STORY : T.Aviruth (^_^!)
PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่
ศรัทธาเกียร์ช่างญา!! วลีเด็ดจากแฟนเพจ XO ที่ทำให้รู้สึกว่า “ผู้ชายคนนี้ของจริง” ด้วยคำพูดที่บั่นทอน มันกลับทำให้ใจเค้าแกร่งกว่าเพชร!! ปฏิวัติ วงการแดร็กไทย จากเกียร์ออโตเมติกที่ถูกเมิน กลับกลายเป็นเกียร์ที่มีค่า เพื่อแลกกับเวลาได้ดั่งใจ!!
เข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2015 นั่นหมายถึงเวลาเริ่มนับถอยหลังสู่งานที่ชาวแดร็กรอคอย “Souped Up Thailand Records 2015” แน่นอนว่า My Name is…ในเล่มนี้ก็ต้องเป็นคนที่พวกเราคุ้นเคยรู้จักกันดี ซึ่งทางทีมงานฯ ก็ลงความเห็นกันว่า แขกรับเชิญในเล่มนี้ต้อง “ช่างญา” เท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ครบองค์ประกอบหลักของคอลัมน์ เราก็ไม่รีรอที่จะยกหูหาช่างญา เพื่อเป็นเกียรติได้เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวออกสู่สาธารณชนให้ได้รับทราบ ชีวิตของผู้ชายที่ชื่อว่า “ปัญญา อร่ามรัศมี”
แน่นอนว่า เพื่อให้ได้อรรถรสในการคุยและถ่ายภาพ ก็เจาะจงเลือกสถานที่ในการทำคอลัมน์ครั้งนี้ที่ อู่ ญา เซอร์วิส ในวันนัดหมาย เรียนท่านผู้อ่านตามตรง “ไปกี่ครั้งก็หลงทุกครั้ง” ยิ่งนานมาทีด้วย ไม่ต้องสืบ “หลงงมงายเลยเชียวล่ะ” กว่าจะหาทางเข้าเจอ โทร.หาช่างญากันยกใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เดินทางยากอะไรเลย แต่เราติดกับคำว่าเคยมาแล้ว ก็เลยเอาความจำนั้นมาใช้ในการเดินทาง แต่เป็นไงล่ะ เดี๋ยวนี้ถนนหนทางเกิดขึ้นใหม่มากมาย ภาพที่ “มโนนึก” ทึกทักไปเอง มันกลับไม่เหมือนเดิมไง แต่ก็มาถึงจนได้
เมื่อผมมาถึง ช่างญา กำลังง่วนกับการทำกล่องจูนเกียร์ออโตเมติกอยู่เลย ก็เลยทักทายปราศรัยตามสไตล์ XO ตาก็เหลือบไปเห็นงานที่ ช่างญา ทำค้างไว้อยู่ ก็เลยสอบถามดูได้ใจความว่า กำลังทดสอบกล่องจูน YRS ซึ่งเป็นผลงานงานที่ช่างญาคิด เพื่อนำมาปรับใช้กับรถเกียร์ออโตเมติก ได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะรถบ้าน รถแข่ง ใส่ได้สบายเลย ซึ่งในอนาคตอันใกล้ได้เห็นกันอย่างแน่นอน ว่าแล้ว ก็ช่วย ช่างญา ขายของหน่อย เพราะเรื่องเกียร์ออโตเมติก ที่นี่เค้าแจ๋วจริง ไม่งั้นคงไม่มีคำว่า “ศรัทธาเกียร์ช่างญา” ให้เห็นแน่นอน
