My Name is… หนุ่ม YATT “ศตวรรษ ลิ้มกอปรไพบูลย์”

XO AUTOSPORT  No.188

STORY : T.Aviruth (^_^!)

อยากให้เปิดรับ “ความคิด” ของคนไทยกันเอง ก่อนที่จะรับ “ค่านิยม” ที่มาจากเมืองนอก  

 

 

My Name is…หนุ่ม YATT

มุมมองการวาดภาพรถที่แตกต่างจากเพื่อน ๆ คนอื่นในชั้นประถมต้น  มันเป็นจุดเริ่มต้นให้กับเจ้าของธุรกิจร้านออกแบบ และรับทำไฟเบอร์ให้กับรถ ประสบผลสำเร็จมาถึงปัจจุบันนี้ เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเค้ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย  มันเป็นประสบการณ์ตรงที่ทำให้เค้าสำเร็จจนมีวันนี้ได้  วันที่ทุกคนรู้จักเค้าในนามว่า… หนุ่ม YATT

            สิบโมงเช้าของวันที่ร้อนมากอีกหนึ่งวันในเดือนพฤษภาคม  เรานัดสัมภาษณ์ คุณศตวรรษ ลิ้มกอปรไพบูลย์ หรือ หนุ่ม YATT นั่นเอง…  โดยนัดหมายกันที่ร้าน ย่านพระราม 5  ทีมเราไปถึงตรงตามเวลานัดหมาย  โดยคุณหนุ่ม เอง รออยู่ที่ร้านอยู่แล้ว…  กล่าวทักทายปราศัยตามธรรมเนียมปฏิบัติของไทยสืบทอดต่อกันมา  ในวันนี้เรามีสัมภาษณ์ XOTV และ My Name is… พร้อมกัน ก็เลยทำให้ที่ร้านวุ่นวายเล็กน้อย  ระหว่างช่วงทักทายกัน ผมเหลือบไปเห็นร่องรอยประวัติศาสตร์!! ข้างกำแพง  มันคือรอยน้ำท่วมกรุง เมื่อปลายปี  ร้านคุณหนุ่มเองก็โดนเข้าเต็มเปา จากส่วนสูงของผม 177 ซม.  เมื่อยืนเทียบกับคราบน้ำด้านข้างกำแพง อยู่ระดับ “หน้าอก” คงไม่ต้องบอกต่อนะครับ ว่า เสียหายมากน้อยเพียงใด มันเป็นอุปสรรคสำหรับชีวิตผู้ที่ประกอบอาชีพทุกคน แต่ก็ต้องสู้กันต่อไป   ผมและทีมแบ่งหน้าที่กัน  แบ่งออกไปจัดโลเกชั่นถ่ายรูปชุดนึง ส่วนผมเอง ชวนคุณหนุ่มมานั่ง “จู๋จี๋” กัน 2 ต่อ 2 โดยคุยกันในคำถามเดิม ๆ เหมือนกับแขกรับเชิญทั้ง 4 เล่มที่ผ่านมา ซึ่งคำตอบที่ได้มาก็มีความหลากหลายปะปนกันไป  เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเค้า  โดยคุณหนุ่มเล่าให้ฟังว่า  “ผมรู้สึกว่าตัวเองชอบรถตั้งแต่เรียนประถมแล้วหละ  ถ้าจำไม่ผิดก็น่าจะตั้งแต่ ป.1 เลย  โดยความรู้สึกของผมเองในตอนนั้น  ที่รู้สึกว่าชอบรถ ก็เพราะสะดุดตากับ “ความสวยงาม” ของรูปทรง เรื่องความเร็ว ความแรง ไม่รู้เรื่อง เพราะยังเด็กอยู่  ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมเริ่มวาดรูปรถคันแรกก็เป็น BMW รุ่น E30  เพราะเป็นรถที่ฮิตมากในยุคนั้น   ผมก็ดูเพื่อน ๆ เค้าวาดรถกันยังไง  ทำไมไม่เหมือนกับที่ผมวาด  คือทุกครั้งที่เห็นรูปที่เพื่อนวาด ก็จะเป็นด้านข้างกันเป็นส่วนใหญ่ หรือไม่ก็หน้าตรง ๆ  แต่ผมกลับมองแล้ววาดในมุมที่มิติลึกเข้าไป  ผมก็ไม่รู้หรอกเค้าเรียกว่าอะไร โตมาได้เรียนถึงรู้ว่ามุมที่เราวาดเค้าเรียก “Perspective” ผมเรียนจนจบประถม 6 ก็ไปศึกษามัธยมต่อที่โรงเรียนทวีธาภิเษก  โดยรู้ตัวเองแล้วว่าชอบทางศิลป์  ก็เลยเลือกเรียนทางศิลป์-วิทย์  ตอนนั้นคลั่งหุ่นยนต์ “Gundam” มาก ผมวาดหุ่นยนต์ทุกตัวในเรื่องนี้เลยนะ จนทุกคนที่เห็น รวมทั้งคนที่บ้านผมถึงกับเอ่ยปากว่า “ผมวาดรูปสวยมาก”  ตัวผมเองก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าทำไมไม่เห็นชอบวาดรูป วิว ต้นไม้ หรืออย่างอื่นเลย  ชอบวาดแต่ เทคโนโลยี, เครื่องยนต์, รถยนต์ ประมาณนี้  มันอาจเป็นจุดเริ่มจากข้างในโดยที่ผมยังไม่รู้ตัวก็เป็นได้                 