My Name is… Driver Motorsport

 

STORY : T.Aviruth (^_^!)
PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่

หากวันนึงคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว…วันนั้นแหละคือวันที่โง่ที่สุด…คำพูดที่สะกิดใจผมตอนมีโอกาสได้คุยกับ “พี่เหน่ง Driver Motorsport” มันเหมือนคำที่คอยเตือนสติตัวเองอยู่เสมอ  ซึ่งถ้าใครได้เคยคุยและสัมผัส  หรือนักซิ่งรุ่นเก่าๆ จะรู้ว่าพี่เค้าเป็นอย่างไร  แต่สำหรับน้องๆ คนรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่คุ้น  หรือเพียงแค่ได้ยินชื่อ   ในครั้งนี้แหละ จะได้รู้จักตัวตนพี่เค้าอย่างแท้จริง…

*เพื่อความสะดวก กรุณาดูผ่าน Google Chorme

 

จะว่าไปก็นานมากแล้วนะที่ผมได้รู้จัก พี่เหน่ง โดยรู้จักครั้งแรกที่ร้าน Driver Motorsport ที่จุฬา ซอย 9  ซึ่งถ้าโก๋ซิ่งตัวจริง ต้องทัน Driver Motorsport ที่ฟิวเจอร์ รังสิต เพราะที่นั่นเป็นที่แรก ซึ่งจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ นิวาสถานแห่งใหม่ของร้านได้ย้ายกลับมาที่ วิภาวดี ซ.20  ซึ่งเป็นโกดังเก็บอะไหล่ดั้งเดิมของที่ร้านอยู่แล้ว  ซึ่งถ้าใครได้มีโอกาสเข้าไปที่นี่  รับรองถูกใจอย่างแน่นอน  เพราะทั้งอะไหล่  ของสะสม  ของเล่นต่างๆ ของพี่เหน่ง  จะถูกมารวบรวมไว้ที่นี่ที่เดียว ซึ่งผมว่าเรามาทำความรู้จักพี่เหน่งไปพร้อมๆ กันดีกว่าครับ พี่เหน่ง เล่าให้ฟังว่า “ในปีนี้พี่อายุ 52 แล้ว จุดเริ่มต้นของพี่กับรถแข่งแบบที่เป็นทางการก็มาจาก ป๋าฉัตร นี่แหละ สมัยก่อนที่บ้านประกอบธุรกิจเซียงกง (ร้าน ท. พัฒนาเจริญกลการ) เพราะฉะนั้น คนที่เล่นรถแข่งตั้งแต่ในยุคนั้นก็จะมาซื้ออะไหล่ที่บ้านทั้งนั้น  ก็มีตั้งแต่ ป๋าฉัตร, พี่กมล ซูบารุ, พี่แดง อภิชาติ ฟุ้งลัดดา, กุ่ย เซอร์วิส, อาจิตต์ การช่าง, เฮียก๊อง รวมทั้ง คุณอาปราจิน เอี่ยมลำเนา โดยตั้งแต่เริ่มก็จะสนิทกับ อ๊อฟ หทัย ไชยวัณณ์ ลูกชายป๋าฉัตร มาตั้งแต่เริ่มแรก ก็คือตั้งแต่สมัยอยู่ที่เซียงกง (ปทุมวัน)  ตอนนั้นที่อยู่เค้าเรียก “ซิง เซียงกง” หมายถึงเซียงกงใหม่  ถ้าเป็นเซียงกงเก่า  มันอยู่ที่โอเดียน ซึ่งพอที่ทางแถวนั้นมันเต็ม ก็เริ่มขยับขยายมาเป็นที่ปทุมวัน  เท่าที่จำได้ น่าเปิดเป็นร้านขายอะไหล่ เครื่องยนต์นำเข้าจากญี่ปุ่น เป็นร้านที่ 2 ของเซียงกงปทุมวัน เป็นตึกแถวขนาดสามคูหา จะมีอยู่หนึ่งคูหาที่เอาไว้จอดรถของพี่ชาย  ซึ่งถ้าสบโอกาสเหมาะ ไม่มีใครอยู่  ก็จะคอยไปสตาร์ตเครื่อง เดินหน้า-ถอยหลัง รถพี่ชายที่จอดไว้ตลอด จนประมาณ ป6. ตอนนั้นเรียนโรงเรียนราชวินิต ก็ตัดสินใจขับรถไปโรงเรียนเองเลย  คุณแม่ต้องให้คนไปตามที่โรงเรียนเพื่อเอารถคืนมา ซึ่งหลังจากนั้นก็ห้ามไม่ค่อยอยู่แล้ว  คุณแม่ก็เลยปล่อยให้เริ่มขับรถไปไหนมาไหนเอง

