My name is…SIAM PROTOTYPE

Story : T.Aviruth (^_^!)
Photo : ธัญญนนท์ แสงภู่

รถหน้ายาวก็เหมือนคุณยิงธนู…
ปล่อยออกไป ก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ดังนั้นถ้าเริ่มต้นดี…ก็จะไปด้วยดี…

ล้อหน้าเล็กๆ หน้าแคบๆ อยู่บนบอดี้ที่ยาว คั่นด้วยตำแหน่งคนขับ บรรทุกเครื่องโตๆ อยู่ข้างหลัง วิ่งด้วยระยะทาง 402 เมตร ในพิกัด 7 วินาที จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ที่เราคุ้นเคย และเรียกติดปากว่า “หน้ายาวสยามโปรโตไทพ์” มันเป็นภาพติดแทนตัวของ “สยาม บุญช่วย” มาจนถึงปัจจุบัน คนส่วนมากจะรู้จักเค้าในยุคหน้ายาว  แล้วที่ผ่านมาล่ะ…เค้ามาจากไหน  มาย้อนรอยกันครับ…

ผมว่าเค้าเป็นผู้ชายที่ตัวเล็กที่สุด และขับรถแดร็กคันที่ใหญ่ที่สุด ของวงการแดร็กบ้านเราแล้วล่ะ  รวมทั้งยังคงสร้างสถิติอันเป็นที่สุดๆ มาอีกหลายครั้ง จากจุดเริ่มต้นมองแค่ว่า “แดร็ก” แข่งทางตรง ใครๆ ก็ขับได้  นี่แหละคือสาเหตุที่ทำให้ “สยาม บุญช่วย” ก้าวมาถึงในจุดนี้ หลายคนที่เห็นเค้าและไม่รู้จัก จะเห็นว่าผู้ชายคนนี้ดูเงียบๆ นิ่งๆ  แต่ถ้าคุณได้มีโอกาสได้คุยกับเค้า  คุณก็จะรู้ว่าความคิดความอ่านของเค้านั้นมีทั้งเหตุและผลมารองรับเสมอ  นับตั้งแต่เคยได้ยินชื่อเสียงเค้ามาหลายปี  ครั้งนี้แหละ คือหนแรกที่ผมจะได้พูดคุยกับเค้าอย่างจริงจัง  ที่ไม่ใช่เพียงแค่ถามสเป็กรถเหมือนก่อนๆ ที่ผ่านมา ครั้งนี้เราไปถ่ายรูปทำบทความกันที่อู่ Siam Prototype ย่านคลอง 4  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสนามคลอง 5 มากนัก  บอกตรงๆ นะ  ไม่เคยมา โทร.ถามทาง คุณตี้ GT Garage มาตลอดเลย  นัดกันไว้บ่ายโมงตรง  ตามโปรแกรม

