เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
Recalling the past
RX-3 “Story of Back-Half”
P&C GARAGE Present
“รถแดร็กคนบ้า” ของแท้ สุดจริง (จะ) วิ่ง 7
ในงาน Souped up Thailand Records ทุกๆ ปี ที่ผ่านมา เราจะคุ้นเคยกับเหล่า Dragster ที่ตอนนี้ “ใครๆ ก็ทำกัน” เพื่อหวังสถิติ “แห่งความเป็นหนึ่ง” แต่…ในอีกมุมหนึ่ง หากเราสนใจแต่ “มวยเอก” เราจะพลาด “มวยรอง” ไปอย่างน่าเสียดาย จะรุ่นไหนก็ตาม มันก็ “มีเสน่ห์” และ “ความมันส์” ในแบบฉบับของมัน เรามาโฟกัสในรุ่น PRO 4 กันบ้าง กติกาเปิดหลายอย่าง เช่น ช่วงล่างหลังสามารถดัดแปลงได้ โดยมากก็จะเป็นแบบ 4-Links หรือ “ฉีดไนตรัส” ก็ได้ แต่ยังต้องมีการควบคุมเรื่อง “น้ำหนัก” อยู่ และยังต้องเป็น “รถยนต์ที่ผลิตจำหน่ายจริง ไม่ต่ำกว่า 2,500 คันต่อปี” นี่แหละ !!! มัน “มีข้อจำกัด” หลาย “โจทย์” ให้เราได้คิดได้ทำ…
ด้วย “ข้อจำกัด” ที่ตัวรถ แถมคันนี้ยังเป็น “SAVANNA RX-3” ที่เข้าชั้นรถระดับตำนาน ทั้งสวยงาม ครบถ้วน ด้วย “อะไหล่แท้” สุดหายาก แล้วทำไมหาญกล้าเอามา “เสี่ยง” ความเสียหายในสนาม Drag กัน ??? คำตอบมีแน่ๆ ว่า “ไม่ได้ทำไว้โชว์ ทำไว้แข่ง” แถมยังได้ “แชมป์” ในรุ่นอีกด้วย ใครจะบ้าขนาดนี้ นอกจาก “ชายหน้าหวาน” หรือ “พี่ใหม่” P&C GARAGE ลองมาดูถึงเทคนิคการสร้างรถคันนี้ ซึ่งบอกเลยว่า “ไม่ธรรมดา” แน่ๆ ทำของ “ไม่เดิม” ให้ “ดูเดิม” ได้ มันส์แน่เล่มนี้…
ซีดานรักแรก กระแทกหัวใจ
ถ้าใครรู้จักกับ “พี่ใหม่” อย่างสนิทสนม จะรู้เลยว่าเป็นคนที่ชอบและสะสม “Retro Car” อยู่มากมาย และรถที่เหมือนเป็น “ตราประจำตัว” แน่นอน ว่าต้องเป็น “โรตารี่ที่รัก” คือ “SAVANNA RX-3” ซึ่ง พี่ใหม่ ก็ได้ “คลั่งไคล้” เป็นพิเศษ แบบที่ว่า “ยังไงก็ต้องมีให้ได้” ซึ่งมันก็เป็นรถที่ “หารถแท้ อะไหล่ของแท้ ได้ยากและแพงมากๆ” ที่สำคัญ คันนี้เป็นแบบ “4 ประตู” อีกด้วย แล้วเหตุใดทำไมไม่เลือก 2 ประตู ที่ทั่วโลกเขาฮิตกัน…
คนที่มีความชอบ ไม่จำเป็นต้องชอบตามกระแส ตัว พี่ใหม่ เอง เป็นคนที่ชอบ RX-3 แบบ 4 ประตู และโดยเฉพาะ “แวน” นี่สุดในใจจริงๆ ไม่จำเป็นต้อง Coupe เหมือนชาวบ้าน ดังนั้น “ความแปลกจึงแตกต่าง” ทำให้ตัดสินใจปั้นเจ้า RX-3 Sedan นี้ขึ้นมา “ตามฝัน” ที่ฝังใจมาตลอด สิ่งที่ “ยาก” ไปกว่าตัวรถ ก็คือ “อะไหล่แท้เบิกใหม่” มีสกุล “Genuine part” ไม่ใช่ “Re-product” หรือ “รีโปร” (อะไหล่ที่ผลิตขึ้นมาใหม่ทดแทนอะไหล่แท้ ซึ่งหยุดสายการผลิตไปแล้ว หรือ Discontinue) ที่ซื้อสะสมไว้นานมากกกกกกก…ยังไม่พอนะ ในความยากของยาก คือ อะไหล่ RX-3 ตัว 4 ประตู จะหายากกว่า 2 ประตู ที่มีรถจำนวนมากกว่า มันจึงกลายเป็น “โคตรยาก” ยิ่งตัวแวนไม่ต้องพูดถึง สายโรตารีปีลึกเขารู้กันว่า อะไรที่อดีตไม่ฮิต จะกลายเป็น Rare Item ในอนาคตเสมอ…
