PAIN KILLER – The TWIN JAPAN “MONSTER” ROADSTER

 

TWIN JAPAN ROADSTER

Front –Mid Engine Real wheel Drive

HONDA S2000

โดยปกติรถแข่งที่เราพบเห็นกันอยู่ มักจะเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า เพราะรถที่ออกจำหน่ายเป็นรถบ้านทั่วๆ ไป เกือบทั้งหมด จะเป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า แล้วเราก็ต้องเอารถเหล่านั้นมาทำเป็นรถแข่งอีกที เพราะหาง่าย ราคาถูกกว่ารถขับเคลื่อนล้อหลัง (ในปีเดียวกัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยีห้อ “ฮอนด้า” เป็นที่นิยมนำมาทำรถแข่งในบ้านเราตั้งแต่เราเริ่มมีสนามพีระฯ เลยก็ว่าได้

แต่ถามว่ารถขับล้อหน้าเป็นรถที่ดีที่สุดหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะรถขับเคลื่อนล้อหน้าจะฝากภาระในการเกาะถนนทั้งหมด ไว้ที่ยางคู่หน้าเท่านั้น ทั้งเลี้ยว ทั้งเร่ง เบรก ยางหลังมีหน้าที่แค่คอยวิ่งตาม ไม่ได้มีบทบาทเท่าไหร่ในการช่วยให้รถเกาะถนน ซ้ำเมื่อขับแข่งไปนานๆ ยางหน้าจะมีอุณหภูมิสูงมาก เพราะต้องทำหน้าที่หลายอย่าง นักแข่งที่ไม่สามารถถนอมยางได้ ยางจะเกิดอากาโอเวอร์ฮีต และเสียการยึดเกาะ จนเวลาช้าลงไป

เรื่องการถ่ายเทน้ำหนักก็เป็นอีกเรื่อง ที่รถขับเคลื่อนล้อหน้าสู้รถขับเคลื่อนล้อหลังไม่ได้ เพราะน้ำหนักส่วนใหญ่ของรถจะมาลงที่ล้อหน้ามากกว่า 50% เวลาเบรกน้ำหนักจะกดลงไปที่หน้ายางคู่หน้า คู่หลังแทบจะไม่แตะพื้น ซึ่งเรามักจะเห็นรถขับเคลื่อนล้อหน้ายกล้อหลังเป็นประจำเวลาเบรกและเลี้ยวพร้อมๆ กัน ฉะนั้นเวลาเบรกล้อหน้าจะทำหน้าที่เบรก จากเบรกต้องใหญ่ คาลิเปอร์ต้องมีหลายลูกสูบ แถมยังต้องระบายความร้อนให้ได้เร็วอีกด้วย เพราะภาระทั้งหมดถูกส่งมาที่ล้อหน้า

เวลาเร่งเครื่องน้ำหนักก็จะถ่ายไปที่ล้อหลัง ทำให้ล้อหน้าที่เป็นล้อขับเคลื่อนมีน้ำหนักน้อยลง เมื่อยางมีน้ำหนักกดน้อยลง การยึดเกาะก็จะน้อยลงไปด้วย ทำให้เวลาเร่งออกจากโค้ง ก็ต้องคอยประคองคันเร่ง ไม่อย่างนั้นล้อก็จะหมุนฟรี ซึ่งจะทำให้รถเกิดอาการ Under steer หรือหน้าดื้อ

ซึ่งอาการเหล่านี้จะตรงกันข้ามกับรถขับเคลื่อนล้อหลังทั้งหมด รถขับเคลื่อนล้อหลังจะมีการกระจายน้ำหนักระหว่างล้อหน้ากับล้อหลังใกล้เคียง 50% ซึ่งเวลาเบรก น้ำหนักจะถูกถ่ายไปที่ล้อหน้าก็จริง แต่ล้อหลังซึ่งเดิมก็มีน้ำหนักมากอยู่แล้ว ก็ยังคงเหลือน้ำหนักอยู่บ้าง เบรกที่ล้อหลังจึงช่วยลดภาระเบรกหน้าได้บ้าง เวลาเร่งน้ำหนักจะถูกถ่ายไปที่ล้อหลังยางหลังก็จะมีการยึดเกาะที่ดีขึ้น สามารถเดินคันเร่งได้มากกว่า รถขับเคลื่อนล้อหน้า

