My Name is… Arty RMI

STORY : T.Aviruth (^_^!)
PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่
My Name is…Arty RMI

RMI (Rain Maker International)
ทำปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ…ให้เกิดขึ้นจริง…


ถ้าถามผมว่า… My Name is… เล่มนี้ ทำไมถึงเป็น “ฉัตรพล เจียมวิจิตร” ผมก็ตอบได้อย่างเต็มปากเลยนะ ตลอดระยะเวลาเกินกว่า 15 ปี ที่ผมทำงานที่ XO AUTOSPORT ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่หนังสือเล่มนี้เดินทางก้าวสู่ปีที่ 20 เพราะฉะนั้น เวลาสิบกว่าปีนี่ มันไม่น้อยเลยนะ ที่ผมเห็น “อาร์ต” โลดแล่นอยู่ในวงการมอเตอร์สปอร์ต ไม่ว่าจะทางตรง หรือเซอร์กิต หลายคนอาจจะรู้จักเค้าในชื่อ “อาร์ต RMI” แต่ถ้าคนที่โตมมาพร้อมๆ กัน จะเรียกเค้าว่า “อาร์ต INACTION”
หลังจากประชุมจบ สรุป ทุกคนลงความเห็นให้เป็น “อาร์ต” ในเล่มนี้ เพราะว่าคุ้นเคยกันตั้งแต่แดร็ก จนถึงเซอร์กิต ผมก็วางคอนเซ็ปต์ทันที ในวงการมอเตอร์สปอร์ตก็จะรู้จักเค้าในแง่มุมนักแข่งรถ ส่วนในอีกมุมเค้าคือ “ผู้บริหาร” นักธุรกิจหนุ่มที่ตั้งเป้าหมายในการเดินแผนงานเสมอๆ ผมก็เลยนำคาแรกเตอร์ทั้งสองของเค้ามาจัดรวมกันเป็นแฟชั่นเซต อย่างที่เห็น หนุ่มผู้บริหาร กับงานอดิเรกของเค้า โดยครั้งนี้ทีมงานยกทัพไปถ่ายทำกันที่ชั้นบนสุดของอาคารจอดรถ ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ครับ
จากการที่ได้คุยกับ อาร์ต ไปเบื้องต้นในเรื่องของการทำคอลัมน์นี้ ทาง อาร์ต เองก็มีการทำการบ้านเพื่อเตรียมตัวมาเล่าให้ฟังเป็นอย่างดี โดยระหว่างรอแสงพระอาทิตย์ตก ก็มานั่งคุยกันที่ร้าน Faraday ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับอาคารจอดรถที่จะขึ้นไปถ่ายนั่นแหละครับ ก็แอบโปรโมตให้ร้านเค้านิดนึง เพราะทีมงานมาใช้บริการค่อนข้างบ่อย ร้านนี้ตกแต่งน่ารัก บรรยากาศดี มีเมนูน่าทานหลากหลาย ถ้าจะเอาภาษาวัยรุ่นตอนนี้ ก็ต้องบอกว่ามานั่งชิคๆ คูลๆ ได้เลย ทีมงานก็เลยนัดกับ อาร์ต มาสัมภาษณ์กันที่นี่ก่อน ซึ่งก็ทานไป คุยกันไป เพลินๆ รีแลกซ์ดี โดย อาร์ต เริ่มเปิดฉากคำพูดแรกของคอลัมน์นี้ว่า “ผมมีเพื่อนเป็นเจ้าของอู่ เฟอร์รารี่ เพอร์ฟอร์แมนซ์ คือ คุณนิค เอมอมร เค้าเป็นเพื่อนกับผมตั้งแต่สมัย เรียนมัธยม 1 โรงเรียนสาธิตปทุมวัน ผมก็มีโอกาสได้ไปเที่ยวบ้านเค้าบ่อยๆ ซึ่งคุณพ่อของนิค (พี่ชาลี) ก็เป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงการพอสมควรในยุคนั้น ผมก็ได้เห็นการทำงานในแบบลักษณะที่ไม่ใช่อู่ซ่อมบำรุงอย่างเดียว เพราะที่นี่เค้าทำรถแข่งด้วย ก็มีทั้งรถเซอร์กิตและรถควอเตอร์ไมล์หลายคันมาก

