We Are Here to Save You!!! : My Name Is…. Pro Race Q

STORY : T.Aviruth (^_^!)

PHOTO : GPI

My Name is … PRORACE Q

สัญญาณ “ธงแดง” ในการแข่งขัน  นั่นหมายถึง “หน้าที่” ของคนกลุ่มนี้ที่จะเข้าไปนำตัวผู้บาดเจ็บจากการแข่งขัน เคลื่อนมายังพื้นที่ปลอดภัย  ฟังดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติ มันตรงกันข้าม!!  สถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด วินาทีชีวิตในการขอความช่วยเหลือ มันไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้าไปทำ ทุกสิ่งถูกฝึกฝนกันในแบบเฉพาะทาง  ในคำที่เรียกติดปากว่า “PRORACE Q” พวกเค้าเกิดมาเพื่อรับหน้าที่นี้ครับ…

                หลังจากที่สรุปงานภายในห้องประชุม ทีมงานต่างลงความเห็นว่า My Name is… เล่มนี้ ควรจะเป็น PRORACE Q เนื่องด้วยจากการแข่งขันในช่วงนี้ที่มีกันแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ พวกเค้าต้องสแตนด์บายตามสนามแข่ง เพื่อพร้อมรับสถานการณ์  ว่าแต่ พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัย? สถานการณ์ที่ว่าคืออะไร?  และพวกเค้าเป็นใครมาจากไหน ถึงมาทำหน้างานแบบนี้  แล้วทำไมถึงมีแต่ PRORACE Q แบรนด์เดียว ในการแข่งขันรถยนต์ของประเทศไทย   ทุกคำถามมีคำตอบจากปากของทีมงานกว่า 40 ชีวิต ที่ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวอย่างเอกฉันท์ว่า “คุยกับม่อน” เลยครับ…

                ภารกิจที่แน่นบนตารางการแข่งขัน… มันทำให้ผมต้องเลือกช่วงเวลาให้ตรงกัน เสียงปลายสายที่ลอดผ่านลำโพงของโมบายโฟนมาสู่หู เป็นเสียงของ “ม่อน” ผมกับเค้าไม่รู้จักกันอย่างเป็นทางการ เพียงแค่ได้ร่วมงานกันบ้างในบางที สิ้นสุดการสนทนาช่วงสั้น เราสองคนเข้าใจตรงกันว่า เราจะคุยกันที่งาน Toyota Motorsport 2013 ที่เชียงใหม่ ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่พอดีกัน  ผมไปทำงาน ม่อนเค้าก็ไปทำงานเช่นกัน  เมื่อถึงวันนัด ผมก็ไปตามที่นัดหมายกับม่อน เมื่อไปถึงในจุดที่ PRORACE Q  สแตนด์บาย  มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะแบ่งแยกว่าใครเป็นใคร เพราะทุกคนแต่งกายเป็นระเบียบเหมือนกันหมด  แต่เมื่อเดินเข้าไปทักครั้งแรกก็ตรงตัวเลย…โชคดีจริง

                ในช่วงเวลาที่มีกิจกรรมโชว์การแสดงของโตโยต้า มอเตอร์สปอร์ต 2013 ที่เชียงใหม่ ทุกคนต่างสนุกสนานเพลิดกับการชม แต่ผมกับ “ม่อน” เรามีเรื่องต้องคุยกัน ผมเลยถามแค่คำถามเดียวเท่านั้นว่า PRORACE Q คืออะไร?  หลังจากนั้น ม่อน เล่ายาวเลยว่า “ PRORACE Q” เกิดมาจาการรวมตัวของ Big Boy Slide ซึ่งทำงานคู่กับสนามแข่งอยู่แล้ว ร่วมกับ PROMEDIC ที่เข้ามาทำงานในสนามแข่ง  มารวมตัวกัน โดยรถสไลด์เค้าก็มีหน้าที่ที่เรารู้กันอยู่แล้ว ส่วน PROMEDIC ก็เข้ามาทำหน้าที่ดูแลเรื่องการดับเพลิง, ช่วยเหลือนักแข่ง คือเน้นดูแลคนเป็นหลัก อาการบาดเจ็บ วิธีนำคนออจากรถแข่งอย่างถูกต้อง เมื่อประสบเหตุ

