SOLARA Drag Rocket – Builder AOR 77 SHOP & MRX PERFORMANCE

Souped Up Special : XO 259 (SOLARA AOR 77)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี                             
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)

ใหม่ล่าสุด จะสุดประเทศ สุดซอย สุดอยู่ อะไรหรือจะมาสู้ #สุดขอบฟ้า ในฉบับนี้กันได้ เปิดซิงตัววิ่งทางตรงคันใหม่ SOLARA ที่ดูทรง “โซลั้นลา” กันมากมาย ด้วยความแปลกใหม่ที่ใส่เครื่อง “ดีเซล” ในบอดี้ “สปอร์ต” แบบที่ยังไม่มีใครทำ “ธรรมดาโลกไม่จำ” ต้องแหวกแนวกันบ้าง “เสี่ยสั่งลุย” เน้นอุปกรณ์ Hi-Performance แบบสุดๆ ทั้งคัน มองข้ามไปถึงความ “ชัวร์” และ “ปลอดภัย” อันนี้แหละที่สมควรจะทำ ปรุงความแรงโดย AOR 77 SHOP สายเฟรม ผนวกกำลังกับ MRX PERFORMANCE ไส้ในซิ่ง เรียกว่าเสร็จหมาดๆ เราได้ไปถ่ายกันตอน “แตะรันเวย์” กันเลย ไม่รอช้า เรามีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากกันเช่นเคยครับ…

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome

Why’s Space Frame
เรามาคุยกันถึงเรื่องเบาๆ แก้ร้อนกันดีกว่า เรื่องของรถแข่งแบบ Spaceframe ที่บ้านเราเรียกย่อๆ ว่า “รถเฟรม” จริงๆ แล้ว Spaceframe ก็มีการสร้างเป็นรถแข่งในรูปแบบอื่นมากมาย แต่เราจะคุ้นกับที่สร้างมาเพื่อการแข่งขัน Drag Racing เป็นหลัก นอกจากจะเบาและแข็งแรงอย่างที่ทั่วไปรู้กันแล้ว เราลองมาดูว่า คุณสมบัติ และ “เหตุผล” ที่เขาต้องสร้างรถเฟรมขึ้นมานั้น เพราะอะไร ???

ต้องการหนีความเป็น Production Car/Stock Body
ปกติแล้ว การทำรถแข่งในลักษณะทั่วไป ก็จะนำรถบ้าน หรือ Production Car มาปรับแต่งเพื่อแข่งให้เต็มเหนี่ยว ซึ่งโดยมากก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะรถพวกนี้มันซื้อได้ทั่วไป ราคาไม่แพง โดยมากรถ Drag ก็ไม่พ้น กระบะ, CIVIC, CEFIRO etc. แล้วแต่จะเอาสายไหน แต่ด้วยความที่รถเขาสร้างมาเพื่อใช้งานด้วย จึงติดที่ “ข้อจำกัด” ในการโมดิฟาย เพราะโครงสร้างหลักเขาทำมาอย่างนั้น แม้ว่าจะพยายามทำแค่ไหน ก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น…
< สรีระรถยนต์ : ส่วนมากจะเป็น “รถบ้าน” พอมาทำรถแข่งในระดับ Open มันก็อาจจะไม่เหมาะสม ไม่ลู่ลมเท่าที่ควร เพราะรถแข่งระดับนั้นต้อง “หมอบ” เพื่อลดการต้านลม จะไปแก้รูปทรงรถก็ดูจะยาก กติกาในรุ่นทั่วไปก็ไม่ปล่อยให้ทำจนเป็น “ตัวประหลาด” ยังมีความเป็น Production Car อยู่ ส่วนใหญ่ก็ควบคุมกติกาเรื่องนี้กันในระดับรุ่น SUPER ไปถึง PRO ที่ไม่อนุญาต Spaceframe ครับ…
< รูปแบบของช่วงล่าง : ปกติแล้ว Drag Racing ถ้าเป็นรุ่นใหญ่ๆ ยังไงก็ต้องเป็นแบบ คาน + 4 Links เป็นสากล แต่ส่วนใหญ่รถที่เอามาแข่งกัน ถ้าเป็นรถเก๋งขับหลัง โดยมากก็จะเป็นระบบ “อิสระ” ที่ได้เปรียบในด้านการ “เลี้ยว” (เว้นแต่พวก Retro ที่จะเป็นคานแข็งอยู่) แต่จะเสียเปรียบพวก 4 Links หากจะแก้เป็น 4 Links ก็ต้องเป็นระดับ PRO (อ้างอิงตามกติกา Souped Up Thailand) ซึ่งก็ต้องแก้ไขกันมากหน่อย เพื่อให้มันอยู่ในรถ Stock Body เดิมๆ ให้ได้ โดยไม่ผิดกติกา…
< น้ำหนัก : ปกติแล้วถ้าจะลดน้ำหนักในรถ Stock Body สิ่งที่ทำได้ในด่านสุดท้าย ก็คือ “ตัด” เอาชิ้นส่วนที่คิดว่าไม่จำเป็นออก แต่มันก็ต้องคำนึงถึง “ความแข็งแรง” ด้วยครับ ว่าจุดไหนควรตัด จุดไหนไม่ควรตัด เพราะมีผลกับสมรรถนะและความปลอดภัย !!! มันก็ตัดได้ระดับหนึ่ง ตัดมากไปก็ไม่แข็งแรง จึงยังมีข้อจำกัดเหมือนกัน…