ก็มาเข้าเรื่องเลย เห็นจูนสดๆ กันแบบนี้ ผมก็ไม่รอช้าที่จะถามเรื่องส่วนตัวของเค้าเลย สรุป ช่างญา เป็นใครกันแน่ครับ รถแข่งก็ขับเอง เกียร์ก็สร้างเอง ผมเดาไม่ถูก ช่างญาบอกผมหน่อย “ตัวผมเองกับการแข่งรถ มีจุดกำเนิดเกิดขึ้นที่สนามนครชัยศรี ผมทำรถกระบะ Toyota Hilux Hero สีฟ้าไปวิ่งแข่งในตอนนั้น โดยตัวผมเองก็ทำเครื่องยนต์เป็นตั้งแต่เด็กๆ ประมาณ 7-8 ปี ก็ทำรถที่บ้านนั่นแหละ คือบ้านผมทำธุรกิจการเกษตร ทำไร่ ทำสวน ผมก็ซ่อมรถที่ใช้ในการทำงานของที่บ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องยนต์เพื่อใช้ในการเกษตร รถสิบล้อ รถแทรกเตอร์ ประมาณนี้ โดยทำร่วมกับพี่ชาย จนมีโอกาสได้ไปทำงานร้านไดนาโม ทำสายไฟ ทำอยู่ร่วมๆ 10 ปีได้นะ จากจุดนี้แหละก็ทำให้มีความรู้ทั้งช่างไฟและช่างเครื่องยนต์ เป็นวิชาติดตัวมาพอสมควร
ซึ่งก็บอกตรงๆนะ ว่าผมชอบรถแข่ง มันส์ดี ยิ่งตอนช่วงนั้นเป็นวัยรุ่นด้วย ก็ทำกิจกรรมแบบไม่ต้องคิดไร คือ ก็ไปอัดรถกันบนถนน ซึ่งมันมีข้อเตือนใจไง เพราะว่าเกือบพลาด!! ก็เลยมาทบทวนใหม่ดูอีกที ซึ่งยุคนั้นการแข่งรถในสนามก็เห็นจะมีแต่ที่สนามนครชัยศรี ก็มองดูแล้วไม่ไกลบ้าน แล้วก็แข่งกันถูกต้อง มีกฎระเบียบ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่สังเวียนวงการแดร็กตั้งแต่ตรงนี้
ความรู้สึกแรกกับการแข่งขันในแทร็ก ดีกว่าที่คิด มีเงินรางวัลติดมือ ได้รับชื่อเสียงน่ายกย่อง ผมก็ใช้ Toyota Hilux Hero นี่แหละ เปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น RB20DET (ฝาขาว) วิ่งแข่งกับเค้า ความรู้สึกที่ได้สัมผัสมันดีขึ้น เมื่อเราเริ่มเป็นผู้ชนะ ได้รางวัลเป็นเครื่องการันตี จากจุดนี้ก็ทำให้ผมมีความกระตือรือร้นมากขึ้น ที่อยากจะทำให้ดีกว่านี้ โดยดูจากพี่ๆ ในยุคนั้น เค้าทำรถกันยัง ก็เอามาคิดเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ไปวิ่งสู้กับเค้าได้ เรียกในยุคของนครชัยศรี ผมก็มีดีกรีของแชมป์ประจำปีเหมือนกันนะ
และเมื่อมีการผุดขึ้นของสนามแดร็กแห่งใหม่ เป็นที่โด่งดังมากของคนในรุ่นนั้น เรียกกันว่า “ยุค MMC” ผมก็ร่วมการแข่งขันเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาโดยตลอด ก็มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์จาก RB20DET มาเป็น 1JZ-GTE แล้วก็ขยับมาเป็น 2JZ-GTE เป็นลำดับ ชื่อเสียงของผมเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ตอนนั้นรถก็คันเดิมนี่แหละ เปลี่ยนเป็นสีเขียว จนสิ่งเปลี่ยนชีวิตผม ให้คนทั่วประเทศได้รู้จักก็งาน “Souped Up Thailand Records 2004” เป็นการจัดอันดับที่สนามบ่อพลอย ตอนนั้นชิงกับ คุณป๊อปปิ Skyline Jun Automechanic ซึ่งในปีนี้ผมเปลี่ยนเป็นรถเฟรม Nissan 200 SX ที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ “มารชมพู” เป็นรถที่ผมสร้างตามความคิด ความเข้าใจของผมเอง เครื่องยนต์ก็เป็น RB26DETT ก็ได้ตำหน่งผู้ที่เร็วที่สุดในปีนั้นมา