ร่ายกันมายาวขนาดนี้ เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่ากับรถแข่งเซอร์กิต ที่เรานำเสนอในฉบับนี้ ซึ่งเป็นของคู่หูจาก Dunlop Painkiller Racing นั่นคือ อู๋ นภัสถ์ อัสสกุล และ พอล กาญจนพาสน์ เจ้าของตัวแข่ง Honda S2000 คู่นี้ ซึ่งใครที่ติดตามการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ หรือการแข่งเซอร์กิตมา คงจะทราบว่าทั้งคู่เคยใช้รถขับเคลื่อนล้อหน้ามาก่อน โดยอู๋ใช้ Honda DC5 ส่วนพอลใช้ Honda Civic FD

แต่ด้วยการที่ทั้งคู่เข้าวงการแข่งรถ ด้วยการแข่งในรถ Retro ซึ่งทั้งคู่ใช้ BMW E30 ซึ่งเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ก่อนที่จะตัดสินใจทำรถแข่งอย่างจริงจังขึ้นมาก็ชั่งใจอยู่ระหว่ารถขับหลัง กับรถขับหน้า ซึ่งคุณอู๋เล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตัดสินใจอยู่ว่าจะทำรถอะไรดี เพราะส่วนตัวชอบรถขับหลัง เพราะเริ่มมากับมันตั้งแต่ต้น แต่ก็กลัวจะขับไม่ได้ เพราะขับยากกว่ารถขับหน้า สุดท้ายเลยตัดสินใจหันไปคบกับ DC5 และ FD แทน

แต่หลังจากได้ขับรถขับหน้ามาอยู่พักใหญ่ ก็ทนไม่ได้เพราะใจชอบรถขับหลัง จึงตัดสินใจเปลี่ยนรถอีกครั้งมาเป็นรถขับหลัง และเลือกที่เหนือกว่าขับหลังปรกติอีกหน่อย ตรงที่เป็น Roadster และมีการว่างเครื่องแบบ Front Mid Real wheel Drive โดยปรกติรถขับหลังเครื่องยนต์จะวางตามยาวที่ด้านหน้าสุดของรถ แต่ถ้าเป็น Front Mid เครื่องยนต์จะถอยไปอยู่หลังแนวล้อหน้า ซึ่งจะทำให้การกระจายน้ำหนักระหว่าล้อหน้ากับล้อหลังเป็นไปอย่างสมดุล

 

ซึ่งรถประเภทนี้ก็จะมีที่รู้จักกันดีอย่าง BMW Z4 หรือไม่ก็ Mazda MX5 แต่ที่คุณอู่และคุณพอลเลือกมาทำรถแข่งกลับเป็น S2000 เพราะ Z4 แพงและเครื่องใหญ่เกินกติกา MX5 มันก็เล็กเกินไปเสียเปรียบเรื่องฐานล้อ ก็คงมาลงเอยอยู่ที่ S2000 ที่มีขนาดพอเหมาะ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ตรงตามกติกาพอดี

ซึ่งเจ้า S2000 เป็นรถรุ่นพิเศษที่ฮอนด้าทำออกมาฉลองครบรอบ 50 ปี โดยก่อนหน้านี้ในยุค 70 ฮอนด้าเคยผลิตรถประเภทนี้มาแล้ว 3 รุ่น คือ S500 S600 และ S800 และก็ห่างหายไปถึง 20 ปี และในวาระครบรอบ 50 ปี ฮอนด้าจึงได้นำรถประเภทนี้กลับมาผลิต เพื่อให้เป็นรุ่นพิเศษในการครบรอบ และก็เป็นรุ่นที่สาวกฮอนด้าชื่นชอบ