ทำรถ Drag เพราะ “แค่อยากขับ”
เรื่องที่ทุกคนรวมถึงตัวผมเองสงสัยมากๆ ว่า “กล้าทำได้ยังไง” เรื่องตัวรถไม่เท่าไร เพราะมันยังพอหา FAMILIA 808 ทดแทนกันได้ แต่สิ่งที่มิอาจทดแทนด้วยสิ่งใดๆ ได้เลย คือ “อะไหล่แท้ตรงรุ่น เบิกใหม่” นี่แหละครับ ถ้าคนทั่วไปก็คงทำเป็น Retro car งามๆ จอดเชยชมเป็น “นางงามตู้กระจก” เพราะ “ของมันหายาก” แต่ “พี่ใหม่” กลับทำมาเป็นรถ Drag เต็มระบบ มันสวยมาก !!! แต่ในความสวยนั้น มันก็มีความเป็นห่วง เพราะในสนามแข่งโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมันมี เราไม่ได้แช่ง แต่นักแข่งทุกคนก็ทราบดี เหตุผลเพียงข้อเดียวที่ พี่ใหม่ ตัดสินใจทำเป็นรถแข่ง ก็คือว่า…
“ทำรถเดิมๆ สวยๆ เราก็อยากเก็บไว้ เราก็จะไม่ได้ขับ ได้แต่นั่งมองเป็นหลัก แถมไม่มีใครเห็น แต่ถ้าเราทำเป็นรถแข่ง เราได้ขับได้แข่ง เราเห็นแล้วเราอยากขับ อยากซ้อม คนอื่นก็ได้เห็นด้วย เหตุผลพี่มีแค่นี้จริงๆ”
สิ่งที่ “ยาก” กว่า “รถเฟรม”
การสร้างรถเฟรมนั้น ตอนนี้ถือว่าเป็น “เรื่องง่าย” เพราะมันเป็น “Platform อิสระ” เราอยากได้ทรงไหน ยาวเท่าไร ใส่ล้อขนาดไหน ครอบบอดี้อะไร ทุกอย่างมันสร้างขึ้นได้ทั้งหมด เรียกว่า “เสกได้ตามใจปรารถนา” แต่กับรถรุ่น PRO ที่มีข้อบังคับอยู่มาก เช่น ตัวรถต้องมีจำหน่ายไม่น้อยกว่า 2,500 คันต่อปี ก็คือรถ Production ที่ขายทั่วไปนี่แหละ, Firewall เดิม, ช่วงล่างล้อที่ไม่ได้ขับเคลื่อนต้องเป็นรูปแบบเดิม มีแค่ “ระบบช่วงล่างของล้อขับเคลื่อนเปิดอิสระ” ไม่ได้หมายความว่าให้ใช้ช่วงล่างแบบอิสระ แต่หมายความว่า “คุณจะใส่แบบไหนก็ได้” ก็มาจบที่ 4-Links ถ้ารถขับหลัง ก็จะเรียกกันว่า “Back-half” (ไม่ใช่ Half frame นะครับ) ก็อย่างที่คุณเห็นว่า ทรงรถเดิม หน้าตาภายนอกเหมือนเดิม แต่ด้านหลังเป็น Drag wheels กับยาง Drag slick ใหญ่ๆ แต่ซุกเข้าไปอยู่ด้านใน อันนี้แหละครับที่เป็นเสน่ห์ของรุ่น PRO ซึ่งต่างประเทศก็นิยมกันมาก แถมแรงและเร็วอีกต่างหาก…
สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อจำกัดเลยก็คือ “ขนาดของตัวรถ” อย่าง RX-3 เป็นรถขนาดเล็ก การจะทำอะไรแบบนี้เข้าไป จึงต้อง “คิดวางแผนให้ดี” ก่อนจะลงมือ เพราะถ้าทำผิด มันต้องมาแก้กันบานเบอะ ก็ไม่ใช่เรื่อง การใส่ล้อใหญ่ เพลาท้าย Drag Series อันโตๆ เข้าไป ต้องสร้างช่วงล่างเข้าหาอีก มันไม่ง่ายเหมือนรถเฟรมที่ใช้พื้นฐานเดียวกัน แล้วอะไร ทำให้รถคันนี้สร้างออกมาจนสวยสมบูรณ์ขนาดนี้ได้…
“ล้อ” จุดเริ่มต้นทุกสิ่งอย่าง
การสร้างรถคันนี้ พี่ใหม่ ก็ไว้ใจ “เสี่ยอ๋อ” FRAME FACTORY by AOR 77 SHOP เจ้าประจำ ซึ่งการกำหนดงานนั้น ทาง อ๋อ ก็มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว พี่ใหม่ เลยไม่ได้กำหนดอะไรเยอะนัก แต่สิ่งที่กำหนดเพียงอย่างเดียว ก็คือ “ขนาดยาง” ที่สูงถึง 33 นิ้ว !!! ซึ่งใหญ่เวอร์วังอลังการมาก เกือบจะเท่ารถ SUPER MAX อยู่แล้ว เหตุที่ต้องใช้ยางสูงขนาดนั้น ก็เพราะ “สวย” และ “อยากได้แบบนี้” แค่นั้นเอง แต่ “แค่นั้น” มันไม่ใช่ “แค่นี้” แล้วจะยัดลงไปใน RX-3 ได้อย่างไร ที่สำคัญ “มันไม่ใช่แค่ยัดล้อเข้าไป แล้วสร้างช่วงล่างเท่านั้น” รายละเอียดมีมากมาย ดังนี้ ครับ…
- วางตำแหน่งล้อ และความสูงของรถ ให้ได้ก่อน : หลังจากที่เลาะพื้นช่วงหลังออกทั้งหมดแล้ว ก็ต้องเอาล้อและยางขนาดที่ต้องการมาวางตำแหน่ง มันไม่ง่าย เพราะข้อกำหนด คือ “ซุ้มต้องเดิม” ไม่มีการตัดจนเสียรูป และต้องจัดตำแหน่งให้มัน “ซุก” สวยพอดี อันนี้จะยาก เพราะล้อใหญ่จนเลยขึ้นขอบประตูไปเสียอีก อีกอย่างที่สำคัญสุดๆ คือ “การกำหนดความสูงของรถ” จะต้องทำไปพร้อมๆ กัน ได้ตำแหน่งที่กำหนดแล้ว “ล็อกรถขึ้นจิ๊ก” บนแท่นสเกลไว้เลยครับ เราจะได้มาร์คตำแหน่ง “เพลาท้าย” ว่า Center มันอยู่ตรงไหน…
- ตำแหน่งช่วงล่าง กับเพลาท้าย ต้องสัมพันธ์กัน : เมื่อได้ตำแหน่งล้อและเพลาท้ายที่ต้องการแล้ว ก็จะต้อง “สร้างช่วงล่าง” 4-Links ขึ้นมาใหม่ ขั้นตอนนี้ก็จะคล้ายๆ กับการสร้างรถเฟรม เพียงแต่เป็นแค่ช่วงท้าย และต้องดู “มุมหน้าแปลนเพลากลาง” ด้วย จะต้องไม่ “ก้ม” หรือ “เงย” เพราะจะมีผลมากในการขับ มันจะต้องพอดีเท่านั้น และยังไม่จบแค่นี้แน่ๆ…
- ตั้งตำแหน่ง “เครื่อง” และ “เกียร์” ค่อนข้างสูงมาก : ด้วยความที่รถมันเตี้ยลง แถมยังใส่ล้อใหญ่มาก เพลาก็จะอยู่สูงไปด้วย เท่ากับว่า “มันสูงไปกว่าปกติมาก” ดังนั้น ตำแหน่งเพลากลาง + เกียร์ ก็จะต้องยกสูงกว่าปกติ เพื่อให้ “เพลากลางได้ระนาบ” เพื่อการส่งกำลังที่สมบูรณ์ที่สุด ลดการเสียหาย ส่วนตำแหน่งเครื่องก็ต้องยกตามไป ยังโชคดีว่าเครื่องโรตารี่มัน “ไม่สูง” ก็เลยสามารถยกได้ แต่ก็ยังต้อง “เผยอฝากระโปรงช่วย” เพราะติดท่อร่วมไอดี…
ความไม่เดิม ที่ต้องทำเดิม ???
