โปรย : ว่าด้วยศาสตร์ของ “น้ำมันเครื่อง”
รายละเอียดที่ “ต้องรู้” อ่านดูแล้วจะซึ้ง
คอลัมน์ KNOWLEDGE ที่ถือเป็นตำนานของ XO AUTOSPORT มาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่ผมชอบ และได้อ่านศึกษามาตั้งแต่ยังอยู่ในบทบาทของ “ผู้อ่าน” ทั่วไป จนมาเป็น “ผู้เขียน” เอง เลยคิดว่าสิ่งที่มัน “หายไป” มันควรจะ “กลับคืน” ภาษาฝรั่งเรียกว่า Recover กันอีกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์ของท่านผู้อ่านทั่วไป แน่นอนครับ ผมก็ตั้งใจจะทำขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ไม่ได้อยากเด่น อยากดัง แต่อยากจะให้เรียนรู้เกี่ยวกับแง่มุมเรื่องเทคนิคต่างๆ ที่น่าสนใจ ด้วยการนำเสนอที่ “ง่ายต่อการทำความเข้าใจ สำหรับคนทุกระดับ ประทับใจทุกดอก” ครั้งนี้ผมขอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของ “น้ำมันเครื่อง” ที่ดูจะเป็นสิ่งง่ายๆ ใครก็รู้จัก แต่ “คุณรู้จักมันดีแค่ไหน” และมันมีอีกหลายแง่มุมที่เราอาจจะยังไม่ทราบ แต่ถ้าทราบแล้วจะ “แซบ” เพราะมีบางอย่างที่ลึกซึ้งอยู่ในกระป๋องบรรจุมัน…
- เครื่องยนต์ไม่ว่าจะบล็อกอะไร แรงแค่ไหน ก็ต้องมีน้ำมันเครื่องเป็นส่วนประกอบ เหมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกายเรานั่นเอง
หน้าที่ของน้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่อง ภาษาฝรั่งว่า Engine oil ถ้าเรียกกันตามแบบ “อเมริกัน” ก็คือ Motor oil ถ้าจะบอกถึงหน้าที่ของมัน ทุกคนคงรู้นะ ว่ามันทำหน้าที่ “หล่อลื่น” (Lubricant) พวกชิ้นส่วนเคลื่อนไหวด้านในของเครื่องยนต์ ถ้าไม่มีการหล่อลื่น ชิ้นส่วนภายในมันก็จะเกิดการเสียดสีกันจนพังได้ในเวลาอันสั้น จึงต้องมีน้ำมันเครื่องมาหล่อลื่น อันนั้นท่านเข้าใจถูกแล้ว งั้นจบเรื่องการหล่อลื่นตรงนี้เลยละกัน เข้าใจแล้วก็ไม่ต้องเหลาให้ยาว…
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่คนไม่ค่อยจะรู้กัน หรือรู้ไม่จริง น้ำมันเครื่องมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ “ทำหน้าที่ระบายความร้อนของเครื่องยนต์ด้วย” ในเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion) ความร้อนที่เกิดจากการสันดาป ก็จะมีบางส่วนที่ถูกน้ำมันเครื่องซับความร้อนไปประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ นี่พูดถึงเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cool Engine) แต่ถ้าเป็นเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cool Engine) น้ำมันเครื่องจะทำหน้าที่ระบายความร้อนแทนน้ำ เพราะฉะนั้น ความร้อนก็จะอยู่ที่น้ำมันเครื่องประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น น้ำมันเครื่องจึงมีหน้าที่ระบายความร้อนของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเครื่อง Air Cool นี่ น้ำมันเครื่องมีส่วนสำคัญมากในการระบายความร้อน…
- ชิ้นส่วนในเครื่องยนต์นั้นมีมากมาย น้ำมันเครื่องจะต้องทำหน้าที่หล่อลื่น และระบายความร้อนอีกด้วย นับว่าเป็นภาระหนักทีเดียว โดยเฉพาะพวกเครื่อง “ตัวจี๊ด” ทั้งหลาย
“เกรด” หรือ “เบอร์” เรียกยังไงให้ถูก
อันนี้คนมักจะเรียก “น้ำมันเครื่องเกรดนั้นเกรดนี้” โดยเข้าใจว่า มันคือ “ชนิดของน้ำมันเครื่อง” คนจะเรียกเป็นเกรดน้ำมัน คำว่า “เกรด” เกรดธรรมดา เกรดสังเคราะห์ แท้จริงแล้ว คำว่า เกรด มันหมายถึง “คุณภาพของน้ำมันเครื่อง” เหมือนตอนเรียน เกรด A-B-C-D-E-F สไตล์ฝรั่งก็ไล่จากดีมากไปยันห่วยมาก อย่างน้ำมันเครื่องเบอร์ 10W-30 ก็มีตั้งแต่ “เกรดดี” ไปยัน “เกรดห่วย” ส่วน “เบอร์” กับ “เกรด” นั้น จะมีข้อที่เกี่ยวข้องกันกับดัชนี (Index) บอกความหนืดของน้ำมันเครื่อง ส่วนการเรียกน้ำมันเครื่องธรรมดา หรือสังเคราะห์ มันไม่สามารถเรียกเกรดได้อีกด้วย มันเป็นเรื่องของการผลิต ไม่ใช่เกรดโดยตรง ก็ทำนองเดียวกัน น้ำมันเครื่องธรรมดาเกรดดีก็มี สังเคราะห์เกรดห่วยก็เยอะ แต่กระแสสังคมไทยก็เรียกรวมกันไปหมด ก็ไม่ต้องไปเถียงกระแสสังคมครับ เพียงขอให้รู้ไว้ว่า แต่ละอย่างมันคืออะไรก็แล้วกัน…
