ข่าวโดย Motorsport Lives : สำนักข่าวมอเตอร์สปอร์ต
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นำเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพี เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ ปี 2561-2562-2563 โดยมีการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการซึ่งจะดวลความเร็วกันที่ สนามข้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์
หลังจากที่ตามลุ้นกันมานานเมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคม 2017 ในที่สุดแฟนความเร็วชาวไทยก็ได้เฮกันทั้งประเทศ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติให้งบประมาณให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โมโตจีพี เป็นเวลา 3 ปี จากการผลักดันของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งของบประมาณจากรัฐบาลปีละ 100 ล้านบาท จากค่าลิขสิทธิ์จำนวนราว 400 ล้านบาท โดยเงินส่วนที่เหลือจะเป็นภาคเอกชนที่ร่วมลงขันเพื่อให้เกิดการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับโลกรายการนี้ในประเทศไทย
ทั้งนี้ หลังจากการอนุมัติของ ครม. ทางฝ่ายจัดการแข่งขันในเมืองไทยก็จะดำเนินการเจรจาสัญญากับ ดอร์น่า สปอร์ต ฝ่ายลิขสิทธิ์ของ โมโตจีพี โดยจะถูกบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งใน 20 สนาม ของตารางแข่งขันฤดูกาลหน้า ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเซอร์กิตระดับ เกรดเอ ของ เอฟไอเอ็ม และเป็นเจ้าภาพรองรับการแข่งขัน เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปี้ยนชิพ มาแล้ว 3 ปี ในฤดูกาล 2015-2017
หากประเทศไทยถูกบรรจุเป็นหนึ่งในตารางแข่งขัน เชื่อว่าจะถูกรวมอยู่ในช่วงท้ายของฤดูกาลซึ่งอยู่ในโซนของทวีปเอเชีย เช่นเดียวกับ โมเตกิ (ญี่ปุ่น), ฟิลลิป ไอส์แลนด์ (ออสเตรเลีย) และ เซปัง (มาเลเซีย) ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หากเป็นไปตามตารางดังกล่าว บุรีรัมย์ จะเข้าไปเติมให้เดือนตุลาคมปีหน้าเป็นเดือนที่แข่งกัน 4 สัปดาห์ติดต่อกัน แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันติดต่อกันยาวถึง 4 สัปดาห์ ประเทศไทยอาจถูกแพ็ครวมกับ มาเลเซีย ให้อยู่ติดกัน ซึ่งอาจจะเป็นช่วงต้นเดือน หรือปลายเดือนนั่นเอง
อีกความเป็นไปได้คือ บุรีรัมย์ อาจถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในแพ็คเดียวกับ กาตาร์ ซึ่งอยู่ในช่วงต้นฤดูกาลในเดือนมีนาคม ทว่าในเงื่อนไขหลังนี้อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสนามช้างฯ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปี้ยนชิพ สนาม 2 ในเดือนมีนาคมอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ยังมีการคาดการณ์ว่าการแข่งขันในทวีปอเมริกา อาจถูกเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาเนื่องจาก นักบิดและทีมแข่งต่างเจออุปสรรคกับการเดินทางอันสุดโหดด้วยระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ เพื่อเคลื่อนย้ายจาก อาร์เจนติน่า ไปสู่ ออสตินโดย โมโตจีพี ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2016 ที่ผ่านมาว่า สามารถบรรลุสัญญากับสนาม คิมี ริง ในประเทศฟินแลนด์ เพื่อคัมแบ็กสู่โมโตจีพี อีกครั้งในฤดูกาล 2018
กลายเป็น “ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์” ไปในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากมีข่าว ครม.อนุมัติโครงการไทยเป็นเจ้าภาพ “โมโตจีพี” 3 ปี ต่อเนื่อง ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2018-2020 และแน่นอนทำให้หลายฝ่ายตีความไปต่างๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เอา Motorsportlives.com จะมาชำแหละข้อมูลต่างๆ ให้เข้าใจโดยง่าย ไปอ่านกันเลยครับ
ประเด็น ครม. มีมติอนุมัติสนับสนุน 100 ล้านบาทต่อปี ให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โมโตจีพี เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน นั้นหลายฝ่ายอาจเข้าใจในทิศทางที่ รัฐบาลเป็นคนออกเงินทั้งหมดในการซื้อลิขสิทธิ์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ค่าลิขสิทธิ์ โมโตจีพี นั้นมีมูลค่าราว 7.5 ล้าน ยูโร ซึ่งหากตีเป็นเงินไทยก็จะอยู่ที่ราว 350 ล้านบาทต่อปี นั่นหมายความว่า “รัฐไม่ได้จ่ายทั้งหมด แต่เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน” 3 ปี รัฐจ่าย 300 ล้านบาท
แล้วใครเป็นคนจ่ายเงินที่เหลือ?