Spaceframe ตอบโจทย์ทุกอย่างที่ต้องการ
เมื่อรถแบบ Stock Body มันมีข้อจำกัด แต่คนเราต้องการ “เหนือลิมิต” ที่รถมันให้ไม่ได้ ในระดับ Open จึงมีการใช้รถ Spaceframe ที่สร้างมาเพื่อการแข่งขัน “เท่านั้น” สามารถ “สร้างได้อย่างอิสระ” ตามความต้องการของทีมแข่ง จะเอาบอดี้อะไรก็ได้ จะจัดวาง เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ในลักษณะไหนก็แล้วแต่ พูดง่ายๆ คือ จะเอาแบบไหนก็สร้างขึ้นมาเลย ก่อนสร้างก็จะดูกันก่อน ว่าจะครอบบอดี้อะไร หมอบได้แค่ไหน เครื่องเป็นรุ่นไหน ดีเซล เบนซิน และหาจุดวางที่เหมาะสม น้ำหนักก็เบากว่า เพราะสามารถ “เลือกวัสดุได้” รถ Stock Body เราเลือกวัสดุไม่ได้ ผู้ผลิตสร้างมายังไงก็ต้องยังงั้น แต่รถเฟรมมันเลือกได้ เอาเป็น “โครโมลี” ตามสมัยนิยมก็จะเบาลงไปจากเดิม จริงๆ แล้ว รถเฟรมมันไม่ได้เข้าใจยาก ถ้าคนที่สร้างเป็นประจำอย่าง AOR 77 SHOP ก็จะรู้หลัก แล้วก็สร้างตาม Plan ที่วางไว้แค่นั้นเอง…

ทำไมต้อง 4 Links
เรื่องนี้ไม่ยากครับ ผมสามารถบอกกล่าวได้แค่ “หน้าที่” ของช่วงล่าง 4 Links ในแบบพื้นฐาน เพราะเรื่องของการ “ปรับเซต” ต่างๆ มันต้อง “ลงลึก” ไปหลายอย่างมากๆ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของทีมแข่ง และต้องคนที่มีประสบการณ์ ถึงจะสามารถปรับได้ ซึ่งผมเองไม่กล้าจะพูดถึงมันแน่ๆ เพราะยังไม่มีความเข้าใจลึกขนาดนั้น และมันไม่เป็นสูตรตายตัวที่ปรับแบบนี้ๆๆๆ แล้วมันจะดีที่สุด รถแต่ละคัน เครื่องแต่ละตัว คนขับแต่ละคน ก็ลักษณะไม่เหมือนกัน มันต้อง “Case by Case” ซึ่งต้องว่ากันหน้างานครับ…
แล้วทำไมรถ Drag Racing ต้องเป็น 4 Links ด้วยล่ะ ??? ประการแรก มันใช้ร่วมกับช่วงล่างแบบ “คานแข็ง” ที่เป็นเสื้อเพลา แล้วมีล้อสองข้างแบบง่ายๆ พื้นๆ เลย ประการแรก “ล้อตั้งฉากกับพื้นตลอดเวลา” ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมุมล้อใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้ “หน้ายางแนบสนิทกับพื้นตลอดเวลา” เช่นกัน ไม่เหมือนกับแบบอิสระ ที่เป็นปีกนกแยกสองฝั่ง เวลายุบ ล้อหลังจะแบะออก แคมเบอร์เป็นลบ เหมาะสำหรับรถสปอร์ตที่ต้องการเข้าโค้งได้เร็ว แต่ระบบคานแข็งยุบยังไง มันก็ไม่เปลี่ยน น้ำหนักจะถูกกดลงเต็มๆ บนหน้ายาง อีกอย่าง ด้วยความที่ชิ้นส่วนมันน้อย แทบจะไม่มีข้อต่ออะไร ทำให้การส่งกำลังทำได้ “เต็มๆ” การสูญเสียน้อยมาก โดยเฉพาะการออกตัวและเร่งในทางตรงอย่างรุนแรงในสไตล์ Drag Racing ตรงนี้จึงเป็น “ทางบังคับเลือก” ว่าจะต้องเป็นช่วงล่างแบบนี้ครับ…

