TRENDY TRUCK : D-MAX STEP TURBO 3000 “46 mm Turbo” by Beer Garage Bangyai

q
เรื่อง : พงศ์พันธ์ รัมมะเกตุ
ภาพ : ปริญญ์ มหาบรรพต

เพราะเรื่องราวของรถกระบะในยุคนี้ มีอะไรให้เหล่าบรรดาสิงห์ควันดำได้อัปเดตกันอยู่ตลอดเวลา  เรียกได้ว่าในวงการของรถกระบะช่วงนี้มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อตามหาเวลาที่ดีที่สุดของแต่ละอู่แต่ละสำนัก รูปแบบในการปรับแต่งโมดิฟายรถนั้นก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคใคร เทคนิคมัน แหละครับ อยู่ที่ว่าใครจะเอาอะไรมาเจอกัน แล้วมันสามารถไปด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด หรือมีความคิดต่างจากคนอื่นไปบ้างก็คงจะไม่ผิดแปลกอะไร เหมือนอย่างรถที่ทางทีมงานได้นำมาให้ชมกันในคอลัมน์นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานจาก “BEER GARAGE” ย่านบางใหญ่ เข้าไปเจาะรายละเอียดการปรับแต่งกันครับ ว่าในสเต็ปนี้ทำยังไง ถึงมีเวลาในระยะ 402 ม. และในระยะ 60 ฟุต สวยๆ ได้

พื้นเดิมไม่ “ตัด” ไม่ “เลาะ”ก็วิ่งได้
ISUZU D-MAX สี่ประตู เป็นรถที่ทางช่างเบียร์เลือกนำมาปรับแต่งเพื่อการแข่งขัน ซึ่งพื้นฐานเดิมของรถคันนี้ก็คือรถที่ขับใช้งานอยู่ในชีวิตประจำวัน มีปรับแต่งบ้างตามปกติของคนชอบแต่งรถ และเมื่อตัดสินใจที่จะเลือกคันนี้มาทำเป็นรถแข่งแล้ว มันก็ต้องมีการระดมความคิดกันหน่อย จัดทรงกันใหม่ทำยังไงให้รถวิ่งได้และวิ่งดีด้วย แต่ยังคงมิติรถเดิมเอาไว้ให้สมบูรณ์ได้มากที่สุด นี่คือโจทย์ที่ช่างเบียร์ได้ตั้งไว้  แน่นอนที่สุดครับ ในส่วนที่ปรับเปลี่ยนใหม่ของภายนอกก็จะมีในส่วนของ ฝากระโปรงหน้า แก้มด้านซ้ายและด้านขวา ประตู่คู่หน้าและประตูคู่หลัง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นงานคาร์บอนจาก AKANA ช่วยให้น้ำหนักโดยรวมหายไปได้หลายกิโลกันเลยทีเดียวครับ และในส่วนของกระจกทั้งหมด 6 บาน ได้ทำการเปลี่ยนมาเป็นอะคริลิก นอกเหนือจากความเบาแล้ว คือความปลอดภัยของตัวนักแข่งเอง ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้กระจกทำอันตรายกับนักแข่งได้ ส่วนทางด้านฝาท้ายยังคงเป็นฝาเดิมแล้วหุ้มด้วยคาร์บอน ในส่วนของฝาท้ายนั้น คืออุปกรณ์ที่อยู่ด้านท้ายรถจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีน้ำหนักเบา เลยไม่ได้เปลี่ยนเป็นคาร์บอนทั้งชิ้น เพราะต้องการน้ำหนักของฝาท้ายเดิมถ่วงด้านหลังเอาไว้ แต่ยังคงเพิ่มความแข็งแรงด้วย V-BAR ค้ำฝาท้ายเป็นไทเทเนียม ในส่วนของพื้นกระบะยังคงเป็นพื้นเดิมอยู่ ไม่มีการปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของบอดี้รูปลักษณ์ภายนอกครับ กับน้ำหนักตัวรถ 1,350 kg

ภายในมีกลิ่นอายรถแข่ง แต่ “พื้น” ยังคงเดิมๆ อยู่
ถ้าใครเคยได้มีโอกาสสังเกตเห็นพื้นของรถ ไม่ว่าจะเป็นเก๋งหรือกระบะจะสามารถเห็นได้เลยว่ามีความหนาและมีจำนวนแผ่นเหล็กซ้อนกันหลายชั้น ซึ่งก็เพื่อความแข็งแรงทนทาน เพื่อการซับเสียงที่จะเข้ามาที่ภายในห้องโดยสารนั่นเองครับ แต่สำหรับรถที่ใช้ในการแข่งขันแล้ว ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่มีความจำเป็นเลยครับ เสียงดังไม่เป็นไร แต่ขอให้เบาและแข็งแรงเท่านั้นพอ แต่สำหรับคันนี้ทางช่างเบียร์ยังคงเก็บพื้นเดิมเอาไว้ ไม่ได้ทำการตัดหรือเลาะออกแม้แต่นิดเดียว ถือซะว่าเป็นการถ่วงน้ำหนักไปในตัวเลยก็ว่าได้  ในความคิดที่แตกต่างของช่างเบียร์ ถ้าตัวรถเบาไปอาจจะมีปัญหาในเรื่องของการควบคุมรถตั้งแต่ช่วงออกตัวจนถึงปลายเส้นเลยก็ได้ นี่คือเหตุผลที่ไม่เน้นเบานั่นเอง ในส่วนของตัวคอนโซลหน้ายังคงติดตั้งอยู่เหมือนเดิม เบาะคนขับเลือกใช้เบาะ FULL BUCKET SEAT จาก KIRKEY เพิ่มความมั่นใจให้กับนักขับด้วยเข็มขัดนิรภัยจาก TAKATA ควบคุมรถได้อย่างแม่นยำด้วยพวงมาลัยก้านยกจาก OMP

