แพงตรงไหน Mclaren 720S กับประเด็นดราม่า

 

ซูเปอร์คาร์เจเนเรชั่นที่ 2 อัตราเร่ง 0-300 กม./ชม. 21.4 วินาที!!!

เรื่อง พิทักษ์ บุญท้วม

McLaren เป็นมือวางอันดับต้นๆ ของโลก ในการพัฒนาทีมแข่งและรถแข่ง F1 ได้เปิดตัวเข้าวงการซูเปอร์คาร์อย่างเป็นทางการด้วย ‘MP4-12C’ ตัวแรงจากเกาะอังกฤษโมเดลนี้ ถูกปล่อยมาท้ารบกับเจ้าตลาด ทั้งจากอิตาลีและเยอรมนี นับตั้งแต่ปี 2011 จวบจนถึงปัจจุบัน McLaren ได้สร้างสีสันให้วงการไฮเปอร์คาร์อย่างต่อเนื่อง ด้วยบรรดาตัวแรงอีกหลายรุ่น และล่าสุด คือ ‘720S’ นับเป็นโมเดลแรกในเจเนอเรชั่นที่ 2 ของซูเปอร์คาร์จากค่ายนี้ ตัวถังใหม่มาพร้อม Know-how งานแอร์โร่ไดนามิคระดับเทพจากรถ F1 เช่นเดิม ผลลัพธ์สุดท้าย คือ อัตราเร่งชวนขนหัวลุก ซึ่ง McLaren เคลมออกมาจากการทดสอบในทุกช่วงความเร็ว สะดุดตาที่สุดคือ อัตราเร่ง 0-300 กม./ชม. ที่ ‘McLaren 720S’ ใช้เวลาสั้นๆ เพียง 21.4 วินาที เท่านั้น

แม้ McLaren 720S จะเป็นโมเดลใหม่แกะกล่อง ทว่าเทคโนโลยีทั้งคันได้ถูกอัพเกรดต่อยอดมาจากรุ่นพี่ ข้อมูลเชิงลึกที่ McLaren Automotive ปล่อยให้สื่อมวลชน จึงเป็นการเปรียบเทียบกับ McLaren 650S (ปี 2014) โดยตรง และ ‘650S’  ก็ใช้พื้นฐานร่วมกับ ‘MP4-12C’ (ปี 2011) อันเป็นจุดกำเนิดใหม่ของซูเปอร์คาร์สายพันธุ์อังกฤษแท้ๆ ที่สมบูรณ์แบบชนิดครบเครื่อง ผู้เขียนได้นำเสนอเทคโนโลยีของ ‘MP4-12C’ ต่อเนื่องมาจนถึง ‘650S’ มาแล้วในคอลัมน์นี้ จึงใคร่ขออนุญาตคุณผู้อ่านนำข้อมูลที่ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงในอดีต มาอัพเดทเพื่อให้บทความของ McLaren 720S ได้อรรถรส และมีเนื้อหาครบถ้วนมากที่สุด

ตัวแรงจาก McLaren ที่ถูกผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งกับบรรดาเศรษฐีทั่วไป และทีมแข่ง ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ‘Sport Series’ [570 GT, 570S Coupe, 540C Coupe], ‘Super Series’ [675 LT Spider, 675 LT Coupe, 650S, 625C และ 720S] และUltimate Series’ [P1 GTR, P1] โดยมี ‘720S’ เข้ามาเป็นสมาชิกคันล่าสุดของ Super Series และเป็นรถโมเดลแรกในเจเนอเรชั่นที่ 2 ของซูเปอร์คาร์จาก McLaren

Introduction:

McLaren เป็นหนึ่งในทีมแข่ง F1 ที่สะสมความสำเร็จมาอย่างยาวนาน จากประสบการณ์ในวงการมอเตอร์สปอร์ต ความเชี่ยวชาญชนิดหาตัวจับยากอยู่ที่เรื่อง ‘Chassis Engineering’ งานแชสซีจึงนับเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ ที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งได้ไม่เป็นรองเทคโนโลยีเครื่องยนต์ และระบบส่งกำลัง ด้วยความสามารถเฉพาะตัวนี้เอง McLaren จึงพร้อมถ่ายทอด Know-how ที่ตัวเองถนัดลงสู่รถถนน ให้บรรดาสาวกได้สัมผัสกันแบบถึงแก่น

