จากนักแข่งรุ่นพี่ สู่ผู้จัดการแข่งขันเพื่อมอเตอร์สปอร์ตยุคใหม่ My Name is…Only One

STORY : T.Aviruth (^_^!)

Photo : ธัญญนนท์ แสงภู่

ประตูบานแรกสู่มอเตอร์สปอร์ต

ยากที่จะเอ่ยคำปฏิเสธ…ในการปฏิรูป…พัฒนาในแนวทางเดินหน้าของมอเตอร์สปอร์ตไทย  มันเป็นยุคฟูเฟื่องเรื่องทางเรียบระดับตำนานหรือรุ่นใหญ่ ยังคง Idol ให้คนรุ่นใหม่ๆ เสมอ  ซึ่งมันคือจุดประสงค์หลักของ My Name is…ในฉบับนี้  ที่ได้เชิญคณะผู้จัดการแข่งขันอย่าง Only One มาแนะนำนักแข่งหน้าใหม่ใส่ใจทางเรียบ ได้สัมผัสแนวความคิดของผู้จัดการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ เพราะเค้าคือ “ประตูบานแรกสู่มอเตอร์สปอร์ต”

วันนี้แขกรับเชิญของผมมาด้วยกัน 2 ท่าน  คู่ซี้ต่างวัย…ที่หอบหิ้วประสบการณ์ในช่วงระยะสั้น มาเล่าให้ฟัง พร้อมกับแง่คิดในมุมมองที่มีต่อมอเตอร์สปอร์ต  ตั้งแต่เริ่มต้นที่เดินเข้าสู่วงการ  โดยสิ่งที่คิด อาจจะไม่เป็นเหมือนกับที่คิดไว้ก็ได้   จากจุดนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้เค้าทั้ง 2 คน เดินมาสู่ในโหมดของผู้จัดการแข่งขัน ด้วยการหอบหิ้วความฝันครั้งที่เคยอยากจะเป็น มาเติมเต็มให้นักแข่งหน้าใหม่ได้สมหวัง  ว่าสิ่งที่คิดจะทำอยู่นี้ มันใช่อย่างที่ใจต้องการหรือไม่?

            บุญฤทธิ์ วงศ์สุทธิรัตน์ พร้อมกับ จักรพันธ์  จันทรสถิตย์  หรือที่รู้จักกันในชื่อเรียกสั้นๆว่า คุณฤทธิ์ กับ คุณหนึ่ง ทีมผู้จัดการแข่งขันน้องใหม่ ใช้ชื่อเรียกตัวเองว่า “Only One” เค้าคือทีมผู้จัดงาน “OMP CHALLENGE BY VATTANA” เมื่อปีก่อน  จนมีน้องๆ ที่มีใจรักด้านการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ รวมทั้งกลุ่มคาร์คลับอีกมากมาย ได้มีโอกาสนำรถยนต์ที่ใช้ขับขี่ หรือใช้งานทั่วไป ได้ไปลองขับในแบบฉบับการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบจริง   จนได้เสียงตอบรับจากกลุ่มนักแข่งมือใหม่ตบเท้าเข้าร่วมงานแน่นตลอดทั้งปี  และในปี 2014  ทาง Only One ได้สานต่อกิจกรรมนี้ให้เดินหน้าต่อเนื่องโดยใช้ชื่องานว่า “RACE FACTORY XOD CHALLENGE” ซึ่งตัวกิจกรรมหรือการแข่งขันก็คงรูปแบบความสนุกสนานไว้เหมือนเคย  ซึ่งนั่นมันไม่ใช่ประเด็นที่ผมจะคุยกับเค้า…

