SOUPED UP THAILAND RECORDS 2016 “Size M”

XO AUTOSPORT No.240
REED IT MORE
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : XO AUTOSPORT TEAM

หลังจากที่ได้ “แกะรอยข่าว” เหล่าตัวแรงที่จะลงชิงชัยใน SOUPED UP THAILAND RECORDS 2016 ที่จะมาถึงในเร็วๆ วันนี้ ฉบับที่แล้วเราว่ากันไปถึง “Size S” ที่แม้จะสตาร์ตด้วย “รุ่นเล็ก” แต่ความเมามันส์นั้นไม่ธรรมดา ยิ่งรุ่นเล็กก็ยิ่งต้อง “ขยัน” เพื่อที่จะให้แรงในระดับ “หัวแถว” เพราะแต่ละคันสูสีกันเหลือเกิน เรียกว่าไม่มีใครยอมกันได้ ในฉบับนี้เราขยับมาเล่น “รุ่นใหญ่ขึ้น” จะไฟอะไรก็ว่าไป ในพิกัดของ “Size M” ก็จะประกอบไปด้วย “โปร” ทั้งหลาย ไล่เรียงไปตั้งแต่ PRO 4, PRO 6, PRO 6 Modified และตบตูดด้วยสายดีเซล PRO TRUCK แม้ว่าส่วนมากจะเป็นรถคันเดิม แต่ก็มี “ตัวใหม่” ทยอยโผล่กันมาบ้าง และที่สำคัญ “ไม่มีใครคงความเดิมไว้ได้” ซุ่ม “จัดหนัก” กันทุกคัน ลองดูว่าแต่ละคันทำอะไร “เด็ดๆ” กันบ้าง และฉบับหน้ารับรอง “ไม่ผิดหวัง” รอลุ้นกับ “ไซส์เบิ้ม” หรือ “Size L” ที่จะเป็นเวทีของเหล่า “Super Dragster” และ “Super Max”

PRO 4
หรือจะดิ้นรถไปยืน Top Ten ???
เปิดฉบับนี้กับรุ่นเล็กในสาย PRO “ติดหอย” ก็คือ PRO 4 ที่เป็นการฟาดฟันกันของเหล่า “สี่เม็ด ยางสลิค” แต่ “ห้ามไนตรัส” รุ่นนี้แม้ดูว่าจะมีรถไม่เยอะมากเหมือน SUPER แต่ขอโทษฮะ มันมีความ “หลากหลาย” ของรถ ไม่ว่าจะเป็น “ขับหน้า ขับหลัง ขับสี่” ลงมาหวดกัน เรียกว่าต่างคนต่างต้องทำให้รถตัวเอง “ได้เปรียบ” แน่นอน ว่ามันจะต้องมีข้อต่างกัน สูตรการทำก็จะต่างกันด้วยแน่นอน ทำให้เกิดการ Challenge กันระหว่างรถหลากหลายแบบ “ใครแน่กว่าเอาไปเลย” ส่วนรถ 2 คัน ที่เราเลือกมานี้ คันแรกเป็น “ดีกรีแชมป์” ที่กว่าจะได้มาก็ “เลือดตาแทบกระเด็น” ส่วนอีกคัน เป็น “ตัวซุ่ม” ที่เน้นของแปลก “ผสมข้ามพันธุ์” ก็น่าจะ “มีลุ้น” หากสมบูรณ์แบบ เอาเป็นว่า ในปีนี้รุ่น PRO 4 น่าจะมีเวลา “แปดต้น” ให้เห็น ไม่ว่าจะขับสอง ขับหน้า ขับหลัง ขับสี่ ต่างก็มีลุ้นกันทั้งสิ้นครับ…

