Reed it More : Souped Up 2016 “Size S”

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : XO AUTOSPORT TEAM

ปฐมบท 2016 ก้าวสู่โค้งสุดท้ายในการเตรียมรถเพื่อส่งการบ้านปลายปี มันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติชาวแดร็กบ้านเรา  หากจะเปรียบก็เสมือน #ของดีประเทศไทย เลยก็ว่าได้นะ  เกมที่ไม่มีคู่แข่ง  ต้องแข่งกับสถิติตัวเองในแต่ละปี มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในการเตรียมตัวกันมาตลอดทั้งปี
ในปีนี้ก็เช่นกัน  หลังจากนี้ไป คงต้องคอยติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าแต่ละค่ายมีอาวุธลับ อะไรที่จะมาสร้างสถิติใหม่ๆ กันตอนปลายปี  รู้สึกดีใจ และปลาบปลื้มใจทุกครั้ง ที่มีโอกาสได้เข้าไปหาที่อู่แต่ละอู่ เพื่อสอบถามความคืบหน้า ไม่ได้เข้าข้างตัวเอง หรือว่าอะไรนะ  สิ่งเดียวที่ทุกอู่ให้การต้อนรับกลับมา ต่างพูดเหมือนกันในเรื่องเดียวว่า “ผมทำรถไว้วิ่งซุปอัพงานเดียวครับ” จากจุดนี้ไง คือต้นกำเนิดพลัง  ให้ต่างคนต่างสู้ไปถึงเป้าหมาย  พวกพี่ทำรถสุดพลังมาวิ่งงานของผม  ผมก็ต้องเตรียมงานให้ดีที่สุดเช่นกันครับ
ซึ่งตั้งแต่นี้ต่อไป 3 พาร์ท ของคอลัมน์ Reed It More จะเป็นการอัพเดตของรถในแต่ละรุ่นที่เข้ามามาวิ่ง Souped Up Thailand Records โดยจะแบ่งเป็นหมวด S, M และ L  โดยครั้งแรกจะเปิดหัวกันที่ไซส์ S จะเป็นรถในรุ่น บล็อกเครื่องยนต์ 1,500 ซี.ซี. ไม่มีระบบอัดอากาศ  ซึ่งในปีที่แล้วก็จะเป็นรุ่น TRI-ACE RACING KING PRO L15 N/A  แล้วก็มาต่อที่รุ่น PRO 4 NA  จากรุ่นนี้ก็ขอจบที่รุ่น SUPER 4 และ SUPER 6  ในส่วนของหมวด S
โดยทั้ง 4 รุ่น ของการจัดอันดับนี้  เราจะมาดูกันว่าในแต่ละรุ่นเค้ามีใครเป็นตัวเต็งๆ กันบ้าง  แล้วสเต็ปการทำรถ เครื่องยนต์ ช่วงล่าง  มีอะไรมาอัพเดตกันในปีนี้ และทีเด็ดที่ขาดเสียมิได้  คือรถใหม่ของปีที่สร้างขึ้นมาวิ่งในแต่ละรุ่น  จะมีของใคร  รถอะไรกันบ้าง  เชิญพลิกไปชมความเร้าใจในหน้าถัดไปได้เลยครับ…

TRI-ACE RACING KING PRO L15 N/A
ศึกพันห้า พาไปเสียว
รุ่นนี้ปีที่แล้วมาซิงๆ เปิดโอกาสให้เหล่า “รถเล็ก” กับขุมพลัง L15 ยอดฮิต ในตัวรถ CITY, JAZZ, BRIO ได้สำแดงพลังกัน ในงาน Souped Up โดยมีเงื่อนไขหลัก คือ “ให้ใช้ยาง TRI-ACE RACING KING ขนาด 195/55R15” (ที่ซื้อกับทางผู้จัด เป็น Official Tire เท่านั้น) เพื่อให้สัมผัสกับสมรรถนะของยางรุ่นนี้อย่างแท้จริง ซึ่งรถแข่งก็ให้ Feedback ตอบรับเป็นอย่างดีในด้านเวลาออกตัวที่ “ลง” กันเป็นแถว สำหรับสเต็ปการโมดิฟายของแต่ละอู่ ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีส่วนหลักที่เหมือนกัน พูดง่ายๆ คือ “รถสูสี” เพียงแต่ว่า “ใครหาจุดพอดีเจอก่อน” ก็จะเป็นผู้ที่เร็วที่สุดครับ…

SHOP @ HOME
อู่จาก “บางแสน” ที่คว้าแชมป์ในครั้งที่ผ่านมา ด้วย JAZZ GE ตัวแรงในรุ่น ขับโดย “บรรพต ฟักฉิม” ทำเวลาไว้ 13.073 วินาที ซึ่งการโมดิฟายก็เน้นของ Thailand Custom Made ที่ตลาดเมืองไทยบูมมากๆ สูตรใคร สูตรมัน ดันกันให้สนั่น สำหรับการโมดิฟายของคันนี้ มีดังนี้ครับ…

Engine & Transmission
การโมดิฟายของ SHOP @ HOME ก็จะใช้อุปกรณ์ที่ผลิตเอง เครื่องยนต์จะเน้นเรื่อง “กำลังอัด” ซึ่งเป็นหัวใจของเครื่อง NA และใช้เชื้อเพลิงจำพวก “เอทานอล” จะ E85 หรืออะไรก็แล้วแต่ ลูกสูบที่ใช้ก็ “เทียบ” เอา ขนาด 75 มม. (ของเดิม 73 มม.) ได้ความจุเพิ่มขึ้นมาเป็น “1,579 c.c.” ตรงนี้ไม่ซีเรียส เพราะความจุเพิ่มมาเพียงเล็กน้อยเหลือเกิน แทบไม่มีผลกับแรงม้าและอัตราเร่งแบบชัดเจน แต่ที่เน้นกันก็เรื่องกำลังอัดนั่นแหละ…
สำหรับระบบส่งกำลัง อันนี้ไม่ยาก เพราะ “เกียร์ไทย” มีเยอะแยะให้เลือกตามต้องการ ก็อยู่ที่ Power Band เครื่องยนต์ว่ามาตรงไหน แล้วค่อยสร้างอัตราทดเกียร์ที่เหมาะสมเข้าหา ก็จะได้สัมพันธ์กัน ตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกันนะ…

