My Name is… DRAG TIMES : สรวงศ์ เทียนทอง

 

STORY : T.Aviruth (^_^!) / PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่

แน่ละ ชื่อของ บอย  สรวงศ์ เทียนทอง คนเล่นรถในสาย XO AUTOSPORT ย่อมรู้จักเค้าเป็นอย่างดี  โดยเฉพาะสายแดร็ก  บ้างอาจจะลึกหน่อย รู้จักตั้งแต่ RX-7 Orange หรือส่วนมากที่รู้จักกันก็จะเป็น “รถส่งนม” วีโก้ สเปซเฟรม ขวัญใจของใครๆ หลายๆ คน ซึ่งนั่นเป็นเพียงแง่มุมนึงที่แสดงตัวออกมา  แต่ในมุมส่วนตัวที่หลายคนไม่รู้จัก และไม่เคยสัมผัส   My Name is…ในเล่มนี้จะพาไปรู้ บอย  สรวงศ์ เทียนทอง ครับ

คุณบอย หรือพี่บอย   เป็นคำเรียกที่คุ้นเคยตามสถานะของการพบปะ ส่วนตัวผมขออนุญาตเรียก “พี่บอย” เพราะรู้จักและพบปะกันในสนามแข่งรถที่ต่างๆ ค่อนข้างบ่อยครั้ง   พี่บอยเป็นคนในวงการคนนึงที่ถูกลิสต์ชื่อไว้ตั้งแต่ทำคอลัมน์ My Name is…ซึ่งตอนนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมลงตัวที่สุด เพราะมีอะไรบางอย่างที่สอดคล้องกับ Souped Up Thailand Records พอดี

สถานที่นัดสัมภาษณ์และถ่ายคอลัมน์นี้  พี่บอย ชวนไปทำคอลัมน์กันที่ 25 G  ด้วยความครบครันและ สวยงามของสถานที่  เลยรีบตอบรับปากทันที  กลัวพี่บอยเปลี่ยนใจ  เพราะ 25 G บอกได้เลยว่า  ใครที่ชอบของสะสมสไตล์ Garage Life บอกได้เลยว่า ถ้าได้ไปสัมผัสที่นี่ เหมือนโดนต้องมนต์สะกดอย่างแน่นอน  เพราะของแต่ละชิ้นที่โชว์อยู่ที่นี่ ล้วนแต่เป็นของที่นักสะสมจากทั่วทุกมุมโลกถวิลหาครับ  ลองมาสัมผัสดูครับ  นำรถคันเก่งมาให้ที่นี่บำรุงรักษาให้สะอาดสดใส  แล้วเข้าไปเพลิดเพลินกับของสะสมเก๋ๆ ด้านใน  คุณจะไม่เชื่อสายตาตัวเองเลยว่า ของที่เคยเห็นในแมกกาชีนต่างประเทศ  มันวางอยู่ตรงหน้าคุณครับ