คันนี้กำหนดไว้เลยว่า รูปทรง รูปลักษณ์ ต่างๆ จะต้อง “คงเดิมทั้งหมด” เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของ RX-3 เอาไว้ทุกประการ มันคงไม่ดีแน่ ถ้ารถที่มีองค์ประกอบสวยๆ อย่างนี้ จะถูกตัดแขนตัดขาจนแทบไม่เหลือความเดิม คงไม่ใช่ “ชายหน้าหวาน” แน่ๆ ในส่วนของมิติโดยรวม ก็ยังคงเป็นไปตามมาตรฐาน RX-3 Sedan เดิมๆ แต่มันมี “จุดที่ไม่เดิม” และ “ต้องทำให้ดูเดิม” โดยที่เราไม่ทันสังเกตได้อีกด้วย !!! ในส่วนของตัวถัง ยังคงเป็น “เหล็ก” ตามมาตรฐานโรงงานทุกชิ้น เว้นแต่ “ฝากระโปรงคาร์บอน” ที่ทำออกมาก็เหมือนเดิมจนดูไม่ออก แต่สิ่งที่เป็นไฮไลต์ มันคืออะไรกันแน่ แต่บอกเลยว่า “เดาไม่ออก” จริงๆ นะ…
หวยมาออกที่ “ซุ้มล้อหลัง” โจทย์กำหนดมาแล้วว่า ต้องเป็นทรงเดิม แต่ปัญหามันเกิดที่ว่า “ซุ้มด้านหลังติดแก้มยาง” จะตัดดื้อๆ เลย ไม่ยอมแน่ ก็เลยต้องหาทาง “ขยายความยาว” มากขึ้น ให้ขอบซุ้มด้านหลังถอยไปอีก โดยที่มิติเส้นสายทุกอย่างยังต้องคงเดิม อันนี้ก็วางแบบแล้วให้ทาง AOR 77 SHOP ช่วยลงมือ โดยการ “ตัด ต่อ เสริม” ตัดขอบซุ้มล้อส่วนหลังออก แล้ว “เคาะเหล็กขึ้นมาประมาณ 1 คืบ” ให้ได้รูปทรงเดิมของรถเป๊ะๆ แล้วก็เชื่อมติดเข้าไป เอาขอบซุ้มล้อส่วนหลังมาต่อ ก็จะได้ซุ้มที่ยาวขึ้นเหมือนในรูป และ “ไม่มีเสียทรง” เลยแม้แต่น้อย สุดยอดจริงๆ ข้าน้อยขอคารวะ…
P&C ทำอะไรในสนาม
ส่วนตัวผมชอบคุยกันถึง “เบื้องหลังจากการแข่งขัน” ที่เป็นเทคนิคน่ารู้ แต่คนทั่วไปอาจจะไม่สังเกต หรือสังเกต แต่ “ไม่เข้าใจว่าเขาทำอะไรกันบ้าง” ระหว่างการแข่งขันที่ต้องใช้สมาธิสูง ทุกอย่างต้องไม่มีคำว่า “พลาด” เพราะไม่อย่างนั้น นอกจากความพ่ายแพ้แล้ว ยังจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง เราลองมาดูตั้งแต่ “สตาร์ตเครื่อง” ไปยัน “วิ่งจบ” ว่าทีมงาน P&C GARAGE ทำอะไร และเพื่ออะไร กันบ้าง…
- ใช้ ว. สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพสุดๆ : คันนี้จะมี “วิทยุสื่อสาร” ในรถ คนขับก็จะมี “ลำโพงในหมวกกันน็อก” เพื่อสื่อสารกับทีมงาน เนื่องจากเสียงเครื่องมันดังมาก แล้วใส่หมวก มันก็จะไม่ได้ยินอะไร อาจจะเกิด “การผิดพลาด” ขึ้นได้ อันนี้จะสื่อสารกับทีมงาน ตั้งแต่ “หน้าเส้น” ดูตั้งแต่ “การเลือกจุดเบิร์นยาง” และ “บอกไลน์สตาร์ต” และสำคัญ “ท้ายเส้น” แก๊งเก็บร่ม อันนี้ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ไม่ใช่แค่เก็บร่ม