เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
BEHIND THE TRACK “Souped Up Thailand Records 2017”
กลิ่นควันจาง แต่ “เรื่องไม่จบ” !!!
เมื่องาน Souped Up 2017 ได้จบลง…
คนมากมายในสนาม…ผู้ชม…ทีมงาน…นักแข่ง…ช่าง
ต่างคน…ต่างกลับ…สนามเหลือแต่ความว่างเปล่า
แต่…มันยังไม่จบแค่นั้น…
เบื้องหลัง…เบื้องลึก…หลังแทร็ค…ที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสได้เห็นได้รู้…แต่ใจอยากรู้ !!!
ครั้งนี้…จะได้รู้…ว่ามีเหตุการณ์มากมายจากทีมดังระดับหัวแถวว่า…
การทำรถแข่งเพื่อเป็นที่หนึ่ง…มันไม่ง่าย !!!
สำหรับเรื่องราวครั้งนี้ ถือว่าเป็น Reed It More + Souped Up Special แบบจัดหนัก จัดเต็ม เกี่ยวกับเบื้องหลังทีมดังระดับแนวหน้าของเมืองไทย ซึ่งสเป็กรถต่างๆ ก็ได้บอกกันไปแล้ว ไม่ต้องเล่นซ้ำ แต่จะมา “แฉ” ให้รู้กันเกี่ยวกับเรื่องเล่ามันส์ๆ ของเบื้องหลังการแข่งขัน ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร เจอปัญหาอะไรบีบคั้นหัวใจบ้าง ทั้งก่อนและระหว่างแข่งขัน รวมถึงเทคนิคน่าสนใจต่างๆ ซึ่งตรงนี้เราจะเอาข้อมูลที่คนทั่วไปไม่ทราบมาให้ได้อ่านกัน จะได้รู้ว่าเผชิญอะไรกันมาบ้าง ซึ่งในอดีต เราเคยทำคอลัมน์สไตล์นี้กับรถของ RAM 77 RACING SHOP & SPEED D ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี แต่ปีนี้เราจัดหนักกว่า กับ Super Dragster 6 คัน คือ SIAM PROTOTYPE, YA SERVICE, AOR 77 SHOP และ RAM 77 RACING ที่แม้ว่า “แชมป์เก่า” ปีนี้จะไม่ได้ไปถึงฝั่งฝัน แต่ก็มีแง่มุมดีๆ มาฝากกัน รับรองอ่านกันสนานครับ ไม่มีใครนำเสนอในมุมแบบนี้…แน่นอน !!!
No.1 นาที…พลีชีพ… !!!
เริ่มคันแรกกับ “แชมป์” ปีนี้ กับ Dragster คันเล็ก ที่ปีนี้ทำเวลา “เกือบหก” เข้าไปอีกหน่อย แต่มี Surprise คือ “ระเบิดก่อนเข้าเส้นเพียงนิดเดียว” ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดเพราะปกติรถคันนี้จะ “ชัวร์” ค่อนข้างมาก ไม่เคยพัง ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ แต่ปีนี้พลีชีพซะแล้ว ยังดีว่าได้เวลาเร็วสุดเลยได้แชมป์ไปครอง แต่สิ่งที่เหนือกว่าแชมป์ คือ “น้าหยาม” รอดมาได้ยังไง และวินาทีที่เครื่องระเบิด ไฟลุกท่วมอยู่ด้านหลัง เขากำลังทำอะไร และ “ทำไมพัง” และประเด็นเด็ดๆ เยอะแยะ เรามาดูกันดีกว่า…
- รถคันนี้ เป็นเครื่อง CHEVY ที่ออกแบบมาค่อนข้าง “โบราณ” ตัวเครื่องเป็นแบบ “องศาแคบ” รุ่นเก่า ซึ่งแน่นอนว่าสู้เครื่องรุ่นใหม่ไม่ได้ เนื่องจากองศาของข้อเหวี่ยง V8 จะทำมุมจุดระเบิดทุกๆ 90 องศา แต่เครื่องตัวนี้เสื้อสูบกางไม่ถึง 90 องศา จังหวะการจุดระเบิดจะ “ติดเป็นคู่ๆ” ไม่ต่อเนื่องซักทีเดียว แล้วโดยเฉพาะเรื่องฝาสูบ ที่ยังเป็นแบบฝาแคบโบราณๆ อยู่ แต่ที่เห็นว่ามันวิ่งดีเพราะว่า “หากันจนเจอแล้ว” เลยสามารถทำเวลาได้ดี…
- สาเหตุที่พัง คือ “ข้อเหวี่ยงขาด” คันนี้ก่อนหน้าก็พังไปช่วงกลางปี สั่งข้อเหวี่ยงไปดันมาช่วงก่อนควอลิฟายเพียง 3 วัน ก็เลยต้องรีบประกอบให้วิ่งได้ก่อน รอบชิงข้อเหวี่ยงขาดอีกครั้งก่อนเข้าเส้นนิดเดียวจริงๆ ไม่งั้นมีลุ้น “6” แน่นอน คาดว่ามันน่าจะมาถึงเกือบขีดสุดของมันละ ซึ่งแปลกอย่างตรงที่ “เสื้อไม่เป็นไร” แต่ “ทะลุแคร้งค์” ออกมาชนเฟรมจนงอ แน่นอนว่า “คันนี้ย่อมถูกปลดระวาง ณ ปีนี้” กลางปีสร้างใหม่อีกคันแน่นอน…