Suspension
ระบบช่วงล่างของรถสเต็ปนี้ก็ไม่วุ่นวายอะไรมาก พื้นฐานง่ายๆ แรงม้าไม่มากถึงขนาดต้องเพิ่มอะไรให้เอิกเกริก เน้นหนักๆ ก็ค่าความหนืดโช้คอัพในด้านหน้า ที่จะต้องไม่หนืดหรือแข็งมากเกินไป ทำให้ “เต้น” ไม่ซับแรง เพราะรถมีน้ำหนักเบา…
ลมยางก็ต้องเหมาะสมครับ เพราะถ้าอ่อนเกินไป ทำให้ออกตัวยาก เครื่องสเต็ปนี้มีแรงบิดไม่มากนัก ถ้าพลาดแล้วคือพลาดเลย ต้องหาจุดที่เหมาะสมเป๊ะๆ แบบละเอียดครับ…

กีฬาวัยรุ่น By ISSARA
มาลองอัพเดตกับ “อิสระ กีฬาวัยรุ่น” กันสักหน่อย หนึ่งเดียวใน 3 อันดับ ที่ใช้ BRIO วาง L15A ลงมาหวดกับคนอื่น แต่อย่าคิดว่ารถเบาแล้วได้เปรียบ เพราะเรามีกำหนดน้ำหนักขั้นต่ำไว้ที่ “950 กก.” แล้วครับ สำหรับผลงานปีที่ผ่านมา ได้อันดับ 3 กับเวลา “13.399 วินาที” ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้ต่างจาก 2 อันดับมากนัก นับว่าเป็นรุ่นเล็กที่คนดูอาจจะไม่เร้าใจเท่ารุ่นใหญ่ แต่คนขับ “มีลุ้น” ตลอดครับ เพราะแต่ละคันทำมาสูสีกันจริงๆ เผลอไม่ได้เลย…

Engine & Transmission
สำหรับขุมพลังของ “อิสระ กีฬาวัยรุ่น” เป็น L15 ที่โมดิฟายตามสูตรยอดนิยม ปีนี้ก็จะทำใหม่ทั้งตัว ส่วนใหญ่เครื่อง NA โดยหลักก็เน้นการปรับกำลังอัด เพราะอย่างที่บอกว่า เครื่อง NA จะแรงหรือไม่แรง ก็อยู่ตรงนี้แหละ รวมถึงระบบ “ฝาสูบ” และ “แคมชาฟต์” ที่จะลำเลียงอากาศเข้าไป บางทีแคมชาฟต์ก็ต้องดู ไม่ใช่เอาแต่องศาสูงมากๆ เพียงอย่างเดียว ถ้าสูงเกินไปก็ “ช่วงกำลังแคบ” มีแต่เสียง แต่รถไม่ไป ภาษาช่างเขาเรียกว่า “ไม่มีเนื้อมีหนัง” จะต้องพิจารณาว่าตรงไหนเหมาะสม ยิ่งเครื่องเล็กต้องพยายามทำให้แรงมาในช่วงค่อนข้างต่อเนื่องด้วย ซึ่งตรงนี้แต่ละอู่ก็จะต้อง “หาสูตร” ที่เหมาะสมกับสไตล์การทำของตัวเองครับ…
สำหรับระบบเกียร์ ก็ไม่ยาก เพราะกติกาบังคับอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะต้องใช้อัตราทดเกียร์อย่างไร ให้เหมาะสมกับ Power Band ที่เครื่องตัวนั้นสามารถทำได้ ไม่ชิดเกินไปจนความเร็วไม่ได้ ไปแต่รอบ หรือไม่ห่างเกินไปจนห้อย…

Suspension
ถ้าเป็น BRIO ถ้าจะเล่นกันถึงขั้นนี้ เรื่องการ Setting ก็อาจจะไม่ได้ฉีกแนวไปจาก JAZZ มากนัก เพราะจริงๆ กติกากำหนดเรื่องน้ำหนักอยู่แล้ว แต่ที่แตกต่างก็น่าจะเป็นเรื่องของ “การเสริมความแข็งแรง” กันมากกว่า แต่การเสริมก็ไม่จำเป็นต้องดามอะไรกันมากมายจน “แข็งเกินไป” ขอให้มีจังหวะให้ตัวได้บ้าง เพราะถ้าแข็งเกินไปจะยิ่งกลายเป็น “สั่นกระพือทั้งคัน” คนที่เล่น BRIO จะเจออาการนี้กันเป็นประจำ…

X-TRA ORDINARY
สำหรับอู่อื่นๆ ในรุ่นนี้ที่น่าจับตามอง ยกตัวอย่างมา “ตาพูน ลั่นทุ่ง พุ่งหลาว สาวกรี๊ด” (จะตั้งให้ยาวทำไม) สายนี้หา Dag เฉพาะทางเลยครับ ปีนี้ก็จะส่ง JAZZ GK สีเหลือง เข้าประกวด และกำลังสร้างโปรเจกต์ HR-V เครื่อง L15 มาขย่มในรุ่นนี้อีกคันหนึ่ง ถ้ากติกาเปิดเรื่องตัวรถ ก็จะได้เห็นออกมาอาละวาดกัน…
สำหรับยาง TRI-ACE Racing King ได้รับความนิยมสูงจากฝั่งสายซิ่ง อย่างการแข่งรุ่นนี้ในรายการของเรา นักแข่งยอมรับในเวลา 0-60 ฟุต ที่เร็วขึ้น จากการยึดเกาะที่ดี ออกตัวแจ๋ว แถมราคามิตรภาพอีกตะหาก…

