PHOTO : ธัญญนนท์ แสงภู่
My Name is…วิภาวดี เรซซิ่ง
My Name is เล่มนี้พิเศษหน่อย ด้วย Theme รถซิ่งวิภาวดี เพราะฉะนั้น แขกรับเชิญในเล่มนี้ก็จะมีความหลากหลายในแต่ละช่วงที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละคนก็จะมีมุมของตัวเองในยุคนั้น มุมของคนที่ได้ขับรถในตอนนั้น และมุมมองของคนที่ยืนดูตลอดสองข้างทางบนถนนวิภาวดี เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวที่เขาได้เคยสัมผัส และจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่ง วิภาวดี เรซซิ่ง ที่ทุกคนเคยได้ยินมา จะแบ่งออกเป็น 2 ยุค คือ ในยุคแรกเริ่ม คือรถซิ่งหน้าพาเลซ คือยุคแรก นั่นคือยุคของคนที่มาเที่ยวพาเลซ แล้วก็ออกมาซัดรถกัน รถในยุคนี้จะเป็นรถในช่วงปี 70’s-80’s เมื่อหมดยุคพาเลซไปพักใหญ่ๆ ถนนวิภาวดีก็กลับกลายเป็นที่รวมตัวของกลุ่มรถซิ่งอีกครั้ง ซึ่งในช่วงนี้แหละที่เรียก เซนต์จอห์น–ม.หอการค้า รถในช่วงปีนี้ก็จะเป็นรถปี 90’ ขึ้นไป มีทั้งวางเครื่องใหม่ เซตเทอร์โบ หลากหลายรูปแบบมาก รวมถึงเริ่มมีรถสปอร์ตญี่ปุ่นแรงๆให้เห็นมากขึ้น แต่สุดท้ายก็โดนทางเจ้าหน้าที่กวดขันวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด ปิดกล่อง พร้อมกับบทลงโทษที่หนัก จับแม้กระทั่งคนดู เรื่องราวของรถซิ่งวิภาวดี จึงกลายเป็นเรื่องเล่าต่อมาจนถึงทุกวันนี้
ทาง XO autosport ไม่สนับสนุนการแข่งขันรถยนต์บนถนนหลวง การนำเสนอเรื่องราวในครั้งนี้ เป็นการย้อนอดีตเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงบนถนนเส้นนี้ แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย เพราะฉะนั้น แข่งในสนาม ถูกกฎหมาย มีเกียรติ และศักดิ์ศรีครับ
เล็ก โปรเจ็ค เอ็ม
ถ้าพูดถึงไอคอน 90’S เบอร์ต้นๆ ของบ้านเรา ชื่อ พี่เล็ก หรือ เจ็กเล็ก แล้วแต่ความสนิทสนมจะเรียกกัน ส่วนตัวผมให้พี่เขาเบอร์หนึ่งเลยนะ ถ้านึกย้อนกลับไปในตอนนั้น ก็อยากให้พี่เล็กถ่ายทอดประสบการณ์ในยุคสมัยนั้น ว่าคนเขารู้จักพี่ได้อย่างไรครับ
“ถ้าจะให้ผมเล่า ขอนึกแป๊บนะ…ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นในช่วงที่เปิดร้าน โปรเจ็ค เอ็มขึ้นมาครับ ในยุคนั้นร้านในสไตล์ขายของซิ่งแบรนด์ญี่ปุ่นในบ้านเรามีน้อยมาก ที่เห็นชัดๆ มี เรย์ เทคโน เซอร์วิส ของพี่อ๋อง ก็จะชัดเจนในแบรนด์ HKS ไปเลย ส่วนอีกที่ก็ JUN AUTO MECHANIC ของคุณป๊อปปิ ส่วนร้านผมจะเน้นถึงความหลากหลายของสินค้าในยุคนั้น อะไรดังๆ ในตอนนั้น ผมก็สั่งมาไว้รองรับลูกค้า ผมมองว่าจากตรงนี้ก็เริ่มมีคนรู้จักผมประมาณหนึ่งแล้วนะ แต่สิ่งที่คิดว่าพีคสุด คือ การนำรถ VEILSIDE SUPRA เข้ามาทั้งคัน
