My Name Is… ม่อนซ่า

 

STORY : T.Aviruth (^_^!) / Photo : ธัญญนนท์ แสงภู่

เปลี่ยนความชอบให้กลายเป็นอาชีพที่ใช่ เพื่อบอกถึงตัวตนที่แท้จริง

ผมเชื่อว่ามันไม่บังเอิญหรอก…การที่คนเราจะทำอะไรแบบนี้ได้  แล้วไต่ระดับขึ้นมาเป็นที่ยอมรับในคนหมู่มาก  ทั้งๆ ที่อาชีพนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทย   เค้าสร้างกันมานาน  แต่ทำไมเค้าถึงขึ้นมายืนแถวหน้าได้  ผมว่าถ้าไม่แจ๋วจริง  ชื่อ Monza Shop มาไม่ถึงเบอร์ต้นๆ ได้อย่างแน่นอน

บอกตรงๆ นะ ครั้งแรกที่เห็น “Monza Shop”  ผมนี่เห็นหน้า  “พี่ตี้ Monza Speed” ลอยออกมาเลย ให้ตายเถอะ นี่พูดตรงๆ เลย อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น  จนวันนึงผมเริ่มเห็นชื่อ “Monza Shop” ติดอยู่กับพวกงาน “คาร์บอน” เพิ่มมากขึ้น  เฮ้ย!! นี่ไม่ใช่ อย่างที่เราคิดนี่นา นั่นแหละจากจุดนั้น ผมก็รู้แล้วว่า  2 ร้านที่ชื่อ “พ้องรูป” แต่ไม่พ้องเสียง  เค้าทำธุรกิจกันคนละอย่างเลย   ถ้า “Monza Speed” ออกเสียงว่า “มอนซ่า สปีด” อันนี้ทำเครื่องยนต์  ทำเฟรม  ฉายา  ตี้ มอนซ่า   แต่ถ้าเป็น My Name is…เล่มนี้   เค้าชื่อ “Monza Shop”  ออกเสียงว่า “ม่อนซ่า ช้อป” ที่นี่ชำนาญนักเรื่องงาน “คาร์บอนไฟเบอร์”  ลดน้ำหนัก ปรึกษา “พี่ม่อน” ครับ

ถ้าได้ยินสถานที่  “พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ หรือ ช้างสามเศียร สมุทรปราการ” ที่เราจะเห็นช้างสามเศียรเด่นสง่า มาตั้งแต่บนทางด่วน  ใช่แล้วครับ  คุณมาไม่ผิดที่หรอก   ถ้าคุณจะมา Monza Shop  เพราะนี่คือแลนด์มาร์คที่ชัดเจนในการเดินทางมาร้านนี้  (อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ) เพราะทุกครั้งที่ผมมา  ผมก็จะกำหนดแบบนี้เป็นที่ตั้ง  จะทำให้เดินทางมาสะดวกขึ้นครับ

 

เมื่อมาถึงโชว์รูมนะครับ  สำหรับท่านที่ไม่เคยมาสัมผัส  จะตะลึงกับชุดเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นงานคาร์บอนไฟเบอร์อย่างแน่นอน  ต้องใช้คำไม่สุภาพนิดนึง  แต่ออกมาจากใจว่า “โคตรสวย” ผมไม่รีรอที่ถามเจ้าของนะครับ  ว่านั่งได้มั้ย?  ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นชุดเฟอร์นิเจอร์ต้อนรับลูกค้า ก่อนหย่อนก้นสัมผัสก็มีอาการเกร็งเล็กน้อย  เพราะกลัวเสียงจะลั่นดังเปรี๊ยะ!! เพราะน้ำหนักผมก็เอาการนะ ร้อยนิดๆ ก่อนก้นสัมผัสมีอาการเกร็งมาที่น่องเล็กน้อย แต่เมื่อสัมผัสแล้ว ปล่อยเต็ม  เฮ้ย!!  มันนั่งสบายนะ!!    ประจวบกับ “พี่อ้วน”  เดินเข้ามาทักทายพอดี  พร้อมบอก นั่งเต็มที่ครับ  ไม่แตก หักแน่นอน  มาถึงตอนนี้  มีชื่อ “พี่อ้วน” เพิ่มมาอีกคนแล้ว  เค้าเป็นใครล่ะ??  เป็นคำถามในใจที่ทิ้งไว้ให้คิด?  เมื่อ พี่ม่อน มาถึง  ผมก็ไม่รอช้าที่จะเริ่มงานของผมเลย  เพราะคิดว่างานนี้คุยกันยาวแน่  กลัวจะติดลมไหลยาว เหมือนๆ แขกรับเชิญท่านอื่นๆ ที่ผ่านมา  ผนวกกับวันที่นัดเป็นวันศุกร์ช่วง 4 โมงเย็น  การจราจรคงหยุดนิ่ง นั่งมองหน้ารถคันข้างๆ กันตลอดการเดินทางอย่างแน่นอน…

