STORY : T.Aviruth (^_^!) / PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่
บางคนมีข่าวคราวมาโดยตลอด แต่กลับมีเรื่องราวที่ไม่น่าสนใจ แต่กับบางคนที่อยู่อย่างเงียบๆ มาตลอด แต่กลับมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ใช่ครับ…ผมกำลังมุ่งประเด็นไปที่บุคคลอย่างหลัง คนที่อยู่อย่างเงียบๆ แต่ประสบการณ์เพียบ อย่าง อาแดง หรือ ป๋าแดง ในสายแดร็กย่อมรู้จักชื่อเสียงของท่านดี แต่จะมีใครบ้างล่ะ ที่รู้ว่าจริงแท้แล้ว เค้าคือช่างแอร์ในตำนาน!!!
“อาแดงครับ ผมขอสัมภาษณ์ลงคอลัมน์ My Name is… ใน XO สะดวกมั้ยครับ? ได้สิ ถ้าอยากสัมภาษณ์ก็ยินดีนะ ผมไม่ค่อยมีเรื่องราวหรือประวัติอะไรมากนะ แค่คนทำรถคนนึงเท่านั้นเอง” นี่คือบทสนทนาในโทรศัพท์ ก่อนที่จะไปสัมภาษณ์อาแดง ใจความไม่สำคัญมีมากกว่านี้ แต่ดูจะนอกเรื่องไปหน่อย ก็เลยสรุปมาให้ประมาณนี้ และบทส่งท้ายก่อนจะวางหู อู่ย้ายมาที่ใหม่แล้วนะ รู้ยัง?” นั่นแหละคือประเด็นที่ผมจะจุดชนวนในการเปิดหัวเรื่องของคอลัมน์นี้
น้องๆ ที่อ่านมาถึงตรงนี้ หรือหลายๆ ท่านยังไม่ทราบ ตอนนี้อู่อาแดง DAENG DRAG MASTER ได้พื้นที่เซอร์วิสใหม่ เดินทางสะดวก บนถนนเลียบทางด่วน เอกมัย-รามอินทรา ฟังดูแล้วรู้สึกกว้างไป เอาง่ายๆ คือ มุ่งหน้ารามอินทรา อยู่บริเวณทางลงจากทางด่วน ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเกษตร-นวมินทร์ ตำแหน่งอยู่ตรงทางเป๊ะเลย สังเกตซ้ายมือ จะมีบริการวัดแรงม้า คาร์แคร์ ส่วนในอู่ของอาแดง จะอยู่ด้านในครับ พื้นที่ส่วนใหญ่เกือบจะ 100% ในอู่ เรียงรายด้วยรถเฟรมประมาณ 5-6 คัน มีรถใครบ้าง เดี๋ยวรอชมกันตอนปลายปีครับ เมื่อกวาดสายตาไปรอบๆ อู่ ผมก็เจอมุมสงบ พร้อมกันชักชวนอาแดงไปนั่งคุยกัน ซึ่งอาแดงก็บอกกับผมว่า พวกคุณอยากรู้อะไรก็ถามผมแล้วกัน ผมก็เลยสวนคำถามแรกที่ดูเหมือนจะเป็นคำถามเดียวให้อาแดงตอบจนจบการสนทนา ว่า อาแดงกับรถเฟรม มันเกิดขึ้นได้เพราะอะไรครับ “จุดเริ่มต้นต้องเริ่มที่ตัวผมก่อน อาชีพผมคือ “ช่างแอร์” แล้วมีโอกาสไปทำงานที่ “ชวาลา” ในปี พ.ศ. 2519 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2521 “คุณ ชวาลา” เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา แล้วเกิดอยากเล่นรถแข่งในประเทศไทย ก็เลยมาถามผมว่า คุณแดง ทำรถยนต์ได้มั้ย? ผมก็เลยตอบกลับไปว่า งานหลักๆ ของผมคือการทำแอร์ แต่ถ้าหากจะให้ทำรถ ต้องมีคู่มือมากำกับการทำบ้าง จะออกมาผิดหรือถูก