My Name is.. GT-Garage

XO AUTOSPORT No276
Photo : ธัญนนท์ แสงภู่

หนุ่มรถซิ่งเชียงใหม่ ที่เข้ามาสร้างปาฏิหาริย์ในสนามแดร็ก ทำเครื่องยนต์ K20 เทอร์โบ ได้เวลาเร็วที่สุดในประเทศไทย ณ ตอนนี้  สายฮอนด้ารู้จักเค้าอย่างดีแน่นอน ตี้ GT GARAGE แต่กว่ามาถึงวันนี้ได้ เค้ามีอะไรมากมายที่จะมาเล่าให้ฟังในคอลัมน์นี้ครับ

ถ้าคุณไปสนามแดร็กเวลามีงานแข่งบ่อยๆ คุณจะเห็นเค้าทำงานอยู่คู่กับ Speed D แล้วก็ น้า สยาม จนเป็นภาพชินตา ผมเองก็รู้จักกับ พี่ตี้ เค้าไม่ต่างจากพวกคุณๆ หรอก เพราะทำงานวงการนี้ เจอหน้ากันบ่อย แต่ลึกๆ แล้ว ในอีกมุมหนึ่ง กว่าที่เค้าจะเดินมาถึงตรงจุดนี้  เป็นคนทำเครื่องยนต์ที่แรงๆ ระดับประเทศได้นั้น  คุณรู้มั้ย ว่าเค้าผ่านอะไรมาเยอะมาก  เยอะจนบางคนท้อ เลิกไปนานแล้ว  แต่เค้าไม่ยอมแพ้กับสิ่งเหล่านั้น  เพราะถ้าคนอื่นเค้าทำกันได้ ผมก็ต้องทำได้เช่นกัน มือเท้าเท่ากัน สมองมีเหมือนกัน อยู่ที่ความอดทนกับความเพียรแล้วหละ ว่าใครจะหาเจอก่อนกัน  นั่นแหละคือประเด็นที่ผมจะมาคุยกับเค้าในวันนี้  พี่ตี้ เริ่มต้นที่คำว่า “ผมเล่นตั้งแต่เด็กๆ เลยนะ  คันแรกกับรถกระบะไมตี้เอ็กซ์ วางเครื่อง RB20DET ฝาแดง ของเพื่อนผม  วางเครื่องทำกันเอง เพราะเค้ามีอู่อยู่ที่เชียงใหม่  ผมยังเรียนมัธยมอยู่เลยในตอนนั้น ปิดเทอมทีนึง ผมก็มากรุงเทพฯ มาแถวๆ บางบัว บางใหญ่ เพื่อดูเค้าอัดรถกันในสมัยนั้น ผมมีรถในดวงใจที่ชอบเลยในตอนนั้นคือ กระบะไมตี้เอ็กซ์ เปิดประทุน เครื่องยนต์ 2 โรตารี่ รถแรงมาก

“Speed D เค้าคืออาจารย์ผมเลยนะ เค้าไม่ใช่คนที่จะมาสอนท่อง ก ข ฆ ค ง
แบบนี้คือวิธีการท่องจำ  มันไม่ใช่วิธีของเค้า แต่วิธีสอนของเค้าคือ มองให้ขาด
ว่าสิ่งที่เครื่องยนต์เป็นอยู่ในตอนนี้ ยังขาดอะไร หาปัญหานั้นให้เจอ  แล้วแก้มันให้ได้
มันคือการพัฒนาจากตัวเอง ต้องเข้าใจ ไม่ใช่การท่องจำ”

สมัยนั้นเรื่องวางเครื่องยังพอทำกันเองได้ แต่เรื่องวายริ่งสายไฟให้ครบๆ เป็นอะไรที่ยากมาก ยุคนั้นแค่เครื่องสตาร์ตติด วิ่งได้ก็พอแล้ว ซึ่งต่างกับยุคนี้ที่ต้องใช้แมนวลในการวายริ่งสายไฟ เพื่อให้ครบวงจร  เครื่องยนต์ตัวแรกที่ผมโมดิฟายก็คือ RB20DET ฝาแดง ที่วางในไมตี้เอ็กซ์ คันที่บอกนี่แหละ คือวาล์วมันเริ่มมีเสียงดัง  ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่า ไฮดรอลิกวาล์ว มันคืออะไร  ก็เลยรื้อเครื่องเองเลย สรุปว่า ประกอบกลับไม่ได้ ทำไม่เป็น แล้วก็ไม่รู้สาเหตุด้วยว่ามันดังเพราะอะไร สรุปก็ไปจบที่ “พี่ตี๋ หางดง” เป็นคนซ่อมให้ ผมก็เลยมารู้ว่า ที่มันดังก็เพราะไฮดรอลิกวาล์ว

