Sweetest Surprise บุก SUPER GT ทะลวงลึก NISMO GT-R GT500 & GT3

Souped Up Special : XO 262 (NISMO GT-R GT500 & GT300)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี                             
ภาพ : Image Jinzzz, Nissan Motor Thailand Official   

หลังจากที่งาน Chang SUPER GT Race 2018 ที่เป็นรายการแข่งขันทางเรียบที่ใหญ่และเป็น “อินเตอร์” ที่สุดของญี่ปุ่น บนสนามเมืองไทย “ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต” จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็น Big Event ที่แฟนๆ สายซิ่งนั้น ไม่มีใครอยากพลาดกันทั้งนั้น และแน่นอนว่า เราก็ย่อมไม่พลาดที่จะไป “เจาะลึก” ตัวแข่ง NISMO GT-R ทั้ง GT500 & GT3 มาให้ชมกันเต็มๆ ขอพูดว่า Exclusive แต๊ๆ เพราะการที่จะเข้าไปเจาะรายละเอียดรถพวกนี้เป็นไปได้ยากมาก กับงานและทีมแข่งระดับอินเตอร์แบบนี้ สรุป แล้วนี่ผมจะมาอวดว่าได้ถ่ายเหรอ เปล่าเลย พวกเราไปถ่ายทำมาก็เพื่อ “แฟนๆ” ทั้งนั้นแหละ อย่าเข้าใจผิดไป ผมไม่ได้เก็บไว้ดูเองซะหน่อย…
เราได้รับเกียรติจาก “บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” ที่ให้ทีมงาน XO autosport ได้เข้าไปถ่ายทำรถเหล่านี้กันอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาตีแผ่ให้สังคมรถซิ่งได้รับรู้ แม้ว่ามันเป็นรถเซอร์กิตที่คนชอบเฉพาะทาง แต่ก็มีการถามถึงหลายครั้งในด้าน “สเปกรถ” และ “แรงม้า” สรุปแล้วว่า GT500 หรือ GT3 มันแยกยังไงกันแน่ มีอะไรที่แตกต่างกัน แต่ที่แน่ๆ GT500 มันไม่ใช่รถปกติอีกต่อไป มันคือรถแข่งเต็มรูปแบบ เครื่องยนต์ก็ไม่ใช่ Production อย่าง VR38DETT อีกด้วย ส่วนตัวรถและระบบอื่นๆ ก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง แล้วมันมีอะไรมากกว่านั้นอีกล่ะ…

SUPER GT คืออะไร
ตอบกันง่ายๆ ภาษาชาวบ้าน SUPER GT ก็จะเป็นรายการแข่งขันหลักของรถ GT หรือ Grand Touring Car ซึ่งเป็นรถสปอร์ตที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงได้เป็นเวลานานๆ ในแต่ละ Race ก็จะเน้นความ “ยาวนาน” เกินกว่า 1 ชม.ขึ้นไป ทำให้เป็นการพิสูจน์สมรรถนะของรถ จุดเริ่มต้นก็จะเป็นปี 1994 ก็คือ All-Japan GT Championship ซึ่งตอนนั้นมี Class คือ GT1, GT2 ซึ่ง SKYLINE R33 GT-R ได้แชมป์รุ่น GT1 (เคยเขียนถึงไปแล้วใน Reed it more รวม R33 ไงล่ะ) หลังจากที่ Group A ที่ R32 GT-R เคยเกรียงไกรนั้น “เลิกแข่ง” ส่วน PORSCHE ได้แชมป์รุ่น GT2 ปี 1996 เปลี่ยนชื่อรุ่นการแข่งขันมาเป็น GT500 และ GT300 โดยตัวเลขนี้คือการ “จำกัดแรงม้า” เพื่อแบ่งคลาส เอาง่ายๆ ถ้า GT500 ก็เป็นพวก SKYLINE, SUPRA, FAIRLADY Z ส่วน GT300 ก็เป็นรถขนาดย่อมลงมา พวก “สองพัน” ทั้งหลาย เช่น SILVIA หรือ IMPREZA ส่วนนักแข่งก็ต้องใช้ 2 คน สลับกัน…

