Nissan GT-R (R35) โมเดลปี2017 ทดสอบขับจริง โดยสื่อมวลชนไทย 3 ท่าน

 

cr.Khorrakit Kasikun, https://manager.co.th/Motoring

570 แรงม้า บนถนนจริง ระยะทาง200 กม.จากดุสเซลดอฟ เยอรมนี สู่ สนามแข่ง “สปา” เบลเยี่ยม

 

 

.

กระหน่ำเต็มเหนี่ยวปิศาจทางเรียบ Nissan GT-R (R35) โมเดลปี2017…ปรับใหญ่ให้สมศักดิ์ศรีซูเปอร์คาร์แห่งเอเชีย

“ขอให้ตระหนักว่านี่เป็นแค่การเทสไดร์ฟ ไม่ใช่การขับเพื่อแข่งขัน” (Just test drive not racing) มักเป็นคำพูดที่ผู้ฝึกสอน/ผู้ดูแลการทดสอบรถยนต์ย้ำอยู่เสมอ ในการจัดอีเวนต์ให้ลองขับรถยนต์หลายๆรุ่นที่ผู้เขียนเคยผ่านมือมา

ล่าสุดกับ นิสสัน “จีที-อาร์” ไมเนอร์เชนจ์ ผู้เขียนก็ยึดแนวทางดังกล่าวครับ ทว่าก่อนหน้านั้นก็ปนความสงสัยแบบจางๆว่า ซูปเปอร์คาร์สัญชาติญี่ปุ่นรุ่นนี้ จะรักษาสมดุลของการทดสอบได้อย่างไร (หลักๆคือเรื่องความปลอดภัย) ในเมื่อรถมีกำลังตั้ง 570 แรงม้า? ขณะเดียวกันนิสสันยังคุยว่า นี่ไม่ใช่การปรับเพื่อกระตุ้นความสดใหม่เท่านั้น แต่น่าจะเป็นการพัฒนา “จีที-อาร์” ให้ดีที่สุด เท่าที่นิสสันเคยทำมาเลยทีเดียว

…จนมาถึงบางอ้อที่สนามบินดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี โดยนิสสันเชิญสื่อมวลชนจากหลายประเทศทั่วโลก ส่วนนักข่าวไทยก็คัดมา 3 คน ให้เข้าร่วมการทดสอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

การทดสอบแบ่งเป็นขับบนถนนจริง วิ่งจากสนามบินดังกล่าวไปสู่สนามแข่งรถทางเรียบ “สปา” ประเทศเบลเยี่ยม ระยะทางประมาณ 200 กม. ผ่านสภาพการจราจรหลากหลาย รวมถึงทางหลวงระหว่างเมือง“ออโตบาห์น” ที่บางช่วงจำกัดความเร็ว แต่ก็มีหลายช่วงที่ปล่อยให้ซัดได้เต็มที่ตามตามศักยภาพของรถ

จนกระทั่งขับถึงจุดหมาย นิสสันยังเปิดโอกาสให้กดเต็มเหนี่ยวในสนามแข่งพร้อมเลือกโหมด R สุดโหดของระบบขับเคลื่อน การปรับโช้กอัพให้แข็งขึ้น และปลดระบบควบคุมการทรงตัว

…เรียกว่าได้ลองขับในรูปแบบหลากหลาย สมศักดิ์ศรีรถสมรรถนะสูง และที่สำคัญมากไปกว่านั้นจากทริปนี้คือ ผู้เขียนได้รู้จักเจ้าก็อตซิลลาในมิติที่ต่างออกไป หรือเป็นด้านที่ไม่เคยคิดว่าจะได้สัมผัสจากรถยนต์รุ่นนี้(หลังอยู่ด้วยกันสองวัน)

เรื่องการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของ “จีที-อาร์” โมเดลปี 2017 หรือโฉมไมเนอร์เชนจ์ ผู้เขียนเคยนำเสนอไปก่อนหน้าแล้ว (คลิกอ่าน สัมผัสจากเยอรมนี จุดเด่นใหม่9อย่างหลังผ่านไป9ปีของ Nissan GT-R R35) หรือลงไปอ่านในตอนท้าย