SIGNATURE & PROSTREET
MAZDA RX-7
นี่แหละครับ ตัวแชมป์ปีที่แล้ว กับรถที่ไม่มีใครอยากจะลอง “โรตารี่” ที่ “มีตังค์” ไม่พอ ต้อง “มีใจ” ก่อนอย่างอื่น ใครเคยอ่านบริบทของคันนี้ จะรู้เลยว่า “สู้ไม่ถอย ไม่ยอมแพ้” แม้จะผิดหวังมาไม่รู้เท่าไร ถ้ายังมีความ “ศรัทธา” ก็ย่อมจะไปต่อได้ นำทีมโดย “เป๊ก SIGNATURE” ผ่านการโมดิฟายเครื่องจาก “PROSTREET” จบเวลางามๆ ที่ “8.547 วินาที” ขับโดย “ประทวย กล้วยทองคำ” เบิร์นแม่ง 5 เกียร์เลย  สถานการณ์บีบรัด เพราะ ประทวย ก็เพิ่งมาขับเครื่องโรตารี่จริงๆ จังๆ ได้ไม่นาน แต่ครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จทุกคน ในปีนี้รายละเอียดส่วนใหญ่จะ “เหมือนเดิม” แต่จะมีอะไร “เพิ่มเติม” เดี๋ยวบอก สำหรับ “เป้าหมาย” ในปีนี้ มีแย้มๆ บอกว่า ต้องเร็วกว่าเดิมแน่ๆ แต่ใจอยากจะได้ “เจ็ดปลาย” เพราะ RX-7 FD ในรูปแบบ Stock Body เมืองนอกก็วิ่ง 7 วินาที กันได้เลย ถ้าเราทำดีๆ ก็มีโอกาสลุ้นเหมือนกัน ถ้าทำได้ตามนี้จริง ก็อยากจะยืน Top Ten สักครั้งในชีวิต…
Engine & Transmission
เครื่องยนต์ก็ยัง “ศรัทธา” กับ 13-REW ที่ “แรงกำลังดี” โมดิฟายด้วยสูตรของ PROSTREET ที่ไม่เน้นแรงบ้าพลังอย่างเดียว แต่ช่วง Power Band แคบ ก็ขอให้มีกำลังในระดับ 800 ++ PS และสำคัญ “ขอให้มีช่วง Power Band กว้างหน่อย” ที่จะทำให้มีช่วงในการทำอัตราเร่งได้กว้างขึ้น ในปีนี้ก็จะเน้น “ความแข็งแรง” ของตัวเครื่องเป็นหลัก โดยการใช้วัสดุในการผลิต Apex Seal แบบพิเศษ เพื่อความทนทานรับภาระได้นานขึ้น…
เทอร์โบก็จะเปลี่ยนใหม่ เป็น COMP Series แต่จะเป็นรุ่นไหน ขออุบไว้ก่อน เพราะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ทำแรงม้ามากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำแน่ๆ คือ “ปรับปรุงทิศทางการดักลมเข้าเทอร์โบใหม่” เพราะตอนปีที่แล้วรู้สึกเหมือนลมเข้าไม่พอ เทอร์โบดันปลายไม่ไปเท่าที่ควร แถมมีเสียงดัง (Chatting) เหมือนใบกวักลมไม่เต็มที่อะไรประมาณนั้น…
สำหรับระบบส่งกำลัง เป็น Liberty V-Gate ที่ตอนนี้ “หลายคนก็ชอบ” เพราะมันไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีระบบ Air Shifter ที่ต้องมีอุปกรณ์เยอะแยะ ดูจะวุ่นวายกว่า ซึ่ง V-Gate ก็จะเป็นการเข้าเกียร์แบบง่ายๆ “ดึงและดัน” แค่นั้นเอง สำหรับ “อัตราทด” ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาด “ยาง” และ “เฟืองท้าย” ถ้าแรงม้ามากขึ้น ใช้ยางที่เส้นผ่านศูนย์กลางโตขึ้น อัตราทดก็ต้องปรับใหม่…
ส่วนอื่นๆ ก็จะอยู่ที่ “การเช็กความสมบูรณ์” โดยรอบ อันนี้สำคัญมาก เพราะถ้าไม่พร้อมก็คงจะไม่มีสิทธิลุ้น “บัตรผ่าน” แน่ๆ…
Suspension
คันนี้ก็ยังเป็นช่วงล่างแบบ “อิสระ” ในรูปแบบดั้งเดิมของตัวรถ ตอนแรกว่าจะทำเป็น Half back 4 Links ในสเต็ป PRO 4 Modified แต่เปลี่ยนใจขอหวด PRO 4 ให้สุดๆ เลยดีกว่าสำหรับคันนี้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือ “โช้คอัพชุดใหม่” ที่เป็นแบบ 2 Ways ปรับค่า Bump และ Rebound แยกกันได้ (ของเดิมเป็น 1 Way) จะได้ปรับให้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งพื้น Track ในแต่ละที่ก็ต่างกัน ช่วงล่างที่ “จูน” ได้ละเอียด จะส่งผลดีอย่างยิ่งครับ…
การเซตช่วงล่าง “ตอนออก” สำหรับเครื่อง Rotary เท่าที่ได้รับข้อมูลมา ต้องให้ความละเอียดกับมันมาก เกาะมากไปก็ไม่ได้ ออกแล้ว “เหี่ยว” ก็อย่างที่ “ตัวขี่” เคยเล่าให้ฟังไปว่า ถ้า Rotary ออกผิดจังหวะนิดเดียว ทุกอย่าง “จบ” เลย ถ้าไม่เกาะ ออกตัวล้อฟรีก็จะคุมยาก เพราะเครื่องมัน “แว้ด” รอบไว ผลสรุป คือ ทุกอย่างต้อง “พอดี” เท่านั้นครับ รวมถึง “ตัวขี่” ที่จะต้องเข้าใจบุคลิกของเครื่องและรถคันนั้นๆ ด้วย…

WISE & MR. GARAGE
NISSAN 200 SX
ไม่พูดถึงคันนี้ก็คงจะไม่ได้ “SR วิ่ง 8” คันแรกในเมืองไทย แถมยังเป็น “ทวินเทอร์โบ” แบบ Sequential คันแรกในเมืองไทยอีกเหมือนกัน อยู่บน 200 SX Stock Body ที่มีหลายฝ่ายช่วยกัน เช่น WISE, MR. GARAGE, BANGMOD RACING, YA SERVICE ฯลฯ (เยอะอิ๊บอ๋าย) เคยทำเวลาไว้แถวๆ “แปดเจ็ด” แต่ปีที่แล้วไม่ค่อยลงตัว เหลือ “แปดเก้า” ปีนี้ทาง MR.GARAGE ไม่ยอม ต้องปรับปรุงใหม่อะไรหลายๆ อย่าง โดยหวังเวลากลับมาทำลายสถิติตัวเองให้ได้ โดยรวมจะเน้นการเพิ่มแรงม้า เซตระบบต่างๆ ใหม่ เช็กองค์ประกอบต่างๆ และ “ลดน้ำหนัก” แต่จะมีอะไรบ้าง ก็ดูเลย…
Engine & Transmission
ขุมพลังก็ยังเป็น SR20DET จาก S14 ตัวเดิม เพิ่มเติมคือการรื้อมาตรวจสอบ ปรับให้สมบูรณ์ที่สุด ไส้ใน 2.2 ลิตร เอาแรงบิดเพิ่มขึ้น (อันนี้ใช้อยู่แล้ว) แต่สิ่งที่เปลี่ยนแน่ๆ คือ “กลับมาเป็นหอยเดี่ยว” ซึ่งหอยคู่ดูแล้วมันไม่แมตช์กัน เวลาเลยไม่ได้ตามเป้า ตอนนี้ใช้เทอร์โบที่ทาง WISE ได้สั่ง Custom Made มาใหม่ น่าจะเซตได้ลงตัวและง่ายกว่าเทอร์โบคู่ และได้เปรียบน้ำหนักที่เบากว่าด้วย…
ฝาสูบตอนแรกก็จะใช้ NEO VVL มาประกบ แต่ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างสูง ก็เลยเก็บไว้ก่อน ขอวิ่งสเต็ปนี้ให้มัน “สุด” ไปเลย ปีหน้าค่อยใส่ฝา VVL แน่ๆ ครับ ยังไงก็เป็นระบบ “เปิด-ปิด วาล์วแปรผัน” สามารถปรับให้กำลังเครื่องยนต์มาอย่างต่อเนื่อง มีผลในด้านเวลาแน่นอน…
ระบบเกียร์ก็ยังใช้แบบ Automatic ของ YA SERVICE เหมือนเดิม แต่มีการอัพเดตหน่อย คือ “เพิ่มระบบ Lock Up Torque Converter ในเกียร์ 3” เพราะของเดิมช่วงปลายไม่ค่อยแรงเท่าที่ควร เลยใช้ระบบนี้มาช่วยลดการสูญเสียกำลัง น่าจะช่วยได้อีกเยอะ เพราะช่วงเกียร์ 3 ต้องมีทั้งอัตราเร่งและความเร็วด้วยครับ…
Suspension
สำหรับระบบช่วงล่าง โดยรวมก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่โดยรวมไปเน้นที่การ “ลดน้ำหนักในส่วนหน้า” คือ เปลี่ยนเอาหัวครอบหน้า S14 ออก เพราะมันบานๆ โตๆ ทำใหม่เป็นหัวครอบหน้า 200 SX ตรงรุ่น ที่ “เพรียว” กว่าเยอะ ลดการต้านลมได้ดี และเปลี่ยนจากเทอร์โบคู่ เป็นเทอร์โบเดี่ยวแล้ว ทำให้ลดน้ำหนักจาก “1,200 ++ กก.” ที่เคยแบกไว้  ให้เหลือใกล้พิกัดที่กติกากำหนด…

