MY NAME IS… ดอน MoTeC ชีวิตอินดี้… ยี่สิบปีที่ผ่านมา…

 

STORY : T.AVIRUTH (^_^!)

PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่

ดอน : ก่อนอื่นขออนุญาตเกริ่นที่มาของ คอลัมน์ MY NAME IS  ภาคพิสดารนี้ก่อนสักนิดนะครับ เรื่องของเรื่อง ช่วงปีใหม่ผมเองไม่ได้ไปไหน (เป็นปีที่สอง) เพราะมีงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทำอยู่ทุกๆวันนี้ ส่งเป็นการบ้าน และกำหนดส่งคือวันที่ 5 ม.ค. 2015 พอดีมีโอกาสได้คุยกับ ท่าน บก. นิตยาสาร XO AUTOSPORT ก็อวยพรกันตามธรรมเนียม จบตรงที่ว่า “เฮ้ย ผมคิดมานานละ อยากให้ ดอน ให้สัมภาษณ์แบบภาษา ดอน ดอน ให้คอลัมน์นี้หน่อย ” ผมก็ตอบไปตามจริง “HERE เอ๊ย เด่วเค้าก็ด่ากันอีก ลงแล้วลงอีก ไม่มีไรจะลงรึไง ”  สุดท้ายจำยอมด้วยเหตุผลที่ฟังละ เอ้อ มันตรงกับใจที่เคยคิดว่า อยากเขียนอะไรๆ ทิ้งให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ว่า ทางเดินสายนี้ ของคนยุคผม มันเป็นไง ต่างกันก็ไม่ต้องเอาไปใช้  รึเกิดเหมือนกันก็จะยินดีที่จะถ่ายทอดให้ ไม่มากก็น้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่ตั้งใจจริงๆ มันเลยยุคที่จะต้องมา “มาดิ มาวัดกันเลย เอาแบบไหน จะได้รู้กัน ” บอกตรงๆ เล่าไป ก็ต้องไปประกอบเป็น LEGO ของแต่ละคน…แต่ด้วยความยินดีครับ ที่ได้รับคำเชิญ

ปุถุชนคนต้นปี… เปิดศักราชทั้งทีต้องมีสตอรี่มาเล่ายาว…จากอดีตสู่ปัจจุบัน บนเส้นทางชีวิตอินดี้ของเค้ามีครบทุกรูปแบบ  20 ปี (1996-Till now) บนเส้นทางสายมอเตอร์สปอร์ต  เค้าเป็นหนึ่งในไอคอนหลัก ระดับตำนานของ “จูนเนอร์” และผมก็เชื่อว่า เค้าคือคนต้นตำรับ “จูนเนอร์” รุ่นแรกๆ ของประเทศไทย  ดอน MoTeC             คอลัมน์นี้พิเศษกว่าทั่วๆไป  ถ้าสังเกตคอลัมน์ภาคพิสดารนี้ ท่านจะเห็นว่า พี่ดอน และเจ้าของคอลัมน์นี้เขียนร่วมกัน ก็ดี แปลกไปอีกแบบ ดูภาษาวาจาคงทราบดี ใครเขียนช่วงนี้ ช่วงนั้น….จะได้มีบรรยากาศและอารมณ์ในการอ่านที่ติดพัน  รึเปล่า ก็ไม่แน่ใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น…เพื่อวงการครับ…