หลักๆก็ปรับให้หน้าตาดูทันสมัย แต่แฝงไว้ด้วยหลักอากาศพลศาสตร์ ตั้งแต่กระจังหน้า ฝากระโปรง สเกิร์ตข้าง ช่องรีดลมด้านหลัง ล้วนออกแบบใหม่ให้อากาศไหลผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นเพราะ “จีที-อาร์ ใหม่”ถูกอัพแรงม้าขึ้นไปอีก 20 ตัว เป็น 570 แรงม้า PS หรือ 565 แรงม้า HP ขณะที่แรงบิดสูงสุดเพิ่มจาก 628 นิวตัน-เมตรเป็น 637 นิวตัน-เมตร

โดยแรงม้าที่เพิ่มขึ้น นิสสันใช้เทคนิคของนิสโมที่เพิ่มแรงบูสต์ด้วยการปรับระบบจังหวะการจุดระเบิดของแต่ละลูกสูบใหม่ และช่วยให้อัตราเร่งในช่วงรอบเครื่องยนต์ปานกลาง (ประมาณ 3,200 รอบ/นาทีขึ้นไป) มาพร้อมแรงบิดในระดับสูงสุดที่ต่อเนื่อง และถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงรอบกว้างขึ้น ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการทำงาน และลดปัญหาการชิงจุดระเบิด (Pre-Ignition) ให้เครื่องยนต์มีการเผาไหม้ที่ดี และลดระดับไอเสีย

ขณะที่ตัวเครื่องยนต์ VR38DETT ยังปรับปรุงกระบอกสูบเป็นแบบPlasma-Spray แทนการใช้กระบอกสูบแบบเหล็กหล่อ ช่วยลดแรงเสียดทานของชิ้นส่วน พร้อมน้ำหนักที่เบาลง เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อน

ขณะเดียวกันกำลังที่เพิ่มขึ้นยังมีจากการแยกส่วนของท่อร่วมไอดีและท่อรวม ไอเสียของระบบเทอร์โบคู่อย่างอิสระ ระบบจัดการอากาศชุดที่สองเพื่อช่วยในเรื่องของประสิทธิภาพในการลดมลพิษ ดังนั้นเมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ ระบบระบายความร้อนของน้ำมันเครื่อง และปั๊มน้ำมันเครื่องจะส่งน้ำมันเข้าไปหล่อเย็นชุดเทอร์โบอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบบน้ำมันเครื่องที่มีทั้งแบบอ่างน้ำมันเครื่องในระบบ และอ่างน้ำมันเครื่องแยก

อย่างไรก็ตาม ความแรงที่เพิ่มขึ้นถูกปรามไว้ส่วนหนึ่งด้วยการบริการจัดการอากาศไหลผ่านที่ดีขึ้น ทั้งการเพิ่มแรงกดด้านหน้า ลดแรงยก การปรับช่วงล่างให้สมดุล ทั้งยังเหลือที่ว่างสำหรับการเป็นรถที่ขับขี่ได้สบายตัว ไม่ออกอาการเหวี่ยงจนเกินไป (ถ้าเตะคันเร่งน้ำหนักพอดีๆ)

เช่นเดียวกับชุดเบรก Brembo พร้อมกับคาลิเปอร์แบบ Monoblock 6 ลูกสูบสำหรับด้านหน้า และ 4 ลูกสูบสำหรับด้านหลัง ขนาดดิสก์เบรกหน้า15.35 นิ้ว และหลัง 15 นิ้ว ทำหน้าที่ห้ามล้อชะลอหยุดอย่างเต็มความสามารถ ระยะเบรกกระชับมั่นใจ

กรณีขับขี่ในเมือง หรือช่วงใช้ความเร็วต่ำๆแต่ต้องการความคล่องตัว “จีที-อาร์ ใหม่” ไม่ได้เป็นรถที่ใจร้ายกับผู้ขับเกินไปนัก ด้วยน้ำหนักพวงมาลัยกำลังดีเรียกว่าไม่หนักหรือต้องใช้แรงเอี้ยวเลี้ยวเหนื่อย พร้อมความนุ่มนวลของอัตราเร่ง การออกตัวนิ่มๆ ไม่กระโตกกระตากจนน่าตกใจ

นับเป็นบุคลิกที่น่ารักของจีที-อาร์ ที่ใครมักเรียกว่าปิศาจทางเรียบ แต่เมื่อพัฒนาใหม่เป็นรุ่นปี 2017 ตัวรถดูประณีประนอมกับพื้นถนน ขับได้เนียน ควบคุมสบายมือ ซึ่งจุดนี้นิสสันย้ำว่าเป็นการพัฒนาให้เป็นรถที่สามารถขับขี่ทุกวันได้มากขึ้น