เมื่อมาถึงจุดนัดหมาย  โอ้วว…แม่เจ้า  ชักไม่แน่ใจแล้วว่า พระอาทิตย์นี่อยู่ในจักรวาล  หรืออยู่หน้าอู่กันแน่ ร้อนชะมัด เหลือบตาไปเห็น Dragster หรือหน้ายาวทั้ง 2 ลำ จอดอยู่ในห้องกระจกมิดชิด  สายตากวาดไปรอบๆ อู่  ก็พบเป้าหมาย  ผู้ชายตัวเล็ก ใส่เสื้อสีฟ้า นั่งรอผมอยู่แล้ว  ก็ตามขนบธรรมเนียม ไปลามาไหว้  ทักทายกัน เพื่อเป็นใบเบิกทาง ในการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างเป็นกันเอง  คุณลองคิดดูนะ คุณจะไปคุยกับใครสักคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเนี่ย มันทำให้เกร็งๆ นะ  ถ้ามี Intro เปิดทางไปก่อน เพื่อสร้างความคุ้นเคย  ทีนี้แหละตั้งหลักได้เมื่อไหร่ ก็คุยกันยาว  ดั่งเช่นที่ “คุณสยาม” เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า “ก็เป็นคนคนนึงที่เริ่มต้นกับการแต่งรถนี่แหละ ชีวิตกับการแต่งรถเริ่มต้นขึ้นตอนเรียนอยู่ประมาณปี 2 ก็มีโอกาสได้รถกระบะมาใช้หนึ่งคัน เป็น ISUZU มังกรทอง ก็เลยเอารถคันที่ได้มานี่แหละมาแต่งเล่นไปสักพัก  ประมาณปีกว่าๆ ก็เริ่มเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เป็น JZ  ก็แต่งรถเล่นไปเรื่อยๆ กับเพื่อนสนิทประมาณ 3-4 คน จนมีความอยากที่จะเปิดร้านทำรถกันเอง  ก็เลยเกิดร้าน GT DEVELOP ขึ้นมา ทำได้สักระยะก็มาสู่ช่วงเรียนปีสุดท้าย เพื่อนๆ  เริ่มตั้งหน้าตั้งตาทำโปรเจ็กต์จบกัน ให้เวลากับการเรียนมากขึ้น  จนร้านที่ทำกันมา เหลือผมอยู่คนเดียว ก็ไม่ย่อท้อนะ ยังคงดำเนินกิจการต่อไปเรื่อยๆ และมีความคิดที่อยากจะได้ Supra เพิ่มขึ้นอีกคัน ก็รวบรวมทรัพย์สินไปหาซื้อ Supra มือ 2 มาหนึ่งคัน เพื่อตอบสนองความต้องการ จากร้านที่เคยมีเพื่อนร่วมกันอยู่ 4 คน ตอนนี้ก็เหลือผมเพียงคนเดียวแล้ว ก็เลยคิดว่าจะเปลี่ยนชื่อร้านใหม่ ก็มาจบที่คำว่า “Siam Prototype” คือชอบอะไรที่เป็นต้นตำรับ อีกอย่างคือ อยากทำอะไรก็ได้ทำ ความคิดเราคนเดียวแล้ว ก็ลงตัวที่ชื่อนี้แหละ

รถ Supra ของผมให้พี่จุ๊บ HKS THAILAND เพราะในตอนที่ผมอยู่ใน Supra Club ส่วนใหญ่รถในกลุ่มเข้า-ออก HKS THAILAND กันตลอด  ซึ่งตรงนี้แหละทำให้ผมรู้จักกับพี่จุ๊บ แล้วก็ให้เค้าทำรถให้  ตรงจุดนี้แหละ เป็นต้นเหตุที่ทำให้รู้จักกับ “Speed D”  โดยผมกับ “พี่เบิ้ล” รู้จักกันมาก่อน  แล้วพี่เค้าให้ Speed D เอาเกียร์ Supra มาส่งให้ผม ก็มีโอกาสได้พูดคุยรู้จักกัน  เค้าก็บอกว่าเค้าจูนกล่องได้ ผมเองก็เป็นคนชอบลองอะไรใหม่ๆ  ก็เลยมาสนิทกับ Speed D เลยได้มีโอกาสมารู้จักกับ “พี่ทูน” (Toon Engine Shop)  ก็เลยลองให้พี่เค้าทำเครื่อง และ Speed D เป็นคนจูน ตามคอนเซ็ปต์ในยุคนั้น “ดีจูน ทูนทำเครื่อง” ก็มีการพัฒนาไปเรื่อยเลยนะ จาก 400 แรงม้า  มาเป็น 600 แรงม้า ขยับเป็น 800 แรงม้า แล้วไปแม็กสุดที่ 1,020 แรงม้า จนกลายมาเป็น Supra ระดับพันม้าคันแรกของประเทศไทย จากตรงนี้แหละคนก็เริ่มจะรู้จัก Siam Prototype ในนาม Supra พันม้า

