Way of Dusky Smoke : Diesel Dragster !!

Souped Up Special : XO 240 (Dragster Diesel TT Racing)

เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)

การเดินทางของ “มนุษย์แรง” ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น “ความสร้างสรรค์” ก็ยังคงมีให้เราเห็นกันอยู่เสมอ จากขุมพลังดีเซล ที่สมัยก่อนใครก็ว่าสู้เครื่องเบนซินไม่ได้ มันก็จริง เพราะออกแบบมาให้ “ใช้งานหนัก” เป็นหลัก ตอนหลังถูกพัฒนามาเป็นระบบ Common Rail ที่ใช้การจ่ายน้ำมันด้วยแรงดันสูง สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ฝาสูบ” พัฒนามาเป็น DOHC “แคมคู่” 16 วาล์ว ในรูปแบบของรถ Hi-Performance จึงเป็นก้าวใหม่ในการโมดิฟาย ลามมาจนถึงปัจจุบันที่ทำแรงม้าและเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม ตอนนี้ก็อยู่ที่ว่า “ใครจะพร้อมกว่ากัน” คันนี้เป็น Dragster ที่เกิดจากความฝันของ TT Racing สามพี่น้องโต้โผใหญ่ “ตั้ว & เต๋า & ต้อม” ที่อยากจะทำ “ของแปลก” ขึ้นมา ร่วมมือกับ “โอ๊ต อู่ช่างขวัญ” ที่จะรับผิดชอบในด้าน “เครื่อง” และ “ขับ” และรถคันนี้ถือเป็น “หน้ายาวที่ใช้เครื่องดีเซล 4 สูบ” ที่มา “โชว์โฉมอย่างเป็นทางการคันแรกของเมืองไทย” ต้องตีความหมายว่า “แม้จะเป็นคันแรก แต่มันก็ไม่ใช่คันเดียว” นะครับ แน่นอนครับ คู่แข่งย่อมมีเสมอ สำหรับเรื่องราวที่น่าสนใจของคันนี้มีเยอะ อาจจะดูว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าเจาะลึกไปแล้ว  รายละเอียดของ “หน้ายาว” จะต่างจาก “รถเฟรมดีเซล” อยู่มาก จะได้รู้กันว่าเขาไปกันท่าไหน และเป้าหมายจะอยู่ที่ใด…

น้ำหนัก + อัตราทดเกียร์ ตัวแปรสำคัญ

ในด้านเครื่องยนต์ “โอ๊ต อู่ช่างขวัญ” ก็ได้บอก (แบบกระชับ) ว่า “ก็ยังเป็นสเต็ปเดียวกับรถเฟรมครับ” เพียงแต่เซตเทอร์โบใหม่ให้บูสต์ได้ต่อเนื่องขึ้น แรงม้าอยู่แถวๆ “900 PS ++” แต่สิ่งที่เป็นตัวแปรต่อมา คือ “น้ำหนักรถ” ที่ต่างกัน เมื่อ Dragster มีน้ำหนักเบากว่า และใช้ “ยางโตกว่า” คันนี้ล่อยางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง “36 นิ้ว” (รถเฟรมประมาณ 34.5 นิ้ว) ถ้าเทียบ “เส้นรอบวง” กันแล้ว ยาง 36 นิ้ว คิดตามสูตร หากเปลี่ยนหน่วยเป็น ซม. ก็จะมีเส้นรอบวง “287.12 ซม.” แต่ถ้ายาง 34.5 นิ้ว จะมีเส้นรอบวง “275.16 ซม.” ผิดกันถึง “12 ซม.” ดูตัวเลขไม่มาก แต่วิ่งรอบล้อเยอะๆ นี่ไปกันคนละเรื่องนะครับ ถ้าเครื่องกำลังไม่ถึง แถมรถหนักกว่าก็ “ยาน” กว่าจะถึงปลาย แต่ถ้า “รถเบา” สไตล์หน้ายาวก็กลายเป็นได้เปรียบ เพราะภาระต้านน้อย ก็สามารถใช้ยางใหญ่ขึ้น อัตราทดเฟืองท้ายต่ำลง เพื่อเอา “ความเร็ว” เพิ่มขึ้นได้ในรอบเครื่องเท่าเดิม แต่อัตราเร่งก็ยังได้อยู่ ตรงนี้ก็ต้อง “คำนวณ” และ “ทดสอบ” ว่าจุดไหนเหมาะสมที่สุด ซึ่ง TT Racing  ก็ต้องคุยกับ “โอ๊ต” ว่า นิสัยเครื่องเป็นยังไง แรงม้ามาช่วงไหนบ้าง แล้วจึงเซตอัตราทดให้เหมาะสม คือ คนทำเครื่อง กับคนทำเกียร์และเฟืองท้าย ต้อง “คุยกัน” ครับ จริงๆ แล้ว มันก็ต้องคุยกันทุกฝ่าย ว่าจะ “ไปท่าไหน” ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ…