เมื่อผมเรียนจบที่ทวีธาภิเษก ผมก็รู้ตัวเองเลยว่าจะเลือกเรียนอะไรต่อ  ผมเข้าศึกษาต่อที่ “ไทยวิจิตรศิลป์” เรียกว่ามาถูกทาง ไปต่อแบบ “ตรงรุ่นเลย”    ซึ่งในหมวดที่ผมเรียนมันก็มีแขนงแยกออกไปอีก  ผมเลือกเรียน “ประติมากรรม” ด้วยเหตุผลที่ว่า มันถ่ายทอดจาก 2 มิติ ไปสู่ 3 มิติ คือเมื่อเราวาดภาพ Perspective หรือ  Plant Frontside ได้แล้ว เราก็อยากเห็นตัวจริงของมันขึ้นมา   เราก็เลยเลือกเรียนมาทางนี้คือ “ปั้นรูปเหมือน” เลย ซึ่งเท่าที่จำได้ช่วงที่ผมเรียนประมาณปีแรกๆ  เขามีประกวดปั้นรูปเหมือนที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ผมก็ปั้น “ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช” ส่งเข้าประกวดกับเค้าด้วย ซึ่งผมชนะการประกวดในครั้งนั้น  ทางบ้านผมดีใจมากที่เห็นผมเลือกมาในทางที่ถนัด  ซึ่งผมเองมีพี่น้องรวมทั้งหมด 3 คน มีผมคนเดียวที่มาทางสายศิลป์  ส่วนที่เหลือเค้าเน้นไปทางธุรกิจกันหมด  พอผมจบ ปวช. ที่นี่ ผมก็เลือกที่จะเอนทรานซ์เข้ามหา’ลัย โดยเลือกอันดับ 1 และ 2 ไว้ที่ ม.ศิลปกร และที่จุฬาฯ  ส่วนอันดับ 3 เลือก มศว ประสานมิตร ไว้ และผมก็ติดที่ มศว ประสานมิตร  ผมสละสิทธิ์ เพราะยังไม่ใช่ในสิ่งที่ต้องการ  ผมก็เลยเลือกที่จะไปเรียนต่อ ปวส. ที่ “เพาะช่าง” โดยเลือกเรียนประติมากรรม  ทีนี้หลักสูตรมันลึกกกว่าเดิมเข้าไปอีก  เอาแบบรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของเส้นสายที่ถ่ายทอดออกมาแต่ะเส้นว่า ให้ความรู้ยังไง  โดยถ่ายทอดจากมือเราเป็นหลัก   อย่างเช่น เราจะปั้นคนสักหนึ่งคน เราก็ต้องดูคาแร็กเตอร์ เด่น ๆ ของเค้าเป็นหลัก  แล้วปั้นชิ้นงานเน้นตรงที่เป็นจุดเด่นของเค้า ซึ่งมันอาจจะไม่เหมือนทั้งหมด แต่มันสื่อให้รู้ว่าเป็นคน ๆ นี้   ตอนที่ผมเรียนอยู่นี้ ผมก็เริ่มสร้างอาชีพแล้ว โดยเปิดบริษัทชื่อ Center Art  รับทำกระจกแกะลาย กับเพื่อน ๆ 4-5 คน  กิจการดีมาก  “ดร. เทียม โชควัฒนา”  ผมก็เคยไปทำให้กับเค้านะ  กิจการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  แต่ท้ายที่สุดก็มีปัญหาจนไปต่อไม่ได้ ก็เลยต้องแยกย้ายกันไป  ซึ่งในช่วงที่ทำงานอยู่กับเพื่อน ๆ  ก็รวมตัวกันเป็นทีมรถในยุคนั้น ชื่อว่า “U-TAH” ผมใช้กระบะ ISUZU ที่ได้แนวการแต่งสไตล์อเมริกันมาจากหนังสือ Mini Truckin  นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่ผมไปเจอแมกกาซีนเล่มนี้ที่ร้านขายหนังสือมือสอง  ด้วยสไตล์รถที่มาลงหนังสือมันตรงใจ   มีความพอดี  ดูไม่มาก และไม่น้อยเกินไป เน้นที่ล้อสวย ๆ ซุก ๆ ในตัวถัง นี่แหละใช่เลย   ซึ่งวิธีการโหลดรถของเค้า เน้นกองกับพื้น  ก็เลยลองศึกษาจากคัมภีร์เล่มนี้ จึงรู้ว่าเค้า “คว้านแชสซี”  ผมก็เลยนำวิธีเนี้ย มาทำกับรถผมบ้าง  ผมไม่ได้คิดไปเองนะ ผมว่ารถผมเป็นคันแรก!! ที่โหลดแบบนี้  ขับไปไหนมาไหนก็มีแต่คนมอง และขอดู เพราะอยากรู้ว่าทำไมมันถึง “เตี้ย” ได้ใจขนาดนี้   พอความสนุกของรถกระบะเริ่มซาลง  ผมก็เปลี่ยนมาเล่นรถเก๋ง  แต่ด้วยความชอบรถสไตล์อเมริกันอยู่แล้ว  ก็เลยจัด Holden Calais มาแต่งเล่น  จนมีแมกกาซีนรถสนใจอยากได้รถผมไปลงหนังสือ  ถึงกับประกาศหาในบท บ.ก.  ผมภูมิใจนะ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไปถ่าย…. 

