My Name Is… Speed-D

 

STORY : T.Aviruth (^_^!)

PHOTO : พิสิษฐ์ ธนะสารเจริญ

: XO AUTOSPORT No.184

SCOOP :  MY NAME IS…

My Name is… เรื่องใหม่ ที่อยากให้ลองสัมผัสตัวตนของคนในคอลัมน์อีกแง่มุมของชีวิต ทั้งที่มา และที่ไป   หรือจังหวะชีวิตบางช่วงที่เราไม่เคยสัมผัสเค้ามาก่อน  มีทั้งดีและร้ายปะปนกันไป  ซึ่งในบางช่วงของชีวิตเค้า มันอาจะเกิดขึ้นจริงกับชีวิตของเราบ้างก็เป็นได้…และในแง่คิดบางมุมของเค้า มันอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตให้กับคุณครับ!!

SPEED D
กระบะเชฟวี่ สีดำด้าน พวงมาลัยซ้าย วิ่งมาหาผมตามหมายที่นัดไว้  ณ  แท่นวัดแรงม้า สนามแข่งรถ คลอง 5 (BDA)  ผมนัด SPEED D มาสัมภาษณ์  ในคอลัมน์  “My Name is”  เป็นคอนเทนต์ที่เปิดขึ้นใหม่ใน XO AUTOSPORT   ทีมเราสุมหัวกันอยู่นาน ในการเฟ้นหาคนแรกมาเปิดตัวในคอลัมน์นี้

เนื่องจากเค้าเป็นคนที่อยู่ในวงการมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งตั้งแต่ XO AUTOSPORT เริ่มทำหนังสือแรก ๆ ก็เห็น SPEED D เค้าก็เล่นรถซิ่งมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว  ดังนั้น คนที่เหมาะสมในฉบับปฐมฤกษ์ของคอลัมน์ จึงเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก SPEED D

  ———————————————————————————

            บรรยากาศที่ร้อนอบอ้าวของสนามแข่ง ซึ่งมันเป็นอุปสรรคในการถ่ายรูปและสัมภาษณ์  SPEED D จึงแนะให้ผมไปนั่งคุยกับเค้าที่ห้องรับรอง หลังเครื่องวัดแรงม้า  โดยมี “ถิน” ผู้ถือกุญแจดอกสำคัญ!! มาเป็นผู้เปิดห้องให้  ถ้าไม่มี “ถิน” ในวันนั้น! คอลัมน์นี้ก็ไม่บรรลุ  บรรยากาศภายในห้องรับรองถูกปิดมานาน  คาดว่าตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 ก็คงเปิดเข้ามาทำความสะอาด และก็ไม่ได้เปิดต้อนรับใคร  “ถิน” จัดแจง เตรียมที่นั่ง เปิดแอร์ ต้อนรับเสร็จสรรพ  ผมมองไปโดยรอบ ยังคงเห็นคราบน้ำจาง ๆ ที่เคยท่วมตามรอยผนังต่างๆ ซึ่งมันเป็นประเด็นนึงในคำถามของผม ที่จะถาม  SPEED D เพราะช่วงน้ำท่วม นายคนนี้กับรถหัวลาก Super Man คือ ฮีโร่ของใครหลายคนเลยล่ะ

            แอร์ที่ไม่เย็น!! เรียกเหงื่อบนหน้าผากของผม และ SPEED D ออกมาตั้งแต่เราเริ่มนั่งไม่ถึง 2 นาที ผมหยิบเครื่องบันทึกเสียง  Sony ออกมาพร้อมกดปุ่ม “Rec” ปล่อยคำถามออกไปสั้น ๆ เล่าใหฟังหน่อย ที่มาที่ไปของ SPEED D จนถึงทุกวันนี้ ได้ผ่านอะไรมาบ้าง  เค้าหยิบเครื่องบันทึกเสียงของผมไปจับทะมัดทะแมงเหมือนตัวเองกำลังกำไมโครโฟน พร้อมเล่าให้ผมฟังว่า

“ผมแนะนำตัวเองก่อนครับ ชื่อ ระเด่น เศรษฐพานิช  ชื่อเล่นว่า ดี หรือ SPEED D ตามที่คุณรู้จัก ผมจบมัธยมจากสาธิตจุฬา  แล้วไปศึกษาต่อที่ ม.ธรรมศาสตร์ อินเตอร์ฯ  สาขาวิศวกรรมโยธา แล้วไปต่อปริญญาโท สาขาวิศวกรรมพลังงาน

