World Premiere !!! Bird Lak Ha Run for Thailand (Part I)

 

เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี  / ภาพ : ธัญญนนท์ แสงภู่, พงศกร พรามแม่กลอง  

World Premiere !!!

Bird Lak Ha Run for Thailand

            “ไอหยา เบิร์ด หลักห้า ชบา Drag Racing” สโลแกนนี้สร้างงานใหญ่ ร่วมมือกับ Drag Master, ECU=SHOP, GOOH Genuine Part, Best เทอร์โบยำ และ Note & Nat Used Car จัดเฟรมคันใหม่ ไป “อเมริกา” ให้ฝรั่งฉงน คนไทยทำอะไรกันวะ เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 3.0 ลิตร ท่ามกลางเหล่าดีเซล Big Block มหากาฬของฝั่งอเมริกา ไม่พูดกันมากนะครับ งานนี้ไปเพื่อ “โชว์ฝีมือ” โดยแท้จริง ด้วยการ Solo Run ในรายการแข่งขัน NHRDA (National Hot Rod Diesel Association) World Finals ณ สนาม Texas Motorplex เมือง Ennis, Texas ในวันที่ 27-28 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเราต้องยอมฝ่าฟันเหล่าเจ้าถิ่น ที่เขาก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน แต่สิ่งที่เราไปนี้เพื่อ “เก็บเกี่ยวประสบการณ์” มากกว่าจะมุ่งหวังชัยชนะเพียงอย่างเดียว อย่างน้อยก็ได้ประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า “คนไทยสามารถทำรถที่เร็วและได้มาตรฐานสากล” ที่เราอยากจะกล่าวถึงมากที่สุดใน Souped up Special ฉบับนี้…

New frame for NHRDA SFI requirement

รถคันนี้ ไม่ใช่คันเฟรมที่เคยได้อันดับ 3 Over All ในงาน Souped up Thailand Records 2012 แม้จะสร้างมาอย่างดีแล้ว แต่พอจะไปวิ่งที่อเมริกา กลับไม่ผ่านตามมาตรฐานความปลอดภัย หรือ SFI (เทียบเท่ากับ FIA ของฝรั่งเศส) ของ NHRDA ที่แจ้งความประสงค์ (Requirement) ว่าต้องเป็นแบบไหน ซึ่งแต่ละข้อเขาจะมีเหตุผลรองรับเสมอ การแก้ไขไม่มี มีหนทางเดียว คือ “สร้างคันใหม่” ให้ได้ตามกฎเท่านั้น ภายในเวลาเดือนเศษๆ บีบหัวใจทีมงานน่าดู สำหรับการสร้างรถเพื่อให้ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทีมงานได้ความรู้มากมาย เพื่อเป็นมาตรฐานการสร้างรถในอนาคตต่อไป สิ่งที่ผมได้ตั้งใจจะถามทีมงาน  คือ “เรื่องของความปลอดภัย” ที่คนไทยส่วนใหญ่ละเลย สำหรับในอเมริกา ที่เป็นเจ้าแห่งความปลอดภัย โดยเฉพาะในรถ Drag ที่เป็นต้นตำรับ มีรายละเอียดที่ “โคตรน่าสนใจ” ดังนี้…

