MY NAME IS… PRAYOONTO RACING : ชื่อไทยๆ กับแดร็กคาร์ในต่างแดน…

Story : T.Aviruth (^_^!) / Photo : ทวีวัฒน์ วิลารูป

            มันเริ่มต้นที่ SEMA SHOW 2005  งานใหญ่โตของผู้ประกอบธุรกิจการค้า ด้านของแต่งรถยนต์  จัดขึ้นที่เมือง Las Vegas  รัฐ Nevada ประเทศสหรัฐอเมริกา  นายปอนด์ ทีมงานของเราได้มีโอกาสไปเจอรถ Honda Insight ที่เข้าตาคันนึง จอดในบูธ CM CLUTCH  นี่แหละคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเราได้รู้จักกับ คุณโก๋  หรือชื่อในวงการแดร็กที่รู้จักกันดีว่า  Mr. Norris Prayoonto
            My Name is… ในเล่มนี้เป็นบุคคลในสายแดร็กของฮอนด้าฝั่งอเมริกา แล้วกำลังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องเรื่องของแต่งเพอร์ฟอร์แมนซ์ มาสู่ประเทศไทย ในแบรนด์  Prayoonto Racing จากจุดเริ่มต้นที่ทาง XO AUTOSPORT ได้รู้จักกับรถแข่งของเค้าครั้งแรกในปี 2005 จวบจนมาถึงปี 2015 นี้ ก็ 10 ปี พอดี  ซึ่งพัฒนkการของ Mr. Norris Prayoonto มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ซึ่งที่เราทราบข่าวคราวเค้าก็เพราะว่า  คุณพงศ์พล  จันทรัคคะ  ทีมกองบรรณาธิการ ของ XO AUTOSPORT เป็นคนแรกที่ทำให้พวกเราทุกคนและท่านผู้อ่านได้ยินชื่อของ Mr. Norris Prayoonto  ด้วยความสนิทสนมก็มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารจากเอเชียและอเมริกากันอยู่เสมอๆ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา  ผมว่ามันก็ถึงเวลาแล้วนะ ที่ชาวคณะเอ็กซ์โอ จะได้รู้จักตัวตนเค้าซะที  มันเป็นช่วงจังหวะที่เค้ามาเมืองไทยพอดี ก็เลยถือเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้คุยกัน โดยเค้าเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า “ ผมเกิดที่อเมริกา แล้วก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น  แต่ในทุกๆ ปี ก็จะกลับมาที่ประเทศไทย   ตอนเล็กก็ได้เรียนภาษาไทยมาบ้าง  แต่พอเริ่มโตมาไม่ค่อยได้ใช้ก็จำไม่ค่อยได้  แต่สามารถพูดได้ ฟังเข้าใจ  แต่อ่านและเขียนไม่ค่อยถนัด  แต่ถ้าเป็นคำง่ายๆ ก็พอได้อยู่ รถคันแรกของผม คุณแม่ซื้อให้เป็นของขวัญก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย  จำได้แม่นยำว่าอายุ 17 ปี ได้รถ Honda Civic EG 3 ประตู  ปี 1993 มาเป็นรถยนต์คันแรกในชีวิต  หลังจากนั้นไม่เกิน 1 เดือน  ผมก็จัดเครื่องเสียง เปลี่ยนแม็กใหม่ กลับมาเมืองไทยก็ขนซื้อพวกแอคเซสซอรี่กลับไปใส่รถที่นู่นตลอด  ซึ่งในช่วงก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย  ผมก็ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ  ที่เค้าแต่งรถซิ่งๆ  ใจก็อยากจะแต่งเจ้า EG ไปซิ่งแบบเค้าบ้าง  ก็เลยศึกษาดูว่าเค้าทำอะไรบ้าง  ในตอนนั้นก็จะเป็นพวกเฮดเดอร์  ท่อร่วมไอดี  ECU  ประมาณนี้ แล้วก็ชอบออกไปซิ่งตามถนนตอนดึกๆ  จากจุดนี้แหละที่ทำให้รู้จักเครื่องยนต์บล็อก B ทวินแคม  เพราะที่อเมริกาจะเป็นสเป็กซิงเกิ้ลแคม  บล็อกทวินแคมจะมีเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น  ผมก็ไปเจอรถฮอนด้าคันนึง เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นบล็อก B18 เห็นแล้วรู้สึกอยากให้รถตัวเองเป็นแบบนั้นบ้าง  ก็ใช้เวลาอยู่ 3 ปี กว่าจะไปถึงฝัน  ซึ่งในช่วงนึงผมกลับมาบวชพระที่เมืองไทย  ก็ได้ปัจจัยจากการทำบุญของญาติไปพอสมควร ก็เก็บสะสมเอาทรัพย์พวกนั้นแหละไป “ยกเครื่อง” 

