เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป
RAUH-Welt Begriff
First RWB 993 & 964 Thailand
All Handmade by Mr.Nakai RWB JAPAN
ฉบับนี้ก็ขอเรียกว่า “สุดพิเศษ” อีกครั้ง ด้วยการนำเสนอรถสปอร์ตระดับ Hi-End ชั้นนำของโลก สืบเชื้อสายบรรพบุรุษ Dr.Ferdinand Porsche เอกลักษณ์ของ PORSCHE กับรุ่น 911 หรือ “เจ้าชายกบ” ที่เป็นทรงอมตะในตำนาน จนเป็นที่นิยม แน่นอนว่า จะต้องมีการ Modified กันอย่างทั่วโลก และ ณ Garage แห่งหนึ่ง เมือง Chiba ประเทศญี่ปุ่น ของ Mr.Akira Nakai ผมขอเรียกเขาว่าเป็น “Mechanic Artist” หรือ “นายช่างศิลปิน” เจ้าของสำนัก RWB หรือ RAUH-Welt Begriff ที่รับตกแต่ง โมดิฟาย PORSCHE 911 ทุกรุ่น ถือว่าเป็น Specialist สุดยอดในญี่ปุ่น ที่คนแต่ง PORSCHE ทั่วโลก ยอมรับในฝีมือ และมีการส่งรถมาให้ “นาไกซัง” ทำกันอย่างไม่ขาดสาย แต่สิ่งที่พิเศษสุดในฉบับนี้ คือ PORSCHE 911 ในบอดี้ 993 & 964 ที่ทำเต็มจาก RWB โดยเชิญ นาไกซัง บินมาจากญี่ปุ่น เพื่อทำรถสองคันนี้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นการทำรถ “นอกประเทศ” ครั้งแรกของ RWB JAPAN ซึ่งแน่นอนว่า “เป็นครั้งแรกของโลก” ที่ นาไกซัง ออกมาทำรถนอกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของรถสองคันนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นของ RWB THAILAND ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทย ก่อตั้งโดย “คุณชิน RWB” หรือ ชินวัฒน์ กนิษฐ์พงศ์ จัดให้สำหรับคนที่ชอบ PORSCHE ในแบบไม่ธรรมดา และต้องการความพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะบุคคล !!!
RWB นั้น มีที่มาจากคำภาษาเยอรมันว่า RAUH-Welt Begriff ซึ่งลองแปลความหมายใน Google ได้ว่า “โลกความคิดที่หยาบ” แต่ถ้าจะเรียบเรียงตามจริงแล้ว เหมือนกับ “โลกแห่งความนึกคิด ที่มาจากก้นบึ้ง และสัญชาตญาณดิบ” อะไรทำนองนี้มากกว่า (อันนี้ผมประเมินเอง ต่อยอดไปจากลักษณะของ นาไกซัง) ทำให้เขามีสไตล์เป็นของตัวเอง จนเรียกว่า “ศิลปิน” มากกว่า “ช่าง” จุดเริ่มต้นของ นาไกซัง เมื่อตอนอายุ 16-17 ปีก่อน เขาชอบ “รถดริฟต์” โดยเล่น AE86 อยู่ ก็ดริฟต์กันบนเขาแบบใน Initial D จริง ๆ แล้วเขาเคยเป็นช่างทำ BENZ และย้ายมาเป็นช่าง PORSCHE เพราะเขา “ชอบ” ในรถ 911 เป็นอย่างมาก ด้วยรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ สวยงาม เครื่องยนต์แรง ทนทาน การยึดเกาะถนนดี การขับขี่โดยรวมสนุกมาก ซึ่งเป็นอารมณ์ส่วนตัวที่ นาไกซัง เขาหลงใหล หลังจากนั้นเขาก็ได้ผันตัวเองมาทำเกี่ยวกับ Body Work งานตัวถัง เป็นงานที่เขาชอบมาก เหมือนศิลปะในการปั้น เจียร์ แต่ง ให้รูปทรงออกมาสวยงามได้ดังใจ และต่อยอดความคิดที่ว่าจะต้องเล่นกับ 911 ให้ได้…
