TAKE OFF TACTICS


เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap), ธวัชชัย กรสิทธิศักดิ์ (Slow Take)

หลังจากที่ “ช่างญา” YA SERVICE RACING ได้มุ่งหน้าพัฒนาเรื่อง “เกียร์ออโต้โมดิฟาย” มาอย่างต่อเนื่อง Souped Up Special ครั้งนี้ ก็ขอเอา CEFIRO ดำดูดดีคันนี้ ที่อาศัยมือขับคู่ชีพ “เสี่ยจอย” วสุ ปริยพาณิชย์ ขึ้นโพเดียมอันดับ 2 รุ่น PRO 6 รายการ Souped Up Thailand Records 2015 และล่าสุดกับตำแหน่งแชมป์ PRO 6 ECU=Shop Top Ten Dragster Souped Up Thailand Records 2016 (ขณะที่ถ่ายทำเป็นเวอร์ชั่น 2015) นับว่าเป็นรถที่ “เสถียร” วิ่งได้ไร้กังวล สำหรับคันนี้จะเป็นตัว “ขับสี่แท้” ซึ่ง ช่างญา บอกว่า “มันออกตัวและขับง่ายกว่ารถขับสอง” ซึ่งคันนี้จะเป็นขุมพลัง 2JZ-GTE แล้วมาผสมผสานกับระบบ ATTESSA 4WD ของเครื่องยนต์ RB26DETT แล้วใช้เกียร์ออโต้ โมดิฟายที่ตัวเองทำขึ้นมา??? มันจะสะเวิ้บกันยังไง เอาละครับ ผสมกันเมามันส์แบบนี้ สไตล์ YA SERVICE แน่ๆ ติดตามต่อเลย…

Play Safe with 4WD
จริงๆ ก็ดูจะไม่มีอะไรวิเศษพิสดารมากนักในรถคันนี้ แต่ !!! ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของ “ช่างญา” จึงต้อง “ไม่ธรรมดา” อย่างแน่นอน เหตุที่ใช้รถ 4WD ทั้งๆ ที่เสียเปรียบเรื่องน้ำหนักรถ เนื่องจากมีระบบขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นมา เช่น ชุด Transfer และเฟืองท้าย พร้อมเพลาขับหน้าของ RB26DETT แถมยังเพิ่ม Load ในขณะที่ “ลอยตัว” ไปแล้ว เพราะอุปกรณ์ทุกอย่างต้องแบกไปด้วยตลอด แต่ที่ต้องเลือก เพราะ “อยากได้ความมั่นคงในการขับ” ถ้าเป็นรถขับ 2 ล้อหลัง เวลาไปเร็วๆ จะน่ากลัวครับ ยางหลังเป็นแบบ “ผ้าใบ” Drag Slick กับใจถึงๆ “ตูดไกว” เลี้ยงไปตลอดทาง ดูรถมันวิ่งตรงนะครับ แต่คนขับเผลอไม่ได้ ยางหน้าแคบมากๆ จะอาศัยมันมากก็ไม่ได้อีก แต่คันนี้ก็ใช้ยางสลิคทั้ง 4 ล้อ เวลาไปเร็วๆ จึงมีความมั่นคงกว่า…

2JZ สะเวิ้บชุด Transfer RB26 ยังไง ???
การทำ 2JZ ให้เป็น “ขับสี่” นั้น ถ้าเข้าใจก็ “ไม่ยาก” สูตรของ ช่างญา ก็คือ นำชุด Transfer ของ RB26DETT ที่มีหน้าที่แบ่งกำลังไปยังล้อหน้า-หลัง โดยใช้แรงดันน้ำมันเป็นตัวควบคุม แล้วมีกล่อง ECU คอยควบคุมอีกครั้ง ว่าจะ “ให้เท่าไร” เป็นระบบ “อัตโนมัติ” ที่ประมวลผลการทำงานจากการขับขี่จริง เช่น องศาพวงมาลัย, รอบเครื่อง, องศาลิ้นเร่ง, เซ็นเซอร์ความเร็วล้อแต่ละล้อ (ใช้เซ็นเซอร์ร่วมกันกับระบบ ABS ที่เริ่มมีใช้ใน R32 รุ่นหลังๆ เป็นต้นไป จน R33-R34) อะไรพวกนี้แหละครับ เพราะเจตนาของ SKYLINE GT-R คือทำระบบ ATTESSA มาเพื่อ “แก้อาการรถ” ทั้งทางตรง และเน้นๆ คือ “ทางโค้ง” ไม่ได้เน้นแค่ออกตัว ซึ่งจะส่งกำลังจากเกียร์หลักมาที่ Transfer ถ้าชุดคลัตช์จับ ก็จะส่งกำลังไปยัง “เพลาหน้า” แต่ถ้าคลัตช์ไม่จับ ก็จะเป็นเฉพาะ “ขับหลัง” ระบบนี้ NISSAN นำแบบมาจาก PORSCHE 959 ตัวเทพฝั่งเยอรมัน ที่เป็น 4WD แบบ Real Time เชียวนะครับ เพื่อ Handling ที่สมบูรณ์สุดในการขับขี่…

