว่าง AVO TURBOWORLD ที่มาจากออสเตรเลียเน้นในการทำระบบเทอร์โบ และระบบคายไอเสียของ SUBARU ที่ฝรั่งนิยมกัน งานนี้  Mr.Terry Wilson ตำแหน่ง Managing Director ของ AVO ออสเตรเลีย ลงมาดูแลและปรับแต่งให้ด้วยตัวเอง โดยรวมกันกับ RMA AUTOMOTIVE สร้างและโมดิฟายอุปกรณ์ขึ้นมาสำหรับคันนี้โดยเฉพาะ และในรายการอุปกรณ์โมดิฟายก็จะเป็นยี่ห้อแปลก ของฝรั่งทั้งหมด ก็ดีนะครับ เราจะได้รู้จักอะไรเพิ่มขึ้นจากของที่เราคุ้นเคย บางทีอาจจะมีอะไรน่าสนใจก็ได้ ผมไม่ได้หมายความว่าต้องไปตามใคร เพียงแต่เอา know how มาดัดแปลงให้เข้ากับสไตล์ของเรา ก็จะช่วยให้วงการพัฒนาขึ้น

สร้าง Watt’s Linkage แก้อาการท้ายโย้ของรถแหนบ

         ระบบช่วงล่างของกระบะ ด้านหลังเป็นคานแข็ง แหนบ ที่เน้นในการรับน้ำหนักบรรทุกเป็นหลัก การทรงตัวจึงไม่ได้อะไรมากนัก พอมาเป็นรถแข่งเซอร์กิต ที่ต้องเลี้ยวเป็นหลัก จึงต้องมีการปรับปรุงกันชุดใหญ่เพื่อการทรงตัวที่ดีขึ้น สำหรับผู้ที่ออกแบบและปรับเซ็ตช่วงล่าง เป็นหน้าที่ของ Mr.Ross Holder ที่เป็น Race Engineer คอยดูแลรถคันนี้อยู่  การสร้างช่วงล่าง ก็เริ่มจากตัวล็อกแหนบเมื่อรถเลี้ยวแรง แหนบแผ่นที่ซ้อนกันมันจะบิดตัวแผ่นแหนบแต่ละชั้น จะหนีออกจากกัน ทำให้เกิดการโย้ของช่วงล่างและตัวรถ ทำให้ท้ายปัดออก คุมลำบาก ก็ต้องล็อกแผ่นแหนบไว้ให้มันติดกัน ไม่จากกันไปไหน ส่วนขั้นตอนต่อไปก็คือ สร้าง Watt’s Linkage หรืออีกชื่อหนึ่งคือ  Parallel Linkage ขึ้นมา ชื่อประหลาด อย่างนี้ มีประโยชน์มากเหมือนกัน

        ก่อนอื่นจะเล่าให้ฟังก่อน ที่มาของ Watt’s Linkage ก็จะมาจาก James Watt (เกิดวันที่ 19 มกราคม 1736) จริง แล้ว เขาพัฒนาขึ้นมาใช้กับ Beam Engine เป็นเครื่องจักรลูกสูบเดี่ยวขึ้นลงตรง โดยมีแขนยึดสองข้างแบบนี้แหละ เพื่อต่อไปใช้แรงอย่างอื่นแบบสองทิศทาง (Double Action) Watt’s Linkage ลักษณะจะเป็นแขน (Link) 2 อัน วางกันในแนวขนาน (Parallel) ปลายทั้งสองด้าน ยึดกันคนละฝั่ง ตรงกลางมีแขนอีกตัว จุดหมุนอยู่ตรงกลาง เวลาจุดกลางเคลื่อนที่ขึ้นลง แขนทั้งสองข้างจะมีการบังคับให้จุดกลางนั้นเคลื่อนที่ขึ้นลงในแนวดิ่งไม่มีการโย้นอกแถวไปไหน ส่วนจุดยึดด้านนอก ก็ยังคงที่เหมือนเดิม พูดง่าย ว่า จุดยึดแต่ละจุดจะคงที่ ไม่ย้ายไปไหน