ที่ต้องพูดเพราะว่าสถานที่เค้าเฟี้ยวจริง…ก็มาถึงคิวสัมภาษณ์พี่บอย  แต่อย่าเรียกว่าสัมภาษณ์เลย  ดูเป็นทางการไปหน่อย  เอาเป็นว่านั่งคุยถึงเรื่องราวที่ผ่านมากันดีกว่า ว่าทำไมคนที่มีความเพียบพร้อมขนาดนี้  ยังท้าทายและรักสนุกกับความเร็วอยู่อีก  โดยพี่บอยเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “ผมกับคำว่า “รถซิ่ง” รู้จักกับคำนี้มาในยุคของ “พาเลซ”  ตอนนั้นเรียนอยู่สาธิตเกษตร แล้วก็ไปศึกษาต่อที่เตรียมอุดมศึกษา  ซึ่งบอกเลยครับว่า เข้าสู่วงการรถซิ่งด้วยการเชื้อเชิญจากลูกพี่ใหญ่เลย   ก็ พี่เอก อโณทัย เอี่ยมลำเนา นี่แหละครับ  เพราะบ้านผมอยู่ใกล้กับบ้านพี่เค้า  จุดเริ่มของทีมรถตอนนั้นก็คือ ZIGGY TEAM   ตอนนั้นทีมนี้ดังมากในเรื่องของเรือแข่ง  โกคาร์ท คือเรียกว่าหลังเลิกเรียน ก็รวมตัวตามยุคสมัยของวัยรุ่นในตอนนั้น ผมเองก็มีรถคันแรกเป็น Honda Accord โฉมที่เรียกติดปากกันว่า “ตาเพชร”  ก็แต่งซิ่งตามยุค ตัดสปริง โหลดเตี้ย  โดยเฉพาะแม็กเนี่ย  ผมเปลี่ยนเกือบทุกอาทิตย์เลยก็ว่าได้  ร้านแม็กหน้าเมืองทองธานี  เค้ารู้จักผมดี คือถ้าเอารถเข้าไปทำเมื่อไหร่  บิลค่าใช้จ่ายก็จะถูกส่งกลับไปที่บ้านอย่างอัตโนมัติ  แล้วผมก็โดนคุณแม่ว่าทุกครั้ง!!  (พูดแล้วก็หัวเราะ) ในยุคที่ผมเล่นรถตอนนั้น  รถจะเตี้ย  แต่แม็กจะมีขนาดใหญ่  คือใครที่สามารถยัดล้อแม็ก 16-17 นิ้ว เข้าไปในซุ้มได้ ถือว่าสุด แล้ว ในตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่เตรียมอุดมศึกษานี่แหละ  “พี่ป๊อปปิ” เรียนที่เดียวกับผม  แกเป็นคนแรกๆ ที่สามารถเอาแม็ก 17 นิ้ว ยัดลงไปใน Honda Civic EF ได้  ต้องบอกว่ามันสุดยอดมากในตอนนั้น  สรุปเย็นวันนั้น BBS ขอบ 17 นิ้ว ก็เข้ามาอยู่ใน Honda Accord ผมจนได้  บิลเก็บที่บ้านเหมือนเดิม!!

ซึ่งในยุคนั้นการยัดล้อใหญ่ๆ ลงไป มันก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตมากนัก  แต่ตัวปัญหาจริงๆ คือ “ยาง” เพราะถ้าแม็กมีขนาดใหญ่  ยางที่ใส่ก็จะมีขนาดใหญ่ตาม  ซึ่งยางแก้มเตี้ยๆ หายากมากในยุคนั้น ความแรงในยุคนั้นไม่มีใครสนใจ  ขอขับหล่อๆ  เตี้ยๆ   ทำท่อออกด้านข้างตัวรถ  ขับๆ ไป บิดสวิตช์กุญแจ ทำแบ็กไฟร์ให้ไฟออกท่อ  มันส์สุดแล้ว   ซึ่งตอนนั้นชีวิตก็มีแค่เรียน แล้วก็รถ  มีโอกาสได้ขับรถไปที่สนามพีระฯ  รู้สึกเท่มากในตอนนั้น หรือคืนวันเสาร์ ก็รถซิ่งหน้าพาเลซ  นี่แหละชีวิตวัยรุ่น  มีแต่เพื่อน  สติกเกอร์หลังรถจะเขียนชื่อทีมอะไรก็แล้วแต่  ทุกคนคือเพื่อนกันหมด  ซึ่งเรื่องพวกนี้บอกเลยว่า ทางบ้านรู้ไม่ได้เลย  ดึกๆ ต้องเข็นออก  สตาร์ทไม่ได้  ท่อดัง  เดี๋ยวที่บ้านรู้

ซึ่งจุดเปลี่ยนชีวิตของผมก็คือ ซ้อมโกคาร์ท แล้วเกิดผิดพลาด คือผมบอกคุณแม่ว่าไปเล่นรถบังคับวิทยุ  แต่จริงๆ คือ ซ้อมโกคาร์ท  เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่  ลองได้ 3-4 รอบ  แล้วสูบติด  ลงมาเข็นไม่ได้ สวมหมวกกันน็อก  เกิดผิดจังหวะ ทำให้ฝาสูบของเครื่องยนต์ข่วนเข้าที่ใบหน้าเป็นรอยแผลไหม้  รักษาอยู่ประมาณ 5 ปี กว่าจะกลับไปหายเป็นปกติ   ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ได้ประมาณ 1 ปี  ทางบ้านผมก็ส่งตัวผมศึกษาต่อที่ สหรัฐอเมริกา