เอาล่ะ เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ เรามารู้จัก “พี่ม่อน” กันตอนนี้เลยครับ  “ ซึ่งถ้านับจากปัจจุบัน ทวนเข็มนาฬิกากลับไป ผมเปิดอู่ Monza Shop มาได้ประมาณ 6 ปีแล้ว  ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเริ่มกิจการนี้ก็เป็นคนเล่นรถซิ่งคนนึงทั่วๆ ไป  ผมเริ่มรู้จักและสัมผัสกับรถซิ่งมาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว  เรียนไปด้วย แต่งรถไปด้วย ตามประสาเด็กวัยรุ่นทั่วไปครับ   ผมมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน  โดยพี่อ้วนเป็นพี่ชายคนกลาง  ส่วนผมเป็นคนสุดท้อง  พี่อ้วนนี่แหละ เค้าเป็นคนซื้อรถคันแรกให้ผม ตอนนั้นก็ Honda Civic  EG 3 ประตู นี่แหละ  ผมก็จัดแจงวางเครื่องใหม่เลย  จะได้ซิ่งหน่อย  ตอนนั้นเหรอ งานคาร์บอนฯไม่ค่อยมีใครรู้จัก ตอนนั้นน่าจะมีเพียงไม่เกิน 3 ร้านในประเทศไทย ที่รับงานคาร์บอนฯ ในยุคแรกๆ ก็จะเป็นพวกงานกระจกมองข้าง  ของจุกจิก  ชิ้นเล็กๆ ไม่ใหญ่ไม่โต หลังจากนั้นก็เริ่มมีฝากระโปรงหน้าคาร์บอนฯ เกิดขึ้น  ในความคิดผมตอนนั้นไม่ได้คิดว่าสวยหรือเจ๋งอะไรเลยนะ  ผมคิดเพียงว่า  โรงงานที่ทำของชิ้นนี้  มันต้องมีพื้นที่ใหญ่มากอย่างแน่นอน  เทคโนโลยีในการผลิตต้องเต็มระบบอย่างแน่นอน  ถึงจะทำชิ้นงานแบบนี้ได้ แต่ก็ยังไม่คิดอะไรมาก  เพราะว่าผมคลุกคลีอยู่กับงานประเภทนี้มาก่อนแล้ว   1 ใน 3 ร้านที่ผมบอก  มีร้านของญาติผมอยู่ในนั้นด้วย  ผมก็เอารถ Honda EG  คันเก่งผมนี่แหละไปทำ  แต่มันไม่ได้ดั่งใจ!!  จุดเริ่มต้นมันมาจากตรงนี้แหละ  อยากได้สวยๆ ได้ของถูกใจ  มันต้องลงมือทำเอง  เพราะนิสัยส่วนตัวผมเป็นคนพิจารณาในการเลือกของเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น อะไรไม่ถูกใจ  ก็ต้องหาที่ถูกใจมาจนได้