PRO 4 NA
“เก้าเท่านั้น” ถึงจะยืนแชมป์
แรงขึ้นมาอีกหน่อย สำหรับรุ่น PRO 4 NA ที่เอาใจเหล่า “สี่เม็ด ไร้หอย” โดยเฉพาะฝูง HONDA ที่โผล่มายึดหัวหาดกันซะหมดสิ้น แต่จริงๆ แล้ว ก็มีเหล่า “โรฯ ไร้หอย” แอบมาฟาดฟันกับเหล่า “เทคเปิด” อยู่เหมือนกันนะ เราก็หวังว่าจะได้ขึ้นมารับตำแหน่งกันบ้าง “อย่าปล่อยให้ HONDA ลอยนวล” สำหรับในด้านเวลา บอกได้เลยว่า ถ้าจะยืนแชมป์ ก็ต้อง “9 only” เวลาชักจะดุเดือดขึ้นมาทุกที เรียกว่าเร็วกว่า SUPER 4 ซะอีก ขุมพลังก็ล่อเครื่อง K Series ขยายความจุโหดๆ ไปยัน 2.8 ลิตร นู่นแน่ะ แถมลดน้ำหนักรถกันสุดๆ ตอนนี้ก็ล่อ Half Frame กันแล้ว แถมยังมี Spaceframe โผล่มาอีก งานนี้เวลาลุ้นมันส์แน่ๆ ก็อย่างที่บอก “อย่ามองข้ามรุ่นเล็ก” ไงครับ…

ECU=SHOP
เป็น CIVIC “สายวิทยาศาสตร์” จาก ECU=SHOP ทำเวลาได้แบบ “มีเฮ” ตอกไว้ที่ “9.821 วินาที” เร็วที่สุด ณ ปลายปีที่แล้ว โดยการขับของ “ปอนด์เทค” เจ้าเดิม คันนี้ยังคงเป็น Stock Body แต่ใส่เทคนิคแปลกๆ ไว้เพียบ เกี่ยวกับลูกเล่นทั้งหลายที่เป็นสูตรของทาง ECU=SHOP ที่ส่งผลเรื่องเวลาที่เร็วขึ้น โดยเน้นให้คนขับขับง่ายที่สุด “มีทีเด็ด” ปลายปีนี้จะมีสร้างรุ่น PRO 4 NA ขึ้นมาอีกคัน น้ำหนักเบาพิเศษ ไว้รอลุ้นครับ…

Engine & Transmission
ขุมพลัง K-Series ปีนี้ ทาง ECU=SHOP พร้อมระเบิดไส้เป็น 2.9 ลิตร !!! แรงม้า 400 ++ แน่นอน เอาแรงบิด แรงม้า ให้มาทุกช่วงกว้างๆ ออกให้จัดหนักกันไป ศึกประชันเครื่อง K-Series ในปีนี้ ยอมรับว่า “จัดหนัก” กันมากๆ มันไม่เหมือนเครื่องเทอร์โบที่เพิ่มบูสต์ได้ เปลี่ยนเงื่อนไขแรงม้าได้ง่าย แต่นี่ต้องอาศัยกำลังจากเครื่องแบบเพียวๆ อยู่ท่าไหนท่านั้น จะเอาแรงก็ต้องทำเครื่องเพิ่มอย่างเดียว นับเป็น “เสน่ห์” อีกอย่างนะครับในรุ่นนี้…
สำหรับ “ระบบส่งกำลัง” ทางนี้เขาก็ “มาเหนือ” ด้วยการทำระบบ “การเข้าเกียร์” กันใหม่ เพิ่มจาก Sequential ที่เป็น Manual และเอาระบบ Pneumatic หรือระบบ “ลม” มาใช้ในการ “ดันคันเกียร์” จะเป็น Air Shifter ก็ “กึ่ง” ไม่ได้เป็นเต็มตัว ซึ่งจะมีกล่อง ECU มาควบคุมการเปลี่ยนเกียร์อีกครั้ง โดยการ Monitor จับสัญญาณว่าเกียร์เข้าหรือยัง ถ้าเข้าแล้วก็จะสั่งการเครื่องยนต์ให้ “ต่อกำลัง” เพื่อให้ไปอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนเกียร์จะใช้เวลาเพียง “0.03 วินาที” แค่นั้น แต่ถ้าเกิดเคส Miss Shifting “เกียร์ไม่เข้า” ก็จะพยายาม Retry เข้าเกียร์ใหม่ มากสุดคือ 3 ครั้ง และลดองศาไฟจุดระเบิดเพื่อลดกำลังลง ถ้ายังไม่เข้าระบบก็จะตัดการทำงานเพื่อเซฟเกียร์ คนขับมีหน้าที่ขับอย่างเดียวในเงื่อนไขคันเร่งเต็ม และเปลี่ยนเกียร์เท่านั้น…

Suspension
ระบบช่วงล่างก็ยังคงรูปแบบเดิมเอาไว้ แต่ต้องเซตใหม่ เพราะกำลังเครื่องมากขึ้น พิจารณาจาก “แรงยก” ด้านหน้า ถ้ายิ่งแรงก็ยิ่งยก รถขับหน้าถ้าหน้ายกก็ “เสร็จ” ออกตัวไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีการเซตความหนืดโช้คอัพเพิ่ม หรือย้ายน้ำหนักถ่วง ก็แล้วแต่ทางเลือก ณ ขณะนั้นครับ…

TROOP SERVICE & INNERLINE
ปีนี้ “เสี่ยซิด” ลงมาเล่นกับรุ่นเล็กอีกที หลังจากที่เล่นกับรุ่นใหญ่มานาน โดยการซื้อ CIVIC Spaceframe ขับหลัง ต่อจาก “อิสระ กีฬาวัยรุ่น” ฝีมือการทำเฟรมของ “ป๋าแดง” เจ้าเก่า งานนี้ก็รอ Setting ใหม่ให้เหมาะสม ซึ่งน่าจะเป็นอีกคันที่หลายคนจับตามอง ว่ารถเฟรม K-Series เครื่อง NA ในรูปแบบ “ขับหลัง” จะสามารถสร้างผลงานได้ฮือฮาขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ  ได้แปลกประหลาด คันแรกในเมืองไทยแหละครับ ต้องรอลุ้นเรื่องเวลาอีกที…

