STORY : T.Aviruth (^_^!) / PHOTO ธัญญนนท์ แสงภู่
“ทำรถเนี่ยต้องคิดว่ามันจะทนกับสภาพคนขับของเราได้ขนาดไหน ไม่ใช่ว่าเค้าทุ่มสตางค์ให้เราเยอะ เราก็ซื้อของดีๆ มาใส่ทุกอย่าง แล้วผลปรากฏว่า คนขับก็ขับไม่ได้ รถก็โอเวอร์เกินความจำเป็นทุกอย่าง มันไม่มีความพอดีในตัวเลย แบบนี้ก็พังสูญเปล่า”
ต้นกำเนิดของแวดวงรถซิ่งยุค 90’s รวมถึงบุคลากรคนดังๆ ที่รู้จักกันดี ล้วนแต่กำเนิดขึ้นที่นี่หลายคน จากยุคประชาชื่น สู่ลาดพร้าว 122 ล้วนมีตำนานเล่าขานของคนแต่ละยุค จากสิบเอ็ดพ้อยท์ กลายเป็น น้อย อีเลฟเว่น ได้อย่างไร คงไม่มีใครที่จะบอกเรื่องราวของตำนาน Noi Eleven ได้เป็นอย่างดี นอกเสียจากเจ้าตัวมาเล่าให้ฟังเองครับ…
ครั้งแรกที่ก้าวลงจากรถหน้าอู่พี่น้อย…ภาพความเป็นวัยรุ่นเมื่อสิบกว่าปีก่อน มันวิ่งเข้ามาในหัว ในตอนนั้นจะเห็นกลุ่มวัยรุ่นพร้อมรถซิ่งหลากหลายจอดกันเต็มระบบ บรรยากาศคลาคล่ำไปด้วยวัยรุ่นที่นำรถมาเซอร์วิส หรือไม่ก็เป็นที่รวมตัวกันหลังเลิกเรียน หรือมาก่อนโรงเรียนเลิกก็มี อันนั้นก็ไม่ว่ากัน สิทธิส่วนบุคคล เอาเป็นว่า เมื่อก่อนพื้นที่ตรงนั้น ถ้าเทียบเป็นแหล่งแฟชั่น ก็อารมณ์เดียวกับสยามแสควร์ ประมาณนั้นเลย บอกเลยว่าเพียบ!
ซึ่งบรรยากาศในวันที่ผมไปหาพี่น้อยในวันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2557) มันกลายเป็นความทรงจำ บรรยากาศที่สงบเสมือนอู่ซ่อมรถเรียบๆ ง่ายๆ ซึ่งถ้าใครไม่รู้จัก ไม่เคยมา ก็คงไม่คิดหรอกว่า ที่นี่เคยมีตัวแรงๆ ระดับหัวแถวของประเทศ ประจำการอยู่หลายคัน จากการเดินสำรวจบรรยากาศไปโดยรอบๆ สายตาผมก็สอดส่องไปเห็นรถ”ระดับโลก” หลายคันสงบนิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นรถที่คุ้นตาจากงาน Souped Up Thailand Records รถพวกนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในเมื่อฤดูการแข่งขันเกิดขึ้นอีกครั้ง
มิตซูบิชิ กาแลนท์ สีน้ำเงินเข้ม วิ่งเข้ามาจอดที่อู่ พร้อมกับผู้ชายในตำนาน สวมเสื้อลายตารางสีเขียวเทอร์ควอยซ์ ลงจากรถมา เห็นแวบแรกก็คิดว่านานมากแล้วนะที่ไม่เจอกับพี่น้อย ดูไม่เปลี่ยนไปจากเดิมเลย หลังจากยกมือไหว้สวัสดี กล่าวคำทักทาย ก็แนะนำน้องในทีมที่มาด้วยกันให้รู้จักกับตำนาน น้อย อีเลฟเว่น ตัวจริงเสียงจริง เคยเห็นกันก็แค่สติ๊กเกอร์ Noi Eleven วันนี้ล่ะ จะได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงกันสักที
พี่น้อยชวนผมไปนั่งในมุมประจำที่ใช้นั่งทำงานที่อู่ แกบอกว่าจะให้โลดโผนเหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่ไหว อายุก็ 65 แล้วปีนี้ ก็ได้วิเคราะห์ แล้วตรวจงาน ส่วนเรื่องงานประกอบที่ต้องใช้ “เคลียแรนซ์” คืองานเดียวที่ยังคงทำด้วยตัวเองอยู่ เพราะมันคือหัวใจหลักของเครื่องกลทั้งหมด หลังจากนั้นผมก็เริ่มเปิดคำถามเข้าเรื่องถึงตำนาน น้อย อีเลฟเว่น!! พี่น้อยยิ้ม แล้วก็เริ่มเล่าให้ฟังว่า “ ตั้งแต่อายุ ประมาณ 18-19 ปี นี่แหละ ก็เริ่มฝึกการทำงานเกี่ยวกับรถยนต์มาตลอด ซึ่งในสมัยนั้นการทำรถไม่ได้แบ่งแยกเหมือนยุคนี้ ว่าเครื่องยนต์ต้องที่นี่ ช่วงล่างที่โน่น ไม่ใช่เลย คือจะทำพร้อมกันทั้งหมด โดยตัวผมเองก็จะเริ่มต้นจากช่วงล่างมาก่อน แล้วถัดมาก็เป็นในส่วนของเครื่องยนต์ และต่อด้วยระบบไฟ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ ร่วมสามสิบกว่าปีแล้วล่ะ ยุคนั้นก็จะเป็นพวก ซันนี่ ฟอร์ด ออสติน ก็รับทำหมด ไม่ได้แบ่งแยกรถฝรั่งหรือญี่ปุ่น จนมาในช่วงที่มีการแข่งขันแรลลี่ซึ่งนิยมมากในสมัยนั้น ยุคแรกๆก็ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขันโตก ยุคประมาณนั้นเลย ซึ่งผมเองก็มาคิดว่า ถ้าจะเปิดกิจการรับซ่อมแซมอยู่แบบนี้เรื่อยๆ ก็คงไม่มีดีแน่ ก็เลยเริ่มต้นเข้าสู่วงการแรลลี่ด้วยการทำรถให้กับลูกค้าที่อยากจะไปแข่งขันในรายการต่างๆ ในยุคนั้น
แล้วผมก็ทำรถของผมเองด้วย เป็นรถมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ไฟแอล (รถคันนี้ชื่อลูกหมู) ไปแข่งในครั้งแรก ก็จับฉลากเบอร์ได้เบอร์สิบเอ็ด จากรถที่เข้าร่วมการแข่งขันในวันนั้นสองร้อยกว่าคัน ผลปรากฏว่าผมวิ่งได้อันดับหนึ่งในรุ่น ได้ทั้งถ้วย และเงินรางวัลก็แจกน้องๆ แบ่งกันไป พอไปแข่งครั้งที่สอง เป็นงานแข่งของมิตซูบิชิ จัดขึ้นที่ชะอำ ผมก็เลือกเบอร์สิบเอ็ดติดรถ เพราะเห็นว่าครั้งแรกใช้เบอร์นี้แล้วโชคดี ปรากฏว่าการผลการแข่งครั้งนี้ผมได้ที่ 2 ได้รางวัลเป็นตั๋วเครื่องบิน เดินทางไป-กลับ ประเทศญี่ปุ่น ทีนี้ก็เลยมานั่งคิดว่า ใช้เลขนี้แล้วมันโชคดี มีชัยชนะติดมาตลอด ก็เลยตั้งชื่อ “สิบเอ็ดพ้อยท์” ซึ่งผมก็ไปร่วมแข่งขันแรลลี่รายการที่ “เสี่ยโต้ง” เป็นผู้จัดการแข่งขัน หรืองานอินเตอร์ฯ ก็คว้าชัยชนะมาตลอด ในตอนนั้นก็มีกลุ่มของ มนัส ควรสถาพร และกลุ่มเชียงใหม่ ที่แข่งขันกันอยู่ บล็อกเครื่องยนต์ที่ใช้ก็ Saturn จะบอกว่าเครื่องแรงกว่าคู่แข่งมั้ย? ก็ไม่ใช่ เพราะเครื่องยนต์พอๆ กันทุกคัน ของผมได้เปรียบที่ “ช่วงล่าง” ในกลุ่มผมที่แข่งกันตอนนั้นก็มี คุณต๋อย, คุณปุ้ย, โกยี, คุณปอง กิติภูมิ เป็นเนว์ ให้ผมอยู่
