STORY : T.Aviruth (^_^!)
PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่
ฉันว่าเป็นอะไรที่มากกว่า “แชมป์” ถ้าคุณได้รู้ถึงความตั้งใจของสองพี่น้อง “ลีลากนก” ที่วิ่งเข้าหาเป้าหมายได้จนสำเร็จ แม้ว่าระหว่างทางที่มาจะเจอกับอุปสรรคปัญหา แต่นั่นมันมีไว้ให้แก้ไข ไม่ใช่เดินหนี นี่คือบทพิสูจน์ของลูกผู้ชาย ที่ผมจะถ่ายทอดความรู้สึกของเค้าทั้ง 2 คนมาเป็นตัวหนังสือให้คุณได้รับรู้ไปพร้อมๆ กันครับ…
จากวันที่ประชุมเรื่องของการจัดการต้นฉบับในเล่มถัดไป มันเหมือนกับ “ชะตาฟ้าลิขิต” ให้เป็นเช่นนั้น เมื่อได้ยินว่า รถกระบะสวนส้มสุรชัย คว้าแชมป์มาหมาดๆ เราก็รู้สึกตื่นเต้นยินดีกับความสำเร็จของ พี่นุ และ พี่ยุ้ย ไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมฟังแล้วขนลุก! เมื่อได้ไปเจอพี่ทั้งสองท่านในวันนัดหมาย นั่นคือคำพูดที่ว่า “พี่ว่าจะเก็บรถคันนี้แล้วล่ะ” ภาพในหัวผมมันนึกย้อนกลับไปนึกถึงวันในอดีตตอนที่ผมเห็นรถคันนี้วิ่งผ่านเส้น เห็นพี่ยุ้ยดีใจ เห็นทีมงานเฮลั่น เฮ้ย! มันใช่เหรอ? ที่ภาพเหล่านี้จะป็นแค่ความทรงจำ ช่วงที่ความคิดผมเตลิด กำลังอินไปกับความทรงจำ แล้ว พี่นุ ก็สะกิดที่แขนผมแล้วชี้ให้ดูหน้ายาวคันข้างๆ พร้อมพูดว่า “พี่จะทำคันนี้” มันกระชากฟีลสุดๆ แต่ถึงอย่างไรก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีให้กับความสำเร็จที่สองพี่น้อง “ลีลากนก” ตั้งใจไว้ แล้วก็กำลังจะก้าวไปในโปรเจ็กต์ใหม่ที่ใหญ่และยาวกว่า…
ใช่แล้วครับ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สวนส้มสุรชัย จะใช้ Dragster หรือรถหน้ายาวในการทำสถิติ ซึ่งอะไรที่ทำให้เค้าทั้งสองตัดสินใจใช้รถหน้ายาวแทนรถกระบะคันเดิม และกระบะ ISUZU KB ไปไหน? พี่นุ และ พี่ยุ้ย พร้อมจะเล่าให้ฟังตั้งแต่จุดเริ่มต้นกันเลยครับ บทสัมภาษณ์นี้เป็นเรื่องราวของทั้ง 2 ท่านที่จะสลับกันเสริมไปมาระหว่างที่ผมสัมภาษณ์ ผมจะขอสรุปรวมเลยแล้วกันนะครับ ไม่งั้นเขียนสลับไปมา พี่นุ พูดที พี่ยุ้ย พูดที เดี๋ยวจะอ่านแล้วสับสน โดย พี่นุ และ พี่ยุ้ย ได้เริ่มบอกกับเราทุกคนว่า “จากจุดเริ่มต้นของวัยรุ่นที่มีกระบะแต่งซิ่งคนละคัน