ในตอนนั้นผมก็เหมือนเด็กมัธยมต้นทั่วไป ไม่มีรถ ก็แค่เที่ยวเล่นสนุกไปเรื่อยๆ จนวันนึงได้มีโอกาส “นั่งรถของ นิค ที่ เดอะ พาเลซ” เป็นรถ MAZDA 323 Colorkey เครื่องยนต์ B6 Turbo มันมีความรู้สึกว่ารถที่แต่งๆ มันมีความเฟี้ยวมากกว่ารถทั่วๆ ไปบนถนนนะเนี่ย โดยเฉพาะเครื่องยนต์เทอร์โบ มันมีตัวปรับบูสต์เพิ่มขึ้นอีก หมุนๆ ปรับเพิ่มแล้วรถมันก็ดึงเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีก เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก ในตอนนั้นหลงรักรถเครื่องยนต์เทอร์โบเลย จุดนี้แหละมันเปรียบเสมือนการเปิดประตูก้าวเข้าสู่โลกของมอเตอร์สปอร์ต เพราะเมื่อใจมันไปแล้ว ก็ไม่ต้องมีเหตุผลอะไรมาแทนอีกแล้ว

มันเป็นเรื่องของความโชคดีที่ได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มของเพื่อนๆ ที่ทางบ้านเค้าพร้อมสนับสนุน ดังนั้น เพื่อนๆ ผม ในช่วงมัธยมปีที่ 3 เค้าก็เริ่มมีรถมาขับกันบ้างแล้ว แต่ส่วนมากจะเป็นรถของที่บ้านกันทั้งนั้น ก็อย่างว่า วัยรุ่นกำลังเริ่มจะเป็นหนุ่ม รถแต่ง สาวๆ ช็อปปิ้ง มันเป็นของที่มาพร้อมๆ กัน ช่วงนั้นก็เลยตั้งเป็นทีมรถขึ้นมากับเพื่อนกันเองที่สาธิตปทุมวัน ประมาณ 4 คัน รถผมเองคันแรกก็คือรถคุณแม่นั่นแหละที่ให้มาขับ เป็น HONDA CIVIC EF หรือที่เรียกรุ่นเตารีด ซึ่งคุณแม่จะขับมารับ เราเองก็มีโอกาสได้ขับจากโรงเรียนกลับบ้าน โดยมีคุณแม่นั่งไปด้วย

จนในมัธยมปีที่ 4 เริ่มมีเรียนวิชารักษาดินแดน (ร.ด.) ในวันศุกร์ ก็จะมีเรียนกันแค่ครึ่งวันเช้า ในครึ่งวันบ่ายใครที่เรียน ร.ด. ก็ต้องไปเรียนต่อ แต่ผมเองไม่ได้เรียน ร.ด. คุณแม่ผมเค้าไม่มีเวลามารับตอนเที่ยง ก็เลยตกลงกันว่า ทุกวันศุกร์ให้ผมขับรถไปโรงเรียนเอง นั่นแหละคือจุดเริ่มของการแต่งซิ่ง แต่งไปเรื่อย เปลี่ยนแม็ก โหลด จิปาถะเลย เริ่มมีขับไปเที่ยวตามห้าง แต่ผมก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนกับทางบ้านเช่นกันนะครับ คือถ้าจะทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องเอาผลการเรียนมาเป็นตัวแลก เพราะถ้าไม่ได้อย่างที่ตั้งไว้ คุณแม่ผมก็ไม่อนุญาตเช่นกัน เรียกว่า “Win Win” แลกกันไป

