Proton Satria ขับสี่ เกียร์ออโต้ จากมาเลย์ กับสถิติ 8.9

Proton Satria ขับสี่ เกียร์ออโต้ จากมาเลย์ กับสถิติ 8.9
ถ้าพูดถึงรถสปอร์ตซีดานขับเคลื่อน 4 ล้อ บ้านเราก็มักจะนึกถึงมิตซูฯ อีโว หรือไม่ก็ซูบารุ อิมเพรสซ่า แต่คงไม่ใช่ที่ประเทศมาเลเซีย เพราะที่นั่นมีรถยนต์แห่งชาติเป็นรถยนต์สัญชาติมาเลเซียโดยแท้ มีชื่อแบรนด์ว่า Proton ซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 1985 โดยรถรุ่นแรกที่ถือกำเนิดออกมาคือ Proton Saga ใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ของมิตซูบิชิทั้งสิ้น ร่วมกับมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ที่ตรงกับรุ่นในบ้านเราก็คือ Lancer Champ ต่อมาก็ค่อยๆ ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมาเป็นของโปรตอนเอง
ถึงแม้ว่าจะใช้ชิ้นส่วนจากมิตซูบิชิเกือบทั้งหมด แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นรถยนต์ของประเทศตัวเอง แล้วค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนขณะนี้มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง มีโรงงานประกอบใหญ่โต มีสนามทดสอบรถ นับเป็นการมองการณ์ไกลของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่ทำให้ประเทศมาเลเซียมีรถยนต์เป็นของตัวเอง

และรถในฉบับนี้ก็เป็นควันหลงจากการ On Tour ของทีมงาน XO ไปที่หาดใหญ่ ในงาน LEO ECU=SHOP SOUPED UP ON TOUR ซึ่งที่หาดใหญ่ก็ไม่ไกลจากรอยต่อประเทศมาเลเซีย ขับรถแค่ชั่วโมงหน่อยๆ  จึงมักจะมีรถแข่งจากเพื่อนบ้านข้ามมาแข่งขันในไทยอยู่เรื่อยๆ
และคันนี้ก็เป็นตัวแข่งระดับหัวแถวของทางมาเลย์ เป็นรถ Proton Satria รถยนต์แห่งชาติมาเลย์ แต่หน้าตาคล้ายๆ กับมิตซูบิชิ โคลท์ ในบ้านเรา ซึ่งแน่นอนว่ามันใช้เครื่องยนต์มิตซูบิชิ  แล้วเครื่องมิตซูบิชิที่โมดิฟายได้แรงๆ และเป็นที่นิยมมากก็คือ 4G63 หรือเครื่องยนต์จาก แลนเซอร์ อีโวลูชั่น นั่นเอง
แน่นอน ว่ารถรุ่นนี้ไม่ใช่รถขับเคลื่อน 4 ล้อมาโดยกำเนิด เป็นเพียงขับเคลื่อน 2 หน้า แต่แพลตฟอร์มของรถโคลท์ กับแลนเซอร์ อีโวลูชั่น ไม่ต่างกันมาก การจะเอาชุดขับเคลื่อน 4 ล้อมาใช้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เราก็เห็นกันอยู่หลายคันในบ้านเรา สิ่งที่น่าสนใจในรถแข่งคันนี้ คือ ระบบเกียร์ที่ใช้เป็นเกียร์อัตโนมัติ

หลายคนคงสงสัยว่า ขับสี่ มีเกียร์ออโต้ด้วยเหรอ แล้วมันจะเอาอยู่เหรอ มันจะเร็วมั้ย จะสู้เกียร์ธรรมดาได้หรือเปล่า คำถามเหล่านี้จะลอยตามมามากมาย เรามาหาคำตอบกันไปทีละข้อ  เริ่มจากเกียร์อัตโนมัติหรือเกียร์ออโต้ในรถขับสี่ มีอยู่หลายรุ่นเลย เอาแค่ในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีหิมะตก ก็จะมีรถเก๋งที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ขายหลายรุ่นหลายยี่ห้อ ไม่ใช่แค่รถแรงๆ ที่เรารู้จัก มีตั้งแต่เครื่อง 1,300 ซี.ซี. รถจ่ายกับข้าวก็มีขับสี่