- หน้าตาเฟืองปั๊มน้ำมันเครื่อง มันจะขบกันแบบเยื้องศูนย์ เพื่อสร้างแรงดันน้ำมันเครื่องไปตามจุดต่างๆ ในเครื่อง ถ้าน้ำมันเครื่องผิดเบอร์ ใสเกินไป เกิดการเสียดสีมากจนร้อนจัด หรือหนืดเกินไปมากๆ ทำให้ปั๊มทำงานหนักผิดปกติ หรือน้ำมันแทรกตัวเข้าไปไม่เต็มหน้า ก็จะทำให้ปั๊มพังได้ทั้งสิ้น
ที่มาของน้ำมันเครื่อง
จุดเริ่มต้นของน้ำมันหล่อลื่น ก็จะอาศัยน้ำมันดิบที่ได้มาจากธรรมชาติ เรียกว่า Crude Oil ไปขุดกันขึ้นมาจากธรณี หลังจากนั้นก็นำมาสกัดให้เป็นน้ำมันหล่อลื่น เรียกว่า Mineral Oil ก็นำมาใช้เป็น “ต้นกำเนิดของน้ำมันเครื่อง” หรือ Base Oil ได้ น้ำมันเครื่องในยุคโบราณก็จะมีการหล่อลื่นที่พอเหมาะกับเครื่องโบราณ หมุนรอบต่ำมากๆ แค่ 200-300 rpm สูบเดียว ชิ้นส่วนไม่มาก มันก็พออยู่ได้ แต่เครื่องยนต์มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ชิ้นส่วนมากขึ้น หมุนรอบจัดขึ้น แรงม้ามากขึ้น น้ำมันเครื่องจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้มันพัฒนาตามไปด้วย…
- เครื่องยนต์สมัยโบราณใช้รอบต่ำ กำลังน้อย จึงใช้น้ำมันเครื่องเกรดต่ำ ตอนหลังเครื่องยนต์พัฒนาขึ้นมามาก น้ำมันเครื่องก็พัฒนาตามไปด้วย จึงต้องมีการเติมสาร Additive เพื่อเพิ่มคุณภาพ รวมไปถึงการใช้น้ำมันสังเคราะห์ขึ้นมาแทน
สาร Additive แบบพื้นฐาน ในน้ำมันเครื่อง
เพราะฉะนั้น จึงมีการพัฒนาตัวน้ำมันเครื่อง ด้วยสาร Additive หรือ “สารปรุงแต่งที่เพิ่มสมรรถนะของน้ำมันเครื่องให้สูงขึ้น” เรียกสั้นๆ ได้ว่า “สารเพิ่มคุณภาพ” จะสารเคมีอะไรก็ช่างมันเถอะครับ (เพราะทั้ง อ.ศิริบูรณ์ และตัวผู้เขียนเอง ก็ไม่ใช่นักเคมี เลยไม่รู้จะจำมาเล่าให้มันยากไปทำไม) ซึ่งสารต่างๆ ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็มีสารพื้นฐานที่สำคัญต่างๆ พอสังเขป ดังนี้…
- Anti Rust : สารป้องกันการเกิดสนิม จริงๆ ตัวน้ำมันหล่อลื่นเอง มันก็มีคุณสมบัติเรื่องของการป้องกันสนิมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่มันก็ยังไม่พอ ก็ต้องเติมสารเหล่านี้เข้าไปอีก เพื่อป้องกันสนิมที่เกิดขึ้นในเครื่องยนต์ ที่เกิดจากความชื้นในอากาศเข้าไปทำปฏิกิริยา…
- Anti Foam : สารป้องกันการเกิดฟอง โดยปกติเมื่อของเหลวมีการเคลื่อนไหว เขย่า ถูกตี อย่างน้ำมันเครื่องเอง ก็จะถูกตีด้วยข้อเหวี่ยงเวลาหมุน ทำให้เกิดฟองขึ้นมา และฟองในน้ำมันเครื่องที่มีความข้น ตัวฟองจะลอยขึ้นไปด้านบนได้ยาก และแตกตัวได้ยากเหมือนกัน ไม่เหมือนน้ำที่ฟองจะลอยตัวเร็ว และแตกตัวได้ง่ายทันทีเมื่อขึ้นสู่บนผิว เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการใส่สาร Anti-Foam เข้าไป เพื่อให้น้ำมันเครื่องเกิดฟองน้อย หรือทำให้ฟองนั้นลอยขึ้นและแตกตัวเร็วที่สุด เพื่อให้น้ำมันเครื่องสามารถไหลได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอนจากการที่มีอากาศมาคั่น ซึ่งถ้าน้ำมันเครื่องมีฟอง ปั๊มจะดูดอากาศเข้าไปด้วย จะทำให้เครื่องยนต์และชิ้นส่วนเคลื่อนไหวภายในเสียหายได้ จากการที่น้ำมันเครื่อง “ขาดตอน” แม้แต่นิดเดียวก็ทำให้เสียหายได้ อย่าลืมนะครับว่า เครื่องหมุนด้วยรอบหลายพัน…