All new tube frame

สำหรับเฟรม คันนี้จะต้องสร้างใหม่ โดยฝีมือของ “อาแดง Drag Master” ซึ่งมีงานเข้านิดหน่อย เพราะทางอเมริกาได้กำหนดเกี่ยวกับโครงสร้าง (Chassis Certificate) ขนาดท่อที่จะนำมาขึ้นเฟรมนั้น กำหนดเป็นหน่วย “นิ้ว” แต่บ้านเรามีแต่หน่วย “มิลลิเมตร” จึงต้อง Convert หน่วยเอาเอง โดยเลือกใช้ท่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (Diameter) วัดจากรอบนอก ประมาณ “42.2 มม.” ถ้าวัดเป็นนิ้ว ก็ประมาณ 1.66 นิ้ว ใหญ่กว่าที่กฎบังคับไปอีกหน่อย ความหนาไม่ต่ำกว่า “3 มม.” (เฟรมคันก่อน หนาเพียง 2 มม.) ถ้าจะ 2 มม. ต้องเป็น Chromoly เท่านั้น ซึ่งเราหา ณ ตอนนั้นไม่ทัน จึงต้องยอมใช้  Mild Steel Frame ไป โดยยอมแบกน้ำหนักเพิ่ม และทำเครื่องแรงขึ้นเพื่อชดเชยให้แรงม้าต่อน้ำหนัก (Power weight ratio) กลับมาเท่าเดิม สำหรับตำแหน่งการเดินเฟรม ทาง NHRDA จะมี Plan ต้นแบบมาให้เราดู แล้วก็สร้างจุดยึดตามนั้น ส่วนทรวดทรงก็แล้วแต่เราจะต้องการ และขณะที่กำลังสร้าง ก็ต้องส่งรูปถ่ายกลับไปให้ทาง NHRDA พิจารณาด้วยว่าถูกต้องตามกติกาหรือไม่ เป็นเรื่องที่เข้มงวดกันสุดๆ ใช้เวลาในการสร้างเฟรมอยู่ที่ 1 เดือน 4 วัน พร้อมประกอบ น้ำหนักรวมคนขับตอนนี้อยู่ที่ “1,200 กก.” ซึ่งหนักไปหน่อย แต่ถ้าเป็นโครโมลี ก็น่าจะลดน้ำหนักได้ถึง “1,050 กก.” ซึ่งทำให้รถทำเวลาเร็วขึ้นอีกพอควร…

TIG welding on frame

ส่วนการเชื่อม ก็ไม่ใช่เชื่อมปกติ จะมีข้อบังคับไว้ว่า จะต้องเชื่อมเป็นแบบ TIG welding (ผมจะพยายามหาข้อมูลแปลพอสังเขปก็แล้วกัน ละเอียดเกิน เดี๋ยวจะทะลุหน้าซะ) คำว่า TIG ย่อมาจาก Tungsten inert gas หรือจะเรียกอีกอย่างว่า GTAW (Gas tungsten arc welding) ก็ได้ จริงๆ แล้วมันก็คือ “การเชื่อมอาร์กอน” นั่นเอง โดยการใช้หัวเชื่อมที่มีแท่ง “ทังสเตน” ด้านใน คอยปล่อยประจุให้ลวดเชื่อมละลายติดกับโลหะที่เราต้องการจะเชื่อมติด หัวเชื่อมจะคุมบริเวณรอยเชื่อมด้วยแก๊สเฉื่อย (อะไรก็ไม่รู้) เพื่อทำให้รอยเชื่อมออกมาเป็น “เกล็ดกลม” อย่างที่เราเห็นในการเชื่อมพวกอะลูมิเนียมหรือสเตนเลสนั่นเอง (อ้างอิง : Wikipedia)

Driver roll cage

ในตำแหน่งคนขับ จะต้องมี Roll Cage เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง (Fatal Accident) อาจจะเคยผ่านตามาแล้วในรถเฟรมบ้านเรา แต่กฎของ NHRDA จะมีข้อบังคับที่เหนือไปกว่านั้น คือ Roll Cage ส่วนนี้ จะต้อง “ยื่นออกมาเกินกว่าแนวหน้าสุดของหมวกกันน็อก” งงไหมครับ ??? พูดง่ายๆ เมื่อเราให้คนขับไปนั่งในรถ สวมหมวกกันน็อก แล้วเรามองจากทางด้านข้าง Driver Roll Cage จะต้อง “บังให้มิด” ห้ามมีส่วนหน้าของหมวกกันน็อกเลยพ้นออกมา เรามองไปจะไม่เห็นว่ามีคนขับอยู่ ตรงนี้เป็นการป้องกันในส่วนศีรษะ เมื่อรถคว่ำ (Roll Over) อย่างรุนแรง ศีรษะของคนขับจะต้องอยู่ด้านใน ไม่แกว่งออกมาด้านนอก Roll Cage ถ้าคิดกันในจังหวะที่รถกระแทกพื้นในแนวตะแคงข้าง Roll Cage จะปกป้องคนขับไว้ด้านใน โดยที่ไม่มีชิ้นส่วนอวัยวะ โดยเฉพาะส่วนของศีรษะยื่นออกมา ถ้าไม่ทำล้อมไว้ให้หมด จะทำให้เกิดอันตรายได้มาก นับว่าเป็นสิ่งที่คิดไม่ถึงหากไม่ได้รับทราบกฎกติกา…