ยุคนั้นก็เรียกว่าซิ่งถนนทั่วไป เส้นบางใหญ่-บางบัวทอง รถของยุ้ย แต่งเต็มสุด ซึ่งคุณพ่อก็ไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ “มันขัดใจพ่อ” ก็เลยโดนขายไปในตอนนั้น ส่วนรถผม ยังไม่สุดเท่ารถยุ้ย ยังเป็นทำเฮดเดอร์ ฉีดแก๊ส ทำกับ “น้าค่อม มนตรีดีเซล” ก็เหลือคันนี้คันเดียวไว้ซิ่งกันสองพี่น้อง จากเครื่อง 2.5 เฮดเดอร์ไม่ไหว ก็เลยขยับมาเป็น 3.1 เทอร์โบ ก็ยังคงอัดเล่นบนถนนเหมือนเดิม
ซึ่งเมื่อก่อนสมัยสนามพีระฯ ผม 2 คนก็ไปนะ แต่ตอนนั้นได้แค่ตามไปดูรุ่นพี่ ยังไม่มีรถขับเลย จนมาถึงยุคสนาม MMC นี่แหละ ก็เอา 3.1 เทอร์โบ ไปวิ่งกับเค้าด้วย “โคยาเบิร์ด” ซึ่งเป็นเพื่อนกับยุ้ย ตั้งแต่สมัยเรียนที่นครนายก ก็เล่นรถมาด้วยกันตลอด เค้าขับ L200 เครื่อง 1G-GTE ได้บอกว่า เปลี่ยนเป็นเบนซินเถอะ เพราะดีเซลมันก็วิ่งได้นะ แต่มันไม่อึดเหมือนเบนซิน ก็เลยตัดสินใจยกดีเซลออก เปลี่ยนเป็นเครื่อง 2JZ-GTE ชนเกียร์ธรรมดา 1JZ-GTE เพราะถ้าเป็นเกียร์ธรรมดาของ 2JZ เลย ยุคนั้นราคาท่วมเลย ซึ่งก็ต้องบอกว่ายุคนั้น ยังไม่เปิดกว้าง เครื่องยนต์วายริ่งสายไฟกันยังไม่สมบูรณ์เลย เอาแค่ติดเครื่องวิ่งได้แค่นั้นเอง พอเปลี่ยนเครื่องก็ใช่ว่าจะแรง ยังโดน VTEC อยู่เลย ก็เริ่มหาของแต่งตามเซียงกง กล่องโม หัวฉีด 550 ซี.ซี. แคมซิ่งอีกคู่ โดย “โคยาเบิร์ด” นี่แหละ เป็นธุระจัดการเรื่องของแต่งให้ ซึ่งผมเองในตอนนั้นก็ต้องช่วยกิจการของบ้านที่เชียงใหม่ ส่วนยุ้ยเองก็อยู่กรุงเทพฯ พอมีงานแข่งที่สนามฯ 700 ปี ยุ้ยก็ขับเจ้ากระบะคันนี้แหละ ไป-กลับ ตลอด เรียกว่าใช้งานด้วย ใช้วิ่งแข่งสนามด้วย เครื่องในตอนนี้เป็นเทอร์โบเดี่ยว Holset เริ่มใช้ Power Fc จูนในตอนนั้น โดยมี “SPEED D” นี่แหละเป็นคนจูน ก็ตามยุคตามสมัย จูนบนถนนบ้าง บนทางด่วนบ้าง สเต็ปเครื่องยนต์ในตอนนั้นเริ่มมีทำท่อนบนแล้ว “โคยาเบิร์ด” ก็ไปทำงานอยู่กับ “พี่ทูน TOON ENGINE SHOP” ในยุคสมัยอู่อยู่แถวบางนา พี่ทูนเป็นคนประกอบเครื่องให้ ในอู่เค้าตอนนั้นนะ เข้าไปมี GTR R32 R33 ทำเต็มไปหมด แล้วก็มีรถผมนี่แหละ เป็นกระบะคันเดียวท่ามกลางฝูง GTR
