“แอ๊ด คลินิครถยนต์” เชื่อดิ “เจ็ดจุดห้า” สู้ได้ !!!

Souped Up Special : XO 247 (Hilux Super Max AD Clinic)
(วางรูป 01 เปิดเรื่อง)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : XO AUTOSPORT Team

สำหรับการฟาดฟันในการชิงตำแหน่ง Top Ten Over All รายการ Souped Up Thailand Records 2016 ที่ผ่านมา ถือว่ายังคงความดุดันเข้มข้นเหมือนเคย แน่นอนว่าจัดเต็มกันทุกคัน และในปีนี้ก็มีเซอร์ไพรส์สำหรับสาย “ดีเซลโครงถัก” หรือ Super Max Diesel เพราะยึดหัวหาด Over All หมดเลย เล่นเอา Super Max Benzene เหงาเลย แต่หนึ่งในขวัญใจมหาชน คนติดตามจะรู้เลยว่า “ชอบเลข 9” มากๆ กับ TOYOTA HILUX Spaceframe หนึ่งเดียวในฝูง ISUZU ที่ยังยืนหยัดด้วยวลี “เชื่อดิ สู้ได้” รู้กันว่าเป็นของ “ช่างแอ๊ด คลินิครถยนต์” ซึ่งคราวนี้จะมาแถลงไขว่า ทำไม “ถึงสู้ได้” ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่คิดว่า “สู้ไม่ได้” รับรองมีรายละเอียดเด็ดๆ ที่ ช่างแอ๊ด ยินดีเปิดเผยให้กับทาง XO AUTOSPORT ได้รับทราบกัน พร้อมดีเทลเกร็ดความรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ 1KD-FTV เพียบๆ !!!

สารตั้งต้น 1KD-FTV
สำหรับเครื่องบล็อกนี้ เอาเป็นว่าถ้าจะ “เล่น” ก็ขอให้ทราบราคาค่าตัวที่จะ “อ๊อฟ” มันมาก่อน ราคาเครื่องถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้วถือว่าค่อนข้างสูง ถ้าเป็น 1KD-FTV เทอร์โบแปรผัน ตอนนี้ราคาเครื่องอย่างเดียวครบชุด ไม่มีเกียร์ อยู่ที่ “100,000 บาท” ถ้าเอาเกียร์ธรรมดาด้วยก็ + 20,000 บาท เกียร์รุ่นนี้ไม่ค่อยแพงเท่าไรครับ เพราะลูกมันค่อนข้างเล็ก ถ้าเทียบกับเกียร์ใหญ่ VGS ของ ISUZU อ้อ เครื่อง 1KD-FTV มันก็มีหลายบล็อกนะครับ เทอร์โบแปรผันใน VIGO/FORTUNER จะมีแรงม้ามากที่สุด (ถ้าเป็นรถบ้านเรา) ถ้าตัวนอกก็จะเป็นพวก LAND CRUISER แต่จะมีเฉพาะเกียร์ออโต้ 4WD ถ้าเป็นเครื่องรุ่นเก่า อย่าง TIGER D4D อันนี้จะไม่ค่อยนิยมเล่นกัน เพราะแรงม้าน้อย และอะไรๆ ก็จะเสื่อมสภาพไปตามอายุ ส่วนใน INNOVA ตัวก่อน ก็ใช้เครื่องเดียวกับ TIGER D4D แรงม้าพอกัน แต่อาจจะได้ความใหม่มากกว่า ถ้าอีกตัวก็ “เครื่องตู้” HIACE COMMUTER แรงม้าก็จะน้อยกว่า ถ้าจะให้ดีก็ต้องเลือกเอาตัวเทอร์โบแปรผันจะเวิร์กสุด…