ผมรู้จัก VEILSIDE ได้จากหนังสือ OPTION ญี่ปุ่น ในยุคนั้นก็มีแต่หนังสือนี่แหละ ไม่มีหรอก Facebook หรือ Social Media ที่ทันสมัยแบบนี้ ผมรับหนังสือจากร้านเป็นประจำทุกเดือน ก็เผอิญเปิดไปเจอหนังสือเขาลงสำนัก VEILSIDE ไว้ ซึ่งกำลังดังมากในญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์เป็นวัยรุ่นที่ชอบเล่นรถ ผมสนใจ เพราะมีความชอบที่เหมือนกัน แล้วก็อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน อารมณ์มันได้ ผมก็ตัดสินใจว่าจะไปหาเขา ก็เลยปรึกษากับทาง เฮียปุ๊ย Dreamsport ในการจะเดินทางไปที่ VEILSIDE ด้วยกัน จากจุดนี้แหละเป็นต้นกำเนิดในการนำ VEILSIDE SUPRA เข้ามาทั้งคัน
หลังจากนั้นโมเดลสายพันธ์สปอร์ตต่างๆ อาทิ Skyline, RX-7, 200 SX ที่สำนักนี้ออกมา ผมก็สั่งเข้ามาประกอบในบ้านเรา ซึ่งมองว่าจุดนี้แหละที่ทำให้ทุกคนพูดถึงเป็นอย่างมาก อย่าง การแต่งรถในตอนนั้นก็ค่อนข้างลำบาก อย่างกล่องโมฯ มันก็ไม่ใช่จะมารีแมปอะไรได้เหมือนสมัยนี้ เมื่อก่อน Rom อย่างเดียว ซึ่งมันก็ได้แค่ระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้เจ๋ง มันก็ต้องเพิ่มบอร์ดเข้าไปชั้นหนึ่ง กล่อง ECU ก็จะหนาขึ้น เป็นกล่อง 2 ชั้น ซึ่งเวลาทำก็ต้องส่งไปที่ญี่ปุ่น เมื่อส่งกลับมาก็ต้องไปลองวิ่งกันบนถนน ก็บอกตามตรงว่ามันไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ แต่มันก็โอเคในระดับหนึ่งเลย ซึ่งกว่าจะจบลงตัว ส่งไป ส่งกลับ ต้องมี 5-6 รอบได้นะต่อรถคันหนึ่ง ค่าใช้จ่ายบานมาก ทำไปทำมาใบหนึ่งมีเป็นแสนนะ กว่าจะจบ
ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปตอนที่เอา Supra มาลองวิ่งเล่นบนถนน คือในตอนนั้นรถคันนี้น่าจะเป็นรถที่มีกำลังสูงสุด ราวๆ 700 แรงม้า และในคืนวันเสาร์ ถนนวิภาวดี ช่วงหน้าเซนต์จอห์น ทุกคนก็จะรู้กันโดยอัตโนมัติ เวลาขับรถไป ผมก็รู้สึกเขินเหมือนกันนะ เพราะสายตาทุกคู่บนถนนเส้นนั้น มองรถที่ผมขับ ทุกคนอยากเห็นรถตัวเป็นๆ มากกว่าที่จะมาประลองความเร็ว ทุกคนรอฟังเสียงเวลาเร่งเครื่อง เพราะในยุคนั้นไม่มีใครต่อท่อเวสต์เกตแยก พอกดคันเร่งที เสียง แซ้ดดด…มันเร้าใจมาก หลังจากนั้นรถเทอร์โบในบ้านเราก็เริ่มต่อท่อเวสต์เกตเป็นสไตล์นี้กันครับ ซึ่ง ณ วันนี้ที่ทุกคนรู้จักผม จุดเริ่มต้นก็คงเป็นกลุ่มรถคอลเลกชันรถสปอร์ต ที่เป็นเครื่องยนต์เทอร์โบ ตั้งแต่ในยุคนั้นครับ”
วิรัช คุณาทรกุล
AEK GARAGE
สำหรับผู้ชายคนนี้ บ้านเขาอยู่ใกล้วิภาวดีมาก คุ้นเคยกับการรวมตัวของรถซิ่งวิภาวดีเป็นอย่างดี ซึ่งจากในยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน พี่เอก ยังคงอยู่ในวงการแต่งรถบ้านเรา แน่นอน หลายๆ คนรู้จักพี่เขาดีในนาม ร้าน AEK GARAGE หรือแบรนด์ ENDLESS ที่พี่เอกเป็นตัวแทนจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งในครั้งนี้พี่เอกจะมาถ่ายทอดประสบการณ์ ในอดีต ว่าในแต่ละยุคที่เขาผ่านมา อะไรที่ทำให้ทุกคนได้รู้จักเขามาจนถึงวันนี้
