มันเป็นการต่อสู้อย่างสมศรีดิ์ที่ยาวนานเหลือเกิน… นับเป็นหนแรกของ Souped up Thailand Records ที่ทุกอย่างสงบนิ่ง เมื่อดวงอาทิตย์ของเช้าวันจันทร์ ขึ้นมาทักทาย… เกมที่ท้าทายเปรียบเสมือน“แข่งขันกับตัวเอง” รอยยิ้มที่มุมปาก หรือคราบน้ำตาที่อาบแก้ม มีให้เห็นจากความมุ่งมั่นที่จะทำให้ดีที่สุด มันเหมือนกับ “ส่งการบ้านปลายปี”
หลังจาก Souped up 2012 เสร็จสิ้นลง หลายๆ เหตุการณ์เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี หลายๆสำนักที่พลาด ต่างกะตือรือร้นกันแต่เนิ่นๆ เพื่อแก้ตัวใหม่ในงานครั้งนี้ รวมทั้งหลายๆ อู่ ต่างก็มีความเคลื่อนไหวในการสร้างรถใหม่ๆ มาวิ่งในงานนี้โดยเฉพาะ ทำให้ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของวงการแดร็กครึกครื้นกันตลอดทั้งปีที่ผ่านมาเฉกเช่นเคย งานประเพณีปลายปี เรายึดช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม มาเป็นวันดีเดย์ ซึ่งในปีนี้ก็ตรงกับวันที่ 6-8 ธันวาคม 2556 โดยแบ่งออกเป็น 3 วัน คือ ตรวจสภาพ, ควอลิฟาย, และทดสอบจัดอันดับ
วันตรวจสภาพ
06/12/2013
วันนี้คือวันที่นำรถที่สมัครเข้าร่วมจัดอันดับทุกคัน มาทำการลงทะเบียน เลือกเต็นท์ ที่จอดรถ และนำรถเข้าตรวจสภาพ โดยทางเราเริ่มเปิดให้นำรถเข้ารับการตรวจสภาพตั้งแต่ 09.00-18.00 น. ในช่วงเช้า มีผู้นำรถมาลงทะเบียน รับสติ๊กเกอร์อยู่เรื่อยๆ แต่ไม่หนาตา พร้อมกับเลือกเต็นท์สำหรับจอดรถ โดยเต็นท์จอดรถที่เราจัดเตรียมไว้ให้ ก็จะไม่เรียงตามเบอร์รถนะครับ คือใครมาก่อน ก็มีสิทธิ์จับจองก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่า “รถในทีมเดียวกัน เบอร์รถไม่ตรงกัน แต่ใช้ทีมเซอร์วิสชุดเดียวกัน”จะประสบปัญหาในเรื่องการเซอร์วิสเป็นอย่างมาก เราจึงใช้วิธีการมาก่อนมีสิทธิ์ก่อน เพื่อลดปัญหาในจุดนี้ครับ
ส่วนหลักเกณฑ์การตรวจสภาพก็เพื่อแบ่งแยกรถให้ตรงตามรุ่นที่จัดอันดับ รวมถึงดูเรื่องระบบความปลอดภัยของตัวรถเป็นหลัก อาทิ โรลบาร์, สวิตช์ตัดไฟ, ถังดับเพลิงและ หมวกกันน็อก ซึ่งปีนี้เราเข้มงวดมากในเรื่องของหมวกกันน็อก โดยระบุว่าต้องเป็นหมวกกันน็อกเต็มใบสำหรับการแข่งขันรถยนต์ ที่มี Snell ตั้งแต่ปี 2005 ขึ้นไปเท่านั้น เราถึงจะอนุญาตให้ใช้ได้ ที่ทำทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของตัวคนขับเอง ก็ขอไว้ว่า ปีหน้าเราก็ยังคงยึดเรื่องของระบบความปลอดภัยเป็นหลัก ก็อยากให้เตรียมตัวด้านนี้ให้พร้อมเช่นกันนะครับ
วันควอลิฟาย
07/12/2013