                หลายคนอาจจะสงสัยว่าอะไรคือ PROMEDIC  ซึ่งอันที่จริงแล้ว คือ ร้านขายอุปกรณ์กู้ชีพ กู้ภัย  ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มาจากฝั่ง PROMEDIC จะมีพื้นฐานมาจากหน่วยกู้ภัยในมูลนิธิต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งมีความคุ้นเคยกับอุปกรณเหล่านี้อยู่แล้ว  ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านที่ไม่เคยสัมผัสก็อาจจะไม่รู้จัก แต่อันที่จริงแบรนด์ PROMEDIC มีอยู่ในเมืองไทยเป็นสิบๆ ปีแล้วครับ  และเมื่อทั้ง PROMEDIC และ BIG BOY SLIDE มาทำงานร่วมกันในการแข่งขันต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นงานที่คาบเกี่ยวกันของทั้ง 2 ทีม คือ PROMEDIC เข้าเคลียร์ นำผู้บาดเจ็บออกจากรถ ก็ถึงหน้าที่ของ BIG BOY SLIDE นำรถออกจากแทร็ก เพื่อให้การแข่งขันดำเนินต่อไปได้ โดยเสียเวลาน้อยที่สุด

                เมื่อเป็นแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง ทั้ง 2 ทีมก็เลยมานั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้และทัศนคติกัน เพื่อให้การทำงานของทั้ง 2 ทีม ปลอดภัย สะดวก รวดเร็วมากขึ้น ก็เลยเกิดหน่วยงานใหม่ขึ้นมาในชื่อที่ว่า “PRORACE Q”  เมื่อทั้ง 2 ทีมรวมตัวกันขึ้นมาก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนต้องรับทราบหน้าที่ของแต่ละคน โดยมีการอบรมแลกเปลี่ยนความรู้กันในทีม อาทิ พยาบาลก็ต้องให้ความรู้กับทีมรถสไลด์ ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนรถสไลด์ก็ต้องให้ความรู้กับทางพยาบาลว่างานที่ทำคืออะไร  ซึ่งทีนี้ทุกคนก็จะรู้หน้าที่และขั้นตอนการทำงานของทุกฝ่ายและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อเป็นการ “ลดช่วงเวลา” นำผู้บาดเจ็บส่งถึงมือแพทย์ได้เร็วขึ้น โอกาสเสี่ยงของผู้บาดเจ็บก็จะน้อยลงครับ

                และบางคนมองว่าทำไมต้องให้ทุกคนในทีมรับรู้เรื่องของรถสไลด์ ซึ่งในเมื่อนำผู้บาดเจ็บออกจากรถได้แล้ว จริงๆ เรื่องทุกอย่างทุกขั้นตอนสำคัญหมด อาทิ รถแข่งที่ประสบเหตุ เสียหายทางด้านไหน ก็ต้องลากฝั่งที่เสียหายน้อยที่สุดขึ้นสไลด์ บางส่วนที่คอยดูแลเรื่องของไฟลุกไหม้  การเคลื่อนย้ายรถหากเกิดน้ำมันรั่ว เราก็ต้องสังเกตและแยกได้ว่า น้ำมันหรือของเหลวที่รั่วออกมานั้นเป็นชนิดไหน  ติดไฟได้หรือไม่ เราก็ต้องระวังในจุดนี้ด้วยในการเข้าช่วยเหลือ