ทว่าซูเปอร์คาร์ 2 โมเดลก่อนหน้า ‘MP4-12C’ ดูจะไม่ต่างอะไรกับการยืมจมูกชาวบ้านหายใจ เพราะยังต้องพึ่งพาเครื่องยนต์จากเจ้าสำนักใหญ่ในเยอรมัน แต่กับ ‘MP4-12C’ มันคือ “Pure McLaren” โมเดลแรกตัวจริงเสียงจริง ขนาด Mr. Ron Dennis อดีตบิ๊กบอส McLaren ยังโม้ได้อย่างเต็มปากว่า ‘MP4-12C’ เป็นรถที่มีแฮนด์ลิ่งดีที่สุดจาก McLaren ถัดจากนั้นจึงเป็นคิวของ ‘650S’ ต่อเนื่องมาจนเป็น ‘675LT’ (เวอร์ชั่นน้ำหนักเบา) ตัวจี๊ดที่จะทำให้ เจ้าของซูเปอร์คาร์จากค่ายม้าลำพอง และกระทิงดุโดนสวนแบบไม่ทันได้ตั้งตัว

เพื่อให้เห็นแนวทางในการพัฒนารถถนนของ McLaren ครบถ้วนในทุกมุม จึงขอนำรถ McLaren ทั้ง 2 โมเดลแรก อันได้แก่ McLaren F1 และ Mercedes-Benz SLR McLaren  มาร่วมนำเสนอในบทความนี้ด้วย ทั้งหมดจะทำให้คุณผู้อ่านได้เห็นความแตกต่างในการพัฒนารถสมรรถนะสูงของค่ายนี้ เมื่อเทียบกับคู่แข่งแถวหน้าอย่าง BUGATTI หรือแม้แต่ KOENIGSEGG ที่เน้นโชว์แสนยานุภาพด้านความเร็วสูงสุด และหากความเร็วสูงสุดไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับ McLaren แล้วประเด็นใดที่ McLaren ใช้เป็นจุดขาย

ความโดดเด่นของรถ McLaren คือการผลิตไฮเปอร์คาร์ให้รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ทีมพัฒนาต้องการให้ลูกค้าขับ McLaren คันโปรดของเขามากที่สุด ไม่ได้ใช้งานเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ เครื่องยนต์สมรรถนะสูงถูกจับคู่กับโครงสร้างน้ำหนักเบา เป็นจุดเริ่มต้นของแฮนด์ลิ่งอันเฉียบคม ปิดท้ายด้วยอัตราเร่งกับแรง g อันหนักหน่วง จนอาจทำให้นักขับที่นั่งหลังพวงมาลัย McLaren ลืมหายใจกันเลยทีเดียว

McLaren สร้างชื่อมากับรถ F1 และวิศวกร McLaren ต้องการกำหนดมาตรฐานใหม่ให้ High-performance Sport Car ในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักเราจึงเห็นนวัตกรรมในการสร้างตัวถังแบบ Monocoque ซึ่งใช้วัสดุต่างชนิดกันมาขึ้นรูปเป็นตัวถัง ความก้าวหน้าในเรื่องวัสดุ ส่งผลให้คาร์บอนไฟเบอร์ถูกนำมาใช้เป็นวัสดุหลัก จากจุดเด่นในเรื่องของความเบา และได้รับการพัฒนาให้แข็งแรง ทนทานขึ้นอีกระดับ และถูกเรียกขานว่า ‘Rigid Carbon Fiber’ ผ่านการทดสอบในเรื่องความปลอดภัย และเก็บข้อมูลในเชิง R&D มานานแล้วกับรถ F1