- จังหวะที่ “แรงไฟลุก” ในขณะที่ความเร็วระดับ “300 km/h” น้าหยามรู้สึกว่า “หลังร้อน” วูบมา ด้วยความมีสติ เลยกดดับเพลิงแบบ “สองถังคู่” เพื่อดับไฟทันที และก็ทุกอย่างปลอดภัยดี นี่แหละครับ “อย่าต่อรองเรื่องความปลอดภัย” รถทำกันได้เป็นหลายล้าน อุปกรณ์เซฟตี้ทำไมต้องลดราคา เกิดเรื่องขึ้นมาแล้วยังไง ท่านจะยอมเสี่ยงตายหรือบาดเจ็บสาหัสรึ ??? ไม่ต้องให้แนะนะครับโตเป็นงัวกันแล้ว ขนาดนี่ว่าแน่ๆ ก็ยังเกือบไปหน่อย เพราะแผ่นกันไฟหลัง “ตะกร้อ” ของห้องคนขับมันเล็กไปหน่อย ไฟลามมาเกือบถึงคนขับ ก็นี่แหละที่ทำไมต้องให้ใส่ชุดกันไฟ ต้องทำให้เหมือน “คันใหญ่” คือ โอบด้านหลังให้มิดแล้วยาวมาถึงด้านข้าง จะได้ป้องกันไฟได้สุดๆ…
- อีกอย่างที่ทาง SIAM PROTOTYPE ได้แนะนำเรื่องความปลอดภัย “ที่น่าสนใจมาก” ใน Dragster ก็คือ “ถาดรองใต้เครื่อง” ที่ป้องกันเวลาพลีชีพ จะได้ “ไม่ลื่นน้ำมันตัวเอง” เพราะเครื่องมันอยู่หน้าล้อหลัง แถมช่วงล้อก็แคบมาก เครื่องแตกน้ำมันลงล้อก็จบกัน อันนี้เป็นสิ่งที่น่าทำมากๆ ครับ เพราะเป็นความปลอดภัยโดยตรง และลดการใช้เวลาในการเคลียร์แทร็คด้วย…
- สำหรับการขับ “Dragster” แม้ว่าใครจะบอกว่าง่าย เพราะรถมันยาว โอกาสเป๋มีน้อยกว่ารถเฟรมที่ช่วงล้อสั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว “เดาอาการยาก” เหมือนกัน เพราะด้วยความที่รถมันยาวมาก มันไม่ได้วิ่งตรงเด๊ะเสมอไปแบบปล่อยมือได้ มันก็มีเป๋ๆ บ้าง ซึ่งคนขับต้อง “ค่อยๆ แต่ง” ให้รถมันไปตรง พวงมาลัยก็ต้องค่อยๆ เลี้ยง พอได้จุดที่มันไปตรงแล้วนั่นแหละได้ การแก้อาการห้ามหักพวงมาลัยแรงๆ เด็ดขาด ถ้ามันเป๋ก็ต้องค่อยๆ ตะล่อม เพราะถ้าหักแรงๆ จะ “ตีลังกา” ทันที เพราะมันยาวและฐานล้อแคบมากๆ ก็ต้องผ่านการฝึกฝนละครับ…
No.2 คันใหญ่ เทคโนโลยีใหม่ แต่ทำไมยังไม่ทะลุเป้า
สำหรับอันดับ 2 ก็เป็น Dragster คันใหญ่ ที่มีความสมบูรณ์แบบสูงกว่าคันเล็ก ดังที่เห็นไปแล้วว่า ตั้งแต่ “เฟรม” ก็เหนือกว่าด้วยวัสดุที่ “Flex” ตัวได้ มี “สลิง” แบบตั้งได้ คอยรั้งเฟรมไว้ ตั้งได้อีกว่าจะให้แข็งแค่ไหน แถมเครื่องยนต์ก็ยังสุดทันสมัย คุณสมบัติครบขนาดนี้ แต่…ทำไมเวลายังไม่ทะลุเป้าแบบที่สเต็ปรถระดับนี้ควรจะทำได้ ทุกคนมีคำถามมานาน ซึ่งเรามีคำตอบให้แล้ว ณ บัดนาว…
- พูดถึงเครื่องกันก่อน ทาง SPEED-D ให้รายละเอียดไว้ว่า ตัวนี้เป็นเครื่องที่สร้างมาได้อย่างยอดเยี่ยม แม้จะดูหน้าตาโบราณๆ แต่แฝงเทคโนโลยีชั้นเยี่ยม เสื้อสูบเป็น Cast Aluminum หรือ “อะลูมิเนียมหล่อ” แล้วครับ ซึ่งมีข้อดีนอกจากน้ำหนักเบา คือ “สามารถซ่อมได้ถ้าเสื้อทะลุ” ถ้าเราไปซื้อเครื่องมือสองมาจากอเมริกา จะบอกไว้ว่ามี Window หรือ “หน้าต่าง” หมายถึง “รูที่ทะลุแล้วซ่อมมาใหม่” แต่ถ้าเสื้อที่ไม่เคยทะลุ จะบอกว่า “Never Window” และเครื่องตัวนี้จะกางประมาณ 90 องศา ซึ่งสรีระดีมากสำหรับ V8 เพราะมันลงตัวกับจังหวะการจุดระเบิด การวางองศาข้อเหวี่ยงจะพอดีกับองศาของเครื่อง มันจะจุดระเบิดได้ต่อเนื่องที่สุด ส่วนตัวข้อเหวี่ยง เป็นแบบ Billet สุดทันสมัย…
- ชุดฝาสูบพร้อมกลไกเปิดปิดวาล์ว เป็นวัสดุจำพวกไทเทเนียม น้ำหนักเบา ลดแรงเฉื่อย ตัวฝาสูบเป็นแบบ HEMI หรือ Hemisphere เป็นโดมกลมพร้อมวาล์วขนาดใหญ่ 2 ตัว วาล์วแม่มใหญ่จริงๆ รูพอร์ตแทบจะเอากำปั้นยัดเข้าไปได้ พร้อมซูเปอร์ชาร์จที่บูสต์ถึง 40 ปอนด์ !!!
