My Name Is… P&C Garage


PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่

นึกถึงวันแรกที่เดินเข้าไปหาพี่ใหม่ ที่อู่ตรงถนนงามวงศ์วาน ผมยังติ๋มๆ เป็นแค่เด็กจบใหม่ เพิ่งจะเข้าทำงานที่ XO AUTOSPORT ได้ไม่นาน ถ้าจะนับปีคงเกินสิบนิ้วทั้งสองมือแน่นอน ตอนนั้นพี่ใหม่เค้ามีชื่อเสียงแล้ว เรายังแค่ บก.มือใหม่ จากวันนั้นสู่วันนี้ พี่ใหม่ก็ยังคงเป็นพี่ใหม่คนเดิมที่เราเคยรู้จัก แต่นั่นไม่ใช่เรื่องหลักที่จะพบปะกันในครั้งนี้ เพราะตอนนี้ผมอยากรู้จักเค้าให้มากกว่านี้ และผมก็เชื่อว่ามีพี่ๆ น้องๆ อีกหลายคนก็คงอยากรู้จักเหมือนผม ทำไม? ต้อง ใหม่ P&C ทำไม? ต้อง ใหม่ โรตารี่!!!

 

อักษร P&C GARAGE  ก็มาจากชื่อจริงของผม และเพื่อน ที่เปิดด้วยกันครับ


ถ้าวันนี้เราไม่สู้ในสิ่งที่เราอยากได้
วันข้างหน้าผ่านไป มันจะย้อนกลับมาไม่ได้อีกแล้ว
เพราะฉะนั้น วันนี้เราต้องเอามันให้สำเร็จ

เรามักจะได้ยินชื่อพี่ใหม่ จากในหนังสือ หรือถ้าปัจจุบันหน่อยก็จะเป็นจาก Social แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการที่ได้รู้จักตัวตนของเค้า เพียงแค่รู้จักในฝีมือของเค้าในการทำรถมากกว่า แน่ละ ว่าเปิดแมกกาซีนรถในแต่ละปี ก็มีชื่อพี่เค้าอยู่กับวงการรถมาตลอด เป็นพี่ชายที่น่ารัก และมีงานอดิเรกค่อนข้างกว้างขวาง!! อาทิ ชอบรถเก่า แข่งดริฟต์ ขับรถแดร็ก ชอบเล่นรถบังคับวิทยุ ชอบของเล่นทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถ มันก็เป็นเหมือนไซเคิล ของชีวิตที่หมุนวนเวียนไปในทุกวัน ก็คงเหมือนกับสิ่งที่เค้ารัก คือเครื่องสูบหมุน (โรตารี่) ที่รัก!!

ก็อย่างที่บอก พี่ใหม่เป็นคนที่มากกิจกรรม จะนัดคุยกันก็ต้องหาช่วงเวลาเข้าไปเป็นส่วนนึงในกิจกรรมของพี่ใหม่ด้วย ก็เลยขอเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวันงานของพี่ใหม่ พี่เค้าทำงานไปด้วย ผมก็คุยไปด้วย มันส์ดีเหมือนกัน ก็ตกลงกันว่าจะไปเจอกันที่ P&C Garage ก็อย่างที่นัดหมาย พี่เค้าก็ทำงานของเค้าไป ผมก็ทำงานของผม ก็นั่งคุยกันไปหลายเรื่อง จนพี่เค้าเอ่ยว่า “ถ้าอยากจะรู้เรื่องราวส่วนตัวของพี่ ต้องเอาไปให้หมดเลยนะ เพราะตัวพี่เองก็ไม่เคยเล่าชีวิตของพี่ให้ใครฟังเหมือนกัน แต่ไหนๆ จะเล่าแล้ว ก็เล่ายาวเลยแล้วกันนะ เริ่มต้นกับรถเนี่ย ก็มาจากพี่ชาย ซึ่งอายุต่างกัน 15 ปี ตอนนั้นผมแค่ 5 ขวบ พี่ชายอายุ 20 ปี ก็เริ่มเห็นพี่ชายขับรถแล้ว ซึ่งคุณพ่อผมเองเนี่ยท่านก็ใช้รถปกติทั่วไป แต่พี่ชายผม เค้าก็เริ่มเอารถคุณพ่อไปแต่ง ผมก็นั่งไปกับเค้าด้วย จนพี่ชายผมมีรถเป็นของตัวเอง เค้าก็แต่งตามสมัยในยุคนั้น ผมจำความได้ก็เห็นคาร์บูฯ เวบเบอร์คู่แล้ว ไม่ว่าเค้าจะเปลี่ยนรถไปกี่คัน ก็ยังเป็นสไตล์นี้ แคมซิ่ง คาร์บูฯคู่ เดินเบาไม่เคยเรียบ คือผมเองก็ไม่ได้อินอะไรขนาดนั้นนะ เพราะตอนนั้นก็อายุยังไม่ถึง 10 ขวบเลย จะอินก็รถจักรยาน BMX มากกว่า เพราะเป็นยุคที่ BMX เพิ่งเกิดขึ้นบนโลกนี้ ผมจำได้ว่าผมใช้จักรยาน เมอริด้า โมโนโช้ค ซึ่งจะพูดได้ว่า การแข่งรถครั้งแรกในชีวิตของผมก็คือ BMX เนี่ยแหละ บ้านอยู่สนามบินน้ำ ปั่นจักรยานไปแข่งที่การเคหะฯ คลองจั่น ชีวิตตอนนั้นก็มีแต่การแต่ง BMX กว่าจะได้อะไหล่แต่งสักชิ้น อย่าง คอ Suntour ในยุคนั้น มันเป็นอะไรที่แพงมาก สำหรับเด็กที่อายุแค่นั้น

