Street Ring Fighting : LIQUI-MOLY TEAM ENGSTLER / VW GOLF GTI TCR for TCR ASIA

(วางรูป 01 เปิดคู่)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี                             
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)  

หลังจากที่ Bangsaen Grand Prix “บางแสน กรังด์ปรีซ์” สนามในรูปแบบ “Street Circuit” บนถนนรอบหาดบางแสน จ.ชลบุรี เรียกว่า “โหด มัน ฮา” ที่สุด ทั้งนักแข่งและผู้ชม หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิม Bangsean Speed Festival เป็น Bangsean Grand Prix และเลื่อนเวลา “ปลายปี” มาเป็น “กลางปี” เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา จนถึงปีนี้ ก็มีที่มาหลายประการ ถ้าเป็นเรื่องเปลี่ยนช่วงเวลาการจัด เพราะต้องการผลักดันเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วง Low Season ให้มาชมงานและกิจกรรมต่างๆ อีกประการ ต้องการไปอยู่ใน “ปฏิทินการแข่งขันระดับโลก” หรือ World Grand Prix Bulletin เนื่องจากว่ารายการนี้ผลักดันให้ได้มาตรฐาน FIA Grade 3 และมีรายการแข่งระดับ “อินเตอร์” ร่วมอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ TCR Asia/TCR Thailand ซึ่งรายการ TCR Asia นั้น ก็ได้รับความนิยมสูงต่อเนื่อง และในทีมที่มีความโดดเด่นในด้านการแข่งขัน ก็คือ LIQUI-MOLY TEAM ENGSTLER หรือ “ลิควิโมลี่ ทีม แองสเลอร์” ที่ใช้อาวุธอย่าง VOLKSWAGEN GOLF GTI TCR จำนวน 3 คัน มาร่วมมหกรรมความมันส์ในรายการนี้ด้วย เรียกว่าเป็นทีมระดับ “อินเตอร์” ที่เรามีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์และลั่นภาพสวยๆ มาให้ดูกันว่า TCR คืออะไร และทำไมมันถึงน่าสนใจและได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ…

ว่าด้วยเรื่องของ TCR แบบ Fun Book
ตามสไตล์ของผม “พี สี่ภาค” กับการถ่ายทอดความรู้สู่ท่านผู้อ่านในแบบ “ความรู้คู่บันเทิง” ที่ทุกคนจะต้องอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย เพลิดเพลิน สำหรับ TCR International Series นั้น จะเป็นรายการแข่งระดับอินเตอร์ (นานาชาติ) เริ่มจากใน “ยุโรป” มาก่อน แล้วมาแตกหน่อไปหลายภูมิภาค เช่น อเมริกา, สแกนดิเนเวีย, ตะวันออกกลาง ฯลฯ และในระดับ “เอเชีย” เป็น TCR Asia Series ในบ้านเราก็เริ่มการแข่งขันในช่วงปี 2015 โดยใช้ชื่อ TCR Thailand Series และได้รับความนิยมขึ้นมาเรื่อยๆ ชื่อ TCR นั้น มาจาก Touring Car Racing กำหนดว่าเป็นรถแบบ 4/5 ประตู แบบที่ขายกันทั่วๆ ไป ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้…
< เป็นรถซีดาน 4/5 ประตู ก็พวก HONDA CIVIC Type R, SEAT LEON CUPRA, VOLKSWAGEN GOLF GTI, AUDI RS3, HYUNDAI i30 etc. ที่มีจำหน่ายทั่วไป นำมาโมดิฟายภายใต้ Regulation ของ TCR เหมือนกัน…
< ตัวถังต้องเป็นของเดิมจากโรงงาน (Stock Body) โมดิฟายเสริมความแข็งแรงได้ และต้องเป็นรูปทรงเดิมจากโรงงานอีกด้วย สำหรับชุด “โป่งล้อ” (Wheel Arch) สามารถขยายให้ใหญ่คลุมล้อตามขนาดที่กำหนดไว้ได้ ระยะต่ำสุดจากพื้น (Ground Clearance) ไม่ต่ำกว่า 80 มิลลิเมตร…
< น้ำหนักรถ มี 2 ข้อกำหนด ถ้าเป็นเกียร์เดิมจากโรงงาน อย่างพวก Dual Clutch ควบคุมด้วยไฟฟ้า เปลี่ยนเกียร์ด้วย Paddle Shift น้ำหนักขั้นต่ำ 1,250 กก. แต่ถ้าเป็นเกียร์ Racing Purpose (ตามกฎของ TCR) น้ำหนักขั้นต่ำเพิ่มเป็น 1,285 กก. ซึ่งน้ำหนักรถที่กำหนดไว้นี้ จะ “ชั่งรวมคนขับ” ด้วย…
< เครื่องยนต์ กำหนดต้องเป็นเครื่อง 2.0 ลิตร เบนซิน หรือดีเซล พร้อม “เทอร์โบ” แรงม้าสูงสุด กำหนดไว้ 350 PS แรงบิดสูงสุด 420 Nm ระบบหล่อลื่น บังคับปั๊มน้ำมันเครื่องแบบ Wet Sump เท่านั้น ส่วนระบบไอเสีย บังคับ Catalytic ต้องใช้ของโรงงานเท่านั้น…
< ระบบเกียร์ ใช้เป็นเกียร์เดิม หรือเกียร์ที่ผลิตตามกติกา TCR International Series ซึ่งการเปลี่ยนเกียร์เป็นแบบ “เรียงลำดับ” หรือ Sequential และให้ใช้ระบบ Paddle Shift ได้…
< ระบบช่วงล่าง ด้านหน้าเป็น “รูปแบบเดิม” จากโรงงาน แต่ชิ้นส่วนออกแบบได้อิสระ ด้านหลังเป็นรูปแบบเดิมจากโรงงานเหมือนกัน ห้ามเปลี่ยนชิ้นส่วน แต่สามารถ “ดามเพิ่มความแข็งแรง” ได้…
< ระบบเบรก ด้านหน้าบังคับไม่เกิน 6 ลูกสูบ (ฝรั่งเรียก Piston ก็ยังสงสัยเลยคำว่า พอท ของไทยมาจากไหน) จานเบรกไม่เกิน 380 มม. ด้านหลังบังคับ 2 ลูกสูบ ระบบ ABS อนุญาตให้ใช้ได้…
< ล้อ บังคับขนาด 10 x 18 นิ้ว ส่วนยางเป็นไปตามที่ผู้จัดกำหนด…


