เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี / ภาพ: Edd Ellison
Dream Track Devil
RX-3 ROTARY REVOLUTION Present
ความฝันของคนเรา หากเป็นจริงได้ ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ จะทำให้เรารู้สึก “มีความสำคัญ” รถยนต์มันก็เหมือน “ของเล่นเด็กหนวด” ที่ “ชิ้นใหญ่กว่าเดิม” เท่านั้นเอง การทำ “รถในฝัน” ให้เป็นอย่างที่ “เราฝัน” นั้น มันจึงมีความลำบากยากเย็น เพราะมันต้องไม่เหมือนใคร มันต้องออกมาจาก “มโนสำนึก” หรือ “วาดฝัน” แล้ว “วาดแบบ” แล้ว “ลงมือทำ” ที่เรียกกันว่า Customized รถในแบบที่เราอยากได้ แน่นอนครับ RX-3 คันนี้ มันเป็น Dream Racing Car ที่เกิดจากฝัน และความผูกพันจากวัยเด็ก ของชายที่ชื่อ “มะ” ฐิตพงศ์ เผ่าจินดา แห่ง RR หรือ Rotary Revolution ทายาท “อาสุขุม เผ่าจินดา” แห่ง “สุขุมโรตารี่” ที่ได้ร่วมมือกับ TOP FUEL Japan ซึ่งเรียกว่าโด่งดังมากในยุค “ควอเตอร์ไมล์ วัชระภูมิ” และเพราะเหตุใด จึงต้องเป็น RX-3 และเหตุใด จึงออกมาเป็นทรงนี้ ท่ามกลางกระแสสองด้าน !!! บอกเลยว่า “Tales Story” หรือ “เรื่องเหลา” จากคันนี้ มันมีเหตุผลมากมายกว่าความสะใจ ที่ไม่อยากให้พลาดเลยจริงๆ…
Powered by กระแตโมบาย ร้านซ่อมมือถือมาตฐาน ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต & WISE Lubricant
#โคตรซิ่งอเมซซิ่งไทยแลนด์ #AmazingThailandMODS
Nostalgic Rotor
ตำนานโรตารี่ที่รัก ในยุคนั้นก็ไม่เกิน RX-3 ที่ถือเป็น “การแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว” ของเครื่องยนต์โรตารี่ จากการแข่งขันเซอร์กิต JAPANESE GRAND PRIX ที่ RX-3 สามารถขยี้กับ SKYLINE 2000 GT-R “ฮักโกะ” ได้อย่างดุเดือด จริงครับ RX-3 เสียเปรียบ SKYLINE เต็มๆ ในด้าน “ช่วงล่าง” เพราะยังเป็น “แหนบ” อยู่เลย ส่วน ฮักโกะ เขาเป็นแบบ “อิสระ 4 ล้อ” ไปแล้ว แต่อาศัยความ “รอบจัด” และ “น้ำหนักเบา” เลยเป็นข้อได้เปรียบ แต่ในเรื่องช่วงล่างนั้น คงต้องอาศัย “ฝีมือ” มากกว่าอย่างอื่น นักแข่งรุ่นเดอะ อย่าง “Katayama” ที่คลุกคลีกับโรตารี่มาตลอดชีวิต รวมถึงคนอื่นๆ ในทีม ต่างก็ต้อง “งัดฝีมือ” ในการ “สไลด์รถ” เหมือนกับ “โกคาร์ท” เรียกว่า “กระบี่อยู่ที่ใจ” จริงๆ ไม่มีระบบอะไรมาช่วยทั้งสิ้น ถ้าจะเทียบกับ COSMO แล้ว จริงๆ แล้วเขาเหนือกว่า แต่ด้วยความ Mass ใน “ตลาด” ก็ยังไม่สู้ RX-3 ได้ ดังนั้น RX-3 จึงเป็นการจุดประกายของเครื่องโรตารี่ ให้กับฝูงชนทั่วโลก และมันก็ยังเป็นต้นตระกูล “เลข 3” โดยไล่มาตั้งแต่ 323 และมาจนถึง 3 ในปัจจุบัน…