         หลังจากนั้น ในช่วงยุค 80 ก็มีการพัฒนามาใช้กับรถยนต์ที่ใช้ระบบช่วงล่างด้านหลังเป็นคานแข็งทั้งนี้ ช่วงล่างแบบคานแข็งที่ไม่มีอะไรยึดด้านตามขวางของตัวรถ จะมีปัญหาเวลาเลี้ยวแล้วตัวรถจะโย้หนีศูนย์ของเพลาจากแนวแรง จากการให้ตัวของบู๊ช แหนบ ฯลฯ จึงต้องมีค้ำเอาไว้ รถทั่วไปนิยมใช้ Panhard Rod ค้ำทแยงมุมไว้ เพื่อกันเซแต่ด้วยความที่มันทแยงยึดข้างเดียว ก็ยังมีอาการท้ายโยนข้างอยู่บ้าง มันก็ต้องยอมรับในรถราคาถูก แต่ถ้าเป็นรถที่ใช้คานแข็ง แต่แพงขึ้นมา และเน้นสมรรถนะ บางรุ่นก็จะนำ Watt’s Linkage มาใช้ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่กลางเพลาพอดี (ดูรูปประกอบจะง่ายขึ้น) แล้วต่อแขน  Parallel ออกมาจากจุดกลางนั้น ยึดกับแชสซีทั้งสองฝั่ง สำหรับกระบะคันนี้ก็จะทำอีกแบบ คือ ยึดติดกับปลายของคานเพลาท้ายทั้งสองด้านด้วย Ball Joint เพื่อให้มันให้ตัวได้ ตรงกลางก็สร้างเต้ายึดสามเหลี่ยมขึ้นมา ทำเป็นแบบปรับได้ ประโยชน์ของมัน คือ เวลาที่รถเลี้ยวแรง มีอาการเอียงหนีศูนย์เยอะ ตัวเพลาจะถูกควบคุมโดย Watt’s Linkage ที่ยึดติดกับตัวรถ มันก็ดีอย่าง ที่ไม่ว่ารถจะโดดขึ้น ยุบลง เอียงซ้ายขวา มันก็จะพยายามรักษาสมดุลเอาไว้ ทำให้ตัวรถและเพลาไม่โย้ออกจากกัน ตัวนี้จะช่วยให้แหนบทำงานได้เสถียรด้วย ด้วยกลไกที่อธิบายในข้างต้น ซึ่งจะแก้อาการดังกล่าว ทำให้รถเลี้ยวดีขึ้นกว่าเก่ามาก โดยเฉพาะช่วงล่างแหนบ ตัวแหนบเองมันก็บิดได้ตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะมันยึดกับเพลาโดยตรง ไม่มีแขนยึดเหมือนพวกคานแข็งกับคอยล์สปริง รถใช้แหนบจึงเลี้ยวได้ไม่ดีนัก (เมื่อเทียบกับช่วงล่างแบบอื่น) ก็เลยต้องจัดระเบียบให้มันคงที่มากที่สุด เพื่อให้รถเลี้ยวได้เสถียร หลัก ก็มีเท่านี้ครับ

MAX POWER : 280 PS@ 3,750 rpm

MAX TORQUE : 103 kg/m @ 3,250 rpm

         สำหรับกราฟแรงม้าในครั้งนี้ เราไปถ่ายทำกันที่ AVO สัตหีบ กันเลยทีเดียว ที่นั่นจะมี Dyno Test ของตัวเอง เพื่อ Develop ในส่วนของผลิตภัณฑ์ต่าง นั่นเอง กราฟอาจจะดูยากหน่อย เพราะเป็นโปรแกรมรุ่นเก่าอยู่ แต่ก็ใช้ได้ กราฟจะแบ่งเป็นสองชุดนะครับ ชุดสีแดง คือ Run ที่วัดก่อนหน้า ชุดสีน้ำเงิน คือ Run ที่วัดแบบ Up Date สุด Run แรก กับ Run สอง และหน่วยการวัด จะเป็น กิโลวัตต์ หรือ kW ซึ่งผมแปลงเป็นหน่วย PS ให้แล้ว ส่วนแรงบิด จะเป็นแบบ นิวตันเมตร หรือ N-m ซึ่งผมแปลงเป็นหน่วย kg/m จะได้ดูง่าย อันนี้วัดเป็นแบบลงล้อนะครับ ลักษณะนิสัยของกราฟไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ Run สอง ค่าแรงม้ากับแรงบิดจะมากกว่า เพราะเครื่องได้ทำงานเต็มที่ (Run แรก เป็นการวอร์ม) เส้นกราฟแรงม้า P หรือ Power จะอยู่ด้านบน ลักษณะกราฟก็เป็นนิสัยของเครื่องดีเซล ที่มาตั้งแต่รอบต่ำ ในช่วง 2,750 รอบ ที่เริ่มวัด ก็มีแรงม้าออกมาประมาณ 187 PS กันแล้ว เครื่องดีเซลมันน่ากลัวตรงนี้แหละครับ หลังจากนั้น กราฟก็จะค่อย ขึ้นไปเป็นแนวยาวกว้าง จนถึง 4,500 รอบ ก็ถือว่ามีช่วงกำลังให้ใช้กันยาวดี เครื่องดีเซลรอบไม่เยอะ แต่ใช้จริง ก็ช่วงนี้แหละ หลังจาก 3,500 รอบ แรงม้าก็อยู่ในจุด Peak ระดับ 210 kW หรือประมาณ 280 PS ลงพื้น ถ้าที่  Flywheel ก็น่าจะบวกไปอีกราว 50 PS อยู่แถว 330-350 PS ได้อยู่