สาเหตุที่ทำรถให้มีแรงม้ามากๆ ก็ไม่ได้คิดว่าจะไปแข่งอะไรที่ไหน  อยากมีรถแรงๆ ไว้ขับเล่นเท่านั้นแหละ ซึ่งในตอนนั้นก็มีงานแข่งแดร็กหลายๆ งาน ผมเองก็ไม่ได้อยากจะแข่งอะไรเลย แต่ Speed D นี่แหละ  บอกผมว่า “ไหนๆ ก็ทำมาแล้ว  ไปลองรถกันหน่อย” นี่คือจุดเริ่มต้นคำว่าแดร็กในชีวิตผม  มันไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบนะ  มีแต่คำว่า “กลับไม่ได้ไปไม่ถึง” มีโอกาสได้เข้าร่วม Souped Up Thailand Records มาตลอด  แต่ก็รู้จักได้แค่วันเสาร์  ส่วนวันอาทิตย์ เปลี่ยนสถานะจากคนขับ เป็นคนเชียร์  เพราะตกรอบมาตลอด เอา Supra มาวิ่งสู้ Cefiro ไม่ได้  แรงๆ ทั้งนั้น

บอกตรงๆ นะ ตอนแรกไม่เคยสนใจแดร็กเลยนะ รู้สึกว่าเป็นการขับที่ง่ายๆ  ก็แค่ขับทางตรงๆ ไม่กี่ร้อยเมตร แต่พอได้ลองขับจริงๆ มันไม่ง่ายอย่างที่คิดนี่หว่า ก็เลยมีความรู้สึกที่ท้าทาย  มีความอยากที่จะเอาชนะ ก็เลยเอา Supra พันม้าคันเดิมนี่แหละ  มาทำให้เป็นรถแดร็ก  มีการลดน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งยุคนี้แหละ ผมได้ร่วมงานกับ “ตี้ GT Garage”  โดยก่อนหน้านี้ที่จะรู้จัก  Speed D กับผม ได้ขึ้นไปเชียงใหม่ เพื่อจูนรถให้กับ ตี้ GT Garage แล้วผมเห็นเค้าทำรถอยู่กับบ้าน  ซึ่งเค้าเป็นคนไม่จำเจ ชอบลองอะไรใหม่ๆ เสมอ   ผมรู้สึกถูกชะตา ชอบอะไรแบบนี้ ก็เลยชักชวนเค้ามาทำรถที่กรุงเทพฯ  จากที่เคยเป็นแค่ร้านแต่งรถ ก็ได้ “ตี้ GT Garage’ มาเสริมทัพ  ก็เลยทำเป็นอู่รถแข่งแบบเต็มตัว ก็เดินหน้าลุยเต็มที่ เอา Supra คันเดิมไปวิ่ง Souped Up  ถึงแม้ว่าจะลดน้ำหนักแล้ว  แต่ก็ยังติดรถสวยอยู่  โป่ง พาร์ท ต้องมี  ถึงแม้ว่าเครื่องจะแรงมาก  แต่ก็ได้แค่วันเสาร์อยู่ดี  วันอาทิตย์ เชียร์เหมือนเดิม… อกหักแบบนี้มาหลายปี จนเริ่มเบื่อ 2JZ  เพราะรถเราหนักทุกอย่าง  ทั้งเครื่อง  ทั้งบอดี้ ก็เลยมีความคิดที่ว่าจะหาบล็อก 4 สูบ  มาวิ่งแข่งกับเค้า  แต่จะเป็นเครื่องยนต์อะไรล่ะ? ก็ทำการบ้านหนัก จนไปจบที่เครื่องยนต์ 3RZ ก็เริ่มเอาเครื่องบล็อกนี้ทำไล่สเต็ปมาเรื่อยจนจบที่ 1,300 แรงม้า จากเครื่องยนต์ 4 สูบ แต่ก็เซตไม่ลงกับรถ  เครื่องดีแต่เซตติ้งไม่ได้ มันก็วิ่งไม่ได้  ทีนี้เริ่มรู้แล้วว่ามันยาก ไม่ง่ายเหมือนกับที่คิดไว้ตอนแรก  ความรู้สึกคำว่า “รถแข่ง” มันต้องพวกเซอร์กิต  แบบนั้นฝีมือสุดๆ  แดร็กเนี่ย ใครๆ ก็เล่นได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ในความที่มันเป็นอะไรง่ายๆ  ใครก็ขับตรงได้  ก็เลยวัดกันที่ตรงเสี้ยววินาที  มันเป็นการท้าทายกับเวลา ตรงนี้แหละ “โคตรยาก”

