เรื่อง : พายุ อุทุม / ภาพ : CHANIN UP
ในเวลานี้คงไม่มีช่างคนไหนในวงการ Drag Racing ที่จะโดดเด่นไปกว่า “ญา เซอร์วิส” หรือ ปัญญา อร่ามรัศมี เจ้าของรถสถิติบทใหม่แห่งวงการแดร็กไทย ที่มาแรงกับตัวเลข 6.120 วินาที ในงาน Souped Up Thailand Records 2019 ที่ผ่านมา ทำคนเฮสนั่นลั่นสนาม แม้กระทั่งผู้ชมทางบ้านผ่านระบบ Live ก็ตื่นเต้นไม่แพ้กัน ปีนี้ “ช่างญา กลับมาแล้ว” กลับมาอย่างสมศักดิ์ศรี กับ Dragster “กระทิงเขียว” เวอร์ชันล่าสุด ทางทีมงาน XO จึงอยากจะพาแฟนๆไปเจาะลึกเรื่องราวและช่วงเวลาที่พลิกโฉมวงการเเดร็กเตอร์ไทยกันแบบ Q&A ถามจริง ตอบตรง แบบไม่กั๊ก รวมถึงนักขับกระทิงเขียว “จอย เรนเจอร์ ” วสุ ปริยพาณิชย์ ถึงวินาทีแห่งประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในงาน Souped Up ครับ…
ญา เซอร์วิส นักสู้ผู้ไม่ถอย กับวลีตำนาน “ผมรักรถ Drag”
Q: ในคืนวันควอลิฟาย เหมือนเกิดปัญหา วิ่งก็สะดุด มันเกิดอะไรขึ้นครับ…
A: วันแรกเลยที่เราวิ่งอยู่ 7.5 ในตอนนั้น Stall รอบ พร้อม Missfire แล้วคลัตช์สลิปมันถีบกลับ รถมันเลยเดินหน้าไป นาฬิกามันเลยเดิน เสียเวลาไปก็ประมาณ 1 วินาที ซึ่ง 60 ฟุต วันนั้นมัน 2 วินาทีเศษๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วกับรถประเภทนี้ มาตรฐานเลยก็ต้องมี 1.0-1.1 วินาที ไม่เกินนี้ ผมก็หักไปเวลาไป 1.1 วินาที ผมก็คิดว่าเราก็คงวิ่ง 6 กลางๆ ได้อย่างสบายๆ อีกอย่าง รถเกิดปัญหาสะดุดด้วย ก็เลยกลับมาเช็กความเรียบร้อย ผมก็คิดว่า 6.4 วินาที เราทำได้แน่ เราก็พอมีลุ้นที่จะเป็นแชมป์ แต่ถ้ามากกว่านั้น ก็ถือว่าเป็นกำไร แต่ว่าวันนั้นรถมันสะดุด ถ้าไม่สะดุด เวลาก็จะดีกว่านั้น
Q: พี่ญา กลับมาแก้อะไรบ้างครับ
A: เอาจริงๆ คืนนั้นผมไม่ได้นอนเลย ใช้เวลาทั้งคืนในการแก้ปัญหา ยังไงก็ต้องเอาให้ได้ ส่วนเรื่องคลัตช์สลิป ในส่วนนั้นมันเป็นอาชีพเราอยู่แล้ว เราจึงรู้ทางแก้ไขอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยากสุด คือ “สิ่งที่มองไม่เห็น” จากอาการรถสะดุด ซึ่งเราไม่รู้เลยว่ามันเป็นอะไร เพราะมันมีหลายองค์ประกอบมาก เช่น กล่อง, คอยล์, ระบบไฟต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเราได้เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด…
Q: ในวันชิงมีการ Setting ยังไงครับ ถึงได้ออกไปเนียนขนาดนั้น…
A: คลัตช์อย่างเดียวเลย เราตั้งได้เหมาะสมลงตัวมากกว่า จะให้ออกแรงเกินไปก็ไม่ดี เพราะเครื่องแรงบิดมันเยอะมาก สังเกตตอนที่รอบชิง ออกได้อย่างนุ่มนวล คือ มันพุ่งออกไปแต่ช่วงปล่อยคลัตช์ รถไม่มีอาการสะดุ้งเลย แต่เวลาใส่เกียร์ 2 คลัตช์จับเต็มร้อยเลยนะ ล้อหน้ายกลอยเลย…