เมื่อไปถึงที่สหรัฐอเมริกา ผมไปศึกษาต่อในโรงเรียนที่เค้าให้ทำงาน  ไม่ได้ไปอยู่แบบในโรงเรียน Private School ผมก็เลือกสายงานคือทำ Garage  คือเข้าไปเรียน แล้วได้ทำรถด้วย  เรียกว่าไปเริ่มต้นซ้ำ ม.4 ที่โน่นเลย  จนเรียนจบ  ก็มีวิชาที่เรียนติดตัวมาพอสมควร  คิดจะหารถไว้ใช้สักคัน  ใจก็ยังชอบ Accord ตาเพชร อยู่เช่นเดิม  ก็ไปซื้อมาแต่งเหมือนเดิม  ทีนี้ทำเองแล้ว  ตัดสปริงโหลดเอง  เอาผ้าลำโพงมาคลุมไฟให้ดูโหดขึ้น   ฝรั่งมาเห็นก็ชอบรถที่ผมแต่งมาก ก็เลยมาให้ผมทำรถให้  แต่ตอนทำต้องอย่าให้เค้าเห็นนะ  ถ้าเห็นว่าเราทำแบบไหน  รับรอง ฝรั่งช็อก!! แน่นอน

จนวันนึงมีโอกาสได้ไปดูสนามแดร็กที่นู่น  เพราะอยู่ใกล้บ้าน  ก็มีความรู้สึกว่าชอบ  เห็นแล้วตื่นตาตื่นใจ ก็เลยอยากจะหารถ Honda มาทำวิ่งกับเค้าสักคัน  เพราะรถ Honda ในยุคนั้นเครื่องปรี๊ด และสามารถวิ่งกับพวกรถ’เมกันได้  โดยเริ่มต้นหารถมือสองก่อนที่จะเอามาทำ  แต่ไม่มีเลย  ก็เลยเข้าไปลองดูที่ศูนย์ Honda  ด้วยความอยากได้แต่ยังเป็นนักเรียนอยู่เลย  ก็สอบถามว่ามีบริการผ่อนมั้ย?  ปรากฏว่าผ่อนได้  ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของรถ Honda Civic EK ที่เอากลับมาเมืองไทย

รถ Honda Civic EK คันนี้  ออกจากศูนย์ฯ ได้ผมขับไปรับน้องสาว  แล้วหลังจากนั้นก็รื้อออกทั้งคัน ทำเป็นรถแข่งเลย  เท่ากับว่า มีน้องสาวผมคนเดียวที่ได้นั่งตอนเป็นรถสแตนดาร์ด  ทีนี้พอทำเป็นรถแข่งแล้ว  ก็ใส่ไนตรัสก่อนเลยเป็นอย่างแรก  เล่นสนุกๆ อยู่ได้เดือนกว่าๆ  เครื่องพัง ซึ่งตอนนั้นก็มีเพื่อนๆ ชาวต่างชาติเยอะที่ทำรถแข่ง  ซึ่งก็มีอยู่ที่นึงที่ผมสนใจและชอบ คือ Vinny Ten  Performance Factory NYC  ที่นี่คือจุดเริ่มต้นปลุกความแรงแบบมหาศาลให้กับรถ Honda Civic EK ของผม  โดยสเต็ปแรกที่ทำมาตอนนั้น วิ่ง 10.7 วินาที ผมส่งเรื่องมาลงใน XO AUTOSPORT ถ้าใครติดตามมาตั้งแต่แรกจะทราบดี ซึ่งในยุคนั้น รถ Civic วิ่ง 10.7 วินาที เป็นเรื่องที่ตื่นเต้นมาก  ซึ่งในสเต็ปนั้นก็เป็นเครื่องยนต์เทอร์โบ ไนตรัส  ขับได้ไม่ถึงเดือนพัง  เป็นเพราะว่าไปเพิ่มสเต็ปไนตรัส แล้วไปลองกันบนถนนไฮเวย์   ผมนี่แหละนั่งไปกับเค้าตอนลอง  พอออกตัวได้ก็ยิงไนตรัสเพิ่มเข้าไป เท่านั้นแหละ  สูบ 1 ทะลุขึ้นมาเลย!!  ก็จัดสเต็ปใหม่  ซึ่งวางแผนไว้ว่า  เอาเต็มเหนี่ยวเลย  เพราะอยู่ที่นี่อีกไม่นาน  เดี๋ยวต้องกลับไปอยู่ที่ประเทศไทยแล้ว ก็สรุปจบที่ 700 แรงม้า   พอกลับมาเมืองไทยก็เอารถกลับมาด้วย  ช่วงนั้นก็เป็นยุคของสนาม MMC  วิ่งไม่ได้  ฟรีทิ้งตลอด  รถผมในตอนนั้นคือรถที่สร้างขึ้นมาเพื่อการแข่งขัน  ดังนั้น กฎระเบียบความปลอดภัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการแข่งขันแดร็กสากล  ซึ่งเด็กๆ ในตอนนั้น ก็มองรถว่าโอเวอร์  ติดร่มด้วย  เพราะในตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีใครใช้ร่มช่วยเบรก  ก็เลยดูแปลกประหลาดกว่าชาวบ้านเค้า  ซึ่งโปรเจ็คต์  EK ทำเวลาดีที่สุดในประเทศไทยได้ที่ 11 วิ.กว่าๆ