รู้ก่อนเล่น   
สำหรับจุดที่ต้อง “ศึกษา” อันนี้ “ช่างแอ๊ด” ได้เล่าให้ฟังถึงจุดเสียเปรียบของ 1KD-FTV ถ้านำมาโมดิฟายมีอะไรบ้าง และต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง ซึ่งตรงนี้เราไม่ได้มุ่งโจมตีเครื่อง TOYOTA แต่ขอให้เข้าใจว่า “ทุกเครื่องมีจุดเด่นและจุดอ่อน” เหมือนกัน แม้แต่ ISUZU ก็มี แต่จะ “แก้อย่างไรให้ถูกต้อง” อันนี้สำคัญกว่า
“วาล์วเล็ก” กว่าคู่แข่ง คงจะเน้นไปในทาง “ประหยัด” และ “ตอบสนองไวในการใช้งาน” มากกว่า นิสัยเครื่องเดิมๆ จะออกแนว
“รอบต้นมาไว แต่รอบปลายไม่ค่อยเดิน” ซึ่งถ้าโมดิฟายแล้วจะรู้ว่า การตอบสนองมันมาห้วนๆ เป็นก้อนๆ ถีบดีในช่วงต้นและกลาง แต่รอบปลายจะช้าลง…
“ระบบน้ำมัน” ออกจะเสียเปรียบในการโมดิฟาย เพราะรอบปั๊มมันหมุนช้ากว่า…
“สปริงวาล์ว” จะนิ่มกว่า ทำให้การหมุนในรอบสูงมากมีอาการ “วาล์วลอย” ทำให้รอบปลาย “เบลอ” ไม่เต็มกำลังเท่าที่ควร…
“นอตฝาสูบห่างและมีขนาดเล็ก” ทำให้เวลาบูสต์สูงๆ มีโอกาส “กำลังอัดรั่ว” หรือที่เรียกกันว่า “น้ำดัน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเจอกันเป็นประจำ
ส่วนนอตขนาดเล็กก็ไม่สามารถขันค่าปอนด์ได้เยอะ ตรงนี้ก็ต้องแก้ไขอย่างด่วนในเครื่องระดับ Open เฉียดๆ ระดับ “พันม้า”
สำหรับแข่งขันเท่านั้น อันนี้สำคัญ ถ้าแก้ไม่ได้ก็ยาก หวดเต็มๆ 200 เมตร น้ำดันออก หม้อน้ำแตก ท่อน้ำกระจุยหมด ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จแน่ๆ
โดยเฉพาะงาน Souped Up ไม่มีที่ยืนแน่นอน…

