Photo : วรุตม์ สีหนาท
My Name is… UMB Autobody Workshop
ผมอยากให้คนไทยเชื่อมั่นในฝีมือคนไทยครับ ที่ผมพูดแบบนี้ได้ ก็เพราะว่าฝรั่งเอง ก็ยังมาซื้อของผมไปเลยครับ เป็นคำพูดประโยคหนึ่งของ คุณอั้ม ที่ผมได้ยินแล้วมีความสุข มันทำให้เห็นถึงศักยภาพฝีมือคนไทย ที่ต่างชาติเองยังให้การยอมรับ เขาคนนี้มีดีอะไร มารู้จักเขาในคอลัมน์นี้กันครับ
การพบกันครั้งแรก
แน่นอนว่า ในทุกเล่มของ XO จะมีคอลัมน์ My Name is… อยู่เป็นประจำทุกเล่ม โจทย์ในการทำคอนเทนต์ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามวาระโอกาส ซึ่งตั้งแต่ โอ๊ต เข้ามาร่วมทีม นับว่าเป็นการเปิดประสบการณ์มุมใหม่ๆ เพื่อมาแชร์ไอเดียในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ให้กับหนังสือ ซึ่งถ้าสังเกตกันจะเห็นว่า รูปแบบหนังสือเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่เล่มที่แล้วอย่างชัดเจน ดังนั้น ทุกคอนเทนต์ก็จะมีการปรับเปลี่ยนตามใหม่หมด ซึ่งเมื่อมาถึง My Name is… โอ๊ต ได้เอ่ยชื่อ พี่อั้ม ขึ้นมา พร้อมกับเล่าแคปชันติดตัวผู้ชายคนนี้มาว่า พี่คุยกับคนบ้ามั้ย? ซึ่งมันทำให้ผมสนใจขึ้นมาทันที ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักเขาเป็นการส่วนตัว โอ๊ต บอกว่า พี่อั้ม เป็นคนชอบสร้าง พร้อมกับหยิบ iPad ในกระเป๋าขึ้นมาเปิดผลงานที่พี่อั้มสร้างขึ้นมา ผมเห็นแค่ 2 รูปแรก ก็บอก โอ๊ต ว่า นัดเลย คนนี้แหละใช่ คนที่เราตามหาอยู่
UMB AUTOBODY WORKSHOP
การาจ – ห้องทดลอง – โรงงาน ทุกอย่างรวมตัวอยู่ในรั้วเดียวกันที่เรียกว่า “บ้าน” ในวันที่เดินทางไปถึง พี่อั้ม รอพวกเราอยู่ โฟมก้อนใหญ่ๆ ก้อนหนึ่ง ที่ถูกขึ้นรูป เป็น 190 E DTM เท่าขนาดรถจริง วางอยู่ข้างๆ ตรงที่พี่เขายืน เมื่อหันไปดูโดยรอบ ถูกแบ่งสัดส่วนไว้สำหรับทำงานอย่างมีระเบียบ โอ๊ต แนะนำให้ผมรู้จักกับ พี่อั้ม อย่างเป็นทางการ พร้อมกับพาทัวร์ไปดูในที่ต่างๆ ว่ามีอะไรอยู่บ้างในนี้ หลังจากการเดินดูทุกซอกทุกมุมในบ้านหลังนี้ ผมก็เริ่มมีคำถามเกิดขึ้นในใจ จึงชวนกันไปนั่งคุยในห้องทำงานของเขาครับ
จุดเริ่มต้น โมลด์ยางพารา