< ปี 2005 เปลี่ยนชื่อรายการแข่งขันเป็น SUPER GT ในรุ่น Top Class ก็คือ GT500 ในยุคนั้นถ้าจำกันได้ อย่าง SKYLINE GT-R R34 ก็จะเป็นรถบานๆ เครื่องยนต์ RB26DETT โมดิฟายสเต็ป NISMO ถ้าเป็นรถถนน ก็คือตัว Z-TUNE นั่นเอง (แต่มีการปรับสเปกให้สามารถขับขี่บนท้องถนนทั่วไปได้ในแบบ Road car) หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น 350Z เพราะ R34 ก็ปลดระวางไปตามระเบียบพัก…
< ปี 2010 GT500 มีการเปลี่ยนแปลงชุดใหญ่ เพราะ “รถ” เป็นการเปลี่ยน Gen ใหม่หมด ซึ่ง NISMO ก็ส่ง R35 GT-R ที่มาแทน 350Z ลงขยี้กับ HONDA ที่ส่ง HSV-10 ลงมาแทน NSX ที่ได้เวลาปลดประจำการ โดยจะกำหนดให้ใช้เครื่องยนต์ “เพื่อการแข่งขันเต็มระบบ” แบบ V8 ขนาด 3.4 ลิตร และบังคับเลยว่าจะต้องเป็นรถ FR หรือ Front Engine Rear Wheel Drive หรือ “รถเครื่องวางหน้า ขับเคลื่อนล้อหลัง” เท่านั้น ซึ่งเหล่า PORSCHE Carrera Cup หรือ FERRARI Challenge ที่เครื่องไม่ได้อยู่หน้า ก็ต้องมาลงกับพวก GT300 ประมาณนั้น…
< พอมาถึงปี 2014 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ SUPER GT ได้ใช้ Regulation ขั้นพื้นฐานร่วมกันกับรายการแข่ง DTM หรือ Deutche Tourenwagen Masters หรือ German Touring Car Series แล้วก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์แบบ 2.0 ลิตร 4 สูบ เทอร์โบ ใช้หัวฉีดแบบ “ยิงตรงเข้าห้องเผาไหม้” (Direct Injection) จนถึงปัจจุบัน โครงสร้างรถส่วนหลักก็ยังเป็น “โมโนค็อก” ไม่ใช่ “เฟรมเต็มระบบ” ในส่วนของ Cockpit ห้องโดยสาร ก็จะสร้างเป็น “คาร์บอนไฟเบอร์” ทั้งชิ้น ลักษณะเหมือน “อ่างอาบน้ำ” ออกแบบมาเหมือนกันกับ DTM ทั้งหมด ทุกคันใช้เหมือนกันหมด โดยการนำไปติดตั้งในตัวรถ แต่ช่วงล่าง “สร้างใหม่” แบบไม่เหลือเค้าของรถ Production เดิม และบังคับเป็น “พวงมาลัยซ้าย” เท่านั้น ซึ่งถือเป็น “แบบอินเตอร์” ใช้กัน เนื่องจากใช้นักขับจากยุโรป ที่ถนัดรถพวงมาลัยซ้าย นับว่าเป็น SUPER GT ในยุคใหม่จนถึงปัจจุบัน…

ว่าด้วย “ตัวขี่” และ “ไฟสีแดง-น้ำเงิน” หน้ากระจก
สำหรับ “นักแข่ง” ที่จะมาร่วมหวดกันใน SUPER GT นั้น ก็จะเปิดให้นักแข่งระดับโลกมาแข่งได้ โดยมากก็จะไต่เต้ามาจาก “รถคาร์ท” (Junior Karting Competition) แล้วก็ค่อยๆ ขึ้นสู่รุ่นใหญ่ตามสเต็ป จะเห็นได้ว่า SUPER GT ก็จะมีทั้งนักแข่งชาวญี่ปุ่นและยุโรป มืออาชีพ ระดับ “พระกาฬ” ทั้งหลาย รวมถึงระดับ F1 และ 24 Hours Le Mans อีกด้วยนะ อย่างทีม NISMO ในรุ่น GT500 ขับโดย “Mr. Tsugio Matsuda” และ “Mr. Ronnie Quintarelli” ส่วนรุ่น GT3 จะเป็นทีม GAINER มี 2 คัน คันเบอร์ 10 “ฝากระโปรงขาว” ขับโดย “Mr. Kazuki Hoshino” และ “Mr. Hiroki Yoshida” และเบอร์ 11 “ฝากระโปรงแดง” ขับโดย “Mr. Katsuyuki Hiranaka” และ “Mr. Hironobu Yasuda” ครับ…
ส่วนในการ “แบ่งงาน” (Driving Duties) ด้วยความที่การแข่งขันมีระยะเวลานาน นับเป็น “เวลา” ไม่ได้กำหนดรอบ คล้ายๆ Mini Endurance เลยต้องกำหนดให้นักแข่งมี 2 คน สลับกันขับ โดยนักแข่งแต่ละคน “ห้ามขับด้วยระยะทางเกินกว่า 2/3 ของระยะทางรวมทั้งหมด” เพื่อกันไม่ให้ใช้นักขับฝีมือดีกว่าขับเป็นระยะทางมากเกินไป และสิ่งที่เป็นข้อสงสัย หากสังเกตที่กระจกหน้ารถ จะมีไฟ LED จะส่องสว่างเป็นสี “แดง-น้ำเงิน” อันนั้นจะเป็นไฟบอกว่า “เป็นนักแข่งคนไหนขับอยู่” ถ้าเป็นสีแดง จะหมายถึง นักแข่งคนที่ 1 สีน้ำเงิน จะหมายถึง นักแข่งคนที่ 2 สีเขียว จะหมายถึง นักแข่งคนที่ 3 ถ้ามีนะ…

