ไม่มีอะไรที่มันจะยืนยาวเท่าความผันเปลี่ยน จากชีวิตอาจารย์สอนวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ในวันนั้น ก็คิดว่ามันมาถึงความแน่นอนในการดำเนินชีวิตแล้ว แต่แล้วโชคชะตามันก็เข้ามาผันแปรอาชีพการงาน จากอาจารย์ สู่ผู้สร้างกล่อง ECU ในวันนี้ ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอก แต่โชคชะตามันถูกกำหนดไว้หมดแล้วละว่า ต้องผู้ชายคนนี้แหละ ที่เกิดมาเพื่อสร้างกล่อง ECU ที่เป็นแบรนด์ของคนไทย
ตัวฉันเองอยากจะสัมภาษณ์ อ.ยศ ลงใน My Name is… มานานมากแล้ว เคยได้ยินคำว่า “รักแท้… ระยะทาง” มั้ยครับ ติดอยู่แค่ตรงนี้จริงๆ ครั้นจะเดินทางไปสัมภาษณ์ที่เชียงใหม่เลย ก็อยากทำมาก ได้ฟีลลิ่ง บรรยากาศ โลเกชัน แต่เมื่อมองกลับมาที่งานประจำที่ทำอยู่ ต้นฉบับก็ต้องปิดให้ทัน งานออนไลน์ก็ต้องผลิตทุกสัปดาห์ ต่อให้ 2 คนในร่างเดียว ยังไม่ทันเลย แล้วจะเอาเวลาที่ไหนเดินทางไปปั้นคอลัมน์ให้ได้ดั่งใจ ก็เลยต้องฉวยจังหวะตอนที่อาจารย์มากรุงเทพฯ นี่แหละ เกรงใจอาจารย์เหมือนกัน เพราะเป็นช่วงเตรียมรถไว้สำหรับวิ่งซุปอัพด้วย ก็เลยขอช่วงเวลานึงในการทำรถมานั่งคุยกัน โดยอาจารย์เปิดฉากเริ่มต้นชีวิตที่ว่า “ ผมเริ่มต้นจากการประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนแผนกอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จุดพลิกชีวิตมันอยู่ตอนที่ผมรับราชการ บรรจุเป็นอาจารย์สอนอยู่ได้ประมาณ 3 ปี ด้วยลักษณะนิสัยไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งในตอนสอนเข้าสู่ปีที่ 3 เนี่ย มันเป็นความรู้สึกเดิมๆ พอเดินเข้าห้องสอน ก็ต้องทำเหมือนเดิม หยิบสไลด์ขึ้นมาสอนเหมือนกับที่ทำมาแล้ว 2 ปี คิดว่าถ้าหลังจากนี้ไปอีกสิบปีล่ะ ก็ต้องทำอย่างนี้อยู่อีกเหรอ เมื่อผมสอนนักเรียนคลาสนี้เสร็จ ผมก็ไปเขียนใบลาออกเลย เพราะมันไม่ใช่ตัวผม ผมบอกตามตรงเลยว่า ผมเข้าใจครูทุกคนเลยว่าเป็นอย่างไร ผมนับถือทุกคนที่ทำหน้านี้เป็นอย่างมาก เพราะต้องอยู่กับความอดทนสูง และมีใจรักการสอนจริงๆ ถึงจะเป็นแม่พิมพ์ของชาติได้