Engine & Transmission
สำหรับเครื่องยนต์ ก็ยังเป็น K-Series ที่ขยายความจุไปถึง 2.8 ลิตร พร้อมระบบหล่อลื่นแบบ Dry Sump ที่จำเป็นต้องใช้ เพราะรถคันนี้เตี้ยมากๆ จะใช้อ่างน้ำมันเครื่องแบบปกติก็คงติดพื้นไปไม่ได้ ฝาสูบเป็นแบบ CNC ของ 4 PISTON RACING ที่เป็นแบรนด์ของอเมริกาอีกเจ้าหนึ่ง (ซึ่งเราอาจจะคุ้นหูกับทางฝั่ง DRAGCATEL มากกว่า) ก้านสูบเป็น GRP อะลูมิเนียม ที่ได้น้ำหนักเบา เพราะเครื่อง NA มันไม่ได้มีภาระหนักเหมือนเครื่องเทอร์โบ สูตรการทำจึงต้องแข็งแรงระดับหนึ่ง และ “น้ำหนักเบา” จะได้เปรียบในการลดแรงเฉื่อย รอบเครื่องก็จะ “แว้ดไว” ครับ…
ระบบส่งกำลัง คันนี้เป็น JERICO V-GATE ที่มีจุดเด่น คือ “ง่าย” ทั้งการขับที่เพียงแค่ “ดึง-ดัน” เท่านั้น กลไกล้วนๆ ไม่ซับซ้อน ส่วนเพลากลางก็สร้างจากโลหะ Chromoly 4310 ที่ “เหนียว” และ “เบา” รับกำลังจากเครื่อง NA ได้สบายมาก…

Suspension
ระบบช่วงล่างก็เป็น “เฟรมนิยม” คือ 4 Links เหมือนเดิม สำหรับข้อได้เปรียบและเสียเปรียบของรถขับหลังมันก็มีอยู่ คือ เสียเปรียบเรื่องการส่งกำลัง เพราะระยะทางมันยาว ไม่เหมือนขับหน้า แต่ได้เปรียบตรง Traction ในการออกตัว เพราะระยะ 0-60 ฟุต คันนี้เคยทำได้ 1.5 วินาที ในการวิ่งครั้งแรกๆ ถ้าเซตเพิ่มให้สมบูรณ์ ก็น่าจะเห็นเวลา 9.XXX วินาที ได้ไม่ยาก งานนี้ก็อยากเห็นของแปลกวิ่งทำเวลาดีๆ ครับ…

X-TRA ORDINARY
สำหรับฝั่ง “GT GARAGE” หลังจากปีที่แล้วไม่ติดอันดับ เพราะทีมงานมุ่งไปในรถ Dragster เป็นหลัก ปีนี้ “จัดหนัก” ด้วยการสร้าง Spaceframe ขับหน้า 2 คัน คันหนึ่ง “ตี้” ขับเอง บอดี้ EG ส่วนอีกคันของ “เฮียอ้วน MONZA SHOP” เป็นบอดี้ EK เครื่อง K-Series 2.8 ลิตร ประมาณเดิม แต่อาจจะเพิ่มเติมอะไรนิดหน่อย (มั้ง) ช่วงล่างหน้าเป็น Double Wishbone เหมือนเดิม ที่ได้เปรียบ สามารถเพิ่มค่า Caster ได้ ด้วยการปรับปีกนกบนและล่างเยื้องกัน แต่จุดที่ยางสัมผัสพื้นแทบจะไม่เปลี่ยน ทำให้ยังมี Traction ที่เหมือนเดิมได้ แต่รถนิ่งขึ้น (อันนี้ต้องเหลายาว ไว้มีโอกาสค่อยว่ากันเถอะ) ส่วนช่วงล่างหลัง กลับมาใช้แบบ McPherson Strut & Spindle Mount ที่มีโครงสร้างง่ายๆ น้ำหนักเบา ไม่กินเนื้อที่…
ส่วน “ฝรั่งวิ่ง Drag” คือ “อาร์ยูน่า โอเน็ค” ปีที่แล้วถือเป็นนักแข่งหน้าใหม่ที่ทำผลงานไว้ได้ดี ปีนี้ก็มีโครงการสร้าง INTEGRA DC5 Spaceframe ขึ้นมาอีกคัน ถ้าเสร็จทันได้เห็นในงาน Souped Up กันแน่นอน…

SUPER 4
งานนี้ไม่มี “แปดร้อยม้า” กับเวลา “สิบต้น” ไม่ต้องคุย !!!
สำหรับเรื่องราวของรุ่น SUPER 4 ก็จะเป็นการประลองกันระหว่างเหล่า “สี่เม็ด” ถ้าเป็นสาย “ขับสอง” งานนี้คงหนีไม่พ้นการ “กัดกัน” ระหว่าง “ศึกสองค่าย” คือ TOYOTA ก็หนีไม่พ้น MR2 ที่เขาว่าได้เปรียบในตอนออกตัว เพราะ “เครื่องอยู่ท้าย” นับว่ารุ่นนี้แต่ก่อนจะเป็น “รถนอกกระแส” เพราะไม่คิดกันมาก่อนว่าจะเอามาแข่งควอเตอร์ไมล์ได้ ก็อาศัยการปลุกปั้นของ R SPEC 2 ที่มอง “สรีระ” มันแล้ว น่าจะได้เปรียบ แต่ก็ต้องปรับปรุงอีกเยอะมากเหมือนกัน ไม่ใช่งานง่ายๆ ส่วนอีกค่าย คือ NISSAN ก็ยังหากินกับ S-Chassis ยอดฮิต พวกเหล่า 200 SX และ SILVIA ทั้งหลาย ซึ่งก็ไม่ยอมน้อยหน้ากัน ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้า อะไรๆ ก็ต้องพัฒนา โดยเฉพาะ “ความทนทาน” เครื่อง “สี่เม็ด” ตอนนี้ขี้หมูขี้หมาก็ต้องมี “แปดร้อยม้าอัพ” นะเชื่อเด่ะ ซึ่งสมัยก่อนว่ากันแถวๆ 500 ม้า ก็ “เสียวแตก” (เครื่องนะ อย่าคิดมาก) กันแล้ว สำหรับรุ่น “ตะกายสี่ตีน” ก็ต้อง “EVO” ยึดหัวหาด ซึ่งคู่แข่งอย่าง “IM” ก็หายไปไหนกันหมดไม่รู้ กลับมาหน่อย แฟนๆ “สูบนอน” คิดถึง…

