TWIN SUPER EG DRAG MACHINE Over 800 PS !!! B18C TURBO BY GT GARAGE + SPEED D + SIAM PROTOTYPE

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี

ภาพ : ทวีวัฒน์ วิลารูป

คอลั่มน์นี้ออกจะเป็นของแปลกอีกอย่าง เป็นตัวแข่งควอเตอร์ไมล์ขั้นรุนแรงของ GT GARAGE ร่วมมือกับ SPEED D จูนเนอร์คนดัง เป็น CIVIC EG 3 ประตู รถที่คนคิดว่าจะทำแรงม้ามาก ๆ ในระดับ “เฉียดพัน” ได้ด้วยหรือ กับเครื่องยนต์แบบ “เอ็นเอ” ที่พอมาทำแรง ๆ ในแบบ “เทอร์โบ” อัดบูสต์หนัก ๆ ระดับ “3 บาร์” หรือเกือบ “50 ปอนด์” จะไหวหรือเปล่า จากโครงสร้างเครื่องที่ไม่ได้เผื่อมาไว้ให้แรงด้วยเทอร์โบ แต่มันก็สามารถทำได้ ส่วนมากจะเป็น “อเมริกา” ที่นิยมเล่นกับ HONDA TURBO กันมาอย่างยาวนาน จึงเป็นสิ่งท้าทายที่น่าทำ ไม่ควรทำอะไรซ้ำ ๆ กับของเดิมมากนัก อีกอย่างคือ ในรถ “ขับหน้า” ของบ้านเรา สองคันนี้ถือว่าเป็นคู่แรกที่เล่นกับ B18C TURBO และได้ผลด้วยแรงม้ามากในระดับ 840 PS แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ที่จะเบ่งแรงม้าจากเครื่องไม่เกิน 2 ลิตร แถมตัวรถยังต้องปรับปรุงชุดใหญ่ เพราะพื้นฐานเดิม ๆ มารับแรงม้าขนาดนี้ไม่ไหวแน่นอน แต่ทุกอย่างก็ต้องอาศัย “ความรู้” ในการเซ็ตอัพ ซึ่งสองคันนี้ก็ทำกันแบบเต็มชุด เพื่อหวังพิกัด “เลขตัวเดียว” ทั้งสิ้น…

         เหตุผลที่ GT GARAGE ได้เล่นกับ HONDA มาโดยตลอด ก็ด้วยเหตุผลของ “ตี้” เจ้าของอู่ ที่นิยมชมชอบ HONDA มานาน สมัยก่อนก็ทำ HONDA ใส่ TURBO ยุคที่ยังไม่มีกล่องดี ๆ เหมือนเดี๋ยวนี้ อย่างเครื่อง HONDA รุ่นเก่าหน่อย เวลาเซ็ตเทอร์โบก็จะมีปัญหา ต้องเอากล่อง ECU ระบบหัวฉีด ระบบจุดระเบิดของเครื่องเทอร์โบรุ่นเก่า ๆ เช่น Z18ET ที่นิยมสุดก็ 3T-GTE เพราะว่าเป็นกล่องที่ “ไม่มีการตัดบูสต์ และล็อกความเร็ว” ถ้าน้ำมันไม่พอก็ “ฝังเข็ม” หรือ “หัวฉีดเสริม” เข้าไป อย่างดีก็เอากล่อง Rebic ปรับน้ำมันหัวฉีดเสริมยัดเข้าไป สมัยนั้นก็เล่นกันอย่างนี้ พอมาตอนหลัง ยุคกล่องจูนได้อิสระ ก็เลยคิดว่าน่าจะลองทำ HONDA TURBO แบบชุดใหญ่ดู ปรึกษา SPEED D ที่เชี่ยวชาญเรื่องของทางฝั่งอเมริกาอยู่แล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอันใด ประกอบกับฝาสูบของ HONDA ก็ทำมาได้ดีมาก มี Flow Rate สูง เชื่อได้แน่ว่าแรง ก็เลยลองทำดู เราจึงได้เห็นรถสองคันนี้ทำแบบชุดใหญ่ อ่านเสร็จแล้ว HONDA ใครสนใจอยากแรงบ้าง ติดต่อ “ตี้ GT GARAGE ที่เบอร์ 08-7670-7086 ได้เลย…