ระเด่น เศรษฐพานิช – GTR-R32 (TOON ENGINE SHOP) ได้อับดับที่ 9 Souped Up Thailand Record 2003 ด้วยเวลา 11.46 วินาที

ซึ่งย้อนไปในยุคนั้น  สมัยเรียนมหา’ลัย  ทุกคนก็ต่างจับกลุ่มแก๊งรถซิ่ง  ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น สมัยนั้นจะมี Midnight Racing ที่ถนนวิภาวดี ทุกคืนวันเสาร์ ผมก็ไม่เคยพลาดเลยสักครั้ง  ถ้าแข่งในสนามก็จะไปที่สนามพีระฯ  สมัยนั้นเพื่อนเพียบ

 ไม่ว่าจะแข่งวิภาฯ หรือพีระฯ ก็จะรวมตัวกันชุดใหญ่  ผมเองก็เริ่มประสบการณ์รถซิ่งมาจากตรงนั้น  ไปดูเค้าแข่งบ้าง  ไปลองนั่งบ้าง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เมื่อมองย้อนกลับไป แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยรุ่นในยุคนั้น

ผมจำได้ว่ายุควิภาวดี มี MAZDA RX-7 และ TOYOTA Supra พี่เล็ก ที่ถือว่าแรงมาก  ผมเองก็ขับ Skyline R32 แล้วเช่นกัน  ผมได้เจ้ารถคันนี้มาช่วงเรียนอยู่ปี 2  ก่อนหน้านี้ผมใช้ HONDA ACCORD ตาเพชรอยู่  และเพื่อนผมนี่แหละเป็นตัวจุดชนวน  เค้าหยิบหนังสือ Option ญี่ปุ่นมาให้ผม  มันตื่นเต้นนะ เพราะหนังสือญี่ปุ่นในยุคนั้น มันไม่ได้แพรวพรายเหมือนสมัยนี้  เมื่อผมเปิดดูก็เห็นแต่ Silvia, Skyline และ RX-7 อะไรพวกนี้

หลังจากนั้นผมก็เริ่มมองหารถพวกนี้ จนไปเจอ Silvia S13 จอดขายอยู่ที่เมืองทองธานี  ผมก็ไปลองขับ มันก็โอเค  สมัยนั้นรถไม่แพง Silvia S13 คันละ 4 แสนบาท  ผมชอบก็เลยมัดจำไป 5,000 บาท พอกลับบ้านผมก็บอกพ่อจะเปลี่ยนรถ มันประจวบเหมาะกับช่วงที่ผมสอบเสร็จด้วย  ผมก็ขาย HONDA ACCORD ที่ใช้ไปได้ 2 แสนกว่า แล้วส่วนต่างพ่อก็เติมให้ ในที่สุดผมก็มีสปอร์ตญี่ปุ่น

Souped Up Thailand Record 2005 ควบ R32 คู่ใจ จบที่อันดับที่ 3 ด้วยเวลา 9.731 วินาที

               แต่ปรากฏว่าขับอยู่ไม่ถึงเดือน  เท่าที่จำได้ประมาณ 3 อาทิตย์ รถคันนี้ก็เริ่มมีปัญหาให้เห็นหลายครั้ง  อาจเป็นเพราะว่ารถจอดมานาน  แต่ก็ใช้ไปเรื่อย ๆ เพราะขับแล้วเท่ดี สมัยนั้นไม่ค่อยมีคนใช้รถแบบนี้  ขับอยู่ได้พักใหญ่ แต่งโน่น แต่งนี่ ไปเรื่อย จนได้มาเจอกับรุ่นพี่ท่านนึง  เค้าขี่ NISSAN Skyline อยู่ก่อนแล้ว

แล้วมันก็เป็นโชคดีของผม ที่มาเจอกับเค้าตอนที่เค้าเริ่มเบื่อ NISSAN Skyline พอดี  ผมก็เลยเอา  Silvia S13 แลก กับ Skyline แล้วเพิ่มส่วนต่างเอา จำได้ว่า 8 แสนบาทนะครับ  ซึ่งในตอนที่ผมได้ Skyline น่าจะอยู่ประมาณปี 40 ยุคนั้น TOYOTA Supra ประมาณ 1.2 ล้าน MAZDA RX-7 ไม่เกินล้าน