R SPEC 2
SUPER 4 2WD
สำหรับ MR2 คันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเล่นยึดตำแหน่งในรุ่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง คนขับก็คนเดิม “ก๊อฟฟี่” นนปกรณ์ พิพัฒน์ธันยา หนุ่มนิสัยดี ฝีมือดี จาก NARAKA แต่ทุกอย่างมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ปีที่แล้วก็ทำเวลาไว้ “10.288 วินาที” ไม่ธรรมดาเลยนะครับ เพราะใกล้ถึงเป้าหมายที่อยากจะพิชิตเวลา “9.XXX วินาที” หรืออย่างน้อยก็ขอเร็วกว่าเดิมที่เคยทำไว้ล่าสุด งานนี้ต้อง “เซตติ้ง” ถึงๆ หน่อยนะ แต่คิดว่าไม่ยาก เพราะ R SPEC 2 ทำการบ้านหนักเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว…

Engine & Transmission
สายนี้ถนัด 3S-GTE ที่ได้ชื่อเรื่องความทนทาน สไตล์ TOYOTA แต่ก็ต้องใช้เทคนิคที่ “เข้าใจเครื่อง” ด้วย โดยหลักแล้ว สไตล์ R SPEC 2 ก็จะเน้นเรื่อง “ความทนทาน” โดยใช้อุปกรณ์บางอย่างสไตล์ “ไทย” เช่น การหล่อซีเมนต์เสริมบล็อกเครื่อง ส่วนปีนี้มีการขยับ “เทอร์โบ” ใหญ่ขึ้นอีกหน่อย เอาแรงม้าและแรงบิดให้มากขึ้น เพื่อหวังอัตราเร่งในช่วงกลางและปลายให้เร็วขึ้นกว่าเดิม…
เรื่องของระบบส่งกำลัง ทาง R SPEC 2 ก็จะเน้นงาน Custom Made ผสมผสานของที่มีอยู่เยอะในท้องตลาด นำมาโมดิฟาย ปรับปรุง ใช้กับ MR2 เช่น “คลัตช์” ก็แปลงเป็นของ RB ที่มีให้เลือกเยอะ ส่วนระบบ “เพลาข้าง” ที่นับเป็นจุดอ่อน ก็หาเพลาที่ใหญ่กว่ามาดัดแปลงใส่เข้าไป แต่จะไม่ตัดต่อเพลาเด็ดขาด เพื่อความทนทานกับแรงม้าที่มากขึ้นได้ เพราะถ้าจะมองมุมกลับ แม้ว่า MR2 จะได้เปรียบเนื่องจาก “เครื่องวางกลางลำ” จะมี Traction จากน้ำหนักกดล้อหลังมากกว่าพวกรถเครื่องหน้า แต่เมื่อ Traction สูง ระบบส่งกำลังก็ต้อง “รับภาระหนักขึ้น” กว่าปกติเช่นกัน ตรงนี้ก็ต้องคำนึงถึงมากๆ จะไปรอดหรือไม่ก็อยู่จุดนี้แหละ…

Suspension
โดยรวมช่วงล่างของคันนี้ พื้นฐานหลักยังคงเดิม ตัวรถจะเซตท้ายสูงไว้กว่าด้านหน้าประมาณ 1 นิ้ว เพราะตอนออกตัวน้ำหนักกดมากๆ เพราะเครื่องอยู่หลัง ท้ายจะลงมา “เสมอ” พอดี เวลาใช้ความเร็วช่วงกลางถึงปลาย ตรงนี้จะดีสำหรับ MR2 เพราะหน้าจะไม่เชิด ลมจะ “กด” ไม่ช้อนหน้าลอย สำคัญเพราะ MR2 เป็นรถ “หน้าเบา” ถ้าหน้าเชิดก็จะทำให้วิ่งแย่ลง ต้านลม และ “เสี่ยงอันตราย” เป็นรถที่ต้องเข้าใจ “สรีระ” มันจริงๆ และไม่ใช่คิดเอาแค่ออกตัวครับ ต้องคิดให้มันได้ดีทุกช่วง แม้มันจะยากกว่ารถเครื่องหน้า แต่ก็สามารถเซตได้ถ้าเข้าใจ…
สิ่งหนึ่งที่จะปรับปรุงเพิ่ม คือ “เหล็กกันโคลง” เพราะเป็นส่วนสำคัญในการ “กดช่วงล่าง” ให้สัมผัสกับพื้นถนนได้เต็มที่ ซึ่งต้องเลือกตำแหน่งกด รวมถึงค่าความแข็งของเหล็กกันโคลงให้เหมาะสม เพราะมันก็คือ “สปริง” อันหนึ่ง แข็งไปก็ทำให้ไม่ยุบ น้ำหนักไม่มา อ่อนไปก็ยุบเยอะเกิน พวกนี้ต้อง “ลอง” เท่านั้น…

TROOP SERVICE & INNER LINE
SUPER 4 4WD
ในรุ่นนี้ก็เป็นครั้งแรกของ “จูเนียร์ INNERLINE” ที่ขึ้น “โพล” อันดับ 1 ในรุ่นนี้ ทำเวลาไว้ที่ “10.422 วินาที” โดยใช้ MITSUBISHI EVOLUTION VIII ที่ดูออกจะเสียเปรียบเรื่อง “น้ำหนัก” ที่จะมากกว่ารุ่นก่อนๆ พวก I-III อยู่มาก จากความใหญ่โตที่มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า “เครื่องต้องแรง” และ “ต้องไปได้” อันหลังนี่สำคัญกว่า ซึ่งทาง TROOP SERVICE ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดการอะไรไปบ้างเพื่อเวลาที่เร็วขึ้น รวมถึงการ “ซ้อมเยอะขึ้น” เพื่อการออกตัวที่แน่นอนครับ…