BLACK CIVIC

Body : Stock Body เดิม ๆ ไม่ผ่าหัว สำหรับรุ่น PRO

         เริ่มกันจาก “คันดำ” ดุดัน ที่ยังคงรูปร่างของรถเดิมไว้มากที่สุด เพราะต้องการลงในรุ่น PRO ที่ส่วนใหญ่จะบังคับตัวถังเดิมเอาไว้ คันนี้ก็ไม่ได้ตัดส่วนที่เป็นโครงสร้างหลักอะไรออกไป เว้นแต่ซุ้มล้อหน้าที่ต้องคว้านสูงขึ้น ส่วนหัว คานหน้า ยังอยู่ครบ กระจกรอบคันเป็นของเดิม ไม่ได้เปลี่ยนวัสดุเบา มีการ Spot ตัวถังมาแล้วจากอู่สีที่เชียงใหม่ และถ่วงน้ำหนักไปอีก 200 กก. ที่คานหน้า เพื่อกดให้ล้อหน้ามี Traction ในการออกตัว น้ำหนักรถ รวมคนขับ รวมถ่วง ตอนนี้อยู่ประมาณ “ตันนิด ๆ” เท่านั้นเอง…

Engine : B18C เน้นมาเนียน ไม่กระชากมาก จากข้อกำหนดที่ยาง ???

          เครื่องยนต์เป็น B18C ที่โมดิฟายทั้งตัว เพื่อความแข็งแรงเพียงพอที่จะรับภาระโหด ๆ ได้ โดยไม่หลับคาที่ไปซะก่อน การเซ็ตอัพของคันนี้ ก็จะเน้นให้การตอบสนองมาแบบเนียน ๆ หน่อย ไม่กระชากพรวดพราดมากนัก เนื่องจากใช้ยางสลิคแค่ 26 นิ้ว คันนี้ใช้ “แคมสแตนดาร์ด B18C Type R” ก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมไม่ใช้แคมแต่ง ทางอู่บอกว่า ถ้าเป็นแคมแต่งองศามาก ๆ อย่างคันสีแดง (ที่เราจะพูดถึงถัดไป) ได้แรงม้ามากจริง แต่มันจะมาแบบพรวดพราด รุนแรงเกินไปกว่ายาง 26 นิ้ว จะรับได้ เคยลองแล้ว ล้อฟรีทิ้งมาก จนเกียร์ 4 ก็ยังฟรีอยู่ เลยยอมลดสเป็กมาใช้แคมสแตนดาร์ด ที่มีองศาอยู่แค่ 243 ในด้านไอดี และ 230 กว่า ๆ ในด้านไอเสีย ทำให้นิสัยเครื่องไม่กระชากกระชั้นมากนัก กำลังมาเนียน ๆ ท้องกราฟกว้าง คุมง่าย ส่วนระบบปั๊มน้ำมันเครื่องของ HONDA ทำมาดีอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร เพียงพอในรอบสูง ๆ เพราะดีไซน์มาวิ่งรอบสูงอยู่แล้วตั้งแต่เดิม ส่วนบูสต์จะใช้อยู่ราว ๆ 2.8 บาร์…

 Transmission & Suspension : เกียร์ไทย 4 สปีด โช้คอัพของรถเซอร์กิต ???

ระบบเกียร์ คันนี้ใช้ของทำในไทย เป็นแบบ 4 สปีด เพราะจริง ๆ ก็ใช้แค่นั้น เกียร์น้อย แต่ใช้แรงบิดเยอะ ๆ วิ่งเอา ไม่จำเป็นต้องเกียร์เยอะ ๆ ทดชิดมากไป จะทำให้ขับยาก ระบบช่วงล่างหน้า ก็ทำให้แข็งแรงมากขึ้น ช่วงจุดยึดไม่ได้ดัดแปลง Layout ยังเป็นของเดิม ปีกนกเดิม แต่ทำจุดยึดต่าง ๆ เป็น Ball Joint เพื่อลดการให้ตัว และแข็งแรงกว่าบู๊ชยาง ด้านหลังเปลี่ยนปีกนกใหม่เป็นของแต่ง น้ำหนักเบา สวยงาม เพลาหน้าเปลี่ยนใหม่ ใช้ของพิเศษ ที่แข็งแรงมาก สำหรับการแข่งควอเตอร์ไมล์ที่ต้องออกรถรุนแรงมาก ๆ โดยเฉพาะโช้คอัพเอาของรถเซอร์กิตมาใส่ เหตุผลก็เพราะ “ชอบ” มันดูหรูหราดี แล้วก็ปรับจังหวะ Bump และ Rebound ให้เหมาะสมก็จบ เพราะวิ่งแต่ทางตรงอย่างเดียว…

