SMITHS VINTAGE CLUB

 

ถ่ายทอดตัวตนผ่าน

SMITHS VINTAGE CLUB

SMITHS VINTAGE CLUB ไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบความวินเทจสุดคลาสสิก โดยที่สินค้าและการตกแต่งภายในร้านมีกิมมิกอยู่ที่การดึงเอาตัวตนของผู้ก่อตั้ง อย่างสันสรวิสิษฎ์ บรรจงลักษมีมาเนรมิตให้กลายเป็นคอมมิวนิตี้ยอดฮิตของวินเทจไบค์เกอร์ที่เจ๋งที่สุดในมหานคร

เรื่อง : สัญชวัล จินดารัศมี  ภาพ : สุภชัย รอดประจง

SMITHS VINTAGE CLUB มาจากชื่อวงดนตรีร็อค “THE SMITHS” จากประเทศอังกฤษ ในยุคปี 1982 และเป็นวงโปรดของคุณสัน ผู้ก่อตั้ง เขาเล่าว่า ถ้าเขาจะใช้ชื่อว่าสัน วินเทจคลับอาจจะดูเชยไป จึงย้อนกลับมามองหาสิ่งที่ตนเองชอบ จึงจบลงที่ชื่อนี้ และกลายมาเป็นชื่อแบรนด์ที่ติดหูในกลุ่มวินเทจไบค์เกอร์ ที่เป็นคอมมิวนิตี้ที่รวบรวมเอากลุ่มผู้ชายที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเร็วบนสองล้อ รักการแต่งตัว และมีมอเตอร์ไซค์วินเทจ ถือเป็นแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ของกลุ่มๆ หนึ่งไว้ด้วยกัน

คุณสัน เริ่มต้นทำร้านนี้ได้ไม่นาน แต่ความผูกพันของเขากับความวินเทจเริ่มต้นขึ้นเมื่อไรไม่ทราบได้ รู้ตัวอีกทีเขาก็กลายเป็นเด็กหนุ่มที่หลงรักและมีความฝันที่อยากจะเป็นเจ้าของมอเตอร์ไซค์วินเทจสักคัน แฟชั่นหรือสิ่งรอบตัวหลายอย่างของเขาก็คือสไตล์วินเทจ

แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ใช่สายขี่ออกทริปอย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับเป็นสายสะสมที่สามารถนั่งมองมอเตอร์ไซค์คันโปรดได้เป็นวันๆ เช่นเดียวกันกับความเป็นคอมมิวนิตี้ตรงนี้  ตัวตนของเขาเสมือนขั้วแม่เหล็กที่ดึงดูดเอากลุ่มคนที่ชื่นชอบในสไตล์เดียวกัน มานั่งดูสิ่งที่ชอบเหมือนกันได้โดยที่ไม่ต้องทำอะไรมากมายในแง่ของธุรกิจ

มอเตอร์ไซค์ และแฟชั่นวินเทจ

ที่รวมของสุดเจ๋งสายไบค์เกอร์

เมื่อมองเข้าไปภายในร้าน เราจะเห็นการผสมผสานระหว่างเก่าและใหม่ของสไตล์เสื้อผ้าในร้าน ถือเป็นการประยุกต์แฟชั่นที่ลงตัว ทั้งหมดมีทั้งสินค้าเก่า สินค้าใหม่ที่ทำให้ดูเก่าในสไตล์วินเทจ และบางชิ้นก็เป็นของลูกค้าฝากขาย แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น คือแฟชั่นสุดเจ๋งของสายไบค์เกอร์ตัวจริง ซึ่งภายในร้านมีทั้งเสื้อผ้าแบรนด์ของทางร้านเอง และแบรนด์แฟชั่นวินเทจชั้นนำ อย่าง DOUBLE RL ซึ่งถือเป็นแบรนด์ชั้นนำของ Ralph Lauren ในสไตล์วินเทจ ซึ่งงานดีไซน์จะได้รับอิทธิพลจากเสื้อผ้า American Workwear ในช่วงปี 1900 ซะเป็นส่วนใหญ่