“ในยุครถซิ่งวิภาวดี ผมยังหัวเกรียนๆ อยู่เลยนะ เห็นแต่รุ่นใหญ่ๆ ทั้งนั้นเลยครับ พี่เล็ก โปรเจ็ค เอ็ม ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่โดดเด่นมาก ในตอนนั้นผมเป็นทั้งคนที่ไปยืนดู แล้วก็ได้เอารถไปโฉบเฉี่ยวกับเขาบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีอะไรมาก ด้วยกำลังทรัพย์ในตอนนั้น ผนวกกับอายุผมก็ยังน้อยอยู่ด้วยครับ
แล้วถ้าถามผมว่า อะไรที่ทำให้คนรู้จักมาจนถึงปัจจุบันนี้? ผมคิดว่าการทำ 200 SX เปลี่ยนหน้า พร้อมกับเล่นสีทูโทน ห้องเครื่องกับภายนอก คนละสี เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของบ้านเราในยุคนั้น ซึ่งผมชอบความแตกต่างที่บอกเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนที่ชัดเจน โดยการนำเทรนด์ทูโทนมาเล่น ก็ได้แรงบันดาลใ จากรถทั้งฝั่งญี่ปุ่นและฝั่งอเมริกา ซึ่งจากผลงานที่ทำ เปลี่ยนหน้าพวก 200 SX มาเป็น S14 , S15 เก็บงานเนี้ยบ สีกริ๊บ ทั้งคัน รวมถึงชุดแอโรพาร์ท 200 SX ที่เป็นเอกลักษณ์ จากจุดเหล่านี้ที่ทำให้ชื่อของ AEK GAEAGE เป็นที่รู้จักของคนในวงการอย่างรวดเร็ว แล้วเทรนด์การแต่งรถในสไตล์นี้ก็เริ่มขยายเป็นวงกว้าง ซึ่งมันเป็นความสุขสำหรับตัวผม ที่เห็นความสวยงามของรถแพร่กระจายออกเป็นวงกว้าง จนกลายเป็นเทรนด์ในการแต่งรถยุคหนึ่งเลยครับ แล้วสิ่งที่ตามมา คือ ทุกคนกล้าทำรถ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน
อย่างเมื่อก่อน หน้าพาเลซ รถกระบะก็แต่งเปลี่ยนสีสันสดใสกันเป็นว่าเล่น แต่พอข้ามมาถึงในยุคปัจจุบันที่ผ่านมา รถก็กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงแค่สีตัวถัง มีการเปลี่ยนแปลงหน้ารถ ท้ายรถ กล้าใส่ของที่ไม่คิดว่าจะมีคนทำ แต่มันก็มีให้เห็นครับ ซึ่งถ้าให้มองการทำรถในยุคนี้ ผมมองว่าทุกคนมีแรงบันดาลใจมาจากการทำรถในยุค 90’s แล้วนำมาปรับผสมให้เข้ากับยุคที่เป็นอยู่ในปัจจุบันครับ”
เอกณรงค์ อัมพุชนานนท์
ล้าน MAGIC R
ณ ชั่วโมงนี้ ชื่อ พี่ล้าน (Garage 90’s By Lan) สำหรับคนเล่นรถสายนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักอีกต่อไปส่วนผู้เขียนรู้จักกับพี่ล้าน ตั้งแต่เข้าทำงานใหม่ๆ ตอนนี้ทำงานมา 19 ปีแล้ว ลองคิดดูว่า พี่ล้านอยู่ในวงการนี้มาแล้วกี่ปี แน่นอนว่า เขาคือบุคคลที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการมาหลายสมัย ก็เป็นโอกาสดีที่วันนี้ พี่ล้าน จะมาเล่าประสบการณ์ช่วงหนึ่งของชีวิตผู้ชายคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ของแต่ง มาโดยตลอดครับ