Q: เลยมีประเด็นที่ว่า รถคันนี้หน้าลอยตอนออกตัว จนทำให้เลขเวลามันเพี้ยน
A: ถ้าดูให้ละเอียดและเด็ดขาดจริงๆ รถผมไม่ได้ยกล้อตอนออกตัวนะครับ แต่มันยกช่วงเกียร์ 2-3 ไปแล้ว เพราะฉะนั้น มันไม่เกี่ยวเลย เวลา 60 ฟุต มันก็อยู่ 1.0 วินาที ตามมาตรฐานรถ Dragster อยู่แล้ว อันนี้ผมมาบอกให้เข้าใจตรงกัน ส่วนตัวผมว่าสนามคลอง 5 ทำเซ็นเซอร์ไว้รับกับรถที่ยกล้อหน้าลอยตอนออกตัวอยู่แล้ว เพราะว่าไฟ Stage ดับเมื่อไร นาฬิกาเดินทันที ไม่ว่าคุณจะยกล้อหรืออะไรก็ตาม ถ้าล้อหน้าหนีเซ็นเซอร์เมื่อไร นาฬิกามันเดินทันที…
Q: ตอนออกตัวไป พี่คิดว่าจะได้เวลาเท่าไร
A: ตอนออกตัวไป ผมคิดว่า 6.4 วินาที วิ่งได้แน่ๆ แต่ช่วงเกียร์ 2 ที่รถยกล้อ ขายึด Wheelie Bar มันหัก รถเลยเสียอาการนิดนึง พอเสียอาการ รถมันจึงแถเข้าซ้าย แต่ “จอย” ก็ยังแก้กลับมาได้ ก็ลุ้นต่อว่าอย่าถอนคันเร่ง แต่จากที่ฟังเสียง “จอย” ก็ไปเต็ม เวลาก็ออกมาสวย ซึ่ง 60 ฟุต ทำได้ 1.0 วินาที ตามเป้า ส่วนช่วง 201 เมตร ก็ทำได้ประมาณ 4.0 วินาที ความเร็วประมาณ 300 กว่า ๆ แล้ว เข้าเส้น 402 เมตร ด้วยเวลา 6.120 วินาที ความเร็ว 370 km/h ซึ่งโชคดีที่มันลงตัวทุกอย่างพอดี…
Q: แสดงว่า ในวันควอลิฟายที่เกิดปัญหา มันกลับกลายเป็นแรงผลักดัน จากวิกฤติเป็นโอกาสใช่ไหม
A: ดีหลายอย่าง ดีเรื่องคู่แข่ง ดีเรื่องกลับมาเก็บรถ ซึ่งหลายๆ องค์ประกอบ มันทำให้เราเป็นแบบนั้น ซึ่งถ้าคิดมุมกลับ เกิดมันไม่มีปัญหาอะไร แล้ววิ่งได้แค่ 7.5 วินาที แสดงว่าเราทำรถไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ผมคงสั่งให้ทุกคนกลับบ้านนอน เลิกแข่ง เพราะเราไม่เห็นเป้าหมายอีกต่อไป แต่พอมันเกิดปัญหาแล้ว มันต้องแก้ มันต้องดี!!! นั่นคือแรงผลักดันที่ทำให้ผมยอมอดนอน ทำงานยันสว่างทุกวัน จนทำให้ผมกลับมาได้
Q: มาถึงเรื่องเครื่องยนต์ คนยังคิดว่าเป็น UZ ซึ่งจริงๆ มันคือเครื่องอะไร แล้วมันดียังไงถึงเลือกใช้
A: เป็นเครื่อง Chevy small block รุ่นเก่าด้วย เอามาโมดิฟายตามภาษาเรา ซึ่งก่อนหน้านี้เราใช้ 2UZ-FE อยู่ แต่การโมดิฟายมันแพง ของต้อง Custom ทุกชิ้น ราคาก็ยิ่งสูง เสียเวลาเยอะด้วย แต่กับของ Chevy มันมีเยอะมากๆ มันอาจจะไม่ได้ถูกกว่ามากนัก แต่ได้ “ความสะดวก” ในการเลือกของ ส่วนความแข็งแรง ก็สไตล์เครื่องอเมริกันที่ “ทอร์คเยอะ รอบไม่มาก” ก็เลยทนกว่า รอบผมเปิดไม่หนักครับ แค่ 7,000 rpm เท่านั้น !!!??? เราก็เน้นใช้แรงบิด