ผมได้ยินชื่อเสียงของพี่เค้ามาตั้งแต่เริ่มทำงาน   จากวันนั้นถึงวันนี้ผมก็ทำงานมาสิบกว่าปีแล้ว…ชื่อของ ดอน MoTeC ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง  อาจจะมีชะตาชีวิตอินดี้บ้าง  แต่เค้าก็คือปุถุชนคนธรรมดา ไม่มีใครสามารถใช้ชีวิตเพอร์เฟกต์ได้ตลอดเวลา  ซึ่งผมเองก็เป็น  และอีกหลายๆ ท่านก็คงเป็นเช่นเดียวกัน  ผมเชื่อแบบนั้น  ใจจริงอยากจะจับพี่ดอนมาสัมภาษณ์นานแล้ว  แต่เหมือนช่วงโอกาสยังไม่สวยสักเท่าไหร่  ก็เลยถือฤกษ์ประเดิมต้นปีนี่แหละดี  เพราะให้หลังที่ผ่านมา วงการมอเตอร์สปอร์ตบ้านเรา มีการพลิกโฉมกันอย่างเห็นได้ชัด  จากจุดนี้แหละ  ถึงเวลาแล้วที่ผู้คร่ำหวอดในวงการคนนึง  อยู่ตรงนี้มานาน  จะมาเล่าตัวตนจากประสบการณ์ ให้ฟัง จากวันนั้น ถึงวันนี้  และวันพรุ่งนี้ จะเป็นอย่างไร  สวัสดีครับ  พี่ดอน  “สวัสดีครับ ก่อนจะคุยเรื่องอะไรต่อมิอะไร ขอแนะนำตัวก่อน  หลายๆ คนรู้จักชื่อว่า “ดอน” ก็นึกว่าเป็นชื่อเล่น  แต่แท้จริงแล้ว ชื่อที่ใช้ในบัตรประชาชนก็คือ  “ดอน  เชี่ยวชาญวลิชกิจ”  คือตั้งแต่สมัยเด็กๆ ตอนอยู่นครปฐม ในกลุ่มของญาติด้วยกันก็ใช้ชื่อสั้นๆ เพื่อเรียกง่ายๆ  จากจุดเริ่มต้นเข้าสู่วงการรถยนต์  ย้อนไปก็ 20 กว่าปี ก่อนยุคนครชัยศรี ที่ทำให้ผมรู้จักกับพี่น้องหลายๆ ท่าน ที่ทุกวันนี้ก็ยังพบปะเจอกัน ช่วยเหลือกันมาตลอดไม่มากก็น้อย ทั้งพี่ไก่การาจ (Singha) น้าสวัสดิ์ เวณุรักษ์วงศ์  (กรังปรีด์เทอร์โบ)  พี่วัฒน์  ตอนนั้นกลุ่ม Six Seconds ให้สมญานามพี่แกว่า กระบะส้ม (น่าจะเป็นคนที่เล่นเครื่อง JZ รุ่นแรกๆ) ขอพื้นที่สักนิดในคอลัมน์ เอ่ยปากขอบคุณพี่วัฒน์ กระบะส้มสักนิดนะครับ ผมกับพี่เค้าถือว่าไม่ได้สนิทกันมาก ปีนึงจะคุยกันสักหนสองหน เจอกันที่งานแข่งเจ็ตสกีบ้าง สิ่งที่อยากจะพูดถึง “สุภาพบุรุษท่านนี้…ทำให้ผมต้องจดจำไปจนวันสุดท้ายของชีวิตอินดี้ ในยามทุกข์ตอนที่คุณพ่อผมจากไป ไม่ใช่แค่พี่ๆ เพื่อน (คุณวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ ที่ว่ายุ่งกับการงานก็เป็นอีกคนที่ทำให้ผมต้องเรียกว่า ยอดคน งานจัดที่วัดใหญ่นครปฐม ผมก็ด้วยความเบลอ แต่จำได้เสมอว่า คุณวุฒิกร ขับรถมาเองทุกวัน จากรุงเทพฯ เพื่อมางาน ต่อที่เรื่องพี่วัฒน์ ผมไม่มีประสบการณ์เรื่องการลอยอังคาร จองเรือ สถานที่ เครื่องไหว้ คนนำสวดต่างๆ แกจัดการทุกอย่างให้ผมและครอบครัว ไปที่ปากอ่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ …… ผมขอบอกกับเพื่อนๆ พี่น้องในวงการได้เลย อย่ามองข้ามคน” ด้วยความเคารพ และกราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ รวมถึง โบโบ หลักสี่ด้วย ที่ติดตามงานตลอด และเพื่อนรักทุกท่าน…

ผมเป็นเพื่อนสนิทกับ คุณเดช  Skyline R32  สีแดง (Red Monster) จากอู่ JUN AUTOMECHANIC  ซึ่งเรียนที่ St. Dominic และต่อ ABAC พร้อมๆ กัน ก็เริ่มเข้าสู่กลุ่มรถ Six Seconds  เดช มีรถคันแรกคือ Civic EF 4 ประตู ช่วงแรกก็แค่ล้อ เครื่องเสียง พอมาสักพักก็ลาม วางเครื่อง B16A คันแรกๆในไทยก็ว่าได้  แต่ V-Tec ไม่เปิดสักที ก็ไปเอาโคโรน่ามาทำขับสี่กับเฮียแก้ว ที่เมืองทอง พัฒนาการ ซึ่งก็เป็นอีกบุคคลนึงที่ผมก็ยังจำคำสอนพูดของแกได้เสมอ “อยากทำ แต่ไม่มีตังค์ ละจะทำไปทำไม ทำรถ มีแต่ค่าใช้จ่าย รู้ว่าไม่มีตังค์ อยู่เฉยๆ จะดีกว่านะ …..! ถ้าเฮียแก้วมีโอกาสได้อ่านคอลัมน์นี้ ผมก็อยากจะให้เครดิตกับคำพูดของแก ที่เด็กๆ เราไม่คิดหรอกตอนนั้น แต่พอโตขึ้นมา เฮียครับ ผมใช้ประโยคนี้กับเด็กรุ่นหลังๆ มาเป็นสิบๆ คนเลยครับ… เรื่องจริงที่เหมือนเป็นกติกาหรือบทบัญญัติของคนที่เริ่มสนใจการโมดิฟายรถจริงๆ   ตอนนั้นผมเองก็เริ่มมีรถที่ทางบ้านใหญ่ให้มาคันนึง  เป็นรถ  Honda Accord ปี 88-89  โฉมก่อน ตาเพชร ขับใช้งานจนประสบอุบัติเหตุจนต้องเปลี่ยนเครื่อง  ก็เลยเปลี่ยนเป็นบล็อก B20A ฝาทอง จุดเริ่มมันเกิดขึ้นตรงนี้แหละ  เมื่อมีความคิดเรื่องตามภาษาเด็กๆ กะตามเพื่อนๆ ผมมาก็เลยคึกนึกอยากใส่เทอร์โบ  ซึ่งในยุคนั้นแทบจะไม่มีใครทำเท่าไหร่  รู้สึกว่าจะเป็น คุณ KIKI ศักดิ์ นานา  นี่แหละ ที่ทำเครื่อง NA และเซตเทอร์โบ (ที่อู่พี่น้อย 11)  และก็หลังจากนั้น KIKI ก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ

ผมเองบอกตรงๆ ทุกวันนี้ นึกถึงความไม่รู้เรื่องอะไรเลย (ควายมาก) ก็ลองเซตเทอร์โบ  เริ่มจากช่วงนั้นมีโอกาสใช้บริการจากเฮียเปี๊ยก เหรียญชัย เพราะอยู่โซนสุขุมวิท ก็ไปหา เทอร์โบ Z ที่เค้าเรียกกัน และเปลี่ยน โข่ง เป็น A/R .63 (FJ) โหยฟายหนักพร้อมกับตังค์มีไม่มาก ใส่เทอร์โบ ก็ต้องมีอินเตอร์คูลเลอร์ เพิ่งจะรู้ ตังค์ก็ยังไม่มี เลยบอกเฮียเปี๊ยก “เฮียไม่ใส่อินเตอร์ไปก่อนได้มั้ยครับ เดี๋ยวมีตังค์ค่อยมาใส่!!  เฮียเค้าก็เริ่มสอนว่า น้อง พวกกล่อง ECU รึจ่ายน้ำมันเพิ่ม มันต้องทำด้วยแต่เฮียเค้าไม่รับทำนะ เราก็ยัง…ฟายยย คิดแค่ว่า มันต้องวิ่งได้สิ แต่คงไม่แรง เอางี้หละ  ในช่วงนั้นมีโอกาสได้เจอกับ พี่น้อย  ออตโต้รีเสิร์ช  เพราะสายไฟ B20A ผมต้องไปให้ช่างไฟที่ร้านไฟอยู่ในรั้วที่อู่พี่น้อย OTTO Research น่าจะชื่อพี่พงษ์  ก็เจอรถของ คุณแอน Short Block ก็ทำที่นี่เหมือนกัน  ในยุคนั้นก็ทำกันตามสถานภาพ “หัวฉีดเสริม  เพรสเชอร์สวิตช์” ซึ่งก็บอกตามตรง  ว่าไม่มีตังค์  พี่ก้อง Six Seconds ยังเคยบอกถ้ามันซื้อไม่ไหว  ก็เล่นระบบมือเลย เอาสายไฟเขี่ยๆ ให้หัวฉีดเสริมทำงานก็ได้ ตามสไตล์วัยรุ่นทุนน้อย คือให้คนนั่งเขี่ยดินถี่ๆ เอา  แต่ก่อนไป

ซึ่งความจริงจังก็เริ่มขึ้นเมื่อเข้าไปหาพี่น้อย 11  เพราะพี่เค้าทำรถเทอร์โบ แล้ววิ่งได้  ส่วนรถผมสูบละลายเรียบร้อยแล้ว  พอเมื่อได้เข้าไปอู่พี่น้อย 11 ก็เจอเพื่อนเพียบ พี่เบียร์ (ลูกพ่อค้า)  ก๋อย Autosport ซึ่งตอนนั้นแหละ ผมก็เริ่มต้นทำเกี่ยวกับ ECU  แล้ว  ตอนนั้นบอกตรงๆ ไม่กล้าซื้อหรอก  MoTeC เนี่ย   M4  ใบละแสนกลางๆ  ก็เริ่มต้นจาก  Haltech ก่อน  ทำเล่นกับ คุณเดช  โปรเจ็กต์ Corona  4WD (ถึงเลยต้องกล่าวถึงเฮียแก้ว เพราะแกถือเป็นคนเปิดทางเรื่องกล่องที่จูนได้  Haltech F3 2D จูนได้แต่น้ำมัน)   ไม่มีหรอกนะโน้ตบุ๊กมาจูนกันเหมือนสมัยนี้   เพราะมันแพง  ก็เอาคอมพิวเตอร์ที่บ้านเดชนี่แหละ ตั้งบนตัก  พร้อมกับชุดแปลงไฟ +12V to 220 โวลต์  แล้ว CPU วางไว้ที่เท้า จุดเริ่มต้นของการหัดจูนรถมาจากตรงนั้น ซึ่งมองจากตรงจุดนั้นมาถึงทุกวันนี้  มันก็มาไกลกันพอสมควรเลยนะ  ซึ่งแรงจูงใจในการเป็นจูนเนอร์ บอกตรงๆ ไม่มีในสมองเลยนะ เพียงแต่ว่า  รถเดช และ รถผม ทำไปเรื่อยพร้อมกันก็วิ่งไม่ได้ทั้งคู่ ก็ลองมาเยอะนะ  ตอน Haltech ก็เล่นแต่เรื่องน้ำมัน  ส่วนชุดไฟจุดระเบิดก็ใช้กล่องเดิมจุดไป แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาที่ MoTeC เพราะเป็นสิ่งเดียวที่ไม่เคยลอง  ก็เลยเก็บตังค์ซื้อ  ซึ่งไม่ใช่ผมคนเดียวที่ซื้อ  ซื้อกันเป็นขบวนเลย  ตอนนั้นมีพี่เบียร์ (ลูกพ่อค้า) พี่หม่อม (Emotion R) ก๋อย (Autosport) เฮียสมโภชน์  เฮียเกี้ย (Pulsar) ก็เล่นกันอยู่แค่นี้  ซึ่งตอนนั้น รถ Skyline  ของก๋อย  ฉายแววเด่นชัด  ตัวผมเองก็เริ่มทำได้หลายอย่าง  ก็มาเจอกับ คุณออฟ หทัย ไชยวัณณ์ นี่แหละ  ชวนผมเข้าสู่สนามแข่ง  โดยให้ผมลองไปทำรถแข่งในสนาม  ก็ได้เจอกับ คุณจักรทอง นาวาศุกพานิช   พี่เค้าเป็นคนแรกที่ ใช้ MoTeC ก่อนเพื่อน โดยมี Mr.Steff  ซึ่งเป็นคนดูแลโซนนี้ในช่วงนั้น