แต่จะต้องเป็น “คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าแทร็กเคลียร์ไหม” โดยการส่งทีมงาน 2 คน ไป Stand by อยู่ตรง “จุดตรวจสภาพปลายเส้น” ก่อนที่จะถึงคิววิ่ง โดยการสังเกตรถที่วิ่งคันก่อนหน้า ว่าวิ่งมาปกติ หรือมีเสียอาการ ลื่น มีของเหลวหยดหรือไม่ พัง ควันขาว มีไหม ถ้าทุกอย่างเคลียร์ก็จะ ว. บอกให้เริ่มการวิ่งได้ โดย “คำยืนยันสุดท้าย” (Last Confirmation) จากทีมปลายเส้น จะเกิดขึ้นหลังจาก “เบิร์นยางเสร็จ” และ “เตรียมตัวเข้าเส้น” สำหรับสเต็ปต่อไป จะต้อง “ติดเสาที่รถเพิ่ม” เหมือนรถเซอร์กิต เพื่อรับสัญญาณจากทีมปลายเส้นให้ชัดเจนที่สุด ซึ่งรถแข่งรุ่นใหญ่ของ P&C GARAGE จะใช้ระบบนี้ทั้งหมด…
- มาร์คจุดเบิร์น (ยาง) : ก่อนที่จะถึงคิววิ่ง ทีมงานจะไปเดินดู “หน้าเส้นสตาร์ต” ก่อน ว่า “จุดไหนเบิร์นได้ดีที่สุด” โดยเลี่ยงจุดที่ “เปียกมาก” หรือ “ขี้ยางเยอะ” เลือกตรงที่เคลียร์ที่สุด ทีมงานก็จะตกลงกัน พอเข้าจุดเบิร์น ก็จะขยับไปตรงจุดที่ต้องการ…
- เบิร์นยางหนักดีจริงหรือ ??? : มันก็คงต้องพอดีๆ นะ แต่การเบิร์นจะหนักมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพแทร็กตอนนั้น ถ้าเบิร์นแล้วรู้สึก “ลื่นมาก” รอบเครื่องกับการตอบสนองคันเร่งจะฟ้องที่คนขับทันที ถ้า “แว้ดไว” ก็แสดงว่าลื่น ต้องเบิร์นหนักหน่อยให้ยางร้อนและเหนียว แต่ถ้าแทร็กดี ก็ไม่จำเป็นต้องเบิร์นหนักมากให้เปลืองยาง…
- จังหวะเบิร์น บอกอะไรได้บ้าง : การเบิร์นยาง นอกจากจะทำให้ยางเหนียวแล้ว ยังเป็นการ “เช็กอาการช่วงล่างของรถ” ได้อีกด้วย ถ้าเบิร์นแล้วตรงๆ นิ่งๆ ก็แสดงว่า “รถตรง” แต่ถ้าเบิร์นแล้ว “เป๋” ออกข้างไหน ก็ต้อง “ระวัง” และ “พร้อมแก้อาการ” อันนี้ต้องเช็กแม้รถจะเซตมาตรง เพราะสภาพแทร็กมันเปลี่ยนตลอดเวลา…
- เบิร์นเลยเส้น เช็กสภาพแทร็ก : การเบิร์นจะปล่อยไหลไปเลยเส้นสตาร์ต เลย 60 ฟุตไป เพื่อ “เช็กสภาพแทร็ก ณ จุดสตาร์ตจนถึง 60 ฟุต” ไปด้วย แทร็กจะลื่นหรือไม่ จะฟ้องที่ “คันเร่ง” และ “รอบเครื่อง” อย่างที่บอกไปตั้งแต่ตอนเบิร์น ไม่ได้ปั่นเอามันส์แน่นอน…
- เข้าไฟให้ไว อย่ารำเยอะ : เมื่อจบขั้นตอนการเบิร์นยาง ก็ต้อง “ถอยตั้งลำ เข้าเส้นให้ไว” เพื่อ “รักษาอุณหภูมิของยาง” ยิ่งรำก็ยิ่งเย็น และ “ไม่ให้เกมดูน่าเบื่อ” ถ้าทุกสิ่งอย่างเคลียร์ “จัดหนักสิครับ” รออะไร…