จากตรงนี้แหละ ก็ได้รู้จักกับ พี่ใหม่ P&C GARAGE   จากการที่อยู่อเมริกามานาน  ก็ได้รู้จักพวก เปอเตอริโก้  พวกนี้ทำเครื่องยนต์ Rotary เก่งมาก  ผมเองก็ชอบเสียงเครื่องยนต์ชนิดนี้มากเหมือนกัน พอได้รู้จักกับพี่ใหม่ P&C GARAGE เท่านั้นแหละ  ผมก็จริงจังกับเครื่องยนต์ชนิดนี้เลย  ด้วยความอเมซซิ่งของตัวเครื่องยนต์ที่เป็นก้อนๆ ไม่ใหญ่โต  แต่พละกำลังมันมหาศาลมาก  เสียงเครื่องที่เร้าใจ  บอกได้เลยว่ามันดึงดูดมาก   ก็เล่นแดร็ก สาย Rotary อย่างเต็มตัวเลย  มีมาเล่นเซอร์กิตอยู่แป๊บนึง จากการชักชวนของ อุ้ม ทวีกูร   พี่อ้น บ้านสวนฝรั่ง แล้วก็น้องเอม

ซึ่งก็สนุกล่ะได้ประสบการณ์แปลกใหม่ แต่ก็ยังไม่ใช่ในสิ่งที่ต้องการ ใจยังชอบแดร็กอยู่ ก็เลยคิดว่าเล่นทางนี้น่าจะเป็นตัวตนของเรามากที่สุด  จากจุดเริ่มต้น RX-7 FD3S สีน้ำเงิน  ก็กลายร่างมาเป็น RX -7 ขาว   ORANGE ในตำนาน แล้วหลังจากนั้นก็มี Mazda R100 เครื่อง 3 โรเตอร์ ออกมาอีกคัน ที่พวกเราคุ้นเคยดีว่า “หนูหริ่ง” ผมเองก็เริ่มวิ่ง Souped Up มาตั้งแต่ครั้งแรก  มีอันดับมาตลอด  มีเมื่อปีที่แล้วนี่แหละ  ที่ บอย-ใหม่ ไม่ติดอันดับ