แยกชุด Transfer ติดตั้งต่างหาก !!!
แต่คราวนี้เราเอามาใช้กับรถ “ทางตรง” โดยหลักก็จะเน้นไปในการช่วยออกตัว การดัดแปลงของคันนี้ก็จะใช้ระบบ “ลม” เป็นตัวควบคุม ให้เป็น 4WD ตอนออกตัว และ “ปลดชุดคลัตช์” เป็น 2WD ในช่วงลอยตัว หรือช่วงที่รถเริ่มตั้งท่าตรงได้ ซึ่งลักษณะนี้ ช่างญา ก็ทำมาแล้วใน “มารชมพู” ยุคแรกๆ สไตล์ไทยๆ ง่ายๆ แต่ก็ใช้ได้ผลดี คันนี้ก็ใช้หลักการเดียวกัน แต่สิ่งที่พิเศษ คือ “แยกชุด Transfer มาติดตั้งต่างหาก” โดยสร้างแท่นขึ้นมายึดกับตัวรถ และเอา Transfer Case ไปแปะเอาไว้ต่อจากท้ายเกียร์ออโต้ หลังจากนั้น สร้างเพลากลางที่จะส่งไปยังเฟืองชุดหน้าให้ยาวขึ้น หลังจากนั้น ตัว Case ของเฟืองชุดหน้า รวมถึงเพลาหน้าก็เอาไปยึดไว้กับ “คานหน้า” อีกที ไม่ได้อยู่ติดกันกับเครื่องยนต์เลย เนื่องจากว่า การแยกกันอยู่แบบนี้ เมื่อเวลา “ยกเครื่อง” ออกมาเซอร์วิส จะได้ไม่ต้องไปนั่งถอดชุด Transfer และชุดขับหน้าทั้งหมดออกมาด้วย นี่ถอดแค่เครื่องพอ ไอ้ที่เหลือมันก็ติดอยู่กับรถ ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน นับว่าลดความเสียเวลาและเปลืองแรงในการถอดใส่เป็นอย่างมาก ก็เป็นไอเดียดีๆ อีกอย่างที่ “ต้องคิด” มันอาจจะไม่ได้ทำให้รถเร็วขึ้น แรงขึ้น แต่ “ทำให้ประหยัดเวลาและรวดเร็วมากขึ้นในการเซอร์วิส” อันนี้สำคัญมากนะครับ…