หลังจากนั้น นาไกซัง ก็หันมาเล่นกับ 911 และวาดมโนภาพไว้ถึงรูปโฉมของ 911 ในฝัน ว่าจะต้องเหมือน Sexy lady เอวคอด สะโพกผาย เขาจึงเบนเข็มมาเปิดสำนัก RWB และเริ่มสร้างสรรค์ PORSCHE ในแบบ RWB ที่เขาจินตนาการเอาไว้ (สำหรับชื่อ RWB เขาก็ใช้เป็นชื่อทีม สมัยที่เล่นรถดริฟต์ แล้วมาตั้งชื่อสำนัก) สำหรับสไตล์ของ RWB ก็จะเน้น 911 ที่ทำเป็น Wide Body ตามแบบที่เขาชอบ โดยในญี่ปุ่น จะมี “Club Idlers” สังเกตว่า รถ RWB มักจะมีชื่อ Idlers พ่นที่แก้มยาง อันนี้ทาง Club Idlers จะจัดแข่งแบบ “เน้นความสนุกในการขับรถ” ก็เปรียบได้กับการแข่ง Club Race ที่มีคอนเซ็ปต์ว่า Work Hard Play Hard ทำงานหนัก แล้วก็มาขับรถกันให้สนุก ทุกคนขับรถกันอย่างเต็มสมรรถนะ Regulation ในการแข่งขัน ก็ไม่ได้มีอะไรมาก เพราะเขาให้ “ทุกคน ทุกคัน สามารถมาแข่งแบบสนุกกันได้” ไม่จำกัดเฉพาะ PORSCHE ก็จะมีแบ่งรุ่นต่าง ๆ ตามลักษณะของรถ แล้วก็มีกฎเหล็กว่า “มีวินัยของตัวเอง ห้ามขับแบบไร้มิตรภาพ ต้องมีน้ำใจนักกีฬา” ไม่ต้องสนว่าได้ที่เท่าไหร่ ไปเต็มที่เท่าที่ตัวเองไปได้ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำให้การแข่งขันเปี่ยมด้วยมิตรภาพ เป็นเสน่ห์ที่คนชอบ “ขับรถ” แต่ไม่เน้น “แข่งรถ” หลงใหล…
การทำรถของ RWB จะเป็น “ทำมือ” หรือ Hand Made เชื่อหรือไม่ว่า นาไกซัง จะเป็นผู้ที่ “ทำรถเองคนเดียว” ไม่มีลูกน้อง ไม่มีทีมงาน ทุกอย่างเกิดขึ้นจากมือเขาล้วน ๆ ไม่ว่าจะช่วงล่าง ตัวถัง ภายใน รายละเอียดต่าง ๆ ไม่ได้เน้นความเป็น Mass Product ที่เขาทำเพราะใจรักจริง ๆ สไตล์ของ RWB ก็จะต้องเป็นรถ Wide Body ที่มีความเรียบร้อยมาก เหล่าชุดพาร์ท อุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกยึดอย่างแน่นหนา ผลิตจากวัสดุชั้นดี จะต้องทำกันคันต่อคัน เพราะรถแต่ละคัน แม้จะเป็นรุ่นเดียวกัน แต่อาจจะมีการเพี้ยนของระยะตัวถัง (Body Alignment) อยู่บ้าง ตามการใช้งาน และตามอายุรถ จึงต้องจัดกันสด ๆ หน้างาน จึงไม่สามารถเป็น Mass Product ที่สวนทางกับคำว่า “ศิลปะ” ได้ จะต้องทำจนกว่ารถคันนั้นออกมาได้ตามสเป็กในใจของ นาไกซัง จริง ๆ ซึ่งระยะต่าง ๆ ต้องเป๊ะ โป่งล้อจะต้อง “เฉียด” บ่ายาง ว่ากันเป็น มม. ถึงจะพอใจ ล้อต้องลึก สั่งทำพิเศษให้พอดีกับโป่งล้อ ช่วงล่างเซ็ตใหม่ สำหรับการขับขี่ของแต่ละคน เรียกว่าทำกันพิเศษเฉพาะบุคคล ซึ่ง นาไกซัง จะคุยก่อนว่า ชอบแบบไหน และถึงกระทั่งถามเรื่อง “กรุ๊ปเลือด” ด้วย เพราะเขาจะพิจารณาจากนิสัยของกรุ๊ปเลือด ว่าน่าจะเป็นไปในทางใด ก็เป็นความ “แปลก” ในเชิงจิตวิทยา…
สิ่งที่ นาไกซัง มี และเป็นแบบอย่างที่ดี คือ “การตรงต่อเวลา” และ “ความมีระเบียบวินัยสูง” รวมไปถึง “การตั้งใจทำงาน” อย่างที่สุด 08.00 น. เริ่มลงมือ (ไม่ใช่เริ่มตื่น) ไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ใช่เฉื่อย ทำตลอดเวลา และ “ไม่บ่นโทษ” แม้ว่าตอนที่เขาบินมา อุปกรณ์ที่มีใน Garage ของเจ้าของรถจะไม่ค่อยพร้อมก็ตาม เขาก็ค่อย ๆ ทำไป จนประมาณ 21.00 น. จึงไปนอน แล้วก็เป็นวัฏจักรอย่างนี้จนกว่าจะทำงานเสร็จ และช่วยเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ที่อาจจะไม่ใช่งานของเขาให้จนนาทีสุดท้าย ก่อนจะกลับญี่ปุ่น นับว่าเป็นนิสัยที่เยี่ยมยอด ถ้าได้เห็นเขาทำงานแล้วจะรู้สึกถึงความตั้งใจ…
- ทรงเครื่องเป็น RWB 993 R ด้วยลุค Racing ที่ผสานความดิบและความเรียบร้อยไว้ได้ดี ทำให้รถดูมีมิติ “เซ็กซี่” ขึ้นเหลือเกิน ชุดงานไฟเบอร์ของ RWB ทุกชิ้น ทำมาได้แข็งแรง เรียบร้อยมาก รองพื้นบาง ๆ แล้วพ่นสีจริงได้ทันที ชิ้นงานก็ไม่ต้องแก้ไขเลย ทำสีรอแล้วก็รอ นาไกซัง มาตัดตัวถัง แล้วติดตั้งได้เลย
RWB 993 R
สำหรับคันสีขาว จะเป็น RWB 993 R พื้นฐานเป็น PORSCHE 911 Carrera 2 หรือ C2 (ตัว 2 หมายถึง รถขับเคลื่อนสองล้อ ส่วน C4 หรือ Carrera 4 เป็นแบบขับเคลื่อนสี่ล้อ) ตัวถัง 993 เป็นรุ่นไม่มีเทอร์โบ เกียร์ธรรมดา พวงมาลัยซ้าย สาเหตุที่เล่นกับรุ่นไม่มีเทอร์โบ เพราะรถมีราคาไม่สูงมาก เนื่องจากการทำ RWB จะต้องมีการ “ตัดตัวถัง” เพื่อขยาย Wide Body ถ้าเอารุ่นเทอร์โบ รถมีราคาแพง หายาก ไม่คุ้มที่จะเอามาตัด ส่วนตัวเจ้าของรถก็ไม่ได้ชอบรถที่แรงมาก เอาแบบ “ขับสนุก ขับง่าย แรงแบบคุมได้” และสาเหตุที่ต้องเป็น “พวงมาลัยซ้าย” เพราะ PORSCHE เป็นรถที่เกิดมาพวงมาลัยซ้ายอยู่แล้ว ถ้าเป็นรถพวงมาลัยขวา จะมีปัญหาอยู่ที่ “ตำแหน่งที่นั่ง” คนขับจะต้องบิดตัว เพราะตำแหน่งแป้นเหยียบจะต้องหลบซุ้มล้อมาด้านซ้าย ถ้าเป็นพวงมาลัยซ้าย ตำแหน่งการวางขาจะพอดีมาก นั่งตรง…