แยกคลาสรถยังไง  
ถ้าจะดูที่ตัวรถแล้ว GT500 จะเป็นสปอร์ต “รุ่นใหญ่” อย่าง NISSAN GT-R, LEXUS RC-F, HONDA NSX ทรวดทรงก็จะบานๆ แบนๆ ใหญ่ๆ แต่ถ้าเป็นรุ่นรองอย่าง GT300 ก็จะเป็นรถตลาดๆ หน่อย เช่น SUBARU BR-Z, TOYOTA 86/PRIUS หรือเก่าหน่อยก็ COROLLA (คล้ายๆ ALTIS บ้านเรา), HONDA CR-Z etc. อันนี้ก็พอแยกออกได้ ส่วนพวก GT3 ก็จะชัดเจนว่าเป็น Super Car ทรวดทรงดั้งเดิม แต่มีโป่ง ไม่ถึงกับแปลกประหลาดนัก แต่ส่วนปลีกย่อยที่ชัดเจน ก็มีดังนี้…
< สีของสติกเกอร์ต่างกัน : สติกเกอร์ติดรถของ Official อย่าง “คาดกระจกหน้า” (Wind Shield Decal) หรือ “ป้ายเบอร์รถ” (Car Number Panel) ) รุ่น GT500 จะเป็น “สีขาว” ส่วน GT300 และ GT3 จะเป็น “สีเหลือง” อันนี้สังเกตง่ายเลย…
< ไฟหน้า : ก็เช่นกัน GT500 จะเป็น “โคมขาว” ส่วน GT300 จะเป็น “โคมเหลือง” ที่สามารถสังเกตและแยกได้ง่ายเวลาทัศนวิสัยแย่ อันนี้จะมีประโยชน์กับนักแข่งเอง เวลารถตามหลังมาเร็วๆ อย่าง GT300 ที่โดน GT500 ไล่มา พอเหลือบกระจกเห็นไฟหน้าสีขาวๆ ก็จะรู้ทันทีว่าต้อง “หลบ” ให้แซงโดยดี…

JAF-GT300 VS FiA GT3
สั้นๆ เลยนะครับ ว่าสองรุ่นนี้ นอกจากตัวรถที่เราเห็นภายนอกแล้ว ยังมีส่วนแตกต่างกันอย่างไรอีก…
< GT300 : ชุดพาร์ทออกแบบได้คล้ายกับ GT500 ซึ่งจะมีการ “คุมโซน” ตามกติกากำหนด ไม่ใช่ว่าจะติดตรงไหนก็ได้ และ “อนุญาตให้เปลี่ยนเครื่องยนต์รุ่นอื่นได้” แต่ต้องเป็นแบรนด์เดียวกันกับตัวรถ…
< GT3 : ชุดพาร์ทจะไม่เหมือน GT300 ซึ่ง GT3 ต้องเป็นไปตามพื้นฐานเดิมที่กำหนดมา ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบเองได้ ส่วนเครื่องยนต์ “ห้ามเปลี่ยน” จะต้องใช้เครื่องยนต์ “ตรงรุ่น” ของรถรุ่นนั้นๆ ไว้เท่านั้น…