ถ้าจะให้เท้าความไปถึงจุดเริ่มต้น ก็น่าจะมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เวลาดูการ์ตูน เราก็จะเห็นมีรถแปลกๆ ก็ชอบ เลยเอาดินน้ำมันมาปั้น ติดกับรถของเล่นที่มีอยู่ ทำเป็นติดจรวดบ้าง อะไรประมาณนี้ พอโตขึ้นมา มีจักรยาน ก็เริ่มประดิษฐ์ นู่น นี่ มาใส่ในจักรยาน จนกระทั่งผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 2 ก็ได้เริ่มสัมผัสรถจริงๆ โดยของแต่งชิ้นแรกที่ผมสร้างขึ้นเองเพื่อใส่รถ คือ หางหลัง โดยใช้โฟม ทำจากแม่พิมพ์ที่เป็นยางพารา โดยของพวกนี้ผมศึกษาจากศึกษาภัณฑ์ ซึ่งในสมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ตเหมือนยุคนี้ ก็ลองผิดลองถูก ค่อยๆ จับทางเรียนรู้ไปเรื่อยๆ อย่างตอนแรกที่ทำ ผมก็ไปดูงานหล่อพระ เขาใช้แม่พิมพ์ยางพารา แต่จริงๆ มันก็ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ซึ่งกว่าจะทำได้ ก็เจ๊งไปเยอะครับ เพราะตอนนั้นยังไม่รู้วิธี ทำยังไงไม่ให้โมลด์ไฟเบอร์กับชิ้นงานไฟเบอร์มันติดกัน ยังไม่รู้จักเลยว่าแวกซ์มันเป็นอย่างไร ก็เลยใช้ยางพารานี่แหละมาทำเป็นโมลด์ก่อน อีกทั้งในตอนนั้นร้านขายไฟเบอร์ก็ไม่ได้มีแพร่หลายเหมือนปัจจุบัน ด้วยความที่เป็นเด็ก จะซื้ออะไรทีก็ต้องไปซื้อของที่ศึกษาภัณฑ์ หลังจากของแต่งชิ้นแรกออกมาแล้ว ชิ้นถัดไปก็ตามมา คือ คิ้วไฟหน้ารถครับ
เริ่มสร้างรายได้
จากการที่คุณพ่อเป็นคนชอบซ่อมรถเอง ผมก็ได้ความเป็นช่างจากการช่วยท่านทำมาเรื่อยๆ ประสบการณ์ทำบ่อยๆ ทำให้ผมเริ่มคล่อง แล้วทำรถเอง จนเข้าสู่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ผมเลือกเรียนสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) คือใจผมไปทางนี้เลยนะ อยากออกแบบ มีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง ซึ่งจากวิชาที่เรียนก็สามารถนำมาประยุกต์ในสิ่งที่ผมชอบได้ อย่างตอนเรียนออกแบบขวดน้ำหอม ออกแบบได้ก็ต้องสร้างขวดขึ้นมาจริงได้ ซึ่งอาจาร์ยที่สอนผม ท่านชื่อ อาจารย์เกษม ท่านก็มีโรงงานหล่อแฟริ่งรถอยู่แล้ว ก็เหมือนโชคเข้าข้างผมนะ ได้ศึกษา ได้ความรู้โดยตรงจากท่านอาจารย์ จนสามารถสร้างรายได้พิเศษในตอนที่เรียนอยู่ได้เลย โดยผมทำกระจกมองข้างขาย ซึ่งเป็นอะไรที่ลงตัวมาก เพราะในยุคนั้นเป็นยุคที่โดนขโมยกระจกมองข้างแพร่ระบาด ซึ่งในมหาวิทยาลัยผมก็เป็นครับ ในตอนนั้นงานที่ผมทำขาย สามารถสร้างรายได้เป็นทุนการศึกษาให้ผมได้เลยครับ
ebay