เหตุที่มีมากมายหลายรุ่น ก็เพราะในช่วงที่หิมะตก รถขับเคลื่อน 4 ล้อ จะมีการเกาะถนนที่ดีกว่าขับเคลื่อน 2 ล้อ มาก ในประเทศที่มีหิมะตกก็จะมีรถแบบนี้จำหน่าย และด้วยความที่เป็นรถบ้าน รถเล็ก รถจ่ายกับข้าว ระบบขับสี่ในรถพวกนี้ก็มีเกียร์ออโต้ด้วยเช่นกัน
และตัวแรงอย่างมิตซูบิชิ อีโวลูชั่น ก็มีรุ่นที่เป็นเกียร์ออโต้ แต่ตัวรถจะออกมาในรูปแบบ Wagon เอาใจสายซิ่งที่รักสบาย ซึ่งในครั้งแรกที่เห็นรถคันนี้ ก็เดาว่าน่าจะเป็นเกียร์จากรุ่นนี้ แต่ไม่ใช่ กลายมาเป็นเกียร์จาก Mitsubishi Eclipse เป็นรถทรงสปอร์ตที่ในบ้านเราไม่มีจำหน่าย
เมื่อได้เกียร์แล้ว ก็ต้องทำให้มันถ่ายทอดกำลัง จากเครื่องยนต์ที่โมดิฟายมาจนมีแรงม้าสูงๆ ได้ ทาง setiawangsa racing ซึ่งเป็นทีมเจ้าของรถคันนี้ก็ได้มีการปรับปรุงระบบภายใน ให้ส่งกำลังได้ทั้งหมดโดยไม่พัง และก็โปรแกรมกล่องควบคุมเกียร์ใหม่ โดย YRS หรือช่างญา  ญา เซอร์วิส นั่นเอง

แล้วทำไมถึงต้องมาใช้เกียร์ออโต้ นั่นคงเป็นอีกคำถามที่หลายคนคาใจ โดยปกติหลายคนก็เข้าใจกันว่ารถขับเคลื่อน 4 ล้อ เป็นรถที่ออกตัวดีอยู่แล้ว แต่เมื่อโมดิฟายเครื่องยนต์ให้มีกำลังสูงมากๆ ขับสี่ก็มีปัญหากับการออกตัวเหมือนกัน ออกรอบต่ำไปหน่อย รถก็ไม่พุ่ง ออกแรง ล้อก็ฟรี ออกกระชากมากๆ ชุดส่งกำลังพัง
การออกตัวใน Drag Racing การปล่อยคลัตช์สำคัญมากๆ ปล่อยเร็วไป ยกขาออกมาเลยก็ไม่ได้ ต้องค่อยๆ เลี้ยงให้คลัตช์ค่อยๆ จับ จากน้อยไปหามาก นักแข่งจะต้องค่อยๆ ปล่อยแป้นคลัตช์ออกมา ซึ่งในการทำแต่ละครั้งก็อาจไม่เหมือนกัน บางครั้งออกตัวดี บางครั้งเหี่ยว  บางครั้งล้อฟรีมากไป

ซึ่งคลัตช์แต่งของรถ Drag Racing จะมีระบบตุ้มเหวี่ยงที่ช่วยเพิ่มแรงกด เมื่อปล่อยคลัตช์ ชุดจานกดจะค่อยๆ เพิ่มแรงกด ให้ค่อยๆ ส่งกำลังไปยังล้อได้เอง โดยนักแข่งไม่ต้องควบคุมขาซ้ายเอง แต่ก็ต้องมีการปรับตั้ง ที่ต้องการความชำนาญอย่างมาก กว่าจะตั้งได้ คลัตช์อาจหมดไปหลายชุดแล้วก็ได้ และยังต้องมีการปรับตั้งอยู่เรื่อยๆ เมื่อแผ่นคลัตช์เริ่มสึกหรอไป
แต่เกียร์ออโต้ จะคล้ายๆ กับคลัตช์ตุ้มเหวี่ยง แต่ใช้แรงดันน้ำมันในเกียร์มากดแผ่นคลัตช์ที่อยู่ภายใน ให้เพิ่มแรงกดตามแรงดันน้ำมัน และแรงดันน้ำมันก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ในช่วงแรกที่รถเริ่มขยับ กำลังจากเครื่องยนต์ถ่ายทอดมาที่ล้อได้ไม่หมด ช่วยลดล้อฟรีทิ้งในช่วงที่รถเริ่มขยับ  แต่เมื่อรถขยับออกตัวไปแล้ว คลัตช์ก็จะเพิ่มแรงกดมากขึ้นตามความเร็วรถ ทำให้การออกตัวทำได้ง่ายกว่าเกียร์ธรรมดา และยังเสถียรกว่า ออกตัวทีไรก็ได้เวลา 60 ft ใกล้เคียงกัน
แล้วเกียร์ธรรมดาที่ใช้คลัตช์แห้งทั้งหลาย กับเกียร์ออโต้ อันไหนเร็วกว่ากัน ก็ต้องตอบว่าเกียร์ธรรมดาที่สามารถเซตคลัตช์ได้ลงตัว จะถ่ายทอดกำลังได้ดีกว่า เพราะผ่านกลไกและเฟืองน้อยกว่า แต่ยุ่งยากในการปรับตั้ง และการดูแลให้ทำงานได้เต็มที่ รถที่แรงมากๆ จริงๆ อาจต้องตั้งทุกๆ ครั้งที่วิ่ง