อีกประการ ในยุค “วัชระภูมิ” ทาง “กมลสุโกศล” ตัวแทนจำหน่าย MAZDA ในยุคนั้น ตั้งอยู่ถนน “สามยอด” (ตรงข้าม “สวนรมณีนาถ” หรือ “คุกเก่า”) นำ RX-3 เข้ามาขายด้วย และถูกนำไปโมดิฟาย ในตอนนั้นก็จะมี “สุขุม โรตารี่” (Top Fuel) กับ “วิวัฒน์ ผุงประเสริฐ” (Joy of Rotary) และมี “เรซซิ่ง ก๊อง” มาแจมด้วย ซึ่ง RX-3 ตอนนั้นก็ถือว่าเป็น “รถแรงจากโรงงาน” ที่ตอนแรกการแบ่ง “ความจุ” นั้น เอา c.c. มาคิด เจอ 12A ความจุ 1.2 ลิตร ไปแดกรถลูกสูบไม่เกิน 1.3 ลิตร กระเด้ง ตอนหลังเลยต้องมี “แฮนดิแคป” หรือ “ตัวคูณความจุ” ก็ต้องไปเล่นกับพวก 2.0 ลิตร ก็ยังได้เปรียบอีก มันเลยเป็นรถในตำนานที่ตราตรึงในจิตใจของแฟนๆ โรตารี่ “รุ่นเดอะ” ทุกคน…
“ผิดระเบียบ” แต่ “ถูกใจ”
ที่มาที่ไปของเจ้า Dream Track Devil คันนี้ ก็มาจากความผูกพันกับ RX-3 ในวัยเด็ก ของ “พี่มะ” ROTARY REVOLUTION จึงต้องทวงคืนความฝัน “ผมโตมากับมัน” เป็นคำพูดสั้นๆ ที่ออกจากใจ จริงๆ แล้วจะเล่น RX-7 ในยุค 90 ก็ไม่แปลกอีกต่อไป เพราะใครๆ ก็ทำกัน RX-3 คันนี้จึงถูกนำมาอยู่ในอู่ เพื่อ “ปรุงโฉมใหม่” กันชุดใหญ่ ซึ่งชุด Aero Part ทาง RR ออกแบบเอง โดยเน้น Aero Dynamics เพราะต้องการวิ่งใน “เซอร์กิต” แต่สิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจ คือ “จะต้องคงเอกลักษณ์เดิมไว้” คำตอบ คือ เหล่าเส้นสายตัวถัง ทรวดทรงเดิม และที่สำคัญ “อะไหล่ภายนอกเดิมต้องครบถ้วน” ของ RX-3 มันมีความ “วิจิตร” ตั้งแต่ กระจังหน้า ไฟหน้า ไปยันไฟท้าย เหล่านี้ต้องเดิมตรงรุ่น แล้วทำ Aero Part เข้าหาตัวรถ…
กระแสความคิด ย่อมมีสิ่งที่คัดค้าน กับข้อสงสัยว่า “ทำไมไม่ทำเดิมสไตล์ Retro” เหตุผลก็คือ “ทำแล้วก็เหมือนคนอื่น” โป่งเย็บ ล้อลึก คันนี้มันทำเพื่อสะท้อน “มโนสำนึก” ของตัวเองจริงๆ เป็น Customized “คันเดียวในโลก” ท่ามกลางเสียงเล่าลือ “ไม่เดิม” หรือ “ตลก” แต่ทำไมต้องเหมือนใคร เพราะมันคือ “รถของฉัน” !!!
Pure Rotary
สำหรับเครื่องยนต์ ยังคงยืนยัน 13B-REW แต่ครั้นจะทำ “เทอร์โบ” มันก็เหมือนๆ กันไปหมดอีกแล้ว คันนี้เป็นรถตัวเอง จึงอยากจะตามฝันวันวาน สมัยนั้นต้องเครื่อง N.A. ที่สูดอากาศและน้ำมันผ่านคาร์บู “WEBER 45 IDA” ที่เป็นแบบ Down Draft หรือ “วางตั้ง ดูดลงล่าง” เสียงกระเส่า มันเป็นเอกลักษณ์ที่ตราตรึง และมีหลักกันว่า “เป็นพลังจากโรตารี่จริงๆ” โดยไม่พึ่งระบบอัดอากาศใดๆ ทั้งสิ้น !!! ในยุคที่มันเกิดคืออย่างนี้ จึงต้องเดินตามความฝันเดิม และที่แน่ๆ ต้อง “พอร์ตตรง” เท่านั้น มันถึงจะสุดยอดในความแรงแบบไร้หอย สะเด่าหูตามแบบฉบับ “ฟ้าคำราม” ที่เป็นรุ่นการแข่งขันในอดีต !!!