“ถ้ามองย้อนกลับไปในสมัยก่อน ด้วยความชอบส่วนตัว เป็นคนชอบรถสวยๆ ที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน RX-7 เป็นรถที่ใช้ในยุคนั้น ก็ได้รู้จักเพื่อนชาวฮ่องกง เขาแนะนำเรื่องของแต่งรถ ผมก็เลยเดินทางไปหาเขาเพื่อตกลงในเรื่องการทำธุรกิจ โดยกลับมาถึงเมืองไทยก็เปิดร้านที่ชื่อ MAGIC R เป็นร้านขายของแต่งรถ นำเข้า AERO PARTS แบรนด์ดังจากต่างประเทศมาขายในบ้านเรา ซึ่งแตกต่างกับ ร้านไฟเบอร์ที่เป็นงานปั้นทั่วไป และในเวลานั้นเป็นช่วงที่ Lancer EVO III กำลังดังมาก บ้านเรามีแต่ Lancer พวก AERO PARTS ของ EVO III มีผมนำเข้าอยู่คนเดียว ก็เลยกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพื่อนๆ ที่รู้จักในวงการก็เริ่มต้นจากที่นี่ทั้งนั้น มันเป็นช่วงที่พีคมากสำหรับวงการแต่งรถบ้านเรา ซึ่งมันเป็นช่วงรอยต่อระหว่างหน้าพาเลซ ไปสู่หน้าเซนต์จอห์น ผมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่ในยุคนั้น แต่ผมไม่มีรถเครื่องยนต์แรงๆ ไปวิ่งกับเขา ผมชอบไปดูรถสวยที่ขับวนไปวนมามากกว่าครับ
ในตอนนั้น คุณเล็ก โปรเจ็ค เอ็ม คุณป๊อปปิ JUN คุณอ๊อฟ–หทัย มีชื่อเสียงมาก เวลามีแข่งควอเตอร์ไมล์ที่สนามพีระฯ ก็สนุกมาก ไปก็จะเจอแต่เพื่อนๆ คนรู้จัก ในแง่มุมของรถนำเข้า ก็มีผู้นำรถสปอร์ตเข้ามาขายในบ้านเรามากขึ้น Supra, Skyline R32, Silvia S14, RX-7, MR2 เป็นยุคที่รถสปอร์ตเฟื่องฟู มันเป็นจุดเริ่มต้น JDM ในบ้านเราเลยนะ ข่าวสารการแต่งรถจากต่างประเทศก็ได้มาจากหนังสือ OPTION ญี่ปุ่น อ่านไม่ออกหรอก แต่ก็ซื้อทุกเล่ม จนกระทั่งเข้าสู่ในช่วงเศรษฐกิจทั่วประเทศไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็เริ่มเฟดตัวออกจากการมีหน้าร้านขายของแต่งรถ มาทำเกี่ยวกับเซียงกง อะไหล่ของแต่งมือ 2 แทนครับ ส่วนตัวคิดว่าคนที่รู้จักผมส่วนใหญ่มาจากช่วงที่ผมเปิดร้าน MAGIC R แทบทั้งนั้นครับ”
ศักดิ์ชาย เกรียงสมุทร
ตุ้ย UNITY FAMILY
พี่ตุ้ย Unity Family เชื่อว่าน้องๆ หลายท่านไม่รู้จัก แต่ถ้าคนทันในยุคก็จะเคยได้ยินชื่อ ทีม Unity Family กันอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มนี้ มิตซูฯ กล่องไม้ขีด ยุคแรกๆ วาง SR 20 ทุกคัน เป็นพี่อีกท่านหนึ่งที่เล่นรถในยุค The Palace แล้วก็เล่นรถมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ผมมอง พี่ตุ้ย เปรียบเสมือนผู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของรถซิ่งบ้านเราได้ละเอียดยิบอีกท่านหนึ่งเลยครับ แม้เวลาจะผ่านมานานหลายสิบปี แต่เหตุการณ์ต่างๆ ยังคงอยู่ในความทรงจำของพี่เขาเสมอๆ ครับ ถ้าอยากซึมซับความเป็นมาของรถซิ่งถนนเมืองไทย ลองเข้าไปเยี่ยมชมเพจ รถซิ่ง The Palace ดูครับ พี่ตุ้ย เป็นผู้ดูแลอยู่ครับ