จากโหลดเตี้ย ตีเฮดเดอร์ ตามประสาในยุคนั้น ประมาณมัธยมปีที่ 6 รถ NX Coupe ของพี่ชาย เค้าไปเซตเทอร์โบมา ปรากฏว่าพัง ผมก็เลยไปปรึกษา คุณนิค เพื่อนผมนี่แหละ ก็ไปจบที่เครื่องยนต์ SR20 เพราะไม่ต้องแปลง หย่อนลงได้เลย บทสรุปออกมา แรงมาก…เรียกว่าถูกใจ ไปวิ่งสนามนครชัยศรี หรือวิภาวดี ในยุค 90’s ตอนนั้นใครๆ ก็รู้จักรถคันนี้ นั่นแหละเป็นจุดกำเนิดของ “อาร์ต INACTION”
ในตอนนั้นผมวิ่งควอเตอร์ไมล์ที่สนามพีระฯ ในรุ่นแบร็คเก็ต 15 วินาที ก็มีรางวัลติดมือกลับมาเสมอ เรียกว่ามันซึมซับเข้าไปในสายเลือดแล้วล่ะ พอในช่วงขึ้นปี 3 ที่ ม.รังสิต คุณพ่อเค้าถามผมว่า วันเกิดอยากได้อะไร มันช่างเป็นเรื่องบังเอิญจริงๆ ที่ Aim MotorSport นำ Nissan Silvia S14 Minor Change เข้ามาจำหน่ายพอดี ผมเชื่อว่าเจ้ารถ Silvia รุ่นนี้เป็นรถในฝันของใครหลายๆ คน รวมทั้งตัวผมเองด้วย ผมก็เลยรีบพาคุณพ่อไปดูรถเลย ในเมื่อท่านเปิดโอกาสให้ขนาดนี้ ซึ่งต้องบอกว่ารถที่ทาง Aim Motorsport เอาเข้ามามีทั้งหมด 5 คัน ซึ่ง 3 คันแรกที่เข้ามาจะมี สีดำ สีขาว และ สีน้ำเงิน ผมเลือกคันสีดำ ส่วนคันสีขาวไปอยู่ที่คุณหรอ และคันสีน้ำเงินไปอยู่ที่พี่เล็ก โปรเจ็คเอ็ม ซึ่งตอนออกรถก็เลยปรึกษากับทาง Aim Motorsport อัพเกรดเครื่องยนต์ ก็เลยจัดชุดเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ หัวฉีดเสริม คลัตช์ ในแบบฉบับสเต็ปแรก 300 แรงม้า และก็เตี๊ยมกับทาง Aim Motorsport ให้รวมค่าใช้จ่ายไปตอนออกรถเลย ซึ่งคุณพ่อไม่รู้ จะมารู้ก็ต่อเมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้แหละ….

ด้วยพื้นฐานที่ชอบเครื่อง SR20DET มาตั้งแต่แรก ก็เสาะหาว่ารถ Nissan รุ่นไหนที่เป็นเครื่อง SR20 ก็จังหวะมาเป๊ะกับเจ้า S14 คันนี้แหละ พอหลังจากได้ครอบครองรถอย่างสมใจ ขับบนถนนนี่ถือว่าสนุกมาก แรงใช้ได้เลย พอหวนกลับไปลงแทร็กควอเตอร์ไมล์อีกครั้ง สู้เค้าไม่ได้เลย จากการที่เคยมีถ้วยรางวัลกลับบ้าน พอมันไม่สมหวังก็เกิดแรงผลักดัน ไปให้ถึงอย่างที่ตั้งใจ ซึ่งตัวผมเองก็รู้จักกับ พี่เดช พี่อาร์ อยู่ก่อนแล้ว เค้าก็ชักชวนให้ผมนำรถมาทำที่ Jun Auto Mechanic ซึ่งตอนนั้นรถ Hyper Lemon ของ Jun แรงมาก ก็เลยลองเข้าไปปรึกษาด้วยงบประมาณมี ก็เป็นช่วงที่ มร.โคยามา เดินทางมาทำรถพอดี ก็เลยตกลงอัพเกรดเครื่องยนต์สเต็ป 2 ราวๆ 500 แรงม้า ลงวิ่งรุ่นสตรีทแดร็ก ยางเรเดียล ถือว่าประสบความสำเร็จมากในช่วงนั้น หลังจากช่วงนี้ผมก็เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่รัฐมิชิแกน ประเทศ สหรัฐอเมริกา