ซึ่งต้องบอกว่าก่อนจะมาทำเซียงกงเนี่ย  คุณพ่อขับสามล้อมาก่อน  แล้วท่านก็มัธยัสถ์ ทำงานเก็บเงินซื้อสามล้อเพิ่มขึ้นเพื่อให้คนอื่นเช่าขับ  แล้วถ้าเกิดรถมีปัญหา คุณพ่อก็ซ่อมเอง   ซึ่งท่านไม่ได้เป็นช่างอะไรมาเลย  ก็ค่อยๆ ลองศึกษาด้วยตัวเอง ยุคนั้นมันเป็นแค่เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก ก็เห็นเครื่องยนต์กลไกมาตั้งแต่เด็กๆ อย่างยุคนั้นไปห้างก็ต้องไทยไดมารู ซื้อรถเหล็กมาคันนึง พอมาถึงบ้านก็เอาคีมตัดหลังคาออก ทำเป็นรถสปอร์ต  จะบอกว่าคลุกคลีกับงานพวกซ่อมแซมดัดแปลงมาตั้งแต่เด็ก  แล้วก็รู้สึกว่าชอบ ยิ่งพอธุรกิจที่บ้านมาทำเซียงกง ก็มีความชอบมากเข้าไปใหญ่  ซึ่งช่วงที่เริ่มโมดิฟายรถเอง ก็ได้เพื่อนพี่สาว  เค้าเรียนวิศวะเกี่ยวกับทางพวกเกษตร เค้าก็มาช่วยสอน ในยุคนั้นการโมดิฟายเครื่องยนต์ก็มีแค่เจียแคมฯ ก็เอาไปเจียแถวๆ อโศก ซึ่งเป็นที่นิยมมากในตอนนั้น

“ในวงการนี้นะ  ถ้าหวงวิชา  แล้วคิดว่าเค้าจะเอาไปเป็นคู่แข่งในการทำมาหากินนะ
ถ้าคิดแบบนนี้ มันก็ตายอยู่ตรงนี้แหละ มันไม่โตหรอก”

โดยรถที่ใช้ขับในตอนนั้นเป็นรถมิตซูบิชิ มินิกา เป็นรถเล็กๆ  2 สูบ  360 ซี.ซี. ซึ่งในรุ่นนี้มันก็มีตัวไมเนอร์เชนจ์เป็น 550 ซี.ซี.  ก็โมดิฟายด้วย เปลี่ยนเครื่องยนต์ตัว 550 ซี.ซี. ใส่ เปลี่ยนคาร์บิว Solex ที่อยู่ในเครื่องยนต์ 2TG มาใส่ 1 ตัว แล้วก็เจียแคม ขยายวาล์ว เปลี่ยนวาล์วโดยไปหาซื้อวาล์วสเตนเลสของรถฝรั่งมากลึงใส่  เพราะมันมีขนาดที่โตกว่า  คลัตช์ก็ซื้อที่ร้านบุญผ่อง  เพราะเค้านำเข้าผ้าเบรก ผ้าคลัตช์ ของ Ferodo  ก็เปิดฝาสูบทำเล่นทุกคืนวันเสาร์  จากพี่ที่เค้าเคยมาช่วยทำ ก็เริ่มมาทำคนเดียว ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ซึ่งความรู้ที่ได้ก็มาจากเพื่อนพี่สาวกับที่โรงเรียน เพราะประเทศไทยในยุคนั้น โรงเรียนมัธยมที่สอนวิชาเครื่องยนต์มีที่ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เพียงที่เดียว ซึ่งก็ตรงกับความตั้งใจที่อยากเรียน  ซึ่งเมื่อจบประถมที่ราชวินิต  ก็ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เป็นในช่วงการปรับเปลี่ยนการศึกษา จาก มศ.1 มาเป็น ม.1 เป็นปีแรก