                หลังจากที่ผมจบระดับ ปวส. ที่เพาะช่าง  ผมก็เลือกที่จะเอนทรานซ์ใหม่อีกครั้ง เป็น “อนุปริญญา” 2 ปีหลัง โดยเลือก จุฬาฯ กับ มศว  และผมก็ติดที่ มศว อีกเหมือนเดิม สุดท้ายผมก็เลยต้องมาเรียนที่นี่   ซึ่งมันเป็น “จุดเปลี่ยน” ของชีวิตผมเลยนะ  เนื่องจากครอบครัวและญาติพี่น้องรอบ ๆ ตัว  ทำงานเกี่ยวกับ “ธนาคาร” กันทั้งสิ้น  มันก็เป็นเรื่องที่โชคดี คือมีเปิดรับสมัคร ตำแหน่งอะไร ในสายงานอะไร ผมมีโอกาสได้เตรียมตัวก่อนใครเสมอ  ซึ่งจุดเปลี่ยนผมมันอยู่ตรงนี้!!  เมื่อผมรู้ว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ เรียกติดปากว่า “แบงก์ชาติ”  ก็แล้วแต่ถนัดๆ เรียกกันนะ  เค้าเปิดรับตำแหน่ง “พนักงานแกะลายแบงก์” หน้าที่ของมันคือแกะบล็อกลายแม่พิมพ์แบงก์  มันเป็นงานสายประติมากรรม แบบ “นูนต่ำ”    ผมรู้ว่ามันตรงกับสายที่เรียนมา ก็เลยฟิต ทำการบ้านเป็นอย่างดี เพื่อไปสมัครสอบเข้าทำงาน ทั้งลายเส้น, วาดรูป และข้อเขียนแบบต่างๆ  ซึ่งทุกอย่างมันผ่านไปได้สวย  ผมทำได้ดีมาก  ผมมั่นใจมากว่าผมต้องได้เข้าทำงานที่นี่อย่างแน่นอน…                 แต่ความที่เป็น “แบงก์ชาติ” เรื่องของระบบป้องกันภัยนั้นสูงมาก  คนที่จะเข้าไปทำงานต้องมี “ประวัติที่ขาวสะอาดมาก” ไม่เคยมีคดีติดตัว หรืออะไรทั้งสิ้น ผมเองเนี่ยมา “ตกม้าตาย” ขั้นตอนนี้ ตอนที่เค้าให้กรอกประวัติ  ผมไม่ได้กรอกว่า เคยขึ้นโรงพัก จากการทะเลาะวิวาทสมัยวัยรุ่นตอนเรียน ปวช. มาก่อน  จุดเปลี่ยนผมเลยเกิดจากจุดนี้   ผมสอบตกเรื่องของ “ประวัติ”  มันเป็นเรื่องที่ทำให้ผม “เสียน้ำตา”  เสียใจมาก ๆ เพราะทุกอย่างเรามาดีหมด แต่ดันมาตายเพราะเรื่องแบบนี้  