ก็ค่อยๆ แก้ไข ปรับแต่งกันกันไป นั่นแหละ หลังจากนั้นชีวิตผมก็เริ่มมีเรื่องราวของรถยนต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะแข่งประเภทแดร็กหรือเซอร์กิต ผมเป็นคนทำรถให้กับ คุณชวาลา ในรูปแบบของรถ BMW E21 เป็นรถบอดี้เต็มนำมาทำ พอทำขึ้นมา เกิดปัญหาในเรื่องของน้ำหนักไม่บาลานซ์กัน ก็เลยวิ่งไม่ลงตัว ก็เลยมีการแก้ไขใหม่ทั้งระบบ โดยการทำตัวรถให้ยาวขึ้น เพื่อจะย้ายน้ำหนักถ่ายมาด้านหลัง นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของรถคันแรก
ผมถูกเรียกว่า “แดง ชวาลา” มาตั้งแต่นั้น ซึ่งในช่วงที่ทำรถอยู่ย่านรัชดา “ช. มอเตอร์” ซึ่งเป็นของคุณ ชวาลา ผมก็ยังคงประกอบอาชีพช่างแอร์ไปด้วย คือทำควบคู่กันไปทั้ง 2 อาชีพ ไม่เคยนอน “หัวค่ำ” รู้สึกอีกทีก็ใกล้เช้าถึงเข้านอน เบลอๆ บ้างก็มีบ่อยไป เพราะพักผ่อนน้อย หลังจากยุคนี้ผมก็ยังคงทำรถอยู่ในวงการมาตลอด ตอนนั้นก็ไปวิ่งแดร็กที่สนามนครชัยศรี ระยะ 201 เมตร จนกระทั่งวันนึง งานเลี้ยงก็ย่อมมีวันเลิกรากันไป ต่างคนก็ต่างมีทางเดินที่ต้องไปต่อ ผมเองก็ไปประกอบอาชีพส่วนตัว คือรถตู้เช่า แต่ก็ยังมีแวะเวียนมาช่วยคุณ ชวาลา บ้างในบางครั้ง ซึ่งในการทำรถแข่งของผมก็มี ท่านอาจารย์ ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข นี่แหละ ที่คอยให้คำปรึกษากัน ท่านทราบเรื่องอะไรมาก็มาแบ่งปันประสบการณ์กัน เป็นแบบนี้มาโดยตลอด จนวันนึง คุณชวาลา เลิกแข่งรถไปในที่สุด
การหวนคืนสังเวียนแดร็กอีกครั้งของผมเริ่มต้นขึ้นในปี 2540 ด้วยเหตุผลที่ว่า ผมทำรถตู้เช่า แล้วมีอาการประจำตัวคือ “โรควูบ” ผมก็กลัวว่าอาการจะเกิดตอนขับรถ และก่อให้เกิดอุบัติเหตุให้กับผู้โดยสาร ผู้ที่ใช้ถนนร่วม และตัวเราเองด้วย ก็เลยตัดสินใจขายรถตู้ แล้วกลับมาทำงานเปิดอู่ทำรถอีกครั้งนึง ที่วัดสลักเหนือ (ติวานนท์) ตรงข้ามอู่เปี๊ยก ธันเดอร์ ก็เริ่มประกอบอาชีพในงานที่ถนัด จนเริ่มเป็นที่ไว้วางใจของหลายคน โดยมี เจ้าของ WAX ONE เข้ามาร่วม ก็เลยทำรถ Supra JZA70 ขึ้นมาหนึ่งคัน โดยไปสร้างรถที่อู่ย่านพุทธมณฑล สาย 2 เป็นรถคันแรกที่กลับมาทำ โดยเอารถบอดี้เต็มมาปรับช่วงล่างหลังเป็นแบบ “ 4 Link” เครื่องเป็น 2 JZ-GTE ทวินเทอร์โบ ถ้าใครจำได้ก็จะรู้จักรถคันนี้ SUPRA JZA70 WAX ONE ในยุคนั้นวิ่งอยู่ประมาณ 9.3-9.4 วินาที ก็มีตัวเลขเวลาให้เห็นกันอยู่ ที่สนาม MMC จนกระทั่งหมดยุคของสนามนี้ ก็เลิกไปพักใหญ่ จนกระทั่งมีสนามคลอง 5 ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