McLaren ต่อยอดความเชี่ยวชาญของตนเอง มุ่งแสวงหากำไรเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ด้วยการผลิตรถถนนออกสู่ตลาด แค่โมเดลแรกก็สร้างเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย McLaren F1 (1993-1998) ภายใต้การออกแบบของมือระดับเซียนอย่าง Mr. Gordon Murray ชายผู้นี้เชี่ยวชาญด้านงานโครงสร้าง รวมถึงทุกรายละเอียดในรถแข่งอย่างที่สุด เขายืนยันอย่างหนักแน่นว่าซูเปอร์คาร์ต้องเบา” (ไม่ได้หนักร่วม 2 ตัน เช่นซูเปอร์คาร์จาก BUGATTI) พิสูจน์ฝีมือด้วยการสร้าง McLaren F1 ให้มีน้ำหนักอยู่ที่เพียง 1,140 กิโลกรัม น้ำหนักที่น้อยจะลดความยุ่งยากในการพัฒนาระบบอื่นๆ ต่อไป อาทิ กันสะเทือน, ระบบเบรก และยังช่วยให้ระบบต่างๆ เหล่านั้นทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

McLaren F1 เป็นรถ 2 ประตู 3 ที่นั่ง ฉีกทฤษฎีการออกแบบรถสปอร์ตคูเป้เดิมๆ ด้วยการวางตำแหน่งคนขับไว้ตรงกลาง ขนาบข้างค่อนมาทางด้านหลังด้วยเบาะนั่งผู้โดยสารทั้ง 2 ฝั่ง ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากเรื่องการสมดุลน้ำหนัก โครงสร้างตัวถังขึ้นรูปจาก CFRP (Carbon Fibre Reinforce Plastic) ร่วมกับอะลูมินัมอัลลอยและแม็กเนเซียมอัลลอย เครื่องยนต์วางกลางลำ ใช้บิ๊กบล็อก V12 ขนาด 6.1 ลิตร จาก ‘BMW M-Power’ (ผลิตตามการดีไซน์ของ Mr. Gordon Murray) รหัส S70/2 ใช้กำลังอัด 11:1 ผลิตแรงม้าระดับเริ่มต้นได้ 627 hp ที่ 7,400 รอบ/นาที แรงบิด 651 Nm ที่ 5,600 รอบ/นาที เรดไลน์ปลายคันเร่งลากจนไปสุดที่ 7,500 รอบ/นาที

ยุคที่ 2 ของซูเปอร์คาร์จาก McLaren ใช้ชื่อ SLR McLaren (2003-2009) ครั้งนี้เป็นการพัฒนาร่วมกับ Mercedes-Benz โดยการแบ่งงานยังเป็นไปตามแนวทางเดิม คือ McLaren รับผิดชอบเรื่องแชสซี ส่วนแผนก AMG ของ Mercedes-Benz  ดูแลเรื่องระบบขับเคลื่อนทั้งหมด ตัวถัง Monocoque ของ SLR McLaren ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกรับหน้าที่หิ้วเครื่องยนต์และช่วงล่างด้านหน้า (วางเครื่องไว้หลังเพลาหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง) จะเป็นท่อนอะลูมีเนียมต่างขนาด รูปแบบโครงสร้างถักทอเชื่อมโยงกันตามหลักเรขาคณิต ที่คำนวณจุดรับแรงมาอย่างละเอียด โครงสร้างอะลูมีเนียมชุดนี้ต้องรองรับแรงบิดมหาศาลระดับ 780 Nm จากขุมพลัง V8 ที่พ่วงมาด้วยซูเปอร์ชาร์จ

ส่วนที่สอง หรือ Passenger Cell วางตัวถัดจากโครงสร้างอะลูมีเนียม นับแต่ห้องโดยสารไปจนถึงท้ายรถ ส่วนนี้จะขึ้นรูปจากคาร์บอนไฟเบอร์ทั้งหมด และโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ของ SLR McLaren แข็งแกร่งพอ ที่จะเป็นจุดยึดให้กับช่วงล่างด้านหลังทั้งชุดด้วย แม้จะใช้วัสดุพิเศษสุดๆ ในยุคนั้น กับงานโครงสร้าง แต่ SLR McLaren มีน้ำหนักตัวหลุดไปไกลถึง 1,768 กิโลกรัม