                หลังจากเหตุการณ์นี้ผ่านไป ผมก็ตั้งใจกลับมาเรียน “อนุปริญญา” จนจบปริญาตรี  ผมมีนิสัยเป็นคนชอบทำงานด้วยตัวเอง  ไม่ชอบเป็นลูกน้องใคร มันเป็นนิสัยไม่ดีอย่างนึงของผมเหมือนกันนะ  แต่ผมไม่ได้ดูถูกคนที่เป็นเจ้านาย หรือว่าอาวุโสกว่านะครับ  แต่เรื่องบางเรื่อง “มันไม่ได้ดั่งใจเรา”  แต่อย่างงว่า จบมาใหม่ ๆ จะเป็นเจ้าของกิจการเลยก็ใช่ที่   ผมไปเป็นพนักงาน เขียนแบบ, เขียน การ์ตูน, ปั้นเปเปอร์มาเช่ ทำนู่น นี่ นั่น หาประสบการณ์ไปเรื่อย สุดท้ายก็มาเริ่มชอบคอมพิวเตอร์  คือผมอยากวาดรูปในคอมพิวเตอร์  ผมก็ไปจอยงานกับเพื่อน ๆ ที่ทำบริษัทเกี่ยวข้องกับงานด้านคอมพิวเตอร์  ก็ทำอยู่ได้ 2-3 ปี ก็แยกย้ายกันไป  มันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตซะที                 แต่ว่าการเชื่อมโยงผมให้เข้าไปสู่วงการรถยนต์ มันเริ่มต้นจากคอมพิวเตอร์นี่แหละ   เรื่องมันเกิดขึ้นโดยมี “พี่สมชาย ศักดิ์ศิริเวทย์กุล” เป็นคนแนะนำ  ซึ่งในยุคนั้น พี่เค้าทำทีมแข่ง “JUNIOR COMPETITION” ขึ้นมา แล้วต้องการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปใช้ในทีมแข่ง  ตัวผมก็เลยต้องเข้าไปเทรนด์คนในทีม เรื่องระบบการทำงานและใช้งานของพวกคอมพิวเตอร์เหล่านี้  พี่สมชาย  เค้าเห็นผมขับ BMW E34 โหลดแป้ก กองพื้น มาทำงาน  คือเราชอบรถอยู่แล้ว  พอรู้ว่าพี่เค้าเป็นนักแข่ง  ยิ่งทำให้เราชอบมากกว่าเดิมอีก  ผมเข้านอกออกในอยู่บ่อยครั้ง จนในวันนึงน้อง ๆ ที่ผมไปเทรนด์คอมพิวเตอร์ให้เค้าออกจากงาน  พี่สมชาย  ชวนให้ผมช่วยงานที่ทีมแข่ง  ตอนนั้นผมก็เลยรับงาน 2 ที่ คือที่บริษัททำคอมพิวเตอร์ แล้วก็ที่  JUNIOR COMPETITION ด้วย หลัก ๆ ที่อยู่ในทีมแข่ง ผมมีหน้าที่ทำ Proposal  แล้วส่งรายงานให้กับเหล่าสปอนเซอร์ของทีมแข่ง  หลังจากทำงาน 2 ที่ได้มานาน  ผมก็ก้าวเข้ามาทำเต็มตัวในทีมแข่ง  ก็มากันแบบเต็มตัว ชอบรถเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มาเจองานที่ใช่อีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย  หน้าที่ผมตอนนั้นคล้าย ๆ ผู้จัดการทีม  ดูแลเรื่องรวม ๆ ทั้งหมด   บอกตามตรงผมชอบมากเลย  เห็นรถสวย ๆ  เทคนิคการโมดิฟาย  ของแต่งเจ๋ง ๆ จากต่างประเทศ  มีญี่ปุ่นมาจูนรถ  มันดูตื่นเต้นมาก  ผมว่ามันเป็น “ศาสตร์” แล้วล่ะ ในการโมดิฟาย  ในการทำรถแต่ละครั้งเค้ามีเหตุผล ที่มาและที่ไปทั้งหมด  อาทิ ลมยาง แต่ละข้าง ทำไม่จึงเซ็ตไม่เท่ากัน  ซึ่งเค้าก็สอนผมดูไลน์สนามแข่ง โค้งซ้ายกับโค้งขวา อันไหนมากกว่ากัน แล้ววิ่งกี่รอบ  อุณหภูมิแทร็กกี่องศา?  จะเห็นได้ว่าทุกอย่างจะสัมพันธ์กันหมด  และมันมีที่มา ไล่เหตุกันจนถึงที่ไป  