หลังจากที่ทำรถให้ คุณออฟ หทัย ไชยวัณณ์  ก็มาที่  คุณเอ๋  ชนม์สวัสด์  อัศวเหม ยาวต่อไปที่ คุณอาร์ต ชัชธรรม พรหมนอก  แล้วต่อเนื่องมาเรื่อยเลยยันทางฝุ่น จนวันนึงมันกลายเป็นชื่อ  “ดอน MoTeC” ขึ้นมาเอง  แต่เจ้า MoTeC เนี่ยนะ  ใช่ว่าจ่ายตังค์แล้ว เค้าจะขายให้นะ  ยุคนั้นการสื่อสารที่ผมติดต่อเค้ายังคงใช้ FAX อยู่เลย จนเค้าให้ผมเดินทางไปหา เหมือนเรียกไปสัมภาษณ์ ว่าประเทศของคุณมีสนามแข่งด้วยหรอ?  ผมเองก็ถามเค้าว่าคุณคิดอย่างไรเมื่อได้ยินไทยแลนด์  ในความคิดเค้าตอนนั้นก็ตอบมาว่า มีทุ่งนา  ประเทศเกษตรกรรม  เค้ายังติดกับภาพสารคดีโบราณของประเทศไทยอยู่ประมาณนั้น  สรุปว่าผมเดินทางไปหาเค้าเพื่อซื้อกล่อง  MoTeC พร้อมกับอบรมวิธีการใช้งานเบื้องต้นมาพอประมาณ  พอผมกลับมาก็ลองทำเล่นจูนรถได้ประมาณ 2 เดือน  ทาง MoTeC เรียกตัวผมบินกลับไปหาเค้าอีกครั้ง  เพราะเค้าดูจาก Log Data ที่เราทำ ก็เลยถามว่าจะทำต่อมั้ย?  แต่นี่ไม่เกี่ยวกับการเป็นดีลเลอร์หรืออะไรทั้งสิ้น  คือถ้าทำต่อก็จะสอนให้  โดยเหมือนเป็นผู้ช่วยเดินทางไปกับเค้าเลยตอนจูนรถที่นู่น ก็ทำแบบนี้อยู่ 3-4 ครั้ง  คือเค้าเรียกไปดูวิธีการทำงานของเค้า แล้วก็นำมาพัฒนาตัวเอง                 สมัยก่อนมันไม่เหมือนสมัยนี้  ตอนนั้นผมต้องทำเองหมดทุกขั้นตอน   แต่ในยุคนี้ คนทำเครื่อง  คนวายริ่งสายไฟ  คนจูน แยกหน้าที่กันหมดเลย   แต่พอจูนแล้วเครื่องยนต์มีปัญหา ต่างก็หาที่รับผิดชอบ   ผมขอยกตัวอย่างเลย อย่าง KUROKI RACING  บอกเลยแกเก่งมาก  มือหนึ่งเลยเรื่องเครื่องยนต์ ช่วงหลังๆ แกก็ต้องให้ลูกชายมาดูแลเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ด้วย จะได้ครบระบบของเครื่องยนต์  เพราะกลัวว่าขายแต่เครื่องยนต์ไปอย่างเดียว แล้วระบบไฟไปทำกันมาไม่สมบูรณ์แบบ ก็จะทำเสียชื่อเสียงจากตรงจุดนี้ได้   ซึ่งผมจะบอกว่าผมเองก็เหมือนกัน  สมัยเด็กๆ ทุนทรัพย์ค่อนข้างจำกัด  พี่น้อย 11 เองแกก็น่ารักมากๆ  ปล่อยพื้นที่ให้ผมทำเครื่องยนต์เล่นกันเองหลังเวลางาน ก็มีช่างใหญ่ตอนนั้นกับพี่ๆ ช่างในอู่ เช่น พี่ชาติ พี่บอย พี่ตี๋ พี่ต่อ……  ผมก็เลยมีความรู้เรื่องของเครื่องยนต์มาก่อน ซึ่งการที่จะมาจูนเครื่องยนต์ ผมว่าสิ่งแรกคือ อย่างน้อยต้องรู้การทำงานของชิ้นส่วนประกอบต่างๆ มากพอควร การทำงานของทั้ง กลไก และ Sensor ตัวต่างๆ ของเครื่องยนต์แต่ละตัวให้ชัดเจนก่อน  ไม่ใช่ว่าเครื่องมาแบบนึงแล้วจะใช้กล่องมาฉุดดึงพลังให้เครื่องยนต์แรงขึ้น มันเป็นไปไม่ได้… ซึ่งคนที่จะมาทำหน้าที่แบบนี้จริงๆ ควรจะมีพื้นฐานจากการเรียนรู้เรื่องเครื่องยนต์มาเป็นอย่างแรก  เข้าใจนิสัยการทำงานของเครื่องยนต์เป็นหลักก่อน แล้วค่อยแตกแขนงไปถึงเรื่องของการควบคุม