         แต่ที่น่ากลัวสุด คือแรงบิดเพราะทะลุร้อยตั้งแต่ 3,000 รอบ ก่อนหน้านั้น แรงบิดก็อยู่แถว 80 kg/m  อยู่ก่อนแล้ว ช่วง 2,000 กว่ารอบ แรงบิดขนาดนี้ ก็คิดเอาเองแล้วกันว่าทำไมดีเซลถึงแรงหลังจาก 3,000 รอบ แรงบิดก็โดดขึ้นไปประมาณ 1,005 N-m หรือ 103 kg/m หลังจาก 3,500 รอบ ก็โรยตัวลง แต่ก็ยังอยู่ไม่ต่ำกว่า 80 kg/m นับว่าน่ากลัวโคตรก็เป็นสไตล์เครื่องดีเซล ที่ใช้แรงบิดในการวิ่ง ไม่ได้ใช้รอบเหมือนเครื่องเบนซิน รอบไม่มาก แรงบิดมหาศาลในรอบต่ำ ก็ใช้อัตราทดเกียร์และเฟืองท้ายที่ต่ำได้ มันก็จะไปเหมือนลักษณะของเครื่องเบนซินใหญ่ พวก V8 อะไรทำนองนั้น ซึ่งทางทีมก็เผยว่า จะเซ็ตรถให้มีแรงบิดมาเยอะ ต่อเนื่องในช่วงรอบที่ต่อเกียร์ถ้าแรงบิดช่วงนั้นมีมาก ก็จะไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับเซ็ตเครื่อง ก็จะต้องคำนึงถึงเรื่อง Power Band รวมถึงระบบส่งกำลังด้วยครับ

Comment : MC PARKER RACING TEAM

         รถคันนี้เริ่มทำเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว ยังไม่มีอะไรเลย ก็ลงไปแข่งตามอัตภาพ ก็ค่อย พัฒนาขึ้นมาเรื่อย สาเหตุที่ใช้ทีมจากออสเตรเลียมาทำรถ เนื่องจาก Mr.Michael Freeman เป็นเพื่อนกับ Mr.Terry Wilson อยู่แล้ว ก็เลยให้ทาง AVO คอยพัฒนาระบบเทอร์โบให้ แล้วก็ให้ทางทีม  RMA AUTOMOTIVE รวมถึง Mr.Ross Holder ที่เป็น Race Engineer คอย Support การโมดิฟายต่าง ให้ การเซ็ตรถก็จะทำในลักษณะเดียวกันทั้ง 3 คัน เพื่อให้เป็นมาตรฐาน แล้วให้คนขับปรับตัวเข้าหารถด้วย จากคำแนะนำของ Engineer ที่คอยเช็ก Data Log ตลอดเวลา ว่าขับยังไง แล้วก็มาปรับให้เข้ากันได้มากที่สุด สำหรับรถในทีมตอนนี้ก็พัฒนาจากอดีตไปเยอะมาก อย่างผลงานที่ผ่านมา รถในทีมทั้ง 3 คัน ก็ได้ยืนโพเดียมทั้งหมด ตอนนี้ก็กำลังจะพัฒนาต่อไปเรื่อย เพื่อชัยชนะครับ

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี

         ส่วนตัวผมเองก็ชอบดูกระบะเซอร์กิตมานานสะใจดีเพราะความที่มันเป็นกระบะนี่แหละ ทำให้เกิดคำถามในใจว่าจะเลี้ยวได้ดีขนาดไหนเห็นขับกันแล้วดูเร้าใจปนน่ากลัวดีเหมือนกัน แต่ตอนนี้ตัวรถกระบะก็ได้พัฒนาขึ้นมาก เครื่องยนต์แรงกว่าแต่ก่อนเยอะ ก็เลยคิดต่อว่าจะเอาอยู่ไหมแต่ด้วยเทคโนโลยีที่ใส่เข้าไปใหม่ การเซ็ตอัพระบบต่าง จึงดูดีขึ้น อย่างคันนี้ก็มีการเซ็ตอัพเต็มรูปแบบ มีการใช้ Data Log ต่าง เข้ามาช่วยเก็บข้อมูล ก็ดีนะครับ วงการกระบะไทยจะได้มีมาตรฐานสูงขึ้น เอาใจช่วยครับ

Special Thanks : MAZDA CITY โชว์รูมและศูนย์บริการ MAZDA พร้อมอุปกรณ์ตกแต่ง AutoExe ติดต่อ 0-2718-5060

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome

X-TRA ORDINARY

         ระบบช่วงล่างแบบ Watt’s Linkage ส่วนใหญ่จะเจออยู่ในรถอเมริกันขนาดใหญ่ เพราะพวกนี้จะนิยมใช้คานแข็ง เพราะความทนทาน แต่ก็ยังทำให้ทรงตัวดีด้วย ใช่ว่าจะมีเฉพาะรถฝรั่งที่ใช้ช่วงล่างแบบนี้ รถญี่ปุ่นก็มีนะครับ คือ MAZDA RX-7 ตัว SA22C นั่นเอง ที่ใช้ช่วงล่างหลังแบบ Watt’s Linkage นี้ด้วยเหมือนกัน ก็ให้การทรงตัวที่ดี (ข้อมูลจาก wikipedia) 

บรรยายภาพ