นี่เป็นปฐมบทแรกของเครื่องซิ่ง แต่ในที่สุด RB20DET ก็ไปไม่รอด  ก็เลยหาเครื่องมาวางใหม่ ตอนนั้น JZ ยังไม่มีเข้ามา เครื่องเทอร์โบความจุเยอะสุด แล้วก็สดสุด มีแต่ 7M-GTE สรุปมาจบที่เครื่องรหัสนี้  เกียร์ธรรมดา แรงมากๆ  แต่ด้วยความซน ก็ยกเครื่องออกมาโอเวอร์ฮอล ประกอบเองใหม่หมดทั้งตัว วิ่งได้แป๊บเดียว ชาฟต์ละลาย ก็เลยงงว่ามันพังได้อย่างไร  ก็ต้องบอกตามตรงว่าประกอบเครื่องยนต์เนี่ย ผมเองก็ไม่รู้จักคำว่า “เคลียแรนซ์” หรอก สรุปเลิก ขายรถคันนี้ไป

หันมาเล่นฮอนด้าเซตเทอร์โบ ในตอนนั้นมันไม่มีกล่องจูนเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ ก็โมดิฟายตามของที่หาได้  โดยเอา กล่อง ชุดไฟ แอร์โฟล์ว ของเครื่องยนต์ Z18 มาใส่ วิ่งได้สักพักก็พังอีกเหมือนเดิม  เพราะมันไม่มีการจูน หรือปรับอะไรได้เลย  ซึ่งในช่วงนี้แหละ ผมเริ่มทำเครื่องรถมากขึ้น  ได้รู้จักกับ “เคลียแรนซ์” แต่ไม่รู้ว่าลึกๆ แล้ว เค้าใช้ค่ากันประมาณไหน แล้วรถทำเครื่องขนาดนี้ต้องใช้เคลียแรนซ์อยู่เท่าไหร่ ซึ่งเพื่อนผมเองเค้าเป็นเจ้าของโรงกลึง เชียงใหม่ยนตรกิจ ก็เลยบอกกับเพื่อนว่าอยากรู้จักตรงนี้ คว้านเสื้อสูบยังไง เคลียแรนซ์ใช้เท่าไหร่ ชาฟต์ควรทำอย่างไร  ซึ่งก็เป็นช่วงที่ผมเรียนจบมหาวิทยาลัยพอดี ก็เข้าไปฝึกทำงานที่โรงกลึงเพื่อนเลย  คือเค้าไปนี่ ทำทุกอย่างเลยนะ เริ่มจากเด็กยกของ แล้วก็มาเริ่มตั้งวาล์วฝาสูบ เจียบ่า เจียวาล์ว คว้าน ขัดกระบอกสูบ เจียข้อเหวี่ยง ทำงานเป็นช่างกลึงอยู่ประมาณ 6 ปี ในช่วงที่ทำงานช่างกลึง กลับมาบ้านก็ทำรถของเพื่อนๆที่เอามาให้ผมทำต่อ เป็นฮอนด้า แอคคอร์ด เครื่อง H22 A เซตเทอร์โบ ตอนทำแรกๆ ก็ส่งบล็อกเครื่องมาให้พรรคพวกที่กรุงเทพฯใส่ปลอกให้ แต่ก็มีข้อจำกัด สามารถรองรับแรงม้าได้ไม่เกิน 500 ตัว ถ้าเกิด พังแน่นอน


“เครื่องที่ผมทำมาทั้งตัว มันจะไม่มีค่าอะไรเลย
ถ้าไม่มี Speed D คอยมาจูน แล้วบอก เฮ้ย! ตี้ เครื่องตัวนี้ไม่ใช่ว่ะ
คือเอารถขึ้นเครื่องวัดแรงม้า จูนแวบเดียว เค้าบอกได้เลย เครื่องตัวนี้จะไปต่อหรือรื้อทำใหม่”