สำหรับการทำคันนี้ก็จะเป็นแบบ RWB 993 R คำว่า R คือ Racing ซึ่งก็เป็นแบบที่ RWB ดีไซน์มาเป็นตัวเอก ซึ่งการทำรถในครั้งนี้ จะต้องมีการวาง Concept ไว้ใหม่หมด เพราะความต้องการของ คุณชิน จะเน้นรถที่เรียบร้อย “เนี้ยบ” ไว้ก่อน แต่ปนความ “ดิบ” เล็กน้อย แต่โดยรวมต้องเนี้ยบ รถต้องขับใช้งานปกติได้ ขับไปสนาม วิ่งแข่งแบบสนุกสนานได้โดยไม่มีปัญหา ดังนั้น ระบบต่าง ๆ ของตัวรถจึงต้องคงไว้ จึงยังคงมีกลิ่นของรถบ้านอยู่ ส่วนสไตล์ของ นาไกซัง จะเน้นในความ “ดิบแบบชัดเจน” รถของเขา จะพ่นสีดำด้าน รถเตี้ย ๆ โหด ๆ ไม่มีแอร์ มีโรลบาร์ เรียกว่าแข่งเป็นหลัก และชอบปล่อยให้รถมันดูเลอะ ๆ สไตล์ Rat Look ที่เขาชอบ นี่ก็เป็นที่มาของคำว่า RWB ที่กล่าวไว้ข้างต้น มาจากสัญชาตญาณดิบนั่นเอง หลังจากนั้นก็ต้องมีการปรับเรื่อง Aero Part ในส่วนของ Side Skirt ต้องปรับให้มันเล็กลง เพราะ RWB จะมาเตี้ยมาก ถ้ามาขับในถนนเมืองไทยไม่ได้แน่ จึงต้องให้ นาไกซัง ช่วยปรับใหม่ ส่วนช่วงล่าง ก็ไม่สามารถปรับเตี้ยได้มากนัก ทางคุณชิน ก็ต้องพา นาไกซัง ไปดูถนนรอบ ๆ เมือง แล้วนำมาปรับให้พอจะไปได้โดยไม่ลำบาก และไม่แข็งกระด้างเกินไปเวลาขับใช้งานทั่วไป…
- ด้านหน้าเป็น Air Dam แบบยาง สามารถให้ตัวได้ เวลาโดนอะไรจะได้ไม่แตกเสียหาย ยึดด้วยสกรูเกลียวปล่อยธรรมดา แต่ดูดิบแบบเรียบร้อยมาก ล้อ W WORK รุ่น Brombacher (บรอมบาเชอร์) ที่ผลิตให้กับ PORSCHE โดยเฉพาะ ชุด RWB จะต้องสั่งทำล้อพิเศษ เพื่อให้ได้ Offset และความกว้างที่พอดีกับโป่งล้อ เอาให้ “เฉียด” ขอบที่สุด ล้อหน้ามีขนาด 10.5 x 18 นิ้ว Offset -14 ยาง YOKOHAMA ADVAN SPORT ขนาด 265/35R18
- โป่งมโหฬาร ทำให้ความกว้างด้านหลัง จากโป่งซ้ายสุดไปขวาสุดมีถึง “08 เมตร” เพิ่มความดุดันได้มาก สปอยเลอร์หลังเป็นชุดเต็ม เพิ่ม Down Force ได้มาก คันนี้เป็นครั้งแรกของ นาไกซัง ที่ทำ “สีขาว” ซึ่งลักษณะจะแตกต่างจากญี่ปุ่น ที่เน้นสีแปลก ๆ เปลี่ยนลุคดูโหด ๆ คันนี้ก็จะออกแนวแปลกตาไปกว่าที่เคยทำ
- Side Skirt ต้องแก้ไขนิดหน่อย เพื่อให้รถไม่เตี้ยเกินไป พร้อม Side Rear Canard ติดที่โป่งล้อหลัง เพิ่มแรงกดที่ล้อได้อีกเวลาวิ่งความเร็วสูง
- ล้อ W WORK Brombacher ด้านหลัง ขนาด 12 x 18 นิ้ว Offset -33 ลึกมากกก แถมยังรอง Spacer อีก ขนาดยาง 315/30R18 สังเกตแก้มยาง “เฉียดซุ้ม” สุด ๆ แต่ไม่ติด เพราะได้ปรับแคมเบอร์เป็นลบไว้ ซึ่ง นาไกซัง จะเป็นคนเซ็ตทุกอย่าง รวมถึงความสูง เน้นว่าล้อต้องเฉียดชิดแบบนี้ ตามสูตร RWB