ในตอนนั้นผมก็เริ่มรู้จัก บุญตา ราม77  ยุคนั้นเค้าทำรถเฟรมแล้ว ก็พอดีเลยเค้ามีเฟรมที่เป็น Celica อยู่หนึ่งเฟรม  ผมก็เห็นว่าได้อยู่นะ  Celica กับเครื่อง 3RZ  TOYOTA ตรงคอนเซ็ปต์ ก็เลยจัดมาเป็นรถแข่งคันใหม่  ซึ่งมันก็ยังไม่ได้อีก  เรื่องของเกียร์ ระบบส่งกำลัง ไม่ได้กัน ตกลงมันต้องเป็นยังไงกันแน่  เริ่มค้นคว้าข้อมูลของแดร็กอย่างจริงจัง  “ค้นหาว่าแดร็กคืออะไร” ซึ่งแดร็กไทยในยุคนั้นมันเป็นยุคของ บุญตา ราม77 กับ Supra เฟรม  แล้วเค้าเองก็เริ่มมองหารถแข่งคันใหม่แล้ว ซึ่งในความคิดของผมในตอนนั้นคิดว่า “Dragster” รถแข่งหน้ายาวเนี่ย มันเป็นอะไรที่เกินเอื้อม   เพราะเห็นว่าการแข่งในต่างประเทศเค้าก็ใช้รถประเภทนี้วิ่งกัน  แต่ในบ้านเราตอนนั้นยังไม่เคยมี แต่ในที่สุด บทสรุปก็คือ  บุญตา  เอาหน้ายาวเค้ามา  แล้วก็มีของ คุณโอ อีกคัน ที่มาวิ่งด้วยกันในตอนนั้น

ซึ่งรถคันที่ บุญตา เอามาวิ่งคันนั้นเป็นเครื่องยนต์ V8  วิ่งแล้วเครื่องพัง  เค้าก็เลยมีความคิดที่จะสร้างเฟรมรถหน้ายาวคันใหม่  โดยใช้แบบจากคันที่สั่งเข้ามาเป็นต้นแบบ  สร้างเฟรมขึ้นมาใหม่ แต่บริเวณแท่นเครื่องรถต้นแบบเป็นเครื่องยนต์ V8 เค้าเองก็ไม่ถนัดในเครื่องยนต์แบบนี้ เค้าก็เลยขายเฟรมหน้ายาวตัวแรกให้กับผม  ส่วน บุญตา เค้าสร้างเฟรมใหม่ ใช้เครื่องยนต์ 2JZ แทน  เพราะถนัดทำเครื่องบล็อกนี้มากกว่า

รถแข่ง มันต้องพวกเซอร์กิต แบบนั้นถึงจะเรียกฝีมือสุดๆ…
แดร็กเนี่ย ใครๆ ก็เล่นได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ
ในความที่มันเป็นอะไรง่ายๆ…ใครก็สามารถขับตรงได้…
ก็เลยวัดกันที่ตรงเสี้ยววินาที มันเป็นการท้าทายกับเวลา
ตรงนี้แหละ “โคตรยาก”