- Friction Reducer : สารที่ทำให้ “ลื่น” มากขึ้น ลดแรงเสียดทานและความร้อนจากการที่โลหะเสียดสีกัน ของเดิมยังลื่นไม่พอ จัดการเพิ่มอีกซะหน่อย ก็จะช่วยลดภาระในการหมุนของเครื่องยนต์ ทำให้แรงม้าเพิ่มขึ้น และประหยัดน้ำมันขึ้น (เทียบกับที่ไม่ได้ใช้นะ) สมัยโบราณก็ล่อ “น้ำมันหมู” (Lard) เอ้าจริงๆ นะครับ มันมีการผสมลงไปในน้ำมันเครื่องจริงๆ แต่ตอนหลังก็พัฒนามาเป็นสารสังเคราะห์อื่นๆ แทน ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า…
- Viscosity Improver : อันนี้เป็นสารชนิดที่ “ทำให้น้ำมันเครื่องมีประสิทธิภาพความหนืดคงที่ขึ้น” โดยปกติแล้ว น้ำมันเครื่องเมื่อถูกความเย็นมากๆ อย่างอยู่ในภูมิประเทศที่หนาวจัด อุณหภูมิติดลบ ก็จะมีปัญหาเรื่อง “น้ำมันเครื่องหนืดมาก” จนแทบจะไม่ยอมไหล ทำให้เครื่องหมุนยาก สตาร์ทยาก เกิดการเสียหาย แต่พอตอนร้อนมาก น้ำมันเครื่องจะ “ใส” บางทีใสเกินไปจนประสิทธิภาพการหล่อลื่นลดลง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการเติมสารจำพวกนี้ลงไป ตอนเย็นมากก็ไม่หนืดไป ตอนร้อนมากก็ไม่ใสเกินไป เรียกว่าทำให้มันเสถียรอะไรทำนองนี้…
- สารอื่น : อันนี้บอกตรงตัวได้ยาก เพราะผู้ผลิตแต่ละเจ้าก็จะมีเทคนิคใส่สารเคมีชนิดต่างๆ ลงไปในน้ำมันเครื่อง อันนี้ก็จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่นรายใหญ่ที่มีไม่กี่เจ้าในโลก แล้วก็ผลิตส่งให้กับผู้จ้างผลิตเอาไปใส่ยี่ห้อต่างๆ ก็สั่งใส่สารเคมีตามต้องการ ก็มีการโฆษณาไปตามเรื่อง ของ Goo ดีกว่า, ของ Goo ลื่นกว่า, ของ Goo ทนกว่า ฯลฯ
น้ำมันเครื่อง “เกรดเดี่ยว” หรือ “เกรดรวม” รู้จักดีหรือยัง
อันนี้ผมว่าหลายคนก็อาจจะสงสัย (หรือเปล่า) หรืออาจจะเข้าใจผิดอยู่ เรื่องการแบ่งเกรดความหนืดของน้ำมันเครื่อง ทั้ง “เกรดเดี่ยว” หรือ Single Grade และ “เกรดรวม” หรือ Multi Grade อันไหนคืออะไร อันไหนดีกว่ากัน…
เริ่มกันจาก “น้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว” อันนี้ปัจจุบันไม่ค่อยมีเหลือกันแล้ว ซึ่งบนฉลากจะบอก “ดัชนีความหนืด” (Viscosity Index) เป็นเลขสองหลักเท่านั้น เบอร์ 30-40-60 อะไรก็ว่าไป ซึ่งจะมีปัญหาเวลาอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากๆ อย่างเช่น ในที่หนาวจัด น้ำมันเครื่องจะหนืดมากจนทำให้เครื่องสตาร์ทยาก หรือไม่ติดเลย เพราะชิ้นส่วนเคลื่อนไหวได้ยาก แต่พอเริ่มร้อนแล้วก็พอไหว พอใช้น้ำมันความหนืดน้อย ตอนเย็นมากสตาร์ทง่าย แต่พอร้อนแรงดันตก เพราะมันใสเกินไป คนจึงคิดว่าน้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยวไม่ดี จริงๆ แล้ว ถ้าคิดมุมกลับ อย่างเมืองไทยที่มีอุณหภูมิสูง ไม่มีอากาศหนาวจัดแบบติดลบเป็นสิบๆ องศา เกรดเดี่ยวจริงๆ มันก็ใช้ได้ อันนี้พูดให้ฟังนะ แต่คนสมัยใหม่ก็คงจะไม่ค่อยมีใครรู้จักมันแล้วล่ะ…
ต่อมาเข้ายุคใหม่กับ “น้ำมันเครื่องเกรดรวม” ที่ปัจจุบันใช้กัน ดูง่ายๆ ครับ เช่น ดัชนีเขียนว่า 20W-50 คำว่า W คือ Winter หรือ “ฤดูหนาว” ตอนอากาศเย็นจัด น้ำมันเครื่องจะใส ไม่หนืด (ตรงข้ามกับเกรดเดี่ยว) ทำให้สตาร์ทติดง่าย ยิ่งตัวเลขหน้า W ต่ำ แสดงว่า “คงความใสในอุณหภูมิต่ำลงได้อีก” มันก็จะมีตารางอยู่ว่าตัวเลขข้างหน้า W แต่ละค่า มันจะเป็นการวัดความหนืดที่อุณหภูมิติดลบที่เท่าไร แต่พอร้อนจนถึงช่วงการทำงานปกติ ประมาณ 100 องศา ความหนืดก็จะเป็น 50 ยิ่งเบอร์สูง น้ำมันยิ่งหนืด สรุปคือ “น้ำมันเครื่องสองนิสัย” ตอนเย็นจัดก็ไม่ได้หนืดมาก ตอนร้อนจัดก็ไม่ได้ใสมากเกินไป อย่างที่บอกไปว่ามันมีการเติมสาร Viscosity Improver แต่ในเมืองไทยที่ไม่ได้มีอุณหภูมิต่ำมากขนาดติดลบ ตัว W จึงไม่ต้องสนใจมัน ดูที่ “ตัวเลขหลัง” พอแล้วครับ ว่ามันตรงกับสเป็กเครื่องยนต์ที่ใช้อยู่หรือเปล่า…