ซึ่งตัวผมเองก็มีประสบการณ์จากโรงกลึงมาพอสมควร ก็ตัดสินใจออกจากโรงกลึงมาเปิดอู่เองที่บ้าน  ซึ่งบอกเลยร้อนวิชา เข้าเคลียแรนซ์คืออะไร เริ่มประกอบเครื่องเอง วัดค่าต่างๆ เองได้ ได้รู้จักบอร์เกจ ก็จากทำโรงกลึงนี่แหละ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นพรรคพวกกันบ้าง สหอะไหล่ลำพูนบ้าง ลูกชายเจ้าของปั๊มน้ำมัน นันทขว้างลำพูน หรือลูกชายของเชียงใหม่ยนตรกิจ ก็เอาเครื่องมาให้ผมทำ ก็เริ่มทำมาเรื่อยๆ จนมีประสบการณ์  ซึ่งตัวผมเองได้รู้จักกับ Speed D มาก่อนอยู่แล้ว  ที่รู้จักก็เพราะมาซื้อของซิ่งที่เค้า จากจุดนั้นก็เริ่มสนิทกันมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับ Speed D เค้าจูน F CON แล้วรถที่ผมทำเครื่องยนต์มันขยับสเต็ปมาเป็นกล่องจูนแล้วละ จะเป็นกล่องชุดสายไฟ Z18 คงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว จากจุดนี้แหละ ที่ทำให้สนิทสนมกันมากขึ้น เพราะต้องให้ Speed D ขึ้นมาจูนรถให้ที่เชียงใหม่ เวลามาก็มาทำที่บ้านผมแหละ ในยุคนั้น Speed D กำลังสะสมรถ RETRO  พอจูนรถเสร็จ ก็ออกไปขับรถเล่นหาซื้อรถตามอำเภอต่างๆ ไปเรื่อยๆ ในตอนนั้น

แต่ก่อนหน้าที่ผมจะมาร่วมงานกับ Speed D และ น้าสยาม บุญช่วย  ผมเคยเอารถฮอนด้ามาแข่งในงาน XOTB ปี 2007 เป็นงานแรกที่คนรู้จักผม  เพราะรถที่ผมเอามาแข่งได้รางวัลชนะเลิศ วิ่ง 11.6 วินาที ฮอนด้า เทอร์โบ ยางเรเดียล ถือว่าเร็วมาก เลยทำให้คนเล่นฮอนด้ารู้จักผมตั้งแต่ในการแข่งขันครั้งนั้นเป็นต้นมา
วันนึง Speed D เค้าบอกว่า น้าสยาม บุญช่วย แกมีโปรเจกต์  สั่งของมาเต็มเลย  แล้วให้ผมช่วยจัดการประกอบเครื่องยนต์ให้  วันนั้นนั่งประกอบเครื่องตัวนี้แหละ ได้เห็นของแต่งซิ่งแปลกๆ มากมายของเครื่องยนต์ตัวนี้ นึกไปนึกมา ทำงานกับ Speed D นี่ ผมได้เจออะไรใหม่ๆ เยอะมาก  ลองคิดดูง่ายๆ นะ ผมก็คือเด็กบ้านนอกคนนึง ที่ทำอู่เล็กๆ มันก็จะได้เห็นได้เจอกับของบ้านทั่วๆไป ตั้งแต่เริ่มรู้จักกับเค้ามา โลกของแต่งซิ่งมันถูกเปิดออก มันยังมีอะไรอีกหลายอย่างบนโลกนี้ให้ผมได้ศึกษา อย่างเกียร์ power guide 2 สปีด  แก๊ส ไดเร็กพอร์ต  แคมองศาสูง อะไรเหล่านี้ ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย ก็เลยรู้สึกว่าร่วมงานกับเค้า ผมได้เปิดโลกทัศน์ได้กว้างขึ้นอีกมาก  อย่างเกียร์ Liberty Gear ใส่เครื่อง RB26  เค้าก็เป็นคนออกแบบเอง ทั้งเมนชาฟต์ อินพุตชาฟต์ แล้วส่งสเป็กไปให้ทาง Liberty Gear สร้างขึ้นมาให้ ซึ่งเจ้าโปรเจกต์ Supra เครื่องยนต์ 3RZ ของ น้าสยาม บุญช่วย  ผมก็ได้เข้ามาร่วมงานกับเค้าอย่างจริงจัง เพื่อจะทำรถคันนี้วิ่งในงาน Souped Up ซึ่งในปีนั้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
หลังจากจบ Souped Up ทาง Speed D กับ น้าสยาม บุญช่วย ก็เรียกผมมาคุย อยากจะให้มาร่วมงานกันที่กรุงเทพฯ  ผมเองยังออกตัวไม่ทันแต่ปากบอกออกไปก่อนแล้ว “ยินดีร่วมงานครับ” เป็นการตอบแบบอัตโนมัติ เพราะตัวผมเองก็ชอบที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วเมื่อจังหวะกับโอกาสมาพร้อมๆ กัน ก็เลยจบตรงที่ผมย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ ทำงานร่วมกับเค้า  ก็เสมือนเป็นผู้จัดการอู่ ดูแลให้ น้าสยาม เค้าทั้งหมดครับ