- สิ่งที่ยังไม่ลงตัวของคันนี้ คือ “การเซ็ตเฟืองท้าย” ที่คันนี้มีให้เลือกแค่ 2 เบอร์ คือ 2 และ 4.1 ซึ่ง Range มันห่างกันมากๆ ตอนใช้ 3.2 ค่อนข้างมีปัญหาเพราะมัน “ยาน” และ “ยาว” เกินไป ทำให้รถวิ่งไม่ดีเท่าที่ควร สิ่งที่เป็นปัญหาต่อมา คือ การ Stall รอบ ใน “ทอร์คคอนเวอร์เตอร์” ที่พอทดต่ำเกินไปแล้วความเร็วรอบ ความเร็วรถ ความเร็วในทอร์คฯ ไม่สัมพันธ์กัน รอบเยอะ แต่ความเร็วไปไม่ถึง Target ซักที ตัว Lock Up มันก็ไม่จับ ทำให้รอบเครื่องสูงจริงแต่ความเร็วไปไม่ได้เท่าที่ควร วันชิงเลยต้องยอมเอา 4.1 มาใส่ แต่จริงๆ แล้วมันก็ยังไม่แมทช์เท่าไร จะต้องหาเฟืองท้ายอัตราทดให้หลากหลายกว่านี้ แล้วก็ทำอัตราทดเกียร์เข้าช่วย…
- สำหรับการบอกไลน์ ทาง “ตี้ GT GARAGE” และ “SPEED-D” จะยืนหน้าหลัง เพื่อบอกไลน์ให้ “น้าหยาม” ไม่ใช่แต่ว่าโบกให้รถมันตรงเท่านั้น แต่ต้องดู “เลือกไลน์ที่ดีที่สุด” เช่น จุดที่คาดว่าจะเหนียวที่สุด ให้ออกวิ่งไปไลน์นั้น ก็ดูจากอาการคันก่อนๆ เป็นหลัก คนบอกไลน์ต้องดูออกครับ ไม่ใช่โบกๆ ไปเฉยๆ แค่นั้น…
- ปลายปีนี้ ทาง SIAM PROTOTYPE + SPEED-D + GT GARAGE จะปรับปรุงระบบส่งกำลังใหม่ “น้าหยาม” บอกเห็นเลข 6 แน่นอน…
“ช่างไมค์” กีรติ ปิ่นประถม
ตัวผมเองจะดูแลในส่วนของระบบไฟฟ้าของรถแข่งทุกคันครับ แต่ก็มีช่วยทำอย่างอื่นด้วยในระหว่างการแข่งขัน สำหรับ Dragster ทั้งสองคันนี้ ส่วนหลักๆ ก็จะเป็น พี่ตี้ แล้วพวกเราก็เป็นทีม Support ยอมรับว่าสถานการณ์ค่อนข้างคับขันพอสมควรสำหรับ “คันเล็ก” เพราะข้อเหวี่ยงมาช้า ถ้ามาเร็วล่วงหน้ากว่านี้ก็จะพอมีเวลาหน่อย พอมาเร่งๆ ทำทั้งวันทั้งคืนเลยมีบางสิ่งไม่พร้อม ในวันควอลิฟายก็มีปัญหาเรื่องสตาร์ทไม่ติด เสียไป 1 Run จนมาเรียบร้อยเอา Run 3 ยังดีที่ว่าผ่าน Target Time ไปก่อน ส่วนคันใหญ่ไม่มีปัญหาครับ รถพร้อม เพียงแต่อัตราทดเฟืองท้ายไม่โดนใจเท่าที่ควร ก็เลยไม่ได้เวลาเลข 6 เสียดายเหมือนกันครับ ไว้ปีหน้าเจอกัน…
No.3 ยอมพลีชีพ เพื่อเป้าหมาย น่าเสียดายที่ “ปลั๊กหลุด”
สำหรับอันดับ 3 เป็นรถขวัญใจมหาชนคันใหม่ จาก YA SERVICE เป็นการกลับมาอีกครั้งหลังจากเว้นวรรค “รุ่นใหญ่” ไปหลายปี กลับมาอีกทีต้องมีเฮ ได้รับการสนับสนุนจาก “เสี่ยเอก NAGAOKA” ปั้นคันนี้ขึ้นมา รายละเอียดเราได้ชมกันไปแล้วเมื่อต้นปีอย่างเต็มๆ และได้เห็นตัวจริงในงาน Souped Up ที่ “ช่างญา” และทีมงานทุกคนตั้งใจจะพิชิตเวลาให้ได้ เพราะโดยกำลังเครื่องที่มีเหลือเฟือ บวกกับการเซ็ตรถที่ดี และ “ตัวขี่” ประสบการณ์เยอะอย่าง “จอย” ที่แม้จะขึ้นมาขับ Dragster ครั้งแรก แต่ก็สามารถประคองรถไปได้ อาศัย “มือไวๆ ใจถึงๆ” แต่ในเบื้องหลังบอกเลยว่าไม่ธรรมดา มีการวางแผนในเกมอยู่ตลอดเวลา และคันนี้เป็น Dragster คันเดียวใน Over All ที่ใช้ “เกียร์ลม มีคลัตช์” ไม่ใช่เกียร์ออโต้ งานนี้จะกดดันหรือเมามันส์ขนาดไหนต้องดูเท่านั้น…