ซึ่งจากการที่ผมได้บินไป-บินกลับ เพื่อเรียนรู้การใช้งานของ MoTeC  จนวันนึงอยู่ดีๆ ก็มีหนังสือแต่งตั้งส่งถึงบ้าน แปลออกมาได้ใจความว่า “ยินดีต้อนรับสู่ครอบครัว MoTeC ซึ่งจริงๆ แล้ว สมัยนี้ ภายในหนึ่งประเทศก็จะมีตัวแทนที่เค้าแต่งตั้งให้ 1 ดีลเลอร์หลัก  แต่ในยุคนั้นมีผมคนเดียวที่เป็น 1 ใน South East Asia ส่วนมากทางศูนย์ใหญ่ก็พยายามแนะนำให้ลูกค้าที่สนใจ และอยู่ในโซนติดต่อมาทางผมตรงๆ ซึ่งในอีก 2-3 ปีถัดจากนั้น ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับพี่เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ก็เลยให้ชื่อกับ Vattana Motorsport เป็นตัวแทนหลัก เพื่อให้เกียรติกับงานที่เราทำ พร้อมกับดำเนินงานดูแลไปด้วย

ตอนที่รู้ตัวจริงๆ ว่าเฮ้ย!! นี่ตัวเรามีอาชีพทำงานอะไรกับเค้าแล้วเหรอ จากวันเก่าๆ ที่ยังนึกไม่ออกเลย ชีวิตนี้จะไปทางไหนดี งานก็เห็นว่าเริ่มหายากขึ้นทุกวันๆ  ก็ต้องขอกล่าวถึง เฮียก๊อง แกเเนะนำให้รู้จัก Mr. Samuel Tan, St.Powered ที่ประเทศ Singapore  ช่วงนั้นบินยับ!! ไปทีนึง 4-7 วัน เดือนละสองสามครั้ง  ทำรถ 2-3 คัน เพราะยังทำคนเดียวตั้งแต่สายไฟยัน Tune ในตอนนั้น Dyno ยังไมมี ก็ต้องนั่งรถข้ามไปฝั่งมาเลย์ แค่พ้นด่านตรวจ Passport ฝั่งมาเลย์ พวกซัดกันยับ พอถึงที่ลองรถประจำ เป็นทางตรงประมาณ 3 กม.  จอคอมพ์ผมไม่ค่อยจะได้ดูเท่าไหร่หรอก อย่าง R34 1000+ hp เกียร์โยก เข้า 5  เมื่อไหร่ มือขวาเตรียมยกขึ้นมือเหมือนเช็กชื่อ!! พอๆๆๆๆ ครับ น่ากลัวมาก เหมือนลูกค้า St.Powered ท่านทั้งหลายคงเก็บกดกะ Speed Limit (ที่เป็นเรื่องที่ดีของการสัญจรบนถนนหลวงนะครับ)

