My Name is… Ver Technical

 

Photo : ธัญญนนท์ แสงภู่

จะบอกว่าช่วงหลังๆ เห็นถึงการขยับก้าวกระโดดไปมากสำหรับผู้ชายคนนี้  จาก ARISTO คันสีครีม ที่เค้าปลุกให้ตื่นคืนสู่แทร็กได้อีกครั้ง  หลังจากนั้นการก้าวเดินในวงการ Drag ของเค้ามีสีสันเพิ่มขึ้น ซึ่งวันนี้จากรถเฟรมที่ปลุกปั้น ก้าวขึ้นไปอีกขั้นใน “หน้ายาว” แดร็กสเตอร์ ที่เปี่ยมด้วยความฝันจะขึ้นไปอยู่ 1 ใน 10 รถที่เร็วที่สุดในประเทศไทย ของผู้ชายที่ชื่อ เว่อร์ เทคนิคอล

เท้าความก่อน… จริงๆ แล้ว เว่อร์ เนี่ย เค้าอยู่กับรถซิ่งมานานแล้ว  ถ้าท่านเคยได้ยินชื่อ VJ Work Shop นั่นแหละ คือจุดเริ่มต้นของการเดินเข้ามาสู่วงการนี้  ผมเองก็รู้จักชื่อ VJ Workshop มานานมาก  แต่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว จนวันนึงเพื่อนเก่าที่เคยเรียน ปวช. โรงเรียนกองทัพบก อุปถัมภ์ ช่างกล ขสทบ. ทักมาว่า จำ เว่อร์ ได้มั้ย? เรียนรุ่นเดียวกับเรา แต่อยู่คนละห้อง เค้าก็เปิดอู่ทำรถโมดิฟายเหมือนกันนะ ผมรู้สึกตื่นเต้นดีนะที่ได้กลับมาเจอเพื่อนๆ สมัยเรียนอีกครั้ง  จนผมได้มีโอกาสได้เจอกับ เว่อร์ ตอนถ่าย ARISTO ก็ได้คุยกันถึงสมัยเรียน หลังจากนั้นก็ได้ติดต่อกัน คุยกันมาเรื่อยๆ

จนในวันนึงผมเห็นเค้าทำ Dragster เริ่มมีความรู้สึกว่า  มันเป็นการขยับขึ้นมาได้ออย่างรวดเร็วมาก  ผมคิดว่าหลายๆ คนก็คงอยากจะรู้เหมือนผมว่า จริงๆ แล้ว จากเด็ก ปวช. สายช่างยนต์ เดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผมจึงไม่รีรอที่จะติดต่อเข้าไปหาเค้าที่อู่ ซึ่งอยู่แถวๆ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ รังสิต (เชียงราก)  ซึ่งวันนี้เค้ามีจูน GTR ที่สนาม แล้วก็เอาหน้ายาวไปทดลองวิ่งครั้งแรกด้วย เมื่อไปถึงอู่ ต่างคนต่างแยกย้ายกันทำหน้า ฟลุ้ค Take Snap หาโลเกชัน จัดคอมโพสมุมภาพ เพื่อให้ได้รูปที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างที่คุณกำลังเปิดดูในเล่มนี้ ผมถาม เว่อร์ ว่า เริ่มต้นกับรถซิ่งได้อย่างไร “ผมชอบรถซิ่งตอนที่เริ่มเรียนอาชีวะ ตอนมัธยมสายปัญญารังสิต แล้วก็ย้ายมาเรียนที่ ปทุมวิไล ต่อ ซึ่งเมื่อจบมัธยมปีที่ 3 ผมก็ไปเรียนช่างกล ขสทบ. เลย ในแผนกช่างยนต์ ตั้งแต่ ปวช. จนถึงจบ ปวส. ตอนนี้แหละผมเริ่มแต่งรถแล้ว  จำได้ว่าในตอนนั้นกระบะโหลดเตี้ยล้อล้นๆ เป็นที่นิยมมาก ผมก็แต่งรถกระบะตามสมัยนิยม ยังไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องยนต์  เพราะสมัยนั้นเค้าเน้นแค่ภายนอกกับเครื่องเสียง จนเข้าสู่ยุคที่นิยมเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นเครื่องเบนซินมือสองจากญี่ปุ่น  ผมเริ่มทำรถเอง เปลี่ยนเครื่องยนต์เอง โดยเอาความรู้พื้นฐานช่างจากที่เรียนมา แบบแผนในการทำรถ การโมดิฟายครั้งแรกของผมหลังจากการเปลี่ยนเครื่องยนต์ คือการเปลี่ยนปั๊มติ๊กลูกใหญ่ขึ้น ก็ทำแบบลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ

หลังจากจบ ปวส. ทางบ้านก็อยากให้ศึกษาต่อให้จบปริญญาตรี  แต่ด้วยความเป็นวัยรุ่นในตอนนั้น ความรู้สึกคือไม่อยากเรียนแล้ว  อยากจะทำงานมากกว่า ก็เผอิญโชคดีได้งานที่ตรงกับสายที่เรียนมา เป็นงานเกี่ยวกับการโอเวอร์ฮอลเครื่องยนต์รถจักรกลหนักที่ใช้งานอยู่ในเหมือง ที่ผลิตปูนซีเมนต์ ร่วมๆ สิบปี รถซิ่งผมก็ยังเล่นอยู่ตลอดนะ เลิกจากระบะวางเครื่อง ก็ไปเล่น Nissan Cefiro วางเครื่อง RB26DET หลังจากนั้นก็ขยับไปที่ Benz W124 เครื่อง 2JZ-GTE  ซึ่งถ้าเอาคนแรกที่ชักชวนผมเข้าวงการรถซิ่ง ก็เป็น อาจารย์เต้ย OTTO SHOP เนี่ยแหละ จำได้ว่าเครื่อง SR20DET ประมาณ 400 แรงม้า ในตอนนั้นไม่รู้จะไปจูนกับใคร ซึ่งตัวผมเองก็ไม่มีความสามารถในการจูนตอนนั้น มันเป็นช่วงที่ A’PEXi  Power FC นิยมมาก รู้แค่ว่า อาจารย์เต้ย  เค้าจูน Power FC อยู่แล้ว  ก็เลยหาเบอร์โทร.ไปให้คุย  ก็เลยเอารถเข้าไปหาที่อู่ OTTO SHOP หลังจากนั้นก็สนิทกันยาวเลย จนถึงทุกวันนี้

ในตอนที่ผมทำงาน ผมก็เปิดอู่ VJ Workshop ทำรถกับน้องชายแล้ว คือจันทร์­-ศุกร์ ผมทำงานประจำ ให้น้องชายดูแลอู่ ก็มีแต่เสาร์-อาทิตย์ ที่ผมหยุดก็จะมางานที่อู่  หรือถ้าในช่วงไหนงานรีบ ผมก็ต้องลางานมาช่วยน้องชายทำงานที่อู่เพื่อส่งลูกค้า ผมทำอู่อยู่กับแจ๊คมาสักพักใหญ่ พอผมเริ่มมีครอบครัว คุณแม่ก็บอกว่า ผมโตแล้ว  น่าจะแยกไปทำธุรกิจที่เป็นของตัวเอง  ผมก็เลยเริ่มต้นมาทำอู่เองเป็น Ver Technical ช่วงแยกออกมาเปิดเอง หลายคนถาม  ทะเลาะกัน? แยกกันทำไม? อะไรทำนองนี้ แต่พอได้พูดคุยกัน อธิบายก็เข้าใจกัน ก็เล่นตอบคำถามกันพักใหญ่อยู่เหมือนกันนะ จากวันนั้นถึงวันนี้ก็มีสิบปีแล้วนะที่อยู่ตรงจุดนี้ในชื่อ Ver Technical

ผมเผอิญโชคดีตรงที่ตอนแยกออกมาทำเองก็ได้กลุ่มลูกค้าที่เค้าทำรถแข่งอย่างจริงจัง  ไว้วางใจให้ผมทำรถให้เค้าตลอด ได้ทำรถแข่งในพวกกลุ่มสต็อกบอดี้ จำพวกรถในกลุ่ม Pro 6 เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำรถจากตรงจุดนี้ได้มากพอสมควร ซึ่งในใจมีความคิดอยากจะทำรถเฟรมมานานมากแล้ว แต่ยังไม่สบโอกาสเหมาะ จนวันนึงผมได้ ARISTO คันนี้มาจากการรวมทุนทรัพย์ของตัวเอง  ที่เลือกรถคันนี้เพราะชอบมากตั้งแต่อยู่ที่ Prospec แล้ว ความมุ่งมั่นในการทำรถคันนี้คิดไว้แค่เพียงเรื่องเดียวคือ “ทำให้มันวิ่งได้” เพราะรถคันนี้ยังไม่เคยวิ่งเต็มเสียงเข้าเส้นเลย  ผมจึงไม่เคยหวังในเรื่องของเวลา ขอให้วิ่งได้ก่อน อย่างอื่นค่อยมาว่ากันทีหลัง  ซึ่งเมื่อปลุกปั้นให้วิ่งได้ มันก็เหมือนได้ความมั่นใจกลับมา ประกอบกับผมได้ทำบอดี้ Supra คันนึง ซึ่งก็ส่งงานให้กับลูกค้าได้เวลาตามที่ลูกค้าต้องการ เค้าก็มีความเชื่อมั่น แล้วก็ให้ผมทำรถแข่งในโปรเจกต์ต่อไป