หลังจากที่ลาออกจากราชการ ก็รับฟีดแบ็กมาเต็มๆ ว่าออกทำไม รับราชการก็ดีอยู่แล้ว อะไรประมาณนี้อยู่สักพักใหญ่ แต่ผมมีเหตุผลในการตัดสินใจลาออก ผมเชื่อตัวผมเอง ฝืนทำไปอย่างไร ก็ไม่ใช่ตัวตนอยู่ดี แล้วงานที่ที่ผลิตออกไปให้กับลูกศิษย์จะออกมาได้ไม่เต็มที่ด้วย ซึ่งเมื่อลาออกก็มาเปิดบริษัท CYE (ชัยยศ อิเล็กทรอนิกส์ ) ซึ่งมันเป็นช่วงที่นิคมอุตสาหกรรมกำลังเติบโต มีต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมาก อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ก็จะนำเอาเครื่องจักรเก่าจากประเทศเค้ามาใช้ในอุตสาหกรรมบ้านเรา แต่พอเป็นเครื่องจักรเก่า แน่นอนว่าอุปกรณ์อะไหล่บางตัวมันย่อมมีการเสื่อมสภาพ แล้วเสียหายบ้าง ที่สำคัญ คือ มันไม่มีอะไหล่ แล้วก็ไม่มีฝ่ายเทคนิคของบริษัทเข้ามาดูแล เค้าก็เลยเรียกให้ผมเข้าไปดูว่าซ่อมได้มั้ย ซึ่งเมื่อเข้าไปลองศึกษาดูก็พอที่จะแก้ไขงานเครื่องจักรให้มันสามารถทำงานต่อได้ อย่างมีอยู่เคสหนึ่งของทางเกาหลี ไม่สามารถดำเนินการต่อได้เป็นร้อยๆ เครื่องเลย เพราะไม่ผ่าน ISO ผมก็ลองเข้าไปเอาตัวอย่างวงจรเค้ามาศึกษา ว่าเค้าวางโปรแกรมคำสั่งมาแบบไหน แล้วก็ทำแก้ระบบใหม่ ให้สามารถเดินไลน์การผลิตต่อไปได้ แล้วก็มีอีกเคสนึงก็คือ สร้างเครื่องจักรผลิตอุปกรณ์แล้วขายให้กับประเทศญี่ปุ่น คือเครื่องจักรชนิดนี้ ญี่ปุ่นเค้าไม่ผลิตแล้ว เค้าก็เลยจ้างผมผลิต แล้วส่งกลับไปใช้งานที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วสิ่งที่ทำให้ภูมิใจที่สุด ลองไปสังเกตดูครับ คู่มือการใช้งานหน้าแรกส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาษาอังกฤษ กับญี่ปุ่น ภาษาไทยจะอยู่หน้าหลังๆ แต่สำหรับเจ้าเครื่องจักรที่ผมผลิตส่งไปญี่ปุ่น ผมเอาภาษาไทยมาไว้ข้างหน้าอันดับแรกเลย แล้วภาษาอื่นๆ ค่อยไล่ลำดับตามลงไป ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ภาคภูมิใจสำหรับตัวผมครับ
บ้านผมทำบ่อตกปลาด้วย ก็มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนที่มาใช้บริการบ่อตกปลาของที่บ้าน ซึ่งเพื่อนคนนี้แหละ เค้าชื่อคุณบอย เค้าเล่นรถ MITSUBISHI EVOLUTION อยู่ ตัวผมเองก็ชอบรถอยู่เหมือนกัน ก็ได้มีโอกาสไปรู้จักช่างที่เค้าทำรถรถให้คุณบอยนี่แหละ เค้าชื่อ ช่างอ๊อด ช่างเค้าแนะนำว่ามีรถเซียงกงมาคันนึง ราคาไม่แพง เป็น MITSUBISHI EVOLUTION II ผมก็เลยตัดสินใจซื้อมาจากเซียงกง แล้วไปซื้อ Lancer E-CAR ตัวคาร์บู เกียร์ออโต้ มาเพื่อย้ายของจากรถ EVO ลงใน E-CAR ได้ทดลองขับก็ติดใจนะ ขับมันส์ดี ซึ่งจากจุดนี้แหละ ผมก็เริ่มทำของเล่น มาโมดิฟายรถ อาทิ ทำกล่องจูนหัวฉีด ทำแบบง่ายๆ ใช้มือหมุนเอา ถ้าต้องการเพิ่มน้ำมัน หรือพวกเครื่อง N/A ที่เป็นเซตเทอร์โบ ก็ลองทำกล่องที่ไปควบคุมหัวฉีดเสริมเล่นบ้าง จนเริ่มมีรถอีซูซุ เครื่องยนต์ดีเซล ปั๊มไฟฟ้า รุ่นแรกเข้ามา ซึ่งผมมองว่าน่าจะทำอะไรเล่นได้เยอะ ผนวกกับได้มีโอกาสรู้จักกับคนในวงการมอเตอร์สปอร์ต เค้าให้ผมผลิตกล่อง ECU แล้วเดี๋ยวเค้าจะเอาไปทำตลาดให้ ก็ทำตลาดด้านนี้อยู่สักพัก ก็ได้หลานชายมาช่วย ก็คือ คุณอ้า เป็นคนเข้ามาทำแบรนด์ ECU=SHOP แล้วเป็นผู้ดูแลระบบการตลาดทั้งหมด พร้อมกับเปิดร้านอย่างเป็นทางการ ECU=SHOP เป็นร้านรับซ่อมกล่อง ECU อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่
พอเริ่มสร้างแบรนด์ คุณอ้าเองเค้าก็รุกตลาดกรุงเทพฯ ตระเวนเอากล่องไปให้แต่ละอู่ลองใส่ดู จำได้ว่าใส่ใน ISUZU D-MAX รุ่นแรก รถเดิมๆไม่ทำอะไรเลย ได้แรงม้าเพิ่มขึ้น สี่สิบกว่า แรงม้า ผมก็ว่ามันเยอะแล้วนะ จากพื้นฐานรถเดิมๆ หลายอู่ที่คุณอ้าเอาของไปให้ลอง เค้าก็บอกว่ามันแรงขึ้นนะ แต่น่าจะแรงกว่านี้ได้อีก ซึ่งมันก็พูดยากนะ เพราะเราไม่มีชื่อเสียง แล้วเค้าก็คงจะกลัวรถพังด้วยอีกสาเหตุ เพราะเป็นกล่องอะไรก็ไม่รู้ แล้วที่สำคัญ คือเป็นของคนไทยผลิตเองด้วย ยิ่งไม่มั่นใจกันไปใหญ่เลย ก็ทำตลาดกล่อง ECU ควบคู่กับทำรถ EVO II ไปด้วย เพราะในตอนนั้นมีแข่งแดร็กชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ ที่สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ในเชียงใหม่ ก็โมดิฟายรถไปวิ่งแข่งกับเค้า ตอนนั้นเครื่อง EVO ผมก็เปลี่ยนลูกสูบของ 2JZ ใช้ก้านสูบเดิม ตอนนั้นบอกไปก็ไม่มีใครเชื่อ ส่วนใหญ่เรื่องแมคคานิค จะเป็นพี่อ๊อด เป็นคนทำ ส่วนด้านอิเล็กทรอนิกส์ ผมทำเอง ตอนนั้นฝากเพื่อนซื้อกล่อง ECU ของนอกมาลองใบนึง เพื่อเรียนรู้ และ หัดวายริ่งสายไฟเอง แรกๆ ก็จูนไม่เป็น แค่สตาร์ตได้ วิ่งได้ก็ให้จูนเนอร์มืออาชีพเค้าจูนให้ก่อน ซึ่งมีโอกาสได้รู้จักกับ Souped Up เพราะอ่านเจอจากในหนังสือ ว่าจะมีงานจัดอันดับสถิติประเทศไทย ในทุกๆ ปลายปี ก็ตั้งใจว่าจะมาวิ่งในงานนี้ แต่ไม่รู้หรอกว่ารถเร็วๆ เค้าวิ่งกันเท่าไหร่ ซึ่งเจ้า EVO II คันที่ผมทำ วิ่งอยู่ประมาณ 7.4 วินาที ที่ระยะทาง 200 เมตร ใครๆ ที่เห็นเวลาของรถคันนี้ ต่างก็บอกว่าวิ่งได้แค่ 200 เมตร นั่นแหละ พอวิ่ง 402 เมตร วิ่งไม่ได้หรอก ซึ่งใครๆ เค้าก็พูดแบบนี้ในตอนนั้น