หมายเหตุ : การวัดดัชนีความหนืด กำหนดโดยหน่วยงาน API หรือ American Petroleum Institute หรือ SAE : Society of Automotive Engineer เป็นค่ามาตรฐาน แล้วก็ยังมีหน่วยปลีกย่อยไปอีก ซึ่งมีรายละเอียดที่มากเกินความจำเป็นของผู้ใช้ทั่วไป จึงไม่ขอกล่าวถึง ในบทความนี้จึงเป็นการพูดถึงแบบพอสังเขป และเป็นการยกตัวอย่างง่ายๆ เพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปได้เข้าใจเท่านั้น…
เกรดคุณภาพของน้ำมันเครื่อง เลือกอันไหนดี
มันก็จะมีเกรดอีกอย่าง ในการบอกคุณภาพของน้ำมันเครื่อง จะเห็นเขาพูดกันว่า API ต่อด้วย SM, SN มันคืออะไร ให้พิจารณา “อักษรตัวหลัง” จะเป็นตัวบอกเกรดคุณภาพ ดูไม่ยากครับ มันไล่ไปตามเกรด ตั้งแต่ SA-SB-SC เรื่อยไป ตรงนี้อย่าเข้าใจผิดว่า “A คือ เกรดสูงสุด” นะครับ ไม่เหมือนเกรดทั่วไปนะ อันนี้มันจะไล่จาก “ต่ำไปสูง” ถ้า A ก็ต่ำสุด ที่ปัจจุบันไม่มีใช้สำหรับรถยนต์แล้ว ตอนนี้มาตรฐานมันไปถึง SN แล้ว ถ้าซื้อน้ำมันเครื่องก็เลือกมาตรฐาน SN ไว้ก่อนแล้วกัน นั่นคือมาตรฐานดีที่สุดในปัจจุบัน แต่ถ้าหา SN ไม่ได้ SM ก็ยังถือว่าใช้ได้ เพราะ SN มันเพิ่งมีมาแป๊บๆ นี่เอง…
น้ำมันเครื่องธรรมดากับสังเคราะห์
เริ่มมาใกล้ตัวอีกนิด ในท้องตลาดก็จะมีทั้ง “น้ำมันเครื่องธรรมดา” และ “น้ำมันเครื่องสังเคราะห์” ที่เราคุ้นๆ หูกันอยู่ สำหรับน้ำมันเครื่องธรรมดา (Mineral oil) ก็อย่างที่บอกไปในตอนก่อนหน้านี้แล้ว ว่ามันผลิตจากน้ำมันดิบธรรมชาติ ผ่านการขึ้นหอกลั่น (Distillation) แยกออกมาเป็นน้ำมันหล่อลื่น แล้วนำมาผลิตเป็นน้ำมันเครื่อง ซึ่งมีข้อดีที่ราคาไม่แพง หาง่าย เหมาะสำหรับรถที่มีกำลังไม่มาก รถบ้าน ขับขี่แบบใช้งานทั่วไป…
มาดู “ของแพง” กันบ้าง ด้วยข้อจำกัดของน้ำมันเครื่องธรรมดา ที่ไม่อาจทนความร้อนสูงในเครื่องยนต์รอบจัดมากๆ แรงม้าเยอะๆ ได้ จึงต้องก้าวข้ามข้อจำกัด ด้วยการผลิต “น้ำมันเครื่องสังเคราะห์” หรือ Fully Synthetic oil เป็นการสังเคราะห์ทั้งหมด นั่นก็คือ “ไม่ได้มีที่มาจากธรรมชาติ” มนุษย์ผลิตขึ้นเอง โดยการใช้สารจำพวก “โพลีเมอร์” (Polymer) มาผลิต ก็จะได้น้ำมันเครื่องที่ทนความร้อนได้สูง มีการรักษาความหนืดที่คงที่ มีระยะการใช้งานที่ยาวนาน (Long Life) นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันเครื่อง “กึ่งสังเคราะห์” หรือ Semi Synthetic oil ด้วยการนำเอาข้อดีของทั้งคู่มารวมกัน ไม่ได้หมายถึงว่ามันจะดีที่สุดนะ แต่เหมือนกับเป็น “ตัวกลาง” ระหว่างธรรมดา กับ สังเคราะห์ 100 เปอร์เซ็นต์ ประมาณว่า ใช้ดีและทนความร้อนได้มากกว่าธรรมดา แต่ก็ราคาไม่แพงมาก ปัจจุบันนิยมใช้กัน…
ระวังพลาด โดนหลอกว่าเป็นสังเคราะห์ 100 เปอร์เซ็นต์
ปัจจุบันเรื่องของการเขียนบนฉลาก บางทีไปเจอผู้ค้าบางราย “รู้มาก” และ “ยึกยัก” อารมณ์เหมือนโฆษณา ดูสินค้ายิ่งใหญ่อลังการ น่าซื้อ แต่ดันมีเตือนตัวเล็กๆ ถึงหมายเหตุห่าเหวอะไรก็ตามที่ออกจะไม่เป็นจริงตามนั้น และเตือนไว้ก่อนว่า ปัจจุบันต้อง “อ่านให้ขาด” อย่างน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ จะต้องมีคำบ่งชี้เลยว่า “Fully Synthetic oil” แต่ส่วนใหญ่เจอบางยี่ห้อ “กำกวม” เช่น Synthetic Quality บ้าง Synthetic Blend บ้าง มันไม่ได้บ่งชี้ชัดๆ ว่า Fully หรือ Semi บางทีมันก็เป็น Semi แต่พยายามใช้คำ “ชักจูง” ให้ดูเหมือน Fully อันนี้ก็ต้องพิจารณาให้ดี…
การเติมน้ำมันเครื่องต่างชนิด ต่างยี่ห้อผสมกัน ดีหรือร้าย ???
