N.A. Spaceframe Debut By Issara Shop

รูปเปิดโดย Longkong Citymania

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี, พงศ์พล จันทรัคคะ  / ภาพ: ธัญญนนท์ แสงภู่

นวัตกรรมใหม่แห่งวงการ HONDA สูดอากาศเอง ที่เบื่อกับ Stock Body ของ CIVIC EG 3 ประตู หันมาสร้าง Spaceframe เข้าไปแทน โดยที่ยังใช้ขุมพลัง K Series อยู่ ซึ่งเป็นแนวคิดอันแหวกแนวของ “อิสระ กีฬาวัยรุ่น” หรือ Issara Shop ที่อยากจะเล่นอะไรใหม่ๆ แปลกๆ ให้กับวงการบ้าง ยังไม่พอ ยังวางเครื่องในรูปแบบ FR หรือ Front Engine Rear Wheel Drive พูดง่ายๆ คือ “ขับหลัง” นั่นเอง ถือเป็นคันแรกของเมืองไทย มาโชว์โฉมครั้งแรกในงาน Souped Up Thailand Records 2014 ที่ผ่านมา ลงแข่งในรุ่น PRO 4 N/A ซึ่งมีแฟนๆ ติดตามชมกันมากมาย แต่ตอนนั้นยังเซตรถไม่ลงตัว เลยอดเห็นผลงานกัน ไม่เป็นไร งานนี้ลองดูว่า “เขาคิดอะไรกัน” จึงมีคันนี้ออกมาครับ…

Hand Build Story

จากความต้องการของ “อิสระ กีฬาวัยรุ่น” ที่อยากจะสร้างรถ CIVIC 3 Doors เป็น “สเปซเฟรม” ใส่เครื่อง HONDA N.A. ขึ้นมา เป็นคันแรกของเมืองไทย และยังต้องเป็นเครื่องวางหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งยังไม่มีใครทำ ได้สานฝันกับ “อาแดง Drag Master” ซึ่งในการสร้างเฟรมและช่วงล่างไม่มีปัญหา เพราะเป็นสิ่งคุ้นเคย เพียงแต่ผลงานที่ผ่านมาอาจจะยังไม่สมบูรณ์ดี รถคันนี้มีเวลาทำค่อนข้างน้อย สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ ณ ตอนนั้นก็คือ “วัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์”

เช่น เพลาข้าง ที่วัสดุยังดีไม่พอ เลยเกิดปัญหา “เพลาคด” หมดไปครึ่งโหล แต่ยังไม่ขาด ซึ่งก็ไม่อยากให้มันขาด เพราะถ้า “เพลาขาดข้างใด รถจะเลี้ยวข้างนั้น” ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ จึงต้องประคองๆ ไป ดังนั้น เวลาออกตัวจึงต้องระวังเพลามีปัญหา เลยทำเวลาได้ยังไม่เต็มที่นัก หลังจากนั้น ได้สั่ง “โลหะสำหรับการขึ้นรูป” (Machinery Steel) เป็นเบอร์ 6582 จากเยอรมัน มาสร้างเพลาใหม่ขึ้นมาทั้งเส้นในเมืองไทยนี่แหละ ซึ่ง อาแดง ก็ได้ออกแบบ สร้าง กำหนด Process ที่จำเป็นตามมา เช่น การชุบแข็งที่ต้องได้สเป็กตามกำหนด ซึ่งเพลาที่สร้างนี้สามารถรองรับรถแรงบิดมากๆ อย่าง กระบะดีเซล ได้อย่างสบาย ดังนั้น การใช้กับเครื่อง HONDA แบบ N.A. จึงสบายมาก…

โลหะสร้างเพลา แข็งมากก็ไม่ได้นะ

สำหรับการสร้างเพลาข้าง หลายคน (รวมถึงตัวผมเอง) ก็คิดกันมาว่า วัสดุที่ใช้จะต้อง “แข็ง” ไว้ก่อน เพื่อรองรับแรงบิด แต่ในความเป็นจริงแล้ว วัสดุที่แข็งมากอาจจะไม่เหมาะสำหรับการสร้างเพลาที่ต้องมี “แรงบิด” มาส่งถึงล้อ ในช่วงที่เพลาเริ่มบิดตัว โอกาสที่จะ “ขาด” มีมาก ดังนั้น จึงต้องเลือกวัสดุที่สามารถ “ยืดหยุ่นตัว” (Flexible) ได้ด้วย อย่าง 6582 ก็มีการผสมกันระหว่างโครเมียม นิกเกิล และโมลิบดีนัม คุณสมบัติเด่นของมันที่เลือกมาใช้ทำเพลาขับก็คือ มีความแข็งแรงสูงมาก, ทนกับการล้าตัวได้ดี, มีความเหนียวแกร่ง (Toughness) และค่าการยืดตัว (Ductility) ได้ดีมาก การยืดหยุ่นตัวมีผลดีต่อการทำเพลาขับอย่างไร เวลารถจอด ล้อหยุด แล้วมีแรงบิดส่งมาตอนออกตัว