Customized Front A-Arm VS RX-8 Rear End
ระบบช่วงล่าง ของเดิมคงพึ่งพาอะไรไม่ได้ นอกจาก “ขับเล่น” ถ้าจะแข่งขันเต็มระบบ ของเดิมก็เซตอะไรไม่ได้เยอะนัก จริงอยู่ว่าระบบมันจะพื้นๆ แปลงของรถทั่วไปใส่ได้ แต่มันก็ “ไปไม่สุด” เลยต้อง “สร้างโครงพื้นใหม่หมด” เลาะพื้นเดิมทิ้งเพราะ “ผุ” แล้วสร้างช่วงล่างหน้าใหม่ เป็น Double Wishbone A-Arm “ปีกนกเออาร์มคู่” ยอดนิยมในรถแข่งรุ่น “Open” ที่เป็น Spaceframe เมื่ออดีต ส่วนด้านหลังเป็นแพจาก RX-8 ที่หาง่าย ส่วนสำคัญ คือ “เฟืองท้ายอัตราทดจัด” เพราะ RX-8 ก็เป็นเครื่อง N.A. ใช้อัตราทดสูงถึง 4.7 : 1 จึงเข้าทางกับเครื่อง 13B-REW N.A. ที่เราทำขึ้นมา…
ถามว่าทำแล้ว “ต้องชนะไหม” ??? คำตอบจากเจ้าสำนัก RR ก็คงต้องมีว่า “ชนะก็ดี” เป็นความหวังของทุกคนที่สร้างรถขึ้นมา เป็นหน้าที่ของ Car Builder ที่ต้องสานฝันให้ลูกค้าได้สมหวัง สนุกสนาน แต่เมื่อกลับมาที่จุดประสงค์อันแท้จริงของคันนี้ จริงๆ แล้ว แค่ “ทำเพราะอยากทำ” ที่ตอบสนองความฝันในวัยเยาว์ รถคันนี้ก็ขอขับแบบ “สนุก” และ “เน้นเข้าร่วม” ก็พอ และทำให้ดีที่สุดกับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา…แค่นั้น…ก็สุขใจ… แต่ก็ยังมีปริศนาอยู่อย่างหนึ่งในใจ ถ้ามองย้อนไป รถแข่งสมัย 30 กว่าปีที่แล้ว ทำเวลาได้ “เร็ว” กว่ารถสมัยนี้อีก ก็เลยมีคำถามว่า “คนรุ่นเก่าเขาทำอะไรกัน” และมีอีกคำถาม “ตอนนี้พวกเราทำอะไรกันอยู่” คงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป…
Special Thanks
ROTARY REVOLUTION : Facebook/Rotary Revolution, Tel. 08-9151-1144
Edd Ellison Photo : Facebook/Edd Ellison
X-TRA ORDINARY
ในครั้งอดีต การแข่งเซอร์กิตยุคบุกเบิก ตั้งแต่ยุคสนามบิน มาจนถึง “ยุคสนามพัทยา” เปิดใหม่ ก็จะมีรถแข่ง MAZDA Rotary แจ๋วๆ อยู่มากมาย เรียกว่า “เร็วโคตร” ออกนอกหน้า ยกตัวอย่าง เช่น ทีม “ใจทิพย์” ก็จะมี “อาพนม หนูไพโรจน์” กับ MAZDA Rotary Group C (รถล้อปิด ที่นั่งเดี่ยวกลางรถ) และ “มร.ทากุ” MAZDA RX-7 SA22C Group 5 และที่ถูกกล่าวขานว่า “เร็วที่สุด” โดยการทำเวลาต่อรอบไม่ถึง 1 นาที คือ “ดิ๊ค วอร์ด” ขับ RX-7 Group 5 (น่าจะใช่ ถ้าผิดรุ่นขออภัย แต่ยังไงก็โรตารี่แน่นอน) 0.59.xx นาที เป็นเวลาที่ไม่เป็นทางการ (Unofficial Time) ซึ่งก็ถือว่าเร็วมากๆ ในยุคนั้น ไว้มีโอกาสจะนำภาพเก่าๆ ในยุคนั้นมาให้ชมกันนะครับ…
TECH SPEC
ภายนอก
- ชุดพาร์ททั้งหมด : ROTARY EVOLUTION Customized
- สร้างเฟรมพื้นรถ : JIT AUTO FRAME
ภายใน
- เบาะ : LAMCO
- พวงมาลัย : PERSONAL
- เบลท์ : HPI
- โรลบาร์ : JIT AUTO FRAME
- จอ : LINKS
- วัดแรงดันเบรก หน้า/หลัง : AccuTech BRAKE BIAS
- แผงสวิตช์ : MOROSO
เครื่องยนต์
– รุ่น : 13B-REW
– โมดิฟาย : ROTARY REVOLUTION
– พอร์ต : Direct Port by ROTARY REVOLUTION
– โรเตอร์ : RX-8 CR Ratio 11 : 1
– เอเพ็กซ์ซีล : TOP FUEL for N.A. Rotary
– เฮดเดอร์ : ROTARY REVOLUTION
– ชุดลิ้นเร่ง : IDA PERFECTION 50 มม.
– ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : TURBOSMART
– หัวฉีด : BOSCH 850 c.c.
– รางหัวฉีด : ROTARY REVOLUTION
– หม้อน้ำ : ROTARY REVOLUTION
– ชุดเพิ่มกำลังไฟ : MSD DIS-4
– กล่อง ECU : LINKS Tuned by ROTARY REVOLUTION
ระบบส่งกำลัง
– เกียร์ : RX-8 6 Speed
– เฟืองท้าย : RX-8 4.7 : 1
– ลิมิเต็ดสลิป : MAZDASPEED
ช่วงล่าง
– โช้คอัพ : OHLINS Tuned by ROTARY REVOLUTION
– สปริง : SWIFT
– ช่วงล่างหน้า : ปีกนกคู่ A-Arm by ROTARY REVOLUTION
– ช่วงล่างหลัง : RX-8
– ล้อ : LENSO Project D SPEC-E ขนาด 10 x 18 นิ้ว
– ยาง : MICHELIN PILOT SPORT Racing Slick ขนาด 250-650-18
– เบรกหน้า : BREMBO Monoblock 4 Pistons
– เบรกหลัง : AP RACING 4 Pistons
- มีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโลก แต่ก็ยังคงมีสิ่งที่ “ยึดมั่น” กับอดีต คือ “เสน่ห์ของ RX-3” กับเอกลักษณ์ส่วนตัวที่ต้องคงไว้
- เสน่ห์ของ RX-3 ก็อยู่ที่นี่แหละ กระจังหน้า แว่นไฟ กับ “หน้าฉลาม” ของปี 1973 ที่ออกแบบได้วิจิตร เป็นเอกลักษณ์ที่คู่ควร ราคาก็โดดไปไกลมาก แต่ “ของมันต้องมี” ถ้าคิดจะทำรุ่นนี้
- ชุดพาร์ท ROTARY REVOLUTION ส่งให้ “บรรเจิด” ด้วยไอเดียที่ “ก็กูอยากทำ” ต้องใช้แข่งได้ แต่ต้องไม่ทิ้งเส้นสายตัวรถเดิมอย่างเด็ดขาด
- จะว่าไปก็คล้ายๆ รถแข่ง Group 5 ที่โคตรดึงดูดเมื่อกาลก่อน จะโป่งอลังการแค่ไหน แต่ที่จะต้องคง “ทรง” ดั้งเดิมของตัวรถเอาไว้
- ไม่แปลกที่จะโดนกระแสคัดค้าน แต่แปลกที่กระแสโลกฮือฮา “ใหม่ เก่า เขย่ากันได้ลงตัว” กลายเป็นรถแข่งแนว Modern Retro ที่ทั่วโลกกลับมาฮิตกัน
- ถ้าเป็นสไตล์ Retro จ๋า ก็จะต้องเป็นล้อ 13 นิ้ว ลึกๆ ซึ่งมันได้เพียง “สายโชว์” กับ “ขับเล่น” ถ้าจะหวดกันเต็มข้อ ก็ต้องหาของ “พร้อมรบ” พอใส่ล้อ 18 นิ้ว ซึ่งมันใหญ่กว่าเดิมมาก สิ่งทำ คือ “สร้าง Floor Plan ใหม่ทั้งหมด เพราะพื้นเดิมมันผุเยอะ และ “ตั้งตำแหน่งแพช่วงล่างใหม่ทั้งหมด” โดยกำหนดจากความสูงของรถ และขนาดล้อที่ต้องการไว้ก่อน มันเลยออกมาได้ตามประสงค์