หลายคนคงสงสัยว่าทำไมผมถึงสร้างเฟรมรถแข่งได้ ทั้งๆ ที่เป็นช่างแอร์ ของแบบนี้ขึ้นอยู่กับความอุตสาหะของตัวผมเองทั้งสิ้น ไม่มีใครสอน ต้องทำแบบนู้น สร้างแบบนี้ ผมศึกษาจากประสบการณ์ด้วยตัวเอง ดังนั้น จะผิดหรือถูก ก็ย่อมมีเป็นธรรมดา เรื่องไหนที่ผิด ก็เปรียบเสมือนกับครูของผมเอง ศึกษาจากตำราด้วย เท่าที่จะขวนขวายได้ เรื่องสำคัญที่สุดในการสร้างเฟรม ผมเน้นไปที่เรื่องของแชสซีของตัวรถเป็นหลัก ตรงนี้ต้องทำให้แม่นยำและแข็งแรงพอสมควร ซึ่งการจะวางโครงสร้างให้แข็งแรงนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับมิติที่เราวาง ถ้าวางมิติของโครงสร้างได้ถูกต้องตามตำแหน่ง ทุกอย่างแข็งแรงหมดครับ ลองสังเกตดูได้ ในแต่ละจุดของเฟรมรถที่ผมทำนั้น จะไม่มีมุมที่เป็นสี่เหลี่ยมเลย ผมทำแต่มุมสามเหลี่ยม เพราะว่าเป็นมุมสามมิติที่สามารถซับแรงได้แข็งแรงกว่าทุกมุม ถ้าเราวางได้ถูกต้องนะ ผมว่าเราทุกคนถ้าชอบและศึกษาอย่างจริงจัง ผมว่าทุกคนก็ทำได้เหมือนกับผม รู้สึกดีใจที่บ้านเราสามารถทำรถเฟรมได้ โดยที่ไม่ต้องซื้อมาจากต่างประเทศ
สำหรับวัสดุที่ใช้สร้างเฟรมก็หาได้ในบ้านเรา เหล็กขาวทั่วไปที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์นี่แหละครับ เพียงแต่ว่าต้องเลือกใช้ในขนาดสัดส่วนที่พอดี ถ้าใหญ่เกินไปก็มีน้ำหนักมาก ขนาดที่ใช้ประจำก็จะเป็นนิ้วครึ่งกับนิ้วห้า อาจจะมีนิ้วหก เข้ามาเกี่ยวข้องเล็กน้อยในบางจุด ซึ่งในอเมริกาเอง บางคันก็ยังเป็นโครงเหล็กอยู่ก็มี แต่ถ้าจะให้ถูกต้องและดีที่สุดต้องเป็น “4130 CR-MO” หรือโครโมรี และกระบวนกระเชื่อมก็ต้องเป็น “TIG” เชื่อมแบบ “CO2” ก็ไม่ได้ เพราะการเข้าลึกของรอยเชื่อมแบบ TIG จะมีมากกว่า CO2 โดยเฉพาะโครงสร้างที่เป็นเฟรม ถ้าเป็นในอเมริกา ก็จะมีการตรวจสภาพในเรื่องของเฟรมด้วย เอาเครื่องมาตรวจเช็กก็รู้แล้วครับ เพราะฉะนั้น โกงไม่ได้แน่นอน ซึ่งถ้าพวกเราจำได้ ตอนที่เอารถช่างเบิร์ด หลัก 5 ไปวิ่งที่อเมริกา เฟรมเค้าบังคับให้เหล็กมีความหนา 3 มม. แต่ในบ้านเราไม่มีเหล็กความหนาเท่านี้เลย มีแต่ 3.2-3.3 มม. ก็เลยเป็นการสร้างที่ต้องรับภาระแบกน้ำหนักให้กับรถตัวเองไป เพราะว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้ด้วยเวลาที่จำกัด โครงสร้างเฟรมจะต้องเสร็จภายใน 1 เดือน กับ 4 วัน รถคันนี้จึงเป็นคันที่ทำยากที่สุด ด้วยเหตุผลที่ว่า ระยะเวลา เหล็กหนา และระยะการเดินทาง