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome

 

พอโตขึ้นหน่อย จักรยานก็ยังเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง แต่เราเลิกเล่นแล้ว เริ่มออกไปเที่ยวนอกบ้านได้ ในตอนนี้แหละ ที่ไม่รู้ตัวเองมาเริ่มชอบรถได้ยังไง เรียกบ้าก็ได้นะ เจอหนังสือเกี่ยวกับรถก็จะซื้อมาอ่านตลอด เจอก็ซื้อตลอดเลย ถ้าเป็นหนังสือรถเนี่ย ไม่เคยเสียดายตังค์ ยอมจ่ายเพื่อที่จะได้นำกลับมาอ่าน จนอายุประมาณ 12 ก็มีเพื่อนๆ แถวบ้าน เริ่มขับรถกันแล้ว บางคนก็อายุมากกว่า เป็นรุ่นพี่ บางคนอายุ 15 ก็เริ่มมีรถ แต่งรถกันแล้ว แล้วก็มีอีกหลายๆ คนเอารถพ่อแม่มาขับ ตอนนั้นก็พวก TOYOTA DX, KE30, DATSUN 120Y เอามาใส่แม็ก 13 นิ้ว โหลดแบนแต้ด…เห็นแล้วชอบมาก ส่วนผมตอนนั้นนั่งรถเมล์ !! จนอายุ 15 ปี ก็นับว่าเป็นจุดเปลี่ยน เพราะว่าจบการศึกษาที่โรงเรียนพันธะศึกษา ในชั้นมัธยมปีที่ 3 เลยคุยกับคุณแม่ว่าอยากเรียนสายอาชีวะ เพราะในความคิดผมตอนนั้นคิดได้เพียงว่าเรียนช่างยนต์นี่แหละ อยู่ใกล้กับรถยนต์มากที่สุดแล้วหละ ไม่ได้วางเป้าหมายอะไรในชีวิตเลย เพื่อนๆ บางคนในตอนนั้น เค้าก็มีแพลนจะไปต่อ ม.4 ที่นู่น ที่นี่กัน แต่ผมไม่มีไรเลย ออกจะเป็นคนขี้เกียจกับการเรียนด้วยซ้ำ ตอนจบมาก็ได้เกรดเฉลี่ย 1.49 เรียน รด. ก็ไม่ได้ เพราะเค้าตัดเกรดที่ 1.5 ก็เลยตัดสินใจบอกคุณแม่ว่า “อยากเป็นช่างซ่อมรถ” คุณแม่รับราชการ ก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มว่าจะให้ไปเรียนต่อที่ไหน แต่ส่วนผมเองยังไงก็ได้ ขอแค่ได้ไปเรียนต่อช่างยนต์ก็พอใจแล้ว ก็เลยบทสรุปไปศึกษาต่อที่โรงเรียนช่างกลสยาม ภาคเช้า จนจบ ปวช. ตลอดสามปีที่เรียน อะไรที่อยากรู้ก็ได้รู้ แล้วก็รู้จักกับชีวิตอีกขั้นนึงว่า “เป็นช่างมันเหนื่อยว่ะ” ก็เลยบอกแม่ว่า มันเหนื่อย คุณแม่ผมก็บอกว่าถ้าเหนื่อยก็ไม่ต้องฝืน แล้วคุณแม่ก็ถามว่าอยากเรียนอะไร กลุ่มเพื่อนๆ แถวบ้านเค้าเรียนมหาวิทยาลัยกัน ก็เลยบอกคุณแม่ว่าอยากไปเรียนมหาวิทยาลัย ท่านก็ตามใจ อยากเรียนอะไรก็เลือกเลยตามที่ชอบ ก็เลยได้ไปเรียนมหาวิทยาลัย