ช่วงนี้จะเกิดการ Shocked ขึ้น ไอ้จะขาดก็ตอนนี้แหละครับ ถ้าวัสดุยืดหยุ่นตัวได้ ก็จะสามารถลดแรง Shocked ได้ โอกาสเพลาขาดก็น้อยลง แล้วก็ยังมีขั้นตอนการ “ชุบและอบแข็ง” อีก ว่าจะเลือกความแข็ง (หน่วยเป็น HRC) เท่าไร ก็อย่างที่บอกว่า แข็งเกินไปก็ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป  ขั้นตอนนี้ต้องเป็นเรื่องของผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ถึงจะสามารถเลือกได้ว่าจะทำอย่างไร เราทราบเพียงแค่ว่า “ทำไมเขาต้องเลือกใช้วัสดุที่มีการยืดหยุ่นตัวได้และแข็งแรง” ก็พอแล้วครับ ส่วนเพลากลาง เป็น “โครโมลี เบอร์ 4130” ขนาด 3 นิ้ว ซึ่งเป็นขนาดเล็กสุดที่มี แต่จริงๆ แล้ว อยากได้ 2.5 นิ้ว ก็พอสำหรับเครื่องสเต็ปนี้…

ข้อมูลอ้างอิง : www.thyssenkruppmaterials.co.th, Ball Machine Shop

RWD: Loss Power but More Traction

สำหรับสิ่งที่เป็นประเด็นคำถามในใจ ซึ่งผม (รวมถึงหลายคน) สงสัยก็คือ “เมื่อทำเป็นขับหลัง จะมีการสูญเสียกำลังมากกว่าขับหน้าใช่หรือไม่” และ “คิดยังไงถึงทำขับหลังกับเครื่องไร้หอย” คำสงสัยแรก ตอบว่า “ใช่” รถขับหลังจะมีระบบส่งกำลัง (Drive Train) ที่ยาว อุปกรณ์มากกว่า มีเพลากลางยาวๆ เพิ่มมาเป็นเมตร กว่าจะส่งกำลังไปถึงล้ออีก จึงมีช่วง Delay ไม่เหมือนรถขับหน้า ที่ส่งกำลังออกจากเกียร์มาเพลาข้างไปถึงล้อเลย ดังนั้น รถขับเคลื่อนล้อหน้าจึงมีอัตราเร่งที่ดีกว่ารถขับหลัง (ในแรงม้าและแรงบิดเท่ากัน) น้ำหนักรถก็เบากว่า แต่ทำไมคันนี้ทำขับหลังละครับ ???

พูดถึงเรื่องธรรมชาติของ Traction ไม่ว่าจะเป็นรถอะไรก็ตาม รถแข่ง รถบ้าน ก็หลักการเดียวกัน เมื่อมีการเร่ง (Acceleration) น้ำหนักจะถ่ายเท (Transfer) ไปด้านหลัง ทำให้มี Traction ในการยึดเกาะสูงขึ้น ถ้าเป็นรถขับหลังจะได้เปรียบตรงนี้ทันที แต่ถ้าเป็นรถขับหน้า จะกลายเป็นเสียเปรียบ เพราะ “หน้าเหิน” Traction จะเสียไป อีกประการ รถขับหน้า เพลาข้างทั้งสองฝั่ง “ยาวไม่เท่ากัน” เวลาออกตัวจึงมีอาการ “สะบัด” ดังนั้น ทางทีมจึงตัดสินใจทำเป็นรถขับหลังแทน ยอมสูญเสียกำลังไปบ้างนิดหน่อย แต่มาเอาคืนที่ Traction ในการออกตัวที่ได้ผลมากกว่า ก็อยู่ที่แนวคิดของแต่ละคนครับ ว่าต้องการอะไรกันแน่ อีกเรื่องก็คือ Bell Housing หรือหัวหมูเกียร์ ที่นำมาต่อกับเครื่อง อันนี้จะต้อง “แม่น” เพราะถ้า “ผิดศูนย์” ไปนิดเดียว ทำให้เกิดการเบียด รถจะสูญเสียกำลังมาก และอุปกรณ์จะพังเสียหายได้ง่ายด้วย ซึ่งจากการที่ฟังข้อมูลมา สรุปได้ว่า ทุกอย่างต้องละเอียดจริงๆ ครับ….