“เชื่อดิ แก้ได้”
สำหรับ “แนวทางการ แก้ไข” ที่ ช่างแอ๊ด ได้เปิดเผยกับเรา จริงๆ แล้ว ถ้าแก้ถูกจุดมันก็ไม่ถือว่าเสียเปรียบ เพียงแต่ว่า “ต้องหา” มันอาจจะไม่ง่ายนัก แต่ถ้ามีประสบการณ์ และหาจุดเจอ ก็สามารถที่จะวิ่งสูสีกับคู่แข่งได้ ซึ่งจุดที่จะต้องพัฒนา และการโมดิฟายเพื่อรองรับแรงม้าสูงๆ โดยไม่พังซะก่อน มีดังนี้ครับ…
“เปลี่ยนฝาสูบใหม่” สูตรของ ช่างแอ๊ด จะเปลี่ยนฝาสูบของเครื่อง 2KD-FTV 2.5 ลิตร ??? แรกๆ ผมก็งงเหมือนกัน แต่ได้ความว่า เรื่องของ “ตำแหน่งวาล์ว” จะห่างจากขอบกระบอกสูบมากกว่า 1KD-FTV องศาวาล์วก็เป็นใจ ทำให้เนื้อที่เหลือมากกว่า สามารถ “ขยายวาล์วได้เพิ่มขึ้นอีก” ตอนนี้ก็สามารถใส่วาล์วใหญ่ได้แล้ว ซึ่งของ 1KD-FTV วาล์วจะอยู่ติดขอบกระบอกสูบเลย ทำให้ขยายวาล์วไม่ได้ หรือได้ก็น้อยกว่าฝาของ 2KD-FTV…
“ระบบเปิด-ปิด วาล์วยกชุด” สำหรับเรื่องของวาล์วก็จบไปแล้ว มาแก้เรื่องสปริงวาล์วเดิมๆ ที่นิ่มไปหน่อย ทำให้เกิดอาการวาล์วลอย ความแม่นยำน้อยลงในรอบสูง ก็เปลี่ยนสปริงวาล์วใหม่ให้แข็งขึ้น ส่วนเรื่อง “แคมชาฟต์” จะใช้ขนาดเท่าไร ขึ้นอยู่กับสเต็ปของรถ ถ้าอย่าง Pro Truck ใน Souped Up ที่ “ห้ามฉีดไนตรัส” ต้องใช้ “กำลังอัดในกระบอกสูบสูงขึ้น” แต่ถ้าเป็น Super Max ที่ “ฉีดไนตรัสได้” ต้องใช้แคมชาฟต์ก็ไม่เหมือนกัน Over Lap ต้องเยอะกว่า เพื่อให้มัน “คาย” ได้เยอะ จังหวะอัดสั้นลง “กำลังอัดในกระบอกสูบ” ก็จะลดลง แต่ไปชดเชยด้วยการ Flow ในรอบสูงแทน มันก็ได้อย่างเสียอย่าง รวมถึงการจัดการเครื่อง ลูกสูบ พวกนี้ต้องกำหนดกำลังอัดให้ได้ว่าเราจะใช้ยังไง ฉีดไนตรัสหรือไม่ น้ำมันเชื้อเพลิงอะไร ตอนนี้ฮิตผสม “ไนโตรมีเทน” ก็ต้องเปลี่ยนแปลงกำลังอัดให้เหมาะสม ไม่งั้นพังหมด…
“เปลี่ยนนอตฝาสูบให้แข็งและใหญ่ขึ้น” เพื่อกันแรงอัดรั่วจากกระบอกสูบไปดันออกทางปะเก็น ระเบิดออกทางโพรงน้ำหล่อเย็น ทำให้น้ำดันอย่างที่ว่า ต้องแก้ตรงนี้ ส่วนไอ้เรื่องความห่างเครื่อง มันสร้างมาแบบนั้นไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้…
“เปลี่ยนระบบน้ำมันใหม่” อันนี้สำคัญ ต้องทำให้ปั๊มจ่ายน้ำมันได้เพียงพอในแรงม้าสูงๆ เพราะดีเซล หัวใจอยู่ที่ปริมาณเชื้อเพลิงกับปริมาณอากาศ (บูสต์) นั่นเอง การทำปั๊มก็สูตรใครสูตรมันครับ ไม่มีใครบอกกัน…
“เปลี่ยนข้อเหวี่ยงใหม่” เอาของเครื่อง 1KZ-TE ปั๊มไฟฟ้ารุ่นเก่ามาใส่ ซึ่งมีวัสดุที่ทนทานแข็งแรงกว่า (ตามประสบการณ์ของคนทำว่ามาอย่างนั้น) ช่วงชักเท่ากัน คือ 103.0 มม. แต่ลูกสูบของ 1KD จะใหญ่กว่า 1KZ อยู่ 2 มม. คือ 96.0 มม. กับ 94.0 มม. ตามลำดับ ข้อเหวี่ยง 1KZ ใส่กับ 1KD ได้ เพราะจริงๆ มันก็พัฒนาต่อกันมานั่นแหละ เปลี่ยนจากปั๊มไฟฟ้า ฝา OHC มาเป็นปั๊มพร้อมรางคอมมอนเรล ฝาเป็นแบบ DOHC 16 วาล์ว อันทันสมัย สำหรับข้อดีอีกอย่าง ไม่ต้องแก้ที่ข้อเหวี่ยงเพื่อใส่ Crank Angle Sensor เหมือนกับ ISUZU (กรณีเอาข้อ TROOPER เครื่อง 4JG1-TC มาใส่ เขียนไปแล้วไปลองอ่านดูเอง) เพราะของ 1KD วัดที่ข้อเหวี่ยงหน้า ส่วน ISUZU จะอยู่ด้านหลังข้อเหวี่ยง…
“ลูกสูบทรงดี” ของ 1KD-FTV จะมีขนาดใหญ่ถึง 96.0 มม. (ของ ISUZU 4JJ1-TCX จะอยู่ที่ 95.4 มม.) และมีลูกโอเวอร์ไซส์ใหญ่สุด คือ 97.0 มม. หรือที่เรียกว่า “ลูกไซส์ร้อย” มาจากตัวเลข 1.00 มม. นั่นเอง (เรื่องนี้เคยพูดไปแล้วเกี่ยวกับโอเวอร์ไซส์ต่างๆ เช่น ลูกเจ็ดห้า ก็คือ โอเวอร์ไซส์ 0.75 มม. ซึ่งคนไทยจะเรียกกันแบบนี้) จริงๆ มันก็เป็นข้อได้เปรียบ ซึ่งพื้นที่ลูกสูบหน้าตัดมีมาก พื้นที่หน้าตัดห้องเผาไหม้ก็ควรจะมีมาก ซึ่งทาง ช่างแอ๊ด ก็เอาฝาสูบ 2KD-FTV มาใส่ เพื่อขยายวาล์วออกไปให้เต็มพิกัด นี่แหละครับ เป็นสิ่งที่อยากนำเสนอ…
“ท่อนล่างดีสไตล์โตโยต้า” ทุกคนรู้ว่าเครื่องรถค่ายนี้มีความ อึด ถึก ทน เป็นทุนเดิม เรื่องท่อนล่างนี่ใช้ได้เลย คันนี้ก็ยังไม่ได้ใช้ของโมดิฟายใดๆ ซึ่ง ช่างแอ๊ด ยืนยันกับเรามาอย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายคนก็ทราบว่าท่อนล่างมันดี เพียงแต่ต้องมีการ “แก้จุดอ่อน” กันหน่อย ตรงนี้ “ประสบการณ์” จะเป็นตัวบอกว่าต้องทำอย่างไร…