พอความชัดเจนในชื่อของ “ดอน MoTeC” ชัดเจนขึ้นอย่างเป็นทางการ  ก็ทำให้ผมได้รู้จักกับพี่ๆ อีกหลายท่านในวงการทางเรียบของประเทศไทย อาทิ คุณสุพจน์ กสิกรรม, คุณขจรศักดิ์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล, คุณสมชาย ศักดิ์ศิริเวทย์กุล, คุณปั้น พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์, คุณอิ๊ก อาภาธร กรรณสูต, คุณมี่ ธนากร อัศฎาธร, คุณปาล์ม ธนัญชัย ตระกูลทอง, เพื่อนจ้ำ กรัณฑ์ ศุภพงศ์,  คุณป๊อป TBN ที่ขาดไม่ได้ ท่านประธานเอก อโณทัย เอี่ยมลำเนา,  คุณต๊อด ปิติ ภิรมย์ภักดี,  คุณเต๊อะ วุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ และสุดท้ายที่ลืมไม่ได้ เพื่อนแอม พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ที่ชักชวน ให้โอกาสระบาย !! อะไรลงหนังสือ XO มาตลอด  ตั้งแต่ยุคแรกๆ Man of the Month… เฮ้ย เจ้าของ คอลัมน์, บก. กรุณาอย่านะ ย้ำว่า อย่านะ เอารูป ตอน Man of the Month มาลง….! ห้ามตัดคำขอนี้ออกด้วยนะ!!!

ผมคิดว่าคงจะลงชื่อเพื่อให้เครดิตกับมิตรสหายคงจะเกินลิมิต พื้นที่ที่เจ้าของคอลัมน์ให้มา  โดยจุดประสงค์แท้จริง คือ  1. ถ้าไม่มีชื่อพี่น้องทั้งหลายที่เอ่ยตั้งแต่เริ่มคอลัมน์ วันนี้ไม่มี ดอน แน่นอน……. ขอขอบคุณจากใจจริงทุกๆ ท่าน  2. อยากให้น้องๆ รุ่นหลังรู้จักพี่น้องที่จะอยู่ในช่วงไหนของวงการ หรือในทางเดินสายนี้ของผม ผมบอกได้เลย ไม่มีใครธรรมดา เข้าถึงบางคนอาจยาก แต่ผมมั่นใจว่าทุกคนที่กล่าวถึง พร้อมเสมอที่จะช่วย เล่า สอน อธิบาย เทคนิคต่างๆ เพราะผมว่าเค้าทั้งหลาย แก่ กันละ และคิดว่า พวกพี่น้องที่ผมจัดให้เป็นเทพแบบไม่ธรรมดาเนี่ย คงมีแนวคิดไปในทางเดียวกัน คือ เพื่อวงการที่เรารัก

มาถึงชื่อของ MoTeC เป็นที่รู้จักของกลุ่มคนเล่นรถได้อย่างแพร่หลายและรวดเร็วในประเทศไทย   มันก็เลยกลายเป็นว่า รถแข่งทุกคันใช้ MoTeC กันหมด แต่มีผมเป็นคนจูนเพียงคนเดียว  แน่ล่ะ  ต่างคนต่างความคิด ก็คิดไปต่างๆ นานา  แต่ผมก็บอกกับทุกคนว่า  “ผมเต็มที่กับงาน ทำทุกอย่างที่ต้องทำ ทั้งเครื่องที่แตกต่างกัน ทั้งแคม ทั้ง C.C. เครื่อง ทั้งกำลังอัด ทั้งน้ำมัน ทั้งท่อไอดี ทั้งลิ้น (Std, ลิ้นใหญ่ , 4 ลิ้น, ลิ้น Slide) ตั้งแต่รายการ Thailand Touring Car สมัยน้าโต้ง น้าเบสจัดแข่งที่พีระฯ สมัยนั้นผมเพิ่งรามือจาก วงการแดรกเรซซิ่ง 1/4 Mile คือยังไม่เอาอ่าวกับระบบระเบียบการแข่งขัน เอาง่ายๆ คือไม่รู้อะไรเลย ทำในสิ่งที่ต้องทำ แล้วที่เหลือไปสู้กันเองในสนามนะ!!”                  จากวันนั้น M4, M48 และ M8 ก็เริ่มขยับขยายออกไปเรื่อย จนผมว่า ช่วงนั้น 95% ใช้กัน ที่เหลือยังใช้กล่องเปลี่ยนรอมบ้าง อีกสักพักก็ Power FC…. หลังจากจอ ADL1 ที่คนส่วนมากคิดว่าจอไรวะ แพงเกิ๊น …จริงๆ มันไม่ใช่จอไว้ดู ถ้าอยากดูเฉยๆ ผมก็แนะนำให้ไปซื้อ พวก Stack หรือ Autometer ดูอย่างเดียวดีกว่าADL1 ถือเป็นอุปกรณ์ที่ผ่านมาแล้ว 17 ปี ที่ใช้ระบบ CAN (Control Area Network)   8 ปีที่แล้วตัวผลิตภัณฑ์ของ MoTeC ออกกล่องรุ่นใหม่ แต่ยังใช้ Algorithm เหมือน M4 แต่รันบนวินโดว์  ซึ่งเจ้ารุ่นนี้  ผมจำได้ว่า เพิ่งเริ่มทำรถ Drag ให้คุณทรงพล ระหงส์  กับ อาแดง Drag Master ที่สนาม MMC จากนั้นแหละก็ไม่มีอะไรออกมาที่พัฒนาตามเทคโนโลยี  ที่พูดได้ว่าต่างค่ายก็ต่างหาวิธีหนีคู่ต่อสู้  มีแต่อัพเดทซอฟต์แวร์ แล้วก็ปล่อยพวกของเล่นอื่นๆ ออกมา ADL2, ADl3 ….. CDL3, M84 ….. จนตัว M1 ออกมาและในปีที่แล้วนี่แหละ ที่ทำให้ผมทราบเลยว่า  R&D กับ Team Software หายตัวไป 6 ปี เต็มๆ เพื่อสิ่งนี้นี่เอง