เครื่อง V8 ทั้งบล็อกของ SLR McLaren มีน้ำหนักอยู่ที่ 232 กิโลกรัม ผลิตจากอะลูมีนัมอัลลอยทั้งเสื้อสูบและฝาสูบ ขนาดความจุ 5.439 ลิตรเน้นแรงบิดด้วยชุดเพลาราวลิ้น SOHC ใช้ซูเปอร์ชาร์จแบบ Twin-screw ปั่นได้ถึง 23,000 รอบ/นาที อัดแรงดันอากาศเข้าห้องเผาไหม้ในระดับ 0.9 บาร์ สร้างแรงม้าออกมา 617 hp ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 780 Nm ที่ 3,250-5,000 รอบ/นาที โดยเวอร์ชั่นสุดท้ายของ SLR McLaren คือ ‘722 Edition’ แรงม้าและแรงบิดจะขยับขึ้นไปที่ 640 hp และ 820 Nm ตามลำดับ ‘722 Edition’ เร่งจาก 0-300 กม./ชม. ด้วยเวลา 27.9 วินาที กับท็อปสปีด 337 กม./ชม.

Pure McLaren:

McLaren แท้ๆ โมเดลแรกของค่ายอย่าง ‘MP4-12C’ ไม่ได้พึ่งพาเครื่องยนต์จากทั้ง BMW และ Mercedes-Benz อีกต่อไป ด้วยเหตุผลเครื่องยนต์ความจุมหาศาลเหล่านี้ ไม่ตอบโจทย์ตามความต้องการของวิศวกร McLaren ในยุคที่รถสมรรถนะสูงถูกควบคุมด้วยมาตรฐานมลพิษในระดับที่เข้มข้น

ขุมพลัง V8 ขนาด 3.8 ลิตร ใน ‘MP4-12C’ เป็นการพัฒนาร่วมกับบริษัทพันธมิตรนาม ‘Ricardo’ ใช้อะลูมีนัมอัลลอยทั้งเสื้อสูบและฝาสูบ ระบบเพลาราวลิ้นแบบ DOHC 32 วาล์ว พร้อมระบบ ‘Dual VVT’ (Variable Valve Timing) หรือวาล์วแปรผันทั้งฝั่งวาล์วไอดีและวาล์วไอเสีย น้ำหนักทั้งบล็อกลดลงเหลือเพียง 199 กิโลกรัม

สำหรับ McLaren 650S ใช้เครื่องยนต์ที่โมดิฟลายต่อจาก ‘MP4-12C’ เป็นเครื่องยนต์รหัส ‘M838T’ มาพร้อม Twin-turbo โดยเทอร์โบแต่ละตัวจะรับไอเสียจากท่อร่วมไอเสียในแต่ละฝั่ง อากาศที่ผ่านการเพิ่มแรงดันจากเทอร์โบจะถูกส่งไประบายความร้อนที่อินเตอร์คูลเลอร์แบบฝั่งใครฝั่งมัน ก่อนส่งอากาศอัดความหนาแน่นสูง (ลดอุณหภูมิ) ไปร่วมตัวกันที่ท่อร่วมไอดี รอผสมกับละอองน้ำมันเชื้อเพลิงตามจังหวะการจุดระเบิดต่อไป ขุมพลังของ ‘MP4-12C’ ผลิตแรงม้าได้ 600 PS (592 bhp) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิด 600 Nm ที่ 3,000-7,000 รอบ/นาที

บล็อก ‘M838T’ ใน McLaren ‘650S’ ถูกปรับปรุงในส่วนลูกสูบ และฝาสูบเพิ่มเติม เพื่อรับกับแรงบูสต์ของเทอร์โบที่เพิ่มขึ้น กระทั่งแรงม้าขยับขึ้นมาเป็น 650 PS (641 bhp) ที่ 7,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดพุ่งขึ้นไปแตะ 678 Nm ที่ 6,000 รอบ/นาที ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลาต่ำกว่า 3 วินาที เหยียบคันเร่งจนผ่าน 200 กม./ชม. ใช้เวลา 8.4 วินาที และหากถนนยังว่างพอ คุณสามารถผ่านหลัก 300 กม./ชม. ด้วยเวลาเพียง 25.4 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดไปหยุดอยู่ที่ 333 กม./ชม. เมื่อสมัยประจำการใน ‘MP4-12C’ เครื่องยนต์บล็อกนี้ปล่อย CO2 ในระดับ 279 กรัม/กิโลเมตร แต่เมื่อมาอยู่ใน McLaren ‘650S’ สะอาดขึ้นอีกเล็กน้อย ด้วยตัวเลข CO2 ที่ 275 กรัม/กิโลเมตร