X-TRA ORDINARY
สำหรับ “ตัวแปลก” ที่จะลงมา “ขยี้” ในรุ่น PRO 4 ก็คือ “R SPEC 2” ร่วมมือกับ “Goffy” ตัวขี่ประจำบ้าน เปล่าๆ MR2 นั้นมีอยู่แล้ว แต่จะเล่นอะไรประหลาดๆ มั่ง คือ SILVIA S14 ก็ไม่ได้วาง SR20DET หรอกนะ แต่หันไปคบกับ “3S-GE Beams” จาก ALTEZZA มาใส่เทอร์โบ GReddy T88-34D ทำแรงตามสไตล์ที่ตัวเองถนัด ลูก-ก้าน เปลี่ยนใหม่ (ซื้อเครื่องมาตัวละพัน เอามาปลุกผีโดยเฉพาะ) ส่วนเกียร์เป็น JERICO Air Shifter ช่วงล่าง OHLINS หรือ HKS HYPER DRAG กำลังเลือกอยู่…
ณ ตอนนี้ เทอร์โบยอดฮิตที่เปลี่ยนแนวจากของที่เคยใช้อยู่เดิมๆ มาเป็นของ PRECISION รุ่นใหม่ ที่กำลัง “มาแรง” เพราะราคาไม่แรง และสมรรถนะถูกใจ จาก Comment ของคนที่สั่งมาใช้นะ ก็ดีเหมือนกัน ได้ลองอะไรใหม่ๆ บ้าง…
พูดถึงรุ่น PRO 4 Modified จริงๆ แล้วในรายการ Souped Up ก็เคยมีรุ่นนี้อยู่ก่อนแล้ว แต่ปีนี้มา “ปัดฝุ่น” ใหม่อีกรอบ ก็มีผู้ปลุกกระแสอย่าง “เอส ระดับโลก” จาก NOI ELEVEN ที่เอา SUNNY KB110 มาทำเป็น Halfback 4 Links ซึ่งกติกาในรุ่น PRO Modified สามารถให้ทำได้ แต่ห้ามรถเฟรมเต็มระบบ ขุมพลัง SR20DET จาก S13 ชมพู หรือทางฝั่ง Signature สายนี้ก็เน้น MAZDA Retro ถ้าปีหน้ารุ่นนี้มีแข่งกันเยอะๆ ก็น่าจะปลุกชีพกลับมา “แว้ด” ให้ชม…
สำหรับรุ่น PRO 4 Modified เท่าที่ดู ถ้าปีนี้สนุก ปีหน้าคิดว่ามีรถ Retro ทำมาแข่งกันหลายคัน จุดเด่นก็คือ “ตัวรถมีเสน่ห์เหลือเกิน” โดยเฉพาะพวก “ไซส์เล็กท้ายลาด” ทั้งหลาย ตัวรถแบบราคาถูกๆ ก็ยังพอหาได้ แบบไม่ต้องเน้นสภาพอะไรเยอะนัก ขอให้แค่ “มีทรง” ก็พอ เพราะเราต้องเอามาทำกันใหม่แทบทั้งหมดอยู่แล้ว (แต่ทำแล้วก็อย่าถามว่า “กี่เท่าของราคารถ”) และรถพวกนี้จะ “น้ำหนักเบา” ห้องเครื่องเล็ก วางเครื่อง 4 สูบ หรือ 2 โรเตอร์ จะเหมาะสมกำลังดี แต่ก็ต้องระวังเรื่อง “ช่วงล้อสั้น” หน่อย เซตช่วงล่างดีๆ ก็แล้วกัน

PRO 6
ปีนี้ “เจ็ด” ควรหวนคืนอีกครั้ง !!!
สำหรับรุ่นยอดฮิต PRO 6 ที่เหมือนเป็น CEFIRO + 2JZ-GTE One Make Race จริงๆ แล้ว ตัวรถพื้นฐานใกล้เคียงกับ SUPER 6 2WD อย่างมาก โดยเฉพาะ “เครื่องยนต์” นี่ใช่เลย แต่จะมาต่างตรง “เกียร์” ที่เปิด “แล้วแต่ท่านถนัด” ยางเป็น “สลิค” แต่มีกำหนดหน้ายางไว้ ก็เหมือนกันเป็นรถที่พัฒนามาจาก SUPER ขึ้นมาเป็น PRO นั่นแหละครับ สิ่งหนึ่งที่น่าติดตามก็คือ “แต่ละอู่ก็มีสเต็ปการทำพอๆ กัน” แม้อาจจะดูซ้ำๆ กันไปบ้าง แต่จะมีลุ้นตอน “เวลา” ที่ “ขยี้” กันมาแบบ “ผิดจุดทศนิยมหลักที่ 2” นิดหน่อยแค่นั้นครับ ส่วนเวลาปีที่แล้ว คันที่เร็วสุดได้ “แปดศูนย์” จริงๆ เคยทำไว้ที่ “เจ็ดแปด” และเคยขึ้น “อันดับ 2 Over All” ขยี้รถเฟรมให้ระบือโลกมาแล้ว…