                ซึ่งยุคที่ผมขับ Skyline คนดังในยุคนั้นก็จะเป็น พี่อั๋น Kansai หรือพี่อั๋น ATP ในตอนนี้  ตอนนั้นพี่เค้าใช้ 200 SX เครื่อง CA18DET  แล้วก็ Skyline ของพี่ป๊อปปิอีกคัน  ผมเองเห็นรถเค้าแรง ๆ ผมก็อยากจะทำบ้าง  จำได้ว่าตอนนั้นก็เรียนอยู่ปี 3 แล้ว

 เริ่มทำรถเอง อะไรเองแล้ว ลองไปเรื่อย ๆ  แต่ก็ทำอะไรมากมายไม่ได้ เพราะรถต้องใช้งานทุกวัน  ตอนนั้นน้ำมันราคาไม่แพงเหมือนตอนนี้  จำได้ว่าเบนซิน 95 ลิตรละ 8 บาทกว่า  จะใช้รถไปไหนมาไหนก็ได้เลย ไม่ต้องคิดมากเหมือนตอนนี้

  ———————————————————————————

ช่วงนั้นก็ทำรถเอง ไปซื้อ “ปรับบูสต์ไฟฟ้า” ครั้งแรกที่ “ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต” ร้านพี่เหน่ง Driver Motorsport  สมัยนั้นพี่เหน่งแกเปิดร้านอยู่ที่นั่น  ซื้อมาใช่ว่าใช้เป็น  เพราะใช้บูสต์สแตนดาร์ดมาตลอด  ก็เลยลองวิชา ปรับ “นู่น นี่ นั่น” เรียบร้อยครับ  ไม่เกิน 3 อาทิตย์ ควันไหล  ผมก็ไปเลยอู่พี่เปี๊ยก ธันเดอร์ เพราะอยู่ใกล้ มหา’ลัยสุดแล้ว  สันนิษฐานแรก เทอร์โบพัง!!  งั้นเปลี่ยนเทอร์โบใหม่ ก็ขอเป็นเทอร์โบเดี่ยวแล้วกัน

หลังจากเปลี่ยนเสร็จสรรพ พร้อมสตาร์ทเครื่องด้วยอารมณ์อยากลอง ปรากฏว่า ลางร้ายก็มาเยือน คือ “ควันไหล” ยังตุ่ย ๆ อยู่  บทสรุปคือ “ลูกแตก”  ซึ่งในครั้งนั้นผมได้รู้จักกับอาแดง Drag Master เป็นครั้งแรก  ร้านอาแดงอยู่ฝั่งตรงข้ามร้านพี่เปี๊ยก  ผมให้อาแดงทำเครื่องให้  กินเวลานานพอสมควร  ผมเองก็ไม่มีรถใช้  แต่โชคดีที่อยู่มหา’ลัย ก็ไม่ได้ไปไหน  หลังจากรถเสร็จ ได้ลองแล้ว ผมมีความรู้สึกว่ามันแรงกว่าเดิม!!

            สไตล์การแต่งรถในยุคนั้น เค้านิยมเทอร์โบใหญ่  กล่องโมฯ หรือไม่ก็ทำรอม หัวฉีดไม่ใหญ่ แต่ฝังหัวฉีดเสริมเพิ่มเอา  ตัวกล่องโมฯ เอามาใส่ไว้ให้แค่รอบไม่ตัดเท่านั้นเอง แล้วก็ไฟจุดระเบิดเพิ่มอีกนิดหน่อย ผมเองก็ดูพวกฝรั่งและญี่ปุ่นตลอด

และเห็นว่าฝั่งนู้นเค้าเปลี่ยนมาเล่นหัวฉีดใหญ่ทุกคัน ประมาณ 550, 750 ซี.ซี. เราเองก็เอาบ้าง ปรากฏว่ามันไม่เวิร์ก  ดูเหมือนว่าช่วงนั้นรถแข่งจะมาถึงช่วงขาลง ผมเองก็ใกล้จะเรียนจบปี 4 แล้ว ก็เลยตั้งหน้าตั้งตาเรียนเต็มที่