- เทคนิคของการเบิร์นยางจาก ช่างญา ให้คำแนะนำว่า พวก Dragster จะไม่มีเบรกล้อหน้า เพราะฉะนั้น จะต้อง “ปั่นล้อหลังฟรีให้ได้มากที่สุด” เพื่อให้เกิดอุณหภูมิสูง ซึ่งในเครื่อง 2JZ-GTE ที่ถือว่าเป็นเครื่องบล็อกเล็ก (ในสากลโลก) จะต้องใช้รอบเครื่องออกตอนเบิร์นสูงประมาณ 6,000 rpm พอเบิร์นติดแล้วก็ลากรอบสูงสุดเพื่อปั่นยาง แต่กับ 2UZ-FE ที่มีความจุมากกว่า จะได้เปรียบตรงที่ว่า “แรงมาที่รอบไม่สูงจัด” ประเภท “จิ้มคันเร่งก็มาเลย” ไม่ต้องโหนเบิร์นรอบสูงสุด เลยทำให้สามารถเบิร์นได้ง่ายกว่า เซฟเครื่องกว่าครับ…
- ในช่วงควอลิฟาย ยอมรับว่าไม่ได้กดดันเลย เพราะมีถึง 3 วัน วันละ 1 Run อย่างน้อยก็มีเวลาเยอะกว่าครั้งก่อนๆ ตอนควอลิฟายก็ขอวิ่งผ่าน Target Time ไว้ก่อน เพราะ Dragster เก็บหมดทุกคัน เลยไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องหวดเต็ม จริงๆ ตอนนั้นรถก็มีปัญหาอยู่บ้าง ถ้าใครได้ดูจะเห็นเลยว่าช่วงประมาณ 200 เมตร จะมีไฟแลบออกมาจากเครื่อง อาการนั้นคือ “ปะเก็นแลบ” แล้วเครื่องก็สะดุดวิ่งเข้าเส้นไป ขนาดนี้ยังได้เวลา 5 วินาที งานนี้ขนาดรถมีปัญหาเวลาไม่เลวก็คิดเอาแล้วกัน หลังจากควอลิฟายได้แค่ 1 Run ได้เวลาก็เอารถกลับเลย แล้วค่อยไปทำต่อเพื่อรอไป Final ที่บุรีรัมย์ ไม่รีบๆ…
- ในวันชิง อันนี้สำคัญเลยผมอยากให้อ่านว่าทางทีมงาน YA SERVICE วางแผนไว้อย่างน่าสนใจมาก แล้วแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง ตอนนี้รถพร้อมแล้ว แก้ปัญหาปะเก็นแลบได้ โดยใน Run 1 กะวิ่งโดย “โนไนตรัส” เพื่อแขวนเวลาไว้เผื่อ Back Up ก่อน ซึ่งทีแรกวางแผนไว้ประมาณ “เจ็ดต้น” เพื่อ Back Up เผื่อเวลา 6 วินาที ไว้ ใน Run 2 กะหวดเต็มที่ อย่างน้อยก็มี Back Up รอไว้แล้ว ถ้ามันได้ “หก” จริงๆ ก็จบที่ Run 2 ได้เลย แต่ “ผิดแผน” เพราะรถดันมีปัญหาเรื่อง “ปลั๊กโซลินอยด์เกียร์ 3 หลุด” รถก็เลยวิ่ง 2 เกียร์ เข้าเส้น ได้เวลา 553 วินาที สังเกตในคลิปรอบจะตัดปุ้งๆ เข้าเส้น และเวลาขนาดนี้ Back Up 6 วินาที ไม่ได้แน่นอน งานนี้ Run 2 จะใส่เต็มตีนไม่ได้แล้ว เพราะถ้าหวดจนลงได้ 6 วินาที จริงๆ แล้วเกิดพลีชีพขึ้นมา Run 3 ไม่ได้วิ่ง Back Up เวลาไม่ได้ ทุกอย่างก็สูญหมด เท่ากับไม่มีอะไรกลับบ้านเลย ก็เลยต้องเอาแผน 1 มาใช้ Run 2 มา ปรากฏว่าได้ “7.342 วินาที” ก็มีลุ้นที่จะ Back Up 6 วินาที ได้แล้ว แต่น่าเสียดายที่ Run 3 งดวิ่งไปด้วยเหตุผลจำเป็น เลยไม่ได้ใส่เต็มแบบ “บูสต์สุดโลก ดีดไนตรัส” ครับ…
- สิ่งหนึ่งที่รถคันนี้ยังไม่ลงตัว คือ “เวลาออกตัว 0-60 ฟุต” ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ส่วนใหญ่คนจะดูแค่ Total Time เพียงอย่างเดียว ซึ่งเวลา 60 ฟุต ของคันนี้ยังไม่ดี อยู่ที่ “4-1.5 วินาที” ถือว่าช้าเกินไปมาก มาตรฐานรถ Dragster จะต้องอยู่ที่ “1.0-1.1 วินาที” แค่นั้น ซึ่งการออกตัวนั้นยัง “หา” กันอยู่ เพราะคันนี้เป็นเกียร์ลม และ “คลัตช์สลิป” ซึ่งต้องหาจังหวะถอนคลัตช์ที่ดีที่สุด โดย “มนุษย์ตัวขี่” ซึ่งก็ไม่ได้หาจุดได้ง่าย เพราะรถแรงม้าขนาดนี้มันโคตรพยศแน่ๆ และชุดคลัตช์สลิปที่ ช่างญา บอกว่าปรับได้ยากมากถ้าแทร็คไม่เหนียวพอ หรือ เหนียวมั่งไม่เหนียวมั่ง และ Dragster ไม่มีโช้คอัพ เวลาออกตัวจึงซับแรงที่ยางเพียวๆ ไม่เหมือนกับการมีโช้คอัพและ 4 Links ที่สามารถปรับช่วยได้…
- การออกตัวคลัตช์แบบเกียร์ธรรมดา ไม่ง่ายเหมือนเกียร์ออโต้ ที่ตั้ง Stall รอบ ตอนออกตัวได้ เวลาปล่อย Trans Brake จะเกิดการสลิปในชุดคลัตช์ก่อนแล้วค่อยจับเต็ม สังเกตรถเกียร์ออโต้จะออกตัว 60 ฟุต ได้เวลาดีๆ ในเกณฑ์แทบทุกคัน…