R&C, ตู่ โคราช
NISSAN CEFIRO     
คันนี้แหละที่เคยสร้างสถิติ PRO 6 แบบ Stock Body ที่วิ่ง “7.8 วินาที” คันแรกในเมืองไทย และได้ยืนอันดับ 2 Over All ใน Souped Up ปี 2014 ในรูปแบบ “รถเฟรมสะอื้น” โคตรเร็วจริงๆ สำหรับ R&C “ช่างฤทธิ์” และ “ตู่ โคราช” โดยตัวขี่ คือ “เบิร์ด” เจ้าของรถ ที่พัฒนาฝีมือขึ้นมาได้อย่างโดดเด่น ในปีที่แล้ว เวลาแผ่วไปหน่อย อยู่ที่ “แปดศูนย์” เพราะเครื่องใช้มานานแล้ว ซึ่งปีนี้ทางทีมก็ได้ปรับสภาพทุกอย่างกันใหม่ โดยหวังได้เวลา “เจ็ดแปด” เท่าเดิม หรือเติมอีกหน่อยจะดีมาก แต่อาจจะต้องฝึกซ้อมมากขึ้นหน่อย เพราะมีการ “เปลี่ยนเจ้าของและคนขับ” ใหม่ โดยเป็นรถคันเดิม ถ้า “ซ้อมเข้ามือ” ก็อาจจะได้เห็นเวลาดีๆ อีกครั้ง…
Engine & Transmission
ขุมพลังก็ยังอาศัย 2JZ-GTE เหมือนเดิม ตอนก่อนใช้ไส้ในเดิมอยู่ แต่คราวนี้รื้อมาปรับปรุงไส้ในบางจุดให้ใหม่และทนทานขึ้น แรงม้าที่มีอยู่ประมาณ “พันฝ่า” นั้นพอแล้ว แต่ถ้าเครื่องสมบูรณ์ก็จะช่วยลดอาการเสี่ยงพังได้มาก และมีผลกับเวลาที่ “เสถียร” เพราะวิ่งแล้วไม่ “เหี่ยว” นั่นเอง…
ระบบเกียร์ คันนี้ก็ใช้ LIBERTY Air Shift ก็ยังคงใช้เหมือนเดิม เพราะ “ทนมือทน Teen ดี” ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะที่อู่ก็ใช้หลายคัน ราคาอาจจะสูงกว่าแบรนด์อื่นหน่อย แต่ก็คุ้ม เพราะได้ลูกทนกว่า…
Suspension
ส่วนใหญ่แล้วรุ่นนี้ก็ไม่มีอะไรพิเศษมากนัก เพราะกติกาบังคับอยู่ว่าต้องเป็นรูปแบบเดิม เติมได้แต่อุปกรณ์โมดิฟายแค่นั้น ก็จะอยู่ที่การเซต “มุมล้อ” และ “ค่าการทำงานของโช้คอัพ” กันใหม่ ให้เหมาะสมกับ “สองสนาม” ที่เราจะจัด ซึ่งมีพื้น Track คนละสไตล์กัน…
อย่างเรื่อง “ยาง” ทาง “เบิร์ด R&C” เป็นทั้งเจ้าของรถ และตัวขี่ ถ้าคนเคยขับรถที่เป็น Drag Slick จะรู้ว่า “ยางแก้มนิ่ม” มันเกาะก็จริง แต่มันก็จะ “โย้ง่าย” สำคัญตอนออกตัว และ “ตั้งลำ” ให้ตรง ถ้าได้แล้วก็สามารถเดินคันเร่งเต็มได้ ยางก็จะหมุนปั่นไปในทิศทางตรงและเสถียร แต่ถ้า “ผิดท่า” หรือ “ถอนคันเร่งกะทันหันแบบยกหมด” ยางจะสูญเสียการยึดเกาะทันที ส่วนใหญ่แล้วช่วงล่างรถพวกนี้ก็จะเน้น “ไม่นิ่มมาก” เพราะให้ยุบที่ยางแทน และความเร็วสูงไปได้อย่างเสถียร…

ช่างต่อ ลพบุรี
NISSAN CEFIRO
คนนี้ขาประจำรุ่น PRO 6 แบบต่อเนื่องนานหลายปี “ช่างต่อ ลพบุรี” บุรุษมาดนุ่ม สุขุม เป็นเอกลักษณ์ กับ CEFIRO สีน้ำเงินคู่ใจ และตัวขี่คู่ชีพอย่าง “จุ๋ย โมดะ หวานเจี๊ยบ” ปีที่แล้วได้อันดับ 3 ไปครอง ด้วยเวลา “8.169 วินาที” ก็ไม่เลวนะครับ จ่อกับอันดับ 1 มาแบบผิดเสี้ยววินาทีจริงๆ แสดงว่า “ไม่หนีกัน” สำหรับส่วนตัวสไตล์ “ช่างต่อ ลพบุรี” จะไม่ค่อยเน้นอะไรที่ “เวอร์อลังการ” มากเกินไป แต่จะเน้นอะไรที่ “พอดี” ขอ “ใช้ให้เต็มสมรรถนะ” และ “ลงตัว” ครับ…
Engine & Transmission
ขุมพลัง 2JZ-GTE แต่ก่อน ช่างต่อ ลพบุรี ก็จะเน้นท่อนล่างเดิมๆ แต่ตอนนี้ “อยู่ไม่ได้” ต้องอัพเกรดขึ้นมา โดยรวมก็จะเน้นเรื่องความทนทานมากกว่า จริงอยู่ ว่าท่อนล่างเดิมๆ ของ 2JZ-GTE มันสามารถทนได้ในระดับ 1,000 PS แต่ “อายุสั้น” ตามแรงม้าที่เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็จะอัพเกรดไส้ในกันหมดแล้ว แต่คันนี้คาดว่าจะยังใช้ “ข้อเดิม” 3.0 ลิตร เพราะแรงม้าขนาดนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทะลุเป้า “7.XXX วินาที” ก็เหลือแต่ทำอย่างอื่นช่วยล่ะครับ…
สำหรับเกียร์ ปีที่ผ่านมา ก็ได้เปลี่ยนมาเป็น JERICO Air Shifter 5 สปีด ตามสมัยนิยม จริงๆ สเต็ปที่ถูกอัพเกรดเพื่อเวลาที่ใกล้เลข “7.XXX วินาที” ส่วนใหญ่ก็จะ “ประมาณนี้” ทั้งนั้น เพียงแต่อาจจะเปลี่ยน “แบรนด์” บางอย่าง แต่โดยรวมสเต็ปเหมือนกันครับ…
Suspension
ปีนี้ ช่างต่อ ด้วยความที่รถมีแรงม้าและความเร็วมากขึ้น ระบบช่วงล่างก็ต้อง “แน่นอน” มากขึ้น และต้อง “เซตใหม่ทั้งหมด” แรงม้าและแรงบิดมากขึ้น อาการรถจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญ คือ “เพลาข้าง” ช่างต่อ ใช้เพลาสร้างใหม่จาก DRIVE SHAFT SHOP เน้นความทนทาน เพราะส่วนใหญ่แล้วถ้าใส่ “ยางสลิค” ที่มี Traction ในการออกตัวสูง จะเจอปัญหา “เพลาข้างขาด” กันเป็นประจำ ซึ่งทำให้เสียโอกาสและ “เกิดอันตราย” ในช่วงความเร็วสูงได้ครับ…