All safety equipment

อุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ ตามมาตรฐาน SFI ก็เข้มงวดกันสุดยอด เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในระหว่างการแข่งขัน บางสิ่งเราก็ละเลย อย่าหาว่าว่าคนไทยด้วยกันเองนะครับ “ผมเป็นห่วง” ต่างหาก !!! ลองมาดูของใกล้ตัวหลักๆ กันว่ามีอะไรบ้าง…

Decelerate parachute

         “ร่มช่วยเบรก” ก็มีข้อบังคับกันว่าต้องมี ในรถที่วิ่งเวลาต่ำกว่า “9.99 วินาที” ความเร็วเกินกว่า 135 mph หรือ 217.26 km/h จะต้องบังคับ “มีโรลบาร์” (บ้านเรารถกระบะวิ่ง 9 วินาที ไม่ใส่โรลบาร์เฉยเลย) และต้องมี Window Net หากความเร็วเกินกว่า 150 mph หรือ 241.40 km/h บังคับ “ต้องมีร่มช่วยเบรก” 1 ลูก แต่หากรถวิ่งเร็วกว่า 7.49 วินาที ความเร็วเกินกว่า 200 mph หรือ 320 km/h บังคับร่มช่วยเบรกต้อง “2 ลูก” (Dual Parachute) แต่รถคันนี้ตั้งเป้าไว้ประมาณ “8.0 วินาที” (ในตอนแรก) ความเร็วอยู่ในระดับ 160-170 mph หรือ 256-272 km/h เลยใช้ลูกเดียวก็พอ…

Fuel tank installation locate

“ห้ามติดตั้งถังน้ำมันในห้องโดยสาร” โดยเด็ดขาด ซึ่งไม่ต้องอธิบายอะไรมาก หากรถคว่ำอย่างรุนแรง และถังน้ำมันอยู่ในรถ ก็จะเกิดอันตรายร้ายแรงกับคนขับได้ จึงต้องเอาไปไว้นอกห้องโดยสาร และยึดอย่างแน่นหนา…

Battery installation locate

เช่นกันครับ ตำแหน่งของแบตเตอรี่ ห้ามติดตั้งไว้ในห้องโดยสาร แม้จะยึดแน่นหนาโคตรๆ เพราะในแบตเตอรี่มี “น้ำกรด” เวลารถคว่ำแรงๆ โอกาสที่แบตเตอรี่จะแตก น้ำกรดสาดออกมาโดนคนขับ ทำให้บาดเจ็บสาหัสได้…

Nitrous oxide holding   

การติดตั้งถัง “ไนตรัสออกไซด์” จะมีการบังคับว่า “ห้ามยึดถังไนตรัสกับพื้นรถ หรือกับตัวรถ โดยปราศจากฐานรอง” จะมาวางบนเฟรม บนพื้นรถ แล้วเอาห่วงโลหะอะไรรัดไว้เฉยๆ ไม่ได้ จะต้องมีขาและฐานรองถังไว้ ทั้งนี้ เวลาเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ ฐานรองจะช่วยลดแรงกระแทกจากถังมาถึงรถ…