- ท้ายสุด ช่างญา ก็ฝากข้อคิดไว้น่าสนใจมาก ว่าในการทำรถแข่ง มันไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จว่า 1 + 1 = 2 ไม่มีแน่นอน ถ้าสูตรสำเร็จรถบ้านเราวิ่ง 5 วินาที ไปตั้งนานแล้ว มันต้องค่อยๆ ไล่หาไล่เซ็ตไปกันจนกว่าจะเจอ ต้องใช้เวลาและความรู้อย่างมากในการปรับ ไม่มีทางแน่นอนว่าทำรถลงพื้นตามสูตรแล้วจะวิ่งได้เวลาดีเลย บางคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทำรถมาวิ่งดีบ้างไม่ดีบ้าง ต้องยอมรับว่าความจริงมันเป็นอย่างนี้จริงๆ…
- ไม่มีคำกล่าวอ้างใดๆ จากทีม YA SERVICE นอกจากว่า “ปีหน้าเจอกันใหม่” ต้องได้ 6 ครับ…
No.4 พัฒนาไปอีกขั้น สู่สงคราม 2UZ
เป็นผลงาน Dragster ครั้งแรกของ AOR 77 SHOP ที่มาแรงไม่แพ้ใครในปีนี้ เรียกว่าอยากจะยืน Top Ten ก็ต้องสร้างขึ้นมา โดยใช้ความรู้จากรถเฟรมพัฒนาขึ้นมา อย่างคันนี้ก็เป็นของ “นุ & ยุ้ย สวนส้มสุรชัย” ที่ปลดระวาง “กระบะขนส้ม” ตัวเก่าที่สร้างผลงานไว้อย่างยอดเยี่ยมในปีที่แล้ว มาขับ Dragster ที่ดูจะเข้ามือเข้าขากัน เพราะคนที่ผ่านรถ Super Max (หรือ Door Slammer ในต่างประเทศที่ใช้เรียกรถลักษณะประมาณนี้) พอมาเจอก็ไม่ใช่เรื่องยาก ปีนี้นับว่าเป็นรถใหม่ที่พร้อมเหมือนกัน สามารถขึ้น Top Ten ได้…
- นับว่าเป็นการเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี เพราะยังไม่เจอปัญหาเกี่ยวกับรถเลย จริงๆ แล้วรถจะขับง่ายหรือเปล่าอยู่ที่ “ความสมบูรณ์” เป็นหลัก ถ้าสมบูรณ์มันจะขับง่ายเอง อย่าง “ยุ้ย สวนส้ม” ก็มาขับหน้ายาวครั้งแรกในปีที่แล้ว แต่ปีนี้มาขับคันนี้ซึ่งเป็นคันใหม่ ซึ่งใช้เวลาปรับตัวไม่มากก็สามารถขับได้…
- การควอลิฟาย Dragster จะไม่แลกกันแบบสุดชีวิต เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าขอวิ่งผ่าน Target Time ได้เป็นพอ เพราะเอาไปรอบ Final ทุกคัน (ที่ผ่าน Target Time) จึงไม่มีความจำเป็นต้องแลก ค่อยไปจัดหนักกันที่บุรีรัมย์…
- วัน Final บอกตรงๆ ว่าความพร้อมค่อนข้างเต็มที่ เราก็ควบคุมให้สามารถ Back Up เวลาได้ ใน Run 1 เราวิ่งได้ “381 วินาที” ซึ่งเป็นการแขวนเวลาไว้ก่อน ส่วน Run 2 ไม่ได้วิ่ง เพราะเตรียมรถกันเต็มที่ไว้หวด Run 3 แต่ยกเลิกการวิ่งไปซะก่อน เลยต้องเอาสถิตินี้ไป…
- ขุมพลัง 2UZ-FE ที่ตอนนี้กำลังนิยมกันเพราะ “ใหญ่” ซึ่งแรงม้าระดับ 1,300 PS นั้นทำได้ไม่ยาก อาจจะใช้ต้นทุนสูงในครั้งแรก แต่พอได้แล้วก็คุ้มเพราะมัน “ตอบสนองแรง” ตามประสาเครื่องใหญ่ (นับตามเอเชียนะ ถ้าในอเมริกายังเป็น Small ของ Small Block อีกทีด้วยซ้ำ) ถีบหนักดี แต่ออกจะขับง่ายกว่า 2JZ-GTE เพราะไม่ต้องเค้นรอบสูงอย่างเดียว อย่างเครื่องคันนี้ก็เป็นสูตรเดียวกับ CELICA Space Frame ที่เคยวิ่งติด Top Ten เมื่อปีที่แล้ว…
- ส่วนเกียร์เป็น Auto เพราะดูแลง่ายดี ขับก็ง่าย ไม่เปลืองเนื้อที่ นับว่าเหมาะกับ Dragster ที่มีพื้นที่น้อย อีกอย่างคือ “ออกตัวดี” เพราะมันมีการ Slip Clutch ในทอร์คคอนเวอร์เตอร์อยู่แล้ว คนขับมีหน้าที่ปล่อยสวิตช์ Trans Brake อย่างเดียว ไปได้ง่ายๆ และแรงกระชากมัน Linear ไม่ใช่กระชากปึ้ง !!! เหมือนปล่อยคลัตช์แห้งปกติ…