เพราะในกฎกติกา เราจำกัดไว้ว่า “ควอลิฟายทุกรุ่น” เก็บรถรุ่นละ 8 คัน เพื่อเข้าจัดอันดับในวันถัดไป บางรุ่นก็มีรถสมัครเข้ามาไม่ถึง 8 คัน แต่ทำไมต้องควอลิฟาย? ด้วยเหตุผลที่ว่า รุ่นที่ใช้ในการจัดอันดับ จะมีเวลาควอลิฟายมาเป็นตัวกำหนด เพื่อผ่านเข้ารอบ ถึงแม้รถจะสมัครมาไม่ถึง 8 คัน ก็ต้องควอลิฟายให้ผ่านเวลาที่กำหนดครับ โดยกำหนดการควอลิฟาย เราเริ่มต้นที่ 10.00-18.20 น. โดยคุณสามารถเลือกควอลิฟายในช่วงเวลาใดก็ได้ตามสะดวก ไม่จำเป็นต้องวิ่ง 3 ครั้ง ถ้าพอใจเวลาได้ ครั้งเดียวจะเลิกแล้วเก็บรถเลยก็ได้ครับ แต่ในรุ่นที่มีรถมากๆ ก็ต้องวางแผนกันดีๆ หน่อย ถึงแม้เวลาจะผ่านเกณฑ์การคัดเลือก แต่ก็อาจตกควอลิฟายได้ครับ…
เวลาที่กำหนดของการควอลิฟายในแต่ละรุ่น รถทุกคันจะต้องวิ่งให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ตามรุ่นต่อไปนี้ PRO 4 N/A 12.5 วินาที, SUPER 4 2WD 12.5 วินาที, SUPER 4 4WD 12.5 วินาที, SUPER 6 2WD 12.5 วินาที,SUPER 6 4WD 12.5 วินาที, PROTRUCK 11.0 วินาที, PRO 4 11.5 วินาที PRO 6 11.5 วินาที PRO 6 Modify 10.0 วินาที SUPER MAX 9.5 วินาทีและ SUPER DRAGSTER 9.0 วินาที
ซึ่งตั้งแต่ช่วงเช้าหลังจากประชุมนักแข่งเสร็จ หลายๆท่านก็เริ่มนำรถเข้าสู่กระบวนการควอลิฟายกันแต่เนิ่นๆ ซึ่งในวันนี้ก็มีเลขเด็ดๆ ให้เห็นกันอยู่หลายคัน อาทิ พี่ใหม่ P&C Garage นำเจ้า VIGO (รถส่งนม) ของ คุณบอย สรวงศ์ เทียนทองรุ่น SUPER MAX วิ่งอยู่ 8.4วินาที ส่วน Dragster ของ SIAM PROTOTYPE ก็สะกดจิตให้ทุกคนตาลุกวาว เมื่อผ่านเข้าเส้นไปด้วยเวลา 7.2 วินาที นับเป็นตัวเลขที่เร็วที่สุดในเมืองไทยตอนนี้ แต่ยังไม่ใช่สถิติ เพราะยังเป็นแค่การควอลิฟายอยู่ สถิติจะนับจากรอบ Final เท่านั้นกระบะต้นแบบอีกคันที่ไม่เคยห่างหายจาก Souped up คือ สวนส้มสุรชัย ที่เตรียมความพร้อมมาอย่างสมบูรณ์แบบกับเวลา 7.9 วินาที ด้าน มนตรีดีเซล มากับรถเฟรมสีฟ้าคันใหม่8.3 วินาที บุญตา RAM 77 ควบ 350Z ผ่านเส้นเวลาสวย 7.9 วินาที เช่นกัน ส่วน ปอนด์ แชมป์เก่าปีก่อน ก็กลับมาร่วมป้องกันตำแหน่งด้วยCEFIRO สีเหลือง ที่เปลี่ยนช่วงล่างหลังเป็น 4 Linksเวลา 8.7 วินาที และขวัญใจมวลมหาชนอย่าง อ๋อ 77 มากับรถคันใหม่ล่าสุด ทำเวลาควอลิฟายได้ที่ 8.1วินาที และปิดท้ายสายดีเซลหวดเลข 7 ได้เป็นคันแรก กับเวลา 7.8 วินาที กับ ช่างเบิร์ด หลัก 5 ครับและก็น่าเสียดายแทนแชมป์เก่าปี 2012 ปอนด์ ราม 77 ที่รถประสบปัญหาหลังจากการเข้าเส้น ในการวิ่งครั้งที่ 2 ทำเวลาได้ 8.819 วินาที ทำให้ไม่สามารถนำรถมาวิ่งได้ในวันจัดอันดับครับ