ส่วนความดุดันอีกด้านก็มีอยู่เต็มเปี่ยมครับ เพียงขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้บุคลิกด้านโหดนี้เมื่อไหร่ และแม้อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. นิสสันจะไม่เปิดเผย แต่วิศวกรในโปรเจกต์นี้ยืนยันว่าตัวเลขดีกว่าเดิมแน่นอน (ของเดิมก็อยู่แถวๆ 3 วินาที) ฉะนั้นถ้าเรากดคันเร่งเกิน 70-80% ตัวรถก็ตอบสนองผู้ขับด้วยอาการกระชากหลังติดเบาะ ตัวรถพุ่งแหวกอากาศทะยานอย่างรวดเร็ว พร้อมส่งกำลังมหาศาลลงสู่ล้อด้วยเกียร์ดูอัลคลัทช์ที่ทำงานฉับไว สัมผัสได้ถึงแรงกระตุกเล็กๆ(ไม่มากอย่างที่คิดในโหมดปกติ)

สำหรับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลาของจีที-อาร์ ในการขับปกติ หรือหลังจากสตาร์ทเครื่องยนต์และออกตัว รถจะส่งกำลังไปยังล้อคู่หลัง 100% แต่ถ้าสภาพการขับขี่เปลี่ยนแปลงก็จะแบ่งกำลังไปสู่ล้อคู่หน้าแบบแปรผัน แต่ก็ไม่เกิน 50/50 ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็ว อัตราเร่งในเชิงราบ มุมของพวงมาลัย การลื่นไถลของยางบนพื้นผิวถนน และอัตราการหมุนรอบแกนแนวตั้งของรถ(Yaw Rate)

ช่วงล่างด้านหน้าของจีที-อาร์ เป็นปีกนกสองชั้น หลังเป็นมัลติลิงค์ ถูกปรับปรุงจุดยึดต่างๆ รับกับล้ออัลลอยลายใหม่ขนาด 20 นิ้วที่น้ำหนักเบาลง ประกบยางดันลอป SP Sport Maxx หน้า 225/40 R20 และหลัง 285/35 R20 รวมๆเกาะถนนแน่นหนึบ ขณะที่โช้กอัพไฟฟ้าของ Bilstien รุ่น DampTronic ช่วยลดความกระด้างได้พอสมควรครับ ซึ่งโช้กอัพรุ่นนี้จะใช้ข้อมูลจากระบบต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวรถมาเป็นพื้นฐานของการประมวลผล และสั่งให้มีการปรับระดับความแข็ง-อ่อนของโช้กอัพให้สอดคล้องกับสภาพเส้นทาง ขณะเดียวกันผู้ขับสามารถเลือกระดับความเหนียวแน่นได้ 3 ระดับคือ Normal Comfort และ R – Racing โดยแต่ละโหมดจะผสานการทำงานกับระบบควบคุมการทรงตัว VDC และจังหวะการเปลี่ยนเกียร์

การขับในโหมดปกติ (พร้อมเหยียบคันเร่งน้ำหนักปกติ)รถเหมือนจะคอยประคองใหเกียร์อยู่ต่ำแหน่งสูง การตอบสนองจึงไม่ดีดกระชากลากหัว ซึ่งความนุ่มสุภาพนี้ยังสอดคล้องกับการเก็บเสียงรบกวนภายในห้องโดยสาร กล่าวคือห้องโดยสารเงียบลงแน่ๆ อย่างน้อยๆก็จากความดังของเสียงท่อไอเสียที่เบาลง ซึ่งนิสสันย้ำว่าต่อให้ขับความเร็วสูงถึง 300 กม./ชม. คนขับกับผู้โดยสารยังคุยกันรู้เรื่องครับ(แต่บนความเร็วนี้จะมีใครคุยกับใครหรือเปล่า?)