และจุดที่สำคัญคือ การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ  ตรงนี้ต้องระวัง เพราะถ้าไม่ใช่ผู้ที่ถูกฝึกอบรมมาด้านนี้โดยเฉพาะ   ซึ่งการนำผู้ที่ได้รับบาดเจ็บออกจากรถ ในประเทศไทยเค้ามีการอบรมกันอยู่  แต่ถ้าเป็นแบบเฉพาะกิจอาทิ การเคลื่อนย้ายนักแข่งออกจากรถแข่งที่ประสบเหตุ  การอบรมลักษณะนี้ในประเทศไทยไม่มีอย่างแน่นอน มีแต่ในต่างประเทศเท่านั้น  เพราะด้วยรายละเอียดของตัวรถแข่ง อาทิ โรลบาร์, เซฟตี้เบลท์, บั๊กเก็ตซีต ไหนจะรายละเอียดที่ตัวนักแข่ง หมวกกันน็อก, ชุดแข่ง, Hans และจิปาถะอีกมากมาย  มันจึงเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ ต่างจากที่เรียนรู้และอบรมมาในบ้านเรา  ครั้งจะไปเรียนอบรมจากต่างประเทศ  ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูงมาก  เพราะเราเป็นองค์กรเล็ก  อยู่กันแบบเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ก็เลยปรึกษากันโดยให้แพทย์วิชาชีพที่ชำนาญการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย มาช่วยดูวิธีการทำงานว่าเคลื่อนย้ายแบบนี้ จะเป็นผลดีหรือซ้ำเติมผู้บาดเจ็บหรือไม่ ในขณะปฏิบัติงานจริงจะได้ทำอย่างถูกขั้นตอน

จากผลงานที่ผ่านๆ มา ทำให้ ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  (ร.ย.ส.ท.) และการกีฬาแห่งประเทศไทย รับรองทีม PRORACE Q เป็นทีมที่ดูแลด้านมอเตอร์สปอร์ตในประเทศไทย  ซึ่งวัตถุประสงค์ของเราที่เข้ามาทำงานในจุดนี้ก็เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้วงการมอเตอร์สปอร์ตที่เรารักพัฒนา แล้วเติบโตขึ้น ซึ่งถ้าเราติดตามการแข่งขันไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็แล้วแต่ คำว่า “Safety First” จะมาเป็นอันดับแรกเสมอ  แต่สำหรับในประเทศไทยของเรา เรื่องความปลอดภัยถูกมองเป็นอันดับรองลงมา เกือบจะล่างๆ   ที่พวกเรารวมตัวกันทำตรงนี้ก็เพราะว่า “อยากให้คนไทยเห็นความสำคัญด้านความปลอดภัยเป็นอันดับแรก”  คนที่มาเล่นกีฬาก็เกิดอาการเสี่ยงน้อยลง เมื่อความปลอดภัยดีขึ้น  คือเหตุการณ์อุบัติเหตุเนี่ยนะ “ถ้ามันไม่เกิด มันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามันเกิดขึ้น เราก็ต้องรองรับให้ได้”  ไม่ใช่สักแต่ว่ามีทีม Safety หรือรถพยาบาลบางหน่วยงานมาสแตนด์บาย  แต่อุปกรณ์ที่นำมา มันไม่ใช่   บางท่านอาจจะมองว่าเป็นรถพยาบาลเหมือนกัน แต่รายละเอียดที่ใช้งานจริง มันต่างกันมากนัก อาทิ อุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือ, บุคลากรที่ถูกฝึกฝนและมีประสบการณ์ ต้องมีควบคู่กัน คือ ถ้ามีอุปกรณ์ครบ แต่บุคลากรใช้เครื่องมือไม่เป็น มันก็เท่านั้น  ดังนั้น บุคลากรของเราจะเป็นเจ้าหน้าที่กู้ชีพทางด้านฉุกเฉินมาทำงานทั้งหมด เพราะงานของเราคือ  Pre – Hospital Care  ช่วยเหลือก่อนถึงโรงพยาบาล  เน้นการรักษาเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุเป็นหลัก  ผมเองเคยเจอกรณีนึง  คุณหมอถามผมว่าใส่เฝือกคอผู้บาดเจ็บทำไม? เราเองก็มองและวิเคราะห์สถานการณ์ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นในลักษณะนี้น่าจะมีผลกระทบ ก็เลยทำตามประสบการณ์ที่เคยผ่านมา ซึ่งบทสรุปหลังจากเอกซเรย์ นักแข่งคนนั้นหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ซึ่งแพทย์ที่โรงพยาบาลได้บอกกับผู้ป่วยว่า กรณีแบบนี้ถ้าคลื่อนย้ายไม่ถูกวิธี จะทำให้เป็นอัมพาตทันที!! แต่โชคดีที่มีการเคลื่อนย้ายแบบถูกวิธี ทำให้กลับมาเป็นปกติได้  ซึ่งจากตรงจุดนี้ ผมอยากบอก “ผู้จัดการแข่งขันทุกๆ รายการว่า ใช่มีแต่รถพยาบาลแล้วจะปลอดภัยนะครับ”