No.5 เข้าไฟไม่ได้…ตัด !!! แม่มเลย…
ยังคงเป็น Dragster ฝีมือ AOR 77 SHOP เหมือนเดิม แต่มาในทีมของ S-CAR ผู้แทนจำหน่ายรถเกรด Premium เจ้าดัง สำหรับคันนี้ทำเวลาได้ “7.397 วินาที” เรียกว่าขี่หัวกันเข้ามากับคันตะกี้ ใช้ตัวขี่มืออาชีพอย่าง “ปอนด์เทค” เบญจรงค์ ชมายกุล ที่อาศัยพื้นฐานดีมาอยู่แล้วเลยสบาย ไม่ต้องกังวลมาก คันนี้ถ้าใครได้ดูรอบชิง จะเห็นว่าเกิดปัญหา “เข้าไฟไม่ได้” ลั่นฟาล์วซะก่อน ซึ่งมีการแก้ปัญหาแบบด่วนๆ จนสามารถรอดมาได้…
- ในรอบชิงที่เข้าไฟฟาล์ว หลายคนก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเห็นก็เข้าไฟปกติ แต่ที่มันเกิดปัญหาเพราะ “สปอยเลอร์หน้าเตี้ยเกินไปจนโดนเซนเซอร์” ทำให้ “ลั่น” ขึ้นมา ทาง AOR 77 SHOP เลยแก้ปัญหาด้วยการ “หั่นชายล่างของสปอยเลอร์แม่งเลย” เพื่อให้เซนเซอร์ไม่ลั่น เรียกว่าตัดกันสดๆ แก้ปัญหากันเฉพาะหน้า จน Run 2 สามารถทำ Best Time ได้…
- เครื่อง 2UZ-FE ที่โมดิฟายขึ้นมาทั้งสองคันนี้ นอกจากจะ “สูตรเดียวกัน” ต่างกันที่แบรนด์ของเทอร์โบ ซึ่งทาง AOR 77 SHOP ยังใช้เชื้อเพลิงแอลกอฮอล์อยู่ ยังไม่ผสม “ไนโตรมีเทน” เพราะคิดว่ายังไม่พร้อม สิ่งที่สำคัญ คือ “กำลังอัด” ไม่ใช่เติมเข้าไปเฉยๆ แล้วมันจะแรง หรือแรงได้แต่พังก็ไม่ใช่ กำลังอัดเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการทำเครื่องก่อนอย่างอื่น คุณจะต้องกำหนดให้ได้ก่อนเลยว่า “ต้องการแรงม้าขนาดไหน บูสต์เท่าไร” และสำคัญสุดๆ คือ “จะใช้เชื้อเพลิงอะไร” เพราะออกเทนและค่าความร้อนของเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ไม่เหมือนกันแน่นอน คนทำเครื่องและคนจูนจะรู้ดีครับ…
- เครื่องเหมือนกัน แถมยังวิ่งได้พอๆ กันอีก ต่างกันเพียงจุดทศนิยมตำแหน่งที่ 2 แค่นั้นเอง ซึ่งเป็นการยากที่จะทำรถสองคันให้วิ่งเสมอกันได้เป๊ะๆ เพราะมี “ตัวแปร” มากมาย เช่น สภาพสนามขณะวิ่ง ถ้าวิ่งต่อกันก็ไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่คันก่อนหน้าโปรยของเหลว น้ำมันต่างๆ ลงมา ก็ทำให้มีผลกับคันที่ขับต่อได้ ก็ต้องใช้วิธี “ดูทรง” จากคนบอกไลน์ว่าจะให้รถสตาร์ทและวิ่งไปตรงไหนนั่นเอง…
- สิ่งที่ผลมากต่อไป คือ คนขับ ซึ่งคนขับทั้งสองคน “ยุ้ย พิจิตร” กับ “ปอนด์เทค” ต่างก็มีสไตล์ของตัวเอง อย่าง ยุ้ย ก็จะได้ลูกเก๋า ขับรถแข่งมานาน ประสบการณ์เยอะ นิ่งๆ แต่ ปอนด์เทค ก็จะได้สด ขับเยอะ ขับบ่อย ออกลูกโหดๆ หน่อย ซึ่งขับได้เร็วพอกันทั้งคู่ จึงเป็นการยากที่จะ Analyze หรือ วิเคราะห์ ว่าใครดีกว่ากัน แต่ความคิดส่วนตัวว่าถ้าหากดึงข้อดีของกันและกันมา “สะเวิ้บ” กันได้ เชื่อว่าน่าจะได้เร็วกว่านี้…
“ช่างม่วง” มนตรี อุดมพันธ์
ขอพูดทีเดียว 2 คัน เลยนะครับ เพราะทำอยู่ด้วยกัน ถ้าถามผมจริงๆ ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรบีบคั้น เพราะเราเน้นการเตรียมตัวให้พร้อม ในวันควอลิฟาย ไม่มีปัญหาอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามแผน พอวัน Final มีปัญหาอยู่คันเดียว คือ S-CAR เข้าไฟแล้วฟาล์ว ทำให้ต้องเฉือนสปอยเลอร์หน้าออกบางส่วน และวิ่งดึกๆ แทร็คชื้นครับ เลยทำให้เวลาไม่สวยเท่าที่ควร อื่นๆ ก็ไม่มีอะไรครับ เพราะรถสองคันนี้ไม่เกเร ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้ เวลาก็ได้ดีพอๆ กัน สำหรับทีมช่าง เราก็เน้นว่า “รู้หน้าที่ของตัวเอง” ใครจะต้องทำอะไร และก็ช่วยๆ กัน ทำให้งานออกมาดีครับ…