ในยุคสมัยนี้ การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ  จะเห็นได้ว่าฝั่งยุโรปก็เริ่มดร็อปลง  DTM ก็มารวมกับ SUPER GT  ฝั่งญี่ปุ่นเองก็ชะลอตัวลงเช่นกัน  ในช่วงหลังๆ จะเห็นทั้งยุโรปและ ญี่ปุ่น มาอยู่ตามสนามแข่งเมืองไทยมากขึ้น แบรนด์รายใหญ่ๆ มาอยู่เมืองไทยมากขึ้น  จุดเปลี่ยนมุมมองและความรู้สึกของการงานตัวเอง  โดยครั้งแรกที่ได้ออกจากกะลา ไปสู่การแข่งขัน ที่ไม่ต้องสาธยายกันมาก Macau GPX ไปมาสี่ รอบ  จบชนะมาถึง 2 ครั้ง แต่พอได้ไปเห็นรถที่ผลิตออกมาจากโรงงาน ช่วงนั้นก็ไม่พ้น BMW ที่เป็นจ่าฝูง …….   ก่อนรายการ TGTC จะหยุดการจัดการแข่งขัน ผมเริ่มห่างจากสนามใหญ่ๆ มาทำรถบ้านอีกครั้ง เนื่องจากช่วงนั้น กติกาหลายๆ อย่างปิดกั้น การใช้กล่อง After Market บ้าง  ไม่ใช่ความผิดของใครเลย แต่มันเป็นเทรนด์ที่ทั้งโลกเริ่มพยายามลด Cost ในการแข่งขันเพื่อที่จะให้อยู่กันได้ ….ไปๆ มาๆ ดันมีพวกหัวใส  เอากล่อง เช่น MoTeC ถอดกรอบทองๆ ออก ละก็ยัดมันเข้าไปในกล่อง STD. สรุป จบ ห้ามไรไม่ได้ พอถึงช่วง Cycle ต่ำของมอเตอร์สปอร์ตอีกครั้ง หลังจากปีฟองสบู่แตกที่ทำให้รายการที่เค้าเรียก Class-2 (Vauxhall, Volvo, Toyota, Mitsubishi, Nissan, Opel, Mercedez 190E DTM)  ถึงกับต้องเลิกแข่งกันไป  ก็มาถึงยุคที่ประธานเปาะ  คุณกีรเกียรติ เย็นมาโนช นัดรวมๆ กันมาคุย ว่าจะจัดแบบนี้ นั่นก็กลายเป็นขาขึ้นที่ค่อยๆ กระดกขึ้น จนมาพีคจริงๆ ก็ตอนที่พี่เปาะ และท่านสนธยา คุณปลื้ม และอีกหลายๆ ฝ่าย ทำให้พลุมันแตกสวยงามบนท้องฟ้าอย่างสูง

ผมยินดีมากที่ตอนนั้น มีพี่บอย ท่านสรวงศ์ เทียนทอง สนับสนุนให้สร้างรถ EVO 7 ลงเข้าร่วมการแข่งขัน ยังจำได้ว่า ไม่ได้รู้อะไรหรอก ช่วงล่าง สปริง กันโคลง เทอร์โบที่ต้องวิ่งในสนาม หมดทั้งคัน ไม่พอ พวก Limited C.Diff  อีกมากมาย จนเสร็จออกมาเป็นคัน สรุปว่าที่ออกมานั่นแหละ  พี่บอยเค้าให้ชื่อว่า EVO7 Prototype สำหรับผมเลยนะ มันไม่ใช่รถที่คนทางเรียบที่เลี้ยวได้  มันวิ่งไปด้วยแรงของเครื่องซะมากกว่า คร่าวๆ ประมาณ 450 hp ไม่เกินนี้แน่……..