            ในช่วงที่ชื่นชอบความแรงของเครื่องยนต์ ก็มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนใหม่  เค้าทำธุรกิจเกี่ยวกับค้าขายของแต่งรถยนต์  แต่เค้าไม่มีหน้าร้านนะ คือนัดเจอแล้วซื้อขายของกัน  ก็ได้รู้จักับแบรนด์ซิ่งๆ อีกมากมาย จากคนที่ถอดล้อเองยังไม่เป็น ก็เริ่มเข้าสู่สังคมรถซิ่งอย่างเต็มตัว  ผมขับรถจากวอชิงตัน ดี.ซี. ไปแคลิฟอร์เนีย ระยะทางร่วมๆ  3,000 ไมล์ ขับรถประมาณ 4 วัน กว่าจะถึง  เพื่อไปยกเครื่องซิงเกิ้ลแคมออก เปลี่ยนเป็นบล็อก B ทวินแคม  ประมาณปี 1997   จำความรู้สึกแรกหลังจากได้ขับ มันรู้สึกเร็วมาก ระหว่างทางจากแคลิฟอร์เนีย กลับมา วอชิงตัน ดี.ซี.  ก็แวะสนามแข่งเพื่อลองสมรรถนะเครื่องยนต์  ตอนเป็นเครื่องซิงเกิ้ลแคม  วิ่ง ¼ ไมล์ อยู่ที่ 15 วินาทีกว่า  แต่หลังจากที่เปลี่ยนเป็นบล็อกทวินแคม วิ่ง ¼ ไมล์ อยู่ที่ 14.0 วินาที ก็มีความรู้สึกว่าวิวัฒนาการมันพัฒนาไปอีกระดับ ก็เริ่มที่จะลองโมดิฟายจุดอื่นๆ  อาทิ ลองเปลี่ยนแคมฯ องศาสูงขึ้น  ยางเปลี่ยนเป็นยางนิ้ว ก็ไปลองลงแข่งดู วิ่ง 13.5 วินาที  ชนะได้อันดับ 1 มา ก็รู้สึกตกใจเหมือนกัน รู้สึกว่ามาถูกทาง ก็เลยเดินสายไปแข่งตามที่ต่างๆ พอประมาณปี 1998 ก็เปิดร้านเป็นของตัวเองชื่อว่า “NU IMAGE” ความหมายที่คิดไว้คือ “โฉมใหม่” ก็มีโอกาสได้เจอเพื่อนคนนึงขับรถ Honda Civic EG เหมือนกัน  แต่คันนี้เป็นเครี่อง H22A   ไปวิ่งเล่นด้วยกัน ผมสู้เค้าไม่ได้เลย ผมก็เลยเปลี่ยนบล็อก B18 มาเป็น H22A มั่ง  จากเคยวิ่ง ¼ ไมล์  13.5 วินาที ลงมาเหลือ  12.9 วินาที  เวลาลงเห็นๆ   ก็ลองวิ่งเล่นไปสักพัก  จนมาในช่วงนึงรู้สึกว่าอยากได้อะไรที่ดีกว่านี้  ก็เลยเริ่มสร้างเครื่องยนต์  โดยการเลือกของมาคัสต้อมเอง  ลูกสูบ ก้านสูบ แคมฯ  แล้วก็ทดลองจูนฯ เอง  ทำเองทุกอย่าง  สรุปว่า วิ่งออกมา 12.3 วินาที  เร็วกว่าเดิมอีกหน่อย  ส่วนสเป็กรถก็ยังเป็นรถบ้านๆ ไม่ได้ทำอะไร  ซึ่งวันนั้นก็ได้ไปเจอกับรถคันนึง  สเป็กเดียวกันเลย  EG เครื่อง H22A ตัวรถสภาพลดน้ำหนัก  ตัด เฉือน เว้า มาเต็มเหนี่ยว  เค้าวิ่งอยู่ 11.9 วินาที  ก็เลยตัดสินใจว่าหยุดขับบนถนนดีกว่า  เอามาทำสำหรับการแข่งขันเต็มสูตรเลย ก็เริ่มลดน้ำหนักบอดี้  จนมาในปี 2000  ก็ได้รถเพื่อนมาคันนึง เป็น Integra DC2  เค้าเบื่อเลยยกให้เลย  เพราะคันนี้ใช้แล้วประสบอุบัติเหตุตลอด  ผมก็เลยเอาคันนั้นมาตัดทำเป็นรถเฟรม 3 ส่วน 4 โครงสร้างห้องเครื่องหน้าเดิมตั้งแต่หลังผนังไฟร์วอลล์ลงไปเป็นเฟรม  เอาเครื่อง H22 จากคัน EG มาใส่ ลองวิ่งดูก็รู้ว่ามาถูกทาง  11.5 วินาที  ซึ่งทางอเมริกาในช่วงนั้น แต่ละรัฐจัดการแข่งขัน ¼ ไมล์ เพราะเป็นที่นิยมมาก มีการแข่งขันตลอด  ผมก็ขับรถตระเวนแข่งไปทุกๆ สนาม  ก็ชนะหลายครั้ง และเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการ  จนมีโอกาสไปเจอคนดัง อย่าง  ผมเรียกเค้าเป็น “พ่อ” เลย เพราะเค้าคือคนที่สอนผม และ Mr. Jeremy Drag Cartel สร้างเครื่องยนต์ขึ้นมา   เรียกได้ว่ากำเนิดมาจากที่เดียวกัน  ซึ่งตอนนี้จะไปที่แข่งที่ไหนๆ ก็มีทั้งแบรนด์ของผม และ Drag Cartel ช่วงชิงกันอยู่เสมอ 