คณะมนุษยศาสตร์ แต่ก็เหมือนวิกฤติ เพราะว่าไม่ได้จบมาทางสายนี้ เสมือนหักดิบแล้วมาเริ่มต้นใหม่เลย ก็เลยเป็นอะไรที่เรียนหนักมาก โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ มีแต่พื้นฐานของศัพท์ช่าง พอมาเจอแบบนี้ก็มึนตึ้บเหมือนกัน แต่ก็พยายามเรียนนะ เพราะแรงจูงใจมันเยอะ คณะที่เรียนมีนักศึกษา 500 คน ผู้ชายมีแค่ 50 ที่เหลือหญิงล้วน ยังไงก็จะพยายามเรียนให้ได้ เพราะตัดสินใจเลือกแล้ว พอจบเทอมแรก เกรดออกมาโอเค ก็เลยไปคุยกับคุณแม่ว่า “มันเหมือนจะใช่ แต่รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่เรา” อยากกลับไปเรียนช่าง ท่านบอกว่า ยังเหลือเวลาอีกเทอม เรียนให้จบไปก่อนในปีนี้ ไม่อยากให้เคว้ง ก็ไปเรียนตามที่คุณแม่บอก ใช้ชีวิตสนุกมาก เที่ยวเละเทะเลย สัปดาห์นึงกลับบ้าน 2 วัน จนเรียนครบ 2 เทอม ตัดสินใจกลับมาเรียน ปวส.ช่างยนต์ต่อที่ ม.สยามเหมือนเดิม จนจบ 2 ปี ก็ไปต่อที่วิศวะเครื่องกล ซึ่งตอนเรียนวิศวะปีหนึ่ง ตอนนั้นเที่ยวกระจาย แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นรถซิ่งล้วนๆ คือถ้าไม่มีเรียน ก็ลงกับรถซิ่งหมด ซึ่งตอนนั้นในกลุ่มเพื่อนๆ ที่เรียนด้วยกันก็มีรถซิ่งๆ กันทั้งนั้น คันไหนที่ไปแข่งบ่อย มันก็พังทุกที จนมาคิดว่าถ้าจะพังขนาดนี้ “ถ้าไม่ทำเองก็ต้องเลิกเล่นแล้วล่ะ” เพราะไปพึ่งอู่ไม่ไหวแล้ว เรียกว่าไม่มีกิน ขายทุกอย่างหาตังค์ทำรถ ใช้ชีวิตเต็มเหนี่ยวมากในช่วงเรียนวิศวะปี 1 เทอม 1 พอเกรดเฉลี่ยวัดผลออกมา ถึงกับช็อกเสียหลักเลย เกรดได้ 0.3 เพราะว่าที่เรียนมันคือวิศวะแล้ว แต่ผมยังทำตัวเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้ตั้งใจกับการเรียน ในเทอม 2 ก็พยายามปรับปรุงตัวใหม่ แต่มันก็ดึงไม่ขึ้น สรุปก็ต้องรีไทร์ในปีนั้น

ทุกวันนี้ที่ทำมันคือความสุข  สุขในเรื่องที่ได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ
ทั้งในและนอกวงการมากมาย รวมถึงเพื่อนต่างชาติอีกหลายประเทศ
ที่เคยไปร่วมกิจกรรมแข่งรถกัน
จนกลายเป็นความสัมพันธ์อันดีมาจนถึงทุกวันนี้