ตอนที่เรียนอยู่ที่โน่น ผมก็ซื้อรถต่อจากเพื่อนผม คุณเต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี เค้ากำลังจะกลับเมืองไทยพอดี เค้าใช้รถ BMW M3 E36 Supercharger อยู่ในตอนนั้น ผมก็ซื้อรถคันนี้แหละ ใช้งานด้วย และตระเวนแข่งควอเตอร์ไมล์สนุกๆ ไปในตัว พอศึกษาจบก็กลับมาอยู่เมืองไทยเหมือนเดิม ใจก็ยังชอบแข่งรถอยู่เหมือนเดิม คราวนี้เริ่มทำงานมีเงินเก็บบ้างแล้ว ก็เลยทำความฝัน เครื่องยนต์ Hyper Lemon 700 แรงม้า ในบอดี้ S14 คันนี้แหละ แล้วก็ไปวิ่งทดสอบ ลอง เปลี่ยนอุปกรณ์ส่งกำลัง ยาง ให้เหมาะสม ก็สามารถทำเวลาได้ 9.7 วินาที ในงาน XOTB ของ XO เนี่ยแหละ หลังจากนั้นเป็นช่วงที่เกิดปัญหา ก็ทำให้วงการแดร็กเงียบเหงาลง พี่อั๋น ธนสิทธิ์ ปัญญาธรานนท์ หรือ พี่อั๋น ATP นี่แหละ ก็เป็นพี่ที่รู้จักกันมาตั้งแต่ Jun Auto Mechanic เค้าชักชวนผมเข้าสู่การแข่งขันเซอร์กิต ซึ่งจริงๆ แล้ว เพื่อนผม อาจารย์โบ Singha เค้าเข้าไปเซอร์กิตก่อนเลย ตัวผมเองเกิดจากรถซิ่งถนน ก็มองว่าแข่งในรูปแบบสนาม เลี้ยวไป เลี้ยวมา สนุกยังไง ซึ่งตอนนั้นคิดแบบนี้

ก็หลังจากที่พี่อั๋นชวน ผมก็ไปศึกษาข้อมูลรูปแบบการแข่งขันประเภทเซอร์กิต ก็เป็นช่วงที่เปลี่ยนชีวิตจากรูปแบบทางตรงมาเลี้ยว เดิมเริ่มต้นจากการแข่งขัน Honda Jazz One Make Race ผมไปซื้อรถแข่งต่อจาก พี่บอย สรวงศ์ เทียนทอง มา 1 คัน แล้วก็เริ่มต้นเข้าสู่วงการเซอร์กิต โดยมีพี่วัว ณัฐวุฒิ เจริญสุขะวัฒนะ เป็นอาจารย์ที่อยู่เคียงข้างตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้สัมผัสรถแข่ง ซึ่งพี่วัวบอกผมว่า ปีแรกเนี่ย ถือว่าเป็นซ้อมใหญ่นะ แต่ในความคิดผมตอนนั้น มันรู้สึกว่า “ใช่จริงเหรอ?” ตอนนั้นคิดว่า เรามาจากวงการแดร็กที่ใครๆ ก็รู้จัก แล้วประสบความสำเร็จกับการแข่งขันมามากมาย แต่พอมาเป็นเซอร์กิต ปีแรกเป็นแค่การซ้อมใหญ่ แล้วชัยชนะที่ตั้งใจในการแข่งขันประเภทนี้ในปีนี้ล่ะ อยู่ที่ไหน? สนามแรกที่ลงแข่ง ฝนตกด้วย ผลปรากฏว่า ผมเข้าเส้นชัยก่อนคันสุดท้าย…ทั้งๆ ที่มั่นใจมาก ซ้อมก็เวลาพอได้ แต่พอแข่งขันจริง ทำไมถึงออกมาเป็นแบบนี้ เลยเอาประสบการณ์นี้เป็นที่ตั้ง มันเป็นสิ่งท้าทายชีวิตเรื่องใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น สรุปในปีแรกของการแข่งขัน ผมได้ขึ้นโพเดียมอันดับ 3 ที่สนามโคราช ก็เริ่มรู้สึกมีกำลังใจขึ้น ในใจคิดว่าโพเดียมมี 5 ตำแหน่ง ทำไมมันขึ้นไปยืนบนนั้นยากจัง? หกเจ็ดร้อยแรงม้าก็ผ่านมาหมดแล้ว แต่นี่แค่ร้อยนิดๆ ทำไมมันคุมรถยากจัง แต่โชคดีตรงที่มีพี่วัว คอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด ซึ่งเพิ่งเข้าใจว่าที่พี่เค้าบอกวันนั้น ว่าปีแรกคือการซ้อมใหญ่ มันเป็นแบบนี้นี่เอง