ผมก็เลยมีรถหน้ายาว  แต่ไม่มีเครื่องนะ… เพราะเครื่องพังไปก่อนแล้ว  ก็เลยมานั่งทำการบ้านใหม่ว่า ที่อเมริกาเค้าใช้เครื่องยนต์ชนิดไหนวิ่งแข่งกัน ก็เห็นเค้าใช้เครื่องยนต์ V8 ทั้งนั้น  ปรึกษา Speed D และ ตี้ GT Garage แล้ว  ยังไงก็ต้อง V8 แล้วล่ะ ก็เหมือนโชคเข้าข้างนะ  บังเอิญ อาตุ๋ย ซึ่งเป็นอาของ Speed D เค้าได้ทำธุรกิจเรื่องหัวรถลาก ซึ่ง Speed D เค้าก็มีหน้าที่จูนแก๊สให้กับหัวรถลาก  ซึ่งเป็นธุรกิจของที่บ้านเค้านั่นแหละ  จากจุดนี้แหละถึงไปพบกับเครื่องเบนซิน V8  632 ก็เลยขอซื้อเครื่องยนต์จากอาตุ๋ย  มาใส่รถหน้ายาวเครื่องนึง จากพื้นฐานเครื่องยนต์ NA คาร์บูเรเตอร์  น้ำหนัก 600 กิโลกรัม  ลองวิ่งครั้งแรก 9.3 วินาที  วิ่งแพ้กระบะดีเซล  บอกตรงๆ  อายมากนะ  ทรงรถมาดีเชียว  แต่วิ่งยังไม่ดี ลองไปเรื่อยกับเครื่องยนต์ตัวนี้ ไนตรัสก็แล้ว  ยังไม่เวิร์ก  ขยับมาเป็นเทอร์โบ ใช้เทอร์โบ GT42  คิดว่าต้องแรงแน่เลย..  ปรากฏว่าแรงเกิน!! เล่นซะเฟรมขาด!! ทุกส่วนแตกหมดเลย ก็ต้องมานังซ่อมเฟรมท่อนหลังใหม่ คิดว่าไม่น่าจะใช่ทางนี้แล้วล่ะ  มีแต่พินาศ  เลยเปลี่ยน ลองมาเล่นกับซูเปอร์ชาร์จ  รู้สึกว่ามันลงตัวนะ  เวลาก็ดีขึ้น อยู่ที่ 8.7 วินาที แต่ก็ยังวิ่ง Souped Up Thailand Records ได้แค่วันเสาร์อีกเหมือนเดิม

เลยลองหาวิธีทำเครื่องยนต์ใหม่ให้มันแรงขึ้นอีก  เคยลองเอาไปขึ้นเครื่องวัดแรงม้าที่สนามคลอง 5 เพราะอยากรู้ว่ากี่แรง ปรากฏว่าขึ้นวัดปุ๊บ เครื่องวัดแรงม้าพังเลย ด้วยสาเหตุที่ว่า เครื่องยนต์ V8 มันมีแรงบิดที่มหาศาลเกินกว่าจะรับไหว ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้น  ก็ไม่เคยมีโอกาสขึ้นวัดแรงม้าที่ไหนอีกเลย  ได้แต่ทดลองวิ่ง  แล้วก็เซตเอาเอง ซึ่งก็เริ่มมาถูกทาง จะเห็นได้จากเวลาที่ลงมาเรื่อยๆ  ซึ่งก็คงจะเหลือแต่ในส่วนของการเซตอัพก่อนวิ่งแต่ละครั้ง อาทิ ช่วงล่าง  ระบบส่งกำลัง  ช่วงล่าง  ยาง ต้องเซตทุกครั้ง และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือ ระบบเชื้อเพลิง  เพราะมันมีกล่อง ECU  ก็เลยไม่สามารถทราบว่าน้ำมันหนาหรือบาง  คือต้องวิ่งจูนกันสถานเดียว โดยมี Speed D กับ ตี้ GT Garage เป็นคนจูน ซึ่งส่วนตัวคิดว่ารถหน้ายาวคันนี้น่าทำเวลามาถึงขีดสุดของมันแล้ว  คิดว่าไม่น่าจะได้ดีกว่านี้ หรือถ้าดี ก็แค่นิดหน่อยเท่านั้น  จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สั่งรถเฟรมหน้ายาวคันใหม่เข้ามาอีกหนึ่งคัน  เป็นรถนอกมาทั้งคัน  เฟรมโครโมลี่ ด้วยสาเหตุที่เลือกเฟรมเป็นโครโมลี่ ก็เพราะว่าคันแรกที่ใช้วิ่งอยู่  พอได้ประมาณ 7 วินาทีต้นๆ แล้วเกิดอาการสะท้านทั้งคัน ก็เลยเลือกรถใหม่ที่เป็นเฟรมโครโมลี่ ซึ่งเคยคิดจะเอามาคอมพลีททั้งคัน รวมเครื่องด้วย  แต่สู้ราคาไม่ไหว  เพราะแพงมาก ก็เลยเลือกเอาแต่โครงที่เฟรมโล้นๆ เลย  แล้วมาหาของเติมเอง  เพราะมั่นใจว่าจากประสบการณ์เครื่องยนต์ V8 ที่ผ่านมา น่าจะสามารถนำพาให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งได้  ซึ่งก่อนหน้านี้ถ้าใครติดตามจะรู้ว่าผมซื้อ Funny Car มาหนึ่งคัน  เป็นรถตกรุ่นของที่อเมริกา  ตั้งใจจะซื้อมาศึกษาว่า ต้นตำรับเค้าทำกันแบบไหน  ไม่ได้คิดที่จะเอามาวิ่ง  ก็ได้เครื่องยนต์จากรถคันนี้แหละ  ไปใส่ในเฟรมคันใหม่