ซึ่งพอมาอยู่ตรงนี้ จากการที่เคยจ้างเค้าทำปลอกเครื่องฮอนด้า ก็เริ่มมาทำเอง  ซึ่งอันที่จ้างเค้าอยู่ก็ดีนะ แต่อย่างที่บอก มันจะมีลิมิตของมัน  ผมก็เริ่มทดลองทำปลอก ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนมันพัฒนา สามารถรับแรงม้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถามว่ามีพังมั้ย? บอกเลยว่าพังมาเยอะมาก  กว่าจะหาทางของมันเจอ ก็หมดไปเยอะมากครับ สุดท้าย เครื่องที่ผมทำมาทั้งตัว มันจะไม่มีค่าอะไรเลย  ถ้าไม่มี Speed D คอยมาจูน แล้วบอก เฮ้ย! ตี้ เครื่องตัวนี้ไม่ใช่ว่ะ คือเอารถขึ้นเครื่อง วัดแรงม้าจูนแวบเดียว เค้าบอกได้เลย เครื่องตัวนี้จะไปต่อหรือรื้อทำใหม่  ส่วนจะรื้อทำอะไรตรงไหน นั่นคือการบ้านของผม ที่จะต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้ แล้วก็นำกลับมาส่งให้เค้าจูนอีกที เพื่อเป็นการส่งการบ้าน สุดท้ายที่ผมเดินมาถึงตรงนี้ได้ ก็ต้องให้เครดิตกับ Speed D เค้าคืออาจารย์ผมเลยนะ เค้าไม่ใช่คนที่จะมาสอนท่อง ก ข ฆ ค ง แบบนี้คือวิธีการท่องจำ  มันไม่ใช่วิธีของเค้า แต่วิธีสอนของเค้าคือ มองให้ขาด ว่าสิ่งที่เครื่องยนต์เป็นอยู่ในตอนนี้ ยังขาดอะไร  หาปัญหานั้นให้เจอ  แล้วแก้มันให้ได้  มันคือการพัฒนาจากตัวเอง ต้องเข้าใจ ไม่ใช่การท่องจำ

“ผมก็คือเด็กบ้านนอกคนนึง ที่ทำอู่เล็กๆ มันก็จะได้เห็นได้เจอกับของบ้านทั่วๆ ไป
ตั้งแต่เริ่มรู้จักกับ Speed Dโลกของแต่งซิ่งมันถูกเปิดออก
มันยังมีอะไรอีกหลายอย่างบนโลกนี้ให้ผมได้ศึกษา”

จาก แอคคอร์ด เครื่อง H22A เทอร์โบ แล้วก็มาเป็นเครื่อง B เทอร์โบ ที่วิ่ง 9 ได้คันแรกของประเทศไทย ตอนนี้ก็เป็นเครื่อง K เทอร์โบ วิ่ง 8 คันแรกของเมืองไทยอีกเช่นกัน อนาคตผมก็คงยังอยู่กับฮอนด้า เพราะผมชอบเป็นการส่วนตัว ส่วนเครื่องยนต์ค่ายอื่นๆ ทุกวันนี้ผมก็ทำอยู่แล้ว ถ้าลักษณะของเครื่องยนต์ยังคงเป็นเครื่องลูกสูบอยู่ ผมมองว่าใช้พื้นฐานเดียวกันหมด แต่เพียงเราต้องมองนิสัยเครื่องให้ขาด ว่าเค้าถูกออกแบบมาเพื่ออะไร อย่างฮอนด้า ฝาสูบ Flow Rate ดี  ถ้าเป็น 2JZ GTE  พอร์ตเล็ก  แคมฯเล็ก  วาล์วเล็ก  ซึ่งผมก็พยายามมองนิสัยของเครื่องก่อน  จุดเด่นเค้าคืออะไร  แล้วก็นำมาใช้ให้ถูกวิธี  วันนี้ผมทำฮอนด้าวิ่ง 8.8 วินาทีแล้ว อนาคตก็ไม่รู้ว่าจะสามารถลงไปวิ่งพิกัด 8 วินาทีต้นๆ ได้หรือเปล่า หรือจะไปถึง 7 วินาทีได้มั้ย  แต่ผมก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาไปให้ถึงตรงนั้น”

เป็นอีกคนในวงการฯ ที่น่าจับตามองผลงานเค้าเป็นอย่างยิ่ง เค้าบอกว่าถ้าเราเข้าใจ และหามันเจอ มันก็สามารถไปถึงในสิ่งที่ต้องการได้  แต่ขึ้นอยู่ว่า เราจะหามันเจอได้เมื่อไหร่ และใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ นั่นแหละคือ สิ่งที่เราทุกคนกำลังหาอยู่ครับ