พอมาสู่ช่วงการแข่งขันในปีที่ 2 เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้น มีโพเดียมอยู่บ่อยครั้ง เสมือนได้เดินไปถึงในจุดที่ตั้งใจไว้ ซึ่งพอเริ่มเข้าสู่การแข่งขันในปีที่ 3 นี่แหละ ชีวิตผมเปลี่ยนอีกครั้งเลย เนื่องจากประสบอุบัติเหตุหนักในการแข่งขันที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งบอกเลยว่าเจ็บหนักมาก กระดูกหลังแตก นอนพักรักษาอยู่ 6 เดือน คิดว่าคงจะต้องยุติบทบาทนักแข่งรถยนต์ลงเพียงเท่านี้ เนื่องจากทางบ้านเค้าก็เป็นห่วง พอเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ ก็ไม่อยากให้กลับไปแข่งขันอีก ก็ได้กำลังใจจากทุกคนรอบข้างมาตลอด รวมถึงพี่วัว ก็หมั่นมาเฝ้าตลอด แกเองก็บอก เดี๋ยวก็หาย ตัวพี่วัวเองหักมาแล้ว 13 ท่อน ก็ยังกลับมาแข่งใหม่ได้ แล้วสิ่งนึงที่ผมจำแล้วเก็บมาเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองไปต่อ คือ พี่วัวบอกว่า “ผมไม่ได้บังคับให้คุณต้องกลับมาแข่งต่อนะ แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าเป้าหมายที่คุณทำอยู่ยังไม่สำเร็จ แล้วยังมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ผมก็พร้อมเป็นอาจาร์ยให้คุณต่อนะ”

นั่นแหละคือแรงผลักดันที่ทำให้ผมไปต่อ ถึงแม้จะสวนทางกับความรู้สึกทางบ้าน เพราะท่านก็เป็นห่วง อีกทั้ง อาชีพหลักผมก็ยังคงต้องทำงานอยู่ แล้วถ้าเกิดมันเดินไม่ได้ แล้วจะหาเลี้ยงชีพยังไง คราวนี้ผมถึงเวลาที่ต้องแบ่งแยกความชอบกับชีวิตออกมาแล้ว งานที่ยังคงต้องเดินต่อนั่นคือชีวิตจริง แต่การแข่งรถที่เป็นความชอบ นั่นคืองานอดิเรก ผมคิดในเชิงวิทยาศาสตร์นะ อย่าไปคิดถึงดวงมาก ต้องตั้งคำถามให้กับตัวเอง ว่าทำไมถึงเกิดอุบัติเหตุ เพราะสาเหตุอะไร แล้วต้องป้องกันได้อย่างไร ซึ่งเมื่อกลับมาคิดว่าตอนที่ประสบอุบัติเหตุ พี่วัวได้กำชับไว้แล้วว่าอย่าทำแบบนี้นะ ต้องทำแบบนี้แทน แต่ผมเองนั่นแหละที่เป็นคนดื้อ ด้วยคาแรกเตอร์ของพี่วัว จะเป็นคนที่คอยเตือน บอกว่าอย่าทำ แต่แกไม่บอกหรอกว่าทำไปแล้วจะเกิดผลเสียอย่างไร อย่างเช่น รูปลั๊กไฟ เค้าบอกว่าอย่าแหย่ แต่ไม่บอกว่าจะเกิดไรขึ้น แต่ความที่อยากรู้ไง ก็เอานิ้วไปแหย่ สรุปก็โดนไฟดูด แข่งรถก็เหมือนกัน พี่เค้าบอกห้าม ซึ่งมันค้านในความตั้งใจของเรา เราก็อยากลองในสไตล์ วิทยาศาสตร์ ห้ามเพราะอะไร แต่พอได้ลองจึงรู้ว่า โครม!! เจ็บตัว

ซึ่งหลังจากที่ผมรักษาตัวหายแล้ว พี่วัวยื่นข้อตกลงมาให้ว่า ถ้าอยากเป็นลูกศิษย์กับอาจาร์ยกันต่อ คุณต้องเชื่อผมอย่างเคร่งครัด ผมตอบว่า ตกลง ผมขอลองกลับมาแข่งอีกครั้งในปี 2011 ผมตั้งใจเข้าสู่กระบวนการนักกีฬาแข่งรถยนต์อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ฝึกฝน จนถึงกระบวนการคิด วิเคราะห์ ปล่อยวาง ทำใจ แยกแยะ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ พี่วัวเป็นผู้ฝึกสอนผมทุกอย่าง มันเป็นความรู้ที่ไม่สามารถหาได้ในตำราเรียนเล่มไหนเลย เพราะเป็นการเอาประสบการณ์ที่มี มาเป็นบทเรียนสอนในชีวิตจริง มันไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งขันรถยนต์เท่านั้น สิ่งที่พี่วัวสอน สามารถนำมาปรับใช้ได้ในชีวิตจริง อาทิ การวางตัว ข้อคิดต่างๆ ซึ่งข้อคิดนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราคิดดี เราก็ทำดี อีกสิ่งหนึ่งที่ผมนำมาใช้คือคำว่า “อย่าเสียดาย” บางทีเราก็ต้องยอมรับผลการกระทำนั้นๆ ซึ่งแกบอกกับผมว่า “วันนึงผมจะรู้ตัวเองว่าสมควรที่จะได้เป็นแชมป์แล้วหรือยัง” ซึ่งมันก็เป็นจริงอย่างที่พี่เค้าพูด เพราะผมลองตั้งใจซ้อมอย่างเคร่งครัด ผมก็ได้เวลาเสถียร คงที่ ซึ่งถ้าใครที่เร็วกว่าผม ผมก็ต้องยอมรับ แต่ที่ผมตั้งใจซ้อมมา มันส่งผลให้ผมมีความพร้อมมากกว่าคนอื่น ก็เลยทำให้ไปถึงความสำเร็จได้ตามเป้าหมายอย่างที่ตั้งใจ