สำหรับผู้เขียนเอง ในทริปทดสอบนี้กับการขับบนถนนออโต้บาห์นประจำอยู่ช่องซ้ายสุด(รถพวงมาลัยซ้าย) มีโอกาสทำความเร็วได้ถึง 220 กม./ชม. หรือจาก 90-100 กม./ชม. ใช้เวลาเพียงอึดใจก็ไต่ระดับมาถึงความเร็วนี้แล้ว ซึ่งตัวรถยังทรงตัวเหนียวแน่น มือกำพวงมาลัยไม่ต้องเครียดมาก ความนิ่งและเสถียรภาพของรถมีสูง พร้อมสนทนากับผู้บริหารนิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย (คุณจิระพล รุจิวิพัฒน์)ที่นั่งไปด้วยยังเข้าใจกันดีครับ

ด้านการใช้งานในรูปแบบ “จีที” หรือ แกรนด์ ทัวริสโม ด้วยที่นั่งแบบ 2+2 ด้านหลังคนตัวเล็กๆยังเบียดแทรกเข้าไปได้ และยอมนั่งเข่าติดเบาะ(เพราะช่วงแรกเดินทางด้วยกันสามคน) ส่วนที่เก็บสัมภาระด้านหลังเมื่อเปิดฝากระโปรงออกมานับว่ากว้างเหลือเชื่อ สามารถใส่กระเป๋าเดินทางใบใหญ่ได้หนึ่งใบ และใบเล็กๆได้อีก 2 ใบ

…สรุปความชัดเจนหลังอยู่ด้วยกันสองวัน พบว่าสมรรถนะ “จีที-อาร์ ใหม่” ขยับบุคลิกไปหาตัวอักษร GT หรือ Grand Tourismo ที่เน้นการขับเนียนๆเมื่อเดินทางไกล ให้ความสุนทรีย์มากขึ้น ภายในห้องโดยสารเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก วัสดุและการตกแต่งดูดีขึ้น ด้านสัมผัสของตัว R หรือ Racing ยังมีเต็มเปี่ยม เพียงแต่ลดความดิบกระด้างลงไป ส่วนเรื่องความเร่งเร้าจากม้า 570 ตัว ก็พร้อมเต็มที่ขมีขมัน เพียงรอจังหวะเหมาะๆให้เจ้านายได้บดขยี้ บี้ใช้เท่านั้น

โดยการทำตลาดจะเริ่มภูมิภาคหลักๆประเทศใหญ่ๆอย่าง อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้ ส่วนประเทศอื่นๆจะเริ่มขายต้นปีหน้า สำหรับเมืองไทยมีโอกาสลุ้นที่นิสสันจะนำเข้ามาขาย เพียงแต่ต้องศึกษาหลายปัจจัย รวมถึงบริการหลังการขายที่ต้องยกระดับศูนย์บริการขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ และถ้ามาจริงๆราคาอาจจะเกาะอยู่ประมาณ 10 ล้านบาทต้นๆ

รวบรัดตัดความ…น่าสังเกตว่าทำไม “จีที-อาร์ใหม่” ถึงต้องมาทดสอบที่ประเทศเยอรมนี? หรือนี่อาจจะเป็นนัยยะบางอย่าง หรือพยายามส่งสารสำคัญไปถึงรถยนต์เจ้าถิ่นที่ตัวเองตั้ง Banchmark เอาไว้อย่างปอร์เช่ 911

หลังจากการลองขับซูเปอร์คาร์ที่เป็นหน้าตาแห่งชาวเอเชียแล้ว ต้องชื่มชมที่นิสสันสามารถรักษาคุณค่ารถยนต์ที่เปรียบเสมือนแบรนด์ไอคอนของค่าย ภายใต้สถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยียานยนต์ที่เปลี่ยนแปลง พร้อมปูทางการขยายแนวรบใหม่ๆ ด้วยการลดบุคลิกแบบดิบกระด้างลงไปพอสมควร เพื่อก้าวสู่การเป็นซูเปอร์คาร์ระดับพรีเมี่ยมอย่างเต็มตัว

สัมผัสจากเยอรมนี จุดเด่นใหม่9อย่างหลังผ่านไป9ปีของ Nissan GT-R (R35)

1. ชื่อนิสสัน GT-R มาจากความตั้งใจในการสื่อสารถึงตัวรถว่าสามารถเป็นทั้งรถ GT – Grand Touring ขับขี่ทางไกล ให้ความแรง บรรทุกของและคนได้สบาย (เบาะ 2+2) ส่วน R-Racing มาจากสมรรถนะแรง เร้าใจ ปานรถแข่ง แต่ในรุ่นใหม่ โมเดลปี 2017 นี่นิสสันตั้งใจให้บุคลิกรถกระเดียดไปทางอักษรสองตัวแรกมาขึ้น คือเน้นความสบายในการขับขี่และขับใช้ได้จริงในทุกๆวัน