จน “โคยาเบิร์ด” ย้ายไปทำกับ “พี่อ๊อด” น้องชายพี่ทูน ที่อู่ WINS TUNING SHOP รถคันนี้ก็ย้ายตามเค้าไปอีก ซึ่งไม่ว่าเค้าจะไปไหน รถคันนี้เค้าก็จะเป็นผู้ดูแลให้ตลอด จากตรงนี้แหละก็เป็นการเดินทางเข้าสู่สนามแข่งแดร็กอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมา วิ่งถนนบ้าง วิ่งสนามที่สร้างเฉพาะกิจบ้าง พอได้มาสัมผัสกับสนามที่ใช้เพื่อการแข่งขันจริงๆ ก็มีความรู้สึกว่ามัน Safety ไม่ต้องเสี่ยงบนถนน ไม่ต้องทำให้ชาวบ้านเค้าเดือดร้อน ไม่ต้องหลบหนีตำรวจ ก็เริ่มต้นเรื่อยๆ มา ตอนนั้นรถกระบะวิ่งแดร็กมีน้อยมาก เป็นยุคของ Cefiro มากกว่า แข่งทีเกือบยี่สิบคัน เหนื่อยเลย ทำการบ้านเยอะมาก เพราะ Cefiro แรงทุกคัน แบทเทิลสุดๆ ซึ่งมันก็พอวิ่งสู้กับเค้าได้นะ จากจุดนี้แหละทำให้มีกำลังใจที่จะทำรถต่อ ก็เลยเริ่มไล่เบา ถอดนู่น ถอดนี่ออก แต่ก็ยังเป็นโครงสร้างรถเดิมนะ ใช้แหนบเหมือนเดิม ยุ้ยจะเป็นคนขับตลอด เพราะตั้งแต่ตอนวิ่ง MMC ผมก็ขับสลับกับยุ้ย แต่ไม่นิ่งเท่าเค้า ก็เลยให้เค้าฉายเดี่ยวเลย ส่วนผมเป็นคนวางแผนการในการทำรถทั้งหมด
จากการที่ไปลงวิ่งแข่งในสนามอยู่บ่อยครั้ง ก็เริ่มรู้จักและมีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น “พี่นัท หรือ พี่ชนินทร์” ที่เรารู้จักกันนี่แหละ เค้าไปเที่ยวเชียงใหม่ แล้วก็ถือโอกาสแวะมาพวกผมที่สวนส้ม มันเป็นจังหวะพอดีที่รถของผมมีปัญหาเรื่องเกียร์ มันเริ่มทนไม่ไหวกับกำลังของเครื่องยนต์ ก็ลองเอาเกียร์ซิ่งมาใส่นะ แต่มันยังไม่ใช่ “โคยาเบิร์ด” บอกว่าต้อง “Powerglide” แล้วล่ะ ก็เลยมีโอกาสคุยเรื่องเกียร์กับ “พี่นัท” โดยอยากจะให้พี่เค้าสั่งเข้ามาให้ ในตอนนั้นก็มีของผม กับของ “พี่ญา Service” สั่งเข้ามาพร้อมกันคนละลูก พอเกียร์มาถึง ลองใส่ดู ก็ยังออกตัวไม่ได้ ต้องมาไล่ลูกทอร์คใหม่ จนลงตัว แล้วรู้สึกว่าเกียร์ลูกนี้แหละมันใช่ ซึ่งจากการทำรถคันนี้มา ปัญหาที่แก้ยากที่สุด และต้องปรับอยู่ตลอดเวลาคือระบบแหนบของช่วงล่างหลัง ก็ “โคยาเบิร์ด” นี่แหละเป็นผู้ปรับช่วงล่างให้ ตลอดจนทำให้รถคันนี้วิ่งดีขึ้นเรื่อยๆ พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่ รถวิ่งดีก็มาเป็นประเด็นที่เรื่องรุ่นของการแข่งขัน เพราะรถผมวิ่งในรุ่นยาง 275 พอใส่เกียร์