เรื่องมันเกิดขึ้นตรงวันเกิดของผมแหละ  “พี่อ้วน” ถามผมว่า  อยากได้อะไรวันเกิด ผมบอก “พี่อ้วน” มันก็ประจวบเหมาะเลย  ผมอยากทำงานพวกคาร์บอนฯ ให้ได้ดั่งใจ  ก็เลยเอ่ยปากบอกพี่อ้วนไปแบบนั้น เท่านั้นแหละ ชีวิตเปลี่ยนเลยไง  พี่อ้วน จัดให้แบบเต็มระบบ จุดกำเนิดของร้าน Monza Shop เกิดขึ้นมาจากตรงนี้  ซึ่งตอนนั้นตัวผมเองก็ยังเรียนอยู่ปี 4   ใกล้จะจบแล้ว ช่วงนั้นเริ่มว่างแล้ว  พอศึกษาจบได้ประมาณเกือบๆปี  ผมก็เริ่มกิจการอย่างเต็มรูปแบบเลย  โดยชื่อร้านนี่มาจากในตอนนั้น  ก็บอกตรงๆ ว่า ซิ่งรถถนนบ่อย  โดยเฉพาะแถบชลบุรี  ในตอนนั้นคำเรียกต่อท้ายว่า “ซ่าส์” กำลังนิยม   ใครเค้าก็เรียกผมว่า “ม่อนซ่าส์”  ผมก็เลยใช้คำนี้แหละ มาตั้งเป็นชื่อร้าน  ฟังแล้วจำง่ายดี   อีกอย่างก็เป็นชื่อผมเองด้วยครับ

 

บอกตรงๆในยุคนั้น  งานคาร์บอนฯ เป็นเรื่องที่ไม่แพร่หลายเหมือนอย่างในปัจจุบัน  ผมจึงต้องรับทำงานสีควบคู่กับงานคาร์บอนฯ ไปในตัว  ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน งานทำสีผมก็ต้องเลิก  เพราะกระแสความนิยมในชิ้นงานที่เป็นคาร์บอนฯ มีความต้องการเพิ่มขึ้นหลากหลายเท่าตัว หลังจากเปิดร้านได้ 3 ปี  ซึ่งจุดเริ่มต้นของงานพวกคาร์บอนฯ ตามที่ผมมอง ทุกคนรวมทั้งผมก็จะเริ่มจากการที่มีชิ้นงานมาหุ้มก่อนเป็นอันดับแรก  แต่พอทำไปผมก็เริ่มมีความรู้สึกว่า  “มันไม่ใช่” งานคาร์บอนฯ มันต้องเบา!! เหนียว แข็งแรง  ถ้ายิ่งหุ้มทับ มันก็จะกลายเป็นเพิ่มน้ำหนัก  ไม่ใช่แนวทางนี้แน่ ก็เลยเริ่มที่จะสร้างงานที่เป็นตัวมันเอง ขึ้นโมลด์เอง หลายคนคงสงสัยว่า ผมทำแบบนี้ เอาความรู้มาจากไหน เพื่อมาทำ ก็เห็นว่าเรียนจบแล้วมาทำเลย  ซึ่งความรู้ทั้งหมดที่ผมนำมาใช้ประกอบอาชีพนี้  ก็ได้มาจากตอนที่ผมเรียนนั่นแหละ ผมเรียนวิศวกรรมศาสตร์  เกี่ยวกับเครื่องกลเรือ  ซึ่งตอนที่ผมเรียนมันเป็นยุคถ่ายเท จากเรือโครงสร้างเหล็ก มาเป็น ไฟเบอร์  แล้วผมก็มาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอีก  ซึ่งเมื่อผมจบ ก็ต้องกลับไปเป็นอาจารย์ สอนนักศึกษาอีก 1 ปีครับ

หลังจากช่วงที่ผมเริ่มมาจับงานด้านคาร์บอนฯ เพียงอย่างเดียวแล้ว ผมก็ยิ่งอยากรู้ให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้น  ทำทุกอย่างที่จะให้ตัวเองได้รู้และเข้าถึง ค้นคว้าทุกทาง ต่างประเทศก็บินไปดูงานของเค้า ก็ได้เห็นว่า ในพวก Super Car แบรนด์ท็อปๆ ทั้งหลาย  งานผลิตพาร์ทของเค้า ไม่ใช่ระบบที่ผลิตกันประเทศไทยเลย ผมก็เลยจับตรงจุดนี้แหละ  นำมาพัฒนา จากความชอบให้กลายเป็นอาชีพ ที่ใช่ตัวตนของผมจริงๆ