รูปแบบเหมือนเครื่องดีเซลนั่นแหละครับ ซึ่งรายละเอียดก็เคยลง Souped Up Special มาแล้ว แต่ตอนนี้ก็ขยับสเต็ปขึ้นมา หลักๆ ก็เรื่องเทอร์โบ เปลี่ยนจาก GReddy T88-38GK Custom มาเป็น PRECISION PRO MOD 94 ครับ สองลูกเลย ส่วนจุดเด่นก็น่าจะเป็นคลัตช์สลิป ที่ผมทำขึ้นมาเอง ในแบรนด์ YRS นั่นแหละครับ ที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการออกตัว
Q: พี่ญาครับ ตอนนี้ 6.1 เราไม่คุยกันเเล้ว เพราะ พี่ญา เเขวนเวลากันขนาดนี้ เราคุยกันที่ 5 วินาที โดยศักยภาพคันนี้แล้วมันวิ่งได้หรือไม่
A: ก็ถ้าเอาหลาย ๆ อย่างมารวมกันเหมือนวันควอลิฟายที่ผมวิ่ง 7.5 วินาที คนอื่นเห็นเวลาตามนาฬิกา แต่ผมไม่ได้มองแค่นี้ ผมมองที่ 6 กลาง ๆ เราเห็น ซึ่งคนอื่นไม่เห็น แต่ที่ผมกล้าบอกเดี๋ยวผมจะวิ่ง 6 กลางให้ดู เพราะผมเห็นว่าทำได้ ทีนี้เวลา 6.120 วินาที ผมมองว่ามันยังมีข้อบกพร่องของเครื่องยนต์ แล้วก็เรื่องอะไรอีกหลายๆ อย่าง มันน่าจะต้องเพิ่มอีกสัก 10% ถ้าคิดแล้ว ตอนนี้วิ่ง 6.1 แล้วเรามาเพิ่มสมรรถนะทุกอย่างให้มันเต็มอีก 10% ผมว่า 5.99 วินาที เราวิ่งได้แน่นอน แต่จะได้ 5.8-5.7 วินาที อะไรนี้ก็คือกำไร ทีนี้เราก็มาดูความพร้อมของทุกอย่าง แต่ว่า ผมก็ยังไม่พูด ณ ตอนนี้ก็แล้วกัน ผมวิ่ง 7.5 วินาที ก็ตามนี้ไป ส่วนเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็อยากได้ 5 วินาที ครับ แต่จะทำได้ไหม ค่อยว่ากันอีกที ปกติตัวผมเองจะมีนิสัย “ทำได้แล้วค่อยพูด” ครับ ไว้รอดูผลงานกันดีกว่า
เชื่อว่าแฟนคลับทุกคน รวมถึงเพื่อนๆ สายแข่งในวงการ มองว่า “ญา เซอร์วิส” ทำได้!!! ซึ่งความสำเร็จจะเกิดไม่ได้อีกเช่นกัน ถ้าหากขาดคนที่นำรถไปสู่จุดหมายคนนี้ “จอย เรนเจอร์” ซึ่งวันนี้ทางทีมงานก็ได้รับเกียรติให้มาสัมภาษณ์จากใจ ถึงเรื่องราวระหว่างการแข่งขันและความรู้สึกหลังทำสถิติใหม่ได้
Q: เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับการขับบ้าง
A: ยอมรับเลยครับ ว่าผมไม่เคยขับคลัตช์สลิปมาก่อนเลย ได้ลองซ้อมอย่างเดียว แต่พอควอลิฟาย ตอน Stall รอบออก คลัตช์สลิปจะถีบขาเราออกมา ผลก็คือ รถพุ่งออกไปเลย ตกใจครับ ไม่เคยเจอแบบนี้ ซึ่ง พี่ญา ก็สอนเทคนิคผมใหม่ เราก็ต้องฝืนกดค้างไว้ ในวันจริง หลังจากออกตัวผมรู้สึกเซอร์ไพรส์มาก เพราะมันพุ่งออกเนียนๆ แต่พอเปลี่ยนเกียร์สอง หน้าลอยเลยครับ เพราะรถมันแรงมากจริงๆ ผมเลยรีบเปลี่ยนเกียร์ขึ้นไปต่อเนื่อง หรือ “สับทิ้ง” เพื่อให้ครื่องมันแรงถอยแทนการยกคันเร่ง เพราะว่าตามจริงแล้ว เราจะเปลี่ยนเกียร์ที่ 7,000 rpm ทุกเกียร์ แต่อันนี้ผมสับทิ้งไปจนถึงเกียร์ 4 -5 ซึ่งเครื่องมันก็ไม่ค่อยยอมถอยเลยนะครับ แรงบิดเยอะมาก พอช่วงกลาง รถเริ่มเป๋ออกไปบ้าง ผมก็พยายามประคอง แต่พอเข้าเส้นไปแล้ว ผมคิดในใจว่าได้แน่ 6 กลางๆ แต่ตอนจอด น้องๆ ทีมงาน มาบอกว่า “6.1 เว้ยพี่” ผมก็ไม่เชื่อ บอกไอ้บ้า มันจะวิ่ง 6.1 ได้ไง เป็นไปไม่ได้หรอก” ก็ดีใจเกินคาด พูดไม่ออกเลยครับ