                สิ่งที่ผมอยากรู้จากปากผู้ชาย 2 คนนี้ คือ อะไรที่ทำให้เค้าทั้ง 2 คน ผันตัวขึ้นมาเป็นผู้จัดการแข่งขัน!!  หลังจากที่คำถามนี้สิ้นสุดลง  ผมเอื้อมมือไปกดปุ่ม Record เครื่องบันทึกเสียง ที่จะบันทึกเรื่องราวทั้งหมดต่อจากนี้ ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือให้คุณอ่าน เมื่อเค้าพูดว่า “ก่อนที่จะก้าวมาเป็นผู้จัดการแข่งขัน  ผมทั้ง 2 ก็เป็นนักแข่งรถยนต์ทางเรียบมาก่อน  ประสบการณ์จากการแข่งขันในสนามหรือชั่วโมงบินไม่สูงมากมายอะไร  แต่ก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่เคยประสบ  เอากลับมานั่งทบทวนนึกถึงในวันที่อยากมาลงแข่งขัน คิดว่าต้องเป็นแบบที่คิดวางแผนไว้  แต่เปล่าเลย ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกของมันเอง  ซึ่งเมื่อเห็นน้องๆ พี่ๆ รุ่นใหม่ ที่สนใจอยากร่วมการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ  มันทำให้นึกถึงตัวเองในวันที่ไม่รู้อะไรเลย   และก็ไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ๆ ก้าวเข้ามาแข่งขันได้อย่างที่ใจคิด  เส้นทางมันอาจจะไม่สวยเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่มันก็ไม่เลวร้ายพลิกแบบหน้ามือไปเป็นหลังมืออย่างแน่นอน

และอีกอย่างคือ อยากให้มันพัฒนาไปข้างหน้า  มีมาตรฐาน แต่ด้วยความเป็นไปได้ ในชีวิตจริงมันคงไม่สวยหรูอย่างแน่นอน ก็เลยเริ่มในเรื่องที่มันเป็นไปได้จริงก่อนดีกว่า  ซึ่งบอกตามตรงเลย  จุดเริ่มต้นของการจัดงาน ยังไม่รู้อยู่ที่ไหน ก็เลยเริ่มจากต้นเหตุที่เคยประสบ นำมาเป็นหัวข้อว่าเราจะทำอะไร  “พี่หนึ่ง” เอง เค้าเป็นคนที่คุยง่าย แต่ก็มีบ้างที่จูนกันไม่ลง  ซึ่งพี่หนึ่งเค้าก็มีเหตุผลของเค้า ในมุมที่ผมเองก็ไม่เคยคิดเช่นกัน ซึ่งถ้าเกิดทุกอย่างมันเพอร์เฟ็กต์ คลิกเข้ากันทุกอย่าง  บอกเลยว่ามันเป็นไปไม่ได้  ซึ่งที่เราประสบความสำเร็จก็เพราะว่า  คนนึง จะคอยดึงอีกคนไว้เสมอ  ค้านกันด้วยเหตุผลเสมอ ด้วยมุมมองที่มองกันไปคนละแบบ  ถ้าเออออเห็นเหมือนกัน ทุกเรื่องก็คง “เละเป็นโจ๊ก” ไปนานแล้ว  นี่เราทั้งสองจะตั้งข้อซักถาม แล้วมาทะเลาะกันเองก่อน  หาบทสรุปที่ลงตัว เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินต่อไปข้างหน้าจนเกิดเป็นรายการ OMP CHALLENGE BY VATTANA ขึ้นเมื่อปีที่แล้ว  โดยตั้งเป้าหมายไปที่กลุ่มคาร์คลับที่มีใจรักกีฬาด้านมอเตอร์สปอร์ต มาวิ่งแข่งกันในรูปแบบกิจกรรม “คลับเรซ” ด้วยสโลแกนที่ว่า “ประตูบานแรกสู่มอเตอร์สปอร์ต” มันจึงไม่ใช่การลงทุนอะไรมากกับการทำรถ เพราะอยากเปิดโอกาสนำรถที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาวิ่ง เพื่อค้นหาตัวเอง ว่าสิ่งที่ทำในวันนี้! จะไปต่อ หรือหยุดไว้แค่นี้…