Comment : ชัยวัฒก์ ปัณฑยางกูร
ครั้งนี้ขอกล่าวถึงตัวรถนะครับ RX-3 เป็นรถที่ผมชอบมากๆ มาตั้งแต่เด็ก เป็นรถที่มีเสน่ห์ในด้านทรวดทรง รายละเอียดต่างๆ ของมัน ผมเห็นพวก “ออสซี่” มีรถ RX-3 สวยๆ มาวิ่งกัน โดยมากก็เป็น 2 ประตู แต่พอเห็น 4 ประตู หรือแวน ทำรถ Drag แล้วมันติดใจ ก็เลยวางแผนที่จะทำ มันไม่ง่ายนะครับ เพราะเราต้องการความ “เดิม” บางอย่างจำเป็นต้องไม่เดิม แต่เราต้องทำให้มันดูแล้วเดิมที่สุด ถ้าทำ RX-7 มันง่ายกว่าเยอะเลย ลงทุนต่ำกว่า แต่อันนี้ทำ เพราะ “มันเป็นความฝันของผม” จุดมุ่งหมายต่อไป คือ “7 sec” ซึ่งก็ต้องไปอย่างระวัง เพราะเวลาระดับนั้น รถต้องแรงและเร็วมากๆ วู่วามไม่ได้เด็ดขาดครับ ท้ายสุด ผมขอขอบคุณ บอย สรวงศ์ เทียนทอง ๑ ธันวา, เฮียอ้วน MONZA SHOP สนับสนุนผลิตภัณฑ์ Drag Racing, พี่ชา PREECHA RX-3 แบ่งปันอะไหล่ RX-3 มาให้, พี่ชาญ CHAN INTER, เสี่ยอ๋อ และ ทีม AOR 77 SHOP, D2 Racing, กำนันอู๊ด สไลด์ออน, น้ำมันเครื่อง SUNOCO, โรงกลึง สหเจียรนัย รังสิต, อยุธยาจักรกล รวมถึงทุกๆ คนที่ช่วยเหลือในการทำรถคันนี้ด้วยครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ยอมรับว่าเห็นแล้ว “โคตรชอบ” อาจจะเป็นเพราะส่วนตัวชอบ Retro car เป็นทุนเดิม โดยเฉพาะ RX-3 ก็เป็นอีกรุ่นที่ชอบ อาจจะดูมีความเอนเอียงใน Comment นี้ แต่ถ้าใครเห็นคันนี้ตัวเป็นๆ ก็คงยากที่จะปฏิเสธ ในด้านการสร้างรถ มันก็เป็น “ความท้าทาย” ว่าจะทำอย่างไรถึงจะออกมา “สวยจริง วิ่งแข่งได้ ไม่ได้ทำไว้โชว์” ซึ่งมันมีรายละเอียดมากมายในรุ่น PRO 4 ที่ยังมีข้อจำกัดในด้านกติกาหลายอย่าง แต่ทำออกมาแล้วก็สมกับความเป็น “ชายหน้าหวาน” ที่รัก Drag และ Retro จริงๆ การเก็บรายละเอียดทุกจุดมีการวางแผนในระดับมืออาชีพ แถมยังยอมใช้ “อะไหล่แท้” ทั้งคันที่สุดหายากอีก คันนี้อนาคตอาจจะไปวิ่ง SUPER MAX ก็ได้ เพียงแค่ “ลดน้ำหนักลง” เท่านั้นเอง ก็ต้องรอเชียร์ “โรตารี่ที่รัก” คันนี้ต่อไป ให้ไปถึงฝันเลข 7 ได้ใน Souped Up ปีนี้ ท้ายสุด ขอขอบคุณ “ชายหน้าหวาน” และ “ปทุมธานี สปีดเวย์” ด้วยนะครับ…
TECH SPEC
เครื่องยนต์
รุ่น : 13B-REW
พอร์ต : Semi PP Port by P&C GARAGE
โรเตอร์ : MAZDA SERIES – 4 Low Compression
เทอร์โบ : GARRETT GTX55
เวสต์เกต : PRECISION
งานท่อทั้งหมด : CHAN INTER
ท่อร่วมไอดี : PRO-JAY
หัวฉีด : SIEMEN DEKKA 4 2,000 c.c.