Tip : เปลี่ยนจานจ่าย EVO III ลดจุดด้อยในแบบ Magnetic ของเดิม

         คงจะเคยเห็นกันบ่อย ๆ ในเครื่อง HONDA B Series ที่นิยมเปลี่ยนจานจ่ายไปเป็นของ EVO III อย่างรถสองคันนี้ ก็ทำตามสูตรนี้เหมือนกัน สาเหตุก็ไม่มีอะไรมากครับ จานจ่ายเดิมของ B Series จะเป็นแบบ “สนามแม่เหล็ก” หรือ Magnetic ซึ่งก็ค่อนข้างจะเป็นระบบที่เก่ามาก ใช้แม่เหล็กในการตัดสัญญาณ  Pulses ในการจุดระเบิดแต่ละสูบ จริง ๆ มันก็พอจะ โอ.เค.อยู่ ในการตัดสัญญาณที่ไม่เกิน 9,000 รอบ แต่พอเกินไปจากนั้นแล้ว เท่าที่ลองถามคนทำดู ก็บอกว่า ตอนนั้นสัญญาณมันจะไม่เที่ยงตรง เนื่องจากมีข้อจำกัดในตัวของสนามแม่เหล็กเอง และเสี่ยงต่อการถูกรบกวนจากสัญญาณอื่น ๆ หรือ Noise จากกระแสไฟแรงสูงต่าง ๆ เช่น ระบบจุดระเบิด ทำให้ค่ามัน “แกว่ง” จุดระเบิดไม่แม่นยำ ในช่วง 9,500-10,500 รอบ พอดู Data Log รอบจะไม่นิ่ง หรือ “เบลอ” เลยเปลี่ยนมาใช้ของ EVO III ซึ่งใช้จานจ่ายแบบ Optical หรือใช้ “แสง” ในการตัดสัญญาณ ด้านในจานจ่ายจะมีแผ่นที่เป็นรู ๆ กำหนดองศาจุดระเบิด แล้วใช้ Photo Diode (โฟโต้ ไดโอด) ในการยิงแสงผ่านรู ตอนยิงผ่านก็นับ ตอนยิงไม่ผ่านรูก็ไม่นับ อันนี้จะมีความแม่นยำสูงกว่าแบบ Magnetic จริง ๆ แบบนี้ก็มีใช้กันมานาน อย่างเครื่อง 4G63 หรือ NISSAN ตระกูล RB เป็นต้น…

BLACK CIVIC SPEC. 

ตัวถัง : ชุดไฟเบอร์ Wide Body โดย MONZA SHOP

เครื่องยนต์ : B18C

ระบบฝาสูบ : ฝาสูบ GT GARAGE, วาล์ว FERREA โอเวอร์ไซส์ 1 มม., รีเทนเนอร์ CROWER, สปริงวาล์ว TODA, แคมชาฟท์ B16B Type R Standard, เฟืองแคม TODA

ท่อนล่าง : ลูกสูบ ARIAS 84 mm., ก้านสูบ MANLEY I-Beam, ข้อเหวี่ยง B18C Standard, ปลอกสูบ GT GARAGE, ปะเก็น COMETIC    

ระบบอัดอากาศ : เทอร์โบ GARRETT GT42, เฮดเดอร์ ช่างตี๋, เวสต์เกต เหรียญชัย, ท่อร่วมไอดี EDELBROCK, ลิ้นเร่ง TOSER 76 mm.

ระบบเชื้อเพลิง : หัวฉีด BOSCH ขนาด 1,600 cc. 8 หัว, เร็กกูเลเตอร์ AEROMOTIVE, รางหัวฉีด AEM

ระบบจุดระเบิด : CDI MSD DIS-2 Programmable, คอยล์ EVO III, กล่อง ECU HKS F-CON V PRO By SPEED D

ระบบส่งกำลัง : เกียร์ H-Pattern 4 สปีด ดำ Transmission, คลัตช์ COMPETITION Twin Plate, เฟืองท้าย 4.4 : 1 Standard, ลิมิเต็ดสลิป M FACTORY, เพลาขับ DRIVE SHAFT SHOP เบอร์ 5.9