เรื่องของเรื่องคือ V8 มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา จะถามใครก็ไม่มีใครรู้ ก็เลยต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เชื้อเพลิงที่ใช้เป็นแอลกอฮอล์  บ้านเราก็ไม่มีใครใช้อีก มันก็เหมือนเริ่มต้นใหม่  เปิดเว็บเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต บวกกับประสบการณ์ที่เคยผ่านมา มันคงไม่ได้เหมือนกับที่ต่างประเทศเค้าทำไว้หรอก  สภาวะที่ต่างกัน  อย่างต่างประเทศเค้าใช้แอลกอฮอล์ VP ลิตรละเป็นพันบาท เราก็สู้ราคาไม่ไหว  ก็หาวัตถุดิบที่ได้ในประเทศ  อย่างแอลกอฮอล์ก็ใช้ของโรงงานในบ้านเรา ลิตรละ 25 บาท  มันแตกต่าง ห่างกันเยอะนะ  ซึ่งอย่างรถผมวิ่งครั้งนึงใช้เชื้อเพลิง 60 ลิตร ต่อการวิ่ง 1 ครั้ง  ต้องเติมทุกรัน ลองคิดดูว่าวิ่ง 3 รอบ  ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ซึ่งถ้ารถคันนี้ใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ตามสเป็กที่เค้ากำหนด เค้าเคลมแรงม้าไว้ที่ 3,000 แรงม้า แต่พอมาใช้เชื้อเพลิงบ้านเรา แรงม้าคงจะหายไปมากพอสมควร  แต่ก็ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ผมอยากรู้  แค่อยากทำเวลาให้ดีที่สุด โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6 วินาที ต้นๆ

แล้วในปีนี้ผมเห็นว่าวงการแดร็กมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด  มีรถหน้ายาวที่พร้อมจะวิ่งปลายปีอีกหลายคันมาก  ตัวผมเองก็เป็นคนนึงที่ได้สัมผัสรถหลังคาเปิดมาตลอด  อยากจะบอกเรื่องของฟีลลิ่งมันต่างกับรถหลังคาปิดมากนะครับ  อันดับแรกคือ  ความปลอดภัย  ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น  ทุกอย่างต้อง 100% เต็ม จะ 99.99% ไม่ได้  “โปรดอย่าต่อรองกับความปลอดภัยของตัวเองเลยครับ” มันไม่คุ้มเสี่ยงอย่างแน่นอน  หมวกกันน็อก เป็นอะไรที่สำคัญมาก  เพราะลมจะปะทะแรงมากๆ คุณขับรถมีหลังคาอาจจะไม่ต้องปิดชิลด์หน้าก็พอได้  แต่ถ้ามาขับรถเปิดหลังคาแล้ว ไม่ได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะที่ตัวบอดี้รถ  ถ้าชิลด์หน้าสูงๆ เลยหัวตำแหน่งคนขับ ก็จะช่วยลดอาการลมปะทะหน้าได้เยอะมาก  แล้วอีกอย่างนึงที่อยากจะบอก แล้วมันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการวิ่งแดร็ก นั่นคือการออกตัว!! ถ้าออกดี  ไปดีแน่นอน แต่ถ้าออกไม่เพอร์เฟกต์ จบข่าวเลยนะ  ซึ่งตอนที่เริ่มขับหน้ายาวครั้งแรกๆ ยังจับอาการรถไม่ได้  ออกตัวมีเป๋ เกือบขวางก็มีนะ การบอกไลน์เป็นเรื่องสำคัญมากในการออกตัว มันจะบอกถึงรถตั้งลำตรงมั้ย  รถอยู่ตรงในจุดที่เบิร์นหรือเปล่า   ถ้าออกตัวได้ดีในช่วง 60 ฟุต มีผลมากกับเวลา เพราะว่ารถหน้ายาวมีแค่ 2 เกียร์ คือถ้าออกในช่วง 60 ฟุตไม่ดี  เกียร์ 1 จะยาน  ทำให้รอบไม่สัมพันธ์กันในระยะที่เปลี่ยนเกียร์ 2 ก็ทำให้เวลาไม่ดี  หรือถ้าเลี้ยงรอบตอนออกตัวไม่ดี  ออกตัวมาแล้วเกียร์ 1 หมดไว เกียร์ 2 ไปไม่สุดเส้น ก็ทำให้เวลาออกมาไม่ดีเช่นกัน  ดังนั้น ถึงบอกว่าทุกอย่างต้องพอดีเป๊ะ