                หลังจากเริ่มพัฒนาเครื่องยนต์และตัวรถไปเรื่อยๆ  เครื่องยนต์ขยายเป็น 2.6 ลิตร วิ่งอยู่ที่ 10.8 วินาที  แล้วขยับมาใส่ Wheelie Bar รถก็ทำเวลาได้ดีขึ้น เป็น 10.3 วินาที  ซึ่งตอนนั้น Mr. Jeremy  เห็นว่าผมวิ่งได้ 10.3 วินาที เค้าก็ตกใจ  นึกว่าผมแอบทำอะไรกับเครื่องแล้วไม่ยอมบอกเค้า  ซึ่งผมเองก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย  นอกจากแค่ใส่ Wheelie Bar อย่างเดียวเอง  ซึ่งในตอนนี้ก็เริ่มมีรถเฟรมให้เห็นแล้ว เป็น Honda Civic Dimension  ES  2 ประตู  เค้าก็วิ่งสิบปลายๆ เหมือนผม  ก็มาใส่ Wheelie Bar บ้าง ก็เร็วขึ้นอีก ในช่วงปี 2002 ผมได้รถบ้านมาคันนึง  Honda Civic Type R EP3  ขับได้สักปีนึงก็ยกเครื่อง K20 ที่ติดรถออก แล้วเอาเครื่องจาก Honda Integra DC5 มาใส่ แล้วก็เริ่มเรียนรู้การทำงานของเครื่องยนต์ ศึกษาว่าจะทำให้มันแรงขึ้นได้อย่างไร ในปี 2004 ผมก็สร้างรถ Honda Insight ขึ้นมา  “พ่อคนเดิม” ก็บอกว่าให้สร้างเครื่อง K ดีกว่า เค้าบอกว่าอีกสิบปีข้างหน้า  เครื่องยนต์ตัวนี้จะดังมาก ซึ่งมันต้องมีจุดเริ่มต้น ปี 2004   ผมแข่ง 10 ครั้ง เครื่องก็พัง 10 ตัว  รู้สึกแย่มากเหมือนกัน  ในตอนนั้นเครื่อง K ตัวละ 4,000 USD   ก็เลยต้องเอารถไป 2 คัน คันนึงพังก็เอาอีกคันแข่งแทน    ในปีนี้แหละ ผมเจอเพื่อนใหม่คนนึง ชื่อ Mr. Saul Saldeca เค้ามาจากแคลิฟอร์เนีย  ไปเจอเค้าที่สนามแข่ง หลังจากวันนั้นเค้าก็กลายเป็นพาร์ตเนอร์ผม ช่วยกันคิด สร้างเครื่องยนต์ จนในปลายปี 2004  เราสามารถพัฒนาเครื่อง K ให้วิ่งลง 9 วินาทีได้สำเร็จเป็นคันแรกในรถ Honda Insight  นับว่าเป็นปีแรกที่ได้สปอนเซอร์เจ้าใหญ่ CM  CLUTCH MASTER  ก็เลยตัดสินใจขายร้านทำรถ  ตั้งใจประกอบอาชีพ “แข่งรถ” อย่างเดียว ในปี 2006  ก็มีรถแข่ง 2 คันที่ใช้เครื่อง K  ผมกับแฟน (LOAN NGUYEN)  แข่งกันคนละรุ่น ซึ่งก็มีรางวัลทุกครั้งที่ไปแข่งขัน ชนะที่ 1 หรือ 2 อยู่ตลอด  จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย  จนมีสปอนเซอร์เจ้านึงเข้ามา เค้าอยากได้รถเทอร์โบ ผมก็ไปซื้อรถเทอร์โบมาจากเพื่อนคนนึง  แล้วก็สร้างให้เค้าขับแข่ง ขับอยู่ประมาณปีก็เลิก เพราะรถพังบ่อย  ก็เลยต้องหาคนขับมาขับรถใหม่ เพราะรถมีอยู่ ก็เลยนึกได้ว่ามีเด็กคนนึงอายุประมาณ 15 ปี ขับรถเก่งมาก มีพรสวรรค์ด้านการขับรถโดยตรง  ชื่อ มร. เจอราตั้น ก็เลยไปทาบทามมาขับรถให้ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 8 ปีแล้วที่ขับรถแข่งให้ผมอยู่  ปีนึงขับประมาณ 60-80 รอบ  ตอนนี้เค้าอยู่กับผมมา 8 ปี ก็มีราวๆ 600 รอบและในสนาม ซึ่งถ้านับกันตามจำนวน ตอนนี้เค้าคือคนที่ขับแดร็กเยอะที่สุดแล้ว
                ในปี 2010 ผมมีรถแข่งอยู่ทั้งหมด 4 คันแล้ว  เริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามากมาย จนในปี 2012  ผมรู้สึกเครียดหนัก เพราะต้องทำทุกหน้าที่  ขับรถ  จูนรถ  ทำรถ  ก็เลยตัดสินใจเลิกขับรถแข่งเอง  ขึ้นมาคุมทีม พร้อมกับตั้งบริษัท PRAYOONTO RACING (ประยูรโต เรซซิ่ง) ประกอบกิจการเกี่ยวกับการขายเครื่องยนต์ K20  พร้อมทั้งอะไหล่เพอร์ฟอร์แมนซ์ เกี่ยวกับเครื่องยนต์รุ่นนี้  อาทิ แคมฯ, ท่อร่วมไอดี,  ท่อเฮดเดอร์,  แท่นเครื่อง, Air Duct, เครื่องท่อนตรง (Long Block)   ซึ่งผมมาคิดสร้างแบรนด์ของตัวเองช้าไป  มุ่งทำแต่รถแข่ง  แต่ไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง   ถ้านึกย้อนกลับไปได้ ทำแบรนด์มาตั้งแต่ต้น ตอนนี้ก็คงเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ของวงการที่ทุกคนรู้จักไปนานแล้ว   ในตอนนี้นอกจากจำหน่ายเครื่องยนต์แล้ว ก็มีบริการติดตั้ง และเซตอัพ เพื่อความพึงพอใจของลูกค้า ให้ได้อุปกรณ์เพอร์ฟอร์แมนซ์ที่ทำงานเต็มประสิทธิภาพ   โดยลูกค้าส่วนมากจะมาจากออนไลน์ หรือสื่อ Social อย่าง Facebook ช่วงนี้ทีบูมสุดๆ ก็ฝั่งละตินอเมริกา สั่งของที่ผมตลอด  ในตลาดประเทศไทยก็จะมีรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 2006 ตอนที่ลงใน XO AUTOSPORT ครั้งแรก แต่ตอนนั้นยังเป็นนักแข่ง ณ ปัจจุบันก็มีคนไทยที่เล่นเครื่องฮอนด้า สั่งของกับผมหลายคนครับ   