ซึ่งในปีนี้จะเห็นได้ว่า  ผมก้าวเข้ามาเล่นในรุ่น Dragster  ด้วยเหตุผลที่ว่า  ในปีที่แล้วที่บุรีรัมย์  รถจากผมก็มีรางวัลในรุ่น Pro 6 Modify  ก็ได้เดินดูรถที่เป็นสุดยอดของการจัดอันดับสถิติรถ ค้นหารถที่เร็วที่สุดในประเทศไทย  ผมเห็นว่าอันดับต้นๆ ของประเทศมันมีแต่ Dragster  ก็มีความคิดที่ว่าถ้าต้องการเป็น 1 ใน 10 ของรถที่เร็วที่สุดในประเทศไทย  มันก็ต้องขยับไปลุยในรุ่น Dragster  ซึ่งก่อนหน้า Souped Up ประมาณ 3 เดือน เมื่อปีที่แล้ว  ผมก็ได้ทาบทามที่จะต่อรถ Dragster เพื่อมาวิ่งเหมือนกัน แต่มันเป็นช่วงเดียวที่กำลังปั้น Aristo ให้วิ่งได้  ก็เลยคิดว่าทำความตั้งใจอันแรกให้ประสบผลสำเร็จก่อน แล้วค่อยขยับไปหน้ายาว

ก็นับว่าเป็นครั้งแรกสำหรับผมนะ ที่ได้ก้าวมาสู่รถในพิกัดนี้  ตั้งใจไว้ว่า  อยากทำเวลาให้นิ่งอยู่ในพิกัดเลข 7 วินาทีก่อน อย่างอื่นค่อยพัฒนาต่อในลำดับถัดไป ในเบื้องต้นขอลองขับทำเวลาเองก่อน  แต่ถ้ามันไม่ไหวจริงก็คงต้องให้ “ประทวย” ณพลเดช อัจฉรารุจิ เป็นคนขยี้ต่อ อนาคตผมคงต้องขอดูผลงานจากปีนี้ว่าไปได้ประมาณไหน ถ้าเกิดไปยังไม่ถึงจุดที่ตั้งเป้าไว้ ก็คงต้องกลับมาวิเคราะห์ที่ตัวเองก่อน เป็นสาเหตุแรก ก่อนที่จะไปมองถึงสาเหตุอื่น

ซึ่งนอกเหนือจากทำอู่ ผมก็ทำกิจการร้านอาหารกลางคืนควบคู่ไปด้วย  มันก็เปรียบเสมือนอีกมุมหนึ่งของชีวิต เข้าค่ายลักษณะทางเลือกสำรองในการดำเนินชีวิตทางธุรกิจ เพราะเราไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร รู้แค่ว่าวันนี้ทำดีที่สุดแล้ว พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป”

เป็นอีกหนึ่งคนที่น่าติดตาม เพราะมีความพัฒนาขยับไปข้างหน้าได้ในระยะเวลาอันสั้น คงต้องมาร่วมลุ้นกันว่า Dragster คันนี้จะพาชื่อ Ver Technical ไปอยู่ 1 ใน 10 ของ Souped Up Thailand Records 2016 ได้อย่างที่ตั้งใจขนาดไหน ไปร่วมลุ้นกันครับ

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome

: GTR R32 นี่คือรถในดวงใจผมนะ ชอบมาก  แต่พอเราได้จับได้ทำมากคันเข้า พอถึงเวลาจะเอาเข้ามาเป็นของตัวเองจริงๆ มันก็ไม่ได้มีความอยากเหมือนตอนนั้นแล้ว

: การโมดิฟายเครื่องยนต์ ผมก็ได้ Mr. OHURA  เป็นคนแนะนำเรื่องเทคนิคต่างๆ  ในการทำรถจนกลายเป็นวิชาที่ติดตัวมาถึงทุกวันนี้  จะว่าไป เค้าก็เสมือนอาจารย์ของผมคนนึงเหมือนกัน

: อย่างรถหน้ายาวคันนี้ ก็เป็นรถเก่าของคุณบุญตา ราม 77  มันคือรถคันที่วิ่งได้ 7.0 วินาที เมื่อปีที่แล้ว  พอดีเค้าทำคันใหม่วิ่งในปีนี้ ผมก็เลยขอซื้อต่อรถคันนี้มาทั้งคัน ยกเว้นเครื่องยนต์  เพราะผมประกอบเครื่องยนต์เองไว้สำหรับรถคันนี้แล้ว