หลายคนจะเห็นว่า  ผมเริ่มต้นกับเครื่องยนต์ Rotary มาตลอด ระยะเวลาที่กลับมาทำรถในประเทศไทย  ซึ่งหลายๆ คนรู้ดีว่าผมมี วีโก้  (รถส่งนม) อีกคันที่ใช้วิ่งแดร็กด้วย  ซึ่งเจ้าวีโก้คันนี้ มันเกิดขึ้นจาก  “ความปลอดภัย”  ผมจะขยายความให้ฟังว่า ความปลอดภัยในที่นี้คืออะไร   เรื่องของเรื่องจะเห็นได้ว่า  ก่อนหน้าจะเป็น วีโก้ คันนี้  ผมใช้รถ Mazda R100 (หนูหริ่ง) วิ่งอยู่ตลอด เจ้าคันนี้แหละตั้งแต่วิ่งมาไม่เคยบูสต์ถึง 1 บาร์เลย  บูสต์อยู่แค่ 0.8 เท่านั้น ที่วิ่งอยู่ 8.7 วินาที ซึ่งเพราะถ้าดันบูสต์ไปมากกว่านี้  น่ากลัวแน่นอน ทางพี่ใหม่ ก็เลยบอกผมว่า  น่าจะหารถคันใหม่ที่เซฟตี้กว่านี้  ทีแรกก็มองว่าจะเอา RX-7 มาทำเป็นรถเฟรม แต่ด้วยใจที่ชอบ  รถทรงแวนกับรถกระบะ  ผนวกกับคอนเซ็ปต์ที่ผมวางไว้สำหรับรถผมทุกคันคือ  เครื่องยนต์กับบอดี้ต้องเป็นแบรนด์เดียวกัน  วีโก้  (รถส่งนม) จึงเกิดขึ้นมาครับ  ซึ่งเจ้าวีโก้ เป็นรถที่ขับง่ายมาก  เพราะ Wheelbase มันยาว  ซึ่งต่างจาก Mazda R100 ที่สั้น  เวลาขับต้องคอยประคองรถไปตลอดทาง

รถวีโก้ มีแรงม้าอยู่ประมาณ 1,200 ตัวก็จริง  แต่ที่วิ่งมาตลอด  ลงพื้นไม่ถึง 1,000 ตัวแน่นอน  แต่ใน Souped Up ครั้งที่ผ่านมา  แรงม้าลงพื้นได้เต็มจำนวนคือ 1,200 ตัว  เพราะให้  อ.แดง มาช่วยปรับเซตอัพในเรื่องของช่วงล่างให้ใหม่  คือผมขับเอง  ผมรู้ว่าฟีลลิ่งมันเปลี่ยน  อาการชู้ตออกจากเส้นสตาร์ท  มันหนักหน่วงกว่าที่เคยผ่านมามาก  ซึ่งในรอบควอลิฟายวิ่งอยู่ 7.7 วินาที  ผมยังบอกกับพี่ใหม่เลยว่า ขับสบายนิ่มๆ เลย  7.5 วินาที ได้สบายๆ แน่นอน  เพราะรถคันนี้เซตแก๊สไว้หกหัว  แต่วิ่งแค่หัวเดียวมาตลอด  มีปีที่ผ่านมานี่แหละใช้แก๊สหกหัวเลย อะไรที่ไม่คิดว่าจะพังก็พัง  เฟืองท้าย Strange แตก ซึ่งมันไม่น่าจะแตก  แต่ก็รับไม่ไหว  ไม่ใช่ผมคนเดียวที่เป็น บุญตา ก็เป็นเช่นเดียวกัน  ผมก็เลยมองว่าตอนนี้เราเซตรถกันมาถึงจุดแล้ว  ตอนนี้พลังจากเครื่องยนต์ทั้งหมดถูกถ่ายทอดไปอยู่ตรงนั้นแล้ว  มันเป็นความดีใจบนความเสียใจ เหมือนว่าตอนนี้เริ่มเซตลงพัฒนาไปอีกขั้นแล้ว  หาจุดที่จะถ่ายแรงม้าลงบนพื้นได้หมดแล้ว  ถ้าแก้ไขตรงนี้ได้  ผมว่าเลข 6 วินาที ที่หลายๆ คนอยากเห็นน่าจะหาไม่ยาก  ผมเชื่อว่าสิ่งที่เรายังขาดอยู่คือความพร้อมของสนาม   เรื่องผิวแทร็กสำคัญมาก  โดยเฉพาะการโค้ตผิวแทร็ก  อยากให้โค้ตน้ำยาเต็มพื้นที่แทร็กทั้งหมด  ซึ่งที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่า ถ้ารถหลุดออกจากช่องที่โค้ตแทร็กไปตรงพื้นขาวๆ นั้น  รถก็จะเสียอาการทันที