            เท่าที่ผมได้คลุกคลีกับคนไทยมานะ  คนไทยต้องการคำแนะนำ  เพราะเค้าจะทำตามความเข้าใจของเค้าเอง  ซึ่งไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น ใช่อย่างควรจะเป็นทั้งหมดหรือไม่  และพัฒนาการที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือความสวยงามของรถแข่ง  มีการเปลี่ยนแปลงและรถสวยมากขึ้นในทุกๆ ปี  ล่าสุดนี้กำลังสร้างรถแข่งอีก 2 คัน คือ  DC2  เครื่อง K22 Turbo  กับ EG6  โดยเอาประสบการณ์จากรถคันเก่า มาปรับใหม่  โดยเน้นที่เรื่องของจุดรับแรง  โรลบาร์  เพราะในอมริกาเค้ามีจำกัดเรื่องของโรลบาร์หลากหลายแบบ ช้ากว่า 10.0 วินาที ก็แบบนึง  8.5-10.0 วินาที ก็เป็นอีกแบบนึง เร็วกว่า 8.5 วินาที ก็เป็นอีกแบบนึง แต่ละช่วงของความเร็วก็จะแตกต่างกันออกไป   รถยิ่งเร็ว โรล์บาร์ยิ่งเยอะ แล้วตัวของนักแข่งเอง ในทุก 2 ปี ก็ต้องไปตรวจสุขภาพว่าสามารถขับรถด้วยความเร็วขนาดนี้ไหวอยู่หรือไม่  ส่วนเรื่องของอนาคตก็ต้องดูสถานการณ์  หมั่นศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอด   อยู่นิ่งเฉยไม่ได้   ต้องปรับตัวให้ทันยุคทันเหตุการณ์อยู่เสมอๆ ครับ”