และสิ่งที่ผมตั้งใจจะพูดต่อไปนี้มันเรียกว่า “With My Pressure”  ด้วยความที่ทางรายการต้องการเรียก พี่น้อง เพื่อนฝูง ในวงการมาลงแข่งรายการที่พยายามทุ่มเทจัด  ผมทราบดีว่ามันกระทบถึงกันหมด  กติกาที่ออกมามันเปิดกว้างมาก เนื่องจากการสอบถาม สืบเสาะ ว่าใครจะทำรถอะไรลงแข่งบ้าง จากรายการ TGTC มีรถอะไรที่ยังจะลงแข่งบ้าง?  พอถึงช่วงปีที่ผมร่วมงานแบบรู้เลยว่าท่านนี้ไม่ได้เรียกว่า Hobby คนมีตังค์ บอกผมไม่นานนี้เองว่า เค้าเรียก SERIOUS HOBBY สำหรับเค้า  พี่เต๊อะ  วุฒิกร เจ้าของ AAS ขาย Porsche  แต่มาขอซื้อ EVO คันดำไปแข่งกับ พี่เต้ และ ต๊อด  2 นักแข่งสิงห์  ซึ่งรถทั้งหมดก็เกิดมาจาก วัฒนามอเตอร์สปอร์ต   นี่คือก้าวที่ 2 ของการทำงานร่วมกับทีมและนักขับที่มีความมุ่งมั่น ใช้ประโยชน์จาก DATA LOG คนแรกในประเทศไทยเลย ผมยกให้พี่เต้เลยนะ  พอปีต่อๆ มา รถแข่งเริ่มเยอะขึ้น  กติกามีช่องโหว่พอสมควร การตรวจสภาพที่ผมถือว่าทุกๆ ฝ่ายก็พยายามทำหน้าที่อันซื่อสัตย์  แต่ในบางครั้งการจะปิดรูรั่วของกติกา ที่แรกเริ่มมาจากความมิได้ตั้งใจที่จะให้มันมีรอยรั่ว รูโบ๋ ที่ทำให้บางทีมได้รับผลประโยชน์ โดยผู้จัดมิได้ตั้งใจเลย กลับกัน ในการปิดรูรั่ว บางทีมก็เสียผลประโยชน์พอควร  พี่จักรทอง สอนผมมาเสมอ ผมก็ว่าจริงที่แกพูด “สมองคนเรามันไม่เหมือนกันนะดอน และมันก็คิดไม่เหมือนกัน” ชอบจริงครับ เลื่อมใสกับคำนี้ครับ และนำไปคิดอีกหลายๆ เรื่องอินดี้ของผมด้วย เป็นอันว่าต่อมาถึงยุด TSS ผมได้รับเกียรติในสถานะคนนึงที่อยู่ในวงการ และคิดว่าทางผู้จัดฯ อยากเอาข้อมูลไปรวบรวม เพื่อออกกฎกติกา   สั้นๆ เลยนะครับ  พี่ครับ FIA ไม่ได้โง่เรื่องกติกา เราเอาของเค้ามาใช้ ออกกติกาเพิ่มเติมให้น้อยที่สุด เพื่อปรับให้เหมาะกับบ้านเรา …….อ่านดีๆ นะครับ บ้านเราไม่ใช่ไม่เก่งนะครับ นักขับ ทีมแข่ง  รถบ้านเราที่เห็นๆ กันสมัยนี้  ไปบ้านเค้าผมก็เห็นมันเหมือนกัน ผมเอาใจช่วยเสมอ ไม่ชอบมีเสียงไปข้างใคร ทำตามเค้าไป  ผมว่าไม่ผิด กรรมการที่ตรวจรถรุ่นใหญ่ จ้างมาสิครับ คนเดิมๆ เราก็ทำหน้าที่กับรถรุ่นเดิมๆ ของเรา ไม่พอแถมได้เรียนรู้จากต่างชาติอีก  ผมขอทิ้งท้ายไว้ที่ “Don’t Put That Much Weight On Your Shoulder” ผมว่าผมเป็นแค่มดแดงขนาดเล็ก จนถึงวันนี้ที่นั่งพิมพ์ต้นฉบับ ผมคงโตขึ้นก็ตัวแค่มดตะนอย  รถมันซื้อมากันง่าย ความรู้ความเข้าใจบางทีเราก็ซื้อคนมาทำแทนบ้าง ผมว่าน่าจะดี นี่คือสิ่งที่ผมให้คำแนะนำไปตั้งแต่เริ่มจัด ปีแรกไม่ว่ากัน ปีเรียนรู้ แต่นี่ผ่านมาพอสมควร ผมแค่กลัวว่า รูรั่วมันจะกลับมาอีกเป็นครั้งที่สอง!!!  ขอลงท้ายด้วยการ “ขอโทษนะ” ขออภัย ถ้าไปกระทบใครในทางที่ไม่ดี …..ไม่ได้มีเจตนา แต่มันคือ “With My Pressure”

ฝาก :

จริงๆ ผมมีเรื่องเล่าจากความกรุณาของ Singha AAS Team, GTAsia Series ที่ไปแข่งปี ’14  กับ SuperGT ที่ได้รับเกียรติให้เป็น CO-Race Engineer…… แต่คงต้องหาพื้นที่เพิ่มอีกทีครับ”

เป็นบุคคลในตำนานที่อยู่คู่กับมอเตอร์สปอร์ตในเมืองไทย มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น เข้านอกออกในรถแข่งระดับหัวๆ ของประเทศเกือบจะทุกคัน  ยังมีอะไรอีกมากมายที่ อาจารย์ดอน อยากจะเล่าให้ฟัง ผมขอยกยอดไว้ก่อนนะครับ ในโอกาสถัดๆ ไป  จะจัดมาให้อ่านกันครับ…