จากจุดเริ่มต้นการรวมตัว PROMEDIC และ BIG BOY SLIDE  ราวๆ 15 คน ปัจจุบันทีมเรามีมากขึ้นถึง 40 คน  ซึ่งเราไม่เคยเปิดรับสมัครสมาชิก แต่ที่มีเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนๆ กันทั้งหมด  อยู่ในสายอาชีพเดียวกัน รู้จักกันและเข้าใจกันมาก่อน ถึงมาร่วมงานกัน  เพราะผมเชื่อว่าทุกงานมีปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งการที่เรามารวมตัวกันทำงานแบบพี่ๆ น้องๆ จะทำให้คลี่คลายปัญหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

มาที่อุปกรณ์ในการทำงานของทีม อย่างแรกก็มีรถ First Intervention Vehicle (FIV) เป็นรถด่วนที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุเป็นคันแรก ซึ่งเราใช้เป็นรถปิกอัพ ที่บรรทุกอุปกรณ์เครื่องตัดถ่าง, อุปกรณ์ดับเพลิง ประกอบด้วย เครื่องดับเพลิงขนาดเล็ก และถังน้ำขนาด 200 ลิตร  อีกชิ้นก็เป็นอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บจากการสันนิษฐานของแพทย์ผู้ชำนาญเรื่องกระดูกต้นคอและสันหลัง  จะประกอบด้วย เฝือกคอ ปลอกแข็ง พร้อมที่ดามหลัง ป้องกันการขยับเขยื้อนระหว่างการเคลื่อนย้าย  รถคันนี้ไม่ใช่รถพยาบาลที่จะเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาล  แต่หน้าที่ของรถคันนี้คือ เคลื่อนย้ายนักแข่งออกจากรถแข่ง ไปยังจุดที่ปลอดภัย  (Medical Center) ที่ทางสนามจัดเตรียมไว้

เมื่อนักแข่งปลอดภัย ก็ถึงหน้าที่ของรถสไลด์เข้าเคลียร์รถที่เกิดเหตุออกจากแทร็ก เพื่อให้แทร็กกลับมาแข่งขันได้เหมือนเดิม  หลายคนเคยตั้งคำถามว่าทำไมต้องใช้สไลด์ของ “Big Boy”  หรือ “PRORACE Q” ปัญหาเนี่ยไม่ได้อยู่ที่รถเลย  แต่อยู่ที่คนต่างหาก!!  หน้าที่รถสไลด์ทั่วไปยกรถที่ล้อขับเคลื่อนได้  แต่ “Big Boy Slide” เค้าอยู่คู่กับสนามแข่งขันมากว่า 15 ปี ประสบการณ์หรือชั่วโมงบินคงไม่ต้องเอ่ย เจอมาครบทุกรูปแบบของการแข่งขันในสนาม รถที่ไม่มีล้อ ทีมนี้เค้าก็เอาขึ้นสไลด์ให้ได้  อย่างเช่นเมื่อการแข่งขันที่ผ่านมา รถหลุดข้ามกำแพงที่สนามพีระฯ เราในทีมต่างก็มองหน้ากันว่าจะเอายังไง แต่ด้วยประสบการณ์ที่คร่ำหวอด  เพียงระยะเวลา 5 นาที ก็เก็บกู้เรียบร้อย สามารถกลับมาแข่งได้ตามปกติ