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MSD
กล่อง : HKS F-CON V PRO by P&C GARAGE
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : G-FORCE GF-2000 Air Shift 5 สปีด
คลัตช์ : ORC
เฟืองท้าย : STRANGE
ช่วงล่าง
ระบบช่วงล่างหลัง : 4 – Links by AOR 77 SHOP
โช้คอัพหน้า : Strange
โช้คอัพหลัง : KONI DRAG
ล้อหน้า : BILLET SPECIALTIES Comp Series
ล้อหลัง : WELD RACING V – Series
ยางหน้า : M/T ET FRONT ขนาด 24.0 – 4.5 – 15
ยางหลัง : M/T ET DRAG ขนาด 33.0 – 10.5 – 15
เบรก : Strange
- RX-3 สุดงาม เห็นเรียบๆ รายละเอียดเพียบ ไม่ใช่แค่รถมาใส่ล้อ Drag แล้วจะวิ่งได้แน่นอน
- อะไหล่รอบคัน “ของแท้ทั้งหมด” อย่างชุดหน้าพร้อมแว่นไฟ กันชน คิ้ว ไฟต่างๆ คนเล่นจะรู้ว่าหาของแท้ยาก แบบ “มีเงินก็ใช่จะซื้อได้เสมอ” นะขอรับ
- หล่อใสเหมือนรถใหม่ เห็นแค่นี้นึกว่า “รถจอดโชว์” แน่ๆ แต่ไม่เลย กระจังหน้าทรงเสน่ห์ พร้อมโลโก RE12 แต่ด้านหลังกระจังจะต้อง “ปิด” เพราะลมเข้ามากเกินไปจนดันใต้ฝากระโปรง “โก่ง” จนร้าว ขนาดเผยอฝาช่วยแล้วยังไม่พอ
- ทรวดทรงต่างๆ เนี้ยบมาก รถเก่าได้อะไหล่ใหม่ของแท้ มันจะดูสวยเด่นจริง ฝากระโปรงเป็นคาร์บอนฯ แต่ทำสีให้เหมือนของเดิม บอกแล้ว “เขามีคอนเซปต์” นะ
- ท่อยิงออกหน้า เพราะไม่ต้องการเจาะบอดี้ใดๆ ทั้งสิ้น แก้มเดิม แต่มีการทำซุ้มด้านในให้ล้อซุกเข้าไปได้ อยากรู้ต้องอ่านให้จบ
- สวิตช์ตัดไฟติดตั้งไว้ชัดเจน ฝากระโปรงเผยอเพื่อหลบท่อร่วมไอดี และ “ระบายลมออกจากห้องเครื่อง” ไม่งั้นได้ดันฝาแตกแน่นอน ถ้าเกิดการอั้น ก็จะไม่มีการระบายความร้อนออกเช่นกัน
- ภายนอกเป็นของเดิมทั้งหมด ประตูเป็นเหล็ก จริงๆ รถจะเตี้ยกว่านี้อีก เพราะตอนวิ่งจะปล่อยลมยางออกอีก
- ดู “ซุ้มล้อหลัง” ถ้ามองเผินๆ ก็เดิม แต่มัน “ไม่เดิม” เพราะมีการ “ต่อขอบซุ้ม” ตรงช่วงกลาง เพิ่มความยาวไปด้านหลัง มองแล้วยังสวยงามเหมือนเดิม แต่ยัดยางขนาด 33 นิ้ว เข้าไปจนได้
- 10.การยัดล้อยางขนาดนี้เข้าไป ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะโจทย์บังคับ “ต้องดูเดิมและเรียบร้อย” จึงต้องหาตำแหน่งล้อและเพลาท้าย รวมถึงความสูงของรถที่ต้องการให้ได้ก่อนอย่างอื่น
- 12.ไฟท้าย “กลม” รุ่นแรก อันนี้หายาก เพราะไม่มีอะไหล่ Re-product เหมือนกับไฟท้าย “แอปเปิ้ล” ที่หายากสุดๆ ก็ “ทับทิมกันชน” คนเล่น RX-3 ย่อมรู้ดี