สนามเรซฮาร์ด คือผู้ปลุกรถแข่งให้ตื่นอีกครั้ง ผมเองก็เริ่มว่าง  เพราะอยู่ในช่วงทำโปรเจ็กต์ปริญญาโท  ตอนนั้นเริ่มอยากเรียนรู้กับมันอย่างจริงจัง ก็ไปจัด  APEX’I Power FC จากพี่ตุ๋ย RPM มาเลย   แกสั่งของมาเยอะมาก  ผมเลยได้ของมาเพียบเลย

มันเป็นยุคสมัยของ Power FC คนหันมาใช้กันเยอะมาก  เพราะว่าการใช้กล่อง ECU แล้วให้ จูนเนอร์จากญี่ปุ่นมาจูนให้ ค่อนข้างใช้เงินเยอะมาก  ซึ่งมันเป็นวิธีสุดท้าย ก็เลยตัดสินใจทำเอง แต่มันยากเหลือเกิน

SKyline R32 คันเก่งคันเดิม ประกาศศักดาแชมป์ Souped Up Thailand Record 2006 ด้วยเวลา 8.378 วินาที

                ประมาณปี 2545 หลังจากลอง Power Fc  ผมก็ตัดสินใจขยับขึ้นไปเล่น Motec ตอนนั้นเป็น M8 ราคาราว ๆ 1.3 แสนบาท  มันแพงมากเลยในยุคนั้น “พี่ดอน Motec” มีชื่อเสียงมากด้านนี้ ซึ่งถ้าหลุดจากนี้ไปก็เป็นญี่ปุ่นกับฝรั่งไปเลย  “ผมเองก็เป็นคนอยากเรียนรู้  ไม่ค่อยคิดหลัง คิดแต่หน้าอย่างเดียว  คือถ้าเราตั้งใจทำกับมัน  ถ้าทำได้ มันก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ ก็ถือว่าเราได้ทำ!!” ตอนนั้นยังไม่ใช้คอมพิวเตอร์จูนรถเลย จูนผ่านทางคอมมานเดอร์  มันก็ได้แค่ระดับนึง ไม่เวิร์ก แต่ก็ดีกว่าไม่มี   Motec เนี่ยเล่นผมมึนตึ๊บเลย  เอามาใส่ Skyline  สตาร์ทเท่าไหร่ก็ไม่ติด  เพราะกล่องมันไม่อ่าน ส่งกลับไป ออสเตรเลียก็แล้ว ส่งกลับมาใหม่ ก็ทรงเดิม คือไม่ติด  ก็เลยตัดสินใจเอาไปใส่ ซีวิค 3 ประตูของผมอีกคัน ที่ใช้อยู่    ก็ได้ “พี่นิค” นี่แหละ อาจาร์ยผมคนแรกเลย  เค้าใส่แล้วติดเครื่องให้ ที่เหลือให้ผมไปทำเอง!!

            นับว่าโชคดีที่ได้ “พี่นิค” เป็นที่ปรึกษา ผนวกกับวิวัฒนาการเข้าสู่ยุคอินเตอร์เน็ต  ทุกอย่างเริ่มเห็นภาพมากขึ้น ข้อมูลหาง่ายขึ้น ผมใช้ซีวิคปรับจูนเองตลอด  มันใช้งานดี ไม่พังด้วยนะ   เครื่องวัดแรงม้าตอนนั้นก็มีแต่ที่ “พี่อ๋อง Ray Techno Service” เพียงที่เดียว  ค่าใช้จ่ายสูงในการใช้แต่ละครั้ง ผมเลยมองข้ามจุดนี้ไป ไปลองแต่บนถนนโล่ง ๆ  เปลี่ยนอะไหล่ที ก็ออกไปลองที ทำอย่างนี้อยู่เป็นประจำ จนหมดยุคของสนามเรซฮาร์ด

มาถึงยุคการโมฯของ Skyline ผมแล้ว  มันเป็นช่วงที่ “พี่ทูน” ออกจาก JUN มาทำเองที่พระราม 3  ผมเอารถไปให้พี่ทูนทำ ผมเองก็เริ่มทำงาน  แล้วก็ถูกส่งไปเป็นวิจัยเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่โคราช  สิ่งที่ผมวิจัยคือการเผาไหม้ให้ได้ควัน แล้วเอาควันจุดระเบิดเครื่องยนต์

ซึ่งเป็นการมองแล้วว่ามันจะได้ไม่ต้องใช้น้ำมัน  ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ก็เสียดายเหมือนกัน ไม่คิดว่าน้ำมันในยุคนี้จะแพงมากถึงขนาดนี้   ตอนผมเรียนผมเคยคิดจะทำ “เอทานอล” แต่อาจารย์บอกให้ผมทำโปรเจ็กต์นี้ดีกว่า เพราะท่านไม่ถนัด “เอทานอล”