ดังนั้น เรื่องของการแข่งขันเราจะไม่โฟกัสเรื่องของชัยชนะเป็นเป้าหมายใหญ่  แต่สิ่งที่เราต้องการคือ ให้คุณได้รู้ระบบการแข่งขัน ทราบถึงกติกา  มารยาท  และประเด็นหลักที่เน้นย้ำสุดก็คือ เรื่องความปลอดภัยของทุกคน  ก่อนที่คุณจะโฟกัสเป้าหมายไปที่ชัยชนะเพียงอย่างเดียว  เราเป็นแค่ประตูบานแรกให้คุณลองหยั่งเชิง  ว่าใช่แบบที่คิด หรือปิดประตู แล้วหันหลังกลับก็ยังไม่สาย  เพราะว่าคุณยังไม่ลึกถึงการลงทุนตัวรถทำเป็นรถแข่งสนามอย่างจริงจัง…   ซึ่งที่ผมทั้ง 2 คนทำแบบนี้เพราะว่า ในตอนที่ผมเริ่มต้น  รถก็ลงทุนทำเป็นรถแข่งแล้ว  เบาะ เบลท์ โรลบาร์  เครื่อง ช่วงล่าง เต็มระบบ  มันต้องเดินหน้าต่อสถานเดียว!!  ถอยหลังกลับก็มีแต่เจ็บตัวฟรี  เพราะลงทุนทำรถแข่งกันทีก็ใช้ปัจจัยไม่ใช่น้อย  แล้วใช่ว่าทำรถเสร็จจะจบ  ค่าใช้จ่ายต่อสนาม ยาง น้ำมันเครื่อง ทีมเซอร์วิส อีกตามมาเป็นระบบ  มันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย  เลยนำประสบการณ์ตรงจุดนี้แหละ มาจัดงานในลักษณะนี้ขึ้นมา

ซึ่งสิ่งที่เราบอกกับผู้ที่มาแข่งรถอยู่เสมอๆ  คือ  “แข่งจบ รถสวย” เป็นเรื่องหลัก นั่นคือการเน้นย้ำในเรื่องของ “ความปลอดภัย” ต้องมาเป็นอันดับแรก  เพราะรถบ้าน ไม่ใช่รถแข่ง  ประสบการณ์มีให้เห็น ผมรู้ว่าใจมีเกินร้อย  แต่ถ้ารถมันไปไม่ได้ มันก็กองอยู่ข้างแทร็ก  แน่นอนว่า  รถบ้านเมื่อเกิดปัญหา ต้องยับมากกว่ารถที่ถูกสร้างเพื่อการแข่งขันอย่างแน่นอน  อย่าปล่อยให้ใจคะนองเหนือสติ “ขับรถมา… กลับรถเพื่อน” แบบนี้ไม่เอา ไม่มีใครอยากเห็นภาพแบบนี้”

 

ในส่วนของปีนี้ หลังจากที่ผมได้คุยคอนป กับคุณฤทธิ์ และคุณหนึ่ง ก็สามารถมองเห็นภาพรวมที่ออกมามีความชัดเจนยิ่งขึ้น  โดยกลุ่มเป้าหมายคือ “คาร์คลับ ขับแข่ง สนุกเป็นหลัก โพเดียมเรื่องรอง ความปลอดภัยเรื่องแรก” อยากให้ท่อง “Fun Safe Self” ให้ขึ้นใจ บางคนที่เคยมาลอง อาจจะมองว่า งานนี้มากเรื่องในเรื่องของระบบ Safety  แต่นั่นก็เพื่อตัวนักแข่งเองทั้งหมด  ไม่มีใครอยากให้เกิดหรอก สิ่งที่ไม่คาดคิด  แต่ถ้าเรารู้จักป้องกันก่อนตั้งแต่ทีแรก ก็คงเป็นเรื่องที่ดีที่สุดจริงมั้ยครับ….