เปลี่ยน “มุมยึดโช้คอัพหลัง” ใหม่  
ผมใช้การ “สังเกต” ดูว่า รถแต่ละคันที่เราไปทำคอลัมน์นั้น ไม่ว่าจะเป็นรถประเภทอะไรก็ตาม “มันมีจุดที่สังเกตได้ตรงไหนบ้าง” เน้นว่า “จุดที่สังเกตได้นะครับ” ถ้าสังเกตไม่ได้ก็อีกเรื่อง การสังเกตจะทำให้เรา “สงสัยเพิ่ม” ว่าไอ้จุดนี้ทำมาเพื่ออะไร ใช้ทำอะไร มีผลดีอย่างไรบ้าง ???
บอกก่อนนะครับ ว่าผมคงไม่ไปลงลึกถึง “ตัวเลขของการตั้งศูนย์” มีผู้อ่านบางคนถาม ว่าตัวเลขข้อมูลนั่นนู่นนี่อะไรเท่าไร ทำไมไม่เอามาลงบ้าง พวกนี้เป็น “สิทธิ์ส่วนบุคคล” ที่เขาใช้เวลาหาจนเจอ ก็ต้องเก็บไว้บ้าง แต่ถึงจะบอกตัวเลขไป รถแต่ละคันก็ “เซตไม่เหมือนกัน” อยู่ดี  ไม่ใช่เป็น “สูตรสำเร็จ” ว่าจะต้องตัวเลขนี้เป๊ะๆ มันอยู่ที่ “ความพึงพอใจ” และ “หาจุดที่ลงตัวที่สุด” ของแต่ละคัน แต่ละคน นะครับ และผมบอกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การตั้งศูนย์ล้อบนแท่นวัด มันเป็นแบบ Static หรือ “หยุดนิ่ง” เป็นค่าอ้างอิงในการตั้งครั้งแรก แต่เมื่อ “วิ่งจริง” มุมล้อทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหลายอย่าง มันมีผลจาก “มุมการทำงานของช่วงล่างแต่ละแบบ ที่มีจุดยึดต่างกัน” แรงกดของรถ แรงม้า แรงบิด ขนาดยาง พวกนี้มีผลหมดครับ ที่จะทำให้การเซตค่าแตกต่างกันออกไป คงเข้าใจกันแล้วนะครับ ว่าทำไมเราไม่บอกตัวเลข มันต้อง “ลองเอาเอง” ครับ…
จุดสังเกตที่ “หูโช้คอัพหลัง” ตัวล่าง มีการ “สร้างขึ้นมาใหม่” เป็นตัวต่อขึ้นมา ช่างญา บอกว่า “เป็นการเปลี่ยนมุมของโช้คอัพหลังใหม่” เพราะความสูงของรถเปลี่ยนแปลงไป เวลาออกตัวก็จะให้ “ท้ายกดมากๆ” รถจะยุบเยอะกว่าปกติ มุมการทำงานก็ยิ่งเปลี่ยนไปจากเดิมเยอะ เลยต้องทำหูยึดโช้คอัพขึ้นมาเพื่อ “ปรับมุมใหม่” ให้เวลายุบสุด “โช้คอัพอยู่ในแนวตรง” พอดี เพื่อให้การรับแรงทั้งช่วง “ยุบและยืด” ทำได้อย่างสมบูรณ์ และ “ไม่ติดห่วงบน” และมีการเปลี่ยนจุดยึดปีกนกต่างๆ ใหม่ เป็นการจัด Roll Center ให้สมบูรณ์ที่สุด ดูรูปประกอบครับ “ปีกนกล่างจะขนานกับพื้นพอดี” จะดียังไงก็อ่าน “คำบรรยาย” ใต้รูปได้เลย…

Comment : “ปัญญา อร่ามรัศมี” YA SERVICE RACING
สำหรับคันนี้ ผมเองก็ยอมรับว่าเสียเปรียบ CEFIRO ขับสองอยู่พอควรเหมือนกัน แต่ผมก็ขอเน้นความปลอดภัยให้กับคนขับเป็นหลัก สิ่งที่จะพัฒนาต่อไป ตอนนี้เครื่องก็ยังแรงไม่สุดครับ ไม่ค่อยลงตัวเท่าไร เพราะโข่งหลังเทอร์โบมันใหญ่ไปหน่อย ทำให้รอรอบ ตอนนี้สั่งโข่งหลังอันใหม่ที่เล็กกว่าเดิมไปแล้ว ถ้าได้ใส่ก็ควรจะต้องดีขึ้น อื่นๆ ก็จะเป็นเกียร์แบบใหม่ สไตล์ LENCO ที่ผมเองนำมาสร้างให้เหมาะสมกับคนไทย ราคาไทยๆ เพื่อทำไว้วิ่ง Souped Up Thailand Records 2016 ไว้เจอกันครับ กับคันนี้ ผมคาดว่าได้เห็นเลข “7” นำหน้าแน่นอน…

Comment : อินทรภูมิ์ แสงดี
ถ้าถามผม ด้วยเหตุที่จะมาถ่ายรถคันนี้ ทั้งๆ ที่เป็นรถ Stock Body ที่ดูเผินๆ อาจจะไม่มีอะไรมาก แต่ในครั้งก่อนหน้าที่ถ่ายคอลัมน์ My Name is… ผมเห็นคันนี้ยกลอยอยู่ และได้เข้าไป “เผือก” ดันมองไปเห็นชุดขับเคลื่อนที่มีจุดยึดแปลกไปจากคันอื่น เลยต้องถามถึง “แนวคิดดัดแปลงที่แปลกใหม่” ของ ช่างญา ที่เรารู้กันอยู่แล้วว่าถนัดสร้างงานแบบ Custom แนวๆ นี้ จึงเป็นสิ่งที่น่านำเสนอเกี่ยวกับการดัดแปลง สร้างสิ่งต่างๆ เพื่อให้มีประโยชน์ในการแข่งขัน รวมถึงการเซอร์วิส ผมเองไม่ได้มองถึงความแรงของคันนี้เป็นหลัก ซึ่งมันก็อยู่ในมาตรฐานตามรุ่นมันอยู่แล้ว แต่มองใน “หัวคิด” ที่สร้างสรรค์ อยากให้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ในด้านที่เป็นประโยชน์กันเยอะๆ ครับ โดยที่ไม่ต้องลอกเลียนแบบกันตลอดทุกอย่าง…
หมายเหตุ : ช่างญา ได้แจ้งว่า คันนี้ตอนขึ้น “ไดโนเทสต์” จูนเสร็จเรียบร้อย กราฟแรงม้าเกิดการ Error เลยไม่ได้มีข้อมูลมาให้ดูกัน แต่ ช่างญา ให้เหตุผลว่า เราวิ่งวัดกันที่เวลาอยู่แล้ว แรงม้าคันนี้ก็พื้นฐานในระดับ 1,000 PS ได้แน่นอน แต่จะ +/- เท่าไรนั้น ยังตอบเป็นตัวเลขแน่นอนไม่ได้  ไว้เซตสเต็ปใหม่ แล้วมีตัวเลขออกมาจะนำมาฝากกันครับ…