ลองของใหม่ ไม่ได้ถ้วยแต่ได้ประสบการณ์
แม้ว่าปีนี้แชมป์เก่าอย่าง “บุญตา วรรณลักษณ์” แห่ง RAM 77 RACING จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน กับ Dragster คันใหม่ของ “หมู รังสิต” ที่ใช้เครื่องยนต์ 2JZ-GTE ขยายความจุเป็น 3.4 L ตัวเก่าของคันที่ได้แชมป์ปีที่แล้ว ยกมาวางกันเลย ส่วนรถคันแชมป์ปีที่แล้วก็ขายให้กับ “เวอร์ TECHNICAL GARAGE” ไปนั่นไง (ฟังดูงงๆ ดีนะ) ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะวงการนี้ก็สามารถ Trade ของกันได้ สิ่งสำคัญหลังจาก “พัง” ไปก็คือ “ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไร” ซึ่งเป็นประสบการณ์ครั้งใหม่ที่น่าสนใจ บอกเลยว่าเรื่องราวหลังไมค์ของคันนี้น่าสนใจและตื่นเต้นมากๆ ไม่แพ้รถได้ตำแหน่งเลยครับ…
- สำหรับรถคันใหม่นี้ ตัวเฟรมจะยาวกว่าคันเดิมเล็กน้อย และน้ำหนักเบากว่าเดิม…
- ในช่วงซ้อมก่อนงานจริง รถคันนี้ก็พบปัญหาพอสมควร ทั้งระบบจุดระเบิดที่มีปัญหา สะดุดตลอด เพราะระบบไฟฟ้าถูกทิ้งไว้เฉยๆ 1 ปี เป็นไปได้ที่มันจะรวน เซ็ตรถก็ลำบาก ก็แก้จนไม่สะดุด เพื่อเตรียมความพร้อมในวันควอลิฟายเลย…
- มาถึงวันควอลิฟาย แผนที่วางไว้ตอนแรก คือ เอาเครื่องสำรอง ตัว 0 L ใส่เพื่อวิ่งควอลิฟายให้ผ่านไปก่อน โดยกะหวดใน Run 1 ให้ได้เวลาผ่าน Target Time ก็พอ คือจบแค่นี้ และใช้ Run ที่เหลืออีกสองวันในการเซ็ตรถใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมไปบุรีรัมย์ โดยใช้เครื่องตัวเต็ม 3.4 L ตัวใหม่ ที่มาพร้อมฝาสูบสูตรใหม่ (เดี๋ยวค่อยมาเหลากันว่าสูตรใหม่ยังไง)
- แต่…ทุกอย่างในโลกมันก็ไม่เคยเป็นไปตามหวัง ควอลิฟาย Run 1 เกิดปัญหาเรื่อง “สายเกียร์หลุด” เกียร์ 2 ไม่เข้า ทำให้ไม่ได้เวลา เสีย Run นี้ไปเลย พอ Run 2 ก็เกิดปัญหาอีก เครื่องสำรองเกิด “ฝาสูบแตก” เข้าไปอีก คราวนี้สถานการณ์ลำบาก เพราะเหลือ Run สุดท้าย เราต้องใช้เวลาทั้งวันเพื่อเตรียมรถมาวิ่งแค่ไม่กี่วินาที โชคดีที่รถวิ่งผ่านเวลาได้ไปบุรีรัมย์ แต่เราก็เหลือโอกาสในการลองรถน้อยกับเครื่องตัวใหม่…
- สำหรับวันชิง ก็เกิดปัญหาเรื่องเครื่องตัวเต็ม “ก้านขาด” ทะลุออกมายิ้ม Run 1 เลยต้องเปลี่ยนเครื่องสำรองมาวิ่ง Run 2 ฝาสูบก็รับไม่ไหวอีก
- เครื่องตัวใหม่ ยังคงเป็น 4 L แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ “ลูกสูบ” ชุดใหม่ที่กำลังอัดสูงกว่าเดิม เพราะลูกสูบแบบเดิมตอนนี้ไม่มีขายแล้ว เนื่องจาก “เทรนด์” ตอนนี้นิยมผสม “แอลกอฮอล์ ไนโตรมีเทน” เราก็เลยต้องตามนั้นไป ไอ้เรื่องแรงน่ะแรงขึ้นแน่ แต่ “ดันไปไม่ถึงเส้น” เพราะดูเวลา 60 ฟุต อยู่ที่ 1.0X วินาที และผ่าน 201 ม. ไปที่ 4.5X วินาที เวลานี้กะได้ “6 ปลาย” แน่นอน เสียดายมากๆ…