4JK1 UP STEP+TURBO 3000 ปาก 46 ไม่ต้องสุดแต่สมบูรณ์เป็นพอ
มาถึงเรื่องราวของความแรงกันแล้ว ก็อย่างที่เกริ่นไว้นั่นแหละครับ สำหรับคันนี้เรื่องของความแรงนั้นไม่ต้องสุด แต่ของแค่สมบูรณ์ก็พอแล้ว ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการโมดิฟายเครื่องยนต์ ไม่จำเป็นต้องปรับแต่งกันให้สุดทุกอย่าง แต่ทำยังไงก็ได้ให้แรงม้าและแรงบิดที่เพิ่มขึ้นมา สามารถลงสู่พื้นได้มากที่สุด อีกหนึ่งจุดที่ยากพอสมควรของการทำรถก็คือ ความพอดีนั่นแหละครับ สำหรับพื้นฐานเครื่องยนต์ของรถคันนี้เป็นเครื่องยนต์รหัส 4JK1 ขนาดความจุ 2,500 c.c. สเต็ปของเครื่องยนต์ตัวนี้ ทางช่างเบียร์ขยับเพิ่มขึ้นมาจากของเดิมไม่มากเท่าไหร่ครับ ในส่วนของระบบวาล์ว ยังคงเป็นของเดิมอยู่ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเข้าไป ส่วนทางด้านของแคมชาฟต์นั้น ได้ทำการเปลี่ยนมาใช้ของทางหนุ่ย&เป๋อ สุพรรณ  ทั้งทางฝั่งไอดีและไอเสีย ช่วยในเรื่องของระยะเปิด-ปิด ของระบบวาล์วทั้งทางฝั่งไอดีและไอเสีย เพื่อการจุดระเบิดที่สมบูรณ์และแม่นยำมากยิ่งขึ้น ต่อเนื่องกันไปทีละสเต็ป ลูกสูบยังคงเป็นลูกดีแม็กไซซ์ 75 ก็ยังถือว่าเป็นสเต็ปต้นๆ อยู่ ส่วนทางด้านของก้านสูบนั้น เลือกใช้ของทาง MRX เป็นตัว PRO ซึ่งก็เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์อย่างหนึ่งของเครื่องยนต์ที่ต้องเลือกใช้ของดี มีคุณภาพ เพราะต้องทนต่อกระทำในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานอยู่ตลอดเวลา เรียกได้ว่าถ้าก้านสูบดีๆ ก็สามารถดันบูสต์กันได้สบายๆ ทางด้านของข้อเหวี่ยงนั้น ได้เปลี่ยนมาเป็นข้อเหวี่ยงของตัว 3000 แต่ยังคงเป็นข้อเหวี่ยง STD อยู่ครับ ไม่ได้เป็นข้อเหวี่ยงซิ่งแต่อย่างใด มาดูกันต่อในเรื่องของฝาสูบกันบ้าง ก็เป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนของเครื่องยนต์ที่แต่ละอู่แต่ละสำนักต่างก็มีสูตรการปรับแต่งที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะทำยังไง จะแยงแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ เรื่องของฝาสูบนี่ก็เป็นเรื่องความลับสุดยอดอีกหนึ่งอย่าง มาถึงในส่วนของระบบอัดอากาศกันบ้าง เป็นเทอร์โบ 3000 ปาก 46 ถือว่าเป็นเทอร์โบในกระแสอยู่ ณ ตอนนี้ ตัวเทอร์โบที่อยู่ในรถคันนี้เป็นเทอร์โบ 3000 เต็มใบแท้ๆ ปรับแต่งโมดิฟายกันแบบเต็มระบบจากทางไพศาลเทอร์โบ สามารถทำบูสต์ได้ถึง 65 psi เทอร์โบลูกเท่านี้แต่พลังการบูสต์ถือว่าไม่ธรรมดาครับ นั่นบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของตัวเทอร์โบ ทั้งโข่งหน้าที่สามารถดักอากาศได้อย่างมากและโข่งหลังที่สามารถระบายไอเสียได้อย่างสมบูรณ์แบบ ระบบกรองอากาศเป็นกรองเปลือยแบบดูดสด ต่อท่อยื่นออกมาที่ด้านหน้าของตัวรถเพื่อรับอากาศเย็นเข้าสู่กระบวนการเผาไหม้ ระบายความร้อนของอากาศด้วยอินเตอร์คูลเลอร์หนา 3 นิ้ว จาก GReddy ท่อทางเดินอากาศเดินใหม่ทั้งหมดจากทางช่างมงบางเลน ลดอุณหภูมิของเครื่องด้วยหม้อน้ำอะลูมิเนียมใบใหญ่ของ HYB มาพร้อมกับพัดลมไฟฟ้าอีก 2 ตัว ตำแหน่งของหม้อน้ำถูกย้ายไปอยู่ที่ด้านท้ายกระบะ สามารถเซอร์วิสง่าย และที่สำคัญ คือ การถ่วงน้ำหนักด้านท้ายรถนั่นเอง ทางด้านของระบบ ECU เลือกใช้เป็นกล่องดันราง FIT และกล่องยกหัวฉีด PROJECT 2 จากค่าย PROSPEED ปรับจูนโดยช่างเบียร์