X-TRA ORDINARY
สำหรับอันดับ 2 CEFIRO 4WD ของ “ช่างญา” แห่ง YA SERVICE ปีนี้ก็คาดว่าจะลงชิงชัยเหมือนเดิม มีการซื้อของมา “อัพเดต” ความแรง ที่รู้ๆ คือ “ระบบเชื้อเพลิงใหม่” ใช้ประเภท “แอลกอฮอล์” เพื่อให้การจุดระเบิดรุนแรงขึ้น ทำให้บูสต์มาเร็วและต่อเนื่อง จากของเดิมที่แรงม้าจะ “โหนปลาย” เกินไป ก็น่าจะเห็น “7.XXX วินาที” โดยไม่ยาก แต่อาจจะยังไม่ได้ใช้ในปีนี้ เนื่องจากต้องทุ่มเทให้กับ “Dragster” ที่กำลังสร้างขึ้นมา ที่แน่ๆ อนาคตได้เห็นเกียร์ YA SERVICE ที่ไม่ใช่เกียร์ออโต้ แต่จะเป็นเกียร์อะไรนั้น เราเคยนำเสนอไปแล้ว ไปย้อนดูใน Reed It More เล่มก่อนๆ เองนะ…
ส่วน “แจ๊ค V.J. WORKSHOP” ปีที่แล้วก็เงียบๆ ไป แต่ปีนี้มี “ทำใหม่” ตัวเด็ด คือ “SKYLINE R32” ที่กะวิ่งรุ่นนี้เลย ขับสี่ ยางนิ้ว เครื่อง RB26DETT มี 2 เวอร์ชัน คือ ท่อนล่าง 2.8 L จาก HKS ส่วนอีกตัว เล่นของใหญ่จาก “สูตรออสซี่” คือ ท่อนล่าง RB30E ประกบฝา RB26DETT โดยใช้ข้อเหวี่ยงเดิมของ RB30E และเปลี่ยนลูกสูบกับก้านใหม่ เทอร์โบโคตรพ่อแม่ลูกอลังการ OWEN Twin Turbo ใหญ่แน่ๆ ต้องดูว่า “ออกตัวไหวมั้ย” ถ้าไหวก็ลงรุ่น PRO 6 ถ้าไม่ไหวต้อง “ยิงแก๊ส” ก็ต้องขยับไปเป็น PRO 6 Modified ครับ…

PRO 6 Modified
SUPRA มาแรง
สำหรับความ “เหนือ” กว่ารุ่น PRO 6 ก็คือ “สามารถใช้ไนตรัสได้” และ “ระบบช่วงล่างของล้อขับเคลื่อนสามารถเปลี่ยนรูปแบบ หรือดัดแปลงได้โดยเสรี” ไม่จำกัดน้ำหนักรถ แต่ “ห้ามเฟรม” เต็มระบบ นั่นแหละครับ แต่โดยรวมแล้ว รถที่มาวิ่งรุ่นนี้ก็ยังเป็นสเต็ป PRO 6 ซึ่งยังเป็นช่วงล่างรูปแบบเดิมติดรถ อาจจะไม่อยากยุ่งยากเรื่องสร้างช่วงล่างใหม่ก็เป็นได้ สำหรับสถิติเวลา รุ่นนี้อาจจะช้ากว่า PRO 6 อยู่หน่อย อาจจะเครื่อง “แรงเกินรถ” ก็เป็นได้ จริงๆ รุ่นนี้ถ้าเป็นรถแบบ Halfback มาวิ่ง ก็น่าจะตื่นเต้นกว่านี้ รอชมอยู่เหมือนกัน…

อำนาจ ออโต้เซอร์วิส สุพรรณบุรี & YA SERVICE
NISSAN CEFIRO
รถคันนี้อาจจะไม่ได้เวลาถึง 7 วินาที แต่อย่างน้อยก็ทำเวลาได้ “8 ต้น” แบบ “เสถียร” เพราะทุกปีก็ได้อันดับตลอด เป็นตัวเก็งในรุ่น PRO 6 Modified มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งนอกจากความแรงแล้ว ที่เด่นชัดคือ “ความสวยงาม สะอาด เรียบร้อย” ทำให้รถดู “อัพเกรด” ขึ้นมาทันที รถแข่งไม่จำเป็นต้องเน่าครับ ทำให้เร็วเห็นทำกันได้ แต่ถ้าสวยด้วยแล้ว มันจะดูโดดเด่นเอง…
Engine & Transmission
เครื่องยนต์ปีนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก มีแต่เรื่องของ “เชื้อเพลิง” ที่ตั้งใจไว้ว่าจะใช้ตระกูล “แอลกอฮอล์” เป็นหลัก เพื่อการจุดระเบิดที่หนักหน่วง ทำให้ “บูสต์มาไวขึ้น” เพราะตอนนี้เหมือนแรงม้ามารอบสูงเกินไปหน่อย ถ้าให้บูสต์มาไวและต่อเนื่องมากขึ้น ย้าย Power Band ลงมาต่ำและกว้างขึ้น อันนี้แหละครับคือแนวทางที่แก้ปัญหาได้โดนใจที่สุด…
ส่วนเรื่องระบบเกียร์ ก็จะเหมือนกับคัน 4WD ก็คือ มีแผนจะเปลี่ยนจากเกียร์ออโต้ มาใช้เกียร์สไตล์ LENCO ที่ YA SERVICE ได้นำรูปแบบมาปรับปรุงแก้ไขเป็นของตัวเอง น่าจะได้เวลาที่ดีขึ้น อยู่ในขั้นตอนทดลอง คิดว่า “ปีหน้า” คงได้เห็นกันแน่นอน ปีนี้ขอวิ่งสเต็ปเดิมไปก่อน เพราะต้องใช้เวลาทำ Dragster นั่นเอง…
Suspension
สำหรับระบบช่วงล่าง สั้นๆ นะครับ “เหมือนเดิม” แต่ถ้าเปลี่ยนเกียร์ใหม่แล้ว ก็ต้องมาเช็กเรื่องอาการรถกันอีกที…