Q: จากความรู้สึกของ “คนปลายเส้น” ที่มองว่ามันเร็วมาก ที่กลัวก็ระยะเบรกที่แหละ มีกังวลไหม
A: 371 km/h ครับ เร็วมากๆๆๆๆๆๆ แต่หมดห่วงเลยครับ เพราะปีนี้ใช้ร่มสองใบ ถ้าเป็นปีก่อนก็จะใช้เบรกเยอะ เพราะยังเป็นร่มใบเดียว เลยทำให้เฟรมกระแทกพื้นจนต้องสร้างเฟรมใหม่ ถ้าถามว่าหากวิ่ง 5 วินาที ก็คิดว่ายังได้ครับ ส่วนตัวคิดว่ารถไหวแล้ว ถ้าทุกอย่างพร้อม แล้วรถเราไม่มีเสียอาการใดๆ ผมก็ไปสุดคันเร่งละครับ
Q: หลายคนอยากรู้ว่า พี่ญา พูดอะไรกับ จอย ก่อนจะออกตัว
A: ก็จะมาให้กำลังใจ พี่ญา ก็จะเดินมาจับมือบอกว่า ขับดี ๆ คือ ไหวก็ไป ถ้าไม่ไหวก็ยก อะไรประมาณนี้ทุกครั้งครับ จะไม่ให้เสี่ยง และเราจะมีกฎที่รู้กัน คือ ผมจะดูคำสั่ง พี่ญา แค่คนเดียว เพราะถ้าดูหลายคน มันจะสับสน และเกิดอันตราย แล้วพอเราอยู่ในรถ เราจะไม่เห็นอะไรเลย นอกจากข้างหน้าเท่านั้นครับ เพราะว่าผมใส่ HANS ด้วย มันก็จะหันไม่ได้ ผมก็จะต้องมองแค่พี่ญา คนเดียว บอกเบิร์น บอกพร้อม ผมก็พร้อมไป แต่ถ้าสั่งหยุด ผมจะไม่ออกเด็ดขาด
Q: ฝากผลงานหน่อยครับ
A: ส่วนตัวเวลา 6.120 วินาที มันเกินคาด แล้วความสำเร็จนี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี YA SERVICE หรือ YRS ประกอบไปด้วย พี่ญา และทีมงานครับ ซึ่งผมเองเป็นแค่คนขับเท่านั้น ในเมื่อช่างทำรถออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด ให้คนขับขับได้ง่ายที่สุด ซึ่งผมก็ต้องทำตัวเองให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะทุกครั้งที่จะลงแข่ง พี่ญา จะค้นหาและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เราจึงต้องตามให้ทัน ผมเองก็ไม่ใช่นักแข่งมืออาชีพที่แข่งบ่อยๆ เป็นอย่างที่ พี่ญา พูดเลยว่า ผมชอบแดร็ก ผมชอบความเร็ว แล้วก็อีกอย่างเพราะผมมีโอกาสที่ดี ที่ พี่ญา ให้มาขับ ปีหน้าฝากช่วยเชียร์ ญาเซอร์วิส ด้วยนะครับ ก็คงจะต้องใช้คำว่า Go Five เราก็จะพยายามทำให้ถึงจุดหมาย ผมว่าทุกคนที่มาแข่งต่างทุ่มเทเต็มที่ ก็อยากเห็นเวลาที่สวยๆ กันทุกคน ก็ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยด้วย หากทุกอย่างพร้อม ลงตัวหมด ตัวผม และ YA SERVICE จะทำให้เป็นจริงครับ…