การกำหนดแรงม้า ระหว่าง GT500 และ GT300 & GT3
เป็นที่สนใจของคนที่ยังมีความคลางแคลงใจอยู่ว่า สรุปแล้ว แรงม้ามันเท่าไรกันแน่ เรื่องแรงม้าในยุคแรกเริ่มก็อย่างที่รู้กันตามชื่อรุ่น แต่จริงๆ ในปัจจุบันนี้ มันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่เหนือกว่าเดิม แรงม้าจะเป็นสิ่งที่ “คนทำรู้” แต่ “จะไม่พูดกัน” เพราะมันมีเงื่อนไขมากจากกติกาที่จะกำหนดให้รถแต่ละคันโดน BOP หรือ Balance of performance สำหรับคนที่ได้ตำแหน่งหัวๆ เพื่อกันการ “ทิ้งห่าง” มันคงน่าเบื่อใช่ไหม ถ้า “ตัวเต็ง” ลงทุนสูงๆ ทีมใหญ่ๆ ทุ่มเงินมากๆ จ้างนักแข่งชั้นนำระดับโลกมาขับนั้น “แดกอยู่คนเดียว” คนอื่นก็ไม่อยากแข่ง คนดูก็ไม่อยากดู มัน “คาดเดาได้” จึงต้องเกิดกติกานี้ขึ้นมา ก็มีทั้งการ “บีบปากไอดี” ให้เล็กลง และ “การถ่วงน้ำหนักเพิ่ม” แน่นอนว่า คันที่เร็วที่สุด ก็ต้องโดนจำกัดและถ่วงเพิ่มมากที่สุด เพื่อให้รถ “มีภาระเพิ่มขึ้น” ทุกอย่าง เรียกว่าทำให้อันดับถัดๆ มาสามารถ “เข้าใกล้กันได้มากขึ้น” เกมการแข่งขันก็จะ “ขยี้” กันตลอด คนดูก็จะรู้สึกว่า “ได้ลุ้น” มันสนุก ซึ่งการถ่วงน้ำหนักนี้ SUPER GT เรียกว่า “Weight Handicap” หรือ “Success Ballast” แต่จะคำนวณกันเท่าไรนั้น ดูตามตารางที่ผม Capture มาจาก SUPER GT Fun Book ได้เลย หรือใครที่ “ภาษาฝรั่ง” ดีหน่อย จะ Download มาดูก็ได้เพลินดี ภาษาอังกฤษเขาอ่านง่าย รูปสวยดีครับ เพลินๆ ไป สำหรับการ “กำหนดแรงม้า” ทั้งสองรุ่นก็จะมีข้อแตกต่างดังนี้…
< GT500 : การกำหนดแรงม้า จะใช้วิธี “Fuel flow restrictor” หรือ “การบังคับปริมาณการไหลของน้ำมันเชื้อเพลิง” ตามกติกาที่กำหนด ซึ่งการ “ตอนอาหาร” แรงม้าก็จะตกลงตามสูตรอยู่แล้ว คือ ถ้าจะแอบไปทำอะไรกับเครื่องเพื่อเพิ่มแรงม้า มันก็ไม่มีประโยชน์ โดยจะควบคู่กับการ “ถ่วงน้ำหนักเพิ่ม” ครับ…
< GT300 & GT3 : การกำหนดแรงม้าจะใช้วิธี “Air flow restrictor” หรือ “การบังคับปริมาณการไหลของไอดีเข้าเครื่อง” อันนี้ก็เหมือน “อุดจมูก” เอาไว้ ไม่ว่าจะทำเครื่องแรงแค่ไหน หรือ “บ้าบูสต์” ปรับเข้าไปกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์ แต่ทางอากาศเข้าโดนจำกัด ยิ่งปรับบูสต์มาก แรงม้าก็ยิ่งตก เพราะอากาศมันไม่พอ จึงไม่มีประโยชน์ที่จะทำ…