อันนี้ก็เป็นข้อถกเถียงกันอยู่มาก สำหรับการเติมน้ำมันเครื่อง “ต่างชนิด ต่างยี่ห้อ” นำมาผสมกัน แล้วจะเกิดผลเสียหรือไม่ ในอดีต น้ำมันเครื่องถูกผลิตขึ้นมาจากหลายสูตร ก็ยังไม่มีการควบคุมเรื่องของส่วนผสม ต่างคนต่างใช้ที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมา มันจึงมีสาร “บางชนิด” ที่อาจจะ “ไม่ผสมกลมเกลียวกัน” หรือทำ “ปฏิกิริยาเคมี” ในด้านลบ ซึ่งทำให้น้ำมันเครื่องหมดสภาพ มีตะกอนอุดตัน เกิดอะไรก็ตามที่มันไม่ดีอ่ะ เครื่องยนต์เสียหายก็มีมาเยอะแล้ว โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องยี่ห้อแปลกๆ ไม่เคยเจอ ประเภทเข้ามาพักนึงแล้วก็หายจากท้องตลาดไป แต่ในปัจจุบันมีการควบคุมมาตรฐานที่เป็นสากล พวกส่วนผสมต่างๆ ก็เริ่มมีการ “ปรับตัวเข้าหากัน” มากขึ้น ใช้ส่วนผสมที่มันลงตัวที่สุด นำมาแชร์ใช้เหมือนๆ กัน ปัญหานี้ก็ “อาจจะหมดไป” และ “อาจจะเติมกันได้” ที่ผมบอกว่า “อาจจะ” เพราะมัน “ไม่ได้เป็นข้อยืนยันว่าจะใช่ทั้งหมด” ก็จะมีบางยี่ห้อที่มีส่วนผสมแปลกออกไป ทางที่ดี ควรจะเติมยี่ห้อเดียวกัน ชนิดเดียวกัน ส่วนเบอร์อาจจะต่างกันได้ (ในกรณีที่หาซื้อแบบด่วนๆ ไม่มี) ถ้าจะให้ดี เวลาคุณเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ก็ควรจะซื้อ “น้ำมันเครื่องสำรองยี่ห้อและรุ่นเดียวกันกับที่ใช้” ติดรถไว้อีกสัก 1 ลิตร เผื่อเอาไว้ “เติม” เวลามันพร่องลงไป ก็จะตัดปัญหาและความกังวลไปได้ครับ…
การเติมน้ำมันเครื่องต่างเบอร์ มีผลอย่างไร
กรณีต่อเนื่องจากเมื่อกี้ เมื่อเป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกัน แต่ “ต่างเบอร์” ผสมกันแล้ว จะมีผลเสียอะไรหรือไม่ และบางคนก็ผสม เพราะต้องการเบอร์ความหนืดที่ตัวเองต้องการ แต่ดันซื้อไม่มี ก็เลยเอาเบอร์ต่างกันมาผสม เพื่อบวกลบแล้วมันจะได้อีกเบอร์หนึ่ง กรณีนี้ก็จริงครับ อย่างเช่น เบอร์ 50 (ตัว W หน้าไม่พูดถึง เปลืองเนื้อที่) แล้วจะนำมาผสมกับเบอร์ 30 มันก็พอจะ “ประมาณ” (แบบคิดเอาเอง) ได้ว่า ความหนืดที่ผสมกัน มันน่าจะอยู่แถวๆ เบอร์ 40 อันนี้ก็เป็นไปได้ ก็อยู่ที่สัดส่วนที่ผสมเข้าไป มันอาจจะเป็นเบอร์ 41 หรือ 38 ก็ได้ ไม่เป๊ะหรอกครับ แต่ถ้าจะให้ดีก็หาไอ้เบอร์ที่มันตรงตามต้องการเลยดีกว่า…
น้ำมันเครื่อง สำหรับ “เบนซิน” กับ “ดีเซล” มีข้อแตกต่าง
เครื่องยนต์สันดาปภายในยุคปัจจุบัน ก็จะมีเชื้อเพลิงอยู่สองชนิด คือ “เบนซิน” หรือ “แก๊สโซลีน” สองอย่างนี้คืออันเดียวกัน อีกประเภทคือ “ดีเซล” ซึ่งใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณสมบัติต่างกัน “ในบางอย่าง” ก่อนอื่น เพื่อกันความสับสน บางทีเราไปเจอน้ำมันเครื่องยี่ห้อ @&)^_%#$ อะไรก็ตาม พวกที่ไม่ค่อยคุ้นตา ยี่ห้อประหลาดๆ มันจะบอกอะไรไม่ค่อยชัด ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ควรจะซื้อมาใช้ พวกน้ำมันเครื่องยี่ห้อดังมาตรฐานสากล พวกนี้จะมีข้อบ่งชี้สเป็กอย่างชัดเจน ก็ต้องระวังครับ จึงอยากจะบอกวิธี “ดู” รหัสลับด้านหลัง ว่าอะไรคือของเบนซิน และของดีเซล ดูง่ายๆ ดังนี้ครับ…