ออโต้ Powerglide เวลาก็จะดีกว่าเดิมมาก ก็เลยทำให้ต้องแยกรุ่นการแข่งขันออกมา ในตอนนั้นดันรถผมขึ้นไปวิ่งกับรุ่นใหญ่เลย พวกรถสเปซเฟรมทั้งหลาย ก็ยังพอวิ่งเกาะๆ กลุ่มกับเค้าไปได้นะ ซึ่งพอผมมาลง Souped Up ก็เปิดรุ่น Pro 6 Modify ขึ้นมา ก็มีโอกาสทำเวลาไปติดอยู่ใน Top Ten ก็ทำให้รู้สึกมีกำลังใจที่จะไปต่อ จำได้ว่าตอนเข้ามาวิ่งในรายการ Souped Up ช่วงแรกๆ ตอนที่สนามคลอง 5 เปิดใหม่ๆ ผมกับยุ้ยยังมีแค่รถแข่งคันเดียว พิตเซอร์วิสก็ไม่มี ทีมเซอร์วิสไม่มีเลยนะ มีแต่ “โคยาเบิร์ด” นี่แหละ ไปชักชวน “ไก่ ชิมวาล์ว” เข้ามาร่วมทีมในการเซตอัพรถคันนี้
และในที่สุดก็ขยับขึ้นมาเป็น “Super Max” โดยให้ “ป๋าแดง Drag Master” ทำช่วงล่างหลังให้ใหม่ เป็น 4 Links เรียกว่าเป็นการกลับมาสู่วงการแดร็กอีกครั้งของป๋าเลยในตอนนั้น แต่พอหลังจากปรับช่วงล่างหลังใหม่ รถก็เหมือนต้องมาเริ่มเซตใหม่อีก ก็ยังใช้เวลาตามหาสถิติใหม่อยู่นานกว่าจะกลับมาวิ่งได้ คือผมเองชอบคิดและชอบลองทำ ส่วนยุ้ยเองเค้าก็เป็นคนขับ ซึ่งแต่ละครั้งที่ได้ขับก็ต้องปรับตัวทุกครั้ง เพราะไม่เคยมีอะไรเหมือนเดิมเลย ทำไปทำมา เริ่มมีการหล่อหัวรถใหม่ ทำช่วงล่างหน้าใหม่ เพราะของเดิมรถกระบะเป็นทอร์ชั่นบาร์ มันปรับเตี้ยไม่ได้อย่างที่ต้องการ เรียกได้ว่า สเต็ปนี้มีการปรับใหม่ทั้งคัน แต่ยังมี “แชสซี” รถกระบะเดิมอยู่ เพราะว่าความตั้งใจของรถคันนี้ต้องการเพียงวิ่งในรุ่น Pro 6 Modify ไม่ได้ต้องการให้เป็นรถเฟรมที่สร้างใหม่ทั้งคัน ซึ่งเจ้าคันนี้ก็เป็นเสมือนรถครูให้พวกผมได้เรียนรู้วิวัฒนาการที่จะทำรถคันนึงให้เร็วที่สุด เท่าที่มันจะทำได้ ซึ่งเจ้า ISUZU KB เริ่มเข้ามาประจำการในช่วงนี้แหละ ด้วยเหตุผลที่ว่า ตอนที่เริ่มปรับทำช่วงล่างให้คันนี้อยู่ กลัวเวลาไม่พอ รถจะเสร็จไม่ทัน จะทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ก็เลยเอา ISUZU KB มาเป็นรถแข่งสำรองไว้
ในใจเคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าทำรถมาจนสุดขนาดนี้แล้ว อยากได้เวลาประมาณ 7.6 วินาที ซึ่งมันก็ทำได้อย่างที่ตั้งใจ ยุ้ยเค้าเป็นคนขับเอง เค้ารู้ว่าเครื่องไปได้อีกแหละ แต่ก็อยากที่โอเวอร์ลิมิตจนเกินไป พอเริ่มเอาเจ้า ISUZU KB มาทำวิ่ง มันก็วิ่งได้นะแต่ก็ยังไม่ดีพอ เอาเป็นว่า “ไม่ฝืน” ดีกว่า ก็เลยคิดว่าคงต้องไปเริ่มต้นลุยต่อกันที่ Dragster นะ จะเป็นทางออกที่ลงตัว โดยเจ้ารถหน้ายาวคันนี้ก็ไปสานต่อโปรเจ็กต์มาจากลูกค้า “บุญตา ราม 77” เค้าไม่ไปต่อ ซึ่งเจ้าเฟรมตัวนี้สร้างไว้สำหรับใส่ “เกียร์ลม” ซึ่งเจ้าเกียร์ออโต้ที่ผมมีเป็น “ตูดยาว” ก็เลยเจรจาจัดมาทำต่อ มันก็เป็นช่วงรอยต่อในการหาจุดเปลี่ยนให้กับเจ้า ISUZU KB เพราะเครื่องก็ดี เกียร์ดี แต่รถวิ่งไม่ได้ ก็เลยมาเป็นโปรเจ็กต์ของหน้ายาว แต่ก็ใช่ว่าจะวิ่งดีเลย มันก็ต้องมาหาจุดที่มันลงตัวต่อไปเรื่อยๆ ส่วนเจ้าคันส้มนี่ เป็นรถที่วิ่งได้เวลาเสถียรสุด แล้วสเต็ปเครื่องคันนี้ก็เป็นเครื่อง 2JZ ขนาด 3.4 ลิตร ซึ่งในระยะหลังๆ ก็เริ่มมาไล่ในเรื่องของแอโรบอดี้ เพราะรถผมวิ่งแล้วประตูระเบิดบ่อย เริ่มมี Wheelie Bar แล้วถ้าสังเกตจาก Souped Up ปลายปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าตอนชู้ตออกตัว รถผมวิ่งตรงมาก!!! ซึ่งเครดิตนี้ต้องยกให้ “AOR 77” เลยครับ เค้าเป็นผู้ปรับให้ในการวิ่งที่ผ่านมา ซึ่งไม่อยากไปรบกวน “ป๋าแดง” เพราะลูกค้าแกเยอะมาก ทำกันไม่ทัน
ถ้าถามว่าวันนี้มันใช่ที่ตั้งใจแล้วหรือยัง? ก็บอกเลยว่าใช่ สำหรับรถคันนี้แล้ว เวลาที่ดีที่สุดคือ 7.69 วินาที ผนวกกับคุณพ่อของผม ท่านขอให้หยุดมาหลายปีแล้ว ซึ่งผมกับยุ้ยก็มานั่งทบทวนว่า ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา เราก็ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด ก็เลยตกลงกันว่า “จะหยุด” คันนี้ไว้ที่ตรงนี้ อีกอย่างคือ จะได้มีเวลาทุ่มเทให้กับหน้ายาวได้อย่างเต็มที่ แล้วที่สำคัญสุดๆ คือผมสงสารน้องจากหลายๆ อู่ที่มาช่วยดูแลรถให้ผม “เหมือนรถกฐินเลย” บางทีมาช่วยลงแรงแบบไม่มีค่าตอบแทน เค้าก็เต็มใจมาช่วยผม ในความตั้งใจของผมกับยุ้ย กะจะเก็บรถกระบะคันส้มไว้ในสภาพนี้เลย ไม่มีถอดของ อะไรที่ต้องซ่อม ต้องบำรุงก็นำไปทำแล้วเอามาใส่กลับที่เดิม วันนึงที่อยากจะขับ มันต้องพร้อมวิ่งได้ทันที
.