ACCESS & FAST HUNTER
NISSAN CEFIRO
นี่ก็เจ้าประจำขึ้นแท่นในรุ่นนี้แทบจะทุกปีเหมือนกัน “ออย ACCESS” กับรถคู่ใจที่ใช้งานกันมานานนนนนนนนน…มาก โดยร่วมมือกับซี้เก่า “โคยาเบิร์ด FAST HUNTER” มาตั้งแต่ดั้งเดิมจริงๆ คนจูนก็ “อุป วายริ่ง” คู่ขากัน สำหรับในปีนี้ ก็ยัง “เหมือนเดิม” เรียกว่า “มาด้วยใจ” ดีกว่า จะขอเป็นแนวร่วมสนุกกับ Souped Up ขอให้ได้ยืนตำแหน่งก็เอาแล้ว ปีที่แล้วทำเวลาไว้ “8.542 วินาที” เรียกว่าห่างจากอันดับ 1 ประมาณ “จุดหนึ่ง” แต่ในความเหมือนเดิม ก็ย่อม “ไม่เหมือนเดิม” แน่นอน คงไม่มีใครอยู่นิ่งได้จริงๆ หรอก…
Engine & Transmission
คันนี้ “เล่นแรง” ชุดใหญ่ ด้วยการขยายความจุไปเป็น “3.4 ลิตร” ด้วยอุปกรณ์ Stroker Kit จาก BRIAN CROWER ตามด้วยก้านสูบจาก “แผ่นดินใหญ่” ตามสไตล์ “งบไม่บาน” ที่ FAST HUNTER ได้เอามาลองกับรถของ “โอ เด็กน้อย” แล้วว่า “ใช้ได้” โดยรวมจะเน้น “แรงบิด” ในช่วงรอบกลางๆ มาให้เร็วและกว้างขึ้นกว่าเครื่อง 3.0 ลิตร ก็หมายความว่า เครื่องจะทนทานและไม่ต้องหมุนรอบสูงจัด มีอายุยาวกว่า เป็นการลงทุนที่สูงครั้งแรก แต่ใช้กันยาวๆ ครับ…
ในด้านเกียร์ คันนี้ยังมาแนว “อนุรักษ์” เด็กซิ่งยุคใหม่อาจจะเกิดไม่ทัน “J.W. Power Glide” ซึ่งเป็นเกียร์ออโต้สำหรับ Drag Racing ที่บ้านเราใช้กันครั้งแรกแบบ “บุกเบิก” เมื่อ 10 ปี ก่อน มันประหลาดดีครับ มีแค่ “2 สปีด” ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นเกียร์รุ่น Power Glide สุดคลาสสิก ประมาณยุค “ฟิฟตี้” ดีไซน์มันเป็นแบบนี้จริงๆ แต่เอามาปรับใช้กับ Drag Racing จริงๆ มันเหมาะสำหรับ “เครื่อง Big Block” แต่เอามาใส่กับ 2JZ-GTE ก็ต้องขยายความจุ รวมถึง “ยิงไนตรัส” ช่วยออกตัวครับ ไม่งั้นปั่นไม่ไหวแน่ๆ…
Suspension
ระบบช่วงล่าง คันนี้ก็ได้ “เพื่อนเก่า” อย่าง FAST HUNTER ที่เป็นสายบุกเบิกเรื่องช่วงล่างยุค 10 กว่าปีก่อนเหมือนกัน ระบบต่างๆ คงเดิม แต่พัฒนาขึ้นในการวัด Stroke การทำงานของช่วงล่างเวลาออกตัว ว่ายุบเท่าไร มุมล้อจะไปท่าไหน ก็ต้องอาศัย “ตั้งดักทางเอาไว้” ถ้ายุบแค่นี้ก็ให้ “หน้ายางกดตรงพอดี” อะไรทำนองนี้ แล้วก็ใช้โช้คอัพดึง Rebound หนืดหน่อย เพื่อไม่ให้ท้ายกระดกเร็วเกินไป…
ส่วนยางคันนี้ก็เล่น “ของใหญ่” เพราะใช้ความสูงถึง “29.5 นิ้ว” ส่วนอีก 2 อันดับ ใช้อยู่แถวๆ 28 นิ้ว เพราะเกียร์ Power Glide มีแค่ 2 สปีด ก็เลยต้องเอายางใหญ่ช่วยตอนปลายนั่นเอง…

X-TRA ORDINARY
พูดถึง “ข่าวคราว” พรรคพวกที่จะมาลงเล่นในรุ่นนี้กัน อย่าง “แจ๊ค V.J.” ก็ทำ SUPRA มาวิ่งรุ่น PRO 6 Modified ส่วนฝั่ง “พี่ชาย” คือ “VER TECHNICAL” ก็ทำ SUPRA ของ CLUB 24 มาวิ่ง ได้อันดับ 3 เมื่อปีที่แล้ว เวลายังไม่พอใจเท่าไร เพราะ “ยางเล็ก” ใช้ความสูงเพียง 28 นิ้ว แล้วรอบเครื่องมันสุดไปก่อนจะเข้าเส้น ก็เหตุผลเดียวกันคือเกียร์ POWER GLIDE 2 สปีด ปีนี้เลยเปลี่ยนล้อให้มีความสูงและเส้นรอบวงมากขึ้น เพื่อให้ปลายไหลโดยที่รอบไม่ไปสุดก่อนถึงเส้น ก็น่าจะได้เวลาเร็วขึ้นอีกพอสมควร ถ้ารถเสร็จด้วยกันทั้งหมด ปีนี้ได้เห็น “ศึกสองพี่น้อง” ในสนามแน่นอน…
จะสังเกตได้ว่า รุ่นนี้จะนิยม SUPRA กันมาก จะว่าเป็น “เทรนด์” ก็ว่าได้ เพราะรถมีความเพรียวลมมากกว่า CEFIRO และในอเมริกา SUPRA ก็เป็นตัวแข่ง Drag Racing กันเยอะ ตอนนี้ก็มีซุ่มทำกันอยู่หลายคัน แต่จะเป็น PRO 6 หรือ PRO 6 Modified ก็รอลุ้นตอนเสร็จกันอีกที

PRO TRUCK
“สายหมอบ” ดุเดือด เชือดสนั่น
ตบท้ายกับรุ่นยอดนิยมชาวไทย “PRO TRUCK” สนั่นลั่นควันท่วม กับกระบะ Stock Chassis (ห้ามเฟรม) ที่หลายอู่ระดับแนวหน้าของเมืองไทยจ้องจะแย่งชิงตำแหน่งกันให้จนได้ แต่ละอู่ก็จะทำมาใกล้เคียงกัน จนยากที่จะบอกว่าใครเร็วกว่ากันจนกว่าจะได้เห็น “เวลา” เป็นตัวตัดสิน ปีนี้รถเพิ่มขึ้นเยอะครับ น่าจะมีกว่า 20 คัน แน่นอน เพราะแต่ละอู่ก็ “อยู่เฉยไม่ได้” ต่างคนต่างซุ่มทำแรงกันมากขึ้น แต่ละคันน่าสนใจและประมาทเรื่องเวลากันไม่ได้จริงๆ ส่วนใหญ่ก็ทำมาเพื่อวิ่ง Souped Up โดยเฉพาะ (สังเกตได้ว่าช่วงกลางปีเป็นต้นมาจะเริ่มทำกันเยอะ) ที่แน่ๆ ดุเดือดชัวร์…

JOB MONTRI
ISUZU D-MAX
เคยเห็นกันไปแล้วสำหรับ “สายชมพู” สุดเนี้ยบคันนี้ ที่เคยนำเสนอใน Souped Up Special กันตอนที่ยัง “ซิง” คันนี้หลายคนจับตามองในปีนี้ ทาง “จ๊อบ + แจ็ค” JOB MONTRI สืบสานตำนานดีเซลอย่าง “น้าค่อม” MONTRI DIESEL เป็นกุนซือคอยหนุนอยู่เบื้องหลัง รถคันนี้จะเน้นการ “สร้างตามกติกา” โดยอ้างอิงจาก Souped Up เป็นหลัก เพราะเป็นรายการใหญ่ที่หวังไว้มาก รวมไปถึง “ความปลอดภัย” ที่ทีมผมเน้นมากๆ ปีนี้เตรียมความพร้อมกันสุดๆ ครับ เพราะรู้ว่าพลาดมาเยอะ ประมาทไม่ได้อีกแล้ว มีอัพเกรดเยอะเหมือนกันนะคันนี้…
Engine & Transmission
หลังจากที่ถ่ายคอลัมน์ไป คันนี้ก็ได้อัพเกรดไส้ในเป็น Full Race “เต็มทั้งตัว” จาก MRX ขยายความจุเป็น “3.2 ลิตร” ซึ่งแน่นอนว่า ได้ทั้งกำลังและความทนทานมากขึ้น เพราะรู้กันว่า ถ้าไส้ในไม่ทำตาม จัดหนักระดับ “บูสต์ร้อยกว่าปอนด์” ยังไงก็ “พัง” แทบจะนับรันพลีชีพได้เลย แต่เมื่อทำให้แข็งแรงครบสูตร ถ้า “ไม่พัง” กลายเป็นคุณจะได้เปรียบในทุกด้านทันที เชื่อสิ…
ส่วนเทอร์โบ ก็มีการอัพเกรดขนาดขึ้นไปอีก จากเดิมที่จะใช้รุ่น TF-08 เป็น “ลูกสอง” ก็คือลูกใหญ่สุด ตอนนี้ “เทรนด์ใหม่” มา กลับเอามาเป็น “ลูกแรก” ส่วนลูกสองก็ขออุบไว้ก่อน แต่ใหญ่กว่าเดิมแน่นอน เพิ่มบูสต์มากขึ้นได้ เพราะทำไส้ในรอเรียบร้อยแล้ว อาจจะไม่ได้เอาบูสต์มากขึ้น เพราะสไตล์ของค่ายนี้เขาไม่ได้บูสต์โอเวอร์อะไรนัก ขอพอดีๆ แต่เน้น Flow Rate ของอากาศให้สมบูรณ์มันก็แรงขึ้นแล้ว…
Suspension
ระบบช่วงล่าง คันนี้แม้รายละเอียดจะเป็นแบบ “มาตรฐาน” ตามกติกาของรถแข่งรุ่นนี้ แต่เน้นมากๆ ว่าต้อง “ส่งกำลังได้เต็มที่” และ “ไปได้ตรง” ทางทีม JOB MONTRI จะเน้นในด้านนี้มากๆ รวมถึง “ความแข็งแรง” เป็นส่วนสำคัญ เพราะดีเซลมีแรงบิดมาก ระบบต้องแข็งแรงพอที่จะรองรับให้ได้ตลอดรอดฝั่ง…
สำหรับการกระจายน้ำหนัก คันนี้ก็จะเอา “หม้อน้ำ” ไปไว้ท้ายสุดใต้กระบะ โดยตำแหน่งนี้จะ “ไกลล้อหลัง” มากที่สุด น้ำหนักจะเฉลี่ยมาด้านหลังเยอะ (น้ำหนักคงที่ แต่ถ้าย้ายตำแหน่งยิ่งไกลล้อมาก น้ำหนักจะยิ่งถ่วงเยอะ หลักการ “คานดีดคานงัด” นั่นเอง) และวางด้านใต้เพื่อลด “จุดศูนย์ถ่วง” หรือ CG. ให้ต่ำลง ส่งผลให้รถมีการทรงตัวดีขึ้น และดูไม่เกะกะด้านบน…