 

แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชื่อของ Monza Shop เดินทางสู่วงการแดร็กก็เกิดขึ้นจากเพื่อผมที่ชื่อ “ดอย” เอารถของเค้ามาทำกับผม  เค้าก็ถามผมว่าอยากทำรถลงสนาม  ผมเองก็บอกเค้าว่า ถนนเคยขับนะ  แต่สนามแข่งเนี่ย ยังไม่เคยลองเหมือนกัน  ก็ตกลงกันว่า ทำรถแข่งออกมาคนละคัน เพื่อจะลองไปวิ่งสนาม ก็ไปวิ่งแข่งแดร็กด้วยกัน  รุ่นเดียวกัน  ความรู้สึกยิ่งทำ มันยิ่งชอบ ยิ่งลุยก็ยิ่งลึก เริ่มจาก B16, B18, B20 ไล่ลงมาเรื่อยๆ  จนกระทั่งดอยเค้าไปทำเครื่องเทอร์โบ  ผมก็เลือกที่เล่น NA จากจุดนี้แหละ เริ่มมีคนรู้จักงานคาร์บอนฯ ของผมมากขึ้นเรื่อยๆ  เพราะตลอดระยะเวลาที่ทำรถแข่งของผมและเพื่อน  ก็เป็นการทดสอบงานคาร์บอนฯ ที่ผมสร้างไปในตัว  ว่าใช้งานในการแข่งขันจริงจะทนรับสภาวะได้มากน้อยเพียงใด

 

จุดพีคมันเริ่มต้นขึ้นในช่วงกระแสดีเซลเริ่มโด่งดัง ผมมองการตลาดตรงนี้ว่า นี่แหละ  “รถตลาด”  คนทุกคนเข้าถึง  จับต้องง่าย  แต่งได้สวย  ก็เลยออกงานเพื่อมารองรับรถกระบะ  ซึ่งได้การตอบรับดีเหนือความคาดหมาย  มิหนำซ้ำ  งานคาร์บอนฯของผมเริ่มมีต่างประเทศให้การยอมรับ  แล้วสั่งผลิตภัณฑ์ของเราไปขายในประเทศของเค้าด้วย อาทิ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

ผมมองว่าที่ต่างชาติเค้ามาให้การยอมรับ สั่งงานของเราไปขายในบ้านเค้า  จุดหลักของผมที่ใส่ใจลงไปในชิ้นงานจะแบ่งแยกออกเป็น 2 ส่วน  แต่ต้องเดินคู่กันคือ  ใช้งานจริงกับความสวยงาม  ผมนำความรู้ที่เรียนมาใช้ในการทำงานจริง เรื่องแรกคือ ความปลอดภัยต้องมาก่อนเสมอ  นั่นคือ แข็งแรง ทนทาน  และสิ่งที่ตามมาก็จะเป็นเรื่องของความสวยงามควบคู่กันไป โดยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ  แต่ผมมองเห็นเป็นเรื่องใหญ่ เสมอ คือ  ความเงา  มิติ เข้ารูป  ซื้อไปร้อยนอตใส่ได้ทันที

 

ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้  ผมรับผลิตงานคาร์บอนอยู่ 2 ประเภท  อย่างแรกคือ งานคุณภาพที่ทำอยู่ทุกวัน  กับงานอีกประเภทผมเรียกว่า “ไฮเอนด์” จะเป็นงานในกรรมวิธีที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ มีในต่างประเทศ ที่ใช้ในรถ Super Car หรือในพวกรถแข่งตามสนาม  รวมถึง Super Bike แบรนด์ต่างๆ  เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ทำงาน กรรมวิธีลักษณะนี้  ผมนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว  โดยในปีนี้ตั้งใจว่าจะเริ่มทยอยออกงาน “ไฮเอนด์” ให้คนไทยได้มีของคุณภาพไว้แต่งรถกันครับ