Speed-D ผู้อยู่เบื้องหลังอันดับ 1 Souped Up Thailand Record 2010 ของ บุญตา วรรณลักษณ์

ผมไปโคราชเช้าวันจันทร์ กลับเย็นวันศุกร์ ทำอย่างนี้มาโดยตลอด  เสาร์-อาทิตย์ก็ทำรถ มีรถมารอให้ผมจูนอยู่ตลอด  จนในที่สุดผมก็ก้าวมาทำอย่างเต็มตัวกับพี่ทูนนี่แหละ  และรายการใหญ่แรก ๆ ที่ไปแข่งก็เป็น Souped up ตอนที่ไปจัดที่ “สหพัฒน์” รถผมไม่พร้อม  เอา Skyline ของ บอย ไปแทน  โดยยกเกียร์กับเฟืองท้ายของรถผมไปใส่แทน

เพราะตอนแรกคิดว่าไม่ไป แต่ที่สุดก็ไป ไฟลนก้นมาก ๆ  มีเวลาแค่คืนเดียว พี่ทูน พี่อ๊อด พี่รัฐ และผม ช่วยกันรุม ส่วนบอย เจ้าของรถบอกเต็มที่เลยครับ  ขับไปจูนไป จนถึงสนาม  วันนี้ดีสุดผมวิ่งอยู่ 11 รถที่ดีที่สุดเป็น Evo III พี่ออฟ วิ่ง 10 ต้นๆ การเซ็ตรถในยุคนั้นมันคละกันนะ ขับ 2 ขับ 4  รถแรงบางทีก็วิ่งไม่ได้ รถไม่แรงกลับวิ่งได้

และอีกงานที่ทำให้ผมได้คิดว่าฟลุ้กก็คือ HKS Power Day ไปจัดกันที่ภาคใต้  เพื่อนผมคุณมุข ให้ผมทำรถ  Skyline ให้เช่นกัน งานนั้นคุณมุข ขับเอง วิ่ง 11.3 วินาที  ได้ที่ 4 พอผมเอาเวลาของทั้ง 2 คัน คือรถบอย และ รถมุข มาเปรียบกัน มันใกล้เคียงกัน ทำให้ผมมั่นใจว่าเรามีการพัฒนาที่แน่นอนมากขึ้น  และเมื่อพี่ทูนย้ายร้าน

จากพระราม 3 ไปอยู่บางนา ผมก็ยังคงทำอยู่จนได้เป็นคำพูด “ดีจูน ทูนทำเครื่อง”  เส้นทางจูนรถผมก็หลังคาบางนา จำได้ว่ามีอยู่ครั้งนึงเอา Supra ไปจูน กดเต็มเหนี่ยวตั้งแต่ต้นทางบางนา ไปสุดทางลงชลบุรี วิ่ง 320 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 12 นาที  ขึ้นวัดแรงม้าได้ 650 แรงม้า เราก็รู้สึกว่าเราโตขึ้นมาอีกขั้นแล้วล่ะ

———————————————————————————

หลายท่านทราบว่าผมไปทำรถกับพี่ทูนที่มาเลเซีย เรื่องมันเกิดจากตอนไปใต้งาน HKS ผมเจอโทนี่ เพื่อนผมเค้าอยู่มาเลเซีย ก็มาดูงานนี้เหมือนกัน  และวันนึงเค้าก็อยากให้ผมไปทำรถแข่งให้  เพราะเค้าจะไปแข่งที่สนามเซปังฯ  ผมก็โอเค คือ บินไปทำรถกับพี่ทูน โดยส่งของและสเป็กให้เค้าไปจัดแจงรอ ไปถึงก็ประกอบ จูนพร้อมแข่ง

ปรากฏว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสเป็กของลูกสูบ  ก้ต้องเสียเวลาทำกันใหม่หมด เวลาเราก็มีน้อย เร่งทำไปให้เสร็จ แล้วขับไปจูนไปจนถึงสนามแข่ง  ผลปรากฏว่าโทนี่ได้ที่ 1 วิ่ง 12.5 วิ. ในขณะที่บ้านเราวิ่ง 10 กันแล้ว หลังจากงานนั้น ก็มีฟีดแบ็กให้ผมไปมาเลเซียบ่อยขึ้น เพราะต้องไปจูนรถให้ลูกค้าที่นั่น