McLaren 720S ใช้เครื่องยนต์รหัส ‘M840T’ หากเทียบกับบล็อก ‘M838T’ ใน McLaren 650S จะใช้ส่วนประกอบใหม่ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ความเปลี่ยนแปลงหลักคือขยายความจุจาก 3.8 ลิตร ขึ้นไปเป็น 4.0 ลิตร (3,994 ซีซี) ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงยกระดับมาใช้แบบ Twin-injector หรือ 2 หัวฉีดต่อสูบ ที่ยังคงเป็นแบบ Port Fuel Injection (ฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงในท่อร่วมไอดี) การจะทำงาน 8 หัวฉีด หรือเต็มทั้ง 16 หัวฉีด จะขึ้นอยู่กับการประมวลผลของ ECU

ระบบอัดอากาศยังคงเป็น Twin-turbo โดยตัวโข่งฝั่งเทอร์ไบน์ใช้แบบ Twin-scroll รอบในการหมุนจัดจ้านถึง 160,000 รอบ/นาที ชุด Wastegates หรือส่วนควบคุมวงจรการทำงานของเทอร์โบ ยกระดับมาคอนโทรลด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งช่วยระบายแรงดันจากเทอร์โบได้เร็วขึ้นขณะถอนคันเร่ง ปิดท้ายด้วยชุดท่อไอเสียไทเทเนียม’ (Forged from Titanium) เน้นที่ความเบา มาพร้อมชุดเฮดเดอร์ 2 วงจร จัดวางในรูปแบบไขว้ เป็นอีกหนึ่ง Know-how จาก F1 สร้างสุ้มเสียงฮาร์ดคอร์ โดยชุดท่อไอเสียไทเทเนียมช่วยลดน้ำหนักลงอีกราว 1.1 กิโลกรัม

ระบบหล่อลื่นใช้แบบอ่างแห้ง (Dry Sump) ไร้ซึ่งอ่างน้ำมันเครื่องเช่นเครื่องยนต์ทั่วไป เป็นการแยกอ่างน้ำมันเครื่องออกมาไว้ต่างห่าง จากนั้นจึงใช้ปั้มแรงดันสูงอัดน้ำมันไปหล่อลื่นตามซอกต่างๆ ภายในเครื่องยนต์อย่างทั่วถึง โดยแรง g รวมถึงแรงเหวี่ยงหนีศูนย์นานาประการ จะไม่สามารถลดทอนประสิทธิภาพของระบบหล่อลื่นลงได้ และจากการที่ย้ายอ่างน้ำมันเครื่องออกไปจากใต้เครื่องยนต์ จะส่งผลให้ความสูงของเครื่องยนต์ลดลง ช่วยให้จุดศูนย์ถ่วง (C.G.) ต่ำลงอีก เมื่อเทียบกับเจเนอเรชั่นแรก เครื่องยนต์ ‘M840T’ ของ McLaren 720S จะวางต่ำลง 120 มิลลิเมตร ส่งผลให้การออกแบบส่วนท้ายรถ ลดความสูงลงได้อีก 145 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับ McLaren 650S ซึ่งส่วนนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปยังเรื่องแอร์โร่ไดนามิคโดยตรง

เกียร์ของ ‘720S’ เป็นแบบ 7 สปีดคลัตช์คู่โดยผู้พัฒนาเกียร์ลูกนี้คือบริษัท Graziano จากอิตาลี การทำงานของเกียร์ควบคุมด้วยซอร์ฟแวร์ SSG (Seamless Shift Gearbox) ช่วยให้การเปลี่ยนเกียร์รวดเร็วและต่อเนื่อง แถมท้ายด้วยฟังก์ชั่น Pre-cog รับหน้าที่จับสัมผัสที่ผู้ขับกระทำกับ Paddle Shift หลังพวงมาลัยทั้ง 2 ฝั่ง โดยระดับและความเร็วในการกด Paddle จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นการปรับระยะฟรีโหลดในการกดคลัตช์ ส่งผลต่อเนื่องไปยังความเร็วในการทำงานของคลัตช์ สร้างความแตกต่างในการคอนโทรลคลัตช์ได้ใกล้เคียงการเหยียบคลัตช์แบบดั้งเดิม