- SI : ให้ดูด้านหลัง API มีต่อท้ายด้วยอักษร SI (เอส-ไอ) อันนี้จะย่อมาจาก Spark Ignition แปลว่า “การจุดระเบิดด้วยประกายไฟ” ก็มาจาก “หัวเทียน” นั่นเอง นั่นหมายถึง “เครื่องยนต์เบนซิน” หรือแม้จะใช้แก๊ส LPG หรือ NGV ก็เหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันมีน้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องที่ใช้ “แก๊ส” หรือ “ก๊าซ” โดยเฉพาะ น่าจะมีคุณสมบัติในการระบายความร้อนได้ดีกว่านะ…
- CI : แต่ถ้าต่อท้าย API ด้วยอักษร CI (ซี-ไอ) อันนี้จะย่อมาจาก Compression Ignition แปลว่า “การจุดระเบิดด้วยกำลังอัด” นั่นหมายถึง “เครื่องยนต์ดีเซล” ดูง่ายๆ แค่นี้แหละครับ…
สองชนิดนี้ผิดกันตรงไหน
น้ำมันเครื่องบางยี่ห้อ ดันบอกว่าใช้ได้ทั้งเบนซินและดีเซล แต่ส่วนใหญ่แล้วจะ “แยก” อย่างเอกเทศ จริงๆ แล้วมันควรจะ “แยก” นะครับ มันจะมีข้อแตกต่างกันอยู่ ความจริง พื้นฐานในการผลิตน้ำมันจะเหมือนกันครับ เพียงแต่จะมีการปรุงสาร Additive ที่แตกต่างกัน อย่างน้ำมันเครื่องของดีเซล สิ่งหนึ่งที่ต้องมีเลย คือ “สารชะล้าง” (Detergent) เนื่องจากเครื่องดีเซลมี “เขม่า” จากการเผาไหม้มากกว่าเครื่องเบนซิน เขม่าจะไปเกาะตามห้องเผาไหม้ วาล์ว หัวลูกสูบ แหวน ฯลฯ สะสมนานๆ ทำให้เครื่องยนต์มีปัญหา วิ่งไม่ออก กินน้ำมันมาก จะพังเอาง่ายๆ ก็เลยต้องใส่สารชะล้างลงไปในน้ำมันเครื่องสำหรับดีเซลเป็นปริมาณมากและเข้มข้นกว่าของเครื่องเบนซิน…
ถ้าเติมสลับกันได้ไหม ???
การเติมน้ำมันเครื่องดีเซลกับเบนซิน “สลับกัน” จะได้ไหม คำตอบคือ “ได้” แต่ “ไม่ดี” แล้วจะทำไปทำไมครับ ??? ไอ้เติมแล้วบางคนก็บอกไม่เป็นไร สบาย ๆ ซึ่งจะใครจะสลับแล้วมีปัญหาหรือไม่ ผมไม่รู้ และไม่อยากจะเถียงกับใครทั้งสิ้น แต่จะเติมสลับกันไปทำไมก็ไม่เข้าใจ ถ้ามันสลับแล้วดี ก็คงไม่มีการแยกประเภทออกมาอย่างชัดเจนล่ะมั้ง ??? แต่ว่าเติมสลับแล้วเป็นผลอย่างไร ถ้าเอาของเบนซินไปเติมดีเซล มันจะแย่มากหน่อย เพราะไม่มีสารชะล้างเพียงพอที่จะไปขจัดเขม่าเยอะๆ ได้ ใช้ไปสักพัก เครื่องจะมีเขม่ามาก เกิดปัญหาอย่างที่บอกไป ตรงกันข้าม ถ้าเอาของดีเซลมาเติมเบนซิน อันนี้อาจจะแย่น้อยกว่า เครื่องรุ่นใหม่ๆ ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร เพราะเขม่ามันยังไม่มาก แต่พอเครื่องเริ่มเก่า เขม่าเริ่มมา ฟังอาจจะดูดีนะ สารชะล้างเขม่าเกลี้ยงๆ แต่บางทีเขม่ามันก็เป็นตัว “อุดจุดรั่วไหลต่างๆ ในเครื่องยนต์” ก็มีบางคันไปเติมพวกสารชะล้าง ออกมาควันขาวก็มี พูดไปก็ยาว สรุปว่า “ไม่ควรเติมสลับ” ให้มันยุ่งยากหรอก แต่ถ้าเป็นน้ำมันเครื่องที่ “ยืนยัน” ชัดเจน ว่าสามารถใช้ได้ทั้งเบนซินและดีเซล อันนั้นถ้าอยากใช้ก็ตามสะดวกครับ แต่ถ้าจะเติมสลับชนิดไม่แนะนำครับ…