เมื่อทำเสร็จก็ใช่ว่าจะได้ทดลอง ฟ้าฝนก็ไม่อำนวย ก็ปรับเท่าที่ได้ แล้วก็ส่งไปวิ่งที่อเมริกาเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องของมาตรฐานของเค้าที่ผิวแทร็กที่นั่นเค้าเหนียวมาก ทำให้รถวิ่งได้ แต่ก็ไม่ดีนัก เพราะเครื่องยนต์ไม่สามารถฉีดไนตรัสได้ เพราะมีปัญหาเรื่องของระบบส่งกำลัง ก็เลยต้องวิ่งตัวเปล่าๆ เลย
ถ้านับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เฟรมที่ผมสร้างขึ้นมามีหลายสิบตัว มีทั้งในรูปแบบรถสปอร์ตและรถกระบะ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อลักษณะที่แตกต่างกันในเรื่องของโครงสร้าง จุดได้เปรียบเสียเปรียบย่อมมีเป็นธรรมดา รถสปอร์ตย่อมได้เปรียบกว่ารถกระบะอย่างแน่นอน อย่างเช่น เฟรมรถ Supra เมื่อล้อลงพื้น ใต้ท้องรถสูงแค่ 2 นิ้ว ตามกติกาคือ 50 มม. ระยะจากพื้นถึงหลังคาแค่ 1 .15 เมตร ซึ่งเตี้ยมาก นี่คือจุดหนึ่งแล้วที่ได้เปรียบทางด้านอากาศพลศาสตร์ ส่วนรถกระบะ มิติรถหลังคาเก๋งสูงกว่าอยู่แล้ว ต่อให้น้ำหนักเบาแค่ไหน ก็ยังเสียเปรียบทางด้านอากาศพลศาสตร์อยู่ดี ยิ่งบอดี้สูงก็มีอาการโคลงเคลงเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น ในอนาคตข้างหน้า “ตัวผมเองไม่เชื่อว่ารถดีเซลจะเร็วกว่ารถเบนซิน” ถ้าเราทำให้ถูกต้อง
ทุกวันนี้เราจะเห็นได้ว่าตัวเลขสถิติเวลาจะใกล้ๆ กัน ไม่ทิ้งห่างกันไปไหน แต่ถามว่าทำไมรถเครื่องยนต์เบนซินถึงยังไม่ขยับในเรื่องของเวลาให้ลดลงไปกว่านี้ อย่างแรกเลยที่ผมคิด คือ เว้นวรรคการพัฒนา หยุดตัวเองแล้วไปเล่นกับเครื่องยนต์ดีเซล ก็เลยเป็นอย่างที่เห็น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเป็นยุคของเครื่องยนต์ดีเซล รถที่เคยใช้วิ่งเครื่องยนต์เบนซินถูกหยุดไว้กับที่ แต่ ณ ตอนนี้ ผมมองว่าคนที่เคยเล่นเครื่องยนต์เบนซินกำลังกลับมา ด้วยสาเหตุที่ว่า เครื่องยนต์ดีเซลพอได้มาถึงจุดนึงก็จะพบกับปัญหาเครื่องพัง ซึ่งถ้าผมเป็นคนที่เล่นพวกเครื่องยนต์ดีเซล ผมก็จะต้องมานั่งคิดใหม่ว่า เครื่องยนต์เค้าทำออกจากโรงงานเพื่อรองรับร้อยกว่าแรงม้า แต่คุณเอาเครื่องตัวเดิมนี่แหละไปทำให้รองรับ 700-800 แรงม้า ซึ่งมันเกินมาถึง 3 เท่าตัว ขีดจำกัดของเครื่องยนต์มันมีอยู่แล้ว อะไรมันจะไปทนไหวล่ะ… ซึ่งถามว่าทุกคนที่เล่นรู้มั้ย ทุกคนรู้หมดว่า เดี๋ยวเมนต์จะแตก นอตฝาสูบถอน หรืออาการอะไรก็แล้วแต่ที่พบเจอกันบ่อยๆ ทำไมเราไม่ไปแก้ไข และพัฒนาในจุดอ่อนตรงนี้กันก่อนครับ..
