STORY : T.Aviruth (^_^!)
Photo : ธัญญนนท์ แสงภู่
My Name is… Mu Tuner
แอบมอง มู อยู่นะจ๊ะ ตั้งแต่วันที่วิ่ง 6 เลยยย…. ตามกระแสคุกกี้นิดนึงครับ คงไม่ใช่ฉันคนเดียวแน่ๆ ที่ดีใจ ในวันที่รถ Dragster ของ ECU=SHOP วิ่งได้ 6.6 วินาที ในวันควอลิฟาย แน่นอนว่า องค์ประกอบทั้งหมด อาทิ ตัวรถ ช่วงล่าง เครื่องยนต์ คนขับ ต้องสัมพันธ์กันอย่างดีเยี่ยม แขกรับเชิญประเดิมหัวปีในคอลัมน์นี้ ไปรู้จักเค้ากันครับ คุณชุติพันธุ์ จิตต์จำนง – มู จูนเนอร์
ในการทำคอลัมน์ครั้งนี้ได้ยกกองไปหา มู จูนเนอร์ กันที่ ECU=SHOP ปิ่นเกล้า ครับ ถ้าใครยังไม่เคยมานะครับ สถานที่ตั้งของร้านเค้าจะอยู่ในโซนสปอร์ตคลับ สถานที่จอดรถสะดวกสบายครับ คุณมู เดินทางมารอต้อนรับพวกเราอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งทีมงานก็เร่งรีบ ไม่รอช้าในการสัมภาษณ์ เนื่องจากเกรงใจ เดี๋ยวถ้าไหลยาวนาน จะไปรบกวนลูกค้าที่นำรถเข้ามารับบริการติดตั้งกล่อง และจูนกล่องครับ
เมื่อสิ้นสุดคำถามที่ผมถามว่า คุณเป็นใคร แล้วทำอะไรอยู่ แล้วในก้าวเดินเข้ามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร? คุณมู พูดว่า “ผมก็เริ่มจากเด็กวัยรุ่นที่ชอบรถคนหนึ่ง ตั้งแต่สมัยเรียนวิศวะเครื่องกลที่จังหวัดเชียงใหม่ จุดแรกที่เปลี่ยนชีวิตผม คือ ในตอนที่กำลังศึกษาอยู่นั้น มีโครงการ ฟอร์มูล่า สติวเดนต์ (Formula Student) ผมรับผิดชอบในส่วนของการทำเครื่องยนต์ ดูแลระบบไฟ จากตรงนี้แหละคือการจุดประกายในตัวผม ยิ่งในช่วงนั้นเห็น พี่บอล จูนเนอร์ บินมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาจูนรถที่เชียงใหม่ ภาพที่เห็นในตอนนั้น คือ เอาโน้ตบุ๊กมาเสียบ แล้วจูนรถ ผมว่ามันเท่มาก แล้วก็ทำให้ผมอยากที่จะเป็นจูนเนอร์มั่ง เมื่อเรียนจบ
หลังจากนั้นชีวิตผมก็เปลี่ยน เริ่มคลุกอยู่ตามอู่ ไปยอมไปเรียนเลย ผลการเรียนเทอมนั้นได้ 0.8 เกือบจะโดนรีไทร์ หลังจากนั้นผมก็รีบกลับตัวใหม่ ศึกษาต่อให้จบ วิศวกรรมเครื่องกล สาขายานยนต์ แล้วก็ประสบความสำเร็จในการแข่ง ฟอร์มูล่า สติวเดนต์ ในปีนั้นด้วย โดยได้อันดับ 3 ของประเทศไทยมาครอง ซึ่งตัวผมเองใช้รถฮอนด้า ซีวิค 3 ประตู เครื่องยนต์ D15B ก็มีความอยากลองที่จะจูนรถตัวเอง ก็ลงมือไปหาซื้อชุดที่ใช้สำหรับจูนรอม มาลองทำเอง ยิ่งจูนยิ่งสนุก ผมก็คิดว่ามันใช่ในสิ่งที่ผมอยากจะเป็นแล้วละ ซึ่งตรงนี้ผมก็ต้องบอกว่า ผมได้ประสบการณ์จากพี่ๆ ตามอู่ ต่างๆ ที่คอยแนะนำมาเป็นส่วนหนึ่งด้วย จนกลายมาเป็นอู่ BBM Motorsport ที่เชียงใหม่ โดยมีพี่บอล เป็นเจ้าของอู่อีกอู่หนึ่ง ทำฮอนด้าเยอะมาก ส่วนพี่บอย ทำสายไฟทั้งระบบ แล้วก็ผมรับหน้าที่จูนต่อเพื่อส่งงานให้ลูกค้าครับ ซึ่งตอนนั้นก็รับงานทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนศึกษาจบปริญญาโท ผมก็เดินทางเข้ามาทำงานเป็นวิศวกรอยู่โรงไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ
ซึ่งกลางวันผมก็ทำงานปกติ พอกลางคืนผมก็รับงานจูนรถต่อ ซึ่งในยุคนั้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักผม เรียกว่ายังโนเนมอยู่ก็ว่าได้ ผมก็ไปโพสรับงานตามเว็บบอร์ด ในยุคนั้นก็ EG 3 DOOR Club.com ประมาณนั้น จนวันหนึ่ง ECU=SHOP เค้าทำกล่องเบนซิน Octane Max ขึ้นมา ผมมองแล้วว่ามันเจ๋งดี กล่อง Stand Alone ของคนไทย ซึ่งโดยส่วนตัวผมกับทาง ECU=SHOP ผมจะเข้าไปใช้บริการเครื่องวัดแรงม้า ที่ อ.สันกำแพง เชียงใหม่ อยู่บ่อยๆ เวลาไปจูนรถ ก็จะมีรู้จักกับคนข้างในบ้าง พอเห็นว่า Octane Max ออกมา ผมก็เลยไปถาม พี่ศรัณย์ ซึ่งพี่เค้าเป็นโปรแกรมเมอร์ ของ ECU=SHOP ว่าผมอยากจะเข้าอบรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ มีเปิดรับอบรมมั้ยครับ พี่ศรัณย์ ตอบผมว่า อย่างมึ…งงง ไม่ต้องมาอบรม มาทำงานด้วยกันมั้ย นั่นแหละ หลังจากคำชักชวนของพี่เค้า ผมตัดสินใจในวันนั้น โดยการไปลาออกจากวิศวกรโรงไฟฟ้าทันที แบบไม่ต้องคิดอะไรเลย รีบเคลียร์โปรเจกต์ให้เค้าจบ แล้วผมก็เริ่มงานที่ ECU=SHOP เลย
เท่ากับผมมาทำงานอยู่กรุงเทพฯได้ประมาณ 1 ปี แล้วก็กลับขึ้นไปทำงานที่เชียงใหม่อีกครั้งกับ ECU=SHOP โดยเริ่มต้นคลุกคลีในส่วนโรงงานอยู่ประมาณ 3-4 เดือน แล้วก็ถูกส่งตัวกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ในส่วนดูแลผลิตภัณฑ์ โดยทำหน้าที่ซัพพอร์ตให้กับจูนเนอร์ต่างๆ ในการใช้โปรแกรม หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของทางแบรนด์ที่มีอยู่ ผมจะมีหน้าที่คอยดูแลในส่วนนั้น นอกจากนั้นก็จะมีหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนในการใช้โปรแกรมจูนรถ และซัพพอร์ตทางด้านเทคนิคโดยตรงครับ
จนเมื่อปลายปี กับรถ Dragster ที่วิ่ง 6.6 วินาที โดย ปอนด์เทค เป็นคนขับ คือต้องบอกแบบนี้ครับ ผมเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากรถแข่งของ ECU=SHOP มาตลอด เพราะก่อนหน้านี้ก็ลองผิดลองถูกมาโดยตลอด โดยผมเริ่มเก็บประสบการร์จาก อ.ยศ คือตอนที่ผมเข้ามาทำงานครั้งแรก อาจารย์แกก็โยนรถแข่งทั้งหมดมาให้ผมไปจูนเองเลย โดยอาจารย์แกไม่มายุ่งกับผมเลยนะ ปล่อยให้ผมเรียนรู้ ทดลองเอง อยากรู้อะไรทำเองเลย ก็ทำให้ผมได้ประสบการณ์การจูนรถแข่งจากจุดนี้มากพอสมควร เพราะมีเครื่องยนต์หลายๆ สเต็ป มาให้ผมได้ลอง ซึ่งคำถามที่ผมเจอบ่อยก็คือ จูนยังไงให้แรง ผมบอกเลยว่า มันแรงตามสเต็ปของเครื่องยนต์ที่ทำมาอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่ผมจะต้องทำคือ ปรุงสัดส่วนการผสมน้ำมันกับอากาศให้มันลงตัว องศาจุดระเบิดถูกต้อง ก็เสมือนกับการดึงศักยภาพของมันออกมาใช้ให้สมบูรณ์ที่สุด