“ขึ้นชื่อว่าคนนะ คนชอบก็มี หรือคนเกลียดก็ต้องมีบ้างแหละ
แต่คงไม่เยอะหรอก ไม่งั้นเราอยู่ในวงการไม่ได้นานขนาดนี้หรอก”

จะบอกว่าตอนเรียนมัธยมที่สามเสนฯ เป็นอะไรที่ชอบและตั้งใจมาก เพราะหลักสูตรการสอนช่างยนต์ในตอนนั้นเปรียบเสมือนของสายอาชีวะเลย  แต่ก็จะมีแค่เรื่องของเครื่องยนต์  เครื่องมือ เครื่องใช้ที่มีไว้สอนน้อยมาก ก็เลยเอาเครื่องยนต์ที่บ้าน พวกเครื่องที่เอามาผิดรุ่น หรือเครื่องที่ขายยากๆ เอาไปสนับสนุนการศึกษาให้กับโรงเรียน  ก็จะได้มีเครื่องยนต์ไว้เวิร์กช็อปตอนอาจารย์สอน

ซึ่งคืนวันเสาร์จะเป็นอะไรที่ชอบมาก เพราะได้ทำรถ  แล้วออกไปลอง แรกๆ ก็พัง รื้อซ่อมใหม่  เป็นอย่างนี้มาตลอด จนจับทิศทางได้  แต่ในวันทั่วๆ ไป ถ้าเลิกเรียนในช่วงเย็นก็จะไปที่อู่อาจิตต์การช่าง เพราะอยู่ใกล้บ้าน  ในตอนนั้นแกเป็นตัวแทนจำหน่าย TRD  เลิกงานก็จะรวมตัวกันหน้าอู่  ขับรถไปทุกเย็นก็ “ดึงโบ” เข้าที่จอดหน้าอู่แบบนี้ทุกวัน  จนเค้าเรียกว่า “ไอ้ตี๋ซ่า” เพราะอายุเด็กสุดในรุ่น  เค้าไปไหนก็ตามไปด้วย  อย่างออกไปซิ่งรถกันที่ถนนสุขุมวิท  หน้าร้านข้าวต้มสีฟ้า โรงแรมชวลิต   เค้าจะแบ่งฝั่งจับกลุ่มอยู่คนละฝั่งถนน  แข่งกันบนถนน ก็ไม่ได้ว่าโล่งๆ แล้วอัด ใครแรงกว่ากัน ยุคนั้นเค้าแข่งมุดกันอย่างเดียว ไม่มีแบบแข่งแรงๆ เหมือนยุคนี้ รถ MITSUBISHI ที่ใช้ก็เป็นรถเล็กๆ  ล้อ 10 นิ้ว ของคอสมิค  เพราะรูล้อเท่ากับรถออสติน มินิ  ใส่ยางหลัง 8 นิ้ว  ยางหน้าเรเดียลทั่วไป  ท่อไอเสียออกข้าง  เสียงลั่นๆ ถนนเลย   เล่นไปสักพักก็อยากได้รถที่คันใหญ่ขึ้นกว่านี้ ก็ซื้อ TOYOTA COROLLA KE30 แล้วที่บ้านก็มีเครื่อง 2TG อยู่แล้ว ซึ่งเจ้าเครื่องรุ่นนี้ ตัวแรกจะเป็นเครื่องคาร์บูเรเตอร์  รุ่นหลังๆ จะเป็นหัวฉีด ฝาสูบทำจาก Yamaha เค้าเรียก 2TG ตัวหนังสือใหญ่

“ทุกคนเอาปัญหามาหาเรา  เราคือคนแก้ปัญหา”