แรงดันต้องดี หัวฉีดพอ ไปต่อได้แน่นอน
อีกหนึ่งส่วนสำคัญของเครื่องยนต์ดีเซล นั่นก็คือระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับคันนี้ได้ทำการสร้างถังน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาใหม่ แล้วย้ายไปไว้ที่ท้ายรถด้านล่าง จากนั้นได้ทำการติดตั้งระบบส่งผ่านน้ำมันโดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากทาง HYB ประกอบไปด้วย ปั๊มติ๊ก 2ลูก FILTER 2 ตัว ตามด้วยรางบาลานซ์ และเร็กกูเรเตอร์สำหรับควบคุมแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง ในส่วนของปั๊มคอมมอนเรลนั้น เป็นปั๊มแบบ 2 โรเตอร์ สามารถสร้างแรงดันได้เพียงพอต่อความต้องการของเครื่องยนต์ รางหัวฉีดเปลี่ยนมาเป็นรางขนาดใหญ่ เพื่อสามารถรองรับแรงดันที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปัญหารางแตกในช่วงที่แรงดันสูงๆ มาดูทางด้านของระบบการจ่ายน้ำมัน เลือกใช้หัวฉีด GTX สเต็ปแข่ง ก็อย่างที่บอกไว้นั่นแหละครับ ถ้าแรงดันดี หัวฉีดพอ ไปต่อได้แน่นอนครับ

จะสมบูรณ์ที่สุดต้องให้ม้าลงพื้นหมดทุกตัว
ค่อยๆ เรียงกันไปตามลำดับในเรื่องของการถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ เริ่มต้นกันที่ระบบคลัตช์กันก่อนเลย มั่นใจเลือกใช้ BRC ตัว PRO 16 ก้อน มีหน้าที่ถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ไปสู่ระบบเกียร์ VGS จากนั้นส่งผ่านไปยังเฟืองท้ายแบบลิมิเต็ดสลิป 3.0 จาก MRX กระจายกำลังลงสู่พื้นด้วยยาง MICKEY THOMPSON ขนาด 275/60/R15 ในส่วนของระบบโช้คอัพทางด้านหลังเลือกใช้โช้คอัพของ RACE TRACK ในระบบช่วงล่างของคันนี้ได้ทำการปรับเปลี่ยนตำแหน่งโช้คอัพใหม่ ให้เป็นโช้คตั้งเพื่อการทำงานที่เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังได้ทำการติดตั้ง A-ARM แบบคู่จากช่างมงบางเลน ช่วยในเรื่องของการออกตัว ลดอาการเต้นของเพลาท้าย สามารถจับอาการรถให้นิ่งขึ้นในขณะที่ออกตัว มีผลในเรื่องของระยะ 60 ฟุต อย่างแน่นอน ซึ่งก็อย่างที่เห็นครับ สำหรับคันนี้เวลา 60 ฟุต อยู่ที่ 1.5 sec. 402 ม. อยู่ที่ 10.552 sec.

เรื่องของความแรงคงไม่ยากที่จะทำ แต่เรื่องของความพอดีนั้นสำคัญยิ่งกว่า เหมือนอย่างรถคันนี้ ทำยังไงก็ได้ให้ความแรงที่เราเพิ่มเข้าไปสามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เครื่องยนต์ไม่แรงมากเกินไป น้ำหนักตัวรถไม่เบาเกินไป ระบบช่วงล่างสามารถถ่ายทอดกำลังได้ดี โอกาสที่จะได้เห็นเวลาสวยๆ มีแน่นอนครับ กับ “BEER GARAGE”

*เพื่อความสะดวก กรุณาดู Video ผ่าน Google Chrome