หลังจากที่กระจกมองข้างสำเร็จ ผมก็เปลี่ยนรถไปเรื่อยๆ ก็เพื่อที่จะได้สร้างชิ้นงานใหม่ อาทิ สปอยเลอร์หลัง กันชนหน้า–หลัง ในทรงที่ต้องการ แล้วก็เริ่มเข้าสู่ขายของให้กับต่างชาติ ผ่านทาง ebay จากตรงนี้แหละ ผมก็ได้รับประสบการณ์ใหม่เพิ่มขึ้น ในเรื่องของคุณภาพสินค้าต้องดี ซึ่งในช่วงที่ผมขาย แรกๆ ก็มีฝรั่งต่อว่าผมถึงเรื่องคุณภาพของชิ้นงานไม่เรียบร้อย ก็มีตำหนิเข้ามาบ้าง ผมก็เก็บจุดบกพร่องตรงนี้มาพัฒนา และระวังให้รอบคอบยิ่งขึ้น โดยทำการบ้านหนักมากขึ้น อาทิ ไปดูงานตามเซียงกง ที่เป็นพาร์ทมือสองมาขาย ไปสังเกตว่าชิ้นงานเขาเป็นอย่างไร ทำไมตรงนี้ต้องบาง ตรงนั้นต้องเรียบ ก็จดจำสิ่งเหล่านั้นมาใช้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผมมองว่านี่คือประสบการณ์อย่างแท้จริงนะ เพราะคนที่เรียนแบบผมมา ก็ไม่สามารถทำอย่างผมได้
DTM ความทรงจำสมัยวัยรุ่น
ในสมัยก่อนผมเคยคิดอยากจะสร้างรถขึ้นมาขาย อยากจะออกแบบรถที่เป็นของตัวเอง ซึ่งพอศึกษาอย่างจริงจัง มันยากที่ตัวบทกฎหมาย และองค์ประกอบต่างๆ ผมก็เลยมานั่งทบทวนใหม่ ถ้าอย่างนั้น ทำไมไม่สร้างอะไรที่หายากๆ ขึ้นมาแทน ซึ่งในหัวคิดมีแต่จะทำขึ้นมาเพื่อเป็นรถตัวเองก่อนเป็นอันดับแรกทุกครั้ง ส่วนเรื่องการค้าขายก็คิดแค่ว่าเป็นทุนมาช่วยเสริมในการทำรถตัวเอง ไม่ได้คิดจะทำการค้าขายเพื่อหวังผล คิดแค่จะได้มีทุนต่อยอด ในสร้างโปรเจกต์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า รถที่ผมสร้างขึ้นมาจะเป็นรถแข่ง DTM เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสร้างมันขึ้นมาจากความทรงจำสมัยวัยรุ่น เพราะรถประเภทนี้ มันเป็นอะไรที่เอื้อมไม่ถึงอยู่แล้วครับ
ไม้เบื่อไม้เมากับพ่อมาตลอด
มาที่งานประจำของผม ก็เป็นงานเกี่ยวกับงานช่างอีกเช่นกัน เป็นงานที่ต้องใส่ใจ ดูแลละเอียดเป็นพิเศษ ทุกอย่างต้อง 100% ไม่มีคำว่าพลาด เพราะงานผมเกี่ยวกับเครื่องบิน จากประสบการณ์งานประจำ ก็ทำให้ผมทำงานอดิเรกที่ผมชอบเกี่ยวกับรถได้อย่างสมบูรณแบบ ซึ่งต้องบอกว่าทุกอย่างผมถูกอบรมสั่งสอนมาจากครูคนแรก ก็คือคุณพ่อ ท่านเป็นทั้งนักบิน และก็เป็นช่างด้วย ผมจึงได้สิ่งเหล่านี้มาจากท่านโดยตรง ซึ่งในตอนแรกๆ ที่ผมแต่งรถ คุณพ่อไม่เห็นด้วยเลยครับ ท่านบอกของเขาเซตมาดีจากโรงงานอยู่แล้ว จะไปโหลดให้มันเตี้ยอีกทำไม แล้วเขาก็เอารถผมไปยกขึ้น อีกอาทิตย์ผมก็เอาไปโหลดลงใหม่อีก เป็นไม้เบื่อไม้เมากันแบบนี้มาตลอด จนผมจบมหาวิทยาลัย ผมบอกพ่อชัดเจนมากว่า ผมชอบแต่งรถ พ่อจะห้ามยังไงก็แล้วแต่ ผมก็จะแต่งรถไปเรื่อยๆ ซึ่งท่านเห็นความตั้งใจของผม ผนวกกับผมเรียนจบแล้ว ก็เลยเบาเรื่องตรงจุดนี้ไปโดยปริยาย จากประสบการ์ณของตัวผมเอง ผมชอบงานสวยๆ มากกว่าการออกไปขับซิ่งบนถนนครับ