“สำหรับตัวพี่ตุ้ยเอง เล่นรถมาตั้งแต่ The Palace ยังไม่ปิด แล้วก็ขยับมาเป็นเส้นยาว หน้าเซนต์จอห์น ยาวไปถึงหน้า ม.หอการค้า แล้วก็มาเล่นที่ บางใหญ่, ลาดพร้าว 71 พอหลังจากยุคนี้ไปก็เริ่มห่างๆ ออกมา ซึ่งในตอนที่เริ่มเล่นในยุคแรกๆ ก็จะเป็น พวก KE30, DX, Liftback, หน้าแหลม, แลนเซอร์กล่องไม้ขีด แรกๆ ก็จะเป็นพวกเครื่อง 3K-4Kก่อน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น 2 TG แล้วก็ 4A-GE ยุคนั้นก็จะให้เฮียหรั่ง ทำเครื่องยนต์ให้ ถ้าเป็นเครื่องดีเซลก็จะเป็นเฮียหลง ซึ่งคนดังๆ ในยุคนั้นก็จะเป็น พี่โอ๋ Lucifer กับรถฟอร์ด แวน ทุกคนจะรู้กันดี ในโค้งยูเทิร์น เซนต์จอห์น สไลดเข้าโค้งแบบแรลลี่ สาดโค้งมากเลย พอหลังจาก The Palace ปิดตัวลง ก็จะหายกันไปอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็เป็นรถซิ่งกลุ่มเก่าๆ นั่นแหละ ก็กลับมารวมกันใหม่ ซึ่งช่วงที่กลับมาแรกๆ ก็จะวิ่งหน้าเซนต์จอห์นถึงกลับรถแยกสุทธิสาร แต่ก็เป็นแค่ช่วงแป๊บเดียว เพราะเจ้าหน้าตำรวจกวดขันวินัยจราจรเข้มงวดมาก ก็เลยขยับไปวิ่งกันยาว ข้ามแยกสุทธิสาร ผ่านหน้า ม.หอการค้า ไปกลับรถที่สามเหลี่ยมดินแดง
ซึ่งถ้ามองย้อนกลับมาในยุคหน้า The Palace ในยุคนั้นความสนุกมันอยู่ที่รถแรงพอ ๆกัน ซึ่งในที่นี้หมายถึง อย่างรถที่วิ่งหัวค่ำ ก็จะเป็นรถเดิม มีเฮดเดอร์ มีชุดไฟนิดหน่อย พอในกลุ่มดึกขึ้นมาหน่อย ก็จะเป็นพวกรถเปลี่ยนเครื่องยนต์ ซึ่งในยุคนั้นก็จะเป็นที่รู้กันอยู่ว่า รถใครเครื่องอะไร ก็จะจับคู่กันง่าย วิ่งแล้วสนุก อีกอย่างคือ ในยุคนั้นเมื่ออัดรถกันไปแล้ว เจอสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง ก็จะยกให้กัน ไม่วางมิดกัน เดี๋ยวค่อยวนมาวิ่งกันใหม่ ซึ่งไม่ใช่ไม่กลัวตำรวจมากวดขันวินัยจราจรนะ ก็มีมาตลอด แต่ในตอนนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่มา ก็แยกย้าย ก็คือจบ
ถ้ามองในมุมสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถร่วมบนถนน แน่นอนว่า เดือดร้อนแน่ โดยเฉพาะยุคที่ งยาว เซนต์จอห์น–ม.หอการค้า เป็นยุคที่เจ้าหน้าที่ปิดหัวถนน ท้ายถนน จับจริงจังเลย บทลงโทษคือ ยึดรถ ส่งฟ้องศาลเลย ซึ่งมันเป็นยุคสุดท้ายของรถซิ่งบนถนนวิภาวดี เมื่อหมดจากตรงนี้ ก็ย้ายมาที่เลียบด่วน–รามอินทรา หรือที่เรียกติดปาก 71 ก็จะรวมตัวกันบริเวณปั๊มน้ำมัน JET บางกลุ่มก็ย้ายไปเล่นเส้นบางใหญ่ หรือหน้าโรงงานโอตานิ แล้วเมื่อหมดจากช่วงนี้ก็เริ่มซาลงเอง แล้วก็หายกันไป จนกลับมาอีกแป๊บนึง เส้นแจ้งวัฒนะ หน้าเมืองทองธานี ซึ่งอันนี้ ทางเจ้าหน้าก็ปิดหัว–ท้าย จับเหมือนกัน หลังจากนั้น การรวมตัวซัดรถบนถนนก็ค่อยๆ ละลายหายไป ซึ่งก็เป็นยุคที่เริ่มมีสนามควอเตอร์ไมล์เกิดขึ้นแบบจริงจัง แรกๆ ก็จะเป็นที่ Singha elf drag racing 201 เมตร สนามไทยแลนด์เซอร์กิต นครชัยศรี แล้วก็จะพีคๆ ที่สนามพีระฯ เซอร์กิต (พัทยา) กับสนาม MMC รังสิต ส่วนสนามบินราชบุรี จะแข่งเช้าวันอาทิตย์ หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ควอเตอร์ไมล์คืนวันเสาร์ครับ”