                หลังจากที่มาอยู่ในจุดนี้  แล้วตัวผมเองก็ทำงานด้านอาร์ตมาตลอด เราก็เริ่มแสดงความคิดเห็น โดยใส่ไอเดียของเราลงไปในรถแข่งของทีม   และในช่วงแข่ง Formula 3 รถล้อเปิด กฎบังคับ ทำอะไรกับรถมากไม่ได้  และรถประเภทนี้ก็เกิดการชนกันบ่อย โดยเฉพาะส่วนหัว   ซึ่งบริเวณนั้นเป็นงานไฟเบอร์  ผมก็เลยเสนอไอเดียว่าให้ก๊อบปี้ส่วนหัวไว้เลย จะได้ไม่ต้องซ่อม  ถ้าเวลาชำรุดก็เปลี่ยนได้เลย  นี่ก็เป็นจุดเริ่มด้านงานไฟเบอร์ของผมขึ้นมา ในปี 2543 ผมมีร้านรับทำไฟเบอร์ชื่อว่า “YATT” ตั้งอยู่บนถนนสิรินธร  ซึ่งการเปิดร้านนี่มันก็ต้องใช้เงินมากพอสมควรเหมือนกัน จนผมต้องขาย  E34 เพื่อระดมทุนมาเปิดร้าน และจดทะเบียนอย่างเป็นทางการในปี 2544                 คำว่า “YATT” เป็นชื่อย่อมาจากคำว่า  “You are the theme”  หมายถึง คุณนั่นแหละที่ทำให้ผมต้องทำ!!  เปิดกิจการช่วงแรก ผมเน้นไปทางรถยุโรปก่อนเลย  เพราะความชอบส่วนตัวเป็นที่ตั้ง  โดยเฉพาะงานฝากระโปรงหน้าคาร์บอนไฟเบอร์ หรือ คาร์บอนเคฟลาร์  เป็นอะไรที่หวือหวามาก  มันเป็นวิชาที่ผมได้ติดตัวมาจากตอนอยู่ทีมแข่ง  ในตอนนั้นเราเห็นของพวกนี้นำเข้ามาใส่รถแข่ง  และมันเป็นอะไรที่น้ำหนักเบา แต่แข็งแรง  หลังจากนั้นผมก็เริ่มศึกษา  ค้นคว้าที่จะทำมันจนสำเร็จ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดในชีวิต จะเห็นได้ว่ามันไม่ประสบผลสำเร็จอะไรเลยสักอย่าง  จนในวันที่ผมตัดสินใจเปิดร้าน YATT  ผมไปสักที่ต้นแขนด้านซ้ายเลยนะ เป็นโลโก้ร้านนี่แหละ… โดยผมตั้งใจว่า “ชื่อนี้แหละ  ต้องติดตัวเราตลอดไป”