ระบบช่วงล่าง : โช้คอัพ TEIN Circuit Master, สปริงหน้า SWIFT, สปริงหลัง HKS, ทำ Ball Joint ทั้งหมด, ปีกนกหลัง FUNCTION 7, ซับเฟรมหลัง ASR, เบรกหน้า STRANGE

ล้อและยาง : ล้อหน้า BOGART 10 x 15 นิ้ว, ล้อหลัง SPIN WERKE 3.5 x 15 นิ้ว, ยางหน้า HOOSIER 26-10-15, ยางหลัง HOOSIER 24-4.5-15

ภายใน : เบาะ KIRKEY, พวงมาลัย SPARCO, จอมาตรวัด AIM, คันเกียร์ SKUNK2, ปรับบูสต์ไฟฟ้า GReddy PROFEC B SPEC II, โรลบาร์ ขวัญ เฮดเดอร์ เชียงใหม่     

COMMENT : GT GARAGE

         สำหรับคันสีดำ ก็เป็นของพรรคพวกกันที่เชียงใหม่ เราเป็นกลุ่มที่กลับมาเล่นกับ HONDA TURBO แบบเต็มชุด ครั้งแรกที่ทำแล้วลงแข่ง ก็เป็นในงาน XOTB ของทาง XO จัดขึ้น หลังจากนั้น เราก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ทดลองหลาย ๆ อย่าง จนคิดว่ามันน่าจะไปต่อได้ คันนี้ยังไม่ได้วัดแรงม้า เพราะเพิ่งมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดใหม่หลายอย่าง แรงม้าระดับ 700 PS เห็นแน่นอนอยู่แล้ว ตอนนี้ขยับสเต็ปใหม่ ก็คิดว่าน่าจะอยู่ในระดับ 800 PS เป็นรองกว่าคันสีแดงหน่อยนึง เพราะเรื่องยางที่กำหนดไว้ เวลาที่อยากเห็นก็เลข 10 วินาที หรือน้อยกว่านั้นหน่อย…

COMMENT : อินทรภูมิ์ แสงดี

        บอกตรง ๆ ว่าชอบความเรียบร้อยในการทำรถ การเก็บงานดี เอาใจใส่ในรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งคัน มีอุปกรณ์ความปลอดภัยพร้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่รถแข่งไทยควรจะทำให้เหมือนกัน ถ้าหากจะขึ้นในระดับสากล ส่วนความแรง ตัวผมเองคงไม่ได้ลอง แต่เท่าที่ดูจากของที่ใช้ เรื่องแรงไม่สำคัญ สำคัญว่า “ทำให้ทนได้นาน ๆ” อันนี้ยากกว่า ก็ต้องอาศัยความรู้ที่มีของทีมช่างทั้งหมด ก็ต้องลองติดตามไปว่าจะทำเวลาได้ทะลุเป้าหรือไม่…

 

X-TRA ORDINARY

การทำ HONDA TURBO ไม่ใช่ของใหม่สำหรับเมืองไทย ในอดีต ย้อนไปสัก 10 กว่าปีที่แล้ว ก็มีการโมดิฟายในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาหลายคันเหมือนกัน เอาเท่าที่จำได้ ก็จะมี CIVIC 3 Door สีน้ำเงิน ของ NOI ELEVEN ถ้าจำไม่ผิด เป็นเครื่อง B18C โมดิฟายเพียบ จนฮือฮาในยุคนั้น แล้วก็มี ACCORD ตาเพชร สีเขียว เครื่อง H22A ของ หม่อม EMOTION ที่ให้ DON MoTeC จูน เป็นคันแรก ๆ ที่ใช้กล่อง MoTeC แล้วก็มีอีกหลายคันตามมา ใช้กล่อง MoTeC เพราะจูนได้ละเอียดสุดแล้ว ถ้าไม่ใช้ก็คงยากหน่อย เพราะกล่องเดิมของ HONDA ไม่รับกับเทอร์โบอยู่แล้ว…

 

 