Exhaust pipe

ข้อบังคับเกี่ยวกับ “ท่อไอเสีย” อันนี้ก็มีหลายข้อ อันดับแรก “ห้ามเดินท่อไอเสียเจาะเข้าห้องโดยสาร” อันดับสอง “ปลายท่อไอเสียหากต้องการจะปล่อยออกด้านข้างรถ หรือปล่อยขึ้นด้านบน ต้องชี้ขึ้นฟ้าในแนวดิ่งเท่านั้น” ตอนแรกก็ทำท่อยิงขึ้นฝากระโปรง แต่เฉียงออกด้านข้าง ซึ่งไม่ผ่าน คันนี้เลยทำท่อออกแก้มข้าง ส่วนใหญ่บ้านเราก็จะยิงข้างดื้อๆ เลย เป็นเรื่องที่ไม่ปลอดภัย หากเกิดเครื่องยนต์หรือเทอร์โบพัง มีเศษชิ้นส่วนวิ่งออกมาจากท่อไอเสีย มันจะยิงข้างเข้าหาคน ทำให้เกิดอันตราย จึงเกิดข้อบังคับขึ้น คันนี้ก็ต้องต่อปลายท่อชี้ขึ้นฟ้าในแนวดิ่งตามกฎ เพราะถ้ามีชิ้นส่วนอะไรหลุดออกมา มันจะพุ่งขึ้นไปตรงๆ ไม่เข้าไปหาคนดู และกรรมการจะมองเห็นว่ามีเศษอะไรหลุดออกมา ตรงนี้น่าจะบังคับสำหรับการแข่ง Drag ในบ้านเราด้วย เพราะเคยมีเหตุการณ์รถแข่งแกนเทอร์โบขาด แล้วยิงชิ้นส่วนออกข้างๆ คนดูบ้านเรายิ่งชอบชิด Ring Size ไล่ก็ไม่ยอมถอย ก็เลยมีโดนกันไปซะ…

No reflect sticker

แม้แต่ “สติ๊กเกอร์” ก็ยังมีข้อบังคับด้วย ห้ามติดสติ๊กเกอร์ที่เป็นแบบ “สะท้อนแสง” (Reflect) เด็ดขาด ป้องกันการสะท้อนแสงใส่คนขับรถคันอื่น รวมถึงคนที่รอบๆ สนาม อย่าดูถูกไปนะครับ แดดแรงๆ สะท้อนวาบเข้าตานี่ พร่าไปชั่วขณะทีเดียว โดยเฉพาะคนขับถ้าโดนเข้าไปอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ เพราะรถมันเร็วมากในพริบตาเดียว…

Drive line loop  

จะต้องสร้าง “ห่วงกันเพลากลางหลุดฟาด” เอาไว้ด้วย ดูตามรูปเลยครับ จะเป็นห่วงที่เชื่อมขึ้นมาใหม่ รองอยู่ด้านล่าง กรณีเพลากลางขาด มันจะไม่ฟาดไปมาเกินขอบเขตที่ปลอดภัย ห่วงนี้จะบังคับเอาไว้ แต่ถ้าไม่มีห่วงนี้ เพลากลางที่ขาดจะฟาดซี้ซั้ว ทำให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้มาก โดยเฉพาะถ้ามันฟาดลงพื้น แล้วเกิดการ “ค้ำถ่อ” รถจะพลิกคว่ำอย่างรุนแรงทันที…

Engine & Transmission diaper

เป็นอุปกรณ์ที่เอาไว้ป้องกัน เมื่อเครื่องยนต์ และเกียร์ พังเสียหาย ไอ้ตัว Diaper หรือรูปทรงมันคล้ายๆ “ผ้าอ้อม” จะมีหน้าที่ป้องกันเศษชิ้นส่วนที่แตกกระจาย ไม่ให้กระเด็นออกไปรอบๆ ด้าน อันนี้ยังไม่ได้ใส่ตอนถ่ายทำ แต่ได้สั่งไว้และไปใส่ที่สนามในอเมริกา…

5 points seat belt

เข็มขัดนิรภัย SFI บังคับรุ่นนี้ไว้ว่า “อย่างต่ำ 5 จุด” ปกติเราจะใช้ 4 จุด แต่อันนี้จะบังคับ 5 จุด เพิ่ม “คาดเป้า” มาอีกจุดหนึ่ง จะช่วงรั้งตัวไว้ในกรณีเบรก หรือช่วงรถสะบัดเสียอาการ เพิ่มความปลอดภัยเวลามีอุบัติเหตุ…

Working taillight

ง่ายๆ คือ “ไฟเบรกจะต้องใช้ได้ตามปกติ” เพื่อให้รู้ว่ารถเข้าเส้นและกำลังเบรกอยู่ หรือไม่เข้าเส้น แต่เกิดเบรกกลางคัน แสดงว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น กรรมการและทีมงานจะสังเกตได้ทันทีจากไฟเบรกที่ติดขึ้น…

Black Friday test run @ Bangkok drag avenue

หลังจากที่รถเสร็จแบบเฉียดฉิว ทีมงานทุกคนก็ไป Test run เช็กความเรียบร้อยทุกอย่าง ในคืนวันศุกร์ จริงๆ มีแผนจะไปก่อนหน้านั้น แต่ “แห้ว” เพราะฝนตกอยู่ตลอด งานนี้มาวัดดวงศุกร์ 13 พอดี ไม่เลวร้ายอย่างที่คิด โชคดีที่ไม่ตก ไปถึงสนามก็มีการปรับ Weight Balance โดยมี อาแดง Drag Master เป็นคนควบคุมอยู่ตลอด เมื่อพร้อมก็ได้ทดสอบ เจตนาจริงๆ ในวันนี้ ก็คือ “เช็กว่ารถออกตัวได้ตรงหรือไม่” ถ้าออกได้ตรง วิ่งตรง ก็จะหยุดการทดสอบและเก็บรถทันที แต่ก็ลองหวดดูเต็มระยะ ได้เวลาดีที่สุด “8.5 วินาที” ได้แค่นั้น เพราะพื้น Track ในวันทดสอบไม่ค่อยพร้อม เลยคิดว่าเก็บรถไปหวดในอเมริกาเลยทีเดียว ในวันที่เหลือ ก็มีการตรวจเช็กที่อู่ช่างเบิร์ด พร้อมทีมงานครบ ติดสติ๊กเกอร์ ในวันที่ 17 ก.ย. เราไปถ่ายคอลัมน์ และวันที่ 18 ก.ย. ส่งรถขึ้น Air freight ไปยังสนามบิน Dallas Texas ก่อนที่ทีมงานชุดใหญ่จะบินตามไป เพื่อเตรียมตัวในการแข่งขันครั้งนี้ครับ…

 

TECH SPEC

ภายนอก

ตัวถัง : All carbon fiber by AKANA

ไฟท้าย : All new ISUZU D-MAX

ภายใน

เกจ์วัด : Defi full set

เกจ์วัดบูสต์ : Auto Meter

เบาะ : BUTLER

เข็มขัดนิรภัย : IMPACT

พวงมาลัย : PERSONAL

แผงสวิตช์ : MOROSO

เครื่องยนต์

รุ่น : 4JK-1

วาล์ว : เบิร์ด หลักห้า Oversize 1 มม.

สปริงวาล์ว : เบิร์ด หลักห้า โมดิฟาย

แคมชาฟท์ : เบิร์ด หลักห้า ไอดี 280 องศา ไอเสีย 272 องศา

ลูกสูบ : Custom Made 95.4 มม.

ก้านสูบ : CARRILLO H-beam custom made

ข้อเหวี่ยง : 4JJ-1 3.0 ลิตร

เทอร์โบ : MITSUBISHI TF-08 เบิร์ด หลักห้า โมดิฟาย

เวสต์เกต : TIAL

เฮดเดอร์ : เบิร์ด หลักห้า

อินเตอร์คูลเลอร์ : บางมด เรซซิ่ง

ท่ออินเตอร์คูลเลอร์ : HPD สุวรรณการช่าง

ท่อไอเสีย : ม. เจริญ ท่อไอเสีย

หัวฉีด : เบิร์ด หลักห้า

เร็กกูเลเตอร์ : Mallory

ปั๊มติ๊ก : WALBRO 3 ตัว

หม้อน้ำ : บางมด เรซซิ่ง

กล่อง ECU : ECU SHOP Stand alone by อ้า + เบิร์ด หลักห้า

ระบบส่งกำลัง

เกียร์ : Liberty Air shift

คลัตช์ : BRC

เพลาท้าย : Strange

เฟืองท้าย : Strange 3.3

ช่วงล่าง

โช้คอัพหน้า : Strange

โช้คอัพหลัง : Koni Drag

สปริง : HYPERCOIL

ล้อหน้า-หลัง : WELD ขนาด 3.5 x 15 นิ้ว และ 14 x 15 นิ้ว

ยางหน้า-หลัง : HOOSIER ขนาด 24-4.5-15 และ 32-14.5-15

เบรก : Strange