ซึ่งนอกเหนือจากหน้าที่ที่ผมกล่าวมา ผมก็จะมี ECU=SHOP ปิ่นเกล้า เป็นอีกหนึ่งสาขา โดยผมเป็นคนดูแลเอง ซึ่งการให้บริการก็เหมือนกับที่บริษัทใหญ่ คือ รับติดตั้งกล่อง จูนกล่อง โมดิฟายรถแข่ง หรือจะเป็นรถบ้าน ก็รับทำทุกอย่าง ถ้าถามผมว่า อนาคตมองทางไว้อย่างไรบ้าง ผมก็อยากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ECU=SHOP ให้ครอบคลุมกับกลุ่มผู้ใช้รถทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงแต่กลุ่มรถแต่งเพียงอย่างเดียว คือแค่อยากให้ผู้บริโภคสามารถใช้สินค้าได้เอง ติดตั้งง่าย ไม่ไปยุ่งกับของเดิมติดรถที่มีมาจากโรงงาน ก็จะมองในรูปแบบ อุปกรณ์ พ่วง เสริมต่อ เข้าไป มากกว่าการติดตั้งแบบวายริ่งสายไฟครับ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่เราเรียกว่า วี อาร์ จูน ที่เพิ่งเกิดขึ้นสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล และมอเตอร์ไซค์ออกมา ลูกค้าสามารถติดตั้งและปรับแต่งได้ด้วยตัวเอง ซึ่งเจ้าตัวนี้ ทางบริษัทจะเป็นผู้จูนให้ก่อน ซึ่งลูกค้าสามารถนำไปปรับจูนต่อเองได้ แต่ว่ามันก็มีขอบเขตของการปรับแต่ง ซึ่งตรงนี้ผู้ใช้จะต้องรับทราบถึงผลเสียก่อนว่า ถ้ามันเกินขอบเขตจากที่รับทราบ มันจะส่งให้เกิดปัญหาด้านใดตามมาครับ สุดท้ายนี้ หลายๆ คนที่ติดตาม Dragster ของ ECU=SHOP ที่วิ่งในวันควอลิฟายได้เวลา 6.6 วินาทีนั้น และรถไม่พร้อมในรอบวันจับเวลา ตอนนี้ทีมงานได้พบเจอปัญหานั้นแล้ว แล้วก็รีบแก้ไขดำเนินการตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งปลายปีนี้ ผมตั้งใจไว้ให้เร็วกว่าเดิมครับ”
มู จูนเนอร์ คนนี้ดีกรีไม่ธรรมดาใช่มั้ยครับ ผมติดใจท่อนสุดท้ายที่เค้าทิ้งไว้ให้คิดมากเลยครับ “เร็วกว่าเดิม” ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงอยากรู้คำตอบ ไว้ไปรอดูกันปลายปีนี้ครับ แบรนด์คนไทย มีอะไรให้คนไทยได้ตื่นเต้น แล้วเร้าใจอยู่เสมอๆ ครับ
: ทำงานกับรถเนี่ย มันต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ผมชอบตรงนี้แหละ มันหยุดไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีอัปเดตตลอดเวลา
: ปลายปีนี้ ผมตั้งใจไว้ ให้เร็วกว่าเดิมครับ
: จูนยังไงให้แรง ผมบอกเลยว่า มันแรงตามสเต็ปของเครื่องยนต์ที่ทำมาอยู่แล้ว ผมทำแค่ปรุงสัดส่วนการผสมน้ำมันกับอากาศให้มันลงตัว องศาจุดระเบิดถูกต้อง ก็เสมือนกับการดึงศักยภาพของมันออกมาใช้ให้สมบูรณ์ที่สุด