ธีรยุทธ จิตต์เยี่ยม
OAK CLUB
คนนี้สิ ไม่ค่อยพูด แต่พอได้คุยกัน พูดจากันถึงสมัยวิภา เหมือนเป็นการดึงความสนุกที่มีอยู่ให้หวนกลับมาอีกครั้ง มีเรื่องราวมากมายที่ผมได้คุยกับคุณโอ๊ค ทั้งในเรื่องของอนาคตจะเป็นอย่างไร รวมทั้งเรื่องราวในอดีต ย้อนไปตั้งแต่ร้าน OAK CLUB ยังอยู่แถวสุขสวัสดิ์เลยครับ ซึ่งคุยกัน ผมก็ไปสะดุดกับประโยคหนึ่งที่เขาพูดกับผมว่า “วันใดที่ขับรถแล้วต้องมายูเทิร์นตรงที่นี้ ภาพในหัวมันย้อนกลับไปในสมัยนั้นทุกครั้ง ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบไหนก็ตาม ตรงนี้ก็คือยูเทิร์หน้าเซนต์จอห์นสำหรับผมเสมอ” ผมว่าเขาตัวจริงนะในวงการนี้ ไปรู้จักคุณโอ๊ค ในยุควิภา กันครับ
“ผมเรียนอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็กลับมาซัมเมอร์ที่เมืองไทย ก็เป็นช่วงวัยรุ่น ก็ไปเที่ยว Vibration ใต้โรงแรม Novotel สยาม พอที่เที่ยวเลิก ก็ซิ่งรถอยู่ถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งในตอนนั้นมันก็เป็นรถเตี้ยๆ เกียร์ออโต้ ก็ตะบี้ตะบันสับอยู่นั่นแหละ อันนั้นคือการอัดรถสำหรับผม ก็ทำแบบนี้ได้แค่ช่วงกลับมาซัมเมอร์ที่เมืองไทย แล้วก็กลับไปเรียนต่อ ซึ่งในตอนที่ผมเรียนอยู่ต่างประเทศ ผมไม่รู้จัก Nissan Skyline เพราะเขาไม่นำเข้า สื่อไม่ได้แพร่หลายเหมือนอย่างตอนนี้ อยู่ที่โน่นก็มีแต่พวก BMW M3 รถจากทางฝั่งยุโรปมากกว่าครับ แล้วพอผมกลับมาเมืองไทย ในช่วงประมาณปี 1995 ก็มีเพื่อนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เรียนอยู่ต่างประเทศด้วยกันตั้งแต่เด็กนี่แหละ ชวนผมไปดูรถซิ่งที่ถนนวิภาวดี ซึ่งพอไปถึง ผมงงมาก ประเทศไทยมีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ คือต้องเข้าใจก่อนนะว่า ในยุคนั้น ถนนวิภาวดีมีผู้คนสัญจร ใช้รถใช้ถนนเยอะนะ แต่สิ่งที่ผมเห็นคือ คนลงไปยืนบนถนน ปิดไปหนึ่งเลน เพื่อซิ่งรถกัน ถามว่ามันดีมั้ย? ถ้าวันนี้มองกลับไป มันเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ควรทำอย่างแน่นอน แต่ด้วยอายุของผมในตอนนั้น ความคึกคะนองของเด็กวัยรุ่น หลายๆ คนเมื่อมารวมตัวกัน มันก็เลยเป็นภาพแบบนั้นออกมาครับ ถ้าถามผมว่าสนุกมั้ยในตอนนั้น ผมบอกได้ว่า สนุกที่สุดสำหรับผม คุณลองคิดดู แม้แต่คนที่ไปยืนดูข้างถนน หรือแม้กระทั่งบนสะพานลอย ถ้าหนีไม่ทัน ยังโดนจับ ปรับคนละ 500 บาท ข้อหาสนับสนุนการแข่งขัน ก็ลองคิดภาพตามครับ ว่ารถที่มาวิ่ง คนที่มาดูจะเยอะมากขนาดไหน