จากก๊วนเพื่อนสนิทที่เล่นรถและเรียนด้วยกันประมาณ 15 คน ก็รีไทร์กันยกก๊วน ก็เลยมาปรึกษากันดูว่าจะลงทะเบียนเรียนใหม่ในคณะอะไรดี ส่วนใหญ่ก็ขอเบนเข็มไปเรียนการจัดการอุสาหกรรม เพราะคิดว่าฝืนต่อไม่ไหวแน่ ก็จะเหลือเพื่อนที่สู้ต่อสายวิศวะ รวมทั้งตัวผมด้วยแค่ 3 คน ด้วยความคิดที่ว่า “ครั้งนึงในชีวิต ถ้าเราอยากทำตรงนี้ให้สำเร็จ ก็ต้องทำมันให้สำเร็จ คือคนอื่นๆ เค้าก็ไม่ผิด เค้าอาจจะไม่ได้อยากเหมือนกับที่เราอยากเรียน แต่เรามีเป้าหมาย สิ่งที่เรากลัวคือ ถ้าวันนี้เราไม่สู้ในสิ่งที่เราอยากได้ วันข้างหน้าผ่านไป มันย้อนกลับมาไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้เราต้องเอามันให้สำเร็จ” ก็เลยต้องปรับปฏิทินชีวิตใหม่หมด ไปสนามแข่ง หรือดูรถซิ่ง ก็ยังทำแต่ลดน้อยลง พยายามตั้งใจเรียนให้จบ เพราะเรื่องของเกรดก็มีผล ตั้งใจอยากจะให้จบแบบได้ใบ กว. ที่สามารถเซ็นรับรองได้ ซึ่งก็สามารถทำสำเร็จได้อย่างที่ตั้งใจ คือเรียนจบวิศวะเครื่องกล แล้วต่อปริญญาโท (MBA.) จนจบที่ ม.สยาม

ซึ่งเมื่อจบการศึกษาก็มีเป้าหมายอยากไปทำงานบริษัทที่เกี่ยวกับรถยนต์มาก แต่พอเรียนจบจริงๆ เพื่อนๆ ที่เค้าจบไปก่อน เพราะผม “ซิ้ว” คณะอื่นมา 1 ปี แล้วก็ซ้ำวิศวะมาอีก 1 ปี พวกเพื่อนเหล่านี้ก็อยู่ตามบริษัทต่างๆ ก็เริ่มดึงตัวไปทำงานด้วย ก็ไปเป็นวิศวกรโรงงาน และวิศวกรโครงการฯ อยู่ 2-3 บริษัท แต่ระหว่างทำงานขณะนั้น ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ฝันไว้ ผมก็ยังตามหาฝันต่อไป คือหางานบริษัทรถยนต์ไปเรื่อยๆ จนวันนึงมีบริษัทรถยนต์ที่ผมอยากทำงานด้วยมากที่สุด เรียกไปสัมภาษณ์ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทนี้ก็ไม่มีตำแหน่งว่างให้ผม แต่ก็รับเข้ามาเป็นพนักงานไว้ก่อน แล้วก็ให้เรียนรู้งานในแผนก และสิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุด ในช่วงเวลาที่ทำงานในบริษัทรถยนต์นั้น เป็นช่วงเวลาที่ดีมากๆ เพราะได้เพื่อน ได้ทำงานในแบบที่ฝัน ได้ความรู้ ประสบการณ์ ได้รู้จักบุคคลมากมายในขณะนั้น รวมถึงรู้จักกับความอดทน