Safety First in Trans.
ระบบที่ควรใส่ใจ
สำหรับระบบ Transmission Safety ที่ TT Racing ได้ทำในระบบเกียร์ที่สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นการป้องกัน “เกียร์เข้าเอง” มีโอกาสเกิดขึ้นได้เวลาตอนเร่งเครื่องเพื่อเช็กสภาพ หรือตอนจูนที่ไม่ได้อยู่บน Dyno โดยปกติจะต้อง “ตั้งรถบน Stand สามขาเอาไว้” และตอนออกตัว ก็มีโอกาส “เกียร์ลั่น” เข้าเองเหมือนกัน ซึ่งเครื่องดีเซลจะมีแรงสั่นสะเทือน (Vibration) มากกว่าเครื่องเบนซินอยู่มาก ทำให้ “สปริงรั้งกลไกเข้าเกียร์” อาจจะ “ล้า” ทำให้กลไกเกียร์เกิดการขบต่อกำลัง (Engage) ได้ จึงแก้ไขโดยการ “เปลี่ยนสปริงวัสดุพิเศษ ให้ค่า K สูงขึ้น” และต้อง “เพิ่มแรงดันลมระบบเกียร์ให้มากขึ้น” อีกประการ ทำระบบให้มีการ Safety ไว้ ตอนใส่เกียร์เดินหน้า ลมจากหัวรางลม ก็จะไปยังชุดวาล์วเกียร์เดินหน้าทั้งหมด 5 เกียร์ แล้วก็จะมี “ลมจากท้ายรางลม” ให้แรงดัน Bypass ไปดันวาล์วลมเกียร์ถอยหลัง Block ไว้ “ไม่ให้เข้าได้” ส่วนเวลาถอยหลัง  ลมก็จะไม่ไปวาล์วสำหรับเกียร์เดินหน้าเลย และที่ Cockpit คนขับ ก็จะมี “สวิตช์วาล์วลม” ให้คนขับปรับตอนเดินหน้าหรือถอยหลัง รวมถึง Safety Switch และไฟเตือนให้คนขับดูอีก เพื่อป้องกันเหตุกันหลายๆ จุด…

ลูกห้าสิบ ลูกเจ็ดห้า ลูกร้อย ฯลฯ ตกลงไงกันแน่
เคยได้ยินกันบ่อยๆ นะครับ ว่าสายดีเซลจะพูดถึง “ลูกสูบ” ที่เปลี่ยนมาแบบ “โอเวอร์ไซส์” ก็พูดไปตามที่จั่วหัว ถามว่าลูกสูบใช้ขนาดเท่าไร ก็จะได้คำตอบมาว่า “ไซส์ห้าสิบ, ไซส์เจ็ดห้า, ไซส์ร้อย” โดยรวมๆ ก็ 3 ขนาด นี้แหละ ตอนแรกผมก็งง อะไรวะลูกห้าสิบ ลูกเจ็ดห้า ??? แม่มเกิดมาเพิ่งเคยได้ยิน ก็สับสนจนต้อง “ไปหาคำตอบที่แท้จริงมาให้” ไอ้การเรียกแบบนี้เป็นคำพูดที่ “จริง” นะครับ ไม่ได้บอกกันมั่ว เพียงแต่ว่าจะ “ตีความ” ยังไง แล้วเขา “พูดถึงอะไร” มาแฉกันหน่อยดีไหม…

