PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่
CLUB XO
ปอนด์ INJECTION
สำหรับ Club XO ในเล่มนี้ ดีกรีการ Drift ในสนามแข่งเขาไม่ธรรมดา มิหนำซ้ำ ยังเป็นคนไทยคนแรกที่ขึ้นไปยืนโพเดียม D1 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้อีกด้วย จะบอกว่าเขาเป็นอีกคนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มานาน ซึ่งจุดเริ่มต้นความเป็นมาของเขา มาจากไหน ทำไมเขาถึงมายืนในจุดนี้ได้ ปอนด์จะเป็นคนเล่าให้พวกเราชาว XO ได้รู้จักเขากันครับ
“การเริ่มต้นเข้าสู่มอเตอร์สปอร์ตของผม น่าจะมาจากการได้เห็นคุณพ่อ เป็นนักแข่งรถมาก่อน ซึ่งสมัยที่คุณพ่อแข่ง ก็เป็นในยุคที่จัดแข่งกันที่สนามบิน แต่ด้วยใช้งบส่วนตัวแข่ง ก็เลยมีตัวเลขอยู่ในเกณฑ์ที่พอประมาณ ต่างจากทีมแข่งโรงงาน ก็เลยทำให้เส้นทางการแข่งรถของคุณพ่อเดินทางต่อได้ไม่ยาวมาก ซึ่งในตอนนั้นผมยังเด็กมาก แล้วประกอบกับกิจการที่บ้านเป็นอู่ด้วย คุณพ่อก็ให้ผมได้ฝึกหัดขับรถตั้งแต่ขายังไม่ถึง โดยให้ลองนั่งบนตักพ่อ แล้วลองขับดู มันเหมือนเป็นการปลูกฝังให้ผมชอบรถมาตั้งแต่เด็กๆ โดยไม่รู้ตัว จนเมื่อผมโตขึ้น ประมาณ ป.6 ก็ได้ลองไปแข่งโกคาร์ท ในยุคนั้นใช้เครื่องสูบน้ำ ไม่มีแบ่งแยกรุ่นเด็กๆ เหมือนสมัยนี้ แข่งรวมกันหมดกับผู้ใหญ่ ก็ต้องมีถ่วงน้ำหนัก ผมก็มีติดถ้วยมาบ้าง จนไปลองขับมอเตอร์ไซค์วิบาก คุณพ่อก็ไม่อยากให้ขับ เพราะมันอันตรายเกินไป ส่วนรายการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบบ้านเรา เป็นที่นิยมมาก แต่ก็ต้องใช้ทุนมากเช่นกัน ในการทำรถไปลงแข่งรายการใหญ่ๆ ผมก็ได้แต่ทำรถไปแข่งรายการพวกคาร์คลับแทน จุดพลิกของผม จริงๆ คือ ตอนที่ต้องไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่ญี่ปุ่น พวกรุ่นน้องที่เรียน เขาขับรถขึ้นไป Drift กันบนภูเขา ผมเองไม่รู้หรอก ว่า Drfit คืออะไร แต่มันน่าสนใจ ก็เลยไปกับเขาด้วย คนเก่งๆ เขาจะ Drift ขึ้น–ลง ภูเขากัน ด้านบนเขาจะมีลานจอดรถทัวร์ ส่วนมากก็จะไปฝึกหัดทำโดนัท ทำเลข 8 กันที่นั่น ซึ่งด้วยความบังเอิญ รุ่นพี่ที่เรียนด้วยกันที่นู่น เขาขับ Nissan Skyline R32 ไปชน ซึ่งเขารู้ว่าผมทำเซียงกง ส่งอะไหล่กลับไทย เขาก็เลยถามผมเอา R32 มั้ย จะยกให้ เพราะพี่เขาจะได้เงินจากประกันอยู่แล้ว ส่วนรถซ่อมทีก็หลายบาท ประกันเขาตีทิ้งอยู่แล้ว ซึ่งผมเอามาซ่อมอยู่ครึ่งวันก็กลับมาขับได้เหมือนเดิม เพราะมีอะไหล่ที่ซื้อไว้ส่งกลับไทยรออยู่แล้ว
หลังจากที่มีรถแล้ว ก็เริ่มศึกษาว่ารถ Drift ต้องมีอะไรบ้าง ก็ไปหามาใส่ แล้วก็เริ่มไปบนเขากับเพื่อน เพื่อหัดทำโดนัท เรียนรู้เบสิกของการ Drift หัดลองกันเอง จนเริ่มทำได้ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น จะมีสนามเซอร์กิตย่อยๆ ตามเมืองต่างๆ อยู่เยอะมาก เพื่อนผมก็ชวนไปร่วมงาน Drfit เล็กๆ ที่จัดขึ้น ก็เป็นตามสไตล์ญี่ปุ่นเลย คือ ขนยางใส่รถไปเอง แล้วก็ไปเปลี่ยนแข่งที่สนาม แต่มันมีอยู่จุดๆ หนึ่งที่ทำให้ผมรู้ว่า Drift มันเริ่มสนุก แล้วสิ่งที่ขับมานี่มันแค่พอได้ มันยังมีสเต็ปต่อไปอีก