etc. อื่นๆ อีกมากมาย
– รถคันนี้ เป็นโครงสร้างจาก “โครโมลี” ทั้งคัน หลายคนคิดว่าเป็นท่อเหล็กธรรมดา ได้เปรียบเรื่อง ทน เหนียว น้ำหนักเบา เฟรมคันนี้เป็นของ “จิตร เทอร์โบ” สร้างขึ้นมา ส่วนบอดี้เป็นของ “หนุ่ย โคราช” ปั้นทรงขึ้นมาใหม่…
– ยอมรับว่าการกลับมาครั้งนี้ ปั้นทรงมาได้แปลกประหลาดจริงๆ เป็นรถที่เปลี่ยนลุคไปโดยสิ้นเชิง “แบทแมนหมอบ” เรียกว่ามีแต่ฝาท้ายกับไฟท้ายละมั้ง ที่ยังเป็น HILUX HIRO RN50 ด้านหน้าจะเตี้ยและลู่ลมมากๆ ซุ้มล้อหน้าจะถูก “ปิด” เพื่อป้องกัน “ลมหมุนวนในซุ้มล้อ” นับว่าเป็นแนวคิดใหม่ๆ ที่อยากจะให้รถมี Aero Dynamic ที่ดีขึ้น…
– คันนี้นับว่าลงทุนเรื่องต่างๆ มาก ระบบเบรกเป็น “จานคาร์บอน” ด้วยนะ ได้เรื่อง “น้ำหนักเบา” จะช่วยลดแรงต้านการหมุนของล้อ (Rolling Resistant) ตรงนี้มีผลมากนะครับ อย่างน้อยมันก็ช่วยได้แน่นอน ส่วนตอนเบรกก็สามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า ลดอาการ “เบรกเฟด” ได้อีก อาจจะคิดว่ารถ Drag ใช้เบรกน้อย จริงๆ ก็ไม่น้อย ในรุ่น Super Max ขึ้นไป ที่ความเร็วเข้าเส้นก็ต้องมีกว่า 260 km/h ในรถเวลาขนาดนี้ แม้จะมีร่มช่วยเบรก แต่ด้วยระยะเบรกของ Track บ้านเราค่อนข้างมีจำกัด เบรกก็จะทำงานหนักกว่าปกติ…
– เราได้สอบถามถึง “กราฟแรงม้า” ของคันนี้ ซึ่งได้ความว่า “ขึ้นแล้วมีปัญหา” เนื่องจากตัวรถเตี้ยมากๆ เวลาปั่นรถมีอาการเด้งจนอาจจะมีปัญหาเรื่องช่วงล่างตามมา อ่านค่าแรงม้าที่แน่นอนไม่ได้ ก็เลยขอไว้ก่อน เพราะตอนจูนจริงๆ ก็วิ่งลองในสนามดูเวลาอยู่แล้ว…