Engine & Transmission
ถ้าเป็นสาย 4G63 สูตร “เสริมสุขภาพ” อันนี้เล่นง่ายหน่อย เพราะสามารถเอาท่อนล่าง และ “ข้อเหวี่ยง” ช่วงชัก 100 มม. จากเครื่อง 4G64 ความจุ 2.4 ลิตร มาใช้ได้ เพื่อขยายความจุ และทำให้แรงบิดมาในรอบกลางเยอะขึ้น เครื่องตัวนี้แรงม้าประมาณ “830 PS” แต่แรงบิด “90 ++ kg-m” ถือว่าไม่น้อยเลย ดีอย่างเครื่องใหญ่ ไม่ต้องลากเค้นรอบสูงมากๆ เหมือนเครื่องความจุน้อย ก็จะได้เรื่องความทนทาน ลดความเสี่ยงในการเสียเวลา และเสียตำแหน่งในกรณี “พัง” มีน้อยลง ซึ่งเป็นแนวทางของอู่นี้…
ตอนนี้ “เทอร์โบ” จะนิยมมาทางฝั่ง “อเมริกา” กันมากขึ้น อย่างเช่นของ PRECISION มีราคาสูงกว่าฝั่งญี่ปุ่นก็จริง แต่สมรรถนะที่ได้โดยรวมนั้น “เหมาะสมกว่า” ซึ่งจะทำให้กำลังมาอย่าง “ต่อเนื่อง” เต็มๆ ตั้งแต่ช่วงกลางไปถึงปลาย จึงเป็นคำตอบที่น่าสนใจ…
สำหรับ “เกียร์” ก็ยังเป็นของ EVO RS ที่อัตราทดจัดกว่า GSR ตานี้ เมื่อคราวที่ผ่านมามันยังเดิมๆ อยู่ พอมาเจอออกตัว “โดดดึ๋ง” ก็จะ “พังไม่รู้จบ” สิ่งหนึ่งที่ “น่าคิด” ก็คือ รถขับสี่ ใครๆ ว่าออกตัวง่าย แต่จริงๆ แล้ว “ไม่ง่าย” ครับ มันกลับทางกันกับ “ขับสอง” เพราะถ้าปล่อยคลัตช์เร็วไป จะกระชากมาก ทำให้ “ระบบส่งกำลังพัง” การออกจะต้อง “เลียคลัตช์” ยื้อกันนิดหน่อย พอรถเริ่มเคลื่อนไป ค่อยปล่อยหมด ของพวกนี้ต้อง “ลอง” จนกว่าจะเจอจุดที่ดีที่สุด และต้องไม่พังด้วย บอกแล้วว่าไม่ง่ายเหมือนที่คิดกัน…

Suspension
โดยรวม EVOLUTION VIII คันนี้ พื้นฐานมาดีอยู่แล้ว และใช้ยาง TOYO PROXES R1R ก็เลยได้เปรียบเรื่องการยึดเกาะในขณะออกตัว จึงไม่ต้องเหนื่อยกับมันมากนัก เพียงแต่ว่าต้องลองปรับค่าของช่วงล่างไปเรื่อยๆ เช่น ค่า K สปริง หน้า-หลัง เท่าไร, ค่า Bump/Rebound ของโช้คอัพเท่าไร เพื่อให้ได้จุดที่เหมาะสมที่สุด จากความคิดของตัวผม (พี สี่ภาค) รถขับสี่จะต้องไม่ให้ “หน้าลอย” เกินไป เพราะจะต้องมี Traction ที่ล้อหน้าในการตะกุยด้วย ซึ่งแน่นอนว่า การเซตจะไม่เหมือนกับรถขับหลังซะทีเดียว…

X-TRA ORDINARY
จริงๆ การขับเครื่อง 4 สูบ จะว่าออกตัวง่ายก็ง่าย เพราะเครื่องมี “แรงกำลังดี” แรงบิดไม่มากทะลักเหมือนพวก 6 สูบ แต่จะว่า “ยากก็ยาก” เหมือนกัน เพราะต้อง “จับจังหวะ” ให้ดี ถ้าออก “ห้อย” โอกาสที่จะกระชากต่อไปก็ต้อง “รอเวลา” กันหน่อย รวมถึงเครื่อง 4 สูบ รอบจะ “ฟาดเร็ว” เพราะ “ภาระชิ้นส่วนน้อย” ก็ต้องเปลี่ยนเกียร์ให้แม่นๆ เช่นกัน…
สำหรับเครื่องยนต์ SR20DET ก็เริ่มกระแส “แปะฝาสูบ VVL” เพื่อให้มีระบบ “วาล์วแปรผัน” มาช่วย “เกลี่ย” ให้ช่วงกำลัง “กว้าง” ขึ้น เพื่อชดเชยความจุที่น้อย จึงเป็นเรื่องที่ “หมดสมัย” แล้ว สำหรับการทำเครื่องให้มีแรงเยอะๆ ที่รอบสูงเพียงอย่างเดียว…
ส่วนอู่ที่น่าจับตามอง คือ THE FIRST (สายนี้เน้นรถสวยเรียบร้อย) ปีที่แล้วได้อันดับ 3 ก็น่าจะมีอะไรใหม่ๆ มาให้เห็นกัน หรืออาจจะขยับไปขึ้นชกรุ่น PRO 4 ก็ได้นะ…

SUPER 6
เลข 9 กลาง ยืนพื้น กับแรงม้าระดับ “1,000 ++” !!!
รุ่นยอดนิยมขวัญใจประชาชี สาย “ออกเทน” SUPER 6 WD เหมือนเป็นรุ่นที่เป็นพื้นฐานมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม คือ “เซฟสองเจ” ที่เหมือนเป็นพื้นฐานรถซิ่งขับหลังที่จะต้อง “เคยผ่าน” กันแทบทุกคน เพราะ “แรงง่าย” ของโมดิฟายก็หาง่ายสไตล์ NISSAN ก็เลยเป็นรุ่นที่ “ขาดไม่ได้” และเป็นรุ่นที่รถเยอะที่สุดในการจัดอันดับ Souped Up Thailand ทุกปี ณ ตอนนี้ ได้มีการพัฒนากันไปไกลพอสมควร เรื่องของ “แรงม้า” แต่ละคันก็ต้องมีทะลุ 1,000 PS กันเป็นพื้นฐาน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ตัวเครื่องกับรถมันก็เป็นสเต็ปเดียวกับรุ่น PRO 6 แล้ว ผิดกันที่ “ยาง” ซึ่ง SUPER เป็นยางเรเดียล ส่วน PRO เป็นยางสลิค แล้วก็น้ำหนักที่ผิดกัน ซึ่งใครก็คิดว่ารุ่น PRO 6 เร็วกว่า ขับยากกว่า แต่จริงๆ แล้ว SUPER 6 มันมีสิ่งที่ “น่าสนใจ” และ “ไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย” สำหรับรุ่น SUPER 6 4WD ก็จะเป็นเหล่า “SKYLINE One Make Race” ที่ตอนนี้ก็ทำเวลากันในระดับ “9.5 วินาที” กันแล้ว จุดหนึ่งที่เสียเปรียบก็คือเรื่อง “น้ำหนักรถ” ที่มากกว่าชาวบ้านเขา ซึ่งก็น่าจะเป็นรุ่นที่มีน้ำหนักรถมากที่สุดในการจัดอันดับของ Souped Up ก็ว่าได้ แต่ถ้าวิ่งได้ขนาดนี้ถือว่าไม่ธรรมดา…