2.การเปลี่ยนแปลงเริ่มจาก ด้านหน้าออกแบบฝากระโปรง กันชนหน้า สเกิร์ตหน้า-ข้าง ใหม่ เพิ่มไฟส่องสว่างในเวลากลางวัน หรือ Daytime Running Light (DRL)

3.ด้านหลัง ปรับรายละเอียดของไฟท้ายทรงกลมคู่ใหม่ และเพิ่มช่อง Diffuser สีเงินและช่องระบายอากาศทางด้านข้าง ส่วนปลายท่อไอเสียทั้ง 4 ท่อผลิตจากไทเทเนียม

4. การเปลี่ยนแปลงตามข้อ 1 และ 2 มีผลต่อปประสิทธิภาพทางหลักอากาศพลศาสตร์ ซึ่งนิสสันมุ่งหวังเพิ่มแรงกด ลดแรงยกของตัวถัง พร้อมปรับปรุงความสามารถในการระบายความร้อนให้กับระบบต่างๆ

5. ภายในออกแบบแผงหน้าปัดใหม่ ขณะที่เลย์เอาท์ของแผงคอนโซลกลางถูกปรับให้ดูเรียบง่าย จากจำนวนของสวิตช์ในระบบนำทางและเครื่องเสียงเดิมที่มีมากถึง 27 ปุ่ม ถูกลดลงเหลือ 11 ปุ่ม ย้ายหน้าจอควบคุมแบบทัชสกรีนขนาด 8 นิ้วลงมาอยู่ในส่วนล่างของแผงหน้าปัดมาพร้อมกับ Icon ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ทั้ง การควบคุมระบบเครื่องเสียง ระบบนำทาง ระบบโทรศัพท์ และระบบความบันเทิงอื่นๆ

6.เครื่องยนต์ วี6 ขนาด 3.8 ลิตร เทอร์โบคู่ มีกำลังเพิ่มขึ้น 20 แรงม้า เป็นให้กำลังสูงสุดที่ 570 แรงม้า(PS) ที่ 6,800 รอบ/นาที โดยมาจากการเพิ่มแรงบูสต์และการปรับระบบจังหวะการจุดระเบิดใหม่ของแต่ละลูกสูบ ซึ่งเดิมจะเป็นเทคนิคที่ถูกสงวนสิทธิ์ไว้ให้เฉพาะเวอร์ชัน GT-R NISMO เท่านั้น

7.ระบบ ANC หรือ Active Noise Cancellation จะช่วยลดเสียงดังที่มีคลื่นความถี่ต่ำด้วยการใช้ไมโครโฟนซึ่งถูกติดตั้งอยู่ ในห้องโดยสาร และใช้คลื่นเสียงที่มีช่วงคลื่นเดียวกันเพื่อจัดการหักล้างเสียงอันไม่พึงประสงค์เหล่านี้ อีกทั้งยังมีการปรับปรุงวัสดุที่ทำหน้าที่ในการดูดซับเสียงและติดตั้งอยู่ด้านหลังแผงหน้าปัด รอบกระจกหน้าต่าง รวมถึงยังมีการติดตั้งฉนวนที่แผงหน้าปัด และมีฉนวนกันเสียงติดตั้งอยู่ที่กันชนท้าย เสียงจากปลายท่อไอเสียถูกปรับให้เงียบขึ้น สำหรับการใช้งานในทุกๆ วัน

8. ตัวถังและระบบแชสซีส์ พัฒนาให้ทนทานต่อการบิดตัวมากขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถ และในด้านของการทรงตัวของรถในทุกสภาพเส้นทาง เช่น การเสริมโครงสร้างตัวถังตรงบริเวณกระจกบังลมหน้า (เสา A-Pillar) พร้อมปรับปรุงจุดยึดในระบบช่วงล่างให้แน่นหนาขึ้น

9.เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยใหม่ Nissan Advanced Air Bag System (AABS) ซึ่งเป็นถุงลมนิรภัยคู่หน้าแบบพองตัว 2 ระดับ และเข็มขัดนิรภัยที่มาพร้อมกับเซ็นเซอร์ในการตรวจจับเพื่อสั่งให้ถุงลมนิรภัยมีการพองตัวตามระดับความรุนแรงของการชน

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการยานยนต์ได้ที่หน้าแฟนเพจ MGR Motoring