นอกเหนือจากงานคาร์บอนฯ ที่ทุกคนคุ้นเคย  ก็ยังมีของซิ่งจากต่างประเทศที่ผมนำมาทำตลาดควบคู่กันด้วย  เพราะโดยนิสัยส่วนตัวที่ชอบแต่งรถให้สวยเป็นทุนเดิม   ครั้นตอนเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา  เพื่อดูงานคาร์บอนฯ ซึ่งก็เผอิญว่าไปตรงกับงานแข่งรถแดร็ก (NHRA) ที่จัดขึ้นที่นู่นพอดี  ผมก็ไปดูงานแข่งเค้า ก็มีความรู้สึกว่า  รถแข่งแดร็กในบ้านเราน่าจะมีอุปกรณ์ที่ทำมาเพื่อรถแดร็กใช้อย่างแพร่หลายบ้างนะ  ซึ่งในตอนนั้น อุปกรณ์เหล่านี้จะมีเฉพาะรถแข่งหัวๆ ของบ้านเราเท่านั้นเอง กลับมาก็เลยจัดการเปิดธุรกิจนำเข้าอะไหล่สำหรับแดร็กเหล่านี้เข้ามาจำหน่ายในบ้านเรา  แล้วก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี  เพราะว่าเราชอบ และเราเล่น  ดังนั้น เวลาลูกค้ามา เราก็สามารถแนะนำให้ลูกค้าได้อย่างชัดเจน  อีกทั้งในเรื่องของราคา เราก็สามารถกำหนดราคาให้จับต้องได้  ด้วยการขอเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ก็เลยกลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

 

ในปีหน้านี้ ผมตั้งใจจะไปลุยตลาดเฟอร์นิเจอร์ โดยเอาความชำนาญที่เรามีมาแปรสภาพ  จากพาร์ทรถ  มาเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เพราะในระยะหลังคนไทยที่เล่นรถ เริ่มให้ความสนใจกับที่จอดรถมากขึ้น  หันมาตกแต่งบ้านให้เป็น Garage Life ในฝัน มีรถสวยจอด มีที่จอดรถเก๋ๆ  ผมก็เลยเริ่มมองธุรกิจทางด้านนี้ เพื่อแตกยอดของลูกค้าให้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีแต่กลุ่มรถ  ก็ขยายไปกลุ่มตกแต่งบ้าน  ซึ่งมองแล้วว่าตลาดจะเริ่มกว้างมากขึ้น  ซึ่งผมคิดว่าจากจุดนี้ ผมสามารถต่อยอด ทำให้เป็นศูนย์กลางของเอเชีย โดยถ้าคุณคิดถึงงานคาร์บอนฯ คุณต้องคิดถึง Monza Shop”

 

เป็นผู้ชายที่น่าจับตามองในแง่กลไกการตลาดมาก มีการแตกแขนงความชำนาญที่มีให้หมุนเปลี่ยนทันต่อเหตุการณ์ของโลกอย่างเสมอ  รู้แล้วยังครับว่า ผู้ชายที่ชื่อ อาทิตย์ สิริตั้งตระกูล (ม่อน) และ ณรงค์ชัย สิริตั้งตระกูล (อ้วน) มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร…

ประโยคโดนใจ

พี่อ้วนถามว่า  ลงทุนให้จะทำได้มั้ย?  ความคิดในวันนั้นบอกเลยให้แค่ 50% แต่ในใจมุ่งมั่น 100%  เพราะมันเป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจ  เรายังมองไม่เห็นปลายทาง  แต่ถ้าใจมันได้  ผมก็ต้องไปให้ถึงปลายทางอย่างที่ตั้งใจได้เช่นกัน

 

โอกาสมีมาให้เราคว้าแล้ว  อยู่ที่ตัวเราแล้วล่ะ  คว้าโอกาสแล้วจะเดินต่อไปถึงความสำเร็จหรือไม่

 

ผมตั้งใจทำงานเฉพาะทาง ที่มีใช้กันใน Super Car, Super Bike หรือรถแข่งสนาม  ให้กลายมาเป็นงานที่ใช้กันในรถบ้าน