หลังจากนั้นผมก็พยายามพัฒนารถแข่งของผมอยู่ตลอดเวลา ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ซึ่งอินเทอร์เน็ต โซเชียลก็ไม่ได้มีความรวดเร็วทันสมัยเหมือนยุคนี้ หาข้อมูลก็ยาก ก็เลยต้องมานั่งคิดคำนวณเอง หาจุดที่ลงตัวที่สุด ซึ่งในตอนนั้นผมมองว่าถ้าหากมีแทร็กดีๆ รถยนต์ขับเคลื่อน 2 ล้อ น่าจะเร็วมาก ผนวกกับว่าสนามบางกอก แดรก อเวนิว (คลอง 5) กำเนิดขึ้น ผมก็มีความคิดที่จะพัฒนาเครื่องยนต์ต่อไปจากนี้ ซึ่งใน Souped Up Thailand Records 2005 ก็ยังใช้รถ “มารชมพู” เครื่อง RB26DETT ครองแชมป์เป็นสมัยที่สองติดต่อกัน ก็เลยมีความคิดที่ว่าคงต้องขยับสเต็ปเครื่องยนต์ให้มีกำลังมากกว่านี้ ก็เลยไปลองที่เครื่องบล็อกใหญ่อย่าง “UZ” ด้วยเหตุผลที่ว่า “เครื่องยนต์ที่บล็อกใหญ่กว่า” ถ้าเราทำได้สมบูรณ์แบบเหมือนกับบล็อกเล็กที่เคยทำมา ถ้าเทียบแรงม้าต่อน้ำหนัก ยังไงก็แรงกว่าแน่นอน…
หลังจากที่จับทางเรื่องของเครื่องยนต์ได้แล้ว ก็มาดูเรื่องของระบบส่งกำลัง ผมก็มาทบทวนดูว่า รถคันนึงเกิดขึ้นมา คำว่าเกียร์ออโตเมติก มันเสียเปรียบเกียร์ธรรมดาไปโดยปริยาย มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่เกียร์ออโตเมติก จะเร็วกว่าเกียร์ธรรมดาในยุคนั้น แต่ผมว่าข้อดีของเกียร์ออโตเมติกตรงที่ “มีความนุ่มนวลของการเปลี่ยนเกียร์” ในความคิดของผมคิดว่ารถแดร็กไม่ใช่จะใส่ใจในเรื่องของความแรงในเครื่องยนต์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ผมมองว่า ผู้ชนะคือผู้ที่ถ่ายทอดกำลังลงพื้นได้ครบถ้วนที่สุดมากกว่า ผมนำความคิดจากจุดนี้มาทำเกียร์ออโตเมติก ซึ่งข้อเสียเปรียบของเกียร์ชนิดนี้คือ “การออกตัว” แต่ถ้าเมื่อออกตัวไปแล้ว การเปลี่ยนเกียร์ในแต่ละเกียร์จะมีความสมูธและรวดเร็วกว่าเกียร์ธรรมดา
ทีนี้ทำไงล่ะ ให้เกียร์ออโตเมติกออกตัวได้เหมือนเกียร์ธรรมดา ก็มานั่งวิเคราะห์ แล้วปรับแต่งในเรื่องของระบบคลัตช์ในเกียร์ออโตเมติกให้สามารถออกตัวได้ โดยผมได้เอาเกียร์ 2 ลูกมารวมกัน Powerglide กับ Lenco ซึ่งเป็นเกียร์ต้นแบบที่ผมทำขึ้นมา ผมว่าเร็วมากนะ ออกตัวยุคนั้น 1.1 ความเร็วเข้าเส้นสามร้อยกว่า ก็โอเคเลยนะ แต่มันไม่ค่อยสมบูรณ์ รวมถึงตัวผมเองเป็นคนใจร้อนด้วย ก็เลยหยุดไว้ตรงนั้น หลังจากนั้นก็เอาเกียร์ออโตเมติกของ 2JZ-GTE มาทำ ใส่อุปกรณ์เสริมตามที่ผมคิดไว้ เริ่มแรกก็ต้องเรียนรู้กันไป มีหลายคนพูดกับผมว่า “มันวิ่งไม่ได้หรอก ออกตัวไม่ทันเค้า” เพราะทุกคนยึดติดกับ Powerglide ในยุคนั้น แต่ผมก็ไม่ลดละความพยามยาม จนวันที่ผมทำสำเร็จ ลบข้อด้วยของการออกด้วยเกียร์ออโตเมติกออกได้หมด ทีนี้แหละ ก็เข้าสู่ยุคปฏิวัฒิวงการแดร็กไทย “เกียร์ออโตเมติกได้เปรียบกว่าเกียร์ธรรมดา” แล้วสุดท้ายคำที่เคยบอกว่า “มันวิ่งไม่ได้ ออกตัวไม่ทันเค้า” ก็เข้าสู่คำว่า “แยกรุ่น” ระหว่างเกียร์ออโตกับเกียร์ธรรมดา เพราะวิ่งด้วยกันไม่ได้ เกียร์ออโตเมติกทำเวลาได้ดีกว่าเกียร์ธรรมดา จากจุดที่เคยด้อยกลายเป็นเรื่องของความได้เปรียบไปแทน…
ซึ่งตอนนี้ก็ต้องบอกว่าระบบเกียร์ของผมค่อนข้างที่จะลงตัวและสมบูรณ์แบบ แต่จะเอาไปเทียบกับเกียร์เรซซิ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้นะ เพราะตัว Housing ของผมยังเดิมอยู่ วัสดุที่ใช้ยังไงก็อ่อนแอกว่าเกียร์เรซซิ่ง แต่เรื่องของการใช้งานระบบกลไกการทำงานเหมือนกับเกียร์ซิ่งอย่างแน่นอน เพราะว่าชุดเกียร์ซิ่งทั้งลูกเค้าใช้วัสดุที่สร้างเพื่อการแข่งขันมาโดยเฉพาะ แต่ส่วนของผมนั้นเอาของเดิมๆมาปรับใหม่ตามสูตรการคำนวนของผม
ตั้งแต่หลังจากที่ผมประสบอุบัติเหตุ ผมก็เริ่มมาพัฒนาในเรื่องของอุปกรณ์สำหรับรถแดร็กอย่างจริงจัง รวมถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายให้กับรถสแตนดาร์ด อาทิ เกียร์รถซิ่ง เกียร์รถสแตนดาร์ด แล้วก็ชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆที่ติดกับเครื่องยนต์โรงงานมา ค่อนข้างไม่แข็งแรง ผมก็จะผลิตออกมาใหม่ให้แข็งแรงกว่าของเดิม ส่วนเรื่องทำรถแข่งนั้น ผมไม่ได้ทำรถให้ใครเลยนะ จะทำก็แต่รถของผมเองที่จะเอาไว้วิ่งในงาน Souped up ในแต่ละปี ในอนาคตก็คงจะเดินทางสายนี้ต่อ โดยเฉพาะเรื่องของเกียร์ นิสัยของผมคือ ถ้าทำอะไรก็เลือกสักอย่าง แล้วก็เอาให้มันดีที่สุดไปเลย”
เป็นบุคคลในวงการแดร็กไทย ที่ใช้ความเข้าใจ และ สมองคิดที่จะไม่ตามใคร จนในวันนี้ชื่อของ “ญา เซอร์วิส” เป็นที่รู้จักและโด่งดังทั่วประเทศ และใครที่อยากสัมผัส “เกียร์ ช่างญา” เชิญได้ที่อู่เลยครับ คนนี้ของจริงครับ พูดแล้วต้องทำให้ได้…
วลีโดนใจ
: “มันวิ่งไม่ได้หรอก ออกตัวไม่ทันเค้า” ผมมาถึงตรงนี้ได้เพราะคำนี้
: จะทำอะไรก็เลือกสักอย่างนึง แล้วก็ทำมันให้สุดไปเลย