BO AUTOPART
SUPER 6 2WD
ปีที่แล้ว ได้อันดับ 3 ในรุ่นนี้ กับ “โบ้ AUTOPART” สาเหตุที่เรายกตัวอย่างคันนี้ เพราะมองเห็นถึงการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่น่าจับตามองในปีนี้ สำหรับผลงานในปีที่แล้ว ทำเวลาไว้ “10.020 วินาที” เร็วสุด ส่วน Run ที่เหลือ ทำเวลาไว้ได้เสถียรดี นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ แสดงถึงความพร้อมของรถและคนขับ ในปีนี้ก็มีอะไรอัพเดตมาให้ดูเหมือนกันครับ ลุ้น “ลงเก้า” กันได้แน่นอน…

Engine & Transmission
เครื่องยนต์ก็ยังเป็นตัวยอดฮิต 2JZ-GTE แต่พัฒนาใหม่ให้แรงและ “เหนียว” ขึ้นอีกขั้น หลักๆ ก็ทำพวก นอตฝาสูบ, แบริ่งชาฟต์ ใช้ของเกรดสูง ลูกสูบเป็นของ BC เครื่องตัวนี้มีแรงม้าถึง “1,100 PS” ซึ่งก็เป็นสเต็ปที่จะขึ้นไป PRO 6 ได้โดยไม่ยาก ส่วนใหญ่ก็จะแนวๆ นี้กันอยู่แล้ว ทำเครื่องให้ถึงไว้ก่อน เวลาจะขยับรุ่นเพิ่มขึ้นก็ไม่ต้องมาโมดิฟายเพิ่มอีก เปลี่ยนส่วนประกอบอื่นๆ ก็วิ่งต่อได้…
ระบบเกียร์เป็นของ RB25DET ไส้ในของเกียร์เป็น OS Giken ที่เป็นอัตราทดชิด นี่ก็เป็นสูตรที่เล่นกันมานาน และยังเล่นกันต่อไป เพราะเป็นเกียร์ H-Pattern ที่บังคับใช้ในรุ่นนี้อยู่…

Suspension
< ช่วงล่างคันนี้ เปลี่ยนโช้คอัพเป็นของ ARAGOSTA จาก SKYLINE R33 ที่เซตค่าการทำงานใหม่ ให้เหมาะสมกับ “ยางเรเดียล” และแรงม้าที่มากขึ้น ให้ยุบและคืนตัว “ช้า” เพื่อให้ท้ายรถยังกดหน้ายางเอาไว้ เพื่อเพิ่ม Traction ในจุดนี้…
< ส่วนอื่นๆ ก็จะอยู่ที่ “การปรับมุมล้อ” และส่วนประกอบต่างๆ มากมาย เช่น การเซตลมยาง ก็มีส่วนมาก อย่าถามว่า “ใช้เท่าไร” เพราะถามไปก็ใช่ว่ามันจะเป็น “สูตรสำเร็จ” ยืนยันว่ารถแต่ละคันไม่เหมือนกันครับ ค่าที่ใช้ก็ย่อมต่างกันด้วย…
< อีกหนึ่งกระแสก็คือเรื่องของ “ยาง” ที่จะเริ่มเอายางแบบ “แก้มสูง” สำหรับ SUV มาใส่ เพราะมัน “ซับแรง” ตอนออกได้ดี ตามกระแสที่หาของอะไรใหม่ๆ มาเล่นกัน ซึ่งรถก็ต้อง “ตัดซุ้มล้อ” ด้วย แต่ก็มีผู้ที่เน้นการ “อนุรักษ์” ในรุ่น SUPER 6 2WD ที่ยังยืนยันจะใช้ยางแบบ “สปอร์ต” แบบที่เล่นๆ กันอยู่ เพื่อให้ตัวรถยังดูเป็น Street Car ไม่ตัดซุ้ม ตรงนี้ก็ขอให้มีข้อสรุปกันอีกครั้งว่าจะออกมาเป็นเช่นไร ณ ตรงนี้ ยังไม่ขอฟันธงครับ…

ตู่ โคราช, R&C
SUPER 6 4WD
คันนี้แหละครับ ที่สร้าง “Story” อันน่าสะพรึงไว้ ณ รอบควอลิฟาย Souped Up ปีที่ผ่านมา ทำสถิติ “เร็วที่สุด” ด้วยเวลา “9.5 วินาที” แต่ก็ “ทะลุเป้า” ไป “ยับ” อยู่ท้าย Track เพราะ “เบรกมีปัญหา” แต่ “ตู่ โคราช” ก็ยังไม่มีส่วนใดบุบสลาย (คนทนกว่ารถ) นับว่าเป็นตัวอย่างในด้าน “ความปลอดภัย” ที่ “ไม่มีข้อต่อรอง” หลังจากนั้น ทีมงานทุกคนก็แปลงร่างเป็น SUPER Man ซ่อมจนรถกลับมาวิ่ง Final ได้ แถมได้อันดับ 2 ในรุ่น ด้วยเวลา “9.602 วินาที” นับว่ากลับมาได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าพูดถึงรถแข่งรุ่นนี้ ส่วนใหญ่ก็จะมาทรงใกล้ๆ กัน เพราะด้วยสรีระของรถที่เหมือนเป็น “ไฟต์บังคับ” เวลาแต่ละคันจึงไล่ๆ แบบ “สูสี” กันมาก…