LIQUI-MOLY TEAM ENGSTLER
สำหรับเรื่องราวคร่าวๆ ของทีมแข่ง “ลิควิโมลี่ ทีม แองสเลอร์” จาก เยอรมัน จัดการโดย บริษัท แองสเลอร์ มอเตอร์สปอร์ต โดยมี “Mr. Franz Engstler” นักแข่งมากประสบการณ์ ที่ผ่านการแข่งขันรายการใหญ่ๆ เช่น Asia Touring Car Championship, World Touring Car Championship (WTCC) เริ่มตั้งแต่ปี 2005 กับรถยนต์ BMW 320i WTCC และมาถึง TCR ซึ่งมี Main Sponsor คือ LIQUI-MOLY เลยใช้ชื่อทีมตามที่พาดหัวมาตะกี้ แต่ว่าทำไมทีมจากเยอรมัน จึงมาลงแข่งใน TCR Asia Series รายการ “บางแสน กรังด์ปรีซ์” ซึ่งเป็นการแข่งในสนามแบบ Street Circuit ครั้งแรกของพวกเขาอีกด้วย ซึ่งบอกเลยว่า “ไม่ง่าย” เพราะหลายสิ่งอย่างมันเปลี่ยนไปจากสนามเซอร์กิตโดยทั่วๆไป แน่นอนว่า การทำสนามบน “ทางสัญจรปกติ” แม้มันจะไม่ได้เรียบสนิทและมี Run off area เอาไว้ตอน “พลาด” เหมือนสนามมาตรฐาน อันนี้มีแต่ Fence และ Guard Rail คอยต้อนรับเวลาท่านหลุด แต่ในความยากนั้น มันมีความ “ท้าทาย” และ “ยาก” รวมถึง “ความสวยงาม” ที่เป็นเอกลักษณ์ แล้วทีมงาน รวมถึงนักแข่ง เขารู้สึกอย่างไรกับ “ไทยแลนด์” บ้าง เดี๋ยวเราไปชมกันใน Scoop สัมภาษณ์ต่อจากเรื่องรถกันดีกว่า…


Special Thanks
สนใจข้อมูลน้ำมันเครื่องระดับแนวหน้าของโลก
LIQUI-MOLY Thailand : Facebook/Liqui Moly Thailand