เป็นอีกหนึ่งทัศนคติของคนไทยที่ไปสร้างชื่อไว้ในต่างประเทศ  และกำลังนำประสบการณ์ที่สั่งสมมา นำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย  เพื่อให้รถแข่งแดร็กในบ้านเรา มีพัฒนาการที่ทัดเทียมหรือเทียบเท่ากับรถแข่งในต่างประเทศครับ…

 

Contact : www.facebook.com/PrayoontoRacing ; www.facebook.com/norrisprayoonto

 

วลีโดนใจ

“เจอกัน ถามผมได้นะครับ…ผมอยากจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาวงการแดร็กประเทศไทย ให้รถวิ่งได้เร็วทัดเทียมเท่ากับต่างประเทศ และก็มีความปลอดภัยมาเป็นอันดับหนึ่ง”

 

“ความสกปรกของแทร็กเป็นเรื่องจำเป็น!!  ในอเมริกา  ก่อนแข่งหนึ่งวัน เค้าแซะแทร็กตรงจุดออกตัวจนเห็นผิวแทร็กเพียวๆ เลย ทำไมถึงต้องทำแบบนั้น ก็เพราะว่า  ในช่วงที่ออกตัว  หน้าสัมผัสยางแทนที่จะกัดที่พื้นแทร็กให้เกาะ!!  มันก็ไปกัดกับยางที่ทับถมเป็นชั้นๆ ก่อนหน้านี้  มันก็ออกล้อฟรีทิ้ง  เพราะมันไม่กัดที่ตัวพื้นจริงๆ จุดนี้สำคัญมาก”