นอกจาก Ram77 แล้ว Siam Prototype ก็มี Speed-D ผู้นี้อยู่เบื้องหลัง เช่นกัน

ในความสำเร็จทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยเป็นรถผมเลย ผมจึงตั้งใจว่าจะเอารถไปวิ่งงาน Souped up จำได้ว่าปีนั้นจัดที่ “บ่อพลอย” ปรากฏว่า ชาฟท์ละลาย เนื่องจากอุปกรณ์ที่ผมซื้อมามันไม่ดี ปีนั้นผมจึงอดไปวิ่ง  และมันก็ทำให้เกิดความตั้งใจที่จะทำรถไปวิ่งให้ได้  ผมเลยส่ง Skyline ไปทำสีและลดน้ำหนักที่ “อู่พี่มาท”  เพื่อจะให้ได้แข่ง ซึ่งมันก็เป็นไปตามที่ต้องการ หลังจากเตรียมตัวมาทั้งปี แข่งครั้งแรกของผมกับ Skyline R32 สีขาว เปิดตัวในงาน Souped up ที่สนามคลอง 5 เป็นครั้งแรก  เครื่อง 2.8  Jun ทั้งตัว โทนี่สปอนเซอร์มาให้  ทำเวลาได้ 9.7 เป็นเวลาที่ดีที่สุด ตั้งแต่ผมไปมาเลเซีย  ผมก็รู้จักกับของแต่งฝั่งอเมริกามากขึ้น  ผมชอบเรียนรู้ และ ในปีถัดมา ผมเปลี่ยนเกียร์จาก H Pattern ไปเป็นเกียร์ลมของ Liberty เป็นเกียร์ที่คัสตอมทั้งลูก  เพราะผมเห็น Skyline คันที่เร็วที่สุดของโลกจากประเทศนิวซีแลนด์ใส่อยู่  ในช่วงระหว่างรอเกียร์อยู่ครึ่งปี ผมก็จูนรถไปเป็นเรื่องปกติ โดยเข้าไปใช้เครื่องวัดแรงม้าที่ Power Lab ตลอด  บังเอิญ “พี่แมน” เค้าบอกว่าที่จีนหารถแดร็ก เค้าออกให้หมดทุกอย่าง สรุปว่าผมก็ไปงานนั้น  เอารถขึ้นเครื่องบินไปแข่งเลย เพราะตอนแรกจะไปทางภาคพื้นดิน แต่เอกสารรถมีปัญหา เลยถูกกัก ทำให้เสียเวลาอยู่หลายวัน  สุดท้ายก็เลยแพ็กขึ้นเครื่องไป   ด้วยความทุลักทุเล ไม่พร้อมก่อนแข่ง ยางซึมมีปัญหา น้ำมันออกเทน 100 ก็มีน้อย ติดถังมาแค่ 20 ลิตร จากเมืองไทย เพราะที่จีนมีแต่ 91 โชคช่วยหลาย ๆ อย่าง ทำให้รอดกลับมาได้พร้อมตำแหน่งแชมป์

ในที่สุดเกียร์ที่สั่งก็มาถึง ผมให้พี่ตี้ Monza Speed เป็นคนแปลงใส่รถให้  เตรียมตัวเต็มที่ โดยมีทีมงาน บุญตา ราม 77 เข้ามาร่วมด้วยแล้ว  เท้าความไปก่อนจะมาสนิทกับบุญตา  เค้าเปิดอู่ซ่อมรถแล้วลูกค้าเค้าต้องการให้ผมไปจูนรถให้ หลังจากนั้นผมก็เริ่มสนิทกับเค้ามาตลอด    ก่อนงาน Souped up ไม่กี่เดือน มีงาน HKS Power Day  ตัวแรงทั่วฟ้าเมืองไทยไปครบ เพราะอยากเห็นรถ HKS วิ่ง  ซึ่งวันนั้นผมวิ่ง 8.6  และรถก็หลุดไปที่ปลายแทร็กเป็นครั้งที่ 2