มันคือ “หน่วยวัดความโตของลูกสูบ” ยังไงล่ะ
คำว่า “โอเวอร์ไซส์” ก็คือ “ขนาดใหญ่กว่ามาตรฐาน” ยกตัวอย่าง ลูกสูบ 86.0 มม. ถ้าเป็นสายเบนซิน ก็จะนิยมใส่โอเวอร์ไซส์ ขนาด 87.0 มม. คือ “บวก 1 มม.” แต่กับสายดีเซล จะนิยมพูดกันในอีกแบบอย่างที่ว่ามา ซึ่งคำเหล่านี้ เช่น “ลูกห้าสิบ ลูกเจ็ดห้า ลูกร้อย” ก็อาจจะสร้างความสับสนให้กับคนที่ “เพิ่งเคยได้ยิน” กันบ้าง ว่าตกลงแล้วไอ้นี่มันเป็น “ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง” หรือเปล่า จริงๆ แล้ว มันคือ “ไซส์ที่โตกว่าลูกสูบมาตรฐานโรงงาน” นั่นเองครับ โดยมีหน่วยเป็น “มิลลิเมตร” มีการเทียบขนาดดังนี้ครับ…
Oversize 25 = 0.25 มม.
Oversize 50 = 0.50 มม.
Oversize 75 = 0.75 มม.
Oversize 100 = 1.00 มม.
Oversize 125 = 1.25 มม.
ชัดเจน อย่างได้ยินพูดว่า “ลูก 75” คุณก็รู้แล้วว่า ลูกสูบนั้น Oversize 75 มม. สมมติลูกสูบเดิม 86.0 มม. ก็เท่ากับว่าลูกสูบ Oversize ขนาดรวมเท่ากับ “86.75 มม.” แล้วถ้า “ลูก 100” ล่ะ ก็เท่ากับ “87.0 มม.” นั่นเอง…
แต่ก็มีอีกภาษาหนึ่ง จะพูดประมาณว่า “โอเวอร์ไซส์ 2” หรือ “โอเวอร์ไซส์ 20” อันนี้หน่วยเป็น “นิ้ว” ครับ มันก็อาจจะสร้างความสับสนได้เหมือนกัน ก็ต้อง “ถามให้แน่ว่าเป็นหน่วยอะไร” เพราะเข้าใจผิดมันไปกันคนละทิศเลยนะครับ มีผลกับเครื่องยนต์อย่างมาก (ถ้าคนทำเครื่องจะรู้ดี) แต่ถ้าบอกมาเป็นหน่วย “นิ้ว” ก็จะมีตัวเลขประมาณนี้ครับ…
Oversize 10 = 0.010 นิ้ว
Oversize 20 = 0.020 นิ้ว
Oversize 30 = 0.030 นิ้ว
Oversize 40 = 0.040 นิ้ว
Oversize 50 = 0.050 นิ้ว
ภาษาเรียกก็พอจะแยกออกครับ เพราะเรียกตัวเลขไม่เหมือนกันแล้ว ถ้าจะเทียบหน่วยจาก “นิ้ว” เป็น “มิล” ก็ไม่ยากครับ เอา “5 บรรทัดนี้” ไปเทียบกันได้เลย อย่าง Oversize 20 ของนิ้ว ก็จะเท่ากับ Oversize 50 ของมิล มันเท่ากันได้ยังไง ก็เทียบง่ายๆ เอา “2.54 คูณ” เป็นตัวเลขส่วนต่างของสองหน่วยนี้ ปัดเศษเหลือ 2.5 ก็ง่ายๆ เช่น Oversize 20 ของนิ้ว คูณ 2.5 ก็เท่ากับ “50” ซึ่งก็เป็นหน่วยของ “มิล” นั่นเอง…
หมายเหตุ : จริงๆ แล้ว ขนาดลูกสูบที่กำหนดมาใน “สเป็ก” จริงๆ แล้ว มันเป็นค่า “ความกว้างกระบอกสูบ” นะครับ อย่างสเป็กบอก 86.0 มม. แต่ขนาดลูกสูบจริงๆ จะอยู่ที่ “85 กว่าๆ” เท่านั้น มีหย่อนๆ ไปเกือบๆ ครึ่งมิล เพราะลูกมันคงไม่โตเท่ากระบอกสูบ (แล้วกูจะเลื่อนขึ้นลงยังไง) อันนี้คนทำเครื่องเขารู้อยู่แล้วครับ อยากรู้ลูกโตเท่าไร ไม่ใช่เอาไม้บรรทัดวัด ต้องวัดโดย “ไมโครมิเตอร์” เท่านั้นครับ จบ…พอ…