                พอมีร้าน YATT ขึ้นมา ผมก็คิดว่าเราต้องมีรถโชว์ของร้าน  ด้วยความชอบอเมริกัน ก็เลยจัด Holden Calais มาแต่งเต็ม จัดสีส้มทั้งคัน พร้อม AUDI A4  ลูกค้า  มีทั้งฝากระโปรงหน้าคาร์บอนฯ  กันชนหน้าที่เราออกแบบให้  ไปประกวด งานที่ XO AUTOSPORT จัดขึ้น ในช่วงงาน Bangkok International Motor Show ในยุคนั้น ที่ไบเทค บางนา ก็ได้รับตำแหน่งที่ 1 กลับมา  หลังจากนั้นผมก็ซื้อรถมาแต่งโชว์เป็นรถของทางร้านไปเรื่อย ส่วนมากจะเน้นแต่รถยุโรป เพราะเป็นความชอบส่วนตัว  จนกระทั่ง มาได้เจ้า Mitsubishi GTO คันปัจจุบันนี้   คือก่อนที่ผมจะตกลงกับเจ้า GTO คันนี้  บรรดาสปอร์ตญี่ปุ่นที่คุ้นเคย อาทิ 200 SX, SILVIA, SUPRA, SKYLINE, RX-7 ผมได้ดูมาหมดแล้ว   ผมดูความสวยงามของรถแต่รุ่น มาดูว่าเราชอบรุ่นนี้ที่ตรงไหน  โดยผมเน้นไปทางสรีระของรถมากกว่าสมรรถนะ  เพราะผมประกอบอาชีพเสริมสวย ไม่ใช่เสริมแรง  ดังนั้นผมก็เลยเลือก GTO เพราะทรงมันดี  ประตูรถมันคอดเว้าได้สัดส่วน  เหมือนมีเอว  กันชนหน้าดีไซน์ออกไปทางยุโรป  กระจกหน้ามันลาด สมกับความเป็นรถสปอร์ต  ซึ่งมองไปแล้ว ไอ้ที่พูดมาเนี่ย เห็นเด่นก็จะเป็น FERRARI  แต่มันเกินเอื้อม ก็เลยเอาเท่าที่ได้                 รถคันนี้ผมใช้เวลาร่วม ๆ 2 ปีกว่าในการคิดออกแบบ  แต่ผมไม่ได้ทำทุกวันนะ เพราะต้องทำรถให้ลูกค้าด้วย  ในช่วงระยะ 2 ปีที่ทำ ผมก็เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ  จนได้ออกมาเป็นรถที่บอกถึงความเป็นตัวตนของผม  ด้วยความตั้งใจที่อยากให้มันมีคันเดียวในโลก!!!  โดยผมโพสรูปรถคันนี้ลงไปใน “Cardomain” แล้วมันประสบผลสำเร็จ   ผมขึ้นอยู่อันดับ 1 ของ GTO ที่ลงมาโหวตกัน จากยอดรถสามพันกว่าคันในโลก!! และเคยขึ้นถึงอันดับ 2 ของ Mitsubishi  ชาวต่างชาติ อเมริกา กับ อังกฤษ สนใจมาก คอมเมนต์มาขอซื้อรถคันนี้มากมาย  จนกระทั่งมีรุ่นน้องมาบอกว่า “พี่โดนก๊อบปี้” แล้ว  มีบริษัทรับออกแบบแอโรพาร์ทให้กับ Super Car   มาก๊อบปี้รูปรถคันนี้ ไปไว้หน้าเว็บ โฆษณาว่ามีพาร์ทแบบนี้ขาย   ผมไม่โกรธนะ… แต่กลับภูมิใจ ที่ต่างชาติให้ความสนใจในงานดีไซน์ของเรา