ถามผมว่า รถสไลด์เจ้าอื่นๆ ที่เคยทำงานร่วมกันในสนามมีมั้ย? ตอบเลยว่ามีครับ ส่วนมากเค้าจะยกแต่รถมีล้อหมุนได้ มาเจอรถแข่งยับๆ เค้าก็มักจะบอกว่า มันใช้เวลานานนะถ้าจะเอาขึ้น หรือไม่ก็ปฏิเสธว่าขึ้นไม่ได้เลย ซึ่งการทำงานมันมีอุปสรรค มันก็ทำให้ผลงานที่ออกมาได้ไม่ดี รถสไลด์ก็ของเค้า เราเองก็เลยไม่อยากไปก้าวก่ายหน้าที่การทำงานของเค้าในจุดนั้น  ประสบการณ์เป็นเรื่องที่หาซื้อไม่ได้ ต้องสร้างเอาเองสถานเดียว ซึ่งในกฎของ FIA ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า  ผู้ที่จะลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสนามได้ ต้องมีประสบการณ์ขั้นต่ำ 2 ปี ถึงจะมีสิทธิลงสนาม  อย่าสักแต่ว่าแค่มี แค่เหมือน  แล้วทำงานจริงได้มั้ย?  เหมือนกับที่มีคนเคยพูดกับผมว่า “จ้างพวกเอ็งมาเนี่ย ก็เหมือนซื้อประกัน  มีแล้วไม่ได้ใช้ ดีกว่าจะใช้แล้วไม่มี”  หรือหยิบมาใช้แล้วใช้ไม่ได้ อารมณ์ประมาณว่า ไฟที่บ้านดับ พอหยิบไฟฉายจะมาใช้ก็ดันถ่านหมด อารมณ์ประมาณนั้นแหละ!!

เรื่องของงาน PRORACE Q จากความคิดเห็นของผมโดยส่วนตัว พุ่งเป้าไปที่กิจกรรมมอเตอร์สปอร์ตเป็นจุดยืน  เคยมีหลายๆ ที่ติดต่อเข้ามา สนใจจะรับงานกีฬาประเภทอื่นบ้างมั้ย ผมเองก็บอกเค้าว่า  กีฬาประเภทต่างๆ มีคนคอยดูแลมากอยู่แล้ว อีกทั้งไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทางเหมือนของผมอีกด้วย ผมขอทำมอเตอร์สปอร์ตให้ดีที่สุดดีกว่า   แต่ก็มีอีกมอเตอร์สปอร์ตอีกประเภทนึง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ แต่เป็นเจ็ตสกี  เราก็เข้ามาดูแลความปลอดภัยในสนามอีกเช่นกัน  ซึ่งก่อนที่เราจะมาทำตรงนี้ ต้องเทรนนิ่งกับชุด Safety ของประเทศสิงคโปร์ มาคอยประกบคู่กับทีมเราเป็นระยะเวลาถึง 2 ปี กว่าจะปล่อยมือให้ทีม PRORACE Q มาดูแลเรื่องระบบความปลอดภัยของการแข่งขัน

ตั้งแต่ทำงานด้านนี้ จากจุดที่สแตนด์บาย เข้าถึงรถแข่งเมื่อจบอุบัติเหตุ เราใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที  จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับรูปแบบของสนามแข่ง เพราะบางครั้งในตำแหน่งที่เราสแตนด์บาย มันเป็นเส้นทางสาธารณะ มีประชนคนดูสัญจรร่วมด้วย ตรงนี้ก็จะทำให้เราเคลื่อนตัวยาก อีกทั้งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ระบบสื่อสารก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก ทีมเราจะมีวิทยุสื่อสารภายในทีม 1 ชุด และติดต่อกับรับฟังจากของสนามอีก 1 ชุด รวมเป็น 2 ชุด เพื่อความปลอดภัย และรวดเร็วในการทำงาน เพราะบางครั้งอุบัติเหตุเกิดจุดนี้ แต่อีกฝั่งของสนามยังแข่งกันอยู่  มันก็เลยกลายเป็นเรื่องเสี่ยงของตัวบุคลากรทีมเราเองในการเข้าไปช่วยนักแข่งที่เกิดอุบัติเหตุ  หรือบางครั้งเราแจ้งข้อมูลของผู้บาดเจ็บว่าเป็นอะไรมากน้อยเพียงใดให้กับรถพยาบาลขณะกำลังเดินทางมารับผู้บาดเจ็บ  เค้าจะได้เตรียมอุปกรณ์ไว้พร้อมรอรับผู้บาดเจ็บได้ทันท่วงทีครับ”

 