ในช่วงนี้แหละที่เริ่มอยากแข่งรถยนต์ทางเรียบจริงๆ แทนที่จะซิ่งบนถนน  แต่ว่าเงินไม่มี ก็เลยไปปรึกษากับ ป๋าฉัตร สรุปว่าก็ให้ไปอู่ พี่กมล ซุบารุ ตอนนั้นแกอยู่แถวๆ กล้วยน้ำไท  คือก็เอารถเข้าทำ  โดยเค้าจะสอนวิธีการทำรถให้ แล้วให้หัดทำเอง ก็นับว่า ป๋าฉัตร นี่เป็นอาจารย์รุ่นแรกๆ ที่สอนโมดิฟายครื่องยนต์  เรียกแบบว่ารื้อเครื่องออกมาทำทั้งตัว  เรียกว่าวิชาพวกนี้ไม่มีในตำรา เพราะสมัยนั้นไม่มีวัตถุดิบของซิ่งแบบตรงรุ่น  ต้องทำการดัดแปลง เทียบชิ้นส่วนกันใหม่หมด แต่ใช่ว่าไปแข่งกับเค้าแล้วชนะนะ…แพ้ตลอด  เพราะในยุคนนั้นรถแข่งจากเมืองนอกเริ่มนำเข้ามาแข่งในเมืองไทย  ของเราใส่ยางสลิค  เข็นแทบจะไม่ไป  จำได้ว่ารถแข่ง Starlet KP61 ของพี่เกี๋ยง แค่ยืนพิงรถไหลปิ๋วเลย  รถเค้าเบามาก  ไม่มีทางไปเทียบกันได้เลย  แข่งยุคแรกก็เอาเครื่อง 2TG ออก เพื่อไปวิ่งรุ่น 1,400 ซี.ซี. ทำเครื่อง K (เอียง) ไปวิ่งกับเค้าก่อน แล้วขยับมาเป็นเครื่อง K (ตั้ง) แล้วก็เริ่มใส่เกียร์โค้ท   ตอนนั้นวิ่งในรุ่นอายุไม่เกิน 25 ปี  ก็จะมี พี่เดช, พี่ช้าง, พี่บุรินทร์ ศรีตรัย, ธีระเดช-ธีระยุทธ  จิราธิวัฒน์  รถแข่งของเราไม่เร็วเท่าไหร่  เข้าทางตรงก็โดนสวนกันไป แต่มันส์มาก ในยุคนั้นก็จะไปแข่งที่สนามบินลพบุรี  เช่าโรงแรมม่านรูด ทำเป็นพิต ยกเครื่องกันที่นั่นเลย

ส่วนไฮไลต์การแข่งขันก็ต้องเป็นรุ่นโอเพ่น  ป๋าฉัตร กับ พี่แดง อภิชาติ ร่วมกันทำรถให้ พี่กมล ซุบารุ ขับ เพราะพี่เค้าขับรถฝีมือมาก  พี่ปั้น พฤฒิรัตน์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ กับ พี่จิ๋ว ปรีดา จุลละมณฑล ใช้ Sunny KB110 วางเครื่อง G  ก็อยู่ทีมเดียวกันโดยมี ป๋าฉัตร เป็นคนทำให้  เพราะแกศรัทธาเครื่อง G มาก  เครื่องตัวนี้จะวางอยู่ใน Skyline รุ่นเก่า เป็นเครื่อง Cross Flow ไอดี ไอเสีย อยู่คนละฝั่ง ส่วนเครื่อง L ไอดี ไอเสีย อยู่ฝั่งเดียวกัน เป็นเครื่อง Turn Flow  ป๋าฉัตร เองก็ขับ Stanza PA 10  4 ประตู เครื่อง G เหมือนกัน