Comment: อิสระพงศ์ กล่อมบรรจง (Issara กีฬาวัยรุ่น)

สำหรับรถคันนี้ หลังจากที่วิ่ง Souped Up แล้ว ได้เวลา 10.2 วินาที ในสภาพที่ประคองวิ่ง ก็กลับมาแก้ไขจุดที่ยังไม่เรียบร้อยใหม่ เช่น ตำแหน่งพวงมาลัยที่ยังไม่เหมาะสม (ชิดเกินไป ขับไม่ถนัด) เรื่องกล่อง ECU ที่มีปัญหาอยู่เล็กน้อย แก้ไขจบแล้ว ก็ลองมาวิ่งใหม่ ถ้าจะให้เทียบ Feeling ของรถ Spaceframe ขับหลัง กับรถ Stock Body ขับหน้า จากการที่ขับมาแล้วทั้งคู่ ผมเชื่อว่ารถคันนี้ได้เปรียบเยอะ ออกตัว 0-60 ฟุต ทำเวลาได้ “1.51 วินาที” ขนาดพื้น Track ในวันทดลองวิ่ง (หลังงาน Souped Up) ค่อนข้างลื่นและมีฝุ่นมาก ซึ่งถ้าพื้น Track ดี และเซตลงตัว ก็อยากจะได้ประมาณ “1.4 วินาที” เวลา Total ก็ต้องได้ “9 วินาที” ท้ายสุด ขอขอบคุณ SKUNK2 Racing by RACE FACTORY Thailand ที่เป็นผู้สนับสนุนหลัก, อู่ V-PRO, ป๋าแดง Drag Master, เอ้ (พี่ชายผม) AE RACING GARAGE, TROOP SERVICE และทีมงาน Issara Shop ทุกคนด้วยครับ…

Contact: Issara Shop Tel. 08-7546-8787 ; Facebook Search: กีฬาวัยรุ่น by Issara

X-TRA Ordinary

                รถคันนี้ใช้ฝาสูบ CNC ของ 4 PISTON RACING ซึ่งอาจจะเป็นสำนักโมดิฟายยังไม่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไป เท่าที่ดูผลงานก็ไม่เลวเหมือนกัน อย่าง HONDA CIVIC Stock Body เครื่อง K Turbo ทำเวลาได้ “7.92 วินาที” ที่ความเร็ว 322 km/h (201 mph) ส่วนรุ่นเครื่อง K ไร้หอย ก็ทำเวลาพิกัด 9 วินาที สนใจรายละเอียด เข้าไปเดินเล่นได้ที่ www.team4piston.com นะแจ๊ะ…

 

TECH SPEC

ภายนอก

ตัวถังไฟเบอร์ : MONZA SHOP

เฟรม : Drag Master

ภายใน

เกจ์วัด : RACEPAK

เบาะ : KIRKEY

เข็มขัดนิรภัย : IMPACT

พวงมาลัย : GRANT

แป้นเหยียบ : AP Racing

ช่วงล่าง

โช้คอัพหน้า : STRANGE

โช้คอัพหลัง : AFCO

ปีกนกหลัง : FUNCTION 7

ล้อหน้า : WELD ขนาด 4 x 17 นิ้ว

ล้อหลัง : WELD ขนาด 10.5 x 15 นิ้ว

ยางหน้า : MICKEY THOMPSON ขนาด 22.0-5.0-17

ยางหลัง : MICKEY THOMPSON ขนาด 29.5-10.5-15

เบรก : STRANGE

เครื่องยนต์

รุ่น : K28A

ฝาสูบ : 4 PISTON RACING

วาล์ว : Ferrea

สปริงวาล์ว : Ferrea

แคมชาฟท์ : PSI Stage 5 325 องศา

ลูกสูบ : WISECO

ก้านสูบ : GRP Aluminum

ข้อเหวี่ยง : Custom Made 2.8 L

อ่างน้ำมันเครื่อง : MOROSO

เฮดเดอร์ : แบงค์เฮดเดอร์

ท่อร่วมไอดี : DRAG CARTEL Individual Throttles 67 มม.

หัวฉีด : FIVE-O 1,600 C.C.

เร็กกูเลเตอร์ : K-TUNED

รางหัวฉีด : K-TUNED

กล่อง ECU : AEM Series 2 By Issara Shop, อุป จูนนิ่ง, เบิร์ด V-PRO

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ : JERICO V-GATE

คลัตช์ : COMPETITION

เฟืองท้าย : ISUZU Mu อัตราทด 5.125 : 1

เพลาข้าง : Drag Master