NISMO Complete Racing Car
ต้องเกริ่นนำ (Intro) กันหน่อยว่า รถแข่ง GT-R ทั้งสองรุ่นนี้ จะเป็นรถที่ผลิตตามกฎการแข่งขันของผู้จัด SUPER GT ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไหนก็ตาม ส่วนของ NISSAN ก็แน่นอนว่าต้องเป็น NISMO หรือ NISSAN MOTORSPORT เท่านั้น ซึ่ง GT-R ก็จะมีสองรุ่น คือ GT500 และ GT3 ตัว GT500 ก็จะตามกฎของ SUPER GT ส่วน GT3 นั้นก็จะทำตามกฎของ FiA GT3 (เดี๋ยวเราจะมาลงลึกกันในส่วนต่อไป) ซึ่ง NISMO ก็ผลิตรถแข่ง “เพื่อการขาย” ให้กับทีมแข่งต่างๆ นำไปแข่งกัน…

NISMO GT-R FiA GT3
สำหรับรุ่นนี้จะเป็นรถแข่งที่มาจากพื้นฐาน Production Car ไม่ใช่รถที่สร้างพิเศษขึ้นมาเหมือน GT500 หรือ GT300 แต่มาอัปเกรดโมดิฟายให้เป็นไปตามกฎ (Regulation) ของ FiA GT3 (ซึ่งมันยืดยาวมาก อย่าเพิ่งไปสนใจมันเลยว่ามีอะไรบ้าง) ซึ่ง Mr. Takao Katagiri CEO NISMO ตั้งใจว่าจะให้เป็นรถแข่งในคลาส GT3 ที่สามารถต่อสู้กับรถแบรนด์อื่นๆ ในระดับโลกได้ โดยเฉพาะแบรนด์ยุโรปทั้งหลาย แต่สิ่งที่ GT-R GT3 แตกต่างจากตัว Production ก็มีหลายอย่าง ดังนี้…
< เหลือขับสอง : ตัดระบบขับเคลื่อนจากเดิม 4WD เหลือเพียง “FR” หรือ “ขับหลัง” ??? เนื่องจากกติกาของ FiA GT3 กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 2 ล้อหลังเท่านั้น จึงต้องยกเลิกชุดขับเคลื่อนล้อหน้าไป แต่ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะน้ำหนักรถแข่งตัวเปล่า (Dry Weight) ที่ออกจากโรงงานเหลือเพียง 1,290 กก. เท่านั้น…
< เครื่องเหมือนเดิม แต่… : เครื่องยนต์ VR38DETT by NISMO ในสเปกเคลมแรงม้าไว้ “เกินกว่า 550 PS @ 6,500 rpm แรงบิด 65 กก-ม. @ 5,000 rpm” แต่มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ก็คือ “ตำแหน่งการวางเครื่องยนต์” ของ GT3 จะ “เตี้ยกว่าปกติ” ถ้ามองในรูปจะเห็นได้ชัดว่าเครื่องมันต่ำลงไปกว่าปกติมาก เพราะต้องการให้จุดศูนย์ถ่วงต่ำลง ซึ่งเป็นรถ 2WD นั้นสามารถทำได้ แต่ใน 4WD นั้นทำไม่ได้ เพราะจะติดที่ชุดระบบขับเคลื่อนล้อหน้านั่นเองครับ แต่ถ้าจะเลื่อนเครื่องต่ำลงมาเฉยๆ แล้วไซร้ ก็ต้องเปลี่ยนกลไกระบบ “หล่อลื่น” เป็นแบบ “Dry-sump” จะได้ครบสูตรของรถแข่ง…
< เกียร์ Sequential ลูกใหม่ : ระบบเกียร์ GR6 ของเดิม ที่เป็นเกียร์ไฟฟ้า คลัตช์คู่ ถูกเปลี่ยนเป็นเกียร์สำหรับงานแข่งโดยเฉพาะ แต่ยังเป็น 6 สปีด เหมือนเดิม ส่วนคลัตช์เปลี่ยนแบบ “โลหะ” ขนาด 5.5 นิ้ว จำนวน 4 แผ่นซ้อน…
< เปลี่ยนทรงช่วงล่างใหม่หมด : ด้วยความที่รถมันเตี้ยลงมาจากเดิมมาก ถ้าจะใช้ช่วงล่างแบบเดิมมาโหลดลงเฉยๆ มันคงไม่ใช่แน่ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนตำแหน่งจุดยึดช่วงล่าง เพื่อเปลี่ยนมุมการทำงาน (Geometry) ใหม่หมดให้เหมาะสม รวมถึงการตั้งแพหลังเพื่อให้ระนาบเฟืองท้ายเหมาะสมกับตำแหน่งเครื่องยนต์ที่เลื่อนลงต่ำ…