 

วลีโดนใจ

การทำงานของผมไม่ได้ทำวันนี้ใช้พรุ่งนี้  เราทำเสร็จจนจบกระบวนครบทั้งปี  ทุกอย่างจบหมดแล้ว เหลือแต่การแข่งขันในวันที่กำหนดเท่านั้นเอง

 

น้องๆ สมัยนี้โชคดี มีรถก็สามารถนำมาลงแข่งได้แล้ว… ผมเองรอมาเป็นสิบๆ ปี กว่าจะมีโอกาสเหมือนกับน้องๆ ในทุกวันนี้

 

น้ำเต็มแก้วกับน้องๆ ที่เพิ่งเข้ามา…เค้าไม่ฟังเราหรอก เพราะเค้าถูกบรรจุไว้เต็มหมดแล้ว  พูดอะไรก็ล้นออก จนเมื่อเค้าได้ลองเองขับเอง แล้วมันไม่ได้อย่างที่เค้าต้องการหรือรับฟังมา  เค้าถึงจะกลับมาฟังเรา  เราไม่ได้เก่ง แต่เพียงแค่สิ่งที่น้องๆ ทำอยู่ตอนนี้  พี่ผ่านมาก่อน…

 

ณ วันนี้ทำทุกอย่างก็เพราะอยากให้น้องๆ ไม่ต้องเสียสตางค์กับอะไหล่ที่มันใช้ไม่ได้  ไม่อยากให้เจ็บ  อะไรที่เรารู้  เราเคยโดนมาก่อน ก็แค่เล่าให้ฟัง ไม่อยากให้เค้าต้องมาโดนเหมือนกับเรา…เดี๋ยวนี้โลกมันหมุนเร็ว อะไรก็เชื่อมถึงกันหมด บรรดาเน็ตไอดอลมีเยอะมาก  ถ้าเค้าบอกว่าแจ๋ว ก็คือแจ๋ว  ซึ่งในทางปฏิบัติ หรือความเป็นจริง  เราไม่เคยเห็นเค้าในสนามเลยก็มี…

 

บุญฤทธิ์ วงศ์สุทธิรัตน์

“ฤทธิ์ Dyno King” คือฉายาของผู้ชายคนนี้   จากอดีตเด็กรถซิ่งที่จับพลัดจับผลูเข้ามาสู่วงการ Dyno Test (เครื่องวัดแรงม้า)  ซึ่งเรื่องราวก่อนเข้าวงการของเค้าจะเป็นอย่างไร  เรามาอ่านกันดูครับ…  เมื่อคุณฤทธิ์ เริ่มเล่าว่า “ในตอนเริ่มต้นจากเด็กเล่นรถซิ่งทั่วๆไปคนนึง ก็ได้มีโอกาสมาทำธุรกิจเครื่องวัดแรงม้าร่วมกับ คุณวิชัย การช่าง ซึ่งถ้านับจากปัจจุบัน ย้อนหลังไปก็ร่วมๆ สิบปีนะ  ทำธุรกิจอย่างเดียว เลยไม่ได้ออกไปยุ่งกับใคร  จนมีอยู่วันนึง “คุณกันต์” จากนิตยสาร Automobile ได้เอากระดองรถ Honda Civic EG จาก “เฮียไข่” มาให้  เป็นกระดองรถเปล่าๆ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น  ก็เลยตัดสินใจที่จะทำรถแข่งขึ้นมาคันนึง จากกระดองนี้แหละ ตอนนั้นความรู้ในการขับรถแข่งก็ไม่มี  เรียกได้ว่ามาแบบโล่งๆ  รู้ว่าแค่อยากลอง  อยากแข่งรถในสนามแข่ง อาการมันเหมือนกับเด็กได้ของเล่นใหม่นะ  กำลังเห่อ สมัครลงแข่งขันทุกรายการ โดยดูว่าตารางการแข่งขันที่ไหนไม่ซ้อนกันก็จะสมัคร ลงหมดเลยในปีแรก  สรุปว่าประสบการณ์ได้มาเพียบเลยในปีนั้น…  ไม่ใช่เรื่องของเกมการแข่งขันนะ  อันนั้นต้องขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อมและชั่วโมงบินของการแข่งขัน  แต่ประสบการณ์ที่ได้มาคือ สิ่งที่คิดกับภาพความเป็นจริง มันเหมือนหนังคนละม้วน  ขนาดว่าทำธุรกิจและเดินอยู่ในวงการรถมาก่อน  ยังมีความคิดว่า “สาหัสอยู่เหมือนกัน” อาทิ ค่าใช้จ่ายก็ดี  มารยาทที่ประสบพบเจอก็ไม่คิดว่าจะได้เจออะไรแบบนี้มาก่อน   ผมก็เหมือน “แก้วเปล่าๆ ที่ไม่มีน้ำอะไรเลย” ใครเติมอะไรมาก็รับหมด  จนมาถึงจุดๆนึง ที่รู้สึกว่า  มันใช่มั้ย?  ใช่หรือเปล่า สิ่งที่อยากจะเป็น  จากตรงนี้แหละ!! ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการกำเนิด Only One”