การใช้น้ำมันเครื่องให้เหมาะกับรถตัวเอง
พูดสั้นๆ ละกัน มันจะมีประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งวัน และทุกวัน รถกูจะใช้น้ำมันเบอร์ไหนดี เรื่องของเบอร์น้ำมัน ถ้าเป็นรถบ้านทั่วไป เครื่องเดิมๆ จะโมฯ นิดหน่อยไม่ว่ากัน แนะนำว่า “ใช้เบอร์ที่โรงงานผู้ผลิตกำหนด” จะดีที่สุด เพราะเขาเป็นคนออกแบบเครื่องยนต์ เขาจะรู้ว่าต้องใช้อะไรถึงจะดีที่สุด อันนี้บอกตรงๆ ว่าเจอคำถามนี้บ่อยมาก สรุปตามนั้นก็แล้วกัน ถ้าเครื่องโมดิฟายมา มีการเปลี่ยนชิ้นส่วนภายใน มีการประกอบเครื่องใหม่ นั่นก็อยู่ที่ “วิจารณญาณของผู้ทำเครื่อง” ว่า Clearance ขนาดนี้ เบอร์ไหนถึงจะเหมาะ ประกอบ Clearance ชิด ก็ใช้น้ำมันเบอร์ใสหน่อย ถ้าประกอบ Clearance ห่างขึ้นมาหน่อย ก็ใช้เบอร์หนืดอีกนิด อะไรประมาณนี้แหละ…
ประเด็นที่มีเยอะไม่แพ้กัน คือ “จะธรรมดา จะสังเคราะห์” อะไรถึงจะดี เอาง่ายๆ ถ้ารถบ้านขับทั่วไป ใช้น้ำมันเบอร์และเกรดตามที่แนะนำมา ถ้ารถไม่ได้เครื่องแรง ก็ใช้แบบธรรมดา หรือกึ่งสังเคราะห์ ยืดระยะเวลาการใช้มาอีกหน่อย จะไปเติมของแพงๆ มันก็ “เสียเงินโดยใช่เหตุ” แต่ถ้าเป็นรถสมรรถนะสูง แนะนำ “สังเคราะห์แท้” จะดีกว่า เพราะเครื่องพวกนี้มีความร้อนสูง การเสียดสีสูง ความร้อนก็สูงตามพลังงานที่มันผลิตได้ และขับกันโหดร้าย น้ำมันสังเคราะห์เกรดดี (ดีไทยนะ ไม่ใช่ดีด๊อก) จะช่วยรักษาเครื่องได้มากครับ อันนี้อย่าขี้เหนียว เคยเจอพวกเครื่องเทอร์โบ โมดิฟาย แต่ดันใช้น้ำมันเครื่องห่วยๆ แป๊บเดียวก็ลาโลกล่ะครับ…
น้ำมันเครื่องยิ่งหนืดยิ่งดี ตามความเชื่อที่ถูก……หรือเปล่า……
สรุปแบบจะจะกันเลยว่า “ไม่จริง” ตามความเชื่อของรถรุ่นเก่าล่ะใช่ น้ำมันเบอร์หนืดมันจะเหมาะสำหรับเครื่องรุ่นเก่า ที่มี Clearance มาก หรือเริ่มหลวม ใช้น้ำมันเครื่องหนืดๆ มันก็จะเข้าไปเป็น Film แทนที่ไอ้ช่องว่างได้เยอะ ก็ทำให้ชิ้นส่วนภายใน “ลอยตัวได้” (Floating) โดยไม่กระแทกกัน แต่กับเครื่องยนต์รุ่นใหม่ๆ เทคโนโลยีสูง โลหะที่ใช้ก็ยอดเยี่ยม มีความคงทนและแรงเสียดทานน้อยลง การใช้ Clearance จึง “น้อยมาก” จึงไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเครื่องเบอร์หนืดอีกต่อไป ปัจจุบันน้ำมันเครื่องเบอร์ใสถึง 20 หลายคนจึงกลัวว่าน้ำมันเครื่องใสจะทำให้เครื่องพัง แต่ถ้าคิดมุมกลับ เมื่อใช้น้ำมันหนืดเกินไป แน่นอนว่าเครื่องยนต์ต้องรับภาระสูง กลับทำให้แย่ลงในทุกด้าน สำคัญคือ “น้ำมันไม่สามารถวิ่งไปหล่อลื่นได้ทั่ว เพราะมันหนืดเกินกว่าที่จะแทรกตัวเข้าไปในระยะ Clearance ที่ชิดมากๆ ได้” ทำให้การหล่อลื่นแย่ลง และทำให้เครื่องพังได้ในที่สุด ระวังครับ ระวัง !!!