จะบอกว่ารถซิ่งกับการแข่งในยุคนั้นเป็นอะไรที่นิยมมาก ก็เลยได้มาลองลงแข่งขันในรูปแบบเซอร์กิต ในรุ่นดาวรุ่ง ตอนนั้นทำรถฮอนด้า ปี 1978 ตัวตูดตัวแรก เครื่องยนต์ ZC ให้กับ คุณวุฒิไกร ส่วน คุณปอง กิติภูมิ ขับ BMW และคุณเกรียงไกร ขับดัทสัน ซันนี่ ในยุคนั้น ผลปรากฏว่า ครั้งแรกกับทางเรียบ ประสบความสำเร็จ คว้าที่หนึ่งไปครอง ซึ่งบอกได้เลยว่ารถคันนี้คือรถฮอนด้าคันแรกของเมืองไทย ที่ทำลงไปวิ่งแข่งขันในสนาม เล่นเอางงกันหมด ก็เลยตั้งใจว่าลองลงแข่งอีกสักสนามนึง เพื่อให้แน่ใจว่าทำได้ชัวร์ ก็เป็นไปตามความคาดหมาย เข้าป้ายที่หนึ่งอีกเช่นเดิม คะแนนนำทั้ง 2 สนาม สนามถัดมาเปลี่ยนเอา โตโยต้า โคโรลล่า ดีเอ็กซ์ เครื่องยนต์ 1,600 ซี.ซี. ไปลงแทน เพราะฮอนด้าคลัตช์พัง ซึ่งตอนสตาร์ทพร้อมกับ โตโยต้า เซลิก้า เครื่องยนต์โปร์โตไทพ์ 2,000 ซี.ซี. เวลาวิ่งต่างกันอยู่ 0.2 วินาที ในรอบควอลิฟาย ผลปรากฏว่า ได้ที่ 2 โอเวอร์ออล และเป็นที่ 1 ในรุ่น 1,600 ซี.ซี. ซึ่งการแข่งขันในรุ่นดาวรุ่ง จะแข่งทั้งหมด 4 สนาม ในสนามสุดท้ายก็เอา ฮอนด้ากลับมาวิ่งอีกครั้ง ปรากฏว่าหลุดโค้ง คลัตช์ขาด ไม่จบการแข่งขัน แต่คะแนนสะสมรวมก็ชนะที่ 1 ในรุ่นดาวรุ่งแห่งปี
ส่วนการแข่งขันแรลลี่ก็ยังแข่งอยู่เหมือนเดิม ถ้วยมี 15 ใบ ทีมผมกวาดไป 11 ใบ เรียกว่าเหมา กรุ๊ปเอ กรุ๊ปบี กรุ๊ปซี กันเลย หลังจากนั้นก็เริ่มอยากออกไปแข่งขันในต่างประเทศ เพราะมีแต่คนบอกว่าไม่เคยมีใครไปแข่งในประเทศมาเลเซียได้เลย ก็เลยทำรถคุณอุ้ย เป็นโตโยต้า ดีเอ็กซ์ 2 ประตู ไปแข่ง 1 คัน กลุ่มทางเชียงใหม่ส่งไปอีก 1 คัน และทาง ร.ย.ส.ท. ส่งไปอีก 2 คัน รวมเป็น 4 คัน การแข่งขันเป็นประเภทแรลลี่ ในป่าสวนยาง 4 คืน 5 วัน สรุปว่าที่ไปด้วยกัน ไม่มีใครจบ ส่วนของผมคว้าที่ 1 ของการแข่งขัน โดยมี คุณอุ้ยขับ คุณต๋อย พรเทพ สุพบุตร เป็นเนว์
หลังจากนั้น มร.ยามาโมโต้ เค้าเข้ามาในประเทศไทย เพื่อจะสร้างทีมแข่งรถยนต์ ก็มาชักชวนทีมผมไปอยู่ด้วยทั้งหมด โดยให้ผมเป็นผู้จัดการทีม แต่ผมก็ไม่ไปนะ ซึ่งหมดยุคตรงนั้น ผมก็ได้ย้ายอู่จากตรงถนนประชาชื่น บริเวณปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ มาอยู่ที่ลาดพร้าว ซอย 122 ก็อยู่ที่นี่มาแล้วไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี ถ้านับจากปัจจุบัน หลังจากที่ย้ายมาลาดพร้าว ก็เริ่มต้นใหม่โดยใช้ชื่อตัวผมเองว่า อู่น้อย อีเลฟเว่น (Noi Eleven) ก็เข้ามาสู่ยุคของ ดอน MoTec เค้าเข้ามาหาผมในยุคแรกๆ เลย แล้วก็ อรรถ N SPORTS SHOP คือตัวผมเองมีความคิดไม่ค่อยเหมือนใครอยู่แล้ว ในยุคที่เค้าเริ่มสั่งของแต่งจากญี่ปุ่น แต่เผอิญว่ามีคนรู้จักสามารถสั่งของจากทางอเมริกา ลูกสูบ Forged อะไหล่ต่างๆ อีกมากมายที่สั่งเข้ามาเพื่อโมดิฟายรถ ในยุคนั้นผมทำ ฮอนด้า ซีวิค EG แรงที่สุด เอาเครื่องยนต์คาร์บูเรเตอร์ 1,500 ซี.