RED CIVIC

Body : Haft Front เปลี่ยนด้านหน้า ดามเหล็กทั้งคัน

         มาต่อกันที่คันสีแดง ซึ่งอยู่ในระดับโหดกว่า เพราะตั้งใจจะใช้วิ่งในรุ่น PRO 4 MODIFY ในงานของเราที่จะถึงปลายปีนี้ ดังนั้น ด้านหน้าตัดทำเป็นแบบ Haft Front Frame เป็นโครงเหล็กดามวิ่งต่อกันไปจนถึงโรลบาร์และค้ำต่าง ๆ ข้างในห้องโดยสาร จึงไม่ต้อง Spot ตัวถัง หัวไฟเบอร์ยกออกได้ทั้งหัว เพราะเจ้าของเคยแข่ง Street Outlaw อยู่ที่ California เลยได้รับอิทธิพลรถ Drag จากอเมริกามาเต็ม ๆ กระจกรอบคันถอดออก เปลี่ยนเป็นวัสดุ “โพลีคาร์บอเนต” ที่มีน้ำหนักเบากว่า และไม่ลืมถ่วงน้ำหนักด้านหน้า 200 กก. เหมือนคันสีดำ…

 

Engine : B18C สเต็ปฮาร์ดคอร์ 840 PS @ 9,500 rpm

         เครื่องยนต์ยังคงใช้บล็อก B18C เหมือนกัน ทำสเต็ปเดียวกัน ปลอกสูบ (Sleeve) คันนี้ใส่เข้าไปใหม่ทั้งชุด เอาของเดิมออก ทาง GT GARAGE ทำเองทั้งหมด ซึ่งทนบูสต์สูง ๆ ได้แน่นอน แต่คันนี้จะ “มาเหนือ” เพราะวิ่งในรุ่นสูงกว่า เครื่องยนต์จะเซ็ตมาให้เน้นแรงม้ามากในช่วงรอบสูงเป็นหลัก เพราะใช้ยางใหญ่ถึง 28 นิ้ว จึงมีการยึดเกาะที่ดีกว่า รายละเอียดเครื่องคันนี้ ก็คล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันที่แคมชาฟท์ ใช้องศาสูงถึง 310 และ 305 ในด้านไอดีและไอเสีย ผมขอข้ามไปพูดถึง “กราฟแรงม้า” ดีกว่า เพราะเนื้อที่น้อย ตอนวัดใช้บูสต์ 2.4 บาร์ แต่ตอนแข่งจริงจะใช้ถึง 3 บาร์ ลักษณะของ Power Band ทั้งแรงม้าและแรงบิด จะมาในลักษณะ “เชิดปลายอย่างเดียว” โดยจะเริ่มมีกำลังไต่ขึ้นในช่วง 6,500 รอบ ขึ้นไป จนถึง 7,500 รอบ ในช่วงนี้จะกระชากขึ้นเร็วมาก จนกราฟเกือบเป็นแนวดิ่ง ซึ่งนิสัยเครื่องก็จะมารุนแรงมากในช่วงนี้ ในช่วง 8,000 รอบ ก็จะเริ่มนอนตัวลง ไปจนถึง 9,500 รอบ ก็จะหยุดการวัด กราฟก็จะเป็นไปในแบบของรถควอเตอร์ไมล์ ที่ใช้รอบสูงแบบทิศทางเดียว คือ เร่งขึ้น ไม่มีการถอน ๆ เร่ง ๆ เหมือนรถเซอร์กิต…

 

Transmission & Suspension : เกียร์แข่ง 4 สปีด Dog Box โช้ค APEX N1

ระบบเกียร์ก็ใช้ของ PPG ที่ทำมาเพื่อการแข่งขันแบบนี้โดยเฉพาะ เป็นแบบ Dog Box ที่เข้าเกียร์ได้โดยไม่ต้องเหยียบคลัตช์ ช่วยประหยัดเวลาได้มาก แต่ก็ต้อง “แม่นจังหวะ” เพราะถ้าผิดจังหวะ เกียร์จะเข้าไม่ได้เลย ถ้าพยายามฝืนเข้า ยัดแคร็ก ๆๆๆๆๆ ฝืนแม่มจนเกียร์ตูแตกเลย ก็ต้องแลกกับเวลา คนขับก็ต้องขับเก่ง ๆ ระบบช่วงล่าง ก็ทำเหมือนกับคันสีดำ เน้นความแข็งแรงในการส่งกำลัง คันนี้ต้องเน้นมาก แรงม้าเยอะ ยางใหญ่ ภาระเยอะ เพลาขับใช้ยี่ห้อเดียวกัน เพราะมีชื่อเสียงในด้านความแข็งแรง ปีกนกหลังพร้อมซับเฟรมก็เปลี่ยนให้น้ำหนักเบา โช้คอัพพร้อมสปริง คันนี้ก็เน้นของปรับได้ แต่จะไปเน้นหนักในด้านสปริง ได้ค่าที่เหมาะสม แล้วจึงปรับโช้คอัพเข้าหา…