                จริง ๆ แล้วคนไทยเองก็ทำได้ ไม่ต้องไปก๊อบปี้งานเค้าตลอด   ซึ่งตอนที่ผมสร้าง YATT ขึ้นมา  ผมเองคิดไว้ว่าไม่ได้สร้างมาแข่งขันกับคนภายในประเทศ แต่การแข่งขันของผมหมายถึง แข่งกับฝีมือตัวเอง  อยากให้คนไทยรู้ว่า  ชุดแต่งจากไอเดียคนไทยไม่ได้ด้อยกว่าต่างชาติ  อยากให้เปิดรับ “ความคิด” ของคนไทยกันเอง ก่อนที่จะรับ “ค่านิยม” ที่มาจากเมืองนอก   ซึ่งในสังคมจริง  ร้านไฟเบอร์ในบ้านเราส่วนใหญ่ ไม่ค่อยจะสร้างชุดแต่งเป็นของสำนักตัวเองขึ้นมา  จะก๊อปปี้จากเมืองนอกกันเป็นส่วนใหญ่  ผมเองก็ยอมรับ!!  ว่าผมก็ทำบ้าง!! แต่ว่า…ในทางเดียวกันผมก็พยายามออกแบบสร้างแบรนด์ที่เป็น YATT มาด้วยตลอด  ผมอยากให้ชื่อ YATT เป็นแบรนด์ของคนไทย ที่ต่างชาติให้การยอมรับ    

ทุกวันนี้ผมก็พยายามคิดแล้วทำชุดแต่งออกมา อย่างคันที่ 2 ก็เป็น BMW  E60 ซึ่งยังไม่ได้มีชุดแต่งออกมาขาย  ก็ค่อย ๆ เก็บไปจนกว่าจะเรียบร้อย และเช็กผลตอบรับ ว่าความคิดของเราสามารถตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้หรือไม่  โดยอนาคตที่ผมฝันไว้ลึก ๆ คือ ถ้าเป็นไปได้ก่อนที่จะตาย อยากจะสร้างรถขึ้นมาทั้งคัน ปั้นเองกับมือทั้งคัน แล้วได้เห็นมันวิ่งอยู่บนถนน  นั่นแหละความฝันอันสูงสุดของผม…

                นี่คือเรื่องราวที่ผ่านของ “ศตวรรษ ลิ้มกอปรไพบูลย์”  หรือ หนุ่ม YATT  ที่เราคุ้นเคย  ตั้งงานประกวดรถ ที่ XO AUTOSPORT จัดขึ้นที่ไบเทค  เราได้เห็นวิวัฒนาการของ YATT มาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้  เค้าเป็นต้นแบบของร้านที่มีพัฒนาการต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด ด้วยความชอบส่วนตัวของคุณหนุ่มก็ดี   ศึกษาและคิดค้นจนรู้จริง  มีการวางแผนงานอย่างรอบคอบ ผมว่าถ้าคุณผู้อ่านจะหาร้านออกแบบตกแต่งรถที่วางใจได้  ผมแนะนำที่นี่ครับ!!!

“ก๊อบปี้!! ผมเองก็ยอมรับ…ว่าผมก็ทำ!!”