Traction Links
สำหรับหน้าที่ของ “แขน 4 Links” ทั้งสี่ดุ้น ซึ่งจะวางในแนวขนานตามยาวของตัวรถทั้งหมด ซึ่งจะให้รับแรงในทางตรงเป็นหลัก (ซึ่ง 4 Links บางประเภท ที่แขน Links ด้านบนเฉียง 45 องศาเข้าหากัน พวกนั้นจะเน้นทางเลี้ยว Circuit ครับ ไม่ใช่ทาง Drag แน่นอน) แต่ถ้ามอง “ด้านข้าง” Links คู่บนจะ “สั้น” กว่า Links คู่ล่าง คู่ล่างจะติดตั้งให้ “ขนานกับพื้น” ส่วนด้านบน “ปลายจะตกลง” เป็นการ “ปรับมุม Links” เพื่อกำหนด “Traction” ของล้อหลังในเวลาออกตัว ส่วนจะปรับเท่าไรนั้น “ไม่มีคำตอบตรงนี้” อยู่ที่เงื่อนไขหลายอย่าง เช่น แรงม้าแรงบิดของเครื่องยนต์ มากน้อยต่างกันไป ขนาดเฟืองท้าย ขนาดยาง พูดง่ายๆ ว่าจะต้องปรับจน “รถมันออกได้” ดูเวลา 0-60 ฟุต เป็นหลัก การปรับให้ Traction มากเกินไป ทำให้ “ออกตัวไม่ได้” ดึงกำลังเครื่อง Drop แล้วระบบส่งกำลังมันจะพังเอา เพราะเกิดแรง Shock สตั๊นต์ไปชั่วครู่ แต่ถ้าปรับน้อยไป ก็ทำให้ล้อฟรีอะไรประมาณนี้ อันนี้แหละครับที่เป็นหลักของ 4 Links ซึ่งรถ Drag ต้องการ Traction อย่างเดียว มุมล้อหลังอะไรก็ไม่ต้องมี ทุกอย่างเป็น “ศูนย์” แต่พวกช่วงล่างอิสระ จะต้องมี “มุมล้อ” เซตเพื่อให้มันเป็นอย่างที่เราต้องการ คือ ต้องการ Traction ก็ต้องปรับมุมล้อช่วย เวลาช่วงล่างหลังยุบตัว ให้หน้ายางมันแนบเต็ม ก็เป็นลักษณะของช่วงล่างต่างระบบกัน ซึ่งวิธีการเซตก็จะต่างกันด้วย…

Comment: #สุดขอบฟ้า
สำหรับคันนี้ก็เป็นบอดี้ SOLARA เพราะชอบเป็นการส่วนตัวครับ มันดูสปอร์ตและลู่ลมดี ผมก็ได้คุยกับทาง AOR 77 SHOP และ MRX PERFORMANCE ไว้ว่า ต้องการรถที่แปลกใหม่ และ ต้องการเครื่องดีเซล แต่ไม่อยากเหมือนใคร เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นบอดี้ D-MAX กันทั้งหมด ก็เลยตัดสินใจเอาบอดี้ SOLARA มาสร้างเฟรม แล้วใส่เครื่องดีเซล เพื่อให้มันลู่ลม และสร้างกระแสใหม่ให้กับรถเฟรมเมืองไทย ณ ตอนนี้ รถเพิ่งเสร็จหมาดๆ เลยครับ ผมให้ทาง “อ๋อ 77” เป็นผู้ขับ ก็ต้องขอลองวิ่งดูทรงก่อน แต่งาน Souped Up ปลายปีนี้ ได้เห็นเวลาสวยๆ แน่นอนครับ ฝากติดตามด้วยครับ…

Comment: อินทรภูมิ์ แสงดี
ก่อนอื่นก็ต้องขอบคุณ “เจ้าของรถ” และทาง AOR 77 SHOP + MRX PERFORMANCE ที่ “จัดให้” เราได้ยลโฉมและนำมาลงคอลัมน์กันแบบสดๆ ร้อนๆ รถคันนี้ภาพรวมก็แปลกดีครับ ส่วนเรื่องความเรียบร้อย อันนี้เห็นการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าสวยงามในระดับ “อินเตอร์” ก็ว่าได้ไม่เขิน (ลองดูเองแล้วจะรู้ครับ) ตอนนี้รถเพิ่งเสร็จ แต่คาดการณ์กันแล้ว ถ้าทุกอย่างลงตัว ในปลายปีนี้อาจจะติดใน Top 10 Drag Cars และทำลายสถิติ “GO 6” ได้อีกคันอย่างไม่ยากเย็น…