Technical Specification
ภายนอก
Wide Body : AKANA Carbon Fiber
ภายใน
คอนโซล : AKANA Carbon Fiber
พวงมาลัย : SPARCO
เกจ์วัด : Defi
เบาะ : KIRKEY
เข็มขัด : TAKATA
ปรับบูสต์ : GReddy Profec B Spec II
โรลบาร์ : YA SERVICE
คันเกียร์ :  B&M PRO RATCHET
เครื่องยนต์
รุ่น : 2JZ-GTE
วาล์ว : FERREA
สปริงวาล์ว : CROWER
แคมชาฟท์ : YA SERVICE Custom Made 292/298 องศา
เฟืองแคมชาฟท์ : HKS
ลูกสูบ : CP
ก้านสูบ : PAUTER
แบริ่งชาฟท์ : ACL
เทอร์โบ : GARRETT GT47
เวสต์เกต : TAVORN
เฮดเดอร์ : BANGMOD RACING
ท่อร่วมไอดี : BANGMOD RACING
อินเตอร์คูลเลอร์ : BANGMOD RACING
หม้อน้ำ : BANGMOD RACING
หัวฉีด : SIEMEN 2,500 C.C.
เร็กกูเลเตอร์ : AEROMOTIVE
คอยล์ : MSD
ชุดเพิ่มกำลังไฟ : ECU=SHOP
กล่อง : HKS F-CON V PRO 3.3 by YA SERVICE
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : YA SERVICE Automatic 4 สปีด
เพลาขับหน้า : YA SERVICE Custom Made
ช่วงล่าง
โช้คอัพหน้า : TEIN
โช้คอัพหลัง : STRANGE
ชุด Links ช่วงล่าง : ORT
ล้อหน้า-หลัง : BILLET SPECIALTIES ขนาด 10 x 15 นิ้ว
ยางหน้า-หลัง : HOOSIER ขนาด 26.0-10.0-15 นิ้ว
เบรกหน้า : STRANGE

X-TRA Ordinary
สำหรับ CEFIRO รุ่นที่เป็น 4WD พื้นฐานของตัวรถใน Platform ด้านหน้า จะมีข้อแตกต่างจากตัว 2WD อย่างเห็นได้ชัด เริ่มกันตั้งแต่ “เบ้าโช้คอัพหน้า” รุ่น 2WD จะเป็นแบบ “3 นอต” และตัวเบ้าอยู่สูงเกือบเสมอขอบในของแก้มหน้า ส่วนรุ่น 4WD จะเป็นแบบ “2 นอต” ตัวเบ้าจะมีทรงเหมือนกับพวก SKYLINE 4WD จะ GT-S หรือ GT-R ก็ได้ ต่างกันชัดๆ ครับ ช่วงล่างหน้าก็ไม่เหมือนกัน รุ่น 4WD มีตัว “ปีกนกบน” ช่วยประคอง รุ่น 2WD จะเป็นแบบปกติ และ Chassis ช่วงหน้าก็จะไม่เหมือนกัน รุ่น 4WD จะมีซุ้มให้ “เพลาหน้าลอด” มา ส่วน 2WD จะเป็นแบบปกติ ไม่มีรูลอดครับ…
หมายเหตุ
Chassis คำแปลที่แท้จริง คือ “โครงตัวรถ” รถทุกคันมีโครงสร้าง มี Chassis ครับ ถ้าเป็นรถเก๋งทั่วไป จะใช้โครงสร้างตัวถังแบบ “โมโนค็อก” จะมี Chassis เป็นท่อนๆ ไป ไม่ทั้งหมด คนก็เลยไม่เรียกกัน หรือไม่ทราบว่ามันมี Chassis ด้วย แต่ในรถกระบะ รถบรรทุก จะใช้ Chassis “เต็มรูปแบบ” ตัวถังกับ Chassis จะแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาดครับ เลยขอชี้แจงให้ทราบ…