คุณสัน เลือกจัดวางสินค้าทุกอย่างตามความชอบส่วนตัว เพื่อแสดงความเป็นตัวตนของเขาออกมาอย่างเต็มที่ ไม่ยากในการคิด และไม่ยากในการลงมือทำ ด้วยทุกอย่างนั้นมาจากสิ่งที่รักจริงๆ ดังนั้น ทุกอย่างที่สื่อสารออกมาผ่านงานดีไซน์ ทั้งตัวสินค้าและการตกแต่งร้าน  จึงเป็นการสร้างแบรนด์ให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงตัวตนของ Smith Vintage CLUB โดยที่ไม่ต้องทำอะไรมากมาย

ส่วนรถมอเตอร์ไซค์คัสตอมหลากหลายรุ่นที่เราเห็นกันนี้ ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของทางร้าน ด้วยตัวคุณสันเอง เป็นผู้ที่รักและชื่นชอบในมอเตอร์ไซค์อย่างมาก ทำให้การเลือกรถเข้ามาแค่ละคันนั้น เชื่อได้เลยว่าสายไบค์เกอร์จะต้องประทับใจ เพราะมีรุ่นที่หายากนับ 10 คัน ไม่ว่าจะเป็น Norton Dominator Model 88 ปี 1962, BMW R100, BMW R51, BMW R90S หรือ Harley-Davidson Shovel ปี 1972 ซึ่งส่วนมากเป็นรถที่ได้รับการคัสตอมที่เจ้าของชื่นชอบ ซึ่งบรรดามอเตอร์ไซค์เหล่านี้ คุณอาจจะเซิร์ชภาพจากอินเทอร์เน็ตดูที่ไหนเมื่อไรก็ได้ แต่ที่ยากกว่าการได้มาซึ่งรถมอเตอร์ไซค์รุ่นที่หายากนั้น คือ การที่คุณได้สัมผัสด้วยตาของคุณเองจริงๆ

PLANNING DATA & MATERIALS

Hangar เอกลักษณ์ในการตกแต่ง

ของ Smith Vintage CLUB

เนื่องด้วยระยะเวลาในการทำ Smith Vintage CLUB เดอะแคมป์ตรงนี้ กระชั้นชิด คุณสัน แทบจะไม่ต้องคิดอะไรมากมายในการดีไซน์ร้าน เพียงแค่มองไปที่ความชื่นชอบของเขาเป็นสำคัญ หลังจากนั้นก็ดึงสิ่งเหล่านั้นมาใช้ จนทำให้ตัวตนของร้านนี้โดดเด่นกว่าใคร ด้วยตัวอาคารในแบบ Hangar หรือโรงเก็บเครื่องบิน คือโครงหลักของที่นี่ ก่อนที่จะกลายมาเป็น Smith Vintage CLUB ที่สวยงามคลาสสิกแบบนี้ เริ่มต้นมาจากโครงเปล่า มาพร้อมหลังคา และพื้นให้เท่านั้น คุณสันตั้งใจจำลองโรงเก็บเครื่องบินนี้ให้ออกมาเสมือนจริงมากที่สุด

ด้วยโครงหลังคาเป็นแนวโค้ง ทำให้การตกแต่งภายในนั้นยากกว่าห้องสี่เหลี่ยมปกติ  การที่จะสร้างสรรค์ให้ออกมาสวย และมีเอกลักษณ์ได้เช่นนี้ ถูกจำกัดไว้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างในการดีไซน์ โดยเฉพาะการยกมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาโชว์ ทำให้สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในร้านเมื่อคุณเดินเข้ามานั้น คือมุมมอเตอร์ไซค์ที่ตั้งอยู่ทางผนังขวามือ