NISMO GT-R GT500
ในรุ่น GT500 ก็จะออกแบบโครงสร้างและอุปกรณ์รถแข่งร่วมกัน (Common parts) กับ DTM ซึ่งก็รวมถึง ห้องโดยสาร ระบบส่งกำลัง ช่วงล่าง ฯลฯ โดยออกแบบใช้ know-how กับทางยุโรป ซึ่งมีฐานในประเทศเยอรมนีและอิตาลี โครงสร้างด้านหน้ารถ ด้านข้าง และด้านหลัง จะใช้ “คาร์บอนไฟเบอร์” แบบชิ้นเดียว (โมโนค็อก) กับ “โรลเคจเหล็ก” เอาไว้รับแรงกระแทก และทำให้น้ำหนักเบา ซึ่งน้ำหนักรวมทั้งชิ้นเพียง 126 กก. ส่วนของโรลเคจ จะหนักเพียง 32.5 กก. อย่ากังวลเรื่องความแข็งแรง ส่วนด้านข้าง (Sidewall) ที่เป็นจุดอ่อนของรถทุกคันนั้น จากการออกแบบและสร้างขึ้นมาใน GT500 เคลมไว้ว่าสามารถรับแรงกระแทกได้ถึง “36 ตัน” !!! สุดยอดแห่งความปลอดภัยจริงๆ นะท่านผู้ชม ซึ่งรถ GT500 ทุกแบรนด์ ก็จะใช้แบบเดียวกันทั้งหมด ในส่วนของการขึ้นรูป คาร์บอนไฟเบอร์ จะเป็นหน้าที่ของ บริษัท TORAY CARBON MAGIC ประเทศญี่ปุ่น…
สำหรับการวางตำแหน่ง เครื่องยนต์ ช่วงล่าง และระบบส่งกำลัง ก็จะมาเป็น Pattern เดียวกันตาม Regulation เครื่องยนต์วางหน้า เกียร์อยู่ท้าย ติดกับชุดแพหลัง แบบ Transaxle Sequential 6 สปีด ช่วงล่างก็จะใช้จุดยึดที่ Tube Frame เหมือนกัน แต่พวก Links ต่างๆ ก็จะบังคับใช้วัสดุที่กำหนดมาให้ แต่รูปทรงทาง Geometry ต่างๆ เปิดอิสระ แล้วแต่การออกแบบของรถแต่ละแบรนด์…

ขุมพลัง NR20A Race Engine Only
ในส่วนของขุมพลัง ก็จะกำหนดไว้ว่าต้องเป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร 4 สูบเรียง เทอร์โบ หัวฉีดไดเร็กต์ สำหรับ GT-R GT500 ก็จะใช้เครื่องยนต์รหัส “NR20A” ที่ผลิตมาเพื่อการแข่งขัน GT500 โดยเฉพาะ ซึ่งในเพจของ NISMO Official กำหนดแรงม้าไว้ Over 550 PS และแรงบิด Over 50 กก-ม. แต่ข้อมูลบางที่ บอกว่าไปถึง 650 PS กับแรงบิดระดับ 700 นิวตัน-เมตร ตัวเครื่องจะวางซ่อนไปแทบจะกลางรถ มันจะกลายเป็น Mid-Front Engine ไปเสียแล้ว เพื่อการสมดุลน้ำหนักที่ดีกว่า ซึ่งน้ำหนักเครื่องยนต์ก็เพียง 85 กก. เท่านั้นเอง เทอร์โบเป็น GARRETT ส่วนรายละเอียดลึกๆ อย่างอื่น ก็คงไม่ถูกเปิดเผยอย่างแน่นอน…

ขอขอบคุณ
นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  www.nissan.co.th

ข้อมูลอ้างอิง  และรูปภาพบางส่วน  
www.racecar-engineering.com, www.nismo.co.jp, www.supergtworld.wordpress.com

X-TRA Ordinary
สำหรับการแข่งขัน AUTOBACS SUPER GT ในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นเมื่อปี 2015 เป็นครั้งแรก ณ สนาม CHANG INTERNATIONAL CIRCUIT จ.บุรีรัมย์ ใช้ชื่อว่า BURIRAM UNITED SUPER GT RACE และเปลี่ยนมาเป็น CHANG SUPER GT RACE ในปี 2017 จนถึงปัจจุบัน ตามชื่อของสนามที่เปลี่ยนใหม่…