ก่อนหน้านี้เคยหลุดไปทีนึง โชคดีที่อุบัติเหตุทั้ง 2 ครั้ง ผมไม่เป็นอะไรเลย  รถก็เสียหายเล็กน้อย  ยังพอซ่อมทันสำหรับความตั้งใจที่จะมาวิ่งในงาน Souped up และในที่สุดผมก็ทำสำเร็จ คว้าแชมป์ไปครองได้ด้วยเวลา 8.3 วินาที ของ  Souped up Thailand โดยมีช่างญา ตอก 8.3 ไว้เช่นกัน แต่เฉือนกันแค่เศษเสี้ยวของวินาที ซึ่งปีนั้นเป็นปีแรกที่ช่างญาใช้เครื่องยนต์ UZ

 ———————————————————————————

เมื่อผมได้สิ่งที่ต้องการมาแล้ว ในปีถัดมาก็เป็นเรื่องของ บุญตา Ram 77 กับ Supra Space Frame ที่ตอกเวลาไว้ 7.6 วินาที  ผมเองก็เดินสายเป็นมือจูนเต็มตัว โดยถนัดไปทาง HKS F-CON V PRO มากกว่า กล่องอื่นก็จูนได้นะ แต่ผมจะบอกกับลูกค้าทุกครั้งก่อนจูนเสมอ  ผมมีโอกาสไปอเมริกาหลายครั้ง แต่ละครั้งผมไปตามในสิ่งที่ผมสนใจในขณะนั้น ช่วงแรก ๆ ก็ไปดู NHRA เลย ความใฝ่ฝันอยากเห็นของจริง ซึ่งเห็นแล้วก็พูดกับตัวเองได้เลยว่า เมืองไทยคงไปถึง 5 วินาทีแน่ ๆ  เพราะการแข่งขันมันเปรียบเสมือนกับการทำงานของเค้า ทีมงานเค้าเป็นรูปแบบ  แข่งเสร็จ รื้อเครื่องตรวจสอบ  เรียกได้ว่าแทบจะมีโรงกลึงกันในพิตเลยล่ะ…

มีอยู่ครั้งนึงผมต้องไปช่วยอาทำงานที่อเมริกา คือนำเข้าเครื่อง V8 ที่ใช้ NGV หรือ LPG มาใส่รถบรรทุกบ้านเรา  ผมไปเรียนรู้งานอยู่ 3 เดือน  อยู่ที่นั่นผมขับ NISSAN Fairlady 240Z ในชีวิตประจำวัน  คือผมชอบรถเก่านะ  เพราะตอนใช้  Skyline R32 อยู่ ก็สืบค้นต้นตระกูลของมัน ว่าทำไม Skyline ถึงดังนักหนา ก็มาเจอเจ้า C10 นี่แหละ ยิ่งทำให้เราหลงใหลเข้าไปใหญ่ พอผมอยู่อเมริกา จังหวะมันดี เจอ 240 Z ก็เลยเอามาใช้ในชีวิตประจำวันก่อน  ผมได้อะไรกลับมาจากอเมริกาเยอะมาก  เคยเห็นฝา 2 JZ อยู่ที่โรงกลึง ก็ถามเค้าว่าฝานี้ไว้ทำอะไร เค้าบอกว่าเป็นของ Dragster วิ่งอยู่ 6.3 วิ. ผมดูมันก็เป็นฝาธรรมดา วาล์วก็ไม่โต พอร์ตก็ไม่แต่งลื่นอะไรมากมาย แถมมีราคาตั้ง 2 แสนบาท  เค้าบอกว่าเป็นฝา  CNC ที่เน้น Flow ให้ได้เท่ากันในแต่ละสูบ  จะขัดลื่นใคร ๆ ก็ขัดได้ สวยงามขนาดไหน แต่งได้หมด แต่ดูแล้วก็ไม่รู้หรอกว่าอัตราการไหลลื่นในแต่ละสูบเท่ากันหรือไม่ ทางอเมริกาเข้าเน้นความเสถียร  ซึ่งมันยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมได้มา รวมทั้งการติดต่อกับสำนักแต่งต่าง ๆ ด้วย เพราะอเมริกาติดต่อซื้อของยากมาก