ขุมพลัง ‘M840T’ ใน McLaren 720S ให้แรงม้าในระดับ 720 PS (710 bhp) ที่ 7,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 770 Nm ที่ 5,500-6,500 รอบ/นาที ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ด้วยเวลา 2.9 วินาที ผ่านหลัก 200 กม./ชม. รอเพียง 7.8 วินาที และทะลุ 300 กม./ชม. เร็วยิ่งขึ้นด้วยเวลา 21.4 วินาที ท็อปสปีด 341 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลือง ในเมือง/เดินทาง/เฉลี่ย อยู่ที่ 6.33/12.65/9.35 กิโลเมตร/ลิตร ตามลำดับ และมีค่า CO2 ต่ำเพียง 249 กรัม/กิโลเมตร

Monocage II:

วกกลับมาที่ตัวถังของ McLaren 720S ซึ่งมุ่งเน้นการลดน้ำหนัก เพื่อยกระดับความกระฉับกระเฉงในการตอบสนองในทุกย่านความเร็ว น้ำหนักรวมอยู่ที่เพียง 1,283 กิโลกรัม (McLaren 650S หนัก 1,330 กิโลกรัม) โดยน้ำหนักร่วม 50 กิโลกรัม ที่หายไปไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยสำหรับผู้ผลิตรถสมรรถนะสูงรายอื่นๆ วิศวกร McLaren เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่า น้ำหนักที่ลดลง มาจากการแทนที่ชิ้นส่วนเดิม ด้วยวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งแบ่งเป็น ตัวถัง, แชสซี, เครื่องยนต์, ห้องโดยสาร และชิ้นส่วนระบบไฟฟ้า

เฉพาะในส่วนของตัวถัง ชิ้นงานคาร์บอนไฟเบอร์ที่โดดเด่น ได้แก่ ช่องรับลมใต้กันชนหน้าที่ออกแบบเป็นชิ้นเดียวกับ Front Splitter ทำให้ท่อนหน้ารถมีลักษณะคล้ายจมูกฉลาม (Shark Front) เช่นเดียวกับ F1, แผ่นปิดใต้ท้องรถท่อนหน้า, ช่องรับลมด้านข้างตัวถัง, ช่องรับลมแนวตั้งด้านข้างกันชนหน้า, ซุ้มล้อหน้าและซุ้มล้อหลัง, แผ่นปิดใต้ท้องรถท่อนหลัง, ชิ้น Diffuser และ ปีกหลังชิ้นใหญ่ที่ใช้ความกว้างเต็มพื้นที่ความกว้างในส่วนท้ายของตัวถัง สร้างแรงกดได้มากขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ ‘650S’

งานแอร์โร่ไดนามิคบนตัวถัง McLaren 720S ต้องบอกว่าขั้นเทพในทุกรายละเอียด ใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วบนตัวถังได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะร่องรับลมแนวด้านข้าง ที่เริ่มต้นแบบบางๆ ตั้งแต่ฝากระโปรงหน้า และไล่ระดับใหญ่ขึ้น และลึกขึ้น นับตั้งแต่แนวประตู ต่อเนื่องไปจนถึงท้ายรถ เบ็ดเสร็จสร้างแรงกด (Downforce) บนตัวถังได้เพิ่มขึ้น 70-80 เปอร์เซ็นต์ แปรผันตามความเร็วรถ

McLaren มุ่งเน้นผลกำไรอย่างจริงจัง กับการขายซูเปอร์คาร์ทุกโมเดล เพราะลดความยุ่งยากซับซ้อน และเวลาในการทำงานของแต่ละขั้นตอนลงมาก (ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในแต่ละยุค) โครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ของ McLaren F1 ต้องใช้เวลาในการผลิตต่อชิ้น นานถึง 3,000 ชั่วโมง พอมาถึง SLR McLaren ลดเวลาลงได้อีกกว่า 10 เท่า ขณะที่ ‘MonoCell’ และ ‘Monocage II’ ลดเวลาในการผลิตต่อชิ้นเหลือน้อยกว่า 4 ชั่วโมง

หัวใจของซูเปอร์คาร์จาก McLaren อยู่ที่เรื่องฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่ง ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่บ่งชี้ถึงศักยภาพในการพัฒนาแชสซีได้ดีที่สุด ยังคงใช้โครงสร้างลูกผสมเช่นเดียวกับรุ่นพี่  โดยโครงสร้างท่อนหลักเป็นส่วนของห้องโดยสาร สำหรับเจเนอเรชั่นแรกใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘MonoCell’ ดูเรียบง่ายและลงตัวกว่าโครงสร้างของ SLR McLaren อยู่ไม่น้อย เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ชิ้นใหญ่ ที่ผลิตขึ้นจากกรรมวิธี RTM (Rasin Transfer Moulding) ทั้งชุดมีน้ำหนักเพียง 75 กิโลกรัม เบากว่าการใช้โครงสร้างอะลูมีเนียมราว 25 เปอร์เซ็นต์ จาก ‘MonoCell’ ในรถ McLaren เจเนอเรชั่นแรก พัฒนาไปเป็น ‘Monocage II’ ใน McLaren 720S ความเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ด้วยตา เป็นการเพิ่มเติมโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ในท่อนบน หรือส่วนของหลังคา จากเจเนอเรชั่นแรกจะมีเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นฐานโครงสร้างเท่านั้น

ProActive Chassis Control II:

โครงสร้างหลักของ McLaren 720S เป็น ‘Monocage II’ ขณะที่โครงสร้างท่อนหน้าและท่อนหลังเป็นอะลูมีเนียม โครงอะลูมีเนียมด้านหน้าเป็นจุดยึดให้กับช่วงล่างแบบดับเบิ้ลวิชโบน และท่อนหลังรับหน้าที่เป็นจุดยึดให้กับอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ เครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง และช่วงล่างแบบดับเบิ้ลวิชโบนเช่นเดียวกัน โดยโครงสร้างของระบบกันสะเทือนยังคงเป็นอะลูมีเนียมเพื่อช่วยลดน้ำหนักใต้สปริง (un-sprung weight) ซึ่งลดลงได้ถึง 12.5 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับ McLaren 650S

ช่วงล่างของ McLaren 720S จัดเป็น Adaptive Suspension หรือกันสะเทือนที่ปรับการตอบสนองได้ตามรูปแบบการขับขี่ ถูกควบคุมด้วยระบบ ‘ProActive Chassis Control’ เจเนอเรชั่นที่ 2 หรือ ‘PCC II’ แนวคิดของระบบนี้ จาก McLaren อาจทำให้ผู้ผลิตซูเปอร์คาร์หลายค่ายต้องทึ่ง วัตถุประสงค์คือการแยกความนุ่มนวลในการขับขี่ออกจากอาการโคลง ขณะรถเข้าโค้ง” McLaren 720S จึงไม่จำเป็นต้องมีเหล็กกันโคลงมาช่วยสร้างน้ำหนักส่วนเกินอีกต่อไป

ช็อคอัพทั้ง 4 ล้อ ของ McLaren 720S ถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านวงจรไฮดรอลิค ความคล่องตัวในการไหลของของไหล (Fluid) ภายในวงจร จะเป็นตัวแปรหลักต่อการตอบสนองของระบบกันสะเทือนทั้งระบบ ซึ่งจะถูกคอนโทรลผ่านวาล์วภายใต้การควบคุมการทำงานโดยสมองกลอีกที