 

*เพื่อความสะดวก กรุณาดูผ่าน Google Chorme

 

Comment: TT Racing
สำหรับ Diesel Dragster คันนี้ ทางเราก็มีฝันกันอยู่แล้ว ว่าจะทำอะไรแปลกๆ ออกมาเป็นผลงานชิ้นเอกของเราสักคัน พอดีไปขอซื้อตัวโครงรถต่อมาจาก “น้าหยาม” SIAM PROTOTYPE และ “พี่ตี้” GT GARAGE ซึ่งเป็นรถที่ซื้อมาสำรอง สเป็ก Top Fuel ความยาวฐานล้อ “300 นิ้ว” ก็เลยโดนใจ เพราะตอนแรกจะเอาสเป็ก 265 นิ้ว แต่ดูแล้ว 300 นิ้ว จะสวยกว่า ไหนๆ จะทำแล้วเอาให้สุดไปเลย ข้อดีอีกประการ คือ การวางอุปกรณ์ต่างๆ นั้นสวยงาม เพราะเนื้อที่มีเยอะ และคอนโทรลรถง่ายกว่า สำหรับเรื่อง “เกียร์” ที่เรารับผิดชอบ ก็ได้ทดสอบอย่างหนักหน่วงหลายครั้ง กับรถกระบะ Full Body น้ำหนักเฉียด 2 ตัน จนมั่นใจว่า “ศรีทนได้” กับรถ Dragster ที่มีน้ำหนักน้อยลงไป 2 เท่า แต่ตอนนี้กำลังดูเรื่อง “เบิร์น” อยู่ เพราะยางใหญ่ขนาดนี้ ต้องคิดกับอัตราทดให้ดีๆ เพราะเครื่องดีเซลรอบน้อย ถ้าอัตราทดไม่เหมาะสม จะทำให้ “ล้อหมุนรอบไม่พอ เบิร์นไม่ได้ที่” สำหรับ “เป้าหมาย” ก็อยากได้ “เจ็ดต้น” เป็นหลัก แต่เอาเข้าจริงๆ ใครก็อยากเห็น “ปรากฏการณ์ Number Six” กันทั้งนั้นแหละครับ ท้ายสุดขอขอบคุณ “ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในรถคันนี้” รวมถึง “แฟนคลับ” TT RACING และ นิตยสาร “XO AUTOSPORT” ที่นำเสนอคันนี้ด้วยนะครับ…

Comment: โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
(ส่วนตัว “โอ๊ต” เป็นคนพูดน้อย เน้นยิ้ม) ตัวผมเองก็รับผิดชอบเครื่องยนต์ของคันนี้ครับ ตัวเครื่องยนต์ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเราก็ทำอยู่ในรถเฟรม พอมาอยู่ใน Dragster ที่น้ำหนักเบาและเพรียวลมกว่า ก็น่าจะแรงและทนทานขึ้น ส่วนการขับ ตัวผมเองก็ยอมรับว่า “เปิดซิง” กับคันนี้ครั้งแรก ยังไม่เคยขับเลยตอบไม่ได้ แต่ “คาดว่า” น่าจะขับง่ายกว่ารถเฟรม เพราะรถมันยาวและวิ่งตรง หลังจากนี้ก็ต้องซ้อมบ่อยๆ จับอาการรถดูครับ แต่คาดว่าเวลาระดับ “สวย” ที่ต้องการ ถ้าทุกอย่างพร้อมก็ไม่น่ายากครับ…