นอกเหนือจากรุ่นฮาร์ดคอร์แล้ว บรรดาในรุ่นรองลงมาทั้งหลายก็ลุ้นเวลากันน่าดูครับ อย่าง PRO 4 N/A บรรพต ฟักฉิม ควบ CIVICEF เครื่องยนต์ Rotaryของแปลกคันเดียวในไทย และในงาน ผ่านเวลาไปด้วย 11.933 วินาที และรุ่น SUPER 4 2WD จัดได้ว่าเป็นรุ่น MR2 One Make Race ได้เลยเพราะเป็นกลุ่มรถจาก R Spec II ทั้งนั้น ส่วน SUPER 6 4WD รุ่นนี้ Skyline GT-R ยึด Track แต่ละคันพกพิกัด 10 วินาที ตบเท้า ต่อแถวเข้าควอลิฟายเพียบเช่นกันครับ ส่วน PRO TRUCK แฟนคลับเพียบ เฉลี่ยวิ่งพิกัด 9 วินาที เกือบทุกคัน ชิงกันมันส์มาก ชูเกียรติ แซ่ตัน ได้เร็วสุดในวันควอลิฟาย 9.596 วินาที
วันจัดอันดับ
08/12/2013
แวบบแรก… ที่สายตากวาดมองเมื่อทีมงาน XO AUTOSPORT เดินทางมาถึงสนามในช่วงเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2013 บริเวณโซน “ลานมัน” ที่เรียกกันติดปาก มีรถของผู้ที่ทำเวลาผ่านการควอลิฟายจอดรออยู่เพียบ… บ้างคลุมรถเก็บเรียบร้อย เสมือนว่าเตรียมพร้อม บ้างก็ยังประกอบเครื่องกันอยู่เลย ก็เช้าตรู่ที่ทุกคนกระตือรือร้นเพื่อให้ทันกับเวลาที่กำหนด โดยการวิ่งจัดอันดับในวันนี้จะวิ่งกันทั้งหมด 3 ครั้ง โดยเริ่มจากรุ่น PRO4 N/A ไล่กันจนไปถึงรุ่นใหญ่สุดอย่าง Super Dragster เป็นอันว่าจบ 1 ครั้ง แล้วก็กลับมาเริ่มกันใหม่รอบที่ 2 และ 3 จนครบ ซึ่งรถทุกคันจะต้องวิ่งอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อแบ็กอัพเวลา 7% รอบที่ดีที่สุดให้ได้ จึงจะถือว่าเป็นสถิติที่เรากำหนดการแบ็กอัพเวลาขึ้นมา ก็เพื่อป้องกันการ “พลีชีพ” วิ่งรอบเดียวทิ้งเครื่อง หรือไม่ก็หาว่า “ฟลุ้ก” ในรอบที่เวลาดี กติกาเลยเกิดขึ้นเพื่อให้ภูมิใจกับคำที่ว่า “ศึกแห่งศักดิ์ศรี” ครับ
เปิดฉากในรุ่น PRO 4 N/A เป็นศึกของ Honda ซึ่งในวันควอลิฟายมี Civic EF เครื่อง Rotary มาร่วมด้วย ซึ่งทำเวลาผ่านเกณ์ที่กำหนด แต่ไม่ติด 1 ใน 8 คันที่ผ่านเข้ารอบ 10.495 วินาที จึงเป็นเวลาที่เร็วที่สุดของรุ่นนี้โดยมีตี้GT เป็นคนทำครับ ขยับมาที่ SUPER 4 2WD จ้ำม่ำ ควบ MR2 ตัวแรงทำเวลาดีสุดในรุ่นได้ที่ 10.545 วินาที ขยับมาที่ SUPER 4 4WD เป็นการช่วงชิงระหว่างEVO กะ IMPREZA ซึ่งดูเหมือนว่า ชยกร สเตศิลป์ ควบ EVO ทำเวลาได้ดีที่สุดในรุ่นอยู่ที่ 10.454 วินาทีครับ ขยับขึ้นมาที่ SUPER 6 2WD Cefiro ทองรักสนุ๊กเกอร์(ณัฐพล หมู่เพชร) ขาประจำก็คว้าแชมป์ในรุ่นไปด้วยเวลา 10.397 วินาที ขยับมาที่ SKYLINE One Make Race ในรุ่น SUPER 6 4WD เวลาที่ดีที่สุดคือ 10.186 วินาที รัชกฤษ อัศวยุทธกุล เป็นผู้ที่เร็วที่สุดในรุ่นนี้ครับ