ซึ่งในตอนที่ทำงานบริษัท เลิกงานกลับบ้าน ผมก็ทำรถอยู่ที่บ้าน โดยกันไว้ส่วนนึงของบ้านเป็นช็อปทำรถไปด้วย จากการที่คลุกคลีกับเครื่องยนต์โรตารี่มาตั้งแต่ตอนเรียน อย่างที่บอกว่าถ้าไม่ซ่อมเอง ก็ต้องเลิก ตั้งแต่ตอนนั้นแหละ ก็เลือกที่จะซ่อมและศึกษาเองมาตลอด ผมจึงเข้าใจน้องๆ วัยเรียนมาก เพราะผมผ่านมาก่อนในยุค “วัยรุ่นทุนน้อย” ตอนนั้นก็ทำรถตัวเอง หรือไม่ก็ถ้ามีรถเพื่อนๆ กันเสีย เค้าก็มาจอดให้ผมซ่อมให้ ซึ่งจากจุดนี้แหละก็เริ่มมีความคิดว่าการทำงานบริษัท เราไปถึงเป้าหมายที่ต้องการแล้ว อีกอย่างที่ทำก็ไม่ใช่ของเราเอง ซึ่งหลังจากนี้ต่อไปก็ไม่รู้จะไปต่อในทิศทางใด แต่ถ้าออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เป้าหมายที่เราจะกำหนดได้เอง แล้วสามารถจะขยับขึ้นไปอีกได้ตามที่ต้องการได้อีกด้วย ซึ่งแนวคิดนี้ก็เลยทำให้ต้องเตรียมทำอะไรสักอย่างในการที่จะเดินไปต่ออย่างมีจุดหมาย รวมถึงอายุงานก็พอสมควรแล้ว จึงตัดสินใจออกจากงานที่ทำ แล้วมาเปิดอู่เอง โดยอู่แรกที่อยู่ก็ตรงอู่พี่ชาญ อินเตอร์ฯ เป็นอู่สี จากวันแรกที่เปิดอู่ มาถึงวันนี้ก็ร่วมๆ 20 ปีได้นะ ซึ่งที่เปิดเป็นอู่สีก็เพราะว่าเดี๋ยวเรียนรู้งาน แล้วให้ช่างในอู่เป็นคนทำสี ส่วนตัวผมเองจะได้ทำเครื่อง จะได้มีรถไปแข่งกับเค้า เท่านั้นเอง

ก็เปิดรับทำสีอย่างเดียว ส่วนเครื่องยนต์นี่รับเฉพาะเพื่อนๆ กับทำรถตัวเอง ก็ทำอยู่ตรงนี้ได้ปีกว่าๆ ก็ย้ายอู่มาเปิดที่ริมถนนงามวงศ์วาน ตรงข้ามซอยชินเขต 2 ซึ่งที่นี่แหละถึงเริ่มใช้ชื่อ P&C Garage ก็ยังคงเป็นอู่สี แต่มีการพัฒนาในเรื่องของห้องพ่น ดูแลเรื่องของระบบบำบัดมลภาวะอย่างจริงจัง เพราะพื้นที่อู่ติดถนนใหญ่ มีป้ายรถเมล์อยู่หน้าอู่เลย เพราะฉะนั้น ผู้คนที่สัญจรไปมามีมากมาย ก็กลัวเรื่องของมลภาวะจะไปรบกวนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งงานที่นี่ก็จะรับทำสีเพียงอย่างเดียวเช่นกัน เครื่องยนต์ไม่รับทำให้กับใครเลย จะมีก็แต่ลูกค้าเก่าจากอู่แรกๆ ที่เคยทำกันมาเท่านั้นเอง แต่ก็ไม่เกิน 10 คัน ในยุคนั้นรถที่เกิดขึ้นจากฝีมือเราในตอนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพวก RX-7 (FD3S) ซึ่งคันแรกๆ ก็น่าจะเป็นรถ RX-7 ของ คุณบอย ธูป รถน้าอ๊อด โรตารี่ ส่วนรถคุณบอย เทียนทอง (สรวงศ์ เทียนทอง) นี่ก็เป็นอีกคันที่มาในรถยุคแรก ของคุณบอย เทียนทอง เนี่ย เค้ายกรถมาลงที่อู่เลย ผมก็ไม่ทำ ไม่รู้รถใคร คุณแบงค์ พัฒวิช พยัคฆโส เป็นคนโทรมาบอกฝากรถรุ่นพี่ทำคันนึง หลังจากนั้น คุณบอย เทียนทอง ก็โทรมาบอกให้รื้อรถเลย ซึ่งตอนนั้นบอกได้ คำว่า “รื้อของเค้า” กับ “รื้อของเรา” มันไม่เท่ากันน่ะสิ จะรื้อขนาดไหน ผมก็ไม่ทำอะไรเลย จนวันที่เค้ามาดูรถที่อู่วันแรก อ้าว!! พี่ใหม่ ทำไมยังไม่รื้อรถผมอีก ซึ่งเราเองก็ถามกลับไปว่าจะทำขนาดไหน เค้าก็บอกว่า “รถแข่งเลยครับ” สรุป คุณบอย เทียนทอง เค้าก็จัดการเตรียมเครื่องมือมารื้อรถ RX-7 ของเค้าเอง จนเหลือแต่โครงรถ แล้วเค้าก็บอกว่า เนี่ยเป็นรถแข่งแล้ว ที่เหลือก็แล้วแต่พี่ใหม่ครับ จากครั้งนั้นแหละก็เลยรู้ว่า เค้าเอาจริง เอารถบ้านๆ เต็มลำ มาทำเป็นรถแข่งที่เหลือแต่โครง ซึ่งก็คือคัน ORANGE ในตอนนั้น