ผมโชคดีที่ได้ โย ภาสฤทธิ์ พรหมสมบัติ มาเป็นพาร์ทเนอร์ในทีม รู้จักกันตั้งแต่ปี 2010 ทำรถแล้วปรึกษากันจนชวนกันมาอยู่ในทีม และพอมาอยู่ด้วยกัน ก็ขับรถในฟีลลิ่งเดียวกันอีก เซตรถลักษณะคล้ายๆ กัน คือถ้าผมไม่ว่าง ให้เค้าเซตรถให้ ผมก็สามารถขึ้นไปขับแข่งได้เลย ผมกับโย ก็แข่งรถด้วยกันมาตลอด แล้วมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ นะ ในปี 2012 ผมก็ขยับจากนักแข่งคลาส C ขึ้นมาเป็นนักแข่งคลาส B ก็ได้รองแชมป์ ในรายการ Pro. Racing Series ปี 2013 ผมหยุดพักการแข่งขัน ไปลงแข่ง Endurance อีเวนต์เดียวที่งานบางแสน ก็ได้แชมป์ ในปีนี้มาอีกเช่นกัน ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน ผมก็ยังคงแข่งขันมาตลอด และก็สามารถไปถึงจุดที่ตัวเองตั้งใจไว้ในหลากหลายรายการ

ณ ปัจจุบัน ทีม RMI จะเห็นมีนักแข่งมากมาย ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากผมกับโยสองคน คือเพื่อนทางฝั่งผมก็เยอะ แล้วเพื่อนทางฝั่งโย ก็เยอะเช่นกัน ก็เลยกลายเป็นเพื่อนของผมและเพื่อนของโย มารวมตัวกันเป็นทีมใหญ่ขึ้นมา ประกอบด้วยนักแข่งประมาณ 15-16 ท่าน และถ้าทำการแข่งจริงๆ ก็ประมาณ 11 ท่าน โดยมีผู้สนับสนุนหลัก คือ น้ำมันเครื่อง SUNOCO, ผลิตภัณฑ์ Waxy, JUN AUTO MECHANIC THAILAND, ENDLESS นี่คือกลุ่มผู้สนับสนุนหลักที่อยู่คู่กับ RMI Racing Team มาตลอดครับ

ซึ่งในสายทางตรงอย่างแดร็ก ผมก็แพลนไว้ว่าจะกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากงาน Souped Up ที่ผ่านมาเมื่อปลายปี มันเหมือนการ Refresh ให้ตื่นตัวอีกครั้ง หลายๆ ท่านที่เคยห่างหายไปจากวงการนี้ ก็กลับมาจริงแบบเต็มรูปแบบ เลยทำโปรเจ็กต์เสนอไปทางบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ของ Jun Auto Mechanic เกี่ยวกับการฟื้นคืนชีพของเจ้า S14 สู่วงการแดร็กอีกครั้ง ซึ่งถ้าโปรเจ็กต์นี้ แนวโน้มความเป็นไปได้สูงถึง 80% เดี๋ยวต้องมาลองดูกันว่าจะลงในรุ่นไหน หรือจะขยับไปเป็นสเปซเฟรม เครื่องยนต์ SR20 บอดี้ S14 เลยก็ได้ครับ

.