 

จักรพันธ์  จันทรสถิตย์

จุดเริ่มต้นคงบอกได้เลยว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” สำหรับพี่หนึ่ง  เพราะคุณพ่อเป็นนักแข่งมาก่อน  โดยพี่หนึ่งเปิดประสบการณ์ที่เค้าออกตัวแต่แรกเริ่มว่ามีไม่มากสำหรับการแข่งขัน  น้องๆ เพื่อนๆ นักแข่ง หลายๆคนเร็วกว่าผมเยอะ แต่สิ่งที่ผมมาทำตรงนี้ก็เพราะอยากให้คนที่ชอบแบบเดียวกับผม ได้มีโอกาสลองสัมผัสประสบการณ์นี้ดูครับ โดยพี่หนึ่งเล่าว่า “คุณพ่อผม  “กิจจา จันทรสถิตย์” ท่านแข่งรถมาตั้งผมยังเด็ก  ก่อนที่คุณพ่อผมจะเสียตอนผมอายุ 8 ขวบ  ผมมีรถคันแรกเป็นสังกะสี แล้วเราสามารถลงไปนั่งปั่นเล่นได้   นั่นแหละตัวจุดประกายผมเลย จนวันนึงได้มีโอกาสรู้จักนักแข่งรถท่านนึงชื่อ ปรีชา ปิสัณธนะกุล เราได้แต่ดูนะ เพราะชื่อทีมเค้ามีแต่แบรนด์ยักษ์ๆ ทั้งนั้น ซึ่งเราคิดว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะไปอยู่จุดนั้น…  จนได้มารู้จักกับคุณฤทธิ์ นี่แหละ  แต่ก็ไม่อะไร แค่รู้จัก แข่งรถเหมือนกันเท่านั้นเอง  จนมีโอกาสได้คุยกันมากขึ้น  ทัศนคติ ความคิดมันคล้ายๆ กัน ก็เลยถูกคอกันมากยิ่งขึ้น  จนมีอยู่วันนึงมีน้องๆ คาร์คลับที่สนิทกัน อยากให้เราพาพวกเค้าไปวิ่งแข่งในสนามแข่งจริง   เราก็บอกพวกเค้าว่า เราต้องเรียนรู้ก่อนนะ กฎ กติกา มารยาท  ในสนามแข่งเค้าปฏิบัติกันเช่นไร ก็เลยพาพวกเค้าไปลองในรายการแข่งจริง  ซึ่งหลายๆ อย่างมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  จากตรงนั้นแหละที่ทำให้ผม และคุณฤทธิ์ มาคุยกันอย่างจริงจัง โดยมีน้องหลายคลับอยากให้เราจัดการแข่งขันในรูปแบบคลับเรซขึ้นมาเอง จากวันนั้นใช้เวลาอยู่ปีกว่าๆ  โดยมี คุณเอ๋  ชนม์สวัสดิ์  อัศวเหม เป็นผู้ให้การสนับสนุนจนเกิดเป็นงาน  OMP CHALLENGE BY VATTANA ขึ้นมาอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้วครับ”