ส่วนในเกียร์ออโต้ กำลังจากเครื่องยนต์จะหายไประหว่างทางในเกียร์มากกว่า เพราะกลไกในเกียร์ที่ซับซ้อน ผ่านเฟืองเกียร์หลายชุด แต่ใช้งานง่าย เสถียร ไม่ต้องดูแลมากนัก เพราะฉะนั้น คงจะฟันธงไปเลยลำบากว่าอะไรเร็วกว่าอะไร คงบอกได้แค่ว่าเกียร์ธรรมดาสูญเสียกำลังน้อยกว่า เกียร์ออโต้ใช้งานง่ายกว่า ทีนี้ก็อยู่กับทีมแล้วว่าจะเลือกอะไรมาใส่รถ
ส่วนเครื่องยนต์ในคันนี้ แน่นอนว่าเป็นเครื่องยนต์ Lancer Evolution และก็เป็น EVO 3 เพราะเป็นเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายที่ยังไม่กลับหัวเหมือนเครื่องรุ่น EVO 4 ขึ้นไป เทคโนโลยีในเครื่องจึงสูงที่สุดแล้ว ประกอบกับบอดี้ที่เป็น Proton Satria จึงง่ายต่อการวางเครื่องลงไปโดยที่ไม่ต้องแปลงอะไรมากมาย

ส่วนสถิติของรถคันนี้ในงาน LEO ECU=SHOP SOUPED UP ON TOUR คือ 8.95 วินาที ซึ่งไม่ได้ฉีดแก๊ส (ไนตรัส) เพราะกติกาในการแข่งขันรายการนี้ห้ามฉีด ส่วนสถิติที่คันนี้เคยวิ่งในประเทศของเขาที่อนุญาตให้ใช้แก๊สไนตรัสได้คือ 8.75 วินาที เป็นไงบ้างครับ รถแข่งจากเพื่อนบ้านเรา เร็วใช้ได้เลยทีเดียว ใครอยากจะเข้าไปติดตามรถคันนี้ก็เข้าไปที่ FB: Setiawangsa Racing กันได้เลย

TECH SPEC
รถ : Proton Satria
ภายใน
พวงมาลัย : MOMO
เบาะ : Kirkey
เข็มขัดนิรภัย : Sabelt
เกจ์วัด : Auto Meter, Defi
เครื่องยนต์
รหัสเครื่องยนต์ : 4G63 EVO 3
แคมชาฟต์ : Custom by MP Tuner
สปริงวาล์ว : Dual Spring
วาล์ว : Ferrea
ก้านสูบ : Pauter
ลูกสูบ : Wiseco
ท่อไอดี : MAGNUM
ลิ้นปีกผีเสื้อ : VQ
เทอร์โบ : GT42
เวสต์เกต : HKS
Blow off Valve : HKS
หัวฉีด : 1,600 c.c.
กล่อง ECU : F-CON
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : Auto 4 Speed  Mitsubishi Eclipse
โปรแกรมเกียร์ : YRS (ญา เซอร์วิส)
เพลากลาง : DriveSharp Shop
ช่วงล่าง
โช้คอัพ : D2
ล้อ : TE37
ยาง : HOOSIER 26/8.0-15