จากมือจูน ผมก็เริ่มขยับขยายมากขึ้น ซื้อเครื่องวัดแรงม้า  ดูเหมือนมันเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ไม่คุ้มทุน แต่ต้องมี ซึ่งจากจุดนี้ผมมีธุรกิจนำเข้าและส่งออกเพิ่มขึ้นมาอีกชิ้นแล้ว  ซึ่งในช่วงที่ผมเป็นมือจูนอยู่ ในอีกแง่มุม งานอดิเรกของผมคือ เล่นรถเก่า “เวลาผมอยากรู้อะไร ผมจะศึกษาก่อน ซื้อหนังสือผมไม่เคยเกี่ยง จะถูกจะแพง ผมซื้อทุกเล่ม อย่างน้อยๆ ก็เอาไว้ดูให้รู้” พวกรถญี่ปุ่นตัวดัง อาทิ   Skyline C10, Fairlady Z  และอื่น ๆ  รวมทั้ง 2 ล้อเล็ก อย่าง HONDA Monkey ตัวเทพที่ว่าหายาก อย่าง CZ100 ผมก็หามาจนได้  คือผมมีสโลแกนว่า “เราชอบ เราทำ เราขี่ เราขับ เราเบื่อ เราขาย” ซึ่งมันมาถึงที่สุดของรถญี่ปุ่นแล้ว ผมก็เริ่มขยับไปที่รถอเมริกา  โดยเริ่มต้นเข้าทาง 2 ล้อก่อน  เพราะความชอบรถเก่าเป็นทุนเดิม Harley  Indian ผมโฟกัสรถปีลึกก่อนเลย  แต่เอาเข้าจริงได้มาลองขี่ ก็ไปไม่รอด

ตอนอยู่ที่นั่นผมก็เดินพวก  “ SWAP MEET” ดูรถ นู่น นี่ นั่น ซึ่งในงานพวกนี้ก็จะมีพวกอเมริกัน คาร์ เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว…โดยรถครูคันแรกเป็น “ฟอร์ด มัสแตง”  ได้มาแบบต้องปลุกผี สั่งอะไหล่มาชุดใหญ่ แต่ดูจากประสบการณ์รถญี่ปุ่นที่ผ่านมาแล้วไม่น่ารอด เลยเปลี่ยนมือไป หลังจากนั้น รถโมเดลไหนที่ตามหา ผมเชื่อว่ามันต้องได้ถ้าเราตั้งใจที่จะหามันจริงๆ และผมค่อนข้างดวงดี ที่โชคมักจะเข้าข้างอยู่เสมอ”

หลังจากฟังคำพูดของ SPEED D จบ ผมก็เก็บเครื่องบันทึกเสียง แล้วนั่งคุยกันนอกรอบแบบเพื่อนกัน ถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา  เค้าเองก็ตกอยู่ในสถานภาพ “ผู้ประสบภัย” ถึงแม้บ้านที่อยู่จะไม่ถูกน้ำท่วม  แต่ธุรกิจที่ทำต่างก็โดนผลกระทบ  อย่างเครื่องวัดแรงม้าที่สนามคลอง 5 ก็โดนเต็ม ๆ  ถึงแม้ว่าจะกั้นชุดใหญ่แต่ก็ต้องเข้า-ออกทุกวันเพื่อไปดู  รถกระบะที่ใช้ ก็ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะระดับน้ำสูงมาก ด้วยเหตุนี้มันก็ถึงเวลาที่จะเอารถที่เคยอยากได้ แต่ยังหาข้อสรุปที่ว่าจะเอามาทำอะไร  มาตอบโจทย์ได้สักที   หัวรถลากใหญ่โต มีตราโลโก้ Super Man ก็เข้ามารับหน้าที่เป็นรถประจำการตอนสถานการ์น้ำท่วมทันที   เพื่อช่วยเหลือตัวเองและลูกน้องไม่ให้ลำบาก หลังจากที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้  ก็ออกลุยช่วยเหลือคนที่เค้าลำบากกว่ามาตลอด…

อนาคตอันใกล้ ผู้ชายคนนี้กำลังจะมีข่าวดีให้กับวงการ  ก็ขอแสดงความยินดีอย่างเป็นทางการกันตรงนี้เลยแล้วกัน เค้าเป็นผู้ชายอีกคน ที่โลดแล่นในวงการรถซิ่ง มาตั้งแต่ยุคแรกๆ ซึ่งถ้าวันนั้นเค้าไม่ตัดสินใจเดินออกจากงานออฟฟิศ แล้วหันมาทำตามที่ตัวเองชอบ  เราคงไม่รู้จัก “SPEED D” คงจะรักแค่หนุ่มออฟฟิศธรรมดา ๆ คนนึงที่ชื่อ “ระเด่น เศรษฐพานิช”