ส่วนในอีกแง่มุมของชีวิตที่ไม่ค่อยมีใครได้รู้จัก ผมเองเติบโตมาในครอบครัวของการทำธุรกิจ ซึ่งเมื่อโตมาผมก็ซึมซับและต่อยอดทางธุรกิจมาเต็มๆ หลังจากที่ผมจบการศึกษามา ผมก็มีโอกาสได้ไปทำงานร่วมกับคุณพ่อมาตลอด 3 ปีเต็ม โดยคุณพ่อของผม ท่านเป็นที่ปรึกษาทางด้านการพาณิชย์ของบริษัทโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) คือขายเครื่องยนต์ของเครื่องบินให้กับการบินไทย จาก 3 ปีที่ทำงานจบหลายโปรเจ็กต์ ก็พอจะมีทุนอยู่บ้าง ก็เลยนำไปต่อยอดด้วยการลงทุนทำ อสังหาริมทรัพย์ที่หัวหิน ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จดีในโครงการแรก พอเข้าสู่โครงการ 2 เกิดเหตุโรคซาร์ระบาด เศรษฐกิจทรุดตัวมาก ผมก็เลยตัดสินใจลงไปลุยธุรกิจที่หัวหินอย่างเต็มตัว ซึ่งก็ผ่านมาได้ ก็เลยเพิ่มโปรเจ็กต์ต่อเนื่องไปอีก สรุป ผมเดินมาทางอสังหาฯ อย่างเต็มตัว นอกจากนั้นก็มาร่วมเป็นหุ้นส่วนกับพวกรุ่นพี่ทำร้านอาหาร Aiko Premium Sushi Buffet แล้วก็มีไปร่วมทำโรงงาน Metal Sheet ด้วยสาเหตุที่ว่าผมอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนทำอสังหาฯ อยู่แล้ว ก็จะมีความถนัดในการเลือกใช้วัสดุในการทำงาน อีกทั้งผมยังมีกลุ่มผู้รับเหมาที่เรียกใช้งานกันบ่อย ของพวกนี้ยังไงก็ต้องใช้ในการทำงานอยู่แล้ว ก็มาสั่งที่นี่จะได้จบไปในตัว

อนาคต มันเป็นเรื่องของความท้าทาย อย่างการแข่งรถ ก็อยากขยับขึ้นไปวิ่งรุ่นที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งก็ต้องมาวางแผนว่าจะขยับไปอยู่ในรุ่นไหนถึงจะเหมาะสม ค่อยๆ ขยับไปตามสเต็ปของการแข่งขัน และผมอยากให้คนไทยมองการแข่งขันรถยนต์ว่าเป็นกีฬา ถ้าเรามีผู้ชมมาก มีคนให้ความสนใจเยอะ ผู้สนับสนุนเค้าก็พร้อมที่จะสนับสนุน มันก็เป็นวงจรลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป ก็เลยมีความคิดที่จัดทำ RMI Academy ขึ้นมาที่หัวหิน เพื่อปลูกฝังน้องๆ ที่เคยซิ่งบนถนน หันมาสนใจการวิ่งในสนามแข่งอย่างถูกต้อง รู้จักกฎ รู้จักวิธีการขับขี่ ทำให้เค้าเห็นว่าการที่จะนำรถมาวิ่งในรูปแบบเซอร์กิต มันไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว ใครๆ ก็สัมผัสได้ ซึ่งเสียงตอบรับที่ได้กลับมาดีนะ ตอนนี้ผมทำมา 3 รุ่นแล้ว มีรถที่อยู่ในกลุ่มร่วมๆ 50 คันแล้วครับ นอกเหนือจากเรื่องของการแข่งรถ ทาง RMI ก็ยังมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในหัวหิน ซึ่งที่ผมต้องการคือ อยากให้ชื่อของ RMI เป็นเหมือนซิกเนเจอร์ของคำว่า “สนุก” ครับ
เป็นคนในวงการจริงๆ เดินคู่กับการแข่ง ทั้งทางตรง ทางเลี้ยว มาตลอด ซึ่งต่อจากนี้ไป มาดูนักธุรกิจหนุ่มผู้มีความคิดที่มุ่งมั่นและท้าทาย ต่อจุดหมายว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะเห็น S14 สเปซเฟรมมั้ย? หรือการแข่งขันในรุ่นไหนที่กำหนดเป้าหมายไว้ในอนาคต มาร่วมลุ้นร่วมเชียร์เค้าไปพร้อมๆ กันครับ
RMI (Rain Maker International)