PRO TRUCKขวัญใจมวลมหาประชาชน เป็นอีกรุ่นที่ความเข้มข้นของการทำสถิติเป็นอย่างมาก เพราะเฉือนกันแบบเสี้ยววินาทีทั้งนั้น โดย ชูเกียรติ แซ่ตัน สามารถทำเวลาได้ดีที่สุด คือ 9.493 เฉือน เจ้าเบส ธนพล ชูเจริญผล กันในรอบ 3 ที่เข้าเส้นช้ากว่าเพียงพริบตาเดียว 9.497วินาทีมาที่ PRO 4 ศึก 4 สูบ เทอร์โบ สารพัดแบบ ขับหน้า ขับหลัง มีหมด กิตติรัช คชมหิทธิ์ ควบ 200 SX เครื่อง SR20DET เข้าเส้นเร็วสุดที่ 9.424 วินาที เป็นผู้ชนะในรุ่นนี้ ขยับมาที่ PRO 6 ความเร็วของรถในคลาสนี้วิ่งพิกัด 8 วินาทีกันทุกคัน ซึ่งคันที่เร็วที่สุดขึ้นไปติดใน Top Ten อีกด้วย เป็น Cefiroของ วสุ ปริยพาณิชย์ ทำเวลาได้ 8.484 วินาที ขยับมาที่ PRO 6 Modify ซึ่งความแรงของรุ่นนี้แทบจะไม่ต่างกับ PRO 6 เลย และผู้ที่เร็วที่สุดคือ ประทวย ณพลเดช อัจฉรารุจิ ทำเวลาได้ 8.403 วินาที
มาที่รุ่นเรียกแขก อย่าง SUPER MAXนับว่ามีความดุเดือดเผ็ดร้อนของการวิ่งในทุกรัน เพราะมีเลข 7 ให้เห็นตั้งแต่วันควอลิฟายอยู่หลายคัน ขอพูดถึงหลายคันหน่อย เพราะเป็นตัวเต็งในการทำสถิติใน Top Ten ทั้งนั้น ในที่สุดการเตรียมความพร้อมที่สมบูรณ์ที่สุดของ สวนส้มสุรชัย ขับโดย จิตรกร ลีลากนกรถต้นแบบกระบะในยุคแรกของวงการแดร็ก ก็พิชิตชัยเป็นแชมป์ในรุ่นนี้ได้สำเร็จด้วยเวลา 7.869 วินาที รถส่งนม วีโก้ ขวัญใจวัยรุ่น ปีนี้ทรงดีมาตั้งแต่ควอลิฟาย มีการเตรียมตัวมาดีตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งนำบทเรียนความไม่พร้อมของปีที่แล้วมาปรับใหม่ ส่งผลให้ได้สถิติใหม่ของรถคันนี้ด้วยคือ 7.924 วินาที ถัดมาเป็น 350Z บุญตา ราม77 ทำเวลาได้ 8.074 วินาที ซึ่งในวันควอลิฟายทำได้ดีกว่า ส่วนกระบะช่างเบิร์ด หลัก 5 รถมีปัญหาในเรื่องของเทอร์โบ ทำดีสุดของวันนี้ได้ 8.120 วินาที อ๋อ 77 ทำได้เร็วสุดที่ 8.404 วินาที ซึ่งวันควอลิฟายทำได้ 8.115 วินาที ซึ่งใกล้พิกัด 7 วินาทีเข้าไปทุกที โย Y-FLY มากับ Supra เฟรม ทำดีสุดได้ที่ 8.460 วินาที ครับ
มาที่รุ่นสุดท้าย สุดยอดแห่งความลุ้นระทึก คือ Super Dragster หรือเราเรียกกันว่า “หน้ายาว” ปีนี้ยังคงเป็น 3 คันเช่นเคย สยาม โปรโตไทพ์, เปี๊ยกบางใหญ่ และ RAM 77 ทั้ง 3 ได้วิ่งผ่านเวลาควอลิฟายเข้ามาทั้งหมด โดยทุกคนที่มาชมรวมทั้งทีมงาน สยาม โปรโตไทพ์ ต่างก็ตั้งความหวัง อยากเห็นเลข 6 วินาทีในเมืองไทย แต่แล้วก็ไม่สำเร็จ เมื่อในรุ่นนี้ หน้ายาวของ เปี๊ยกบางใหญ่ ประสบปัญหาด้านเครื่องยนต์ ส่งผลให้น้ำมันเครื่องโปรยแทร็กตั้งแต่สตาร์ท จนถึงจุดกลับรถที่ปลายเส้น ก่อนที่รถของ สยาม โปรโตไทพ์ จะวิ่ง ก็เลยต้องเคลียร์แทร็กกันชุดใหญ่ ให้กลับมาวิ่งได้เหมือนเดิม แต่ก็ไม่เคลียร์ได้ถึง 100% ส่งผลให้ สยาม โปรโตไทพ์ ทำเวลาดีสุดได้ที่ 7.325 วินาที ในปีนี้