- ภายในเดิม สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว พวงมาลัย MOMO
- ชุดแป้นเหยียบ แผ่นรองพื้น ของ RENNLINE ทั้งสองฝั่ง
- เบาะ OMP ปักยี่ห้อ RWB กล่อง BOSCH MOTRONIC อยู่ใต้เบาะคนขับ กำลังจะรอกล่องโมดิฟายจากญี่ปุ่นอยู่
- เครื่องยนต์ M646 ลิตร เวอร์ชั่นพัฒนาจาก 964 ปรับปรุงท่อไอเสียเป็นแบบ “ออกคู่” (Dual Flow Exhaust System) ในรุ่นปี 1994 จะมีแรงม้า 272 hp ส่วนปี 1995 ขึ้นไป จะเพิ่มระบบ “VarioRam” หรือ ท่อไอดีแปรผันความยาว ทำให้เครื่องเป็น Flat Torque มากขึ้น ตอบสนองดีขึ้น กำลังเพิ่มมาเป็น 285 hp ฝากระโปรงท้าย RWB เจาะช่องระบายความร้อน
- ชุดท่อไอเสีย Fabspeed Motorsports USA แบบไม่มีหม้อพัก โหดร้ายแบบกร้าว ๆ ไปอีกแบบ
- สำหรับ RWB ทั้งสองคัน จะใช้โช้คอัพและสปริงของ ARAGOSTA ที่ RWB เลือกใช้ เซ็ต Spring rate ใหม่ ให้นิ่มลง เหลือประมาณ 9 kg/mm. เพื่อให้ขับได้สบายขึ้น หนึบ ไม่กระด้างจนเกินไป ส่วนคัน 964 จะเซ็ตช่วงล่างสูงกว่าคันสีขาวนี้ พูดถึงระบบช่วงล่างหลังของ 993 จะเปลี่ยนเป็นแบบ Multi-Links ลิงค์เป็นอะลูมิเนียมทั้งหมด แทนระบบ Semi Trailing Arm ในรุ่นเก่า ที่มีปัญหาเรื่องมุมล้อเป็น Toe-Out เวลาเลี้ยวแรง ๆ ทำให้เกิด Oversteer เยอะ จึงต้องเปลี่ยนเป็น Multi-Links ที่ให้การยึดเกาะที่ดีกว่า
—————————————
- RWB 964 ในแนว Classic โป่งเรียบ ไร้รอยต่อ ร่นโป่งต่ำลงให้คลุมล้อ เพราะรถคันนี้ไม่ได้โหลดมาก เน้นใช้งานได้ ชุดพาร์ทเป็นของ RWB 964 โดยเฉพาะ มีกันชนหน้า Side Skirt โป่งหลัง ตัว 964 เป็นรถที่ นาไกซัง ทำบ่อย และทำมานานแล้ว การติดตั้งโป่งจึงใช้เพียง “สายตา” ไร้การวัดด้วยเครื่องมือใด ๆ ว่าด้วย “ประสบการณ์” ล้วน ๆ
RWB 964 Classic
สำหรับอีกคัน เป็น PORSCHE 911 ในซีรีส์ 964 ปี 1991 เป็นรถสเป็กอเมริกา พวงมาลัยซ้าย ด้วยเหตุผลเดียวกัน คันนี้ทำแบบ Classic Style เน้นความเรียบง่าย คลาสสิก ไม่โหดร้าย แต่ก็ยังใช้โป่งมโหฬารเช่นเดียวกัน สไตล์การทำ ทางเจ้าของรถซึ่งเป็นรุ่นน้องของคุณชิน ต้องการเป็นลักษณะเรียบ ๆ ดังนั้น จึงไม่ได้ออกแนวซิ่งเหมือนคันสีขาว ดูเผิน ๆ ก็ยังคงทรงเดิมของรถไว้ ชุดโป่งไม่มีรอยต่อและยิงนอต ทำให้ตีเนียนเป็นชิ้นเดียวกันไปเลย