ไพศาลเทอร์โบ สระบุรี
TOYOTA MIGHTY-X
เก่าแก่แต่ก็เข้าอันดับนะคร้าบบบบ… กระบะยุค 90 จาก “ไพศาลเทอร์โบ สระบุรี” ที่หลุดมาเป็นอันดับ 3 ในรุ่น PRO TRUCK เก่าใหม่ไม่เกี่ยว อยู่ที่ว่า “ถึง” หรือเปล่า อย่างคันนี้ก็เป็นรถแนวๆ Nostalgia หรืออารมณ์ว่า “ยังระลึกถึง” เพราะทางเจ้าของก็ซื้อรถป้ายแดง และทำมาตลอดก็เลยไม่อยากจะทิ้งมันไป สำหรับความได้เปรียบเสียเปรียบกับกระบะรุ่นใหม่ ไม่แน่นะ ส่วนตัวผมว่าไม่เสียเปรียบเสมอไปหรอก ประการแรก กระบะรุ่นเก่าจะมีทรงที่ “เพรียว” กว่ากระบะรุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่โต น้ำหนักรถก็เบากว่า โดยเฉพาะ MIGHTY-X ที่จะเด่นในด้านรูปทรงเพรียวลมแบบนี้ อีกประการ พื้นฐานรถกระบะส่วนใหญ่ก็จะเหมือนกันหมด ถ้าเซตได้ถูกต้อง ก็ถือว่าไม่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกัน ปีนี้ก็ยังยืนยันใช้คันนี้ลงแข่ง PRO TRUCK ครับ โดยตั้งเป้าหมายไว้ “แปดกลาง” ไม่งั้นไม่มีที่ยืน…
Engine & Transmission
ขุมพลัง “เล่นตามสมัยนิยม” คือ 4JJ1-TCX จาก ISUZU แล้วขยายความจุเป็น 3.1 ลิตร โดยการเปลี่ยนข้อเหวี่ยงใหม่ ซึ่งข้อเหวี่ยงก็เป็นของพวก 4JG2 จาก TROOPER ตัวนอก คันนี้เอาข้อเหวี่ยงมาจัดการเรื่อง “สมดุล” และ “น้ำหนัก” กันใหม่ เปลี่ยนก้านสูบเป็นของ MRX และ “ปรับกำลังอัดใหม่” ให้รองรับกับบูสต์ที่เยอะขึ้นโดยไม่ “ยิงเสื้อแตก” ซะก่อน…
ระบบเกียร์ คันอื่นใช้ Air Shifter กันซะเกือบหมด แต่คันนี้ยังยืนยันเป็น JERICO V-GATE อยู่เหมือนเดิม เพราะขับจน “ชิน” แล้ว อีกอย่าง ไม่ค่อยมีปัญหาจุกจิก ระบบไม่ซับซ้อน ชิ้นส่วนน้อย นับเป็นข้อได้เปรียบอีกมุมหนึ่ง ก็ต้องเลือกเอาครับ ว่าจะเลือกแบบ “ปุ่มเดียวเสียวตลอด” แต่ต้อง Maintenance (บำรุงรักษา) ทั้งระบบดีๆ หรือจะเลือกแบบ “โยกยัดเหนี่ยวไก” แบบไม่ยุ่งยาก แต่ก็ต้องขับเก่งๆ แม่นๆ นะครับ…
Suspension
สำหรับระบบช่วงล่าง ก็อาศัย FAST HUNTER ช่วยสร้างให้ตามสูตร โดยภาพรวมแล้ว กระบะก็ไม่ต่างกัน จะกี่รุ่นๆ ก็ใช้ระบบเดียวกัน อาจจะผิดกันที่ “ความกว้างฐานล้อ” เพราะรุ่นเก่าจะแคบกว่ารุ่นใหม่ แต่ถ้าจะทำแข่งก็คือ “ไม่เกี่ยว” ยังไงก็ต้องสร้างใหม่หมดอยู่แล้ว เหลือแต่แชสซีเดิมๆ เอาไว้พอ (คันนี้ก็ไม่ได้ตัดหรือเจาะด้วยนะ) ปีนี้ด้านหลังเซตใหม่นิดหน่อย เพราะ “อัพไซส์ยาง” โตขึ้น เป็น “31.25 นิ้ว” ของเดิม 31.0 นิ้ว เพื่อรองรับกับแรงม้าที่มากขึ้น…
สิ่งหนึ่งที่ยังเป็น “น้ำหนักส่วนเกิน” ก็คือ “ระบบทอร์ชั่นบาร์ด้านหน้า” ที่จะมีน้ำหนักมากกว่าระบบคอยล์สปริงแบบกระบะรุ่นใหม่ สองดุ้นก็ล่อไป 30 กก. ++ แล้ว แต่ก็ต้องใช้แบบนี้ไปก่อน ถ้าอยากเบาก็ต้องแก้เป็นคอยล์สปริง ซึ่งต้องมีขั้นตอนการทำยุ่งยากขึ้นในการดัดแปลง ทางอู่เลยไม่ทำ เพราะตอนนี้น้ำหนักรถก็เกินอยู่แค่ “20 กก.” ไม่มีผลอะไรมากนัก…

X-TRA ORDINARY
สำหรับ “อันดับ 2” อย่าง “TEX BAO BAO & โอ๊ต อู่ช่างขวัญ” กับ D-MAX ชมพูหวานแหวว ปีนี้ “ไม่ยอม” จัดหนัก เน้นระบบ Aero Dynamic ทำหัวรถใหม่ ย้ายพวงมาลัยมาอยู่ซ้าย เพิ่มแรงม้า งานนี้ “จัดหนัก” ไว้รอดูที่ “หน้างาน” ก็แล้วกัน…
ปกติแล้วเครื่องดีเซลที่โมดิฟายมามากๆ ช่วงก่อนหน้าจะมีปัญหาเรื่อง “พัง” เพราะมันไป “เกินขีดสุดของเครื่อง” พูดง่ายๆ ไม่ได้ว่าทำไม่ดี แต่ของทุกอย่างมันก็มี Limit ของมัน ยุคก่อนหน้าส่วนใหญ่ไส้ในจะเป็นแนวๆ “เทียบใส่” แต่ตอนนี้ Up Level ใหม่ สร้างของโมดิฟายขึ้นมาทั้งหมด มีหลายยี่ห้อในแบรนด์คนไทย ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็จะลงทุนกันมากขึ้น ก็จะเสี่ยงพังน้อยลง ทำให้ “ไม่ปิดโอกาสตัวเอง” ซึ่งเป็นแนวทางที่มันต้องไปตามแรงม้าและเวลาที่เร็วขึ้นอยู่แล้วครับ…