Comment : “ช่างแอ๊ด คลินิครถยนต์” ชัชวาล ประจงจิตร
การที่ผมเล่นกับ 1KD-FTV ก็เพราะความชอบส่วนตัว จริงอยู่ครับที่มันไม่ได้ทำง่ายเหมือนคู่แข่ง แต่ว่ามันเหมือนเป็นความท้าทายที่ผมจะต้องแก้ปัญหามันให้ได้ ถ้าถามเรื่องความแรง ผมก็ต้องพูดคำเดิมว่า “เชื่อดิ สู้ได้” เพียงแต่ว่าเราต้องปรับอย่างไรไม่ให้มันพัง เพราะ Souped Up ครั้งก่อน ความแรงผมไม่กลัว รถคันนี้ออก 0-60 ฟุต ได้ 1.1XX วินาที ก็เลยมั่นใจ แต่มีปัญหา “น้ำดัน” หม้อน้ำ ท่อยางระเบิด ปีนั้นไปได้ครึ่งสนามเอง ก็เลยอดยืน Top Ten ไปในปีนั้น ตอนนี้ผมก็แก้ปัญหาได้แล้วครับ ไม่พัง เลยได้อันดับ 9 เหมือนเดิม ปลายปีนี้ผมตั้งจุดมุ่งหมายไว้ “7.5XX วินาที” ในงาน Souped Up ต้องทำให้ได้ครับ ท้ายสุด ขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมกับรถคันนี้ โดยเฉพาะ ทีมงานคลินิครถยนต์, เฮียต๋อง โซล่า, จิตร บอดี้เฟรม, ไพศาล เทอร์โบ สระบุรี, หนุ่ย โคราช และ PROSPEED Thailand ด้วยครับ…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ก็อย่างที่บอกว่า สโลแกนของ ช่างแอ๊ด คือ “เชื่อดิ สู้ได้” ก็เป็นความจริงเมื่อนำเจ้า HILUX ขุมพลัง 1KD-FTV สามารถวิ่งติด Top Ten ได้หลายครั้ง เวลาก็ไม่ได้เป็นรอง ISUZU ผมเชื่อว่ามีแฟนๆ TOYOTA มากมายที่อยากจะลองเล่นกับสเต็ปแรงๆ ดู แต่อาจจะติดที่ความคิดว่า มันทำยากไหม หรือจะทนได้แค่ไหน หลายคนจึงไปเล่นกับคู่แข่ง แต่จริงๆ มันก็มีความแรงที่ไม่เป็นรองใคร เพียงแต่ว่าต้อง “เข้าใจเครื่อง” และหาจุดที่แก้ไขข้อด้อยให้ได้ ทุกเครื่องมีข้อด้อยหมด เพียงแต่ใครจะยอม “ศึกษา” มากกว่ากัน ครั้งนี้ก็เลยเอาใจแฟนๆ TOYOTA และแฟนคลับ ช่างแอ๊ด คลินิครถยนต์ กันหน่อย ซึ่งมีไม่น้อยเหมือนกัน จะได้รู้ว่าอยากแรงต้องทำยังไง และต้องรอดูผลงานปลายปี ว่า “เชื่อดิ เจ็ดจุดห้า” ของคันนี้ ว่าจะได้หรือไม่ หลายคนเอาใจช่วยครับ…

X-TRA ORDINARY
สำหรับเรื่องราวของ “ช่างแอ๊ด คลินิครถยนต์” กับงาน Souped Up Thailand Records เชื่อไหมว่าเกี่ยวกับเลข “9-9-9” ยังไง ย้อนไปปี 2012 ช่างแอ๊ด ได้ขึ้น Top Ten ด้วย NISSAN BIG-M สีแดง แข่งในรุ่น Pro Truck ก็ได้อันดับ 9 ส่วนในปี 2014 มาด้วย HILUX HERO Spaceframe คันนี้ แข่งในรุ่น Super Max (ณ ตอนนั้น ยังไม่แยกเป็นรุ่นเบนซิน และดีเซล) ก็ได้อันดับ 9 และมาล่าสุด ปี 2016 ก็ได้อันดับ 9 อีกเช่นกัน เรียกว่าได้ “ตองเก้า” เลขสวย นับเป็นความแปลกของ ช่างแอ๊ด กับอันดับในงาน Souped Up ครับ…

ขอขอบคุณ
ช่างแอ๊ด คลินิครถยนต์ : Facebook/คลินิครถยนต์, Tel. 08-7914-1122

TECH SPEC
ภายนอก
เฟรม : โครโมลี by จิตร เทอร์โบ
ตัวถัง : หนุ่ย โคราช
ร่มเบรก : SIMPSON
ภายใน
วัดรอบ : AUTO METER by STACK Cluster
วัดบูสต์ : AUTO METER
พวงมาลัย : GRANT
แป้นเหยียบ : TILTON
เบาะนั่ง : Carbon
เข็มขัดนิรภัย : G-FORCE
เครื่องยนต์
รุ่น : 1KD-FTV
วาล์ว : คลินิครถยนต์
สปริงวาล์ว : HONDA
แคมชาฟต์ : คลินิกรถยนต์
ลูกสูบ : 1KD-FTV Over Size 1.0 mm.
ก้านสูบ : MRX
เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08L x 2 by ไพศาลเทอร์โบ สระบุรี
เวสต์เกต : HKS
เฮดเดอร์ : Titanium by จิตรเทอร์โบ
อินเตอร์คูลเลอร์ : PWR
หัวฉีด : BOSCH by คลินิครถยนต์
เร็กกูเลเตอร์ : MALLORY
รางหัวฉีด : คลินิครถยนต์
กล่อง ECU : Prospeed Stand Alone by คลินิครถยนต์
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : LIBERTY Air Shift 5 สปีด
คลัตช์ : BRC
เพลาท้าย : STRANGE อัตราทด 3.3 : 1
เฟืองท้าย : STRANGE
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : STRANGE
โช้คอัพหลัง : KONI Drag
สปริง : HYPER COIL
ชุด 4 Links : จิตรเทอร์โบ
ล้อหน้า : WELD ขนาด 4 x 15 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 16 x 15 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 24.0-4.5-15
ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 33.5-16.0-15
เบรก : STRANGE Carbon