ก็เดินทางจากเชียงใหม่ มาร่วมรายการ Souped Up เป็นครั้งแรก เอารถแข่งใส่สาลี่ลากมา 2 คัน คันนึงคือรถที่ใช้แข่ง ส่วนอีกคันเป็นรถสแปร์ บอกตามตรงว่ามาครั้งแรกเนี่ยไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้ว่าเค้าต้องวิ่งกันเท่าไหร่ แล้วรถอะไรวิ่งเร็วที่สุด เรียกง่ายๆ ว่า รถแข่งผมยังไม่เคยวิ่งถึงเกียร์ 5 เลย เพราะวิ่งแต่สนาม 200 เมตรมาตลอด เมื่อลองซ้อมครั้งแรก วิ่ง 10.3 วินาที ทุกคนที่ยืนดูซ้อมในวันนั้นก็ยืนงงๆ นี่รถใครวะ ส่วนตัวผมเองก็ไม่รู้เรื่อง เวลามันคงไม่ดีแน่ๆ เลย ไม่เห็นมีใครพูดอะไร จน เอ้ เชียงใหม่ มาบอกว่า เก็บรถเลย อาจารย์ยศ ซึ่งหลังจากวิ่ง Souped Up ในปี 2005 จบ ชื่อของผมก็กลายเป็นที่รู้จักตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ก็เริ่มทำของอิเล็กทรอนิกส์แบรนด์ ECU=SHOP ออกสู่ตลาด ชิ้นแรกเป็น REV LIMIT จนเข้าสู่ยุคของเครื่องยนต์คอมมอนเรล พื้นฐานเครื่องยนต์มาดี เครื่องอึด ไม่ต้องทำอะไรมาก ก็แรงแล้ว ซึ่งผมก็พยายามคิดค้นอุปกรณ์ไว้สำหรับอัพเกรดเครื่องยนต์ เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ใช้รถเครื่องยนต์คอมมอนเรลอยู่ตลอด คิดเพียงแค่ว่าถ้าสินค้าที่ออกไป มันใช้ดี ถูกใจผู้บริโภค เค้าก็จะแนะนำกันเอง ผมมีหน้าที่ผลิตของออกมาให้มีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งผมก็พัฒนากล่องให้เครื่องยนต์คอมมอนเรลมาพักใหญ่ จนถึงระยะนึง ก็กลับมาเริ่มต้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับเครื่องยนต์เบนซินอีกครั้ง โดยแมคคานิคกลไกต่างๆ ผมลองทำมาตลอด เพียงแต่ว่ายังไม่ได้ประกอบรวมร่างเป็นกล่อง ECU สำหรับเครื่องยนต์เบนซินขึ้นมาจริงๆ สักที จนกระทั่งได้ตอบรับเข้าร่วมกับ BRIO ONE MAKE RACE ก็ลุยงานกันแบบไม่มีวันหยุดตลอดสามเดือนก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำโปรเจกต์นี้ คือความแตกต่างจากแบรนด์กล่อง ECU ทั่วๆ ไป ก็เลยทำกล่องที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว คือเป็นสแตนด์อโลน และพิกกี้แบ็ค ในตัวกล่องใบเดียว ซึ่งตอนที่ทำออกมาก็ยังไม่สำเร็จ 100% ไม่มีเวลาทดสอบ กล่อง ECU ที่ผมทำออกมาจำหน่ายจากโรงงานจะถูกผลิตโดยเครื่องจักร ถูกเซตระบบไว้เป็นมาตรฐาน แต่เนื่องจากกล่องเฉพาะกิจนี้มีระยะเวลาอันสั้น กล่องทั้ง 10 ใบจึงประกอบจากมือคน