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้คงดูเหมือนว่าจะจบสิ้น แต่เปล่าเลย การวิ่งจับเวลาครั้งแรก เราต้องเคลียร์แทร็กตลอด กว่าจะจบก็ประมาณ 4 โมงเย็น ส่วนการวิ่งจับเวลาในรอบ 2 จบประมาณ 3 ทุ่ม พอเข้าสู่รันสุดท้าย มันคือการ “ทิ้งทวน” เพราะใส่เต็มเพื่อให้ได้เวลา และก็ดูเหมือนว่าทุกอย่างก็จะยืดยาว เมื่อประสบปัญหาเรื่องน้ำมันบนผิวแทร็กอยู่ จนเวลาล่วงเลยมาถึง “ตีสองกว่าๆ” คันสุดท้ายในรุ่นของ PRO 6 วิ่งเป็นรถ Cefiroของ ปรเมศวร์ กิ่งพิกุล เกิดอุบัติเหตุที่ปลายเส้น จึงทำให้ต้องหยุดพักใหญ่เพื่อเคลียร์แทร็ก หลังจากนั้นก็เรียกนักแข่งในรุ่นที่เหลือ PRO 6 Modify, SUPER MAXและ SUPER DRAGSTERมาประชุมเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัย เพราะน้ำค้างเริ่มมากบนผิวแทร็ก ทางเราจึงขอยุติการจัดอันดับ เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตราย พร้อมกับเริ่มพิธีมอบถ้วยรางวัล สำหรับรุ่นที่วิ่งจนครบแล้ว แต่ก็มีนักแข่งบางส่วนในรุ่น PRO 6 Modify และ SUPER MAX ขอวิ่งต่อเพื่อแบ็กอัพเวลาของตัวเอง จนในที่สุดทุกอย่างก็จบลงเกือบตี 5 เรียกได้ว่าเป็นการจัดอันดับที่ยาวนานที่สุด และประทับใจที่สุดก็ว่าได้ หลากหลายอารมณ์ หลายบรรยากาศ หลายความรู้สึก นึกแล้วยังขนลุกอยู่เลยครับและอีกหนึ่งอาทิตย์ถัดมา เราก็จัดพิธีมอบรางวัลต่อเนื่องในรุ่นของ Pro 6 Modify, Super Max, Super Dragster และ Top Ten ครับเพื่อเป็นเกียรติประวัติให้กับนักแข่งที่ได้รับรางวัลทุกท่าน
ผมว่ามันสุดมากนะ… ถ้าจะให้เรียกก็คงเสมือน “แดร็ก มาราธอน” เป็นช่วงเวลาที่ยาวที่สุด นานที่สุด ตั้งแต่เคยจัด Souped up ThailandRecords มา แล้วก็เป็นการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น ที่เรานำระบบ “ถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ต” มาใช้ในงาน เพื่อให้ผู้ชมจากทางบ้านได้รับรู้เหตุการณ์ไปพร้อมๆกัน กำหนดการสตาร์ทตั้งแต่ช่วงเช้า ประมาณ 09.00 น. เป็นต้นมา มีเรื่องราวมากมายหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอด ปัญหาที่พบบ่อยคือ ของเหลวโปรยบนผิวแทร็ก นั่นหมายถึงเราต้องเคลียร์ให้กลับมาใช้งานได้ ซึ่งในแต่ละครั้งก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ ในการเข้าทำความสะอาด ตรวจสอบกันอย่างสุดความสามารถ ซึ่งในครั้งนี้เราได้เห็นถึงความสามัคคีของทีมแข่ง ทีมช่าง และทุกๆคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถือผ้าคนละผืนลงมาช่วยเช็ดแทร็ก ซึ้งใจครับ…
ทีม Souped up Thailand Records ขอบอกว่า “มีวันนี้… เพราะทุกคนให้โอกาส” ทุกคนทุกหน่วยมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เปรียบเสมือนกลไกการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน ขอบคุณมากครับทุกๆท่าน…
“ปี 2013 พวกคุณมาส่งการบ้านไว้ที่ 7.325วินาทีแล้วปลายปี 2014 เรามาส่งการบ้านกันอีกทีครับ”