พาร์ทก็ไม่ได้เต็มชุดมากนัก ยังคงลุคเดิม ๆ ไว้อยู่ แต่ถ้าพูดถึง “ความยากง่าย” ในการทำ ดูเผิน ๆ คันสีขาวจะทำยากและเยอะกว่า แต่จริง ๆ แล้ว คันนี้ “ใช้เวลาทำนานกว่า” และ “ทำชิ้นงานยากกว่า” ถ้าทำโป่งเย็บแบบนั้นจะง่ายกว่า เล็งได้ที่แล้วเจาะยึดเลย แต่คันนี้ต้องมีการ “ต่อชิ้นงาน” ให้แนบเนียนที่สุด ขั้นตอนจึงต้องเยอะกว่า สำคัญคือตอน “ขัด” ที่จะใช้เวลา เสร็จแล้วโป๊ปิดรอย ขัดให้เนียน แล้วรออีกประมาณ 1 เดือน เพื่อให้สีโป๊แห้งสนิทจริง ๆ จึงจะรองพื้นและพ่นสีจริงได้ เลยกินเวลาไปหลายเดือน ซึ่ง นาไกซัง ก็มีเทคนิค “ติดโป่งให้เตี้ยลงกว่าปกตินิดหน่อย” เพื่อให้รถดูเตี้ย โป่งอมล้อมากขึ้น โดยที่ความสูงของรถก็ไม่ได้ลดลงมากนัก เพราะเจ้าของรถต้องการขับใช้งานได้สบาย ๆ นั่นเอง จึงไม่สามารถโหลดรถลงมาได้เยอะนัก…
- ล้อ W WORK Brombacher เช่นเดียวกัน ขนาดเดียวกันกับคันขาว แต่ Offset ล้อหน้าเพียง -1 เพราะไม่อยากให้เฉียดซุ้มมากนักตอนเลี้ยว
- โป่งหลัง RWB สังเกตว่าช่วง Curve โป่งจะเนียนมาก เป็นฝีมือเฉพาะตัว กันชนหลัง RWB จะเว้าท่อสองฝั่ง คันนี้รอชุดท่อไอเสียแบบ Dual Exhaust System มาเติมเต็ม
- ความกว้างระดับเกือบ “สองเมตร” ทำให้รถดูแบน โหดร้ายขึ้นมาก ๆ ฝากระโปรงท้ายเป็นไฟเบอร์ ของแต่งจากฝั่งอเมริกา เป็นทรง Duck Tail ซึ่งเจ้าของรถก็มีสปอยเลอร์หลัง RWB ทรงสูงอยู่ แต่ก็คิดว่าจะไม่ใส่ เพราะต้องการให้ดู Classic
- ล้อหลัง ขนาดเดียวกับคันสีขาวทุกประการ แต่รอง Spacer น้อยกว่านิดหน่อย ยังไงล้อชุดนี้ก็ “ได้ใจ” เหลือเกิน
- คันนี้เป็นรถสเป็กอเมริกา เรือนไมล์จึงเป็นหน่วง MPH ถ้าถามว่า เยอรมันก็เป็นพวงมาลัยซ้ายเหมือนกัน แต่หน่วยการวัดระยะของเขา จะเป็น km/h ไม่ใช่ MPH พวงมาลัย MOMO PORSCHE ชุดแป้นเหยียบ RENNLINE ที่เหลือคงไว้เดิม ๆ เพราะต้องการความเรียบง่าย
- เบาะ RECARO กล่อง BOSCH MOTRONIC ที่ถูก Reflash โปรแกรม โดย Superchips ltd. มาแล้ว
- เครื่องยนต์ M64 247 hp (250 PS) ซึ่ง RWB แนะนำว่า ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน เพราะเครื่องเดิมมันทนทานดีมาก (หากบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง) ไปทำส่วนภายนอกจะดีกว่า เพราะสไตล์ของ RWB ไม่ได้เอาแรงบ้าเลือด เอาว่าขับสนุกกว่าเดิม คุมได้ ไม่จุกจิก ก็เพียงพอแล้ว ทำเยอะไปอาจจะไม่สนุกกับมันก็ได้นะ