คือ มีนัก D1 มาร่วมในอีเวนต์ เขามาขับโชว์ ผมมีโอกาสได้ลองนั่ง จากการเป่ายิ้งฉุบชนะ ซึ่งมันเป็นการเปิดโลกให้ผมอีกระดับเลย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเขาเห็นผมเป็นต่างชาติ เขาก็เข้ามาคุยด้วย แถมยังขับรถผมให้ดู ทีนี้ทำให้ผมเห็นเลยว่า ผมยังใช้ศักยภาพรถของตัวเองยังไม่เต็มที่เลย มันแสดงให้เห็นว่าฝีมือล้วนๆ เลย ซึ่งทีนี้เริ่มสนุก ผมก็เลยโทรกลับมาหาเป้ เรื่องรถ Drift มันต้องทำไร มีไรบ้าง เป้ ก็จัดการหา Cefiro มาทำเลย โดยผมสอนเป้ให้เริ่ม จากทางโทรศัพท์ ซึ่งพอผมกลับมาไทยที ก็มาทำให้เป้ดู ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งกลับมาตรงกับช่วงที่ไทยมีการจัดแข่ง Drift พอดี ผมก็เลยเอารถเป้ไปลงแข่ง ซึ่งก็ได้รู้จักกับเพื่อนนักแข่งคนไทยหลายคน แต่ผมก็ต้องกลับไปเรียนต่อจนจบที่ญี่ปุ่น แล้วก็กลับมาไทย เพื่อทำรถ Drift แบบจริงจัง จากจุดเริ่มเป็นนักแข่งในทีม Falken ได้เข้าสู่ทีมกระทิงแดง โดยการแนะนำจากพี่กีกี้ แล้วก็มีโอกาสได้ไปแข่งขันในรูปแบบเซอร์กิต รุ่น Super ECO เพราะพี่กีกี้ เขาแข่งทั้ง 2 อย่างอยู่แล้ว ซึ่งใช้รถ Swift แข่งปีแรก ก็ประสบความสำเร็จ ได้แชมป์ประจำปี ก็เลยให้เป้ แข่งในรุ่น Super ECO ต่อ ส่วนผมขยับไป Thailand Super Series Class 3 โดยเอา Nissan Skyline R32 ที่มีอยู่ในบ้านไปทำเป็นรถแข่งในรุ่นนี้ ซึ่งก็สามารถไปถึงตำแหน่งรองแชมป์ประจำปี สองปีติด ซึ่งผมเป็น Team Mate กับ คุณจั้ม–กรัณฑ์ ศุภพงศ์ ในช่วงที่แข่งเซอร์กิต ก็แข่ง Drift คู่ขนานกันไปทั้งสองรูปแบบ ซึ่งในช่วงนี้แหละ ผมมีโอกาสได้ไปแข่งในรายการแข่งขัน D1 ที่ประเทศญี่ปุ่น จนมีโอกาสขึ้นไปยืนบนโพเดียมที่ 2 สนาม TSUKUBA ซึ่ง D1 จัดการแข่งขันมาเกือบๆ สามสิบปี ผมเป็นนักแข่งต่างชาติคนแรก ที่ได้ขึ้นไปยืนตำแหน่งที่ 2 ซึ่งตำแหน่ง 1, 2, 3 จะเป็นคนญี่ปุ่นมาตลอด โดยตอนที่แข่งในรอบชิง ทางสนามประกาศว่า ไม่เคยมีนักแข่งต่างชาติผ่านเข้ารอบมาถึงจุดนี้เลย ผมเป็นคนแรกของโลก ซึ่งนี่คือประสบการณ์ของผมที่อยู่ในวงการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ
ณ ปัจจุบัน ทาง NEXZTER เป็นแบรนด์หลักติดตัว ที่สนับสนุนการแข่งขันผมอยู่ตลอด ซึ่งถ้าตอนแข่งอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็จะใช้เบรกของ PROJECT MU ที่เป็นแบรนด์ร่วมกับทาง NEXZTER อยู่แล้ว แต่ผมไม่สามารถรีเควสความต้องการของผ้าเบรกได้ แต่พอมาเป็น NEXZTER ผมสามารถบอกความต้องการกับทางเขาได้ว่าต้องการผ้าเบรกลักษณะไหน เขาก็จะคัสตอมมาให้อย่างที่ผมต้องการ แล้วที่สำคัญ คือ เค้ามีโรงงานผลิตผ้าเบรกเอง ก็นำข้อมูลจากที่ผมไปใช้แข่งไปวิจัย แล้วพัฒนาผ้าเบรกต่อไปอีกระดับ สุดท้าย ครั้งนี้ได้มาเป็นแขกรับเชิญใน Club XO ก็ต้องบอกว่า ผมติดตามหนังสือมาตั้งแต่เริ่มรถ จนวันหนึ่ง XO มาถ่าย Skyline R32 สีม่วง ของผมลงปก เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก สิ่งที่ทำให้ผมติดตามทาง XO อยู่ตลอด คือ เขาไม่เคยตกเทรนด์ครับ”
เดชะพล โตยิ่งเจริญ