- 14.ร่มเบรก ต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับน้ำหนักรถ และความเร็วของรถ ร่มเล็กไป ก็เบรกไม่อยู่ ร่มใหญ่ไป ก็ไม่ใช่จะดี ถ้าความเร็วไม่ถึง ลมไม่แรงพอ ร่มก็จะกินลมกางได้ช้า ทำให้ระยะเบรกเพิ่มไปอีกมากจน “หมั่ง” ปลายเส้นเอาได้ คนพับเก็บร่มก็ต้อง “เป็นงาน” พับไม่ถูกวิธี ร่มไม่ดีด ความงามจะบังเกิด
- 15.ถ้าเปิดฝาท้ายดูโครงสร้างด้านใน จะรู้ว่าไม่ธรรมดา
- 16.ยืนยัน “ประตูเดิม” ตัดโครงด้านในออกอย่างเรียบร้อย มือเปิดก็ยังเดิม
- 17.กระจก RX-3 แท้ๆ รอบคัน (ยกเว้นบานหน้าที่แตกไป) จะเป็น “สีเขียว” กรองแสง (Tint glass) โคตรหายาก และสัญลักษณ์ดอกไม้ (อะไรสักอย่าง) ของรถเก่าจากญี่ปุ่น ยังเป็นของเดิม
- 18. สังเกตได้เลย ว่าเกียร์จะอยู่สูงกว่าปกติ เป็นการยกระดับตามหน้าแปลนเพลาท้าย เพราะ “ใส่ยางสูง” นั่นเอง ส่วนแป้นเหยียบเป็นของ RX-7 FD3S หน้าตาดูโบราณๆ เหมือนแป้นแต่งรูๆ ของ AUTOLOOK ยุค 80
- 19.พวงมาลัยจริงๆ เป็นของ GT GRANT ที่ทำประหลาดกว่าชาวบ้านในโลก เพราะมีนอต 5 ตัว (ปกติ 6) เป็นของสำหรับ Drag Racing เพราะเจาะรูติดตั้งสวิตช์ไว้ที่ก้านพวงมาลัยมาเลย คอพวงมาลัย Strange
- 20.วัดรอบสไตล์อเมริกาพันธ์แท้ AUTO METER MONSTER Carbon fiber
- 21.ภายใน เป็นโครงประสานที่ Safety สูงสุด ว.แดง จะอยู่ขวารูป ไว้สื่อสารกับทีมงาน
- 22.เกียร์ G-FORCE GF2000 กับด้ามเกียร์ LONG เข้าเกียร์แบบ V-Gate ดีที่ทน และอุปกรณ์น้อยกว่าระบบ Air Shifter อย่างมาก
- 23.เบาะ KIRKEY พร้อมนวมให้นุ่มตูดหน่อย เบลท์ SIMPSON
- 24.Safety net SIMPSON ถ้าจะ “ปลด” ก็เพียงดึงแถบสีแดงลงมาแค่นั้น ง่ายสุดๆ
- 25.ชุดสวิตช์ MOROSO
- 26.ด้านหลัง (Rear end) พิมพ์นิยม จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ SUPER MAX เพราะด้านหลัง (ล้อขับเคลื่อน) กติกาเปิดอิสระ
- 27.13B-REW ไส้ใน Custom ทั้งหมด เทอร์โบ GARRETT GTX55 ต้องไว้หน้าเครื่อง เพราะ “ด้านข้างไม่มีที่” เนื่องจากเครื่องโรตารี่ อาจจะดูว่าเล็ก แต่จริงๆ แล้ว มัน “เกือบกลม” มันเตี้ยแต่กว้าง
- 28.ท่อร่วมไอดี และรางหัวฉีด pro-jay TYPHOON สำหรับเครื่อง Semi-PP Port (กึ่งๆ ระหว่าง Bridge port กับ Direct port) มีจุดพิเศษ คือ “ซุ้มเบ้าโช้คหน้าเดิมสนิท” สร้างเฟรมเข้าดามให้แข็งแรง แต่ “ยกซุ้มล้อให้สูงขึ้น” โดยการผ่าของเดิม แล้วยกระดับ ถ้าดูเผินๆ ก็ยังเดิม แต่ไม่เดิมแล้ว เพราะรถมันเตี้ยมาก จึงต้องยกระดับเพื่อหลบล้อ สร้าง Adaptor ใหม่ ให้โช้ค Strange ใส่กับซุ้มเบ้าโช้คเดิมของ RX-3 ได้