Comment: อินทรภูมิ์ แสงดี
นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เราอยากจะเห็นอยู่พอดี กับ “จรวดดีเซล” ที่กำลังเข้ากระแส คันนี้เป็นคันแรกที่เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง สามารถมาโชว์โฉมกับเราได้ก่อนเพื่อน ก็ต้องขอบคุณทั้ง TT Racing, โอ๊ต อู่ช่างขวัญ ที่เร่งปั้นจนออกมาทันเวลา (ถ่าย) พอดี ก็ต้องรอดูครับ ว่านับเวลาถอยหลังไป Souped Up 2016 ปลายปีนี้มันก็อีก “ไม่นาน” ก็ต้องวางแผนกันดีๆ ในด้านความสวยงาม ดูดี เล่นสีสันได้แปลก การวางอุปกรณ์ต่างๆ สวยงาม เป็นระเบียบ ในด้านสมรรถนะ “รอลุ้นหน้างานครับ” ยังไม่เห็น ตอบไม่ได้ วัดกันที่เวลาเท่านั้น…

X-TRA ORDINARY
โดยดั้งเดิมทาง TT Racing  ได้เกิดมาจากการ “แปลงเบรก” อัพเกรดขนาด โดยจะเป็นชุดเบรกจาก “รถสปอร์ต” มือสอง หรือจะของโมดิฟายติดแบรนด์ก็แล้วแต่ลูกค้าจะเลือก ซึ่งเป็นงานที่รับทำตั้งแต่สมัยแรกเริ่ม จนตอนนี้หันมาทำ “เกียร์” สายแข่ง ตอนนี้ที่กำลัง “ดัน” อยู่ก็คือ Air Shifter นี่แหละ หรือเกียร์แข่ง เกียร์โมดิฟายชนิดอื่นๆ ก็มี ลอง “ยกหู” สอบถามดูตามเบอร์โทรที่ให้ไว้ละกันนะครับ…

 

*เพื่อความสะดวก กรุณาดูผ่าน Google Chorme

 

TECH SPEC
ภายนอก

เฟรม : From SIAM PROTOTYPE & GT GARAGE
สปอยเลอร์ : TT Racing
ร่มเบรก : SIMPSON
ภายใน
พวงมาลัย : MARK WILLIAMS Butterfly
คอพวงมาลัย : STRANGE
เกจ์วัด : Defi + AUTO METER
เข็มขัด : SIMPSON Platinum
ชุดขาเหยียบ : TONNKA Pedal Box
เครื่องยนต์
รุ่น : 4JJ1-TC
แคมชาฟต์ : โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
ลูกสูบ : MRX
ก้านสูบ : MRX
ข้อเหวี่ยง : MRX 3.2 ลิตร
ปั๊มดีเซล : แบบโยง โดย ช่างหรั่ง ดีเซล
เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08 + TF-08L โมดิฟายโดย ปิง เทอร์โบ
เฮดเดอร์ : ต่าย บางมด
เวสต์เกต : FSR
อินเตอร์คูลเลอร์ : GARRETT
หัวฉีด : BOSCH
ตัวปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิง : AEROMOTIVE
หม้อน้ำ : ต่าย บางมด
ไนตรัสออกไซด์ : NOS x 2
กล่องควบคุม : ECU=SHOP STANSD ALONE V3 by โอ๊ต อู่ช่างขวัญ
อุปกรณ์สวยงามในห้องเครื่อง : HPD
ระบบส่งกำลัง
เกียร์ : TT RACING Air Shifter 5 สปีด
เพลาท้าย : MARK WILLIAMS
เฟืองท้าย : MARK WILLIAMS อัตราทด 2.7 : 1
ช่วงล่าง
ล้อหน้า : WELD ขนาด 2.5 x 17 นิ้ว
ล้อหลัง : WELD ขนาด 16 x 16 นิ้ว
ยางหน้า : HOOSIER ขนาด 22.0-2.5-17
ยางหลัง : HOOSIER ขนาด 36-17-16
เบรกหลัง : MARK WILLIAMS
Special Thanks
TT Racing  : Facebook/TT Racing, Tel. 08-9668-8222 (ตั้ว)
โอ๊ต อู่ช่างขวัญ : Facebook/โอ๊ต ฐาปกรณ์, Tel. 08-6341-4724
สนาม Bangkok Drag Avenue