มาถึงการทำให้เป็นรถแข่งกันบ้าง เห็นเป็นรถไม่มีหลังคาแบบนี้ หลายคนคิดว่ามันคงเบา แต่เปล่าเลย น้ำหนักของมันไม่ใช่น้อย เนื่องจากไม่มีโครงหลังคา จึงต้องมีแชสซีที่ใหญ่มาก เมื่อรวมกับโรลเคจ ที่ต้องสานเพิ่มในส่วนหลังคา น้ำหนักตัวรถจึงไม่ได้น้อยอย่างที่คิดเลย

ส่วนการโมดิฟายเครื่องยนต์บล็อก F20 ก็มีความคล้ายคลึงกับเครื่องบล็อก K20 เพราะเครื่องทั้ง 2 บล็อก มีระบบที่คล้ายกันมาก จึงไม่ใช่ปัญหาในการทำให้แรง ของแรงที่ใส่กับเครื่องนี้ก็มีให้สั่งอยู่หลายยี่ห้อ ส่วนช่วงล่างก็สั่งจาก Nitron ประเทศอังกฤษ

วงการเซอร์กิตบ้านเราเริ่มมีรถขับเคลื่อนล้อหลัง เข้ามาแข่งมากขึ้น นับว่าเป็นสีสันให้กับการแข่งขัน ที่คนดูจะได้เห็นรถหน้าตาแปลกๆ นอกเหนือไปจากฮอนด้า ซีวิค ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี อย่างไรแล้วใครที่ชื่นชอบรถแนว Roadster ก็อย่าลืมไปเชียร์ 2 คู่หูจาก Dunlop Painkiller Racing ซึ่งทั้งคู่จะลงแข่งในรายการคือ Pro Racing Series

TECH SPEC
รถ : Honda S2000
ภายนอก
แอร์โร่พาร์ท : Amuse GT1
หลังคา : MUGEN
สปอยเลอร์หลัง : VERTEX
ภายใน
พวงมาลัย : SPARCO
เกจ์วัด : MOTEC SPORT DASH LOGER
เบาะ : SPARCO
เข็มขัด : SCHROTH RACING
คันเกียร์ : SADEV Sequential Levers
ถังดับเพลิง : OMP
โรลบาร์ : Chromoly Custom Made in Thailand
เครื่องยนต์
รุ่น : F20
ฝาสูบ : F20
สปริงวาล์ว : Ferrea
รีเทนเนอร์ : Ferrea
แคมชาร์ฟ : TODA IN 307(13.2) EX 297(12.7)
ลูกสูบ : Manley 86.0 mm
ก้านสูบ : STOCK
ท่อร่วมไอดี : 4 Throttle AT Power
กล่องควบคุม : MoTeC M800
กำลังอัด : 12.5 : 1
ท่อน้ำมัน : Fragola Performance
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : SADEV 6 Speed Sequential
เฟืองท้าย : 5.1 : 1
ลิมิเต็ดสลิป : QUAIFE
คลัทช์ : POWER TRAIN
ออลย์คูลเลอร์ เกียร์ : Earl’s
ออลย์คูลเลอร์ เฟืองท้าย : Earl’s
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า-หลัง : Nitron 3 way
ปรับมุมล้อ : HARDRACE
ล้อหน้า : S Speed Master 9X17 นิ้ว
ล้อหลัง : S Speed Master 9X17 นิ้ว
ยางหน้า : Dunlop Sport Z1 STAR 245/44R17
ยางหลัง : Dunlop Sport Z1 STAR 245/44R17
เบรกหน้า : Ap Racing 4 POT
เบรกหลัง : Ap Racing 2 POT