เพิ่มเพื่อนไปในตัว
ก็อย่างที่เห็น ผมชอบทำรถ ดังนั้น รถที่ผมทำคันแรกก็จะเป็นรถตัวเอง อย่าง ผมชอบ Benz ผมก็จะได้เพื่อนเพิ่มไปในตัวในกลุ่มคนที่เล่นรุ่นนี้ด้วยกัน กลายเป็นว่ามีคนช่วยแชร์ ช่วยหาของเพิ่มขึ้นไปในตัว ยิ่งในยุคสมัยนี้โซเชียลมันครอบคลุมทั่วโลก นอกจากกลุ่มเพื่อนๆ ในประเทศไทย เพื่อนๆ จากต่างชาติ ก็มีทักทาย แลกเปลี่ยนทัศนคติกันเยอะขึ้น พอคนคอเดียวกันมาคุยกัน มันก็ทำให้ได้ความรู้ลึกขึ้นไปอีก อย่างรถที่ไม่มีในบ้านเรา แต่มีในบ้านเขา มันทำให้ผมได้ทราบรายละเอียดได้ดียิ่งขึ้นครับ
คาร์บอนฯ แทนใยแก้ว
โครงการที่วางไว้ คือ เน้นคุณภาพที่มากขึ้น พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนวัสดุจากใยแก้ว มาเป็นคาร์บอนฯทั้งหมด แต่จะไม่เน้นโชว์ลายคาร์บอนฯ เพราะยังไงก็ต้องพ่นสีทับ เว้นแต่ว่า ในบางส่วนที่ตั้งใจอยากจะโชว์ ก็จะปล่อยเป็นชิ้นงานคาร์บอนฯ
ทำคนเดียว
ผมทำงานคนเดียว แต่บางอย่างก็จ้างเขาบ้าง เช่น งานประเภท CNC หรือว่างานไฟเบอร์บางอย่างจะให้เพื่อนทำให้ แต่ท้ายที่สุด ทุกอย่างก็ต้องกลับมาหาผม เป็นคนเก็บงาน ลงรายละเอียด และประกอบด้วยตัวผมเองอยู่ดี เพราะผมเป็นคนกำหนดสเปกออกไป ดังนั้น ผมก็จะรู้ว่าเวลาประกอบชิ้นงานเข้าที่ตัวรถ มันจะออกมาได้พอดีอย่างที่ผมต้องการ
เคมีตรงกัน ก็คุยกันง่าย
คือมีคนเข้ามาติดต่อให้ผมทำรถให้หลายคนนะ คือถ้าไม่ชอบในทางเดียวกัน ผมก็ไม่อยากทำ มันเหมือนเคมีไม่ตรงกัน ทำไป ผมก็ไม่ชอบ ไม่สนุกกับงานที่ทำ คือทุกวันนี้ผมอยากจะอยู่แต่บ้าน ไม่อยากออกไปไหนเลย เพราะผมมีกิจกรรมทำเยอะมาก จะเห็นได้ว่า ผมมีงานรอให้ผมไปทำทุกจุดเลย ในอู่ผม ผมจริงจังกับการทำรถมาก ทำไม่มีเบื่อ ยิ่งทำก็ยิ่งมีความสุข ทำงานที่บ้าน ได้อยู่กับครอบครัวด้วย ซึ่งคุณพ่อผมท่านสอนผมว่า ของในโลก มนุษย์ล้วนแต่เป็นคนสร้างขึ้นมาทั้งนั้น ถ้าเราหาไม่ได้ มันไม่มีจริงๆ ก็สร้างมันขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้น งานไฟเบอร์ที่ผมสร้างขึ้นมา มันจะแตกต่างจากงานที่มีทั่วๆ ไป ตรงที่ผมใส่ความรักลงไปด้วยครับ
สำหรับผลงานรถที่ คุณอั้ม ทำ จะทยอยมาลงอัปเดตในคอลัมน์ให้ในโอกาสต่อๆ ไปนะครับ ไว้คอยติดตามดูว่า จะมีรถอะไรบ้าง หรือเข้าไปทักทายพูดคุยกับ คุณอั้ม ผ่านช่องทางโซเชียลตามที่ลงไว้ได้เลยครับ
วุฒิพงษ์ กัณหะสิริ (อั้ม)