ทำไปทำมาที่จอดรถลูกค้าเริ่มไม่มีแล้ว แน่นไปหมด เพื่อนที่ทำอู่สีมาด้วยกัน เค้าก็มีโปรเจกต์ขยายอู่สีให้ใหญ่กว่านี้ ส่วนผมเองก็สนุกกับการทำเครื่องยนต์ ต่างคนก็ต่างมีโปรเจกต์ สนุกกันไปคนละแบบ ผมก็เลยมองว่า ถ้าจะทำเครื่องยนต์อย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องอยู่ริมถนนก็ได้ ก็เลยตัดสินใจกลับไปเปิดอู่ที่บ้าน เพราะไม่ต้องเดินทางไปไหนมาไหน ตื่นนอนมาก็ทำเครื่องยนต์ได้เลย มันทำให้รู้สึกว่าไม่เครียดในการเดินทาง มันเหมือนกับได้อยู่กับตัวตนของผมจริงๆ ตั้งแต่นั้นก็ทำรถที่บ้านมาโดยตลอดผมเองก็เกิดจากวงการแดร็ก แต่ก็มีแวะเวียนในสายอื่นๆ บ้าง อย่างช่วงแรกก็ไปขับรถเซอร์กิต ด้วยสาเหตุที่ คุณบอย เทียนทอง เค้าไปลงแข่งรถเซอร์กิต แล้วเกิดอยากจะแข่งด้วย RX-7 หรือ RX-8 บ้าง แล้วเค้าอยากจะมาให้ผมทำให้ ซึ่งสิ่งแรกที่ผมมองคือ ถ้าจะให้ผมทำให้ ผมคิดว่าผมควรจะต้องเรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรถเซอร์กิตบ้าง ตอนนั้นผมก็เริ่มต้นทำรถแข่ง HONDA EG ลงรุ่น 1,500 ซี.ซี. ซึ่งได้พี่เหน่ง Driver Motorsport ช่วยดูแลเรื่องรถ แนะนำการขับและเซตอัพรถด้วย ในขณะนั้นก็เริ่มทำรถ RX-7 ให้คุณบอย เทียนทอง ไปแข่งเซอร์กิต ดริฟต์ก็เช่นกัน สเต็ปเดิมคือ ผมไม่เคยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับดริฟต์เลย ดูแข่งขันในตอนนั้น ก็คิดไปต่างๆนานา เค้าเอาอะไรมาตัดสินแพ้-ชนะ เส้นชัยก็ไม่มี ซึ่งคนที่ชักชวนผมเข้าวงการ ดริฟต์ก็คือ คุณโอ๊ต Overdrive คือเค้าเอารถมาทำกับผมในตอนนั้น แล้วเค้าก็บอกผมว่าอยากดริฟต์ กำลังจะทำทีมดริฟต์เพื่อไปลงแข่งขัน ผมก็บอกกับ คุณโอ๊ต ผมไม่เคยดูดริฟต์เลย ก็เลยถามคุณโอ๊ตว่า ดริฟต์ที่มันเป็นสุดยอด แล้วก็มาตรฐานเนี่ย เค้าต้องดูกันที่ไหน คุณโอ๊ต บอก D1 ที่ญี่ปุ่นครับ ผมก็เลยบอกว่างั้นเราไปญี่ปุ่นเพื่อไปดู D1 กัน ก็เลยขอให้คุณโอ๊ต เตรียมล่ามแปลภาษาให้ด้วย เอาแบบอธิบายได้ลึกซึ้งเลยนะ คือจะได้ถามทันทีเมื่อสงสัย