นี่คือคำถามต่อมา… คำตอบคือภาคเอกชนนำโดย สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่ก่อนหน้านี้ก็เสียค่าลิขสิทธิ์จัด เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปี้ยนชิพ ปีละ 120 ล้านบาทอยู่แล้ว… นั่นหมายความว่าจะต้องหาสปอนเซอร์ให้ได้ปีละอย่างน้อย 300 ล้านบาท รวม 3 ปี ราว 900 ล้านบาท
งบประมาณส่วนที่เหลือจะมาจากไหน?
นี่คือคำถามที่ดีมาก ที่ประชาชนและแฟนมอเตอร์สปอร์ตควรทำความเข้าใจ เงินก้อนนี้จะมาจากการหาสปอนเซอร์เพื่อเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการแข่งขันนั่นเอง หากตีเป็นสัดส่วนแล้ว รัฐบาลจะออกเงินเพียงราว 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์คือภาคเอกชนที่จะหาทางเรี่ยรายกันเพื่อให้เพียงพอต่อการจัดการแข่งขันนั่นเอง
รัฐบาลลงทุนแล้วได้อะไร?
ประเทศมาเลเซียทุ่มสุดตัวเพื่อให้ โมโตจีพี อยู่ในสนามเซปังฯ ซึ่งสนามดังกล่าวก็เป็นเงินทุนจากรัฐบาลมาเลเซียเกินกว่าครึ่งของงบประมาณในการก่อสร้าง ส่วนประเทศไทย สนามช้างฯ ไม่ได้ใช้เงินจากรัฐบาลแม้แต่บาทเดียวในการก่อสร้าง และสนามยินดีให้ใช้ฟรีๆ หากมีอีเวนต์ระดับโลกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น โมโตจีพี หรือ เอฟวัน
ประเทศมาเลเซีย ได้กำไร 3.8 ริงกิต จากการลงทุนทุกๆ 1 ริงกิต ในการจัดการแข่งขัน โมโตจีพี นี่หมายรวมถึงรายได้โดยตรงของการจัดการแข่งขัน และรายได้โดยอ้อมซึ่งตรงนี้ประเทศได้เต็มๆ ทั้งการจ้างงาน, ภาษี, การท่องเที่ยว, กีฬา และเศรษฐกิจ ไม่รวมถึงภาพลักษณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะล่อตาล่อใจนักลงทุนจากทั่วโลกให้ตบท้าวเข้ามาลงทุนในดินแดนสยาม
แล้วเอกชนได้อะไร?
ในข้อนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแบรนด์… หากมองในมุมกว้างมอเตอร์สปอร์ตไม่ใช่เพียงกีฬาที่ส่งเสริมสินค้าในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่แบรนด์ต่างๆ อาทิ เครื่องดื่ม, อาหาร และสินเชื่อก็ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับความนิยมของโมโตจีพี ที่ถ่ายทอดไปยังสายตากว่า 500 ล้านคู่ทั่วโลก ตรงนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของแต่ละแบรนด์ครับ… ว่าจะมองมอเตอร์สปอร์ตอย่างไร
ขออนุญาตสรุปให้สั้นๆ ว่า รัฐบาลลงทุน 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อรายได้ตอบรับน่าจะเกิน 100 เปอร์เซ็นต์เสียด้วยซ้ำ หากนับเป็นการลงทุนในโครงการนี้มันไม่ได้เป็นเพียงการลุงทุนเพื่อกีฬา แต่เป็นการลงทุนเพื่อ การท่องเที่ยว, เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ต่อเนื่องทั้งประเทศ