ซี. เดิมๆ มาทำเป็นหัวฉีด เซตเทอร์โบ โดยเครื่องทั้งตัวรวมทั้งเกียร์ ผมคำนวณเองหมด รถคันนั้นเป็นของคุณนิค แรงมาก หลังจากนั้นก็มีออกมามากมายหลายคันมาก มีรถคุณหม่อม Emotion R อีกคันที่วิ่งดุเดือด 12 วิ.กว่าๆ ในยุคนั้นก็แรงมากแล้ว
ในยุคนั้นแหละเป็นยุคที่กำเนิดกล่อง ECU เพราะผมมานั่งคิดว่า ทำเครื่อง-เกียร์-ช่วงล่าง ก็ทำได้ แล้วทำไมจะจูนไม่ได้ ทำไมต้องมานั่งง้อญี่ปุ่น รอเค้าบินมาทำให้ ก็เลยมีความคิดที่จะจูนกันเอง ก็เลยมานั่งปรึกษากันว่าทำอย่างไร ในช่วงแรกเป็น “เทคทู” ใช้ไดเร็กคอยล์ 4 ตัว ให้ ดอน นี่แหละเป็นคนจูน ตอนนั้นก็มี คุณนิค คุณแก้ว ก็มาช่วยทำด้วย เพราะกลุ่มนี้เค้าทำรถกับผมตั้งแต่สมัยอยู่คลองประปา พอผมย้ายมาที่ลาดพร้าว เค้าก็จบการศึกษากันแล้ว ก็เลยมาช่วยกันทำ สรุปว่าออกมาดี แต่มันลำบากตอนที่จูน คือผมเองเป็นคนขับ ฟังเสียงเครื่อง ส่วนดอนเป็นคนจูน พอเสียงเครื่องไม่ดีก็จอดดับเครื่อง แล้วจูนกันใหม่จนกว่าจะดี ในยุคนั้นก็ใช้คอมพิวเตอร์บ้านมาแปลงสัญญาณไฟ เพื่อใช้จูนในรถนี่แหละ
ซึ่งหลังจากนั้นก็มาเป็นยุค Haltech โดย คุณอรรถ N SPORTS SHOP เค้าเป็นคนนำเข้ามา ผมเองก็เริ่มทำรถให้กับเค้า เป็นรถอีโวลูชั่น 3 สีแดง แรงมากๆ ในยุคนั้น เป็นรถที่วิ่งได้ 10 วินาทีคันแรกของเมืองไทย ซึ่งรถคันนี้โดนสบประมาทไว้ว่า เครื่องแค่ 2,000 ซี.ซี. เอาเทอร์โบ HKS T51 R ลูกใหญ่มาใส่ ซึ่งคนที่เจอก็บอกมันวิ่งไม่ได้หรอก แต่ผมก็ทำให้มันวิ่งจนได้ เรื่องระบบอัตราทดทั้งคัน ถูกคำนวณใหม่หมด ก็เป็นยุคแดร็ก MMC ที่มาแรงมาก พอหลังจากยุคนี้ก็มาทำ 200 SX (ระดับโลก) ให้กับโอห์ม เครื่อง 2 JZ วิ่ง 8.3 วินาที
หลังจากนั้นก็หยุดเลยนะ!!! ไม่ทำรถแข่งให้ใครเลย เนื่องด้วยมีปัญหาด้านสุขภาพ ส่วนอู่ก็ยังเปิดรับงานอยู่ แต่ตัวผมไม่อยู่ที่อู่นะ ไปอยู่ไร่อยู่สวน พักผ่อนร่างกายกันแบบยาวๆ ลองคิดเล่นๆ ดูว่าสนามคลอง 5 เปิดมากี่ปี ผมไม่เคยไปเลย…
เสมือนว่ามาถึงจุดอิ่มตัวด้วย รวมทั้งยุคสมัยมันเปลี่ยนไปเร็วมาก หลังๆ เป็นการแข่งกันด้วยปัจจัย ยกเป็นเฟรมกันมาทั้งลำจากเมืองนอก แต่ในแง่มุมที่ผมมองก็ดูว่ายังเสี่ยงอยู่ เพราะเฟรมมันหมดอายุ อย่างตอนที่ผมสั่งเกียร์ Air Shift เข้ามา 2 ลูก ก็ไม่ได้สั่งสำเร็จรูปเข้ามานะ ผมคำนวณแรงม้า + ความจุเครื่องยนต์ + น้ำหนักรถ ส่งไปให้ฝรั่งคำนวณทั้งหมด ผมก็ถามกลับไปว่าสเป็กนี้จะวิ่งได้เท่าไหร่ ทางฝรั่งบอกวิ่งได้พิกัด 8 วินาที ผมก็ตกลงสั่งทำเลย