Special Thanks
MRX PERFORMANCE : Facebook/MRX Performance, 08-5285-5555
AOR 77 SHOP : Facebook/Aor 77 Shop, 08-0070-4781

X-TRA Ordinary
อันนี้ไม่เกี่ยวกับรถคันนี้หรอกครับ เพียงแต่มีจุดสังเกตว่าในขณะ “ซ้อม” ก่อนวิ่งงานใหญ่ต่างๆ โดยเฉพาะ Souped Up Thailand Records ของทุกๆ ปี ที่ใครๆ ก็อยากมาร่วมชิงชัยกันทั้งสิ้น แน่นอนว่า ทางเราต้องมีการ Live ในช่วงซ้อมเกิดขึ้น ก็จะมีผู้ชม “เม้นต์” มาต่างๆ นานา ก็ว่ากันไปครับ ขอบคุณที่ช่วยกัน “ขยี้” ให้การ Live นั้นมีสีสัน และ ดูมี Interactive หรือ “การตอบโต้” กันในเชิงสนุกสนานบานตะไท ซึ่งรถที่ซ้อม บางคันอาจจะไม่ได้วิ่งเต็มที่ หรืออะไรก็ตามแต่ ในบาง Comment ก็จะบอกว่า “โห่ ไม่เร็วเลย ไม่สุดเลย ไรว้า” อะไรก็ว่าไป ตอนแรกก็คิดว่ากวน Teen แต่ใจจริงผมคิดว่าอาจจะ “ไม่เข้าใจว่าการซ้อมคืออะไร” มากกว่า ซ้อมก็คือซ้อมครับ รถคันที่ทำมาใหม่ ก็ต้อง “วิ่งลองเชิง” ดูก่อน คงไม่มีใครลงไปปุ๊บ หวดเต็มที่เลยแน่ๆ โดยมากก็จะลอง 0-60 ฟุต ก่อน ถ้าออกได้ก็ว่ากันต่อไป หรือรถที่เคยวิ่งเวลาดีอยู่แล้ว มาลองก็จะ “ดูทรง” ว่า เออ…กูเคยไปยังงี้ แล้วมันยังไปได้เหมือนเดิม อาจจะกดเต็มแค่ 0-60 ฟุต หรือยกก่อนเข้าเส้น เพราะรู้แล้วว่ามัน “ไปได้” แค่นั้นก็พอ ไม่จำเป็นต้องหวดเต็มที่ให้มันเสี่ยง เก็บรถไว้ตอนแข่งจริงค่อยปล่อยเต็ม เป็นธรรมเนียมปกติของการซ้อมและแข่งครับ…

TECH SPEC
ตัวรถ
ตัวถัง : AKANA Carbon Wizard
เฟรม : AOR 77 SHOP
ร่มช่วยเบรก : DJ
ภายใน
จอ : Defi Sport Display F
เกจ์ : AUTO METER
ที่นั่ง : Carbon Seat
เข็มขัดนิรภัย : SIMPSON
พวงมาลัย : STRANGE by GRANT
คอพวงมาลัย : STRANGE
แป้นเหยียบ : TILTON tb&c 600 Series
เครื่องยนต์
รุ่น : 4JJ-1
วาล์ว : MRX
สปริงวาล์ว : MRX
แคมชาฟต์ : NS1000 (หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณ)
ลูกสูบ : MRX
ก้านสูบ : MRX
ข้อเหวี่ยง : MRX 3.2 L
เทอร์โบ : PRESICION + GARRETT
เวสต์เกต : HKS GT2
เฮดเดอร์ : AOR 77 SHOP
ท่ออินเตอร์ : AOR 77 SHOP
อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR
หัวฉีด : พงษ์ศักดิ์ ดีเซล
ชุดปั๊มโยง : NS1000 (หนุ่ย & เป๋อ สุพรรณ)
ตัวปรับแรงดันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE
รางหัวฉีด : BRD
ไนตรัส : NOS
หม้อน้ำ : BRD
กล่อง ECU : ECU=SHOP Stand Alone by หมัด ECU=SHOP
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : LIBERTY V-Gate 5 สปีด
คลัตช์ : ATS
เพลาท้าย : MARK WILIAMS MODULAR
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : STRANGE
โช้คอัพหลัง : STRANGE Subtank
สปริง : HYPERCO
ชุด 4 Links : AOR 77 SHOP
ล้อหน้า : WELD V-SERIES FRONT RUNNER ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD DELTA-1 PS1 ขนาด 14 x 16 นิ้ว
ยางหน้า : MICKEY THOMPSON ขนาด 26.0/4.0-15
ยางหลัง : MICKEY THOMPSON ขนาด 36.0/17.0-16
เบรกหน้า : STRANGE
เบรกหลัง : MARK WILLIAMS