จะบอกว่าประทับใจแล้วภูมิใจในตัวรถกระบะคันนี้มาก เรียกได้เหมือนเพื่อนคู่กายมาตั้งแต่เด็ก โดยแมตช์ประทับใจก็ต้องยกให้ตอนที่วิ่งบุรีรัมย์ที่ผ่านมา เพราะตอนนั้น รถคุณบอย สรวงศ์ เทียนทอง เร็วกว่าผมอยู่ ผมวิ่งรันที่ 2 ได้ 7.8 วินาที แต่ผมยังเหลืออีกรัน ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่ารันที่ 3 จะวิ่งได้ดีกว่านี้มั้ย เพราะยุ้ยขับแล้วมีความรู้สึกว่าเกียร์มันลื่นๆ ก็เลยวางแผนว่าดันรอบดันบูสต์เพิ่ม เพื่อให้มันผ่านจุดนั้นไปในรอบสุดท้าย เพราะมันแก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว ก่อนวิ่งก็ถามน้องในทีมว่า คุณบอย สรวงศ์ เทียนทอง รันสุดท้าย แบ็กอัพเวลาได้มั้ย? น้องมันก็ไม่ค่อยอยากจะบอกว่าได้ เพราะกลัวว่าจะกดดัน เพราะรถกำลังจะปล่อยตัว ก็ชู้ตออกไปตามปกติ ปรากกฏว่ามันดีมาก 7.69 วินาที บอกเลยว่าดีใจมาก เพราะมันเหมือนกับการก้าวผ่านเศษเสี้ยวของวินาทีลงมาอีกขั้น มันเป็นการชนะตัวเองที่ไปถึงยังเป้าหมายไว้ได้สำเร็จ
ในส่วนโปรเจ็กต์หน้ายาวที่ได้คุยกับ “AOR 77” ไว้ เครื่อง 2UZ แล้วถักเฟรมหน้ายาวลำใหม่ขึ้นมา โดยตั้งเป้าไว้ให้สำเร็จก่อนเดือนตุลาคม ปีนี้ เผื่อเหลือเวลาในการเซตอัพให้เข้าที่ แล้วซ้อมให้คุ้นเคย เนื่องด้วยกระแส Top Ten ในปีสองปีที่ผ่านมา ผมว่ามันแรงมาก หลายๆ คนอยากก้าวขึ้นไปสู่จุดนั้น ซึ่งชั่วโมงนี้ ถ้าเป็นรถประตู มีโอกาสเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ แต่ก็พยายามตั้งใจทำให้ดีที่สุดในทุกครั้งที่ลงสนาม โดยตั้งเป้าไว้บนโปรเจ็กต์หน้ายาวไว้ที่ 6 วินาที แต่นั่นก็เป็นเพียงการกำหนดเป้าหมายไว้ แล้วที่จะต้องทำต่อไปก็คือเดินไปให้ถึง บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลามาก แต่ก็ต้องผ่านไปให้ได้อย่างที่ตั้งใจ เหมือนกระบะคันส้ม กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ มันต้องแลกมาด้วยเวลาและประสบการณ์ และอีกสิ่งสำคัญที่ทำรถให้รถคันนี้มาถึงตรงนี้ได้ ก็คือทีมงานผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็ขอขอบคุณ โคยาเบิร์ด, พี่ทูน, สปีด ดี, ไก่ชิมวาล์ว, ป๋าแดง, อ๋อ 77, พี่ชาญ อินเตอร์, ช่างโด้ อู่รวมเจริญยนต์ เซอร์วิส, ช่างลาน สาระชัย การช่าง สระบุรี, อุป วายริ่ง และ แจ๊ค กับ เชียร JC Sport เชียงใหม่, พี่นัท และ พี่ทิม กับ พี่วุธ Redline Oil ครับ ลำพังผมกับยุ้ย ไม่มีอู่ ทำแต่สวนส้ม ถ้าไม่ได้ผู้ที่ความสามารถเฉพาะทางมาร่วมมือกันแบบนี้ รถคันนี้ก็มาไม่ถึงจุดนี้ครับ”
นี่คือความภาคภูมิใจของพี่น้องทั้ง 2 คน ที่อยากจะเล่าส่งต่อ เพื่อสื่อถึงการขอบคุณทุกคนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่ทำให้เค้าทั้งสองมีวันนี้ได้ หลังจากนี้ต่อไป เรามาร่วมเชียร์ และลุ้นเวลากันครับ ไปด้วยกันครับ กับ “หน้ายาวสวนส้ม”
#GO6 แรงแค่ไหนจะพูดยังไงก็ได้ แต่ “เวลา” ไม่เคย “โกหก” ใคร
LEO Presents ECU=Shop Souped Up Thailand Records 2017
รอบจัดอันดับ 9-10 ธันวาคม ณ Bangkok Drag Avenue