ซึ่งผมมีความลับของรถหน้ายาวมาบอก  คือมีผม กับ บุญตา ราม77 เท่านั้นที่รู้ เพราะไม่มีใครใช้รถประเภทนี้  แต่ปีนี้ก็คงจะมีอีกหลายท่านที่ขึ้นมาสัมผัสรถประเภทนี้  ก็เลยอยากจะบอกว่า ส่วนใหญ่ผมจะวิ่งในรายการใหญ่ๆ  เพราะฉะนั้น รุ่นนี้ก็จะวิ่งกันเป็นรุ่นสุดท้าย ดังนั้นแทร็กที่เค้าเบิร์น  มันก็จะมีขี้ยางที่ติดอยู่บนผิวแทร็ก  แล้วรถหน้ายาว มันมีมิติยาวกว่ารถทั่วไป ดังนั้น ในตำแหน่งเข้าไฟออกตัว  ล้อหลังของหน้ายาวจะอยู่ในตำแหน่งที่เบิร์นกันพอดี มันเหมือนเราไปออกตัวบนเศษยางทับถมที่เค้าเบิร์นทิ้งไว้ มันก็จะลื่นๆ ถ้าเคลียร์เศษยางไม่ดี ก็ออกตัวได้ไม่ดี  ถึงบอกว่า 60 ฟุต มีผลมากครับ ซึ่งถ้ามีการปรับจุดเบิร์นยางให้ถอยหลังลงไปอีก ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมากเลยครับ โดยเฉพาะคันใหม่ ฐานล้อหน้าถึงฐานล้อหลังมีความยาวมากถึง 300 นิ้ว มันเป็นอะไรที่ยาวกว่ารถทั่วไปประมาณ 1 เท่าตัว ถ้าเกิดมีการปรับปรุงแทร็กก็อยากจะฝากให้ดูตรงจุดนี้ด้วยครับ… อีกอย่างหนึ่งที่ฝากถึงผู้จัดงานฯ หลายๆ ค่าย ผมไม่ใช่ว่าเรื่องมากนะครับ  แต่มันจำเป็นต้องมีคนเช็ดยาง ทีนี้จะเช็ดข้างนึง แล้วไปอีกข้างนึงก็คงไม่ไหว  อย่างน้อยๆ ก็ต้องมี 2 คน เพราะต้องตรวจความพร้อมอีกหลายๆ อย่าง  รถหน้ายาวมันก็เหมือนกับคุณปล่อยลูกธนูออกไปนั่นแหละ  เมื่อปล่อยไปแล้ว มันแก้ไขอะไรไม่ได้  ล้อหน้าจิ๋วขนาดนั้นไม่มีอะไรช่วยได้เลย  หน้ายาวมันก็มีปัญหาในตัวของมันเองเช่นกันครับ..”

นี่คืออีกหนึ่งความหวังของวงการแดร็กประเทศไทย  ที่จะมาร่วมกันพัฒนาสถิติให้ดีที่สุด  อาจจะไม่เทียบเท่า  แต่ก็สามารถเขย่าให้โลกรู้ได้  และในปีนี้เรามารอลุ้นกับรถคันใหม่ของเค้ากันครับ  ว่าจะมีสถิติให้ปีติรื่นรมย์สมปรารถนาอย่างที่เค้าตั้งใจไว้หรือไม่… สู้ต่อไปครับ  Siam Prototype