ในปีหน้าผมกับพี่ใหม่ตั้งใจจะจัดแดร็กโดย ร.ย.ส.ท.  ชิงถ้วยพระราชทาน  แต่ว่าการจัดการแข่งขันในรูปแบบชิงถ้วยพระราชทาน ต้องมีการเก็บคะแนนอย่างน้อย 4 สนามขึ้นไป โดยความมุ่งมั่นที่จะจัดงานขึ้นมาในครั้งนี้ก็เป็นการ “กระตุ้น” ให้การแข่งขันในรูปแบบแดร็กมีความต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมา วงการแดร็กเงียบลงไปมาก  แผนที่ผมวางไว้ก็เปรียบเสมือนกับการซ้อมและเตรียมความพร้อมกันทั้งปี  แล้วค่อยมาวัดผลกันตอนปลายปี จากประสบการณ์ที่สัมผัสกับกีฬามอเตอร์สปอร์ตมา ไม่ว่าจะเป็น ดริฟต์  แดร็ก หรือเซอร์กิต   บอกได้เลยว่ากิจกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ก็คือ แดร็ก  เพราะรถอะไรก็สามารถนำมามาวิ่งตามรุ่นที่กำหนดเวลาได้  ขอเพียงแค่เรื่องเดียวคือ  “Safety First” ความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรกเสมอ การที่ผู้จัดการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นกีฬาอะไรก็แล้วแต่  เค้าไม่ได้หวังอะไรจากตรงนี้นะ   สิ่งที่ได้คือตัวนักกีฬาเอง  ไม่เกิดเหตุก็ดีไป  แต่ถ้าเกิดล่ะ จะแก้ตัวทันมั้ย?   พอมาถึงตรงนี้ก็อยากยกตัวอย่างให้เห็น  อย่างสนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต  หลายคนอาจจะงงว่าทำไมกฎระเบียบเค้าเยอะมากมาย  ซึ่งตรงจุดนี้ผมก็ขอบอกว่าจริงๆ แล้ว นี่คือเบสิกขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานสากล  ทั้ง กฎ  ระเบียบ และความปลอดภัย  เพียงแต่ว่า พวกเราชินกับความสบายมาตลอด  อะไรก็ได้  พอมาเจอการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ก็เลยมองว่ามันไม่เหมือนกับที่เคยผ่านๆ มา นี่แหละครับ คือจุดที่เรากำลังจะพัฒนาขึ้นไปเป็นมืออาชีพมากขึ้น

สำหรับ Souped Up ในปีนี้  ตั้งใจไว้ว่าก็ยังคงใช้วีโก้วิ่ง  แต่อัพเดทกระดองใหม่เป็น REVO เพื่อให้ทันสมัยเข้ายุค และพร้อมกับโปรเจ็กต์ใหญ่ สร้างรถอีกคัน Toyota Solara ซึ่งจะเป็นแบบไหน   เครื่องยนต์อะไร  ไว้ติดตามชมกันปลายปีครับ”

 

ครบเครื่องจริงๆ สำหรับผู้ชายคนนี้  ก็ต้องคอยลุ้นคอยเชียร์กันครับ  ในอนาคตเค้าคือแกนนำหลัก ที่จะปลุกวงการแดร็กให้กลับมาคึกคัก และก้าวไปข้างหน้าได้อีกครั้งครับ   Cheer Up!!

 

ประโยคดนใจ

: สนาม ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต  หลายคนอาจจะงงว่าทำไมกฎระเบียบเค้าเยอะมากมาย  ซึ่งนี่คือเบสิกขั้นพื้นฐานตามมาตรฐานสากล  ทั้ง กฎ  ระเบียบ และความปลอดภัย  เพียงแต่ว่า พวกเราชินกับความสบายมาตลอด  พอมาเจอการเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้ก็เลยมองว่ามันไม่เหมือนกับที่เคยผ่านมา

 

: ผิวแทร็กสำคัญมาก  โดยเฉพาะการโค้ตผิวแทร็ก  อยากให้โค้ตน้ำยาเต็มพื้นที่แทร็กทั้งหมด  ซึ่งที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่า ถ้ารถหลุดออกจากช่องที่โค้ตแทร็กไปตรงพื้นขาวๆ นั้น  รถก็จะเสียอาการทันที