ซึ่งการแข่งรถกับการศึกษาก็เป็นเส้นขนานควบคู่กันไป จบมัธยมปีที่ 3 ที่สามเสน วิทยาลัย ก็ไปศึกษาต่อ ปวช. 1 ที่ช่างกลสยาม และก็ปี 2-3 ไปเรียนต่อที่ช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพ  ก็แข่งรถไปด้วยตลอด  จนจบ ปวช. น่าจะประมาณปี 1983 เป็นช่วงที่เริ่มมีรถรุ่นใหม่ๆ อย่าง TOYOTA DX (KE70) เข้ามาแล้ว  ก็ต้องไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ทางสายอาชีวะข่างยนต์เหมือนเดิม  เสาร์-อาทิตย์ ก็ไปช่วยธุรกิจทางบ้าน  แต่พอในช่วงรอบที่ไม่มีใครขึ้นมาทำงาน  ก็จะไปอยู่ที่โรงงานมัตซึโอกะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน  ขอเค้าเข้าไปช่วยงาน  เพื่อที่จะเรียนรู้  โดยไม่เอาค่าตอบแทน  อยากจะบอกว่าที่นี่เค้าเก่งมาก สอนทุกอย่างที่อยากรู้   ไม่มีหวงวิชาเลย  ใช้ชีวิตเป็นนักเรียนญี่ปุ่น  6-7 ปี ก็กลับมาช่วยธุรกิจทางบ้านที่ประเทศไทย ซึ่งจุดเปลี่ยนชีวิตที่ร้ายแรงที่สุดก่อนก็คือ เกิดอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ใหญ่ล้ม ตอนอายุ 25 ปี ในวันศุกร์ที่ 13  ส่งผลให้ร่างกายไม่ดี  ตอนนั้นก็คิดว่าร่างกายเราทำอะไรไม่ได้ ก็เสียเวลาไปอยู่พักใหญ่  แต่คนรอบๆ ข้าง ครอบครัว  เพื่อนฝูง  ทุกคนดีหมด คอยอยู่กับเรา ให้กำลังใจ ก็รักษาร่างกายอยู่พักใหญ่  แต่มันเหมือนจะเป็นอัมพาตที่แขน ก็มีคุณหมอท่านนึงแนะนำว่า  มีหมอรุ่นพี่คนนึงอยู่โรงพยาบาลสวนดอก เค้าเพิ่งกลับจากญี่ปุ่น โดยไปฝึกงานเกี่ยวกับลักษณะแผลที่เราเป็นอยู่ คุณหมอท่านนั้นชื่อ คุณหมอปรีชา  ก็เลยเดินทางไปหาคุณหมอปรีชา  ท่านก็ให้ต่อโทรศัพท์ถึงอาจารย์ของท่านที่ญี่ปุ่น  ทางนั้นก็ตอบรับการรักษาโดยให้เดินทางไปรักษาที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่าตัดทั้งหมด 7 ครั้ง ใช้เวลา 4-5 ปี  โดยจะต้องผ่าตัดบริเวณซี่โครง เพื่อนำเส้นประสาทมาใช้บังคับแขน  บริเวณกล้ามเนื้อที่แขน พอนานไปเริ่มเสื่อม ก็ต้องนำกล้ามเนื้อที่ขา ย้ายเส้นเลือด เส้นประสาท มาเพื่อใช้ที่แขน  ย้ายเส้นเอ็นที่ทำขยับได้หลายๆ นิ้ว มารวมกันเป็นเส้นอันเดียว  เพื่อจะให้งอข้อศอกได้ ต้องใส่เฝือกดามอยู่ 4 เดือน ไม่สามารถนอนได้  ต้องนั่งหลับตลอดที่ใส่เฝือก  จนเมื่อถอดเฝือกออก  นอนยังไงก็ไม่หลับแล้ว  ต้องนั่งหลับสถานเดียว  เพราะชิน… แต่ในที่สุดมาคิดว่า  ตัวเราเองก็ยังสามารถทำอะไรได้เหมือนเดิม  สมองคิดสั่งการทำงานได้  ก็เลยเริ่มฟื้นตัว กลับมาลุยสายรถซิ่งต่อ  แต่ในเมื่อทางด้านเกียร์ธรรมดาเริ่มจะไม่สะดวกสำหรับการใช้งาน  ก็เลยมาเริ่มเล่นกับเกียร์ออโตเมติก จะสังเกตว่ารถทุกคันที่ใช้จะเป็นเกียร์ออโตเมติกทุกคัน