- อีกอย่างก็คือ “ปะเก็นหนาก็ไม่ได้” เพราะรถเราไม่ใช่น้ำในการหล่อเย็น และยัง “เทปูน” ลงไปที่โพรงน้ำให้แข็งแรง เหมือนเป็น Solid Block ที่ไร้โพรงน้ำ (No Water Jacket) พอแรงอัดสูงๆ จะเกิดปัญหา เพราะปะเก็นมันก็มีลิมิทของมัน พอปะเก็นบางก็กำลังอัดสูงอีก เลยต้องไปทำอย่างอื่นแทน เช่น ปาดลูกสูบเตี้ยลง ทำห้องเผาไหม้ใหม่ เปลี่ยนแคมชาฟต์ใหม่ให้องศาสูงขึ้น เพื่อรับกำลังอัดที่สูงขึ้น…
- ส่วนเกียร์ออโต้ ก็อยากจะเปลี่ยนไปใช้แบบ 3 สปีด เพราะเครื่องเราไม่ได้ใหญ่โตเหมือนเครื่องอเมริกัน จริงๆ ไม่เหมาะกันเท่าไร ถ้าไปใช้ 3 สปีด ก็จะช่วยเรื่องการออกตัว และช่วยถีบช่วงกลางขึ้นไปได้อีก แต่ก็อยู่ที่เจ้าของรถ “หมู รังสิต” ว่าจะอนุมัติงบให้เปลี่ยนหรือเปล่า…
- ปีนี้เลยต้องยอมไปก่อน ยอมรับเลยว่าเตรียมตัวไม่พอ เผื่อเวลาน้อยเกินไป จริงๆ จะต้องพร้อมก่อนแข่งขันอย่างน้อย 1 เดือน เก็บไว้เป็นประสบการณ์ ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ “พร้อมหลังแข่ง” อีกครับ…
“ช่างแขก” เฉลิมพจน์ แก้วบุญเรือง
ปีนี้ก็มีปัญหาหลายอย่างครับ เพราะเราต้องการทำเครื่องให้แรงที่สุด เพื่อหวังเวลาให้ดีที่สุด และเปลี่ยนมาผสม ไนโตรมีเทน ซึ่งมันแรงมากไปจนเครื่องพัง มีเครื่องสำรอง 2 ตัว ก็พังแทบทุก Run เลยทำให้เสียเวลาไปกับการเปลี่ยนเครื่อง ไม่ได้มีโอกาสได้มาปรับอย่างอื่นเลย ยังโชคดีว่าแบ่งควอลิฟายเป็น 3 วัน วันละ 1 Run ค่อยมีเวลาทำรถหน่อย ส่วนรอบชิงปีนี้ค่อนข้างรีบและแข่งกับเวลามากๆ เลยไม่ได้โชว์ผลงาน ต้องนั่งคิดใหม่ทำใหม่ว่ายังไงถึงจะแรงและไม่พัง ไว้ปีหน้าจะวางแผนและเตรียมตัวใหม่ให้พร้อมล่วงหน้าสุดๆ เลยครับ…
สำหรับเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของทุกคนที่มาร่วมงาน ซึ่งแน่นอนว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะชนะ แต่จะชนะทุกคนไม่ได้” ก็ย่อมมีผู้แพ้ไป ผู้ชนะอาจจะไม่ได้เร็วที่สุดก็ได้ แต่ต้องเป็น “ผู้ที่พร้อมที่สุดเท่านั้น” สิ่งหนึ่งที่เห็นกันชัดเจน คือ “เครื่องพังกันเยอะมาก” เราไม่ได้ต่อว่าผู้ที่ทำเครื่องพัง เข้าใจว่าทุกคนก็ไม่อยากให้พัง ไม่ว่าจะเป็นอู่ คนขับ ทีมงานจัดงาน ถ้าพังแล้วมัน “งานมา” ล่าช้าไปอีก แต่เมื่อเรามาถึงจุดนี้แล้ว คือ “จุดที่ถึงจุด Peak ของรถ” ไม่ว่าจะเครื่องยนต์ที่โมดิฟายและเบ่งกำลังจนถึงขีดสุดของชีวิต ถึงจุดที่พังกับรอดมันกั้นกันแค่เส้นบางๆ ระบบส่งกำลังก็เริ่มจะรับไม่ไหว ช่วงล่างอีก ฯลฯ แน่นอนครับ มันต้องมาถึงจุดนี้ “จุดที่ทุกคนต้องอัพเกรดขึ้นไปอีกระดับ” ทำเหมือนเดิมก็ไม่มีที่ยืนแล้ว ผมเชื่อว่าในปลายปีนี้ Dragster จะมีอะไรแปลกๆ ให้เราเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเฟรมที่ต้องอัพเกรดวัสดุให้สามารถ “ยืดหยุ่น” ได้ ออกตัวหน้าไม่ยก ขับแล้วไม่แข็งขืนเป็นสิบล้อไป จนถึงอาจจะต้องกลับมาใส่ “โช้คอัพหลัง” เพื่อซับแรงออกตัวก็เป็นได้ รอชมครับ ทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นครับ…
ขอขอบคุณ
SIAM PROTOTYPE, SPEED-D, GT GARAGE : Facebook/Siam Prototype, Tel. 087-593-7639 (ตี้)
YA SERVICE : Facebook/Ya Motorsport, Tel. 081-880-6673
AOR 77 SHOP : Facebook/Aor 77 Shop, Tel. 080-070-4781
RAM 77 RACING : Facebook/Boontha Wannalak, Tel. 081-611-7603