- ไฟท้าย RX-3 แบบ Tea Cup ยอดฮิต ทรวดทรง Coupe ที่ยังคงเส้นสายเดิมไว้ เป็นเอกลักษณ์ของ Retro ที่ “โตมาด้วยกัน” ตั้งแต่ยุค “พ่อยังเฟี้ยว” นั่นแล
- การตั้งระดับช่วงล่าง มีความสำคัญมาก ไม่ใช่ว่าแค่ “โหลดเตี้ย” มากๆ ด้วยการปรับโช้คอัพเพียงอย่างเดียว แบบนั้นมุมช่วงล่างจะผิดมาก ปีกนกจะ “แอ่นปลายขึ้น” ทำให้ไม่มีระยะการทำงาน (Arm Sweep) รถจะไม่เกาะถนน กระด้าง เพราะตัวรถมันจะเกาะถนนด้วย “น้ำหนัก” อย่างเดียว ถ้ารถลอยก็จบกัน แต่ถ้าตั้งระดับช่วงล่างใหม่ให้เหมาะสม แม้รถจะเตี้ย แต่มุมช่วงล่าง “ถูกต้อง” ทำงานได้เต็มที่ การเกาะถนนก็จะดี ขับง่าย และจะไม่มีความกระด้างโครมครามเหมือนรถธรรมดาที่นำมาโหลดเตี้ยเยอะๆ แต่อย่างใด
- เบรก BREMBO ด้านหน้า ขนาดพอดีๆ ไม่ใหญ่เวอร์อลังการ เพราะการขับเซอร์กิต เบรกดีเกินไปจะทำให้คุมยาก ล้อล็อกง่าย อีกอย่าง คันนี้เป็นเครื่อง N.A. ไม่ได้แรงม้ามากอะไรนัก ใส่เบรกใหญ่เกินไปจะยิ่งเป็นภาระเสียเปล่าๆ
- กระจังหน้าพร้อมโลโกแบบนี้ เป็นรุ่นปี 1975 แต่ถ้าจะให้ป๊อปจริงๆ ต้องของปี 1973 ที่เป็นรูปโรเตอร์สุดสวย
- ช่องดักลม ทำให้กลมกลืนกับแว่นไฟเดิม เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ตามยุคสมัย
- โช้คอัพ OHLINS สปริง SWIFT หน้า 14 k ช่วงล่างหน้าเป็น ปีกนก A-Arm คู่ ROTARY REVOLUTION สร้างเอง
- ภายใน The Fast เอามันส์ แผงสวิตช์ MOROSO ปุ่มสีน้ำตาล เป็นตัวปรับแรงดันเบรก TILTON จำเป็นสำหรับเซอร์กิต
- เกจ์วัดแรงดันเบรก หน้า หลัง สำหรับไว้ดูค่าตอนปรับกระจายแรงดันให้ได้ตามต้องการ
- พื้นรถเดิมตัดทิ้งหมด สร้างเฟรมและพื้นล่างขึ้นมาใหม่ โดย JIT AUTO FRAME
- 13B-REW ทำสูตรไร้หอย อยากจะได้อดีตคืนมา เสียง “พอร์ตตรง” ช่างเร้าใจยิ่งนัก โรเตอร์ RX-8 เพราะเป็น N.A. เหมือนกัน
- ชุดดักอากาศ (Air duct) ทำออกมาได้สวย และมีประโยชน์อย่างมาก เพราะดักลมเย็นจากภายนอก ผ่านหน้ากระจังเข้ามาที่ “ลิ้น” ซึ่งลมจะมีความเร็วสูงอีกด้วย ของมันต้องทำ แต่ถ้าเป็นสาย “เปลือยปากแตร” อันนั้นจะเน้น “สวย” เป็นหลัก แต่มันดูดลมร้อนจากในห้องเครื่องเข้าไป ต้องเลือกเอาว่าจะเท่แบบไหน
- “มะซัง” แห่ง ROTARY REVOLUTION