ด้วยโจทย์ของเดอะแคมป์ คือสไตล์วินเทจ ฉะนั้น คุณสัน จึงได้มองย้อนกลับไปในความวินเทจว่า วัสดุที่จะเลือกนำมาใช้นั้น มีเหลืออยู่ไม่กี่อย่าง คือ อิฐ เหล็ก ไม้ ปูน เขาจึงเลือกใช้ไม้กับเหล็ก ให้ร้านดูมีความเป็นธรรมชาติ ผสานทั้งความแข็งและความอ่อนไว้ในตัวเอง พร้อมกันนั้นยังมีผนังอิฐมอญหลังเคาน์เตอร์ ซึ่งเป็นผนังที่ติดโลโกชื่อร้านเอาไว้ ทำให้สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของความวินเทจมากขึ้น

คุณสันบอกกับเราว่า อันที่จริงความเป็นวินเทจนั้น มันอยู่กับเราตลอดมา ไม่ใช่แฟชั่นที่มาไวไปไว เพราะของที่เป็นวินเทจ ทุกอย่างกว่าจะเกิดความวินเทจขึ้นมาได้ มันมีความซับซ้อน ตั้งแต่กระบวนการคิด กระทั่งขั้นตอนการทำ โดยเฉพาะกับมอเตอร์ไซค์วินเทจ ที่มีทั้งความสวยงามร่วมสมัย และรายละเอียดที่น่าทึ่ง ที่สำคัญ วินเทจคือสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไป ฉะนั้น ความวินเทจไม่เคยหายไปไหน แต่วินเทจคือแฟชั่นที่อยู่กับเราตลอดมาและตลอดไป ทุกยุคทุกสมัย

Smith Vintage CLUB

ตั้งอยู่ที่ตลาดเดอะแคมป์

เปิดให้บริการ

อังคารพฤหัสบดี เวลา 16.00-20.00 .

และศุกร์อาทิตย์ เวลา 14.00-22.00 .

บรรยากาศภายในร้าน Smith Vintage CLUB ด้วยโครงหลังคาเป็นแนวโค้ง ทำให้การตกแต่งภายในนั้นยาก แต่ก็ทำออกมาได้อย่างลงตัว

นอกจากเสื้อผ้าสไตล์วินเทจแล้ว บรรดามอเตอร์ไซค์คลาสสิกเหล่านี้ ยังเป็นของสะสมที่เจ้าของร้านนำมาตกแต่ง และบางคันก็จำหน่ายด้วย

เสื้อ T-Shirt ดีไซน์ของทางร้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

BMW R100 คัสตอมในสไตล์ Bobber ที่ลุคออกมาจะดูโหดๆ หน่อย

ผนังด้านในก่อด้วยอิฐมอญสีส้ม ตกแต่งด้วยป้ายไฟชื่อร้าน สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายของความวินเทจ

ตัวอาคารในแบบ Hangar ที่คุณสัน ตั้งใจจำลองโรงเก็บเครื่องบินนี้ให้ออกมาเสมือนจริงมากที่สุด

สรวิสิษฎ์ บรรจงลักษมี กับนิยามที่ว่าคุณไม่ใช่แค่มีรถสวยอย่างเดียว คุณต้องแต่งตัวดีด้วย เพราะมันคือไลฟ์สไตล์ที่เชื่อมโยงกัน

ที่ยากที่สุดไม่ใช่การออกแบบ แต่เป็นการนำเจ้าคลาสสิกไบค์เหล่านี้ขึ้นไปจัดโชว์บนชั้นเหล็กนี่แหละ เพราะด้วยพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด

Levi’s Leather Moto Racer Biker Jacket แบรนด์ชั้นนำจากอเมริกา

เสื้อผ้า และกระเป๋า DOUBLE RL แบรนด์แฟชั่นวินเทจชั้นนำจาก Ralph Lauren ก็มีจำหน่ายที่นี่

หมวกเท่ๆ จาก Deus Ex Machina สำนักแต่งมอเตอร์ไซค์ชื่อดังจากออสเตรเลีย

หมวกกันน็อกดีไซน์เก๋ๆ ของทางร้าน Smith Vintage CLUB ที่ร่วมมือกับ Elders Helmet หมวกกันน็อกแบรนด์ไทย ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ

Triumph Bonneville T120 ปี 1995 หนึ่งในคอลเลกชันสะสมของเจ้าของร้าน