ซึ่งในช่วงที่ผมกลับมาสู่โลกแห่งความเร็วอีกครั้ง ทำไมรถวิ่งไม่สมบูรณ์กันเลย เห็นน้องๆ ที่เกิดมาอยู่กับเรา เค้าเริ่มท้อ จะทิ้งรถเพราะมันวิ่งไม่ได้ ก็เลยกลับมาทำให้พวกเค้า รื้อเพื่อทำใหม่หมด อย่างเมื่อก่อนนะ ในยุคที่ทำ นิสสัน สกายไลน์ มีคนบอกว่าใครทำเครื่องได้ถึง 600-700 แรงม้าได้ในยุคนั้นถือว่าเก่ง ผมก็ทำรถ ก๋อย นิสสัน สกายไลน์ สีขาววิ่งได้ หกร้อยกว่าม้า ถ้าแรงไปถึงเจ็ดร้อยม้า “ข้อจะคด” ซึ่งมันก็คดจริงๆ พอขึ้นไปถึงเจ็ดร้อยแรงม้า ตอนนั้นดอนเป็นคนทำ ลองไปถามดอน ดูได้เลย
หรือจะเป็นพวกเกียร์ฮอนด้า ผมก็คำนวณเกียร์สร้างขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ยุคตอน บอย สรวงศ์ เทียนทอง เอารถ EK กลับมาจากเมืองนอกแล้ว เข้ามาตอนแรกวิ่งอยู่ 12 วินาที ผมก็คำนวณให้ใหม่ ก็วิ่งลงมาที่ 11 วินาที บอย เค้าก็เลิกไป ซึ่งตอนเกียร์ที่ผมสร้างให้กับเครื่องฮอนด้า เทอร์โบ ระดับ 600-700 แรงม้า ท็อปสปีดอยู่ที่ 280 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่สามารถเข้าเกียร์ 5 ได้อย่างแน่นอน ผมมีอยู่ 2 ลูก ซึ่งเกียร์ลูกนึงหลุดติดรถออกจากอู่ไปอยู่ที่ใครแล้วมั่งก็ไม่รู้ เพราะถ้าเกียร์ รองรับเครื่องยนต์ได้ระดับนี้ วิ่ง 10 วินาทีแน่นอน…
ณ ปัจจุบัน ผมก็คงยังรับงานเซอร์วิสทำรถให้กับคนที่ไว้วางใจเหมือนเดิม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ทุกคนสามารถซื้อความเร็วได้หมด โลกมันกว้าง เดี๋ยวนี้ทำรถกันแค่ในมือถือก็ได้รถแล้ว ไม่รู้อะไรก็กดเข้าไป มีบอกแทบทั้งนั้น ส่งรูป เช็กสเป็ก โอนเงิน แล้วรับรถขับได้เลย เพราะเดี่ยวนี้ที่ทำรถหรือสั่งของมีมากมายให้เลือกกันตามใจชอบ ผมเองก็คิดว่า ทำให้กับน้องๆ ที่อยู่กันมานาน ก็ยังพอไหวอยู่นะ…อายุก็ 65 ปีแล้ว จะให้ออกโลดโผนกะโจนทะยานเหมือนเมื่อก่อนคงไม่ไหวแล้วครับ”
ตำนาน “น้อย อีเลฟเว่น” ที่หลายคนไม่เคยรู้จัก สัมผัสได้แค่เพียงเห็นสติ๊กเกอร์บนรถ นี่คือตัวจริง เสียงจริง ที่อยู่เบื้องหลังของรถแรงๆ ระดับหัวแถวของเมืองไทยหลายคัน รวมทั้งเป็นครูช่าง ที่คอยให้ความรู้และช่วยเหลือแก้ปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ อยากรู้จัก และลองสัมผัสความแรงในแบบฉบับ Noi Eleven เชิญลาดพร้าว 122 ครับ…
NOI ELEVEN : 08-1819-5963
ทิ้งท้าย
“ผมว่าคนไทยนี่มีเก่งๆ เยอะนะ… แต่ว่าไม่เชื่อฝีมือตัวเองว่าทำได้ และอีกอย่างคือ คนไทยไม่เชื่อฝีมือคนไทยด้วยกันเองนี่แหละ สำคัญที่สุด”