อาการยุบตัวหรือยืดตัวของช็อคอัพตัวใดตัวหนึ่งจึงส่งผลต่อเนื่องไปยังช็อคอัพตัวอื่นๆ ได้ตามการประมวลผล ซึ่งซอฟต์แวร์ในส่วนของงานแชสซี ถูกออกแบบผ่านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยความร่วมมือของ McLaren กับ University of Cambridge เพื่อให้ได้อัลกอริทึมในระดับก้าวหน้า (Advanced Algorithms) รองรับตัวแปรจากการทำงานของช่วงล่างในทุกสภาพถนน จากเซ็นเซอร์จำนวน 12 ตัว ทุกสัญญาณอาทิ อัตราเร่ง, องศาการหักเลี้ยวของพวงมาลัย, แรงดันภายในช็อคอัพแต่ละล้อ จะถูกนำมาวิเคราห์และประมวลผลก่อนสั่งปรับแต่งอาการของรถ ด้วยเวลาในทุกขั้นตอนเพียง 0.002 วินาที [หมายเหตุผู้เขียน : อัลกอริทึม คือ กระบวนการแก้ปัญหา ที่สามารถอธิบายมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน]

การทำงานของ ‘PCC II’ ยกตัวอย่างได้ดังนี้ ขณะเบรก ธรรมชาติของรถขณะเกิดการห้ามล้ออย่างรุนแรง คือ หน้ารถยุบ ท้ายรถยก การยืดตัวออกของช็อคอัพคู่หลัง จะทำให้ช็อคอัพคู่หน้าแข็งขึ้น เมื่อช็อคอัพคู่หน้าแข็งขึ้น จึงสามารถช่วยต้านอาการยุบตัวดังกล่าวได้ ในทางกลับกัน ขณะออกตัวอย่างรุนแรง การเคลื่อนที่ที่เกิดขึ้น คือ หน้ารถยก ท้ายรถยุบ การยืดตัวของช็อคอัพคู่หน้า จะทำให้ช็อคอัพคู่หลังแข็งขึ้น เมื่อช็อคอัพคู่หลังแข็งขึ้นจึงสามารถช่วยต้านอาการยุบตัวที่เกิดขึ้นได้นั่นเอง

นั่นเป็นเรื่องความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง สำหรับล้อซ้ายและล้อขวา ก็ใช้หลักการที่ไม่แตกต่างกัน ขณะรถเข้าโค้ง อาการของช่วงล่างที่เกิดขึ้นขณะนั้นคือ ล้อด้านนอกโค้งยุบตัว ส่วนล้อด้านในโค้งยกตัว เช่นเดียวกัน การยืดตัวของช็อคอัพของล้อด้านในโค้ง จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นแรงดันไฮดรอลิก ที่ทำให้ช็อคอัพด้านนอกโค้งช่วยต้านอาการยุบตัว ลดอาการโคลงของตัวถัง และให้การตอบสนองของช่วงล่างที่เฟิร์มแน่นยิ่งขึ้น

ความโดดเด่นของ ‘PCC II’ อยู่ที่การรักษาความนุ่มนวลขณะรถเคลื่อนที่ในทางตรงไว้ได้ไม่เป็นรองรถซาลูน ในเวลาเดียวกัน ช่วงล่างชุดเดียวกันนี้ ก็ยังสามารถลดอาการโคลงที่เกิดขึ้นจากความนุ่มนวลในระดับนั้นได้ด้วย ทั้งหมดเป็นที่มาของความเสถียรสูงสุดขณะรถอยู่ในโค้ง สำหรับ McLaren 720S ระบบ ‘PCC II’ จะถูกปรับแต่งเพิ่มเติมเพื่อให้สอดรับกับระบบอื่นๆ ทั้งหมด

ทุกองค์ประกอบบนตัวถัง McLaren 720S ล้วนกำเนิดจากเหตุและผลทางวิศวกรรม ดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวถูกเรียกว่า McLaren’s Design Language งดงามและลงตัวในทุกรายละเอียด แม้จะมาทีหลังเมื่อเทียบกับซูเปอร์คาร์ค่ายเก่าแก่อย่าง FERRARI, LAMBO และ PORSCHE แต่ McLaren ไม่มีประเด็นใดที่เป็นรอง เพราะฉะนั้น นักขับที่หลงใหลงานวิศวกรรมระดับรถ F1 จากตัวจริงของวงการ ไม่ควรพลาด McLaren 720S ด้วยประการทั้งปวง

 

 

 

 

 

 

 

 

McLaren 720S Super Series