ตอนช่วงที่กำลังจะเปิดร้านก็มีความสนิทสนมกับพี่สันต์ Driver Sound มาก  พี่เค้าก็ชวนไปเปิดร้านที่รังสิตด้วยกัน  ก็คิดชื่อไม่ออกจะตั้งชื่อร้านว่าอะไร พี่เค้าบอกให้ชื่อ Driver Motorsport ไปเลย  ก็เลยเป็นชื่อมาจนทุกวันนี้  เปิดครั้งแรกที่ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต  ยุคแรกๆ  ก็หิ้วของมาขาย กับทำรถไปด้วย มันเป็นยุคที่รถซิ่งเฟื่องฟูมาก  ลูกค้ามารอตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด ก็จะมี  อั๋น Kansai, ตี๋ boat, เฮียชัย เวิร์ค เพาเวอร์, โรม มีนบุรี, จูนบายลิ้ม  และอีกมากมาย เป็นช่วงที่ Drag เฟื่องฟูมาก  พอทำไปทำมาสักพักก็กลับไปเล่นเซอร์กิตอีกครั้ง แต่ร้านที่ฟิวเจอร์ฯ ก็ยังทำคู่กันไป  เพราะทีมป๋าฉัตร ตอนนั้นเป็นทีมใหญ่มาก แกเริ่มดูแลไม่ทั่วถึง  ก็เลยให้มาแบ่งๆทีมกันออกไปทำกันเอง  แล้วก็มาแบ่งความรู้จากส่วนกลางออกไปทำรถกัน โดยสายที่ต้องรับผิดชอบดูในตอนนั้น ก็มี  คุณมี่ ธนากร อัษฎาธร, คุณปาล์ม ธนัญชัย ตระกูลทอง, คุณจ้ำ กรัณฑ์ ศุภพงศ์, คุณบอย สรวงศ์ เทียทอง  ตกกระไดพลอยโจนกลายไปเป็นผู้จัการทีม ฉัตรชัย เรซซิ่ง อย่างไม่รู้ตัว

ในช่วงที่ถนนวิภาวดี ทำถนนโทลล์เวย์  มันเริ่มเดินทางไม่สะดวก  วันๆ นึงเสียเวลาเดินทางไปทีละ 4-5 ชั่วโมง เริ่มรู้สึกว่ามันเสียเวลาโดยใช่เหตุ ก็ตัดสินใจย้ายร้านกลับไปที่ย่านปทุมวัน เพราะว่าใกล้แหล่งวัตถุดิบ ก็เปิดรับทำรถ  โดยเฉพาะงานประเภทดัดแปลง  จะเป็นเรื่องที่ถนัดมาก  ซึ่งก็ได้มาจากป๋าฉัตร  เพราะท่านเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาก ในยุคนั้นก็จะมีอะไรแปลกๆ แบบคิดเองทำเอง ไม่เหมือนกับใครเค้าให้เห็นเสมอ พอมาหลังๆ งานมีทั้งหน้าร้าน  และงานที่สนามแข่ง  ก็เลยไม่ค่อยมีเวลามาสร้างอะไรสนุกๆ ออกมาเล่น  ยิ่งประสบการณ์จากสนามแข่งที่สอนให้รู้ว่า  จะทำอะไรต้องเผื่อเวลาให้เยอะๆ  ไม่ใช่มาหวดกันหน้างาน ก็ต้องยกเครื่องยกเกียร์กันตลอด  กลายเป็นว่าไม่มีซ้อม แข่งจริง แบบนั้นทำเท่าไหร่ก็ไม่ชนะ  ก็เลยเซตระบบใหม่คือ หลังจากแข่งจบ กลับมาก็ยกเครื่องออกเลย  ค่อยๆ ทำตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้มีเวลาซ้อม เช็กกันไปเรื่อยๆ  ซึ่งทุกครั้งที่ทำรถจะเริ่มต้นที่ว่า  “ก่อนที่จะให้คนขับปรับตัวมาหารถ รถเราต้องปรับตัวไปหาคนขับให้ได้เยอะที่สุดก่อน” ทำอย่างไรก็ได้ให้จิตใจเค้าสบายๆ  จะได้ไม่พะวงตอนขับ เริ่มต้นตั้งแต่ตำแหน่งการนั่งขับ  คันเกียร์  พวงมาลัย เลย  อีกอย่างคือ รถต้องขับง่าย  เครื่องไม่ต้องแรงสุดๆ หรอก  เพราะเค้นมากไป โอกาสเสี่ยงพังมีสูง เอาแบบกลางๆ แล้วมีโอกาสชนะดีกว่า