ซึ่งในระหว่างสร้างรถดริฟต์ ก็ได้ไปญี่ปุ่น เพื่อไปดูการแข่งขัน D1 ที่เมือง Odaiba ซึ่งก็ได้ตำหน่งที่นั่งชมระดับพรีเมียม ตลอดระยะเวลา 3 วัน ตอนนั้นตั้งใจดูมาก มันเป็นสิ่งใหม่สำหรับผม ด้วยความที่ชอบเรียนรู้จึงรู้สึกสนุก ผมถามเค้าตลอด ทำไมเป็นแบบนี้ แล้วแบบนี้คืออะไร จนรู้ว่ามันมีหลักการของการให้คะแนนอยู่นี่นา ซึ่งก่อนหน้านั้นคิดว่ามันเลอะเทอะไง มองไม่ออกว่าการขับในแบบนี้มันยาก เห็นขับแบบตูดปัดๆ มีการใช้เบรกมือช่วย ก็คิดในใจ กลัวมันเร็วไปเหรอ จนต้องดึงเบรกมือช่วย “แม่มมม ตุ๊ดด” แล้วตอนแข่งโชว์สปีดด้วย เห็นขึ้น 110 กม./ชม. คนปรบมือกันเกรียว หลังจากนั้นจึงยอมรับว่า เกมกีฬานี้มันมีหลักการ แล้ว หลักเกณ์ในการตัดสินไม่ได้มั่ว จึงเริ่มสนใจจริงจัง ซึ่งตอนนั้นเริ่มทำ CEFIRO เครื่อง RB26DET แล้ว


เริ่มต้นเดิมทีกับการทำเครื่องโรตารี่ ตอนนั้นมันไม่มีอินเทอร์เน็ตเหมือนทุกวันนี้
ผมอาศัยความรู้จากที่เรียนมาเป็นพื้นฐาน แล้วลองผิดลองถูกมาตลอด
เคยหิ้วเครื่องโรตารี่ไปให้พี่ริน (Rinspeed) ดูว่าที่ผมทำมาเนี่ย มันผิดหรือถูก
ซึ่งพี่รินเอง ก็บอกว่ามาถูกทางแล้วใหม่

พอกลับมาประเทศไทยก็เริ่มหัดดริฟต์ ร้องเลย ลีลาการขับที่เห็นในงานแข่งวันนั้น พอมาลองขับจริงๆ ไม่สามารถทำได้เลย แล้วตอนนั้นผมก็มีอีโก้พอสมควรนะ ใครมาสอนอะไร ไม่เปิดรับเลยนะ ยกเว้นอาจารย์นนท์ คนเดียว เพราะคิดว่าคนอื่นยังไม่เท่าผม ผมนี่แข่งรถมานักต่อนัก จะมาสอนผม คุณเป็นใครกัน แม้กระทั่งทางทีม Overdrive ได้จ้าง มร.ทานิคุชิ มาสอนขับทั้งทีม เค้าลองรถทีละคัน รถดีหรือไม่ดี มีตรงไหนต้องปรับปรุง เค้าจะบอก แต่พอมาถึงรถผมเอง ผมไม่ให้เค้าขับนะ เพราะผมไม่รู้ว่าเค้าเป็นใคร ซึ่งวันนั้นเค้าขับโชว์ลีลาเร้าใจมาก แต่ผมคิดในตอนนั้นว่าสักวันก็ต้องทำได้ แต่พอวันนี้รู้แล้วว่าที่เค้าทำโชว์ในวันนั้น บอกเลยโคตรยาก เพราะฉะนั้น ดริฟต์ที่ไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ ก็เป็นเพราะ Overdrive เป็นผู้สนับสนุน

ปัจจุบันหลายๆ คนก็รู้จักผมว่าทำอะไรบ้าง ซึ่งนอกเหนือจากการทำรถ แข่งรถ งานสายวิศวกรรมที่เรียนมาผมก็ไม่ได้ทิ้ง ก็ยังคงเป็นที่ปรึกษา และสามารถเซ็นรับรองแบบเครื่องจักรกลได้ ซึ่งแผนในอนาคตระยะใกล้ที่วางไว้ อยากจะสานฝันรถจำนวนนึงที่ยังคงค้างอยู่ให้สำเร็จครับ” เป็นพี่ชายในวงการรถอีกหนึ่งคนที่มีประการณ์มันส์มาก ชอบการแข่งขันที่มีล้อทุกรูปแบบ รถเก่าก็มีเก็บสะสมไว้เพียบ แถมมีดีกรี HKS F-Con License ติดตัวด้วยนะครับ ผมคิดว่าถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ คุณน่าจะรู้จักผู้ชายที่ชื่อ ชัยวัฒก์ ปัณฑยางกูร หรือ พี่ใหม่ P&C Garage ได้ดีเลย ในชีวิตของเค้ามันมีคีย์เวิร์ดสำคัญซ่อนอยู่เสมอ…

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome