Souped Up Special : XO 263 (Aor 77 Frame Fac)
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่ (TakeSnap)
วลี “Drag is Now” อุบัติขึ้นสำหรับ “ธรรมเนียมสายทางตรงสิ้นปี” ที่ตัวแรง Drag Car รวมถึง Dragster ที่สร้างกันขึ้นมาอย่างมากมาย เพื่อพิชิตเป้าหมาย “ล่า 6” ในรายการ Souped Up Thailand Records 2018 ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน (โดยไม่ต้องขอเวลา) ซึ่งดูเหมือนบรรยากาศในปีที่แล้วยังไม่จางหาย ของใหม่ก็ต้อง “มา” เรียกว่า “ช้าไม่ได้” ต้องรีบเตรียมทีมเตรียมรถให้พร้อมแต่เนิ่นๆ อย่าลืมนะครับ ว่า “จัดต่อเนื่องสัปดาห์เดียวจบ” จะต้อง “ไร้ข้ออ้าง” โดยสิ้นเชิง มีแต่คำว่า “พร้อม” และ “เร็ว” เท่านั้น ถึงจะ “ได้รับสิทธิ” ของรางวัลเกียรติยศ ฉบับก่อนหน้านี้ก็จัดเต็มในเรื่องของรถ Souped Up หลายรูปแบบกันไปแล้ว งั้นฉบับนี้เราขอ “พักสมอง” เรามาดูเรื่อง “เบาเบา” แต่ “ตื่นเต้น” กับของใหม่ที่กำลังจะเกิด…
- รวม Dragster & Super Max แบบ “แน่นอู่” ที่จะออกรบในงาน Souped Up ปลายปีนี้แน่นอน อยากเจอต้องไปชม !!!
AOR 77 “The Frame Builder”
แน่นอน และเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า บุคคลที่เล่นเส้นสาย ลวดลายรถ “โครงถัก” หรือที่เรียกกันว่า “รถเฟรม” หรือ “หน้ายาว” ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ก็ต้องผ่านมือ “เสี่ยอ๋อ” อนุสิทธิ์ อุดมพันธ์ กันแล้วทั้งสิ้น ไม่น่าเชื่อว่าจาก “สายรถซิ่ง” ทั่วไป ก้าวขึ้นมาจนสามารถสร้างรถระดับประเทศได้แล้ว เห็นการพัฒนาเรื่องชิ้นงานและความเรียบร้อยมาโดยตลอด เป็นสิ่งที่ทำให้ขึ้นสู่แนวหน้าของ Frame Builder ของไทยได้ และแล้ว…เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เราจะต้องไปบุกโรงงานเพื่อ “แล” ตัวแข่งคันใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โรงงานแห่งนี้ มาให้ท่านผู้ชมได้ “เบิ่ง” กัน ว่าตัวแรงในปลายปีนี้ มีคันไหน Surprise ท่านกันบ้าง…
- ข้ามพันธุ์ หันตรง “4G63” จับมา Swap ใน RX-7 บ้าบอคอห่านจริงๆ แต่ถ้าบล็อก 4 เม็ด ตอนนี้คงไม่มีอะไรเหมาะไปกว่ามันแล้วนะ ผมว่า
- เทอร์โบ PRECISION สำหรับปั่นแรงม้าในระดับ 1,000 hp
- ตำแหน่งเครื่องจะอยู่สูงกว่าเดิมอย่างมาก เรียกว่า “ทะลุฝากระโปรง” กันเลย แต่ก็จำเป็น เพราะเราต้องยึดตำแหน่งเพลากลางกับเฟืองท้ายเป็นหลัก เพื่อที่จะทำให้เพลากลาง “ตรง” ที่สุด เพื่อการส่งกำลังที่สมบูรณ์สูงสุด
- นอกใจ “โร” เสียแล้ว
- ท่อร่วมไอดี รางหัวฉีด ก็ยังศรัทธา PRO-BILLET ENGINEERING งานสวยดีจริงๆ
- พวกหัว “ฟิตติ้ง” (Fitting) จริงๆ แล้วเป็นข้อต่อที่ “ดีที่สุด” มาแทนในแบบ “เข็มขัดรัด” หรือ Pro Clamp ที่นิยมกันสมัยก่อน จริงๆ หัว Fitting มีมานานมาแล้ว ซึ่งแต่ก่อนมีราคาแพงมาก เพราะเป็นของที่ใช้กับ “อากาศยาน” และนำมาปรับปรุงใช้กับรถยนต์โมดิฟายสเตจสูงๆ ตอนหลังเริ่มมีทำกันแพร่หลาย ของดี ราคากันเอง เลยนิยมกัน เพราะ “สวยและดี” ไอ้เรื่องดีก็คือ การ “ขันหัวต่อ” ด้านในจะมี “ตาไก่” และ “เทเปอร์” พวกนี้จะช่วย “กันรั่ว” ได้ดีกว่า Pro Clamp ที่เป็นระบบเก่า เหมาะสำหรับข้อต่อที่ต้องรองรับแรงดันสูง
- Safety Net ที่ Souped Up บังคับ และต้องติดตั้งกับ “โรลบาร์” ห้ามติดตั้งกับประตูรถ เพราะถ้าเกิด “เหตุ” ประตูรถ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไฟเบอร์) ก็จะหลุดออกไป เน็ตก็จะหลุดตามไปด้วย ป้องกันอะไรไม่ได้ จึงต้องติดตั้งกับโรลบาร์ จะได้ป้องกันแขนคนขับไม่ให้หลุดออกไปนอกตัวรถ
- พวงมาลัย GRANT ยอดฮิต สไตล์ Drag แต่คอเป็นของ STRANGE
ยืนยันว่า “มิติเดิม” ตัวถังยังเป็นเหล็กของเดิมอยู่เลย ถ้ามองแค่นี้ นึกว่าพวกรถ Back Half รุ่น PRO 4 แต่จริงๆ เฟรมเต็มระบบครับ
RX-7 Stock Size Frame Swap EVO Motor
จากปีที่แล้ว เราจะเห็นรถเฟรมในรุ่น Super Max คันหนึ่ง เป็น MAZDA RX-7 FD ที่บอดี้มาเดิมๆ จนหลายคนคิดว่ามันเป็นรถรุ่น PRO 4 แต่จริงๆ แล้ว “เฟรมเต็มระบบ” เพียงแต่อยู่ใน “พิกัดมิติบอดี้เดิม” ก็นับว่าแปลกดีเหมือนกัน เพราะปกติแล้วถ้าจะมาท่านี้ก็จะไม่อิงของเดิมกัน เราก็ว่ามัน “เท่ดี” และ “ไม่ง่าย” เหมือนเฟรมทั่วไปที่ทำตาม Plan แล้วจะไปครอบบอดี้อะไรก็แล้วแต่ศรัทธา แต่นี่มันโดนบังคับด้วยมิติตัวรถเดิม เลยมีโจทย์ “บีบ” ให้ทำตามนั้น ปีที่แล้วคันนี้วิ่งด้วยเครื่อง 13B-REW แต่ในปีนี้ เล่นสาย Swap ด้วยการ “วาร์ป” เครื่องยนต์ 4G63 จาก MITSUBISHI EVOLUTION ที่เป็นบล็อกแรงยอดฮิตในพิกัด “สี่เม็ด” ที่ทำแรงม้าได้หลุดโลกสุดๆ ณ ตอนนี้ ก็เลยเลือกเอามาวางแทน 13B-REW การโมดิฟายตอนนี้ยังไม่เปิดเผย เอาไว้ “ลองเชิง” เซตรถกันก่อน แต่ที่แน่ๆ ถ้าลงตัวก็ต้องมี “พันม้า” แน่ๆ คำถามว่าทำไมไม่ “สองเจ” ก็ได้รับคำตอบว่า มัน “หนักเกินไป” เพราะช่วงล้อมันสั้น เอา 4G ดีกว่า “แรงกำลังดี” และ “บาลานซ์ง่าย” กะเวลาเห็น “8” ก่อนก็เอาแล้ว ขอให้สมบูรณ์ก่อน แล้วค่อยกระเถิบเข้าหา “7” ไป ก็ไม่ใช่เรื่องยาก…
Tips
< สำหรับการวางเครื่อง 4G63 ลงไป จะสังเกตเบื้องต้นได้ว่า ตำแหน่งเครื่องจะอยู่ค่อนข้าง “สูง” กว่าเครื่อง 13B ก็แน่นอน เพราะยังไงเครื่องลูกสูบก็ต้องสูงกว่า “โร” อยู่แล้ว มันมีข้อเหวี่ยง มีฝาสูบ ซึ่งเครื่องโรตารี่ไม่มีเลย ถามว่าแล้ววางเครื่องต่ำกว่านี้ได้ไหม จริงๆ แล้ว ไม่น่ายาก เพราะสามารถใช้ระบบ Dry Sump ได้อยู่แล้ว แต่ว่าที่กดมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะต้องดูในเรื่องของ “ระดับเพลากลาง” ที่จะต้อง “ตรง” และ “ขนานพื้น” ที่สุด จาก “ปลายเกียร์” มายัง “หน้าแปลนเฟืองท้าย” เพื่อการส่งกำลังที่สมบูรณ์ ถ้าไปวางเครื่องต่ำจนเพลากลางไม่ได้ระดับ จะเกิดการ “งัด” ส่งกำลังได้ไม่ดี และ “เสี่ยงกระจาย” ตรงนี้ต้องคำนึงดีๆ โดยเฉพาะรถที่ใช้ระบบช่วงล่างหลังแบบ 4 Links + คานแข็ง ที่เฟืองท้ายมันติดกับเพลา ไม่สามารถย้ายตำแหน่งได้เหมือนช่วงล่างแบบอิสระ จึงต้องยึดถือตำแหน่งหน้าแปลนเฟืองท้ายเป็นหลัก…
< ส่วน “หัวรถ” ก็ต้องทำใหม่ให้สูงกว่าเดิม เพื่อที่จะครอบลงไปกับเครื่อง 4G63 ได้ เพราะของเดิมออกแบบมาสำหรับเครื่อง 13B ที่เตี้ยมาก มันคือข้อได้เปรียบของ RX-7 ที่ “หน้าเตี้ย ลู่ลม” แต่พอมาทรงนี้ ก็ต้องทำหัวให้สูงขึ้น แล้วก็ออกแบบด้านหน้าแถวๆ กันชน แก้ทรงให้มันเพรียวลมเหมือนเดิม…
- Dragster ดีเซล “เอ๋ เทอร์โบ” นครปฐม
- เทอร์โบตัวที่ 2 เป็นตัว “กำลัง”
- เทอร์โบตัวที่ 1 เป็นตัวตั้งต้น คอยรับกำลังจากตัวที่ 2 แล้ว “ทวีบูสต์” ขึ้นไปในรูปแบบของ Compound Turbo ไม่ใช่ Sequential เพราะมันทำงานไปด้วยกัน ไม่ได้เรียงลำดับ
Diesel Dragster “เอ๋ เทอร์โบ” สองหอย
Dragster อีกคันที่จอด “หอยคู่ชูช่อ” ก็จะเป็นของ “เอ๋ เทอร์โบ” นครปฐม ที่หันมาเล่นกับ Dragster เป็นคันแรกและครั้งแรกในปีนี้ เรียกว่าจะ “ยืนตำแหน่ง” ก็อยู่เฉยไม่ได้เสียแล้ว “ของมันต้องมี” คันนี้ก็ใช้เครื่อง 4JJ1-TCX ยอดฮิต (แหม นึกว่าจะ Surprise ด้วยเครื่อง 1KD-FTV จาก TOYOTA ของถนัดของ เอ๋ เทอร์โบ) โมดิฟายเต็มพิกัด ด้วยไส้ใน MRX ส่วนอื่นๆ ขออุบไว้ก่อน เพราะเครื่องจริงๆ มันไม่ยากอะไรนัก ทำกันประจำอยู่แล้ว ส่วนการติดตั้งเทอร์โบ ตำแหน่งจะแปลกๆ หน่อย อันนี้เป็นดีไซน์ของ เอ๋ เทอร์โบ ที่ต้องการแบบนี้…
Tips
< แบบนี้ก็คือ ทวินเทอร์โบแบบ “Compound” ที่เคยพูดถึงไปแล้ว (ลองไปอ่านย้อนดูเล่ม 261 ไม่ลงซ้ำละนะ) ถ้าสังเกตในรูปดีๆ จะเห็นได้ว่า เทอร์โบจะ “หันกันคนละด้าน” ตัวที่หันมาท้ายรถ ก็คือ “ตัวที่ 1” ปากเทอร์โบจะรับลมจาก “ตัวที่ 2” ตัวนี้แหละจะดูดอากาศจากภายนอก ก็เลยต้องหันปากไปหน้ารถ เพื่อรับลมเข้าเทอร์โบเต็มๆ…
- ขุมพลังใน Blue Devil สวยด้วยงาน CNC Billet
- ถังบรรจุน้ำมันเครื่อง จากระบบ Dry Sump พออยู่สูง มันจึงเป็นการ “ไหลลง” ยังไงก็ไม่ขาดตอนเหมือนกับเดิมๆ ที่เป็นการ “ดูดขึ้น” ที่มีโอกาสน้ำมันขาดตอนเวลากระฉอกแรงๆ
- เพลาท้ายและเบรก MARK WILLIAMS MODULAR ที่เป็น “ตัวท็อป” งานสวยอลังการ
- ตัว “หัวหมู” หรือ Bell Housing เป็นของ TRICK TITANIUM ที่แข็งแรง ป้องกันเศษส่วนของเหล่าฟลายวีลหรือชุดคลัตช์กระเด็นออกมาทักทายข้างนอก
2JZ Dragster “Blue Devil”
คันนี้เป็นของลูกค้าจากทาง “ปอนด์เทค” มาให้จัดการสร้างอย่างอลังการ คันนี้จะ “จัดหนัก” ในด้านอุปกรณ์ เพื่อความชัวร์ในการแข่งขัน เครื่องยนต์ 2JZ-GTE ขยายความจุ 3.4 ลิตร ด้วยไส้ในจาก “แผ่นดินใหญ่” แต่ก็ใช้ได้เหมือนกัน เพราะ “ลองแล้ว” เทอร์โบเป็นของ PRECISION PRO MOD 88 รุ่นใหญ่สุด ส่วนท่อไอดีและชุดลิ้น งาน CNC ทั้งหมด จาก PRO-BILLET ENGINEERING เงางามวับวาวจับใจ ระบบ Dry Sump จาก PETERSON FLUID SYSTEMS เพื่อความชัวร์ในการปั่นน้ำมันเครื่องหล่อเลี้ยงในรอบสูง เสี่ยอ๋อ เคลมแรงม้าไว้ระดับ 1,600-1,700 PS ได้แน่ๆ ไม่ได้สิแปลก ส่วนระบบจุดระเบิด และจอแสดงผล รวมถึง กล่อง ECU เป็นแบรนด์ FUELTECH ทั้งหมด จูนโดย “อุป จูนเนอร์” ส่วนระบบส่งกำลัง เป็นเกียร์ Air Shift จาก LIBERTY ส่วน “หัวหมู” เป็นของ TRICK TITANIUM โคตรเซฟตี้ ป้องกันเวลา “ฟลายวีลกระจาย” เศษชิ้นส่วนจะได้ไม่บินออกมาทักทายคนดู ตบตูดด้วยเพลาท้ายและเฟืองท้ายชั้นเลิศจาก MARK WILLIAMS จ้ะ…
Tips
< สำหรับ Dragster คันนี้ จะใช้ระบบหล่อลื่นแบบ Dry Sump ซึ่งเป็นข้อดีเวลารถมีแรง G สูงๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำมันเครื่อง “ขาดตอน” เหมือนแคร็งค์ปกติที่ใช้การ “ดูด” จากฝักบัว เพราะถังเก็บน้ำมันเครื่องจะอยู่สูง ยังไงมันก็ไหลลงข้างล่างแน่ๆ และลดปัญหาเรื่อง “ปั๊มแตก” เพราะมันแยกออกมาข้างนอก ใช้สายพานขับ ไม่เหมือนกับปั๊มเดิมที่เสียบกับข้อเหวี่ยง เวลารอบสูงๆ เกิดการสั่น ก็เสี่ยง “ปั๊มแตก” ได้…
- สำหรับหน้ายาวคันเขียว เครื่องเหมือนกับคันน้ำเงิน แต่ต่างกันที่เทอร์โบ เป็น GARRETT GTX Series
2JZ Dragster “Green Hulk”
อีกคันหนึ่งที่มาสไตล์ “หน้ายาว สองเจ” ยอดฮิต คันนี้เป็นของลูกค้า เสี่ยอ๋อ 77 เอง สเต็ปในการทำก็จะคล้ายๆ กัน โดยเป็นเครื่อง 2JZ เปิดไส้ 3.4 ลิตร ด้วยผลิตภัณฑ์จากแผ่นดินใหญ่เหมือนกัน เทอร์โบ GARRETT GTX Series ส่วนท่อไอดีและชุดลิ้น งาน CNC ทั้งหมด จาก PRO-BILLET ENGINEERING แรงม้าก็ 1,600-1,700 PS เป็นมาตรฐานของ Dragster ระบบส่งกำลัง เกียร์ Air Shifter จาก LIBERTY ส่วนเพลาท้าย จาก STRANGE ส่วนระบบควบคุม เป็น HALTECH ทั้งหมด…
Tips
< คันนี้ใช้ “ปั๊มเชื้อเพลิงแบบกลไก” ใช้สายพานขับจากข้อเหวี่ยง มาแทน “ปั๊มติ๊ก” ที่ใช้ไฟฟ้า ก็ Back to Basic เหมือนยุคคลาสสิก พวกปั๊ม AC ซึ่งปั๊มกลไกจะดีอย่างเรื่อง “แรงดันไปตามรอบเครื่องและไม่ตก” เพราะมันหมุนไปตามเครื่องเลย รอบสูงมันก็ปั๊มแรงจนถึงที่เราตั้งไว้มันก็จะ Release ส่วนเกินออก ทำให้แรงดันไม่สูงมากเกินไป ส่วนปั๊มติ๊กไฟฟ้า โอกาสที่จะ “แรงดันถอย” จากกระแสไฟที่ตก หรือการเสื่อมสภาพของตัวมันเอง จึงต้องตรวจเช็กสภาพอย่างสม่ำเสมอ จะได้ไม่เกิดปัญหาแรงดันเชื้อเพลิงตก ทำให้เครื่องพังได้…
- R32 Spaceframe คันแรกในชีวิตของ “แจ็ค VJ” และเป็นเฟรมบอดี้ R32 คันแรกในเมืองไทย สาเหตุที่คนไม่นิยมเอาทำบอดี้นี้ ก็เพราะว่าทรงรถมันลู่ลมสู้ SUPRA ไม่ได้ เพราะมันคือรถแบบ GT แต่ที่ทำเพราะ “นิยม” ส่วนตัว
Godzilla Bone R32 “VJ WORKSHOP”
คันแรกในไทย และ “แปลกสุดในไทย” เช่นกัน จากไอเดียของ VJ WORKSHOP หรือ “แจ็ค” วรพจน์ ลำกะ ที่มีความชอบและถนัดกับ SKYLINE R32 กับเครื่องยนต์ RB26DETT มานาน โดยปกติก็จะแข่งในรุ่น SUPER 6 4WD เป็นหลัก แต่ถ้าจะ “ยืน Top Ten” เหมือนกับพี่ชาย VER TECHNICAL ที่สร้าง R35 Spaceframe ขึ้นมา ก็จำต้องทำ “สู้” โดยการสั่งสร้างเฟรม R32 ขึ้นมาเลย เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของ Stock Body และต่อยอดได้มากกว่า แต่จะวาง 2JZ มันก็เหมือนคนอื่นน่ะสิ เจ้าตัวเลยทำตามความฝัน คือ ยังคงใช้บล็อก RB ตรงบอดี้ แต่ใช้ท่อนล่างเป็น “RB30E” สไตล์ “ออสซี่” ที่เป็นเครื่อง 3.0 ลิตร แต่อยู่ในบอดี้ HOLDEN COMMORDORE VL กับ SKYLINE R31 สเป็กออสเตรเลีย ประกบฝา RB26DETT จนเป็น RB30DETT แนวเพิ่มความจุ เพิ่มแรงบิด เพื่ออัตราเร่งอันรุนแรง ไว้รอเสร็จเรียบร้อย “รออ่าน” ได้เลย…
Tips
< คันนี้ตอนสร้างก็ยกเครื่อง RB30E ที่ประกบฝา RB26DETT มาวางเป็น “ตัวแบบ” เลย เพราะเครื่อง RB30E จะมีส่วนสูงของท่อนล่างมากกว่า RB26DETT ประมาณ “นิ้วครึ่ง” คนละเรื่องกันเลยหนา เพราะข้อเหวี่ยงยาวขึ้น จาก 73.7 มม. เป็น 85.0 มม. มีความสำคัญว่า “ต้องการวางตำแหน่งที่เป๊ะๆ” เพราะมันมีผลหลายอย่าง เช่น การวางตำแหน่งเทอร์โบ ท่อทางต่างๆ และอีกมากมาย เพราะถ้าไม่เอาเครื่องจริงที่จะใช้มา ด้วยความสูงที่ผิดกัน ต่อให้ไม่มากก็ “เป็นเรื่อง” เพราะท่อต่างๆ มันจะใส่ไม่ได้เลย ดูจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ต้องละเอียดตั้งแต่วางแผนเลยนะครับ…
< สำหรับเครื่องที่ แจ็ค มองอยู่ ก็จะเป็นเสื้อสูบ RB30E แบบ “Billet” ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการแข่งขันเลย สามารถบูสต์ได้โหดๆ กว่าเสื้อเหล็กหล่อ Stock เยอะ แต่ก็ยังดูเรื่องราคากันอยู่ เพราะเสื้อ Billet ราคาเอาเรื่องเหมือนกัน อยู่ที่ “สามแสนฝ่า” (เสื้ออย่างเดียวนะฮะ) ก็เลยชั่งใจอยู่หรือจะยอมใช้เสื้อเดิม…
< คันนี้สร้างเป็น “ขับสอง” หลายคนคงสงสัยว่า ทำเป็นบอดี้ R32 แล้ว ทำไมไม่ทำขับสี่ล่ะ ??? มันก็มีเหตุผลครับ “รถขับสี่ไม่ได้เปรียบขับสองแล้วในยุคสมัยนี้” สมัยก่อนที่ Track ยังไม่ดี อย่างยุคแรกเริ่ม ตอนนั้นสนามก็ยังใช้เป็น “เฉพาะกิจ” ไม่ได้สร้างเป็นสนาม Drag เต็มระบบเหมือนเดี๋ยวนี้ และยังไม่มี Track Coating มันจึง “ลื่น” รถขับสี่จึงได้เปรียบมากในเวลาออกตัว แต่ตอนนี้ Track ดี มี Coating เหนียวๆ มียางดีๆ ช่วงล่างดีๆ ใช้ มีการเบิร์นยางที่ถูกต้อง หลายสิ่งอย่างมันช่วยทำให้รถขับสองนั้น “กลับมาได้เปรียบ” เพราะ “โหลดน้อยกว่า” จะเห็นได้ว่าเวลาที่วิ่งๆ กัน ก็ไม่ได้เป็นรองขับสี่เลย จึงทำแค่ขับสองก็พอ ต้นทุนต่ำกว่าเยอะเลย…
< ตัวถังยังใช้ชิ้นส่วนเป็น “เหล็ก” เดิมๆ จากโรงงานทั้งสิ้น นำมาลดน้ำหนักในส่วนที่พอจะลดได้ แล้วมาครอบเฟรม เพราะส่วนตัว แจ็ค ไม่ชอบไฟเบอร์เต็มลำ เพราะดูมัน “ก๊อบแก๊บ” ยังไงไม่รู้ ยังอยากให้มันดูเป็นรถ Sleeper หรือ “หมกใน” นั่นแล…
- มันออกมาต้องเท่แน่ๆ RX-3 SUPER MAX Retro
- ซุ้มล้อทำสูงแทบจะถึงหลังคา เพราะหมอบตัวรถเตี้ย และใส่ยางหลังใหญ่
SAVANNA RX-3 Retro Machine “P&C GARAGE”
คันนี้ได้ข่าวมานานแล้วก็ “น่าสนมาก” เรียกว่าเป็นสไตล์ “ออสซี่” และ “กีวี” (นิวซีแลนด์) ที่บ้าเล่นกับรถ Retro โดยเฉพาะค่าย MAZDA ยอดฮิตก็ต้อง SAVANNA RX-3 ที่เหมือนเป็น Tradition ของประเทศไปแล้ว และแน่นอนว่า คนหนึ่งที่เป็นสาย “โร” และ “เรโทร” นั่นก็คือ “ชายหน้าหวาน” หรือ “พี่ใหม่” P&C GARAGE ที่คลั่งไคล้ RX-3 เป็นพิเศษ เลยสั่งทำเฟรมมาครอบบอดี้เหล็กเดิมๆ แถมยังแหวกแนว เพราะเป็น “4 ประตู” ที่ปกติจะชอบทำ 2 ประตูกัน ก็ยังลุ้นๆ ตอนแรกเลยว่าจะหา “แวน” มาทำได้ไหม ถ้าได้คงโคตรหล่อน่าดู สำหรับการโมดิฟาย ก็ยังคงใช้พื้นฐานเครื่อง 13B-REW โมดิฟายเต็มพิกัดตามสูตร P&C GARAGE ซึ่งก็แน่นอน ว่ามันย่อม “ไม่ธรรมดา” หลายคนอาจจะ “ถามหา 3 โร” ก็ไม่แน่ อาจจะเป็น “แผนสอง” แต่ส่วนตัวว่า 2 โรเตอร์ กับรถบอดี้เล็กๆ ช่วงล้อสั้นๆ ขนาดนี้ มันก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะมิติตัวรถก็ยังเดิมทั้งหมด ไว้เสร็จแล้วอย่างที่บอก “เจอกันในเล่ม” แน่นอน…
Tips
< ตอนนี้กระแสรถ Drag Spaceframe ที่ “กำลังมา” อีกแบบหนึ่ง ก็จะเป็นแนว “บอดี้เดิมครอบเฟรมเต็มระบบ” โดยปกติก็จะสร้างบอดี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่อันนี้จะแนวๆ รถ 90 หรือ Retro ที่ยังเสียดายรูปทรงดั้งเดิมของมัน ก็เลยทำออกมาแบบนี้ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสาย “ออสซี่ + กีวี” ที่นิยมเล่นรถย้อนยุคทั้งหลาย ก็อยากจะให้มันดูภายนอกเดิมๆ แนว Sleeper แต่ด้านในสร้างเป็น Spaceframe หรือ “สอดไส้” ก็เป็นอีกแนวที่น่าสนใจ และเริ่มทำกันบ้างแล้วในเมืองไทย…
< คันนี้เรียกว่า “สุดหมอบโคตรซุก” บอดี้ภายนอกไม่ได้ตัดแต่งอะไรเลย เพราะต้องการความเป็น Retro อย่างสูงสุด สไตล์ “ชายหน้าหวาน” ที่รักรถแนวนี้เข้าไส้ ส่วน “ล้อหลัง” นั้น ก็ต้องซุกกันสุดๆ จนแทบจะไม่เห็นกระทะล้อเลย เพราะล้อและยางใหญ่ แต่ตัวรถมีขนาดเล็ก ต้องเลื่อนซุ้มล้อสูงไปเกือบถึงหลังคา อันนี้ก็จะต้อง “เลือกขนาดล้อและยางที่ต้องการก่อนอย่างอื่น” แล้วก็มาวางดู Center ของเพลา ดู Fitment ให้แน่นอน ขึ้นเฟรมก่อนแล้วจึง “ขึ้น 4 Links” โดยอิงจากตำแหน่งล้อ ก็จะได้ตรงตามที่เราต้องการ…
- เวอร์ชันใหม่มาแรง “กระบะสวนส้ม” ลงมาหวดกันอีกรอบ
- สังเกตดูครับ ริมขอบลิ้นจะ “เหลา” เหมือนใบมีด ทำให้อากาศไหลแหวกเข้าไปได้ ถ้าเป็นสันทื่อๆ อากาศจะวิ่งชนและผันผวนอย่างที่บอกไป
กระบะสวนส้ม Ver.2 by สวนส้มสุรชัย
หลังจากที่ตัดสินใจปลดระวาง “กระบะสวนส้ม” ในบอดี้ “มังกรทอง TFR” คันเดิมในตำนานไปเรียบร้อย ซึ่งความคิดเห็นส่วนตัวก็น่าจะ “เก็บมันไว้ให้ดีที่สุด” เพราะรถคันนี้มัน “สร้างชื่อเสียง” ให้กับ “แก๊งสวนส้มสุรชัย” มาตลอดชีวิต เรียกว่าถ้าจะ “ไปต่อ” ก็ขอเอาแค่ “จิตวิญญาณ” มันมาก็พอ แล้วมาใส่ “โครงร่างใหม่” ที่กำลังจะ Built เป็นรูปเป็นร่างในอีกไม่นานนี้ โดยใช้บอดี้ของ All New D-MAX ตามสมัยนิยม แต่จริงๆ อยากให้เป็นบอดี้ TFR เหมือนเดิม แต่อาจจะเสียเปรียบในด้านของ Aero Dynamic อยู่บ้าง ก็เข้าใจได้ว่าทำไมถึงเปลี่ยนทรงบอดี้เป็น All New D-MAX ส่วนเครื่องยนต์ ช่วงล่าง เกียร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ย้ายมาจาก TFR คันเดิม มาเติมใส่คันนี้ และ “อัปเกรด” บางรายการให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ต้องรอ Coming Soon อย่างเดียว ถึงจะ “รู้เฟือง” เร็วๆ นี้นะจ๊ะ…
Tips
< นับว่าโชคดีที่คันนี้ “เปลือยลิ้น” ให้เราเห็น จากการที่ใช้ท่อร่วมไอดีและลิ้นเร่งของ PRO-BILLET ENGINEERING พอสังเกตเห็น “ลิ้นเร่ง” จะมีการ “เหลาริมด้านรับลมเป็นแบบใบมีด” ไม่ใช่เป็นแผ่นทื่อๆ เหมือนปกติ เนื่องจากต้องการให้เป็น “Aero Dynamic” เวลาลิ้นเปิดสุด ถ้าเป็นแผ่นปกติ สันของลิ้นจะ “หนา” ทำให้อากาศ “วิ่งชน” และ “เกิดการผันผวน” ซึ่งมีส่วนสำคัญมากในขณะเกิดแรงดันบูสต์มหานรก ทางผู้ผลิตก็เลยแก้ทรงใหม่ ทำให้มันเป็นใบมีดซะ อากาศวิ่งมาจะได้ไม่ชนและไหลแยกสองฝั่งหลบแกนกลางลิ้นไปอีกด้วย ก็จะเกิดการไหลที่สมบูรณ์แบบกว่า…
Special Thanks
AOR 77 SHOP : Facebook/Anusit Udompun, Tel. 08-0070-4781