สาเหตุที่ชอบ RWB เพราะว่าได้ไปเห็นการทำรถ PORSCHE 911 ที่ นาไกซัง ทำแล้วรู้สึกชอบ มันตรงใจที่รูปทรง ได้อย่างที่ผมต้องการ เป็นเอกลักษณ์ส่วนตัว ก็เลยพยายามติดต่อไป ผ่านทางผู้ที่รับงานของ RWB เนื่องจาก นาไกซัง ไม่ค่อยเข้าใจภาษาอังกฤษ และไม่นิยมใช้อินเตอร์เน็ต ก็เลยเมล์คุยผ่านผู้รับงาน ตกลงกันว่า จะทำรถสองคันนี้ โดยให้ นาไกซัง บินมาทำนอกประเทศเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา และเป็นจุดเริ่ม RWB Thailand หลังจากที่ได้สัมผัสกับ นาไกซัง ก็พบว่าเขาทำรถด้วยใจรักจริง ๆ และเป็นคนที่นิ่ง เอาใจใส่งานเต็มร้อย ภาพลักษณ์เขาอาจจะดูขรึม แต่จริง ๆ แล้วเป็นคนอ่อนโยน มีมิตรไมตรี ทำรถออกมาแล้วก็ได้ดังต้องการทั้งสองคัน การเซ็ตอัพช่วงล่างทำได้ดี รถเกาะถนนดีขึ้น ไม่แข็งกระด้าง รวม ๆ แล้วพอใจมากครับ หากสนใจข้อมูลของทาง RWB THAILAND ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.RWBThailand.com ครับ…
Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ก็เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในวงการแต่งรถบ้านเรา ที่ต้องการนำเสนอสิ่งที่ดูแตกต่าง RWB มีสไตล์เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน เท่าที่ผมได้ดูการทำงานของ นาไกซัง จาก Footage ก็เห็นถึงความ “แน่วแน่” ของเขา ออกทางสีหน้า สายตา เวลาทำงาน สำหรับผลงานของเขาทั้งสองคัน จากที่ได้ลองสัมผัสด้วยตัวเอง ที่เห็นชัดคือ “ความเรียบร้อย” คงไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะสิ่งนี้มันสื่อได้ทางสายตา ต้องลองไปชมเอาเอง ประกอบกับการคิดและวางแผนในการโมดิฟายรถอย่างเป็นระบบ มีการศึกษาถึงลักษณะความต้องการของเจ้าของรถ และสภาพถนนเมืองไทย จึงทำให้งานออกมาแล้วถูกใจเจ้าของรถ และไม่ต้องแก้ไขซ้ำอีก แต่สิ่งที่ผมอยากให้เป็นแบบอย่าง คือ “ระเบียบวินัยในการทำงาน” อันนี้สำคัญที่สุด…
ก็ขอพูดถึงอีกแง่มุมหนึ่งของ “นาไกซัง” ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงานกันหน่อย จากการได้มาทำรถที่เมืองไทย เขา “ชอบเมืองไทย” และ “ชอบอาหารไทย” โดยเฉพาะแกงเขียวหวาน เขาจะกินทุกวัน เครื่องดื่มก็เป็น “น้ำมะพร้าวสด” ที่เขากินแล้วสดชื่น การเจาะมะพร้าว เขาก็ใช้ “สว่าน” ที่เจาะรถนั่นแหละ เอาผ้าเช็ดให้ไม่มีเศษผงเหลืออยู่ แล้วก็เจาะฝากินเลย ถามว่าดอกสว่านสะอาดไหม ก็คงไม่ได้สะอาดเต็มร้อย อันนี้ก็เป็นมุมดิบ ๆ ของเขาอีกมุมหนึ่งเหมือนกัน…