Tip : ปะเก็นดี จะไม่แลบต้องจูนดีด้วย, นอตฝาสูบแต่ง มีประโยชน์อะไร, ไม่มีอินเตอร์คูลเลอร์ แล้วไม่พังหรือ  

สาเหตุที่ปะเก็นแลบ กำลังอัดรั่ว เนื่องมาจากมีการ “ชิงจุด” (Pre-Ignition) หรือ “จุดซ้ำ” (Detonation) หากการจูนไม่ลงตัว เกิดการ “น็อก” ของเครื่องยนต์ มันจุดสองทีไงครับ ดังนั้น กำลังอัดในห้องเผาไหม้จะสูงมากผิดปกติ อาจจะเป็นสองเท่ากว่า ๆ แรงอัดที่มากผิดปกตินี้ จะสร้างความเสียหายให้เครื่องยนต์ เช่น ก้านงอ ลูกแตก อีกทางหนึ่งก็คือ “ดันให้ฝาสูบลอยขึ้น” ก็จะทำให้เกิดกำลังอัดรั่วอย่างรุนแรง มันก็จะดันน้ำทะลัก เครื่องพังเสียหายหนัก ตรงนี้ ถ้าจูนให้ดี จะทำให้อาการเหล่านี้ลดน้อยลงมาก มันก็มาเกี่ยวกับนอตฝาสูบแต่งราคาแพง พวกนี้มันทนแรงดันได้สูงมาก ไม่ยืดง่าย ก็ช่วยยึดให้แน่นขึ้น กำลังอัดรั่วยากขึ้น ก็เป็นผลดี และเรื่องสุดท้าย สองคันนี้ไม่มีอินเตอร์คูลเลอร์นะครับ แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะเค้าใช้ “เมทานอล” ที่มีความเย็นสูง และวิ่งระยะสั้น ๆ อินเตอร์คูลเลอร์จึงไม่จำเป็นในรถแบบนี้…

 

RED CIVIC SPEC. 

ตัวถัง : ชุดไฟเบอร์ Wide Body ท่อนหัว โดย MONZA SHOP

เครื่องยนต์ : B18C

ระบบฝาสูบ : ฝาสูบ GT GARAGE, วาล์ว FERREA โอเวอร์ไซส์ 1 มม., รีเทนเนอร์ CROWER, สปริงวาล์ว SKUNK 2 PRO, แคมชาฟท์ CUSTOM WEBCAM, กระเดื่องวาล์ว CUSTOM WEBCAM

ท่อนล่าง : ลูกสูบ ARIAS 84 mm., ก้านสูบ GRP อะลูมิเนียม, ข้อเหวี่ยง B18C Standard, ปลอกสูบ GT GARAGE, ปะเก็น COMETIC    

ระบบอัดอากาศ : เทอร์โบ BORG WARNER S372R, เฮดเดอร์ ช่างตี๋, เวสต์เกต TIAL, โบล์ว ออฟ วาล์ว TIAL, ท่อร่วมไอดี GATO PERFORMANCE, ลิ้นเร่ง VH45DE 85 mm.

ระบบเชื้อเพลิง : หัวฉีด BOSCH ขนาด 1,600 C.C. 12 หัว, เร็กกูเลเตอร์ AEROMOTIVE, รางหัวฉีด GATO PERFORMANCE

ระบบจุดระเบิด : CDI MSD DIS-2 Programmable, คอยล์ EVO III, กล่อง ECU HKS F-CON V PRO By SPEED D

ระบบส่งกำลัง : เกียร์ PPG H-Pattern 4 สปีด, คลัตช์ COMPETITION Tripple Plate, เฟืองท้าย 4.4 : 1 Standard, ลิมิเต็ดสลิป QUAIFE, เพลาขับ DRIVE SHAFT SHOP เบอร์ 5.9

ระบบช่วงล่าง : โช้คอัพ + สปริง APEX N1, ทำ Ball Joint ทั้งหมด, ปีกนกหลัง SKUNK 2, ซับเฟรมหลัง ASR, เบรกเดิม

ล้อและยาง : ล้อหน้า WELD 10 x 15 นิ้ว, ล้อหลัง WELD 3.5 x 15 นิ้ว, ยางหน้า MICKEY THOMPSON 28-10.5-15, ยางหลัง MICKEY THOMPSON 24-4.5-15

ภายใน : เบาะ KIRKEY, เข็มขัด TAKATA, พวงมาลัย ATC, จอมาตรวัด AIM, วัดบูสต์ AUTO METER, คันเกียร์ SKUNK2, ปรับบูสต์ไฟฟ้า GReddy PROFEC B SPEC II, โรลบาร์ ขวัญ เฮดเดอร์ เชียงใหม่     

COMMENT : GT GARAGE

คันนี้ก็หมายมั่นปั้นมือไว้เพื่อวิ่งเลขตัวเดียว ในพิกัด 9 วินาที อยู่แล้ว ก็พยายามทำรถให้วิ่งได้เสถียร ได้เวลานี้ตลอด การทำแรงม้าขนาดนี้ จริง ๆ แล้ว ไม่ยาก เพราะองค์ประกอบเครื่อง HONDA ทำมาได้ดีมาก เช่น ฝาสูบ อันนี้สำคัญ ฝาสูบดีก็กำหนดแรงม้าได้มาก ทำง่าย แต่สิ่งที่ต้องลงทุนสูงคือ ตัวเสื้อสูบ ถ้านำมาอัดเทอร์โบ บูสต์หนัก ๆ รับรองไม่รอดแน่ ตรงนี้ทางอู่ก็พัฒนา Sleeve (ปลอกสูบ) ให้ดีที่สุด ซึ่งเราก็ทำจำหน่ายด้วย เท่าที่ลองดูก็ไม่มีปัญหาอะไร เครื่องเราจะเน้นการจูนที่ดี ใช้ Methanol เป็นเชื้อเพลิงทั้งสองคัน ก็ดีในด้านความแรง แต่อาจจะยุ่งยากหน่อยตอนจัดเก็บรถ เพราะมันจะกลายสภาพเป็นน้ำ ตรงนี้ต้องเซอร์วิสดี ๆ แต่ถ้าความแรงล่ะ โอ.เค.เลย…

COMMENT : อินทรภูมิ์ แสงดี

         ยอมรับเลยว่า “กล้า” ที่จะทำเครื่อง HONDA ให้มีแรงม้ามหาศาลขนาดนี้ ก็ไม่น่าเชื่อเหมือนกัน ว่าเครื่อง 4 สูบ พิกัดไม่เกิน 2 ลิตร จะทำแรงม้าได้มากมายขนาดนี้ ต้องยอมรับว่าพื้นฐานเครื่องมาดีจริง ๆ น่าจะเป็น “เครื่องไม่เกิน 2 ลิตร ที่มีแรงม้ามากที่สุดในเมืองไทย” เลยก็ว่าได้ ตรงนี้คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ทางอู่ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวสูง เสียเวลา เสียค่าวิชาไปก็มากมาย แต่สำเร็จก็คุ้มค่า ตอนนี้ก็ต้องขึ้นกับการเซ็ตรถแล้ว ว่าจะต้องทำให้เวลาเสถียร เป็นเลขตัวเดียวตลอด ก็จะทำให้รถคันนี้ขึ้นสู่ระดับหัวแถวของเมืองไทย ในพิกัดขนาดนี้ได้…

X-TRA ORDINARY

         เรื่องราวของ “ช่างตี้” ก็เกิดจากการบ้า HONDA TURBO มานาน แบบถอนตัวไม่ขึ้น เล่นครั้งแรกก็ H22A ใส่เทอร์โบ ก็อยู่ได้ไม่นาน ปลอกทรุด ปะเก็นแตก ฝาสูบละลาย แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ ซื้อของนอกมาลอง ก็ยังไม่สำเร็จ แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้ แก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ จนสำเร็จ จนกลายเป็นช่างทำรถได้เอง โชคดีอย่าง เขาเคยทำงานอยู่ในโรงงานเกี่ยวกับโลหะ จึงรู้คุณสมบัติโลหะชนิดต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร ก็นำความรู้มาพัฒนา ผลิตปลอกสูบขึ้นมาเอง ลองจนกระทั่งได้ของที่ทนแรงม้ามาก ๆ ระดับนี้ได้ จนมีชื่อเรียกกันฮา ๆ ว่า ปลอกสูบยี่ห้อ DARTY (ดาร์ตี้) ที่ช่างตี้ ทำขึ้นมาเอง ซึ่งตั้งชื่อคล้ายกับ DARTON ปลอกสูบของอเมริกานั่นเอง