Engine & Transmission
< ขุมพลังก็ยังต้องเป็น RB26DETT เช่นเดิม โดยหลักๆ ถ้าจะเอาแรง ก็ต้อง “ขยายความจุ” เป็นชุด Stroker Kit 2.8 ลิตร เอาแรงบิดในรอบกลางให้มากขึ้น แต่ตอนนี้ก็มีการ “สวนกระแส” โดยการกลับมาใช้ “ข้อเหวี่ยงเดิม” แล้วเบ่งแรงม้าได้ในระดับ 900 PS ไปถึง “เฉียดพัน” ก็มีส่วนมากที่ทำสูตรนี้ จริงๆ มันทำได้ครับ แต่ต้องพิจารณาในด้าน Clearance และการประกอบให้ “ถูกต้องที่สุด” กับแรงม้าระดับนี้ ซึ่งสเป็กต่างๆ มันไม่ใช่สูตรสำเร็จว่าทุกเครื่องต้องทำเหมือนกัน อยู่ที่ “แรงม้า” ที่เราต้องการ เครื่องแรงม้าเยอะ ยิ่งต้องเผื่อ Clearance มากตามไปด้วย ทุกเครื่องใช้หลักการประมาณนี้แหละครับ…
< ผลสรุปในเรื่องเครื่อง เท่าที่สอบถามดู ส่วนใหญ่ก็ยังคงประมาณนี้ไว้ก่อน ที่เหลือก็ไปพัฒนาเรื่อง “ระบบส่งกำลัง” นับว่าโชคดีอย่างที่ของ SKYLINE GT-R มีความแข็งแรงทนทานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยมีปัญหาในด้านนี้นัก “เกียร์” ก็จะเน้นชุดเฟืองเกียร์ 1-2-3 แบบ Close Ratio ของ OS GIKEN หรือ ROUTE 6 ก็แล้วแต่ศรัทธา แต่ตอนนี้ก็มีกระแสอีกว่า อยากจะให้เปิดเรื่องระบบเกียร์เพิ่ม จะเป็น Sequential หรือ Dog Box ก็ขอให้ “ติดตามตอนต่อไป” อย่าเพิ่งมโนไปเองก่อนนะจ๊ะ…

Suspension
< สำหรับระบบช่วงล่าง ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก อย่างที่บอกว่าอยู่ที่ Setting เป็นหลัก เพราะโดยพื้นฐานช่วงล่างรุ่นนี้มันก็ “ฮอตฮิตติดลมบน” เล่นกันมานมนาน แล้วก็ยังจะเล่นกันต่อไป หลักๆ ก็ใส่พวก “ตัวปรับมุมล้อ” ให้สามารถปรับได้มากกว่าสแตนดาร์ด โช้คอัพก็อย่างที่บอกไป แต่สิ่งหนึ่งที่จะต่างจากเหล่าขับสี่รุ่นอื่น คือ SKYLINE เป็นขับสี่แบบ Part Time เมื่อล้อหลังฟรี ล้อหน้าค่อยขับเลื่อน ไม่เหมือน EVOLUTION ที่เป็นขับสี่แบบ Full Time ส่วนตัวผมเอง เคยลองหาข้อมูล ก็พบว่า SKYLINE ตอนออกตัวมันก็คือ “รถขับหลัง” นี่แหละ แต่พอไปอีกหน่อย ก็เป็นขับสี่ ตอนออกก็จะให้ท้ายยุบค่อนข้างเยอะหน่อย (แต่ไม่เยอะเท่าขับสอง) ส่วนด้านหน้าก็จะใช้โช้คอัพที่ค่า Rebound หนืดๆ เพื่อไม่ให้หน้ายกเกินไปจนเสีย Traction ของล้อหน้า…

X-TRA ORDINARY
< หลายๆ คนรู้ว่ารุ่น SUPER 6 2WD ต่างก็มีแรงม้ามากเกิน 1,000 PS กันแทบทั้งสิ้น ดังนั้น การออกตัวด้วยยางเรเดียลที่มีหน้ากว้าง 275 มม. (อ้างอิงตามเบอร์ของยาง) อย่างที่บอกว่า “ไม่ง่าย” เพราะแรงม้าขนาดนี้ เกียร์ธรรมดา H-Pattern ทุกอย่างจะต้อง “สั่งการที่คนขับให้สัมพันธ์กันทั้งหมด” โดยเฉพาะการ “คุมคันเร่ง” และ “เปลี่ยนเกียร์” นี่สำคัญมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆ กับรถรุ่นนี้ ทุกอย่างต้อง “แม่น” เพราะเครื่องมีแรงบิดเยอะ คนขับต้องใช้ “ทักษะ” และ “การฝึกซ้อม” ที่บ่อยครั้งจนจับจังหวะได้ ออกรอบสูงไปก็ “ล้น” ฟรีทิ้งหมด พอฟรีทิ้งแล้วดันไปต่อ ความเร็วรถ (Vehicle Speed) ก็จะ “ไม่สัมพันธ์” กับความเร็วล้อขับเคลื่อน (Wheel Speed) ทำให้ล้อฟรีมากขึ้น แต่ถ้าออกตัวได้ดี รถ Shoot เร็ว ล้อก็จะฟรีน้อย เพราะความเร็วรถกับล้อมันจะสัมพันธ์กัน บอกแล้วว่าไม่ใช่ง่ายๆ เลย…
< พูดถึงเหล่า SKYLINE GT-R ทั้งหลายแล้ว ก็ “นึกขึ้นได้อีกเรื่อง” ใน R32 ของ ECU=SHOP แชมป์ปีที่ผ่านมา เคยเขียนเรื่องนี้ไปว่า การเซตช่วงล่างที่บอกว่าจะไม่ให้หน้ายก นอกจากเรื่อง Traction แล้ว ยังมีข้อเกี่ยวข้องอีกอย่าง คือ ถ้าปล่อยให้หน้ายกสูง จะทำให้ “น้ำมันเครื่องเทไปด้านหลังเยอะเกินไป” จนขาดตอน ทำให้เครื่องมีปัญหาได้ นับว่าเป็น Trick ที่เกี่ยวเนื่องกันไปทั้งหมดของเครื่อง RB26DETT ที่จะต้อง “คิดเยอะ” และ “เข้าใจระบบ” ของมันที่ซับซ้อนกว่ารถขับสองปกติ…
< สำหรับยางยอดนิยมในรุ่น SUPER ทั้งหลาย คือ TOYO PROXES R1R ที่มีคุณสมบัติในการยึดเกาะที่โดดเด่น ทำให้เวลา 0-60 ฟุต ดีขึ้น ควบคุมการออกตัวได้ง่าย รวมไปถึงช่วงย่านความเร็วสูงที่ยังคงยึดเกาะได้ดี เป็นยางที่มาแรง ณ ตอนนี้จริงๆ…