“ไม่มีใครทำงานคนเดียวได้หรอก
ไม่มีใครเก่งได้ทุกเรื่อง  เพราะการแบ่งปันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันเร็ว  คนเก่งมีมากขึ้น แต่หลายอย่างมันคือก้าวกระโดด คนมีองค์ความรู้น้อยมาก ของทุกอย่างต้องการทักษะ ต้องการความชำนาญ  อะไรที่มันถูกทำบ่อยๆ มันจะเกิดเป็นความเคยชิน แล้วก็จะกลายเป็นความเชี่ยวชาญ เป็นประสบการณ์ มันก็จะได้ในเรื่องที่พอเจอปัญหาก็จะทำได้เร็ว กำหนดอะไรก็กำหนดได้ง่าย  แต่!! วิเคราะห์ไม่ได้  แล้วก็อีกเรื่องคือ การพัฒนา  ลองผิดลองถูกโดยไม่มีทฤษฎีมารองรับเลย  แบบนี้คือเปลืองเงิน แล้วไม่ได้ผล เท่าที่ควรจะเสียเงินไปขนาดนั้น  ดังนั้น เราต้องมีทฤษฎีเป็นหลักก่อน แล้วก็ควรมีทั้งเหตุและ ผล   แต่เมื่อเทคโนโลยีมันก้าวกระโดด คนจะคิดแค่ว่า  ทำแบบนี้  แล้วต้องออกมาเป็นแบบนี้ นั่นคือคิดแค่ผลในทางเดียว  แต่เค้าจะไม่ทราบกระบวนการที่ทำให้เกิดผลอย่างที่เค้าเห็นนี้  มันได้มาอย่างไร มันหลากหลายปัจจัยมาก
จากประสบกาณณ์  เคยทำรถให้ทีมเด็กมหาวิทยาลัยขับ  เค้าออกไปขับ  กลับมา ก็คอมเมนต์มากมาย เลี้ยวไม่เข้า เบรกไม่ดี   ก็ถามเค้าว่าอาการเป็นไงมั่ง  เปิดฝากระโปรง แล้วก็ก้มๆเงยๆ ทำนู่นทำนี่  พอไปวิ่งกลับมาอีกรอบ  เค้าบอกรถดีกว่าเดิมมาก  แจ๋วเลย  ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย  ตรงนี้เป็นเรื่องที่เจอบ่อยมาก  ซึ่งมันเป็นจุดที่บ่งบอกว่า ถ้าคนที่เค้ารู้จริงๆ เค้าจะจับอาการของรถได้ทันที  ซึ่งเรื่องจิตใจมีผลมากกับนักแข่ง อย่างรถที่ชนมาตอนแข่งก็กลับมาซ่อม   ร้อยทั้งร้อยยังไงก็ไม่ได้ดีเหมือนกับรถที่ยังไม่เคยชนหรอก  ลองบอกไปสิ ว่าซ่อมมาแล้วดีกว่าเดิมเยอะ แต่ในความที่ดีกว่าเดิม มันจะขับแล้วไม่เหมือนเดิม ต้องไปลองแล้วก็ระวังจุดนี้นิดหน่อย มันจะไม่เหมือนของเดิม  นักแข่งไม่กังวลก็จะทำให้ขับดี แต่ถ้าไปบอกว่า ต้องระวังนู่น นี่ นั่น  ไม่งั้นแย่  เท่านั้นแหละ รับรองเจ๊ง  กลัวจนขับไม่ได้แน่นอน ดังนั้น เรื่องนึงเลย ในเชิงของความรู้สึก  เราก็ต้องให้กำลังใจกันไปก่อน  ไม่บั่นทอนกันตั้งแต่ไม่ออกสตาร์ต  แต่นั่นคือสถานการณ์ของการแข่งขัน  แต่ถ้าเป็นในกรณีรถบ้านๆ  ก็ต้องบอกเค้าให้หมด ว่ามันจะมีผลเสียที่ตามมาเป็นอย่างไร  ตรงไหนควรแก้ไขก่อน หน้า-หลัง