ไม่ใช่เครื่องจักร ดังนั้น เมื่อประกอบมือ รายละเอียดต่างๆ อาทิ ความหนาของตะกั่วที่ใช้ ไม่เท่ากันบ้าง สัญญาณที่ได้ก็มีค่าออกมาแตกต่างกันอย่างแน่นอน ก็เลยใช้วิธีการ QC กล่องทั้ง 10 ใบโดยขับรถจากเชียงใหม่ ลงมากรุงเทพฯ และในทุกๆ 100 กม. ก็จะเปลี่ยนกล่องทีนึง บทสรุปมาถึงกรุงเทพฯ เหลือกล่องไว้ใช้งานอยู่ 5 ใบ ก็ถือว่าโอเคแล้วล่ะ
ณ ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ ECU=SHOP มีจำหน่ายทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศกระจายไปทั่วทุกมุมโลก ส่วนตลาดในประเทศเอง ก็จะเป็นกลุ่มคนที่ชื่นชอบไฮเพอร์ฟอร์แมนซ์เครื่องยนต์ เค้าก็จะรู้จักแบรนด์ผมดี แต่เมื่อเปรียบสัดส่วนด้านการตลาดของกลุ่มผู้ใช้รถทั่วประเทศ ก็ยังถือว่าเป็นตลาดเล็กเฉพาะกลุ่มอยู่ ซึ่งมันก็เป็นแพลนที่อยากจะขยายธุรกิจโดยตั้งกลุ่มเป้าหมายไปสู่ผู้ใช้รถยนต์ทั่วไปบนท้องถนนได้รู้จักแบรนด์ครับ แน่นอนว่าอีกไม่นานนี้จะมีผลิตภัณฑ์ออกมาในรูปแบบใหม่ ให้ได้สัมผัสกันครับ รับรองว่าตื่นเต้นแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าไม่ได้ต้องการความแรง แต่ต้องการอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก็มีของออกมาตอบสนองความต้องการอย่างแน่นอนครับ
ผมว่าหลายคนคงหายสงสัยแล้ว ว่าทำไมใครๆ ก็เรียกอาจารย์ยศ สมแล้วกับสรรพนามนำหน้าว่าอาจารย์ เพราะเป็นแบบอย่างให้กับอีกหลายคนไปใช้ในการดำเนินชีวิต จากวันที่คนไทยไม่ยอมรับฝีมือคนไทยกันเอง ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คนไทยถ้าตั้งใจจริง ก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ครับ
– ผลิตภัณฑ์ ECU=SHOP ทุกรายการต้องผ่านการทดสอบใช้งานจริง เป็นระยะเวลา 6 เดือน ถึงจะทำออกมาจำหน่าย
– ถ้าคนเคยใช้ผลิตภัณฑ์ของผม จะสังเกตได้ว่า ผลิตภัณฑ์จะมี QR CODE ทุกชิ้น นั่นก็เพื่อเป็นการตรวจเช็ก เมื่อสแกนเข้าไป จะรู้ว่าของชิ้นนี้ผลิตเมื่อไหร่ ใครเป็นผู้ควบคุมการผลิต อุปกรณ์ซื้อจากที่ไหน ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อไว้เช็กว่าถ้าผลิตภัณฑ์มีปัญหา ก็สามารถย้อนกลับไปดูต้นตอการผลิตได้ทั้งหมด ว่าปัญเกิดขึ้นจากตรงไหน
– ผมถือว่าเป็นคนโชคดี ใครก็ตามที่ได้ทำงานอย่างที่ตัวเองรัก มันจะสนุก และมันไม่น่าเบื่อ ผลลัพธ์ที่ได้ มันก็จะออกมาดี
ชัยยศ ตรีภูวพฤทธิ์