ณ ตอนนี้ตัวผมเองก็มีอายุอานามมากขึ้น ไม่แข็งแรงเหมือนก่อน ก็อยากให้มีคนมาสืบทอดเจตนารมณ์ โดยผมและทีมงานกำลังสร้างรถ SUPRA ขึ้นมาคันนึง ตั้งใจว่าจะทำให้เสร็จแล้วก็จะแขวนนวมแล้ว อยากให้ทุกคนรู้จักรถ SUPRA ในสังกัด DRAG MASTER โดยรถคันนี้ผมได้ถ่ายทอดวิชาให้กับทีมงานรุ่นใหม่ เพื่อให้เค้าไปพัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวพวกเค้าแล้วล่ะครับ ว่าจะก้าวต่อไปข้างหน้าได้มากน้อยเพียงใด…
ในอนาคตผมมองว่า รถแดร็กในประเทศไทยน่าจะมีโอกาสทำเวลาได้เร็วกว่า ถ้าเกิดเรามีพื้นที่สำหรับวิ่งที่เหมาะสมและสมบูรณ์แบบ เพราะถ้าทำเครื่องยนต์มาเต็มกำลัง รถเซตอัพมาดี แต่สถานที่และอีกหลายๆ อย่างไม่เอื้ออำนวย รถก็ไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ ทุกอย่างก็ยังคงถูกหยุดและวนเวียนไปอยู่อย่างนั้น”
เป็นเรื่องเล่าจากปากคนทำเฟรม บุคคลในตำนาน ที่ยังคงอยู่วงการแดร็กมาอย่างยาวนาน กว่า 40 ปี ในวันนี้ Supra Space Frame จาก Drag Master ก็เป็นตัวตนออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยหมายมั่นปั้นมือว่า อีก 2 ปีข้างหน้า จะเลิกสร้างรถแล้ว รถคันนี้ก็เลยขอเก็บเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจของตำนานแดร็กไทย จากผู้ชายที่ชื่อ “ยงค์ งามระเบียบ”
“ผมเข็ดแล้ว ผมไม่ดีไซน์ให้ใคร อย่างเก่งก็ขายได้แค่ชุดเดียว ที่เหลือก็โดนก๊อบปี้หมด เหมือนสมัยก่อนที่ผมทำเกียร์ ทำออกมาชุดเดียว แล้วเป็นไง กลายมาเป็น 5 ชุดซะงั้น แล้วก็ยังมีหน้ามาบอกว่านี่เกียร์ของป๋า สรุปคือเกียร์พัง ส่วนเกียร์ลูกที่ผมทำ เค้าเก็บไว้!!!”
หลายคนมุ่งเน้นที่จะทำเครื่องมากกว่าที่จะคิดลดภาระให้เครื่องด้วยการทำรถให้เบา ซึ่งถ้ารถน้ำหนักเบาลง เครื่องยนต์ก็ไม่ต้องเค้นมาก
ผมเป็นห่วงนักแข่งทุกคนนะ “อย่าฝืน” สวนคันเร่งสู้ ถ้าทรงไม่ดีก็ยก ให้หยุดตรงนั้น มันยังมีโอกาสกลับมาเริ่มใหม่อีกครั้ง แต่ถ้าฝืน ดื้อดึงดัน แก้ประคองรถไป ถ้ากลับมาได้ก็ดี แต่ถ้ามันไม่กลับล่ะ รอบหน้าจะได้ขับอีกมั้ย ? ไปคิดดู