ในช่วงที่ร้านอยู่ที่ปทุมวัน  ก็มีความสุขกับงานดี ทุกอย่างดีหมด แต่ที่ย้ายอู่กลับมาอยู่ที่ วิภาวดี ซ.20 มีแค่เหตุผลเดียว คือเมื่อตอนคุณพ่อเสีย  ทำให้คุณแม่ต้องอยู่คนเดียว เพราะสมัยทำเซียงกงอยู่ก็จะมีคนงานอยู่ที่นี่อยู่แล้ว  แต่พอไม่ได้ทำแล้ว ก็เลยอยากกลับมาดูแลคุณแม่ด้วย  ก็เลยย้ายมาอยู่ที่นี่เลย แล้วก็ยังคงเปิดร้านทำรถเหมือนเดิมไปในตัวด้วย  แล้วก็หาซัพพลายเออร์ใหม่  ใกล้ๆ บ้าน  แบ่งปันความรู้กัน  ถ้าทำได้ในแบบมาตรฐานที่เราเป็นก็ร่วมงานกัน  หรือถ้าไม่ได้ก็หาเจ้าต่อไป  ซึ่งตอนนี้นอกจากทำรถแล้ว  ก็เริ่มมีงานเกี่ยวกับ “รถไฟ” เข้ามา  ด้วยความสนิทสนมจากพี่ท่านนึงโทร.มาปรึกษา อยากจะให้ช่วยแก้ปัญหาให้ “เกียร์ของรถไฟ” ไม่ทำงาน   ทำให้รถเคลื่อนขบวนไม่ได้  ก็เลยมาขอร้องให้ช่วยเหลือ ก็เลยขอไปดูหน้างานก่อน ซึ่งระบบเกียร์ของรถไฟ  เป็นแบบ Duo Clutch โดยใช้คลัตช์ไฟฟ้าเป็นสับเปลี่ยนเกียร์  ก็ไม่มีอะไรมาก  ง่ายกว่ารถยนต์เยอะมาก  เพราะฟังก์ชันไม่มีอะไรเยอะ

“หากวันนึงคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว… วันนั้นแหละคือวันที่โง่ที่สุด”

ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นว่าในการทำงานแต่ละครั้ง  นอกจากทีมช่างแล้ว ก็จะมี  “วิทย์” มาช่วยเสริมอีกคน  ซึ่ง วิทย์ ในตอนที่เรียนอยู่ เค้าทำรถ “Formula Student”  ก็ติดต่อเข้ามาขอความรู้ผ่านทาง “พี่หมู” ในเรื่องของ “ECU” ก่อน ซึ่งก็เห็นเค้าทำอะไรแต่ละอย่างน่าสนใจ แล้วประสบการณ์ทางรถตัวเราก็มีเยอะอยู่แล้ว มีอะไรก็แบ่งปันให้น้องๆ ได้รู้  พอเค้ามีอะไรก็แบ่งปันมาให้เรารู้  เหมือนเป็นการแชร์ความรู้ให้กัน  เพราะเดี๋ยวนี้รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ทำยากขึ้นเยอะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าเราเข้าใจหลักการทำงาน  อีกทั้ง วิทย์ เอง เค้าก็คล้ายกับเรา คือชอบเรียนรู้ที่จะทำอะไรแปลกๆ และเค้าก็มีวิชาการที่แม่นยำ และข้อมูลใหม่ๆ มาอัพเดตเสมอๆ”

เป็นพี่ใหญ่ในวงการ ที่ใช้ชีวิตได้ครบทุกรูปแบบ ก็อย่างที่พี่เหน่งบอก เค้าไม่ได้เก่งที่สุด  แต่ว่าเค้าอยู่ในวการนี้นานที่สุดคนนึงเหมือนกัน  รถซิ่งถนน 80’s – 90’s รู้จักพี่เค้าดีแน่นอน  แต่สำหรับน้องๆ รุ่นใหม่ อาจจะแค่เคยได้ยินชื่อ  แต่ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ คุณจะรู้จัก พี่เหน่ง Driver Motorsport เหมือนกับที่ผมและพี่อีกหลายๆ ท่านที่รู้จักกกับพี่เค้ามาป็นสิบๆ ปีอย่างแน่นอน…