บทสรุป “ใช้ให้ถูกต้องจะดีที่สุด”
น้ำมันเครื่อง เป็นสิ่งใกล้ตัวคนใช้รถอย่างเรามากที่สุด จะไม่ซ่อมอะไร ยังไงเราก็ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเป็นเรื่องปกติทุกคัน เราจะต้องรู้ทันมัน ว่าแต่ละประเภทมันคืออะไร ไอ้จะดื้อเติมมันก็ได้ล่ะ เทๆ ลงไป แต่ความเป็นจริง มันจะเหมาะสมหรือเปล่าล่ะ เราก็ได้ทราบหน้าที่ของน้ำมันเครื่อง รวมไปถึงลักษณะต่างๆ รูปแบบ และการใช้งานที่แต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน อาจจะใช้แทนกันได้ในบางขณะ แต่ระยะยาวไม่รอด และความเชื่อต่างๆ ที่ยังผิดอยู่ ก็จะได้ทราบกันสักที ว่าน้ำมันเครื่องใน “อีกแง่มุมที่น่าสนใจ” เป็นอย่างไร จะได้ไม่โดนหลอก หรือใช้ผิดๆ จนเกิดการเสียหายที่ไม่น่าเลย…
- เครื่องยนต์ไม่ว่าจะบล็อกอะไร แรงแค่ไหน ก็ต้องมีน้ำมันเครื่องเป็นส่วนประกอบ เหมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงร่างกายเรานั่นเอง
- ชิ้นส่วนในเครื่องยนต์นั้นมีมากมาย น้ำมันเครื่องจะต้องทำหน้าที่หล่อลื่น และระบายความร้อนอีกด้วย นับว่าเป็นภาระหนักทีเดียว โดยเฉพาะพวกเครื่อง “ตัวจี๊ด” ทั้งหลาย
- หน้าตาเฟืองปั๊มน้ำมันเครื่อง มันจะขบกันแบบเยื้องศูนย์ เพื่อสร้างแรงดันน้ำมันเครื่องไปตามจุดต่างๆ ในเครื่อง ถ้าน้ำมันเครื่องผิดเบอร์ ใสเกินไป เกิดการเสียดสีมากจนร้อนจัด หรือหนืดเกินไปมากๆ ทำให้ปั๊มทำงานหนักผิดปกติ หรือน้ำมันแทรกตัวเข้าไปไม่เต็มหน้า ก็จะทำให้ปั๊มพังได้ทั้งสิ้น
- เครื่องยนต์สมัยโบราณใช้รอบต่ำ กำลังน้อย จึงใช้น้ำมันเครื่องเกรดต่ำ ตอนหลังเครื่องยนต์พัฒนาขึ้นมามาก น้ำมันเครื่องก็พัฒนาตามไปด้วย จึงต้องมีการเติมสาร Additive เพื่อเพิ่มคุณภาพ รวมไปถึงการใช้น้ำมันสังเคราะห์ขึ้นมาแทน
- สัญลักษณ์ที่บ่งบอกของน้ำมันเครื่อง ว่าเป็นมาตรฐานใด ต้องทราบความหมายมันคุณถึงจะเลือกได้อย่างถูกต้อง
- ตัวอย่างฉลากที่ดี ต้องมีบอกรายละเอียดที่ชัดเจนด้วย เช่น Fully Synthetic Motor Oil บอกเลยว่า “สังเคราะห์” หรือ For Gasoline Engine ก็บ่งชี้ชัดๆ เลยว่า สำหรับเครื่องยนต์เบนซิน
- นี่ก็แสดงกันชัดๆ คำว่า Semi Synthetic น้ำมันกึ่งสังเคราะห์
- เครื่องยนต์ดีเซล ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งการใช้งานและการโมดิฟาย จึงมีน้ำมันเครื่อง Fully Synthetic สำหรับรถดีเซลสมรรถนะสูงออกมาจำหน่าย ก็ต้องชี้ชัดไปแบบนี้เลย
- การบอก Range ความหนืดของน้ำมันเครื่อง ตัวเลขหน้า W ยิ่งต่ำ แสดงว่ายังคงความใสที่อุณหภูมิยิ่งต่ำลงไปด้วย แต่บ้านเราคงไม่มีผลเท่าไรนัก สนใจตัวหลังดีกว่าครับ
- เครื่องยนต์มี Clearance ต่างกัน ยิ่งรุ่นใหม่ยิ่งชิด มันจึงต้องการน้ำมันเครื่องที่ใส เพื่อที่น้ำมันจะเล็ดลอดเข้าไปในช่วง Clearance ชิดๆ นี้ได้ ถ้าน้ำมันหนืดมันก็จะไหลไม่เข้า
- ไม่ควรซื้อน้ำมันเครื่องที่มี “ข้อมูลไม่ชัดเจน” อ่านคลุมเครือ ยี่ห้อประหลาดๆ อ่านแล้วไม่ชัดเจนว่าเป็นประเภทไหนกันแน่ พวกนี้จะมีผู้ค้าขี้โกงมาขายอยู่เนืองๆ บางทีมาโล้นๆ แบบนี้เลย เคยเจออ้างว่าน้ำมันเป็นเกรดเดียวกับที่ผลิตส่งให้รายใหญ่นั่นนี่ อย่าไปซื้อครับ ถ้าไม่อยากเสี่ยงเครื่องพัง อาจจะไม่พังทันที แต่อนาคตอายุสั้นก็ไม่คุ้มแล้ว
- เวลาขับรถก็ควรจะสังเกตดูหน้าปัดบ้าง ถ้าหากมีไฟเตือนรูป “กาน้ำมันเครื่อง” ติดขึ้นมาตอนขับปกติ แสดงว่าระบบหล่อลื่นมีปัญหา อาจจะเกิดจากระดับน้ำมันเครื่องพร่องต่ำจนใกล้ขีดอันตราย หรือระบบมีการรั่วไหล ควรจะรีบหยุดรถและหาทางนำเข้าอู่ซ่อมให้เร็วที่สุด ถ้าฝืนขับต่อไปจะพังทั้งเครื่องได้ง่าย ต่อให้ใช้น้ำมันโคตรเทพก็ตามทีเถอะ
- การซื้อน้ำมันเครื่อง เพราะปัจจุบันค่อนข้างเสี่ยงต่อการเจอ “น้ำมันเครื่องปลอม” ที่ระบาดมาก และปลอม Package ได้เหมือนซะด้วย ดูได้ยากจริงๆ หรืออาจจะดูไม่ออก จะรู้ก็ต่อเมื่อน้ำมันเสื่อมสภาพเร็วผิดปกติ จะทำให้เครื่องยนต์เสียหาย ยังไงก็ใช้ Common Sense เลือกแหล่งซื้อไอ้ที่มันดูน่าเชื่อถือหน่อยก็แล้วกัน