นับว่าเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เดินเคียงคู่มอเตอร์สปอร์ตบ้านเราให้พัฒนาเพิ่มขึ้น  ถึงแม้จะไม่เร้าใจเท่ากับการดูการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต  แต่มันก็ลุ้นทุกครั้ง เมื่อทีมพวกเค้าเข้าช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา ไม่มีใครอยากเจอพวกเค้าตอนแข่งขันหรอก  เอาไว้ไปเจอกันนอกสนามกินข้าวกันดีกว่า แล้วคุณล่ะ? ประเมินค่าตัวเองไว้ที่เท่าไหร่?  ถ้ามันเกิดอะไรขึ้นกับคุณ!! ในเมื่อตัวคุณรักที่จะแข่งรถ แต่ไม่รักชีวิตของตัวเอง รถคุณเครื่องแรง ช่วงล่างเข้าโค้งดี แต่กลับไม่มีระบบเซฟตี้ที่อัพเกรดขึ้นมารองรับความแรงที่คุณใส่เข้าไปในเครื่องยนต์  ชุดแข่งกันไฟไม่พร้อม คิดว่าไม่จำเป็น โรลบาร์ไม่ทำกลัวเสียรถ  ผมมองว่า ถ้ามันไม่เกิดเหตุก็ถือว่าโชคดีไป แต่ถ้าโชคไม่ดีล่ะ! เค้าก็เรียกันว่า อุบัติเหตุครับ!!

 

www.facebook.com/proraceq

**** เท่าที่ทำมา เราใช้เวลาไม่ถึง 2 นาที ในการเข้าถึงเมื่อรถประสบอุบัติเหตุ

 

**** ณ เวลานี้มีหลายๆทีมเสนอตัวขึ้นมาทำงานในลักษณะเดียวกันกับ PRORACE Q  เรายินดีมากนะ ขอให้ทำงานที่มีคุณภาพ อย่ามองแต่ภาพลักษณ์ที่ได้ออกไป ต้องทำงานให้เป็นด้วย  ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าขึ้นมามันจะใช้งานไม่ได้!!

 

**** อยากให้ผู้จัดการแข่งขันมองถึงจุดนี้!! รถพยาบาลของโรงพยาบาลเองก็เถอะ บางที่เค้าเซ็ตรถมาแค่โรคเบาๆ อาทิ เจ็บป่วย ท้องเสีย ตัวร้อน เป็นลม  เค้าไม่มีอุปกรณ์เคลื่อนย้ายคนเจ็บที่ถูกต้อง มันก็จะเป็นการซ้ำเติมอาการบาดเจ็บให้กับนักแข่งเป็นทวีคูณเลยนะ

 

**** พวกผมไม่ใช่พระเจ้า หรือเทวดา ผมไม่สามารถทำให้ทุกคนรอดชีวิตได้ มันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเค้า พวกผมเป็นแค่ปลายทาง ซึ่งถ้ารถแข่งไม่ปลอดภัย ไม่มีโรลบาร์ รัดเบลท์ไม่แน่น การเกิดเหตุก็จะทำให้การบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น

 

***** ในการทำงานทุกครั้ง พวกผมเต็มที่ทุกครั้ง ผมวอนขอประชาชนคนดูทั่วไป ช่วยหลบทาง                                                    อย่าเข้าไปใกล้รถที่เกิดเหตุ อันดับแรกก็เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเอง หากเกิดไฟไหม้ มันอันตราย เพราะพวกท่านไม่ได้มีชุดป้องกันเหมือนกับพวกผม

 

**** ทุกวันนี้นักแข่งที่เราเคยช่วยเหลือ เค้ากลับมาขอบคุณพวกเราทุกคน ที่ช่วยดูแลเค้าอย่างดีตอนเกิดเหตุ   ก่อนแข่งขัน หลายๆ คนเดินทักทาย  ในสนามเราไม่เจอกัน  เอาไว้เจอกันนอกสนามนะ

 

**** ในสนามแข่ง รถพยาบาลต้องมี 2 คันเสมอ คือถ้าอีกคันหนึ่งทำงานอยู่ อีกคันต้องพร้อมที่จะทำงานทันที  ซึ่งในรายการแข่งขันในบ้านเรา เดี๋ยวนี้เห็นความสำคัญตรงนี้มากขึ้น คือ ถ้ารถพยาบาลยังไม่ประจำจุด การแข่งขันก็จะยังไม่ดำเนินต่อ