ในยุคนั้นเขาไม่ได้มีแบ่งแยก ว่ารถอะไร เครื่องอะไร เพราะตอนนั้นมีแต่รถวางเครื่อง รถสปอร์ตมีน้อยมาก รถแต่ละคันเมื่อวนเข้า ยูเทิร์นหน้าเซนต์จอห์น ก็ตั้งลำซัดกันออกมา เพื่อชิงเข้าทางเบี่ยงที่เข้าไปวิ่งเส้นในถนนวิภาวดี แล้วก็อัดยาวไปกลับรถอีกทีแยกสามเหลี่ยมดินแดง ไม่ได้กลับแยกสุทธิสาร เหมือนวิภาวดีในยุคพาเลซ เพราะในยุคเซนต์จอห์น–หอการค้า ยูเทิร์นแยกสุทธิสาร จะมีเจ้าหน้าที่กวดขันวินัยจราจรแบบเข้มงวดมากครับ ก็เลยต้องข้ามแยกนี้ไปผ่าน ม.หอการค้า แล้วไปยูเทิร์นสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งในช่วงคาบเกี่ยวนี้แหละ การแข่งขันควอเตอร์ไมล์ที่สนามพีระฯ เริ่มเป็นที่นิยม ผมเองก็ได้รับรู้ข่าวสาร เริ่มศึกษาจากหนังสือรถบ้านเรานี่แหละ ก็มี เทคนิคแต่งรถ, นักเลงรถ ในตอนนั้น อ๋อ…รถแบบนี้เนี่ยเหรอที่เขาเรียก Nissan Skyline หลังจากนั้นผมก็เริ่มไปอิงฝั่ง JDM เยอะขึ้น จากเทรนด์รถโหลดเตี้ย ก็มาเป็นรถวางเครื่อง ซึ่งเป็นช่วงที่หนังสือ ออโตโมบิล ของพี่บุษย์ เขาออกมาพอดี ซึ่งเป็นหนังสือที่มีแนวทางชัดเจนมาก คือ รถแต่งแรง รถสวย รถหรู ซึ่งรถหรูในที่นี้ คือพวกรถยุโรปวางเครื่องใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ผมก็ยังนับถือกัน เป็นพี่เป็นน้อง ให้เกียรติกันอยู่เสมอ
พอประมาณปี 1996 พี่เล็ก ได้เอา VEILSIDE SUPRA สมัยนั้นที่เที่ยวก็คือ ทอรัส (สุขุมวิท 26) ซึ่งรถพี่เล็กทุกคันจะมีสติกเกอร์หลังรถ PROJECT M แล้วผมก็ได้เห็นรถคันนี้ที่วิภาวดี แล้วก็สนามพีระฯ คือต้องคิดภาพตามผมนะ เหมือนคุณเปิดหนังสือ แล้วเห็นรถในหนังสือ มาจอดอยู่ตรงหน้า มันตื่นเต้นนะ ในยุคนั้นมันไม่เหมือนสมัยนี้ที่มีโซเชียล สามารถ Search หาได้เลย ในยุคนั้นสำหรับผมคืนวันเสาร์ ถ้าใครไม่ได้ไปเที่ยว เขาก็ไปวิภาวดีกัน มีอยู่แค่นี้ ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมไปแล้วประทับใจ คือ ซอยตรงข้างเซนต์จอห์น เห็นคนเข้ามุงดูอะไรกัน ผมก็เดินเข้าไปดู ภาพที่เห็นคือ พี่ป๊อปปิ ขี่ Skyline R32 สภาพรถคันนั้นภายในมีแค่เบาะตัวเดียว ผมงงนะ รถอะไรวะ ใส่เบาะตัวเดียว ซึ่งต้องเข้าใจอารมณ์ของเด็กอายุ 19 ด้วยนะ มันเป็นอะไรที่อเมซซิ่งมากที่ได้เห็น เห็นพี่ทูน ใส่ชุดหมี กำลังตั้งแคม ปรับไฟอยู่ ส่วนพี่อีกคนกำลังเติมน้ำมัน สำหรับผมความทรงจำนั้นมันมากกว่าคำว่าเฟี้ยว เป็นภาพที่อยู่ในใจมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ในความคิดของหลายๆ คน ต้องคิดว่าการไปดูรถซิ่งตอนกลางคืนจะต้องไปดึกๆ แต่สำหรับวิภาวดี คนมารอดูกันตั้งแต่ 3 ทุ่มเพื่อจับจองพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงยูเทิร์นหน้าเซนต์จอห์น คนดูเป็นร้อยครับ ถ้าดึกมากๆ ตลาดเริ่มวายแล้ว บางทีก็จะเห็นทีมพี่อั๋น KANSAI เขาวนมา แต่พวกพี่เขาไม่จอดนะ เขาวนๆ ไม่กี่รอบแล้วก็กลับ ถ้าในกลุ่มรถวางเครื่องแรงๆ ก็จะเป็นพวก Civic 3 ประตู จากกลุ่มพี่น้อย NOI 11 หรือ CEFIRO เครื่อง RB จาก ทาร์แบค ก็โคตรแรงแลยในตอนนั้นครับ สำหรับผมคิดว่า วิภาวดี มันคือสตอรี่ ที่ไม่มีวันกลับมาอีกแล้ว ผมได้แรงบันดาลใจหลายๆ อย่างจากการที่ไปยืนดูรถอยู่ตรงนั้น อย่างแรก คือ ได้รู้ว่าตัวเองเคยผิดพลาด จากความสนุกในตอนนั้น ผมก็จะไม่ทำ และไม่สนับสนุนการแข่งรถบนถนนหลวง ผมอยากมีรถสปอร์ต อย่าง พี่เล็ก PROJECT M ผมก็ทำมันจนสำเร็จ ผมอยากมีช่างจากญี่ปุ่นบินมาทำรถแบบพี่ป๊อปปิ JUN AUTO MECHANIC ในที่สุดผมก็ทำสำเร็จ จนกลายมาเป็น OAK CLUB อย่างทุกวันนี้ครับ”
ธนาศักดิ์ ธนพัฒน์
เบียร์ ใบหยก
เด็กสุดในรุ่นของการทำคอนเทนต์นี้ เบียร์ ใบหยก ในยุคที่เขาอัดรถกันหน้าเซนต์จอห์น–หอการค้า เบียร์ คือ เด็กคนหนึ่งที่ได้ยืนดูอยู่ริมฟุตบาท แน่นอนว่า ไอดอลเขาในยุคนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก พี่เล็ก โปรเจ็ค เอ็ม ที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัย VEILSIDE SUPRA จุ่มคันเร่ง เสียงเวสต์เกตลั่น พร้อมปลดปล่อยแรงม้ากว่า 700 ตัวออกมา บอกเลยว่าโคตรเฟี้ยว!! ซึ่งวันนี้ เบียร์ จะเป็นผู้ถ่ายทอดมุมมองของเด็กคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์คืนวันเสาร์บนถนนวิภาวดีครับ
“ถ้าถามผมว่าทันรถซิ่งที่วิภาวดีมั้ย? ผมทันนะ แต่เป็นยุคเซนต์จอห์น–ม.หอการค้า ตอนนั้นยังเด็กน้อย ยังเป็นนักเรียนขาสั้นอยู่เลยครับ ไปรอยืนดูริมฟุตบาท คนเยอะมากจริงๆ ประมาณว่าเป็นที่รู้กันว่าทุกคืนวันเสาร์ ถ้าไม่ได้ไปไหน ทุกคนก็จะมารวมตัวกัน เพื่อรอดูรถกันที่นี่ครับ ผมตื่นเต้นมากนะเวลาเห็นพี่เล็ก โปรเจ็ค เอ็ม ขับ VEILSIDE SUPRA มาที่วิภาฯ ผมมั่นใจว่าทุกคนที่ไปดูในตอนนั้น ไม่มีใครรู้จักพี่เล็กหรอก บางทีก็เอา RX-7 มา ลองคิดดูดิ พี่เขากล้าแต่ง RX-7 เป็นสีชมพูในยุคนั้น มันเป็นอะไรที่สุดมาก คือกล้าทำอะไรที่แตกต่าง แล้วรถในคอลเลกชันพี่เขาแต่ละคัน อาทิ Supra, Skyline, Rx-7, 200 SX มีครบเลย สปอร์ตตัวท็อป สายสตรีท ที่คนเล่นรถทุกคนใฝ่ฝันอยากจะมี บอกเลยเท่ที่สุดสำหรับผม ส่วนถ้าในสนามแข่ง ต้องพี่ป๊อปปิ JUN เลยครับ คนนี้ตำนานสนามแข่งสำหรับตัวผมเลยในตอนนั้น ซึ่งก็เป็นไอดอลคนไทยที่ผมมองว่าพี่เขาเท่ดีครับ ซึ่งในวันนั้นผมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จัก จนเมื่อผมมีโอกาสได้ครอบครอง RX-7 เดินซื้อของแต่งในเซียงกง เรียกว่าสเปะสะปะ ทำมาหมดแล้วทุกอย่าง จนผมได้ไปญี่ปุ่น ได้เห็นรถที่ญี่ปุ่น ก็คิดว่าทำไมรถเขาสวยกว่าบ้านเรา แล้วได้เห็น RE AMEMIYA ก็เลยคิดว่า ถ้าทำรถให้มัน ก็ต้องมีคอนเซปต์ ก็เลยตัดสินใจให้พี่อั๋น KANSAI เป็นคนจัดการนำเข้ามาให้ ผมก็ไม่ได้มีสตางค์มากมาย คือ ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 1 เงินที่ได้ไปเรียนทุกวันผมเก็บไว้เพื่อแอโรพาร์ทชุดนี้เลยครับ เรียกว่าอดข้าวเพื่อมาแต่งรถ เหมือนๆ กับเด็กวัยรุ่นทั่วไปเลยครับ